fbpx
เปิดแผนที่นำทางการเรียนรู้ในโลกแห่งความไม่รู้ คุยกับทีม ‘mappa’

เปิดแผนที่นำทางการเรียนรู้ในโลกแห่งความไม่รู้ คุยกับทีม ‘mappa’

ถ้ามองไปที่กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลาย หนึ่งในประโยคคลาสสิกที่ได้ยินกันจนติดหูคือ “เป็นพ่อแม่มันยาก” แน่นอน เรารู้กันดีว่าการเลี้ยงเด็กสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อการเลี้ยงลูกเหมือนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ทำให้เหล่าพ่อแม่ทั้งต้องขวนขวายหาตำราทฤษฎีต่างๆ มาอ่านจนความรู้แน่นปึ้ก อีกทั้งยังต้องปรับ ประคับประคอง และเปลี่ยนวิธีการรับมือและเลี้ยงลูกให้เข้ากับช่วงวัยและยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ยิ่งในปัจจุบันที่หลายคนนิยามว่าเป็นยุค ‘เทคโนโลยีเขย่าโลก’ การเลี้ยงลูกก็ดูจะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเรื่องการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงลูก และสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับเด็ก  – พ่อแม่ผู้ปกครองจะสามารถใช้ดิจิทัลสร้างการเรียนรู้ได้อย่างไร ใช้แค่ไหนจึงจะพอดี?

หนึ่งในอุปกรณ์ที่เป็นเสมือน ‘แผนที่นำทาง’ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองยุคใหม่ที่อาจกำลังหลงอยู่ในวงกตดิจิทัลคือ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ ‘mappa’ ที่มาพร้อมกับความเชื่อที่ว่า “ความรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่” ถ้าพูดให้ชัดกว่านั้น mappa กำลังบอกเราว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดของลูกเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ที่ ‘บ้าน’ และพ่อแม่ก็คือเพื่อนคู่หูที่ดีที่สุดที่จะร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับลูก

ในยุคที่ดิจิทัลแวะเวียนมาเคาะประตูบ้าน 101 ชวนทีมผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม mappa สนทนากันยาวๆ ไล่เรียงตั้งแต่ที่มาที่ไป ภาพในอนาคตของ mappa ไปจนถึงความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัล

ชวนกางแผนที่นำทาง และร่วมผจญภัยในโลกแห่งความไม่รู้ไปพร้อมกันได้ นับจากบรรทัดด้านล่างนี้

-1-

เมื่อถามถึงการก่อตั้งแพลตฟอร์ม mappa แม่บี-มิรา เวฬุภาค หนึ่งในผู้ก่อตั้ง mappa และ Flock Learning นิยามว่า เป็นเหมือนการที่แต่ละทีมก่อตั้งมาร่วมกัน ‘ก่ออิฐ’ คนละก้อน จนกระทั่งกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ทุกคนเห็นกันในปัจจุบัน

“ความคิดเรื่อง mappa เริ่มต้นในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดคำถามขึ้นว่า ลำพังแค่โรงเรียนจะเพียงพอกับการเรียนรู้ของเด็กยุคนี้ไหม ซึ่งหลายคนก็เห็นตรงกันว่า แค่โรงเรียนอาจจะไม่พอ เราเลยคิดกันต่อว่า แล้วอะไรจะเป็นระบบนิเวศ (ecosystem) ถัดไปที่จะสร้างการเรียนรู้ให้เด็กได้ พอมีโควิดเข้ามาทำให้เราได้คำตอบว่า ‘บ้าน’ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่เราจะทำยังไงให้บ้านสามารถเป็นที่สร้างการเรียนรู้ได้ พ่อแม่จะดึงอำนาจการจัดการเรียนรู้มาเป็นของตัวเองได้ยังไง เพราะจริงๆ หน้าที่การสร้างทักษะชีวิต (life skills) และความสามารถในการเรียนรู้ (abilities to learn) เป็นของพ่อแม่อยู่แล้ว”

เมื่อเกิดความคิดเช่นนี้ ประกอบกับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งกำลังมองหาระบบนิเวศที่จะช่วยสร้างการเรียนรู้นอกเหนือจากโรงเรียน จึงเกิดเป็นการรวมทีมกันของผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายศาสตร์ ทั้งทีมออกแบบและเทคโนโลยีอย่าง BASE Playhouse ทีมค้นคว้าหาข้อมูลอย่าง Text and Title และทีมสื่อสารอย่าง Way Magazine ซึ่งทีมหลังนี้เป็นทีมที่อาจจะเรียกได้ว่ารับบทหนักที่สุดในช่วงแรก

“ในฐานะสื่อที่ทำงานเรื่องนี้อยู่แล้ว เราพอมีพื้นความรู้เดิมว่า กลุ่มเป้าหมายของงานนี้เป็นใคร ภาษาที่ใช้น่าจะเป็นแบบไหน หรือคอนเทนต์ที่จะสื่อออกไปควรเป็นยังไง” บี-ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ ผู้จัดการ Way magazine ในฐานะทีมสื่อสาร เล่าให้ฟัง “ส่วนความรู้ใหม่ที่ได้จากการร่วมโปรเจกต์นี้คือ ทักษะที่ไม่ได้อิงทฤษฎีมาก แต่มีความ practical ใครทำก็ได้ แต่ต้องพร้อมและเต็มใจที่จะเรียนรู้ไปกับมัน”

ขณะที่อีกหนึ่งกุญแจสำคัญของ mappa อย่างทีม Base Playhouse ม๋ำ-เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ อธิบายว่า งานหลักๆ ที่ทางทีมทำคือการออกแบบ gamification หรือกระบวนการในการสร้างหรือเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้เกิดการเสพติดด้วยความสนุกเหมือนกับเกม โดยเมธวินเชื่อว่า ถ้าผู้เรียนสนุกกับกระบวนการ ยังไงการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และเป็นการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดด้วย

