fbpx
มาร์เซล บารัง: นักแปลผู้ปิดทองหลังพระ

มาร์เซล บารัง: นักแปลผู้ปิดทองหลังพระ

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

 ลอเรนโซ โฟฟิ ภาพ

 

ย้อนไป 6 ปีก่อน ตอนที่ได้เข้าไปร่วมทีมทำวารสาร ‘ปรากฏ’ ผมได้รับมอบหมายให้ไปสัมภาษณ์คุณมาร์เซล บารัง นั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมได้เจอแกแบบตัวเป็นๆ

ตอนนั้นแกอายุใกล้เจ็ดสิบแล้ว แต่ยังดูแข็งแรง ความคิดความจำยังแม่นยำดี ส่วนผมยังเป็นนักสัมภาษณ์มือใหม่ รู้สึกตื่นเต้นมากที่แกตอบรับให้สัมภาษณ์

จำได้ว่าช่วงแรกผมค่อนข้างประหม่า ด้วยบุคลิกภายนอกของแกที่ดูเคร่งขรึมและเหมือนจะดุหน่อยๆ แต่เมื่อเครื่องเริ่มติด บทสนทนาก็ค่อยๆ ลื่นไหล แกเป็นคนคุยสนุก ลูกล่อลูกชนแพรวพราว มีศัพท์แสงแปลกๆ แทรกมาเรื่อยตามสไตล์คนวรรณกรรม

นับแต่ย้ายมากรุงเทพเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน มาร์เซลก็คลุกคลีอยู่ในแวดวงวรรณกรรมไทยมาตลอด เขาเป็นนักแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสที่มีผลงานต่อเนื่องกว่าสองทศวรรษ เป็นที่ปรึกษาด้านการแปลให้กับสํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่เคยได้รับรางวัลนักแปลอาวุโสดีเด่นโล่ ‘สุรินทราชา’ จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยในปีพ.ศ. 2550

หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญของเขา คือการแปล ‘เงาสีขาว’ และ ‘อสรพิษ’ ของ แดนอรัญ แสงทอง เป็นภาษาฝรั่งเศส และได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในหมู่นักอ่านเมืองน้ำหอม ส่งผลให้แดนอรัญได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นเชอวาลิเย่ร์ ด้านศิลปะและอักษรศาสตร์ จากรัฐบาลฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

มีช่วงหนึ่งแกเล่าให้ฟังว่า ในมุมของคนที่พยายามเฟ้นหางานวรรณกรรมไทยดีๆ มาแปล แกรู้สึกว่าช่วงหลังไม่ค่อยมีงานที่ ‘ถึงมาตรฐาน’ โดยเฉพาะงานประเภทเรื่องสั้น ส่วนหนึ่งเพราะพื้นที่ที่เปิดรับเรื่องสั้นก็หดหายไปด้วย ส่วนงานอีกกลุ่มที่ควรจะหวังผลได้อย่างซีไรต์ แกก็ยังไม่ค่อย ‘ซื้อ’ เท่าไหร่

จบจากสัมภาษณ์นั้น ผมก็ไม่ได้มีโอกาสเจอแกอีกเลย แต่เข้าใจว่าแกคงยังปักหลักอยู่กรุงเทพฯ และหางานมาแปลอยู่เรื่อยๆ โชคดีหน่อยตรงที่แกมีนายทุนที่พร้อมซัพพอร์ตเต็มที่ในเรื่องการทำงาน ก็เลยไม่ลำบาก แกพูดเต็มปากเต็มคำว่าจะปักหลักทำงานแปลต่อไป ตราบเท่าที่ยังหายใจ

“เมื่อผมมีอภิสิทธิ์แบบนี้ ก็คิดว่าไม่น่าจะทิ้งโอกาสนี้ไปเพื่อทำพีอาร์หรือขายผลงานเก่าๆ ของตัวเอง เลยตัดสินใจว่า ถึงแม้มันจะเป็นงานที่หนักและต้องทำคนเดียว แต่ด้วยความชอบที่มีต่องานแปล ก็คงทำต่อไป จนตาย”            

