fbpx

จาก 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา: การเคลื่อนไหวของชาวนาภาคเหนือในความทรงจำของ มนัส จินตนะดิลกกุล

มนัส จินตนะดิลกกุล

เมื่อไหร่ก็ตามที่เรานึกถึงประโยคที่ว่า “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ภาพประวัติศาสตร์ของ 14 ตุลาคม 2516 คือสิ่งแรกที่ปรากฏในความคิด ในขณะที่ 6 ตุลาคม 2519 มี ‘ความรุนแรง’ เป็นปราการแรกในความทรงจำบาดแผลที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา

แม้จะมีภาพจำที่ต่างกัน แต่ทั้งสองเหตุการณ์ก็เชื่อมต่อร้อยเรียงและมีต้นสายปลายเหตุที่จุดชนวนความเคลื่อนไหวมาด้วยกัน โดยมีนักศึกษาเป็นแกนหลักในการสร้างพลังขับเคลื่อนต่างๆ

แต่หากย้อนไปในช่วงเวลานั้น การเคลื่อนไหวไม่ได้จุดติดแค่ในหมู่นักศึกษาเพียงอย่างเดียว ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ เป็นต้นมา กรรมกรและชาวนาจับมือร่วมกับนักศึกษาออกมาเรียกร้องสิทธิและเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นวงกว้าง พวกเขาเรียกพลังนี้ว่า ‘สามประสาน’ และยังขยายการรับรู้ไปจนถึงพื้นที่ต่างจังหวัด โดยแกนนำนักศึกษาส่วนหนึ่งได้เข้าไปร่วมทำงานเป็นส่วนหนึ่งกับแรงงานและชาวนาในพื้นที่จริงด้วย

นี่จึงเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยอธิบายความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนในพื้นที่นอกเขตกรุงเทพในช่วงปี 2516-2519 และสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงการเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เชื่อมต่อไปจนถึงภาพทางการเมืองไทยในปัจจุบัน

ในวาระครบรอบ 46 ปี 6 ตุลาฯ 101 ชวน มนัส จินตนดิลกกุล หรือ ส.เทอด อดีตนิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ประสานงานโครงงานชาวนาของศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือ ที่ตัดสินใจลาออกจากการเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อลงพื้นที่ทำงานกับชาวนาในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ และ ‘ร่วมทุกข์ ร่วมสุข’ กับชาวบ้านภาคเหนือจนกระทั่งถึงช่วงเวลาแห่งโศกนาฏกรรมการปราบปรามคนเห็นต่างจากรัฐในวันที่ 6 ตุลาฯ

ในวันที่นักศึกษากรุงเทพเคลื่อนไหว ภาคเหนือทำอะไรบ้าง ข้อเรียกร้องที่พวกเขายึดถือคืออะไร สิ่งที่นักศึกษาเข้าไปทำงานกับชาวนาเป็นอย่างไร และในคืนวันที่ 5 จนถึงฟ้าสางวันที่ 6 ความเคลื่อนไหวของนักศึกษาและชาวนาที่เชียงใหม่เป็นอย่างไรบ้าง เหล่านี้คือสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของมนัสในช่วงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา

มนัส จินตนะดิลกกุล
มนัส จินตนะดิลกกุล (ข้างล่าง) หน้าสำนักงานศูนย์การุณยเทพ เชียงใหม่ ปี 2520 หลังจากถูกจับกุมเข้าค่ายทหารหลังการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ภาพจาก: หนังสือกลั่นจากความทรงจำ โดย ส.เทอด

คุณเริ่มต้นสนใจการเมืองตั้งแต่ตอนไหน

ตั้งแต่เป็นเด็กมัธยม ช่วงปี 2514 ผมเรียนอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มีจัดงานสังคมศาสตร์ปริทัศน์ที่นักเรียนมัธยมฯ เกือบจะทั่วประเทศมาจัดงานในเชิงสังคม ทางผมกับเพื่อน คือคุณประชา หุตานุวัตร ก็ร่วมจัดเรื่องพระพุทธศาสนาในยุคพุทธทาส เพื่อนอีกคนคือคุณธีรชัย มฤคพิทักษ์ ปัจจุบันชื่อเข้ม มฤคพิทักษ์ ก็จัดไฮด์ปาร์กเรื่องเลือกตั้งจำลอง ตอนนั้นจอมพลถนอม (กิตติขจร) รัฐประหาร เรารู้สึกว่าไม่ถูกต้อง แล้วช่วงนั้นนักเรียนก็มีการส่งตัวแทนไปไฮด์ปาร์กเรื่องการเมือง เขาก็ชวนเราให้เข้าไปร่วม เราสนุก มีคนฟังกันเยอะ 