“โจทย์ในตอนแรกที่เราได้คือ แพลตฟอร์มที่ทำให้พ่อแม่และเด็กได้เรียนรู้ร่วมกัน แค่นี้เลย เราก็คิดนะว่ามันไปได้ไกลมากกว่านี้ ถ้ามองในมุมของการออกแบบ gamification platform เราต้องไม่มองว่านี่จะเป็นการเรียนรู้แบบออนไลน์ประเภทที่มาถึงแล้วมีคลิปสักคลิปให้ดู มันธรรมดาไปแล้ว แต่เราต้องทำให้สนุก เขาถึงจะยอมอยู่กับเรา”

เมื่อทางทีมตีโจทย์ออกมาว่า กลุ่มเป้าหมายคือพ่อแม่กับเด็ก ซึ่งในเฟสแรกจะเป็นเด็กอายุ 0-8 ปี ก็นำไปสู่คำถามถัดไปคือ การเรียนรู้ของเด็กในวัย 0-8 ปีควรเป็นอย่างไร แบบไหนสำคัญที่สุด ประกอบกับโจทย์เดิมว่าต้องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็ก จึงกลายเป็นการออกแบบแพลตฟอร์มที่มีกลไกกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเรียนรู้ร่วมกันระหว่างพ่อแม่กับเด็ก โดยกลไกกระตุ้นที่ว่าจะเป็นกลไกของเกม มีการให้คะแนนความสัมพันธ์และการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งหมดนี้เพื่อให้พ่อแม่และเด็กอยากร่วมเรียนรู้ด้วยกันต่อไป

ขณะที่ แม็ก-ภีศเดช เพชรน้อย อีกหนึ่งตัวแทนจาก BASE Playhouse ร่วมอธิบายในฝั่งเทคโนโลยีว่า จุดมุ่งหมายของทางทีมคือ การไม่อยากให้เด็กขลุกอยู่กับมือถือนานๆ เพราะเทคโนโลยีเป็นแค่ช่องทางหนึ่ง และอาจจะเหมาะกับโจทย์บางประเภทเท่านั้น จึงต้องหาวิธีที่จะใช้เทคโนโลยีให้น้อยที่สุด เพราะเด็กกลุ่มเป้าหมายที่อายุ 0-8 ปี ก็ยังไม่ควรอยู่กับมือถือ หรือควรใช้ให้น้อยที่สุดอยู่แล้วด้วย

“ตอนนั้นเราเลยมีคอนเซปต์การเรียนรู้ร่วมกัน (collaborative learning) ให้พ่อแม่กับเด็กใช้เทคโนโลยีเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ แต่หลังจากนั้นคือให้ไปอยู่ข้างนอก ไปทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน”

แม็ก-ภีศเดช – บี-ทิพย์พิมล – แม่บี-มิรา – ม๋ำ-เมธวิน – วริศ (จากซ้ายไปขวา)

-2-

หนึ่งหัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้ของ mappa คือทีมค้นคว้าข้อมูลต่างๆ ในการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เพื่อจะทำให้แพลตฟอร์มการเรียนรู้นี้เกิดขึ้นได้จริง โดย วริศ ลิขิตอนุสรณ์ ตัวแทนจากทีม Text and Title เล่าให้ฟังว่า วิธีการหาข้อมูลของทีมเริ่มต้นง่ายๆ จากคำถามว่า “คนอยากรู้เรื่องอะไร” จากนั้นจึงหาวิธีลงไปค้นคว้าหาคำตอบนั้น ทั้งไปคุยกับคนจริงๆ กลุ่มพ่อแม่ที่มีตัวตน หรือแม้กระทั่งกลุ่มที่เชี่ยวชาญด้านข้อมูล เพื่อดูว่ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นพ่อแม่อยู่ที่ไหน ชอบทำอะไร หรือคุยเรื่องอะไรกันอยู่

“สิ่งที่เราเจอและคิดว่าน่าสนใจมากคือ กลุ่มพ่อแม่มือใหม่ หรือกลุ่มที่กำลังเตรียมตัวจะมีลูก เขามีความเหนียวแน่นมากๆ ทุกคนให้ความร่วมมือกันจริงจัง มี hashtag ใน Facebook เลย ทั้งที่ปกติการใช้ hashtag มักจะเห็นใน Twitter มากกว่า ซึ่งเราไม่เคยเห็นสิ่งนี้จากกลุ่มไหน ยกเว้นกลุ่มพ่อแม่หรือกลุ่มที่เตรียมตัวจะเป็นพ่อแม่ เราเลยมองว่านี่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่แข็งแรงมากๆ และเป็นกลุ่มที่ mappa ควรจะทำอะไรด้วยสักอย่าง”

ขณะที่ทิพย์พิมลเสริมว่า องค์ความรู้ใน mappa ไม่ได้เป็นองค์ความรู้ที่จะต้องหาขึ้นมาใหม่ เพราะกลุ่มเป้าหมายมีความรู้แน่นอยู่แล้ว การทำงานทั้งกับทีมข้อมูลและทีมออกแบบจึงเป็นการเดินไปคุยกับคนจริงๆ มากกว่า

“เพราะฉะนั้น องค์ความรู้ของเราไม่ได้เป็นอะไรที่ใหม่ แต่เกิดจากคนธรรมดาที่ลงมือทำ ลองผิดลองถูก ซึ่งความรู้นี้อาจจะใช้ได้กับคนหนึ่ง แต่ใช้ไม่ได้กับอีกคนหนึ่ง เพราะแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เหมือนเพื่อนมาแชร์วิธีต่างๆ กันมากกว่า แต่คุณจะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้”