ต่อไปนี้คือเรื่องราวชีวิตบางช่วงบางตอน และทัศนะของเขาที่มีต่อการแปลและวรรณกรรมไทยจากการพูดคุยกันในคราวนั้น

 

 

– 1 –

 

มาร์เซลเล่าให้ฟังว่าเขาแบ่งชีวิตตัวเองออกเป็น 3 ชาติ โดยในชาติแรก เขาถูกอบรมให้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และศิลปะ อยู่ที่ประเทศกัมพูชาประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นก็กลับไปที่ฝรั่งเศส ทำอาชีพนักข่าวอยู่ 24 ปี นับเป็นชาติที่ 2 จากนั้นก็เปลี่ยนอาชีพเข้าสู่ชาติที่ 3 มาเป็นนักแปลในแวดวงวรรณกรรมไทยจนถึงปัจจุบัน

อาชีพการแปลของเขาเริ่มต้นเมื่อมีโอกาสพูดคุยกับ สนธิ ลิ้มทองกุล เกี่ยวกับโปรเจกต์ Thai Modern Classic (TMC) ที่จะคัดเลือกวรรณกรรมไทยที่ดีที่สุด 20 เรื่องมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ

หลังจากพิจารณาและคัดกรองรายชื่อวรรณกรรมไทยกว่า 90 เรื่องที่เพื่อนอาจารย์คนหนึ่งร่างมาให้ ในที่สุดมาร์เซลก็สรุป 20 เรื่องสุดท้ายที่จะจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ ‘The Twenty Best Novels of Thailand: An Anthology’ โดยในเล่มนี้เขาได้รวบรวมที่สุดของวรรณกรรมไทยทั้งคลาสสิคและร่วมสมัยมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ มีตั้งแต่ผลงานเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ของ ศรีบูรพา ไปจนถึง ‘คําพิพากษา’ ‘พันธุ์หมาบ้า’ ของ ชาติ กอบจิตติ และ ‘เงาสีขาว’ ของ แดนอรัญ แสงทอง

ในเวลาเดียวกัน มาร์เซลเริ่มตีพิมพ์ผลงานต่างๆ ที่รวบรวมไว้ใน An Anthology ควบคู่ไปด้วย ทว่าหลังจากนวนิยายฉบับแปลเรื่อง ‘ทางเสือ’ ของ ศิลา โคมฉาย และ ‘ละครแห่งชีวิต’ ของ หม่อมเจ้าอากาศดําเกิง รพีพัฒน์ วางตลาดได้เพียงไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจฟองสบู่ขึ้นในปี พ.ศ. 2540 ส่งผลให้เขาต้องแยกทางกับบริษัทที่ทำอยู่กับคุณสนธิ เป็นเหตุให้มาร์เซลก้าวเข้ามาเป็นนักแปลอิสระอย่างเต็มตัว แปลเรื่องสั้นและนวนิยายของนักเขียนไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลงานส่วนใหญ่จะนำไปลงไว้ที่บล็อกออนไลน์ชื่อ thaifiction.wordpress.com

 

– 2 –

 

ในบรรดางานเขียนไทยหลายๆ เล่มที่มาร์เซลเคยแปล ดูเหมือนว่าเขาจะชื่นชอบและหลงไหลในผลงานของคุณเสน่ห์ สังข์สุข หรือที่นักอ่านรู้จักกันในชื่อ แดนอรัญ แสงทอง มากเป็นพิเศษ เขาบอกว่าในช่วงที่โครงการ Thai Modern Classic หยุดชะงักลงนั้น ตัวเขาเองมีโอกาสอ่านนวนิยายเรื่อง ‘เงาสีขาว’ ของแดนอรัญ แสงทอง และค้นพบว่าเขาหลงเสน่ห์มันเข้าอย่างจัง