หลังจากนั้นเราสามคนมาคุยกันว่าจัดแค่นี้ พูดเรื่องการเมือง ปัญหาบ้านเมืองแล้วจบเท่านี้เหรอ มันน่าจะรวมกลุ่มทำอะไรกันต่อนะ ก็เลยนัดแนะพวกที่ขึ้นไฮด์ปาร์กมาคุยกันว่าจะสร้างกลุ่มกันไหม จัดกิจกรรม เพราะตอนนั้นเรารู้สึกไม่ไหวในเมื่อสังคมเป็นอย่างนี้ เราไม่มีเสรีภาพ สถาบันการศึกษาก็แข่งขันกัน ใครไม่เก่งครูไม่สนใจ แต่เรารู้สึกว่าทำไมมันต้องแข่งขันกันขนาดนี้

เดือนธันวาคม 2515 มีประชุมการตั้งกลุ่ม ต่อมาตั้งชื่อว่ากลุ่มยุวชนสยาม [ถ้าเปรียบกับ] สมัยนี้ก็คือกลุ่มนักเรียนเลวที่ต่อต้านระบบพวกนี้ ตอนนั้นเราทำกิจกรรมกัน ในขณะเดียวกันภายนอกเองหรือในมหาวิทยาลัย เขาก็มีกลุ่มอิสระเริ่มเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องงานความคิดแล้ว เช่น กลุ่มสภาหน้าโดมของธรรมศาสตร์ กลุ่มสภากาแฟของเกษตร ที่จุฬาฯ ก็มีกลุ่มโซตัสใหม่ต่อต้านระบบอาวุโส (seniority) 

ในยุวชนสยามมีการมาคุยกันว่าน่าจะบ่มเพาะความคิดพวกเราก่อนนะ เพราะว่าคิดไม่เหมือนกัน บางคนสนใจศาสนา บางคนสนใจการเมือง สนใจปรัชญา เราก็จัดค่ายทางความคิด ไปลงพื้นที่ในปทุมธานี กลางคืนเชิญวิทยากรมาให้ความรู้ แล้วเราก็ตกผลึกทางความคิดกัน คุยกันว่ามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเข้าไหม สรุปคือไม่จำเป็น แต่ควรเข้าเพื่อไปสู้กับระบบในมหาวิทยาลัย ใครจะไปมหาวิทยาลัยไหนก็เลือกไปเลย เพื่อไปสร้างกลุ่ม สร้างคน

ผมเข้าเรียนครุศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งมีระบบอาวุโส มีระบบโซตัส เราก็รวมกลุ่มกับเพื่อนที่เคยอยู่ยุวชนสยามด้วยกันต่อสู้ เพราะเราเข้าไปเป็นกลุ่มก้อน ตั้งพื้นที่ของเราขึ้นมา ในจุฬาฯ เองก็มีกลุ่มต่อต้านอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยอื่นๆ เองก็มีกลุ่ม แล้วก็เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นศูนย์นักศึกษาฯ ความตื่นตัวทางการเมืองมันเกิดในหมู่นักเรียนสูง จนกระทั่งมีการเคลื่อนไหวทางสังคมมากๆ เราก็ออกไปร่วมด้วย เช่น มีการต่อต้านเรื่องในทุ่งใหญ่นเรศวร กฎหมายอัปลักษณ์ที่รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมอำนาจศาล หรือการจับกลุ่มนักศึกษา 13 คนที่ไปแจกใบปลิว ในนั้นมียุวชนสยามอยู่ด้วย เราก็ชุมนุมกันตั้งแต่วันที่ 7 ที่ธรรมศาสตร์จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ตอนนั้นมีข่าวว่าอาจจะมีการปราบหนัก ผมกับเพื่อนก็ได้รับมอบหมายว่าเราจะต้องไประดมคนอยู่ต่างจังหวัด เราล่องเรือขึ้นไปทางนครสวรรค์ ระดมคนจากวิทยาลัยครูมา แต่ก็เกิดเหตุในวันที่ 14 ตุลาฯ แล้ว คนยังไม่ได้ลงมาเลย

เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หลายคนบอกว่าเป็นชัยชนะของประชาชน ประชาชนได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ในกลุ่มนักศึกษาตอนนั้นคิดเห็นอย่างไร

ที่บอกว่าในยุคนั้นประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ถ้ามองในแง่หนึ่งคือ มันประท้วงได้ทุกวัน  (หัวเราะ) แต่เราก็เริ่มมาคิดกันว่า เราชนะ 14 ตุลาฯ ก็จริง แต่ทหารมันไม่ได้หมดอำนาจนะ เราตื่นตัวเฉพาะในเมือง แต่จะทำอย่างไรให้คนชนบทตื่นตัวด้วย ตอนนั้นศูนย์นักศึกษามีพลังมาก รัฐบาลก็ต้องฟัง ทางศูนย์ฯ เลยผลักดันทบวงจนเขาให้งบนักศึกษาออกมาเผยแพร่ประชาธิปไตย ผมกับเพื่อนก็ไปเผยแพร่งานที่ภาคเหนือ จัดตั้งศูนย์นักเรียนขึ้นมา กลุ่มนี้เกิดขึ้นก่อนที่ฝั่ง พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) จะเข้ามาแล้วนะ 

ตอนนี้จึงเกิดสามประสาน นิยามคือ การประสานการเคลื่อนไหวร่วมกันระหว่างนักเรียนนักศึกษา ปัญญาชนจังหวัดอื่นๆ กับกรรมกรและชาวนา ไปร่วมต่อสู้กัน เพราะก่อนเกิด 14 ตุลาฯ อะไรที่มันกดทับประชาชนเอาไว้ ทั้งความทุกข์ยาก การเอารัดเอาเปรียบ ก็ระเบิดขึ้นมา กรรมกรก็ออกมาเคลื่อนไหว 

ในคอนเซปต์การประสานครั้งแรก เรามีความเชื่อที่ว่าชาวบ้านไม่รู้เรื่อง เราต้องไปให้ความรู้ เอาเรื่องประชาธิปไตยไปเผยแพร่ พวกเราทำโปสเตอร์ ออกไปประสานกับวิทยาลัยครูในจังหวัดต่างๆ ไปร่วมกันให้ความรู้ การออกไปสัมผัสครั้งนั้นเราเห็นว่า คำพูดที่ว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว ชาวบ้านมีความสุข มันไม่ใช่เลย ชาวนาจะตายอยู่แล้ว ทุกข์ก็ทุกข์

แล้วหลังจากนั้นมันเข้าสู่สเต็ปที่ 2 เรารู้ว่าชาวบ้านมีปัญหา บ้านนอกมีปัญหา แล้วจะต้องทำอย่างไร ตอนนี้ไม่ใช่ว่าเราใหญ่ จะต้องไปเผยแพร่ความรู้แล้ว แต่เราต้องไปเรียนรู้จากเขา ปี 2517 เป็นต้นมา แต่ละสถาบันก็เริ่มมีค่ายพาคนไปเรียนรู้ชนบท นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านในชนบท กรรมกรในเมืองตื่นตัว กระตุ้นให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องต่อสู้ 

ตอนนั้นเรายังเรียนกันอยู่นะ ไปค่ายศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ แล้วก็กลับมาเรียน แล้วสรุปบทเรียนในการทำงานว่า ถ้าอยากให้พลังแข็งแรงต้องสร้างนักศึกษาให้แข็งแรง ซึ่งเราต้องมีอำนาจในมหาวิทยาลัยด้วย เลยคิดจะยึดสโมสรนิสิต (หัวเราะ) จะทำอย่างนั้นได้ต้องลงสมัครคณะกรรมการสโมสร เราก็ตั้งพรรคขึ้นมาชื่อ ‘จุฬาประชาชน’ เพื่อเป็นการบอกว่าจุฬาฯ เป็นของประชาชนนะ เพราะเราฟังเพลงเกียรติภูมิจุฬาฯ แล้วเนื้อหาบอกว่าจุฬาฯ ใหญ่มากเลยนะ คุมหมดทุกอย่าง เรารู้สึกไม่ใช่ เราเขียนคำขวัญพรรคว่า “เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติของการรับใช้ประชาชน” เราก็กระจายกำลังกัน ให้แต่ละคนไปสร้างคนจากชมรมต่างๆ จัดโรงเรียนการเมืองขึ้นมาในจุฬาฯ ตอนนั้นผมได้รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ เชิญวิทยากรมาพูด เรื่องเศรษฐศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศาสนา ปรัชญาถกเลย มันเป็นปัญหาอย่างไร คนถูกขูดรีดอย่างไร 