เรื่องนี้สอดคล้องกับมิราที่มองว่า พ่อแม่ไทยมีทฤษฎีแน่น ตามทุกเพจ อ่านหนังสือทุกเล่ม แต่กลับไม่สามารถเชื่อมทฤษฎีเข้าสู่การปฏิบัติได้ คำถามจึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไร mappa จึงจะกลายเป็นแผนที่นำทาง ทำทฤษฎีต่างๆ ให้กลายเป็นภารกิจ พ่อแม่ที่อ่านทฤษฎีก็อาจจะเชื่อมโยงทฤษฎีได้ ส่วนคนที่ไม่ได้อ่านก็จะเข้าใจทฤษฎีผ่านการลงมือทำ

อย่างไรก็ดี ในโลกที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาท และข้อมูลหรือทฤษฎีต่างๆ อยู่ห่างแค่เพียงปลายนิ้ว จึงไม่น่าแปลกที่กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่มักแสวงหาข้อมูลอยู่แล้วอาจจะเจอกับการจมทะเลข้อมูลมหาศาล หนึ่งคำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรจะเลือกใช้ข้อมูลอย่างไร

สำหรับเรื่องนี้ มิรามองว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การมีข้อมูลเยอะเกินไป แต่อยู่ที่เรายังตั้งคำถามไม่ถูกมากกว่า

“เราต้องเริ่มจากการตั้งคำถามก่อน เพราะถ้ายังตั้งคำถามไม่ได้ ข้อมูลก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เราจึงต้องรู้ก่อนว่า เกิดอะไรขึ้นกับเราตอนนี้ เหมือนเด็กยุคนี้ที่ความรู้เยอะมาก เรียนพิเศษเพียบ แต่กลับเลือกใช้ข้อมูลไม่ได้ เพราะไม่เคยตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วเราต้องการอะไร ที่เราบอกว่าข้อมูลมันเยอะ อาจจะเป็นเพราะเรากระโดดไปที่คำตอบหรือพิมพ์อะไรไปสักอย่าง แล้วกด search เร็วเกินไป ใช้เวลาทั้งวันนั่งดูข้อมูลไปเรื่อยๆ โดยที่เรายังไม่ได้กลับมาถามตัวเองว่า จริงๆ คำถามสำหรับเรื่องนี้คืออะไรกันแน่”

“แต่ถ้าเรารู้แล้วว่าคำถามของเราคืออะไร เราจะตั้งกรอบข้อสงสัยของเราได้ ซึ่งจะเป็นการกรองข้อมูลแล้วในระดับหนึ่ง แต่เกิดขึ้นข้างในตัวเรา เมื่อถึงเวลาต้องเลือกเราก็จะเลือกได้ เลือกแล้วบางเรื่องเข้าใจได้เลย หรือบางเรื่องต้องเอาไปค่อยๆลองผิดถูก ค่อยๆ ทำไป ถ้าเราตั้งคำถามบ่อยๆ กรองข้อมูลบ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘วิจารณญาณ’ ขึ้นมาได้”

แม่บี – มิรา เวฬุภาค

ขณะที่ฝั่งคุณแม่ที่มีลูกวัยรุ่นอย่างทิพย์พิมลแชร์ประสบการณ์ว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่สามารถเข้าถึงทุกสิ่งทุกอย่างในออนไลน์ได้อยู่แล้ว ทำให้พ่อแม่ไม่สามารถทำอะไรเขาได้เลย สำหรับทิพย์พิมล หน้าที่ของพ่อแม่ในตอนนี้จึงเป็นการสะกิดนิดหนึ่ง ชวนให้คิดต่อหรือเกิดบทสนทนาต่อไป แต่ไม่ได้ไปถึงขั้นห้ามไม่ให้ลูกทำอะไร

“เรามีหน้าที่แค่ดูว่าเขาเลือกอะไร รับอะไรมา แล้วก็ไปต่อกับเขาแบบเป็นเพื่อนกัน สมัยนี้ไม่ใช่สมัยที่เราจะห้ามอะไรเขาได้อีกต่อไปแล้ว” ทิพย์พิมลตอบ พร้อมๆ กับมิราที่ตอบต่อทันทีว่า “เราไม่รู้ว่าโลกที่เขาอยู่คืออะไร เราไม่ได้มีหน้าที่ไปตัดสินว่าโลกของเขาถูกหรือผิด แต่เรามีหน้าที่ถามเพื่อจะได้รู้ว่า เขาไปทางไหน”

ส่วนคนที่ต้องคลุกคลีกับข้อมูลอยู่แล้วอย่างวริศนิยามว่า สิ่งสำคัญคือ “การถ่อมตัวและเปิดใจกว้าง”

“เราอยากเสนอให้ลองนิยามความอันตรายดู สมมติว่าเราไม่ชอบสิ่งนี้ที่ลูกทำเลย เราว่ามันอันตราย พ่อแม่ก็เลือกที่จะห้ามลูกและไม่เข้าไปแตะต้องมัน แต่ทำไมเราไม่ลองอนุญาตตัวเองสักหนึ่งวันให้เข้าไปอยู่ในโซนอันตรายนั้น อนุญาตให้เราเชื่อแบบนั้นสักหนึ่งวัน เพื่อให้รู้ว่าสรุปสิ่งนั้นมันคืออะไร เป็นอะไรกันแน่ และพอวันถัดมาที่เรากลับมาเป็นตัวเองแล้ว เราอาจจะชั่งน้ำหนักข้อมูลและตัดสินใจได้มากขึ้น”

“เราว่านิสัยอย่างหนึ่งของคนไทยที่ต้องใช้ข้อมูลคือ พวกเขาไม่ค่อยอนุญาตให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในโซนที่ตัวเองนิยามว่าเป็นโซนอันตรายเท่าไหร่ พอเห็นว่าไม่ดีก็จะปิดประตูใส่เลย แต่เรามองว่า ลองดูและเปิดกว้างสักวันก็ไม่เสียหายนะ เราว่ายุคนี้เป็นยุคที่วิจารณญาณ ชั่วโมงบิน และประสบการณ์ มีผลน้อยลงทุกวัน ความมั่นใจในตัวเองก็ใช้ได้แบบลิมิตมากๆ สิ่งที่จะช่วยให้เราเลือกใช้ข้อมูลได้ถูกจึงอาจจะเป็นการ ‘ยอม’ไปก่อนต่างหาก”

-3-

ถ้า mappa คือโลกลึกลับหนึ่งใบ โลกใบนี้คงเป็นโลกใบใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยได้เข้าไปสำรวจมาก่อน

ในโลก mappa เด็กๆ จะรับบทบาท “นักผจญภัย”

และผู้ใหญ่ที่ร่วมเดินทางจะรับบทบาทเป็น “คู่หู”

ทั้งสองจะร่วมกันทำ “ภารกิจ” ในดินแดนต่างๆ เพื่อค้นหาความสนใจใหม่ๆ เติมทักษะ และสะสมประสบการณ์

ข้างต้นคือคำโปรยใน Facebook ของ mappa ที่เชิญชวนให้พ่อแม่และลูก (อายุ 0-8 ปี) เข้าร่วมเล่นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์แบบไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และนอกจากกราฟิกสีสันสดใสที่ทำให้คนอายุเกินแล้วและไม่ได้เป็นพ่อแม่อย่างเราอยากลองเข้าไปสำรวจโลกลึกลับที่ว่า อีกหนึ่งความน่าสนใจคือ การเรียกเด็กๆ ว่าเป็น ‘นักผจญภัย’ และผู้ใหญ่ที่รับบทบาทเป็น ‘คู่หู’ – ทำไมต้องเปรียบเทียบแบบนี้ อะไรคือความคิดเบื้องหลังเรื่องราวนี้ – จึงเป็นคำถามถัดมาที่เราอดถามไม่ได้

ฝ่ายข้อมูลอย่างวริศเป็นคนแรกที่ตอบคำถามนี้ โดยเขาอธิบายว่า “ถ้าเราตั้งต้นว่า ‘แผนที่’ (mappa แปลว่าแผนที่ในภาษาละติน) เป็นคอนเซปต์ เราก็จะต่อได้ว่า นี่คือแผนที่อะไร นี่คือแผนที่แห่งการเรียนรู้นะ ตามมาด้วยการอธิบายส่วนต่างๆ ในแพลตฟอร์มว่า นี่คือการเดินทางบนเส้นทางนี้ ตอนนี้เราอยู่จุดนี้ แล้วก็พัฒนามาเป็นไอเดียว่า มีเกาะนั้นเกาะนี้ พื้นที่นี้ก็เป็นเกาะแบบนี้ ทำให้ผู้ใช้จะได้รับประสบการณ์ในการเล่นที่แตกต่างออกไป เป็นการท่องเที่ยวไปในแต่ละทางที่ไม่เหมือนกัน”

ส่วนการเปรียบเด็กเป็นนักผจญภัย และพ่อแม่เป็นเพื่อนคู่หู เมธวินอธิบายในมุมของการออกแบบต่อว่า เมื่อรูปแบบหลัก (theme) ของแพลตฟอร์มเป็นแผนที่ พ่อแม่กับเด็กที่จะเรียนรู้ร่วมกันก็ควรจะถูกนำเสนอออกมาอีกแบบหนึ่ง เพราะพ่อแม่ต้องร่วมเรียนรู้กับเด็ก และเด็กต้องมีอิสระในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

“เมื่อเป็นแบบนี้ เราก็ตั้งเป้าว่าเด็กคือนักผจญภัย พ่อแม่คือเพื่อนคู่หูที่จะเดินไปด้วยกันและคอยซัพพอร์ตเขา ซึ่งในแง่ของการดีไซน์หรือกลไกเกม การมีเรื่องราวพวกนี้จะเป็นแก่นในการจับให้เรื่องราวของเกมน่าสนใจมากขึ้น และเป็นแก่นที่ทำให้เด็กรู้สึกว่า เขาไม่ได้เรียนคอร์สออนไลน์อยู่ แต่กำลังเล่นบทบาทสมมติอยู่ในสตอรี่เรื่องหนึ่ง”

“ในมุมของการออกแบบเกมจะมีทฤษฎีหนึ่งที่บอกว่า ถ้าเราสร้างบริบท (context) ขึ้นมาใหม่ และให้เขาเข้าไปอยู่ในโลกนั้น ผู้เล่นจะรู้สึกว่ามันเป็นเกม เขาจะยอมถอดหมวกเดิมของเขา สวมหมวกใบใหม่ และยอมเล่นตามกติกาเพราะคิดว่านี่คือโลกสมมติ เราเลยใช้ตรงนี้มาครอบและทลายกำแพงเขาด้วยการบอกว่า เราไม่ได้จะสอนคุณ แต่จะทำให้คุณได้ผจญภัยกับลูก แต่คุณต้องเล่นตามกติกาของโลกใบใหม่นี้ด้วย”

วริศ ลิขิตอนุสรณ์ จาก Text and Title

นอกจากความคิดเบื้องหลังของ mappa ที่กลายมาเป็นกลไกที่แข็งแรงในการออกแบบเกมแล้ว วริศยังชี้ให้เห็นอีกจุดหนึ่งที่เราอาจจะคิดไม่ถึงคือ การเรียกผู้ใช้ว่านักผจญภัยและเพื่อนคู่หู แทนที่จะเรียกว่าเด็กและพ่อแม่ตรงๆ จะช่วยลดความกระอักกระอ่วนในหลายๆ เรื่องได้

“ก่อนจะเข้าสู่แอปพลิเคชัน mappa จะมีคำถาม 3-4 ข้อเป็นเหมือนการเตรียมพร้อม เช่น มีคำถามว่า “ในสถานการณ์นี้ นักผจญภัยกำลังเศร้า เพื่อนคู่หูที่ดีควรจะทำอย่างไร” แต่นึกออกไหมว่าถ้ามันตรงไปตรงมา ก็จะกลายเป็น “ในสถานการณ์นี้ ลูกกำลังเศร้า พ่อแม่ที่ดีควรจะทำอย่างไร” มันจะกดดันเรามาก สมมติตอบผิดแล้วระบบก็จะเด้งว่า “ผิด! คุณไม่ใช่พ่อแม่ที่ดี” (หัวเราะ) มันช่วยในเรื่องการพูดแบบนี้ด้วย”

“อีกอย่างระบบคือ ranking สมมติเกมเรียกพ่อแม่ว่าเป็นพ่อแม่มือใหม่ เขาอาจจะบอกว่าบ้าหรือเปล่า นี่ลูกคนที่สอง คนโตก็วัยรุ่นแล้ว ยังจะเรียกครอบครัวมือใหม่อยู่อีก แต่พอเรียกว่าแก๊งนักผจญภัยมือใหม่มันจะดูดีขึ้นมา”

เช่นเดียวกับมิราที่มองว่า บทบาทของพ่อแม่ในยุคสมัยหนึ่งที่เคยใช้ได้ ที่เคยอยู่ในวิธีคิดที่ว่าเรารู้ดีกว่า เข้าใจมากกว่า และเป็นผู้สอน ส่วนลูกจะเป็นผู้รับ อาจจะไม่สามารถใช้ได้ในโลกอนาคตที่มีความผันผวนและไม่แน่นอน เป็นโลกที่ต้องการทักษะใหม่ๆ เป็นโลกที่กำลังเปลี่ยนไป และเป็นโลกที่พวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือลูก กำลังจะก้าวเข้าไปสู่ความไม่รู้ บทบาทเชิงอำนาจแบบนี้จึงอาจไม่ใช่คำตอบที่ใช้ได้อีกต่อไป

-4-

แม้โจทย์ของ mappa จะเริ่มต้นจากการมองว่า ลำพังโรงเรียนอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้อีกต่อไป แต่มิราก็ชี้ว่า โรงเรียนยังเป็นฟังก์ชันทางสังคมที่จำเป็นและควรมี แต่ขณะเดียวกัน โรงเรียนก็ควรจะปรับตัวด้วย

“ในอนาคต ถ้าโรงเรียนไหนอยากใช้แพลตฟอร์ม mappa เป็นเครื่องมือในการสร้างความร่วมมือระหว่างบ้าน-โรงเรียน เราก็ยิ้มรับเลย ยินดีมาก เราทำเครื่องมือขึ้นมาโดยคิดเอาไว้ในใจตั้งแต่ต้นว่า อยากให้โรงเรียนเอาไปใช้สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างบ้านและโรงเรียน สมมติเด็กมาโรงเรียน คุณครูมอบหมายให้ทำภารกิจอะไร ก็มาใช้ mappa ได้ และมันดีตรงที่ว่า กดปุ่มเดียว พอร์ตที่เด็กทำกิจกรรมร่วมกับคนที่บ้านก็จะปรากฏขึ้นมา โรงเรียนก็นำผลตรงนี้ไปประเมินหรือต่อยอดได้เลย”

อย่างไรก็ดี ต่อให้บ้านและโรงเรียนร่วมมือกันสร้างทักษะและให้ความรู้กับเด็กแล้ว แต่สิ่งที่ใหญ่กว่านั้นคือสังคมที่จะต้องอ้าแขนรับและเปิดใจให้มากพอที่จะรับทักษะใหม่ๆ ที่ทางทีมพยายามสร้างให้เด็กกลุ่มนี้ ซึ่งทีม mappa ชี้ให้เห็นว่า คำถามที่ใหญ่กว่าการสร้างเครื่องมือการเรียนรู้ที่ดี คือเมื่อมีเครื่องมือที่ดีแล้ว เด็กเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้มีทักษะต่างๆ แล้ว เรามีพื้นที่หรือมีสังคมแบบไหนที่จะเปิดโอกาสเพียงพอให้เด็กได้นำทักษะเหล่านี้ไปใช้ และเมื่อเขาใช้ทักษะที่เราอยากให้เขามีแล้วจะส่งผลกับชีวิตเด็กอย่างไร

“เราบอกว่าเราสร้างเด็กที่ดีมากๆ เลย มีทักษะแบบเจ๋งมาก แต่พอถึงเวลาที่เด็กคนนั้นอยากจะสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง เขาจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ไหม เพราะการสร้างนวัตกรรมก็จะต้องมีทรัพยากร หรือถ้าเขาอยากมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) เขาจะได้รับการตอบสนองอย่างไรจากผู้ใหญ่ เขาจะมีพื้นที่ตรงไหนที่ทำแบบนั้นได้ ในโรงเรียนหรือที่ทำงานได้ไหม?”

“เพราะฉะนั้น นอกจากกระบวนการสร้างและส่งเสริมทักษะของเด็กแล้ว สังคมก็ควรต้องรองรับและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ของเด็กเมื่อเขาเติบโตด้วย ซึ่งตอนนี้เท่าที่มองเห็น สังคมอาจจะยังไม่มีกระบวนการที่ว่ามาเลย”

ขณะที่เมธวินเสริมว่า “หลังๆ เด็กยุคใหม่จะบ่นเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้างเยอะ เพราะเขาเริ่มคิดแบบวิพากษ์จนถึงจุดหนึ่งแล้ว ยิ่งช่วงนี้มีกระแสทางการเมืองก็ยิ่งกระตุ้นให้เขาตั้งคำถาม และไม่น่าแปลกเลยที่เขาจะตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบโครงสร้าง แต่พอเขาตั้งคำถามและวิพากษ์ได้อย่างที่เราอยากให้เขาเป็นแล้ว สิ่งที่โรงเรียนหรือสังคมทำกับเขากลับกลายเป็นว่า ไม่เปิดพื้นที่ให้เขาค่อยๆ ได้ใช้ทักษะที่เราพยายามอย่างมากให้เขามี สุดท้าย ก็จะลงเอยด้วยการอั้นและปล่อยให้เกิดการชนไปตรงๆ เพราะไม่มีทางอื่นให้เด็กได้ใช้พลังของเขาเลย”

“สำหรับทีมเรา ในฐานะคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างเด็กรุ่นใหม่ๆ กับผู้ใหญ่ เราไม่อยากบ่น ว่า หรือด่าโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นสังคม หรือการศึกษา แต่เราลงมือทำและชวนเด็กๆ มาร่วมด้วย เริ่มจากจุดเล็กๆ และหวังว่าวันหนึ่ง สิ่งที่เราทำจะไปกระทบกับส่วนอื่นๆ เหมือนเป็น butterfly effect ซึ่งวันหนึ่งจะเป็นโมเมนตัมที่มีอิมแพคมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้”

-5-

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและทีม mappa แบ่งปันให้เราฟังคือ การได้เจอกับพ่อแม่ผู้ปกครองหลากหลายแบบ ที่แต่ละคนต่างมีความน่าสนใจในตัวเอง

“เราเคยคุยกับคุณคงเดช (จาตุรันต์รัศมี) ที่เป็นคุณพ่อที่ทำโฮมสกูลให้ลูก แต่เขาก็ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาแบบเดิม หรือคุณญารินดา (บุนนาค) ที่ในบ้านมีคน 3 รุ่นรวมกัน ทั้งคุณตาคุณยาย คุณญารินดา และลูก ก็จะมีการเจอกันระหว่างความเชื่อแบบเดิม กับความเชื่อแบบคุณญารินดาที่เริ่มตั้งคำถามกับมัน แต่ใช่ว่าจะไม่เชื่อเลย หรืออย่างการคุยกับครูก้า กรองทอง เรื่องความสำคัญของการเล่น ซึ่งจะมีคนมากดไลก์ กดแชร์ เยอะมาก ตรงนี้ก็ทำให้เราเห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มเป้าหมายเราด้วย”

ทิพย์พิมลในฐานะทีมสื่อฉายภาพให้เห็น พร้อมทั้งอธิบายต่อว่า ในยุคที่มีแพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกเยอะมากๆ ทฤษฎีของพ่อแม่ก็จะพลอยเยอะไปด้วย จึงอาจถึงจุดที่พ่อแม่ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า จะเชื่อทฤษฎีเหล่านี้ดีหรือไม่ และคนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ mappa ต้องการสื่อสารด้วย

บี-ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ จาก Way magazine 

อย่างไรก็ดี ทิพย์พิมลเชื่อว่า การจะเชื่ออะไรต้องมาจากการลงมือทำ และ mappa ก็ไม่ได้เหมารวมว่าผู้ปกครองต้องเชื่อทุกอย่าง แต่บทบาทสำคัญคือ การช่วยจุดประเด็นคำถามที่น่าสนใจขึ้นมา – สิ่งที่เคยคิดว่าดี คำสอนที่เคยคิดว่าโอเค มันดีหรือโอเคจริงๆ หรือไม่

“เราอยู่ในสังคมที่การตั้งคำถามสำคัญกว่าการหาคำตอบ และคำตอบที่ดีหลายอย่างก็มาจากคำถามที่ดี”

“บ่อยครั้ง คำถามดีๆ ก็ถูกฆ่าด้วยคำตอบห่วยๆ” มิราเสริม

“บางครั้งเหมือนเรารีบตอบไป เร่งเกินไป ไม่ยอมให้คำถามทำงาน โดยเฉพาะในกลุ่มพ่อแม่ บางทีถ้าเด็กมีคำถาม คุณอาจจะเลี้ยงคำถามนั้นไว้ก่อนก็ได้ ไม่ต้องรีบตอบ บางทีเรายังไม่รู้เลยว่าเขาสงสัยอะไรกันแน่ ปล่อยให้กระบวนการบางอย่างหรือให้ชีวิตเป็นตัวตอบเขาก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องตอบเขาทุกเรื่อง”

นอกจากประสบการณ์ที่น่าสนใจของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ทีม mappa เจอแล้ว ทั้งมิราและทิพย์พิมลยังรับบทบาทเป็นคุณแม่ในชีวิตจริงด้วย ซึ่งทั้งสองคนเห็นตรงกันว่า พ่อแม่เลี้ยงลูกแบบไหน สังคมก็จะเป็นแบบนั้น ฉะนั้น หากพ่อแม่อยากให้สังคมเป็นอย่างไร ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูก และในทางกลับกัน ถ้าเราอยากดูว่าพ่อแม่ไทยตอนนี้เป็นอย่างไร ก็ให้ดูจากสภาพสังคมไทยในตอนนี้

“จากประสบการณ์การเลี้ยงลูกของเรา เราว่าสิ่งสำคัญที่เป็นบทเรียนของตัวเองคือ การมีวิจารณญาณเป็นของตัวเอง” มิราตอบ เมื่อเราถามถึงเรื่องการเลี้ยงลูก ก่อนจะขยายความต่อว่า “เราไม่ได้เชื่อทุกอย่างจากตำราการเลี้ยงลูก เราอ่านเยอะนะ แต่เราเลี้ยงลูกแบบคนอื่นไม่ได้ และก็หนีความเป็นตัวเองไม่ได้ด้วย สิ่งที่เราเป็นได้อย่างเดียวคือเราจะเป็นแม่แบบแม่บี แต่ก็ไม่ใช่ฉันเป็นของฉันแบบนี้ ฉันจะไม่เปลี่ยนเลย เราเรียนรู้ด้วยการเป็นแม่บีที่เรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอด  ระหว่างที่เราเรียนรู้ เราก็หาข้อมูลใหม่และเฝ้ามองโลกที่เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งก็ต้องประเมินว่าสิ่งที่เราได้อ่าน ได้ฟัง ได้เรียนรู้มาใหม่นั้น เหมาะกับตัวเราและครอบครัวของเราไหม”

ขณะที่การเลี้ยงลูกของทิพย์พิมลคือ การไม่สอนตรงๆ แต่ทำให้ลูกได้เห็นตัวเลือกเยอะๆ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในสังคม และเลือกตัดสินใจด้วยตนเอง ซึ่งโดยส่วนตัว ทิพย์พิมลมองว่าเป็นเรื่องที่ได้ผลยิ่งกว่าการนั่งสอนว่าอะไรดี-ไม่ดีเสียอีก

-6-

แม้จะเพิ่งเปิดแผนที่นำทางให้เหล่านักผจญภัยและเพื่อนคู่หูได้ร่วมเล่นไม่นาน แต่จากกระแสตอบรับของผู้เข้าร่วมคงทำให้เห็นแล้วว่า mappa ประสบความสำเร็จแค่ไหน และมีพ่อแม่มากขนาดไหนที่อยากร่วมเรียนรู้กับลูก

และเมื่อเฟสแรกประสบความสำเร็จอย่างงดงามเช่นนี้ คำถามต่อไปที่เราถามทางทีมคือ ภาพอนาคตต่อไปของ mappa

ในเรื่องนี้ ทีมออกแบบอย่างเมธวินตอบว่า “อย่างที่บอกว่าคอนเซปต์ของ mappa คือ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ (learning happens everywhere) ซึ่งเป็นคอนเซปต์ที่เราเชื่ออยู่แล้ว ระหว่างทำ mappa ก็ได้คุยกับพี่บี (มิรา) ด้วยว่า ภาพโรงเรียนในอนาคตจะเป็นอย่างไร และ mappa จะเข้าไปร่วมกับทางโรงเรียนได้ยังไง คือไม่ได้เป็นแค่ตัวช่วยที่บ้าน แต่เป็นอะไรที่จะติดตัวเด็กและพ่อแม่ไป ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่โรงเรียน ในทุกจุดที่จะประกอบกันเป็นการเรียนรู้ของคนหนึ่งคน และเรามองไกลไปถึงเด็กที่โตขึ้น ไม่ใช่แค่ 0-8 ปี หรือ 9-14 ปี ที่จะทำในเฟสสอง แต่เราจะทำให้เด็กคนหนึ่งเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เป็น life-long learning skills ซึ่งเราก็คิดว่าจะไปให้ถึงตรงนั้นนะ แต่ตอนนี้ก็ต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน”

ม๋ำ-เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ จากทีม Base Playhouse

ขณะที่อีกหนึ่งทีมออกแบบอย่างภีศเดชเสริมด้วยการฉายภาพให้ชัดขึ้นว่า mappa จะเข้าถึงคนได้เยอะขึ้น และเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนได้ง่ายขึ้น จากที่เข้าผ่านเว็บก็อาจจะสามารถเข้าผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือหรือแทบเลตได้

“เราอยากให้มันใช้งานได้ง่ายขึ้น และกลไกของเกมบางอย่างอาจจะกระตุ้นให้เขากลับมาใช้บ่อยขึ้น ปัจจุบัน พ่อแม่และเด็กจะถูกแย่งความสนใจไปที่สื่ออื่นบ่อยๆ ถ้าเราใช้เกมเป็นตัวกระตุ้นความสนใจให้เขากลับมาที่แพลตฟอร์มทุกวัน ก็น่าจะมีประโยชน์กับตัวเขาด้วย”

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการสร้างระบบนิเวศ ซึ่งมิราอธิบายส่วนนี้ว่า การเป็นแพลตฟอร์มไม่ใช่แค่การเรียนออนไลน์ แต่เป็นที่ๆ เชิญชวนให้คนที่สนใจสร้างการเรียนรู้หรือทักษะใหม่ๆ มาร่วมกันสร้างให้เด็ก เช่น ภาคธุรกิจ ศิลปิน คนทำละคร นักแสดง หรือนักเขียน ซึ่งคงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คนกลุ่มนี้จะได้เข้าไปสอนในโรงเรียนที่ยังอิงกับหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ mappa จึงจะเข้ามาเป็นพื้นที่ทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเสริมการเรียนรู้ตรงส่วนนี้ให้เด็กได้

ฝั่งสื่อสารอย่างทิพย์พิมลเสริมว่า เมื่อการเรียนรู้เกิดขึ้นจากสายสัมพันธ์ ไม่ใช่เกิดจากทฤษฎีใดๆ สิ่งที่ทางทีมหวัง และอาจเป็นความหวังที่ไกลมากๆ คือการปรับ mindset ของครอบครัว ที่จะช่วยกันจูงมือและเสริมพลัง (empower) ไปพร้อมกัน

“เราอยากจะใส่เมล็ดพันธุ์ที่เชื่อว่า ความสัมพันธ์คือการเรียนรู้แบบหนึ่ง ลงไปก่อน และถ้าครอบครัวเชื่อว่าพวกเขามีพลังและสามารถทำได้ ก็จะเกิดแนวทางตามมาเอง เพราะเราเชื่อว่าผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือปู่ย่าตายาย เขามีทฤษฎีส่วนตัวอยู่แล้ว ขอแค่เชื่อว่าตัวเองทำได้ก็พอ”

-7-

“อย่าวาดฝันโลกให้เด็ก แต่ปล่อยให้เด็กได้ใฝ่ฝันถึงโลกในอนาคตของตัวเอง” คือประโยคที่มิราพูดในช่วงสุดท้ายของการสนทนา “ถ้าเราถามว่า ผู้ใหญ่วาดฝันโลกในอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อไปว่ายังไง เราว่ามันชวนให้เข้าใจผิดนะ เพราะนี่เหมือนเป็นการบอกว่า โลกมีใบเดียว ซึ่งไม่ใช่แบบนั้น”

“เรานั่งกันอยู่หลายคน แต่ละคนต่างก็มีโลกของตัวเอง มองโลกผ่านเลนส์ของตัวเอง เรามีโลกที่ตัวเองสร้างขึ้นมาและเชื่อแบบนั้น ไม่มีใครเชื่อเหมือนกัน โลกของเราคนละใบกันหมดเลย เรื่องชีวิตก็เหมือนกัน พ่อแม่ไม่ได้เป็นผู้สร้างชีวิตให้เขา แต่เขาต้องสร้างของเขาเอง เราแค่ต้องช่วยให้เขาสร้างชีวิตและโลกของตัวเองขึ้นมาได้ นั่นคือหน้าที่ของเราจริงๆ”

ส่วนอีกหนึ่งคุณแม่อย่างทิพย์พิมลพูดต่อว่า “พูดอย่างถ่อมตัวที่สุด เราจะไม่สร้างโลกให้เขา แต่เราจะทำทุกอย่างให้เขาไม่กลัว เพราะรุ่นของเราคือรุ่นที่เติบโตด้วยความกลัว อยู่ในวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยความกลัวมาตลอด กลัวไม่ได้เรียนคณะดีๆ กลัวตกรุ่น กลัวไม่ได้ทำงาน กลัวที่จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือกลัวที่จะต่างจากคนอื่น”

“เราจึงจะบอกลูกว่า ลูกไปเถอะ ไม่ต้องกลัว เพราะเราจะอยู่ข้างหลังเขาเอง เราเชื่อนะว่า ถ้าครอบครัวซึ่งมีอิทธิพลกับเด็กที่สุดแข็งแรง เขาจะไม่กลัวอะไรสักอย่างเลย”

ส่วนตัวแทนจากทีม BASE Playhouse อย่างเมธวินเสนอว่า พ่อแม่ต้องปล่อย ไม่ตีกรอบหรือเอาความคิดตัวเองไปใส่ให้ลูก ซึ่งก็คือการให้โอกาสเด็กได้สร้างโลกของตัวเอง ขณะที่ภีศเดชฉายภาพว่า โลกที่เขาใฝ่ฝันถึงคือโลกที่เด็กทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ว่าตัวเองอยากเรียนรู้เรื่องอะไร และหาวิธีไปถึงจุดนั้นได้ด้วยตัวเอง มีโอกาสออกแบบชีวิตตัวเองโดยไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบของสังคม

แม็ก-ภีศเดช เพชรน้อย จาก BASE Playhouse 

“ส่วนตัวเราเชื่อในพลังแห่งการเรียนรู้ (power of learning) มากๆ เพราะการเรียนรู้ปลดปล่อยและสามารถทำให้คนเป็นอะไรก็ได้ที่เขาอยากจะเป็น”

อย่างไรก็ดี ภีศเดชเสริมว่า ด้วยลักษณะทางกายภาพของมนุษย์ ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กจะทำอะไรได้ด้วยตัวเองตั้งแต่เกิด จึงเป็นหน้าที่ของคนรอบข้างในการสนับสนุนเขาในทางที่เหมาะสม จนกระทั่งถึงจุดที่เด็กสามารถทำอะไรๆ ได้ด้วยตัวเอง เมื่อนั้น จึงถึงเวลาที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องปล่อยมือและปล่อยให้เด็กได้สร้างโลกของตัวเอง

แม้หลายคนจะพูดตรงกันว่า การ ‘ปล่อย’ ให้เด็กได้ใฝ่ฝันถึงโลกในอนาคตของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ แต่วริศเสริมว่า การปล่อยไม่ได้หมายความว่า คนรุ่นพ่อแม่ผู้ปกครองในตอนนี้หรือคนที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กไม่มีหน้าที่อะไรเลย

“สิ่งที่พวกเราต้องทำคือ การสร้างสิ่งที่ยืดหยุ่นเอาไว้ให้เขามากที่สุด เป็นแบบของเขาได้มากที่สุด เปรียบง่ายๆ คืออย่าทำเฟอร์นิเจอร์แบบ built-in (หัวเราะ) เวลาเราวางโครงสร้างอะไรไว้ให้คนรุ่นต่อไป สังเกตได้ว่ามันจะมีระบบนั่นนี่เต็มไปหมด ทำให้ขยับตัวได้ยากมาก สิ่งที่เราทิ้งไว้จึงควรจะเป็นความยืดหยุ่น และเราถึงจะบอกเขาได้ว่า เอาเลย คนรุ่นใหม่ ไปเลย ไม่ใช่โยนเขาเข้าไปและปล่อยให้ติดแหงกอยู่ในระบบหรือโครงสร้างแบบเก่าๆ”

“เพราะฉะนั้น คนรุ่นก่อนหน้ามีหน้าที่ตรงนี้ด้วย ไม่ใช่ใช้ทรัพยากรของโลกจนเกือบหมดแล้วบอกว่า คนรุ่นใหม่จะฝันยังไงล่ะ มันไม่ใช่แบบนั้น เรามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อคนรุ่นใหม่ด้วย”

ในตอนท้าย มิราสรุปให้เราฟังสั้นๆ ว่า ถึงเราจะมีโลกของตัวเอง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เรามีโลกของคนข้างๆ ที่พัวพันกับโลกของเราด้วยเช่นกัน

“เราต้องไม่เห็นแต่โลกของเรา เพราะเราอยู่ข้างกันและยังต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ คนรุ่นก่อนหน้าก็ยังมีประโยชน์กับคนรุ่นใหม่ เราให้บางสิ่งบางอย่างกับพวกเขาได้ เพราะโลกมันทับซ้อนกันไปหมด แต่ต้องเห็นนะว่าเราก็มีโลกของเรา คนอื่นก็มีโลกของเขา และโลกของพวกเราก็มีทั้งความเหมือนและความต่าง มีบางอย่างที่เชื่อมโยงกันหรือสนับสนุนกันได้ พูดง่ายๆ คือ เรามีทั้งโลกของตัวเอง และคอยอยู่ข้างๆ กับโลกของคนอื่นด้วย”


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save