“หลังจากอ่านเรื่อง ‘เงาสีขาว’ จบ ผมก็ส่งอีเมลติดต่อไปยังสํานักพิมพ์ต่างๆ ทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศสเกี่ยวกับการตีพิมพ์งานแปลชิ้นนี้ น่าแปลกที่ในอังกฤษไม่มีใครตอบรับ แต่ก็ยังโชคดีที่สำนักพิมพ์ในฝรั่งเศสบางรายให้ความสนใจ หนึ่งในนั้นคือสำนักพิมพ์เลอเซย (Editions du Seuil) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสํานักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส”

หลังจาก ‘เงาสีขาว’ ทำยอดขายได้หลายพันเล่ม และมีกระแสตอบรับที่ดีจากนักอ่านในฝรั่งเศส ทางสํานักพิมพ์เลอเซยก็ขอให้มาร์เซลแปลผลงานของนักเขียนคนนี้ออกมาอีก

“จากนั้นผมก็ได้มีโอกาสอ่านต้นฉบับเรื่อง ‘อสรพิษ’ ที่คุณเสน่ห์เป็นคนส่งมาให้ อ่านจบผมก็ตัดสินใจว่าจะแปลเรื่องนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสทันที และเมื่อ ‘อสรพิษ’ วางแผง ก็ปรากฏว่างานแปลชิ้นนี้ได้รับกระแสตอบรับที่ดีกว่า ‘เงาสีขาว’ ค่อนข้างมาก ขายในฝรั่งเศสได้หลายหมื่นเล่ม มีการซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำไปแปลเป็นภาษายุโรปอื่นๆ อีก 6 ภาษา รวมทั้งตีพิมพ์เป็นหนังสือสําหรับคนตาบอดอีกด้วย”

ถ้าจะบอกว่ามาร์เซลเป็นหนึ่งเรี่ยวแรงสำคัญที่ช่วยผลักดันและสนับสนุนให้ แดนอรัญ แสงทอง มีชื่อเสียงในวงการวรรณกรรมฝรั่งเศสก็คงไม่ผิดนัก เพราะหลังจากที่มีผลงานแปลออกมาอย่างต่อเนื่อง แดนอรัญก็ได้รับรางวัลเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นเชอวาลิเย่ร์ ด้านศิลปะและอักษรศาสตร์ จากรัฐบาลฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 2008

ในทางกลับกัน ผลงานของ ชาติ กอบจิตติ ที่หลายๆ เล่มได้รับความนิยมในไทย กลับไม่ประสบความสำเร็จในฝรั่งเศส โดยเรื่อง ‘คำพิพากษา’ ที่เคยคว้ารางวัลซ๊ไรต์นั้นขายได้เพียง 800 เล่ม มาร์เซลอธิบายให้ฟังถึงสาเหตุว่าทำไมหนังสือที่ขายดีในไทย กลับขายไม่ออกในต่างแดน

“ข้อแรกเลย สำหรับคนต่างประเทศ ผลงานของคุณชาติมันล้าสมัยไปหน่อย ถึงแม้ว่าหลายๆ เล่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ‘คำพิพากษา’ หรือเรื่อง ‘เวลา’ จะสำคัญมากในบริบทไทย แต่สำหรับฝรั่งแล้วพวกเขาเฉยๆ ข้อที่สองนั้นอาจเป็นเพราะฝรั่งเขาชอบความเกเรและชอบความเป็นขบถในงานวรรณกรรม เวลาอ่านผลงานต่างๆ ของคุณเสน่ห์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง ‘เงาสีขาว’ ‘อสรพิษ’ หรือเรื่องอื่นๆ เราจะได้กลิ่นอายของความเป็นขบถอยู่ในภาษาที่เขาเขียน ทว่าวิธีการเขียนของคุณชาติไม่ใช่แบบนั้น”

“ปัญหาอีกอย่างอาจเป็นเพราะการวางนโยบายส่งเสริมการขายของสำนักพิมพ์ต่างประเทศ ที่ไม่ได้พยายามผลักดันหรือกระตุ้นยอดขายเรื่อง ‘คำพิพากษา’ เท่าที่ควร ถ้าเราย้อนกลับไปดูในตอนที่ผลงานเรื่อง ‘เงาสีขาว’ ของคุณเสน่ห์ออกมานั้นจะเห็นว่ากระแสตอบรับจากนักอ่านฝรั่งเศสค่อนข้างดี พอมาถึงเรื่อง ‘อสรพิษ’ ทางสำนักพิมพ์เขาก็เลยมั่นใจในระดับหนึ่งว่าจะขายได้ เขาเลยกล้าที่จะตีพิมพ์ผลงานชิ้นนี้ออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีการผลักดันให้เอา ‘อสรพิษ’ ไปวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย ซึ่งปรากฏว่าขายดิบขายดี แต่ในกรณีของ ‘คำพิพากษา’ นั้นกลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม”

“แต่ถ้าต้องเลือกระหว่าง ‘เงาสีขาว’ กับ ‘คำพิพากษา’ ว่าชอบผลงานเล่มไหนมากกว่ากัน ผมก็คงเลือก ’คำพิพากษา’ เพราะสำหรับผมแล้วมันเป็นผลงานที่สมบูรณ์กว่า แต่แน่นอนว่าผลงานของคุณเสน่ห์ก็เขียนได้ดี และในฐานะนักแปลคนหนึ่งก็ต้องถือว่าผลงานของเขาเป็นความท้าทายและมีความน่าสนใจมาก”

 

 

– 3 –

 

ในส่วนของกระบวนการทำงาน ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ทำงานแปล มาร์เซลเชื่อมั่นในการแปลแบบคงสำนวนของต้นฉบับเสมอ

“วิธีการทำงานของผมนั้นง่ายนิดเดียว คือจะใช้วิธีการแปลแบบคำต่อคำ อันนี้เป็นขั้นตอนและวิธีที่ใช้กับการแปลหนังสือทุกเล่ม ขั้นต่อมาก็จะทำงานบรรทัดต่อบรรทัด ประโยคต่อประโยค ย่อหน้าต่อย่อหน้า โดยในขั้นนี้จะพยายามทำให้งานที่แปลออกมาตรงกับต้นฉบับมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

“ผมมองว่าความท้าทายของการเป็นนักแปล อยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้เมื่อแปลออกมาแล้วบรรยากาศในเรื่องยังคงอยู่ พร้อมกันนั้นก็ต้องพยายามถ่ายทอดสำนวนที่นักเขียนต้องการควบคู่ไปด้วย บางครั้งนักแปลที่ไม่ใช่มืออาชีพส่วนใหญ่ จะใช้ข้ออ้างเรื่องโครงสร้างของภาษาที่แตกต่าง ในการปรับเปลี่ยนหรือดัดแปลงต้นฉบับ ซึ่งตรงนี้ผมไม่เห็นด้วย เรื่องอะไรที่เราจะไปเปลี่ยนหรือดัดแปลงเอาประโยคที่สามมาเป็นประโยคแรก ตัวนักเขียนเองเขาก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าประโยคนี้ต้องมาก่อนประโยคนั้น จะมาบอกว่าภาษาบังคับให้เปลี่ยนไม่ได้ มันขี้โกง”

“ที่แปลกคือด้วยการทำงานแบบเคารพลำดับภาษาของผู้เขียน รวมถึงการใช้วิธีแปลแบบคำต่อคำ พอมาถึงดราฟท์สุดท้าย ผมกลับพบว่ามันสามารถรักษาเอกลักษณ์และสไตล์ของผู้เขียนไว้ได้อย่างครบถ้วน ไม่ใช่สำนวนที่เป็นของผมเอง”

ขณะที่มาร์เซลเลือกใช้วิธีการแปลแบบเคร่งครัดในสำนวนดั้งเดิมของผู้เขียน นักแปลอีกหลายคนกลับเลือกวิธีที่ต่างออกไป คือใช้สำนวนของตัวเองเข้าไปผสมผสาน ต่อกรณีนี้มาร์เซลยกตัวอย่างและอธิบายให้ฟังได้อย่างน่าสนใจ

“ในสมัยก่อนมีนักแปลชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ชื่อว่า Maurice Coindreau เป็นนักแปลที่ทำให้ William Faulkner มีชื่อเสียงทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้ แต่ก่อนที่ผลงานของโฟล์คเนอร์จะได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสนั้น แทบจะไม่มีใครรู้เลยว่าเขาเป็นใคร หรือเขียนเรื่องอะไร แต่เมื่อได้ Coindreau มาแปลและดัดแปลงต้นฉบับบางส่วน ก็ทำให้ผลงานของโฟล์คเนอร์เริ่มมีชื่อเสียงในฝรั่งเศส ก่อนที่ภายหลังผลงานแปลเล่มนั้นจะส่งให้เขาได้รับความนิยมจากนักอ่านทั่วทุกมุมโลก”

“ข้อสังเกตอยู่ตรงที่ว่า ถ้า Coindreau ไม่ได้แปลและดัดแปลงต้นฉบับของโฟล์คเนอร์เป็นภาษาฝรั่งเศส เขาก็คงเป็นได้แค่นักเขียนโนเนมคนหนึ่งเท่านั้น ตรงนี้เองที่ผมมองว่ามันเป็นอิทธิพลของการแปล แต่จะเป็นอิทธิพลในด้านดีหรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

 

– 4 –

 

เมื่อถามว่าปัจจุบันมีปัญหาอย่างไรบ้างในการทำงาน มาร์เซลตอบด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่งว่า อุปสรรคที่ยากลำบากที่สุดสำหรับเขาคือการค้นหาวัตถุดิบชั้นดีเพื่อนำมาแปล

“ย้อนไปเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมสามารถรวบรวม 20 สุดยอดวรรณกรรมไทยมาแปลได้ โดยที่การค้นหาวรรณกรรมดีๆ มาแปลนั้นไม่ได้เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสเหมือนในปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้การจะหาเรื่องสั้นหรือนวนิยายดีๆ มาแปลมันยากมาก และยิ่งยากขึ้นทุกๆ ปีด้วย”

“เมื่อก่อนเคยมี ‘ช่อการะเกด’ ที่พอจะเป็นตัวช่วยในการคัดกรองผลงานดีๆ ได้บ้าง แต่ปัจจุบันก็ปิดตัวไปแล้ว ขณะที่ ‘ราหูอมจันทร์’ แม้ยังมีอยู่ แต่ออกมาแค่ปีละ 2 เล่ม บางเล่มใช้ได้ 2-3 เรื่อง บางเล่มก็ใช้ไม่ได้เลย อีกตัวช่วยหนึ่งก็คงเป็นนิตยสาร Writer ได้มา 1 เรื่อง”

อีกปัญหาที่มาร์เซลเล่าให้เราฟังเมื่อพูดถึงวรรณกรรมไทย ก็คือเรื่องราวที่ดีๆ นั้นมีอยู่ ทว่าเมื่อนำมาเรียบเรียงเป็นงานวรรณกรรม นักเขียนบางคนกลับไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาที่ดีได้

“แม้กระทั่งหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์ ก็ใช่ว่าทุกเล่มจะสามารถเป็นหมุดหมายการันตีได้ว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือที่มีคุณภาพ”

“ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัล ก็ปรึกษากับแกว่าทำไมหนังสือเล่มนั้นถึงยังได้รางวัลซีไรต์ ทั้งๆ ที่คุณภาพก็ต่ำ เขาก็บอกว่าเป็นเพราะมันดีที่สุดในหมู่ที่มีคนส่งเข้ามา ตรงนี้ผมเห็นด้วยกับเขา แต่ปัญหาจริงๆ คือผลงานเล่มที่ดีที่สุด มันก็ยังไม่ถึงมาตรฐาน ดังนั้นคำถามที่ตามมาคือ ในกรณีที่คณะกรรมการเองก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มีผลงานเล่มไหนที่เรียกได้ว่าดีจริงๆ ทำไมถึงไม่ยกเลิกการประกาศรางวัลปีนั้นไปเลย นักเขียนจะได้มีแรงกระตุ้นในการปรับปรุงและเขียนผลงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม”

เมื่อถามต่อว่า วรรณกรรมที่ดีในมุมมองของเขาเป็นอย่างไร มาร์เซลอธิบายว่าจะต้องเป็นงานที่มีความถูกต้องของภาษา ขณะเดียวกันก็ต้องเขียนด้วยลีลาที่ไพเราะด้วย

“งานวรรณกรรมที่ดีจะต้องมีองค์ประกอบทั้งสองอย่าง เพราะถ้ามีแต่ความถูกต้องของภาษาเพียงอย่างเดียว มันก็ไม่ใช่ภาษาที่ใช้กันในงานวรรณกรรม ซึ่งการจะบอกว่าภาษาวรรณกรรมเป็นยังไงก็ยากอีก เพราะเมื่อลองเปรียบเทียบดูแล้วนักเขียนแต่ละคนก็จะมีสไตล์การเขียนและการใช้ภาษาที่แตกต่างกันไป”

“วรรณกรรมหรือนวนิยายนั้นเหมือนกับภูเขาที่มีตั้งมากมายหลายยอด การจะบอกว่ายอดไหนมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามที่สุดคงเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละที่ก็สวยงามกันคนละแบบ เช่นเดียวกันกับวรรณกรรมที่มีอยู่มากมายหลายประเภท แต่ละประเภทต่างก็มีอะไรที่พิเศษและน่าสนใจในแบบฉบับของมันเอง”

 

– 5 –

 

นอกจากปัญหาเรื่องการค้นหาวัตถุดิบที่ยากลำบากแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากที่มาร์เซลมองว่าเป็นอุปสรรคสำหรับนักแปลในไทย ทั้งลักษณะของภาษาที่ค่อนข้างยากและเฉพาะเจาะจง ไปจนถึงเรื่องขาดการสนับสนุนจากรัฐ

“การจะเป็นนักแปลอาชีพในไทย แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีสปอนเซอร์มาช่วยสนับสนุน ถ้าเป็นภาษาที่เป็นสากลหน่อย อย่างภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศส โอกาสที่จะเป็นนักแปลมืออาชีพแบบเต็มเวลาก็มีสูง แต่ในกรณีของภาษาที่เฉพาะเจาะจงมากๆ อย่างภาษาไทย ภาษาเขมร หรือภาษาญี่ปุ่น ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีสำนักพิมพ์มาจ้างให้เป็นนักแปลแบบเต็มเวลา ถ้าเป็นนักแปลมืออาชีพแล้วมีงานเข้ามาให้ทำตลอดก็โอเค อยู่ได้สบาย แต่ปัญหาก็อย่างที่บอกไป มันจะมีงานให้ทำตลอดได้ยังไง อันนี้เป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้”

“หน่วยงานรัฐควรสนับสนุนและส่งเสริมการแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาต่างประเทศให้มากกว่านี้ ไม่เฉพาะในเรื่องการแปลเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการเขียนด้วยซ้ำไป เมื่อก่อนผมแปลกใจเหมือนกันว่าทำไมถึงมีนวนิยายดีๆ จำนวนมากให้เลือกแปลได้ตั้ง 20-30 เรื่อง ในเมื่อทุกอย่างแทบจะเป็นอุปสรรคต่อการเขียน การอ่าน หรือแม้กระทั่งการแปล”

“ถ้าเราลองเทียบสภาพนักเขียนไทยกับนักเขียนต่างประเทศ จะพบว่ามันค่อนข้างแตกต่างกันพอสมควร บรรยากาศของเขามันเป็นบรรยากาศทางวรรณกรรมที่ฝ่ายรัฐทุกระดับช่วยกันเอื้ออำนวยให้เกิดขึ้น อีกอย่างคือ ถ้าเป็นนักเขียนต่างประเทศแล้วมีผลงานดีๆ ออกมา ก็จะถูกยกย่องให้มีฐานะที่พิเศษกว่าคนอื่น มีคนชื่นชม มีคนเคารพนับถือ ตรงข้ามกับประเทศไทยที่แม้กระทั่งอากาศก็ยังไม่อำนวยต่อการอ่านการเขียน เพราะมันร้อน สู้ไปทำอะไรที่ง่ายๆ สบายๆ เช่น ดูโทรทัศน์ หรือดูหนังดีกว่า ตรงนี้ผมมองว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐอีกเช่นกัน ที่ควรจะคิดหาวิธีในการอุดหนุนหรือส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับการเขียน การอ่าน หรือการแปล ต้องเกิดขึ้นอย่างแท้จริงและยั่งยืน ไม่ใช่แค่ตั้งรางวัลซีไรต์ขึ้นมาแล้วจบ”

แล้วถ้ามีการสนับสนุนที่เหมาะสมจากภาครัฐ วรรณกรรมไทยจะไปถึงระดับโลกได้ไหม เราสงสัย

มาร์เซลตอบแบบไม่ต้องคิดว่าทำได้แน่นอน

“ผมมองว่าถ้ามีการสนับสนุนที่ดีจากหลายฝ่าย มันทำได้แน่ เพียงแต่อาจจะยากหน่อย เพราะถ้ามองย้อนกลับไปถึงกรณีของคุณเสน่ห์ กรณีของคุณชาติ (กอบจิตติ) หรือกรณีของคุณนิคม (รายยวา) ก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และก็มีทั้งที่คว้าน้ำเหลวกลับมา จึงเกิดคำถามขึ้นว่าจะทำยังไงให้วรรณกรรมไทยประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง อันนี้ผมเองก็ไม่ทราบคำตอบเหมือนกัน การที่ผมยังทำงานแปลอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะมีความหวังลึกๆ ว่าสักวันหนึ่งจะมีสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ มาสนใจผลงานแบบนี้ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในกรณีของคุณเสน่ห์”

เมื่อได้ฟังเขาพูดดังนี้ ก็อดสงสัยต่อไม่ได้ว่า เขาตั้งใจจะทำงานแปลไปอีกนานแค่ไหน เพราะจากที่ฟังมาก็ถือเป็นงานที่เหนื่อย หนัก และต้องผลักดันด้วยตนเอง ยังไม่นับว่าอายุอานามตอนนี้ก็ขยับเข้าใกล้เลขเจ็ดเต็มทีแล้ว

“สิ่งที่ดีที่สุดและเป็นสิ่งที่ผมรักมากที่สุด ก็คือการเป็นนักแปลมืออาชีพต่อไป ผมโชคดีเพราะว่ามีคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เข้ามาช่วยเหลือดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการแปลให้ ก็เลยสบายใจได้ในระดับหนึ่งว่าจะมีเงินหมุนเวียนให้ใช้ตลอด และเมื่อมีอภิสิทธิ์แบบนี้ ก็คิดว่าไม่น่าจะทิ้งโอกาสนี้ไปเพื่อทำพีอาร์หรือขายผลงานเก่าๆ ของตัวเอง ผมเลยตัดสินใจว่า ถึงแม้มันจะเป็นงานที่หนักและต้องทำคนเดียว แต่ด้วยความชอบที่มีต่องานแปล ก็คงทำต่อไป จนตาย”

 

 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘ปรากฏ’ วารสารวรรณกรรมไทยร่วมสมัย ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2557 / ปรับแก้เพิ่มเติมโดยผู้เขียน ในวาระการจากไปของมาร์เซล บารัง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2563

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save