ส่วนวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ก็ทำเหมือนเดิม ลงไปหาชาวบ้าน ไปกินอยู่เรียนรู้ปัญหา เราเอาข้าวไปกินเองนะ มันก็เกิดการผูกพันธ์กับชาวบ้าน นักศึกษาก็มาร่วมมากขึ้นๆ จนเข้าปี 2517-2518 เรายกสู่ระดับที่ 3 คือร่วมต่อสู้ปัญหากับชาวบ้าน มันเลยมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งไปอยู่และคลุกคลีกับพวกเขา บางคนไปทำงานอยู่กับกรรมกร แทบไม่ได้เรียนเลย ถึงเวลาสอบก็กลับมาให้เพื่อนเก่งๆ ติวให้ สอบเสร็จก็ไปทำงานต่อ พวกไปทำงานชนบทก็เหมือนกัน

แล้วคุณไปเข้าร่วมกับกลุ่มชาวนาภาคเหนือได้อย่างไร

คุณธีรชัย เขาเป็นสมาชิกยุวชนสยามกับผมมาก่อน แล้วเขาไปอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งศูนย์นักศึกษาภาคเหนือขึ้นมา  ชาวบ้านมีปัญหาอะไรก็มาหานักศึกษา ตอนนั้นกระแสนักศึกษาใหญ่มาก เขาตั้งกลุ่มขึ้นมาชื่อว่า ‘โครงการชาวนา’ เป็นคอนเซปต์ของการประสานชาวนาภาคเหนือเพื่อไปร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ เท่าที่ผมเข้าใจ องค์กรที่ทำงานกับภาคเหนือน่าจะมี 2 องค์กร คือโครงการชาวนากับ ‘สหพันธ์นักศึกษาเสรี’ เกิดขึ้นจากเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานกับชาวนาและกรรมกรระดับประเทศ 

ทีนี้โครงการชาวนาอยากได้คนจากส่วนกลางมาประสานงานกับกลุ่มภาคเหนือ แล้วผมเคยมาทำศูนย์นักเรียนภาคเหนือก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งก็ประสานกับศูนย์นักศึกษาภาคเหนือนี่แหละ เขาเลยชวนไปทำงานอยู่ที่นู่นด้วยเลย ผมก็เลยตอบตกลง

ตอนนั้นคุณเรียนจบหรือยัง

ยังไม่จบ ตอนนั้นอยู่ปี 3 แต่ผมเพิ่งมาลาออกจากมหาวิทยาลัยช่วงปี 4 เทอมต้น ตอนนั้นไม่มีเวลาสอบแล้ว อีกอย่างคือผมประทับใจผู้นำชาวนาคนหนึ่งมาก คือเราไปต่อสู้เรื่องที่ชาวบ้านไม่ได้ทำนาในที่ดินหนึ่ง เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นป่าสงวน แต่มันไม่ใช่ เราเลยได้ที่ดินคืนมา เขาให้เราคำนวณที่นา ซึ่งมันไม่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือคางหมูเลย พูดง่ายๆ ว่ามันเป็นสี่เหลี่ยมที่ด้านไม่เท่ากัน ผมเรียนมา สูตรอะไรก็ใช้ไม่ได้ ไปถามเพื่อนที่เรียนวิศวะ เพื่อนบอกต้องใช้เครื่อง สุดท้ายผู้นำชาวนาบอกมันมีวิธี คือเอาด้านตรงกันข้ามบวกกันแล้วหารสอง เพราะด้านตรงข้ามยาวไม่เท่ากัน เอามาหารสองก็เหมือนเอามาเฉลี่ย แล้วก็คูณไปเพื่อปรับให้มันเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าในเรขาที่เราเรียนกัน เออ มันได้สูตรนี้ แล้วได้ตรงเป๊ะเลย แล้วกูเรียนไปทำไมตั้งเยอะแยะ (หัวเราะ)

ผมกลับกรุงเทพไปลาออกกับคณบดีครุศาสตร์เลย ตอนนั้นซี้กันแล้ว เพราะเราประท้วงเขาบ่อยจนจำได้ เขาก็เป็นอาจารย์อนุรักษนิยมที่รับฟังเรานะ ให้เงินมาด้วย 5,000 บาทเพื่อเอาไปทำงานต่อ

แม้ยังเรียนไม่จบ นักศึกษาในยุคนั้นก็ออกไปทำงานร่วมกับชาวนาและกรรมกรเลยหรือ

ไปแล้ว ออกกันแล้ว เป็นจริงเป็นจังเลย แต่ก็ไม่ได้ออกไปกันทุกคน

อะไรทำให้นักศึกษาทุ่มเทกันขนาดนี้

ตอนนั้นเราคิดใหญ่อยู่ข้อหนึ่ง จะบอกว่าเป็นอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์หรือเปล่าเราไม่รู้ คือเสวนาวรรณกรรมฝ่ายก้าวหน้ามันเยอะ แต่เรารู้ว่าต้องสู้ แล้วต้องสู้กับใคร สู้กับพวกขุนศึก ศักดินา สู้กับนายทุน สู้กับอิทธิพลต่างประเทศ มันเป็นเรื่องใหญ่นะ เรารู้แล้วว่าเอาชนะระบบในมหาวิทยาลัยอย่างเดียวไม่พอ เพราะมันไม่ได้สู้แค่เรื่องความอาวุโสในมหาวิทยาลัย มันจำเป็นต้องสร้างความคิดคน สร้างคนทางอุดมการณ์ความคิดขึ้นมา เป็นปึกแผ่น ถึงจะไปเป็นขบวนใหญ่ได้

จริงๆ กรรมกร ชาวนาบางส่วนเองก็เคลื่อนไหวกันมานานแล้ว พอนักศึกษาเข้าไปก็เหมือนไปเรียนรู้ด้วย 

เมื่อคุณไปทำงานกับชาวนาภาคเหนือ ตอนนั้นบรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง ชาวนาคิดเห็นอย่างไรกับการเข้าไปของนักศึกษา

ไปอยู่ที่นั่น เราเริ่มทำงานชาวนา แล้วเกิดสหพันธ์ชาวนาภาคเหนือขึ้น เนื่องจากที่นั่นมีการเอาเปรียบเรื่องค่าเช่าที่นาสูงมาก การขูดรีดจากเจ้าที่ดินรุนแรงมาก อย่างที่ดิน 5 ไร่นี่ยังเอาเป็นเอาตายกันเลยนะ 

ผมเล่าบริบทก่อนว่า ชาวนาไทยเช่าที่ดินของเจ้าที่ดินทำนาทั้งนั้น อย่างที่อยุธยาร้อยละ 90 เป็นของพวกศักดินาและเจ้าใหญ่ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีการออก พ.ร.บ. ควบคุมค่าเช่านา แต่สมัยนั้นใช้เฉพาะในอยุธยา โดยให้แบ่งค่าเช่านาค่อนข้างก้าวหน้า คือชาวนาได้ 2 ส่วน เจ้าของที่นาได้ 1 ส่วน จากเดิมที่ให้แบ่งข้าวคนละครึ่งระหว่างผู้เช่ากับเจ้าที่นา

พอ 14 ตุลาฯ เกิด การตื่นตัวเกิด กรรมกรเคลื่อนไหว ชาวนาก็เริ่มเคลื่อนไหว แต่ยังไม่เป็นกลุ่มก้อน ผมเข้าใจว่าสหพันธ์นักศึกษาเสรีเป็นตัวเคลื่อนไหวกับชาวนาภาคกลาง เอาปัญหามาถกกัน ทำงานแทบตาย ทุนก็ต้องออกเอง แรงงานก็ต้องใช้ ถึงเวลาเสียค่าเช่า เจ้าของที่ได้ครึ่งหนึ่ง ชาวนาไม่พอกิน สมัยนั้นชาวนาปลูกข้าวไม่ได้เอาไว้ขายเลยนะ แค่เอาไว้กินในบ้านก็ไม่พอแล้ว มันแย่ มันไม่ยุติธรรม

กลางปี 2517 ชาวนาชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ แล้วตั้งสหพันธ์ชาวนาขึ้นมาเดินขบวนจนได้ พ.ร.บ. ค่าเช่านาออกมาบังคับใช้ทั่วประเทศ แต่มันดังเฉพาะภาคกลาง ทางเหนือยังไม่ค่อยรู้เรื่องเลย

พอปลายปี 2517 ชาวนาภาคเหนือจะต้องเกี่ยวข้าว แต่น้ำท่วมเสียหายที่นา พอเกี่ยวข้าวได้น้อย เขาก็เรียกร้องให้เจ้าที่ดินผ่อนปรนค่าเช่าให้ แต่ไม่ได้ เขาก็ไม่ยอมกัน ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ชาวนาบอกไม่ไหวแล้ว กลายเป็นยิ่งกว่าทาส เลยมาขอความช่วยเหลือนักศึกษา ความตื่นตัวที่ชาวบ้านมองว่านักศึกษาเป็นเทวดามันได้อิทธิพลจาก 14 ตุลา ข่าวสารหนังสือพิมพ์ และนักศึกษายุคสมัยแรกที่เผยแพร่ประชาธิปไตย เขามาหา เราก็ตั้งองค์กรช่วยกัน พูดเรื่อง พ.ร.บ. ค่าเช่านาเลย

ชาวบ้านจริงๆ เป็นคนขี้กลัวนะ แม้กระทั่งทุกข์ของเขา เราบอกว่ามันมีกฎหมายแล้วนะ คุณมีสิทธินะ เขายังกลัว [เขาบอกเราว่า] แล้วถ้าทำไปเขาไม่ให้เราเช่าล่ะ แล้วปีหน้าเราจะทำอะไรกิน ถ้าพูดภาษามนุษยวิทยา ชาวนาเป็นกลุ่มชนชั้นที่อนุรักษ์ที่สุด เปลี่ยนแปลงยากที่สุด เขาเคยปลูกอย่างนี้ เขาจะทำแบบนี้ เคยดำนาเดินหน้าก็จะเดินหน้า เดินถอยหลังไม่เอา คือเทคนิคใหม่ๆ เขาไม่เอาเลย เขาไม่มั่นใจ เพราะปลูกรอบนี้ อีก 4-5 เดือนถึงจะเห็นผล ถ้าเขามาลองทำแล้วเกิดไม่เห็นผล ปีนั้นก็อดตาย

การจะเปลี่ยนชาวนาว่าคุณพึ่งตนเองได้ คุณมีพลัง มีอำนาจ มันยากมาก แต่ตอนนั้นกระแสนักศึกษาสูง เพราะนักศึกษาทำสไลด์และวิดีโอขนาดเล็กของ 14 ตุลา มา เรามีกล้องขนาดเล็ก มีเครื่องฉาย เราก็เรียกชาวบ้านมาดูเขาก็มีคนที่เข้าร่วมด้วยอยู่ คือเราทำเหมือนค่ายนักศึกษา กลางวันเราทำงานกับเขา กลางคืนตั้งวงเสวนาคุยเรื่องปัญหา ชาวบ้านที่ตื่นตัวมานั่งฟังเราถกเถียงกัน มันหล่อหลอมความคิดนะ

 

เราเอากฎหมายนี้ไปบอกชาวบ้านแล้ว กระบวนการต่อจากนั้นเป็นอย่างไร

ตอนนั้นเราก็มีนักศึกษามาร่วมเป็นอาสาสมัครทำงานกันหลายคน ถ้ามีชาวบ้านมาร้องเรียน เราไปสำรวจที่หมู่บ้านเลย ปัญหาคุณคืออะไร หมู่บ้านนี้มีกี่ครัวเรือน เช่านากี่หลังคาเรือน จำนวนกี่ไร่ ใครเป็นเจ้าของที่นาบ้าง เช่ามาอย่างไร เราเอา พ.ร.บ. ค่าเช่านาไปบอกเขา มันมีกฎหมายระบุว่าให้มีการตั้งคณะกรรมการค่าเช่านาระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอเลย ถ้าเจ้าของที่นาไม่มาคุย ไม่เป็นไร เราตั้งเอง เรามีสิทธิแล้ว พอถึงเวลาเกี่ยวข้าว บอกเจ้าที่ดินว่าเราจะจ่ายเท่านี้ เกี่ยวข้าวเสร็จเอาวางไว้ตามทาง คุณไม่มาขนกลับไปก็เรื่องของคุณ พวกเราขนของพวกเรา แล้วบันทึกไว้เลย นักศึกษาก็ร่วมเป็นคณะกรรมการค่าเช่านาได้

แต่ทีนี้ข้าราชการในอำเภอก็ต้องมาเป็นพยาน เราก็ไปตามