fbpx
Marathon in 2 Hours? เป็นไปได้จริงหรือเปล่า

Marathon in 2 Hours? เป็นไปได้จริงหรือเปล่า

สถิติมาราธอนในปัจจุบัน คือ 2 ชั่วโมง 2 นาที กับอีก 57 วินาที ผู้ทำสถิติคือ เดนนิส คิเมตโต (Dennis Kimetto) ทำไว้ที่เบอร์ลินมาราธอนในปี 2014

 

คำถามก็คือ เป็นไปได้หรือเปล่าที่จะมีใครสักคน วิ่งมาราธอนได้เสร็จสิ้นภายในเวลา 2 ชั่วโมง?

ทุกวันนี้ การวิ่งกลับมา ‘ฮิต’ ขนานใหญ่อีกครั้ง เหตุผลสำคัญอันหนึ่งก็คือ การวิ่งระยะทางไกลๆนั้น มันเหมาะกับ Ageing Sociey หรือสังคมผู้สูงวัยเป็นอย่างมาก

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

ถ้าไปดูการแข่งขันมาราธอนรายการใหญ่ๆ เราจะพบว่าแต่ละรายการ คนที่วิ่งสำเร็จ (เรียกว่า ฟินนิชเชอร์ หรือ Finishers) นั้น มีมากกว่าคนที่วิ่งไม่จบ อย่างในบอสตันมาราธอนที่ถือว่าเป็นรายการยิ่งใหญ่ที่สุดรายการหนึ่งของโลก คนที่เข้าแข่งขันต้องมีคุณสมบัติถึง (เรียกว่าควอลิฟายด์) มีคนที่วิ่งจบมากถึง 97%

และต่อให้เป็นรายการที่ไม่ต้องควอลิฟายด์ เช่นโตเกียวมาราธอนหรือที่อื่นๆ คนที่วิ่งจบก็มีมากถึงเกิน 90% ทั้งนั้น

แล้วคุณรู้ไหมว่าคนที่วิ่งจบเป็นคนอายุเท่าไหร่?

เขาบอกว่า ตามสถิติแล้ว ถ้าเทียบกันระหว่างคนที่อายุเข้าใกล้ 50 ปี กับคนที่อายุอยู่แถวๆ 20 ปี โอกาสที่คนวัยใกล้ๆ 50 ปี จะวิ่งจบมาราธอนนั้นมีมากกว่าเยอะเลย

การวิ่งระยะทางไกลๆ อย่างวิ่งมาราธอนนี่ เป็นกีฬาที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนหนุ่มสาวเท่านั้น เพราะต้องฝึกความอดทนมากกว่าแค่สมรรถนะของร่างกาย เป็นกีฬาที่ถ้าไม่อึด ไม่ลุกขึ้นมาทำเป็นประจำ ไม่ขยันฝึก และไม่มีจิตใจที่ ‘นิ่ง’ มากพอ จะทำได้ไม่ดี นั่นทำให้คนหนุ่มสาวที่ยังอยู่ในวัยกระวนกระวายแสวงหา วิ่งสู้คนที่อายุมากขึ้นมาหน่อยไม่ได้

มันคือกีฬาที่ต้องการวุฒิภาวะ!

อย่างเดนนิส คิเมตโต นักวิ่งมาราธอนชาวเคนยาที่เป็นเจ้าของสถิติโลก ก็ทำสถิตินี้ไว้ตอนอายุ 30 ปีพอดี คือไม่ได้ทำสถิติตอนอายุยังน้อยยี่สิบกว่าปีเหมือนกีฬาอื่นๆ

การวิ่งใน 2 ชั่วโมง 2 นาที 57 วินาทีของเขานั้น แปลว่าในหนึ่งกิโลเมตร เขาใช้เวลาวิ่งเท่ากับ 2 นาที 55 วินาที หรือถ้าคิดเป็นความเร็ว ก็คือวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 20.54 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเผลอๆ จะเร็วกว่าการขี่จักรยานของหลายคนด้วยซ้ำไป

แต่การจะวิ่งให้ได้เร็วในระดับจบมาราธอนใน 2 ชั่วโมงนั้น ต้องบอกว่าเป็นเรื่องยากมาก เพราะนักวิ่งจะต้อง ‘ฝ่ากำแพง’ การวิ่งให้เร็วขึ้นไปอีก ในการวิ่งระดับนี้ แต่ละวินาทีที่วิ่งได้เร็วขึ้น ต้องถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ แต่หลายฝ่ายก็ตั้งเป้าเอาไว้ว่า จะต้องพยายามทำให้นักวิ่งวิ่งจบมาราธอนภายใน 2 ชั่วโมงให้ได้ ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า

โดยสิ่งสำคัญที่มีส่วนอย่างยิ่งในการวิ่งให้ได้ตามเป้าหมายนี้ – ก็คือรองเท้า!

บริษัทรองเท้ากีฬาดังๆ ทั้งหลายในโลก ต่างกำลังพุ่งเป้าไปยังสิ่งที่เรียกว่า Running Economy หรือ ‘เศรษฐศาสตร์การวิ่ง’ ซึ่งไม่ได้หมายถึงตัวเงิน แต่หมายถึงการคำนวณอัตราการใช้และจ่ายพลังงาน เพื่อลด ‘การรั่วไหล’ ของพลังงานของนักวิ่งให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ เช่นพลังงานที่ใช้ในการยืดและหดข้อต่อต่างๆ มันจะส่งแรงกระแทกลงมาที่พื้นมากเกินไป แต่การออกแบบรองเท้าที่ดีจะช่วยลดการสูญเสียนี้ได้

นอกจากนี้ การพุ่งเป้าไปที่การฝึกให้ร่างกายใช้ออกซิเจนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (การใช้ออกซิเจนของนักวิ่งเรียกว่า VO2 max) คือการดูว่าหัวใจปั๊มเลือดได้มากแค่ไหน แล้วกล้ามเนื้อเอาออกซิเจนที่หัวใจปั๊มให้นั้น ไปใช้ได้มากแค่ไหน เต็มประสิทธิภาพหรือเปล่า แม้ว่าจะเป็นเรื่องทางพันธุกรรม แต่ก็สามารถฝึกฝนได้ด้วย

ในช่วงเวลาเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา มนุษย์เราทำลายสถิติการวิ่งมาราธอน ทำให้สถิติลดลงไปได้ราว 3 นาที ดังนั้น การจะลดสถิติของเดนนิสลงไปอีกเกือบๆ สามนาทีเพื่อให้ต่ำกว่าสองชั่วโมง จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ในคราวเดียว

แต่ด้วยเทคโนโลยีและการฝึกฝนยุคใหม่ เชื่อว่าความปรารถนานี้ไม่น่าอยู่ไกลเกินเอื้อม

 

เอ้า! ฮึบๆ สู้ต่อไป นักวิ่งมาราธอนทั้งหลาย!

 

อ่านเพิ่มเติม

บทความเรื่อง Dennis Kimetto’s Marathon World Record By the Numbers ของ Scott Douglas จาก Runner’s World, September 28, 2014

บทความเรื่อง How Fast is the New Marathon World Record, Really? ของ Kit Fox จาก Men’s Fitness

บทความเรื่อง Can a marathon be run in under two hours? ของ Dr. Sanjay Gupt จาก CNN, April 17, 2017

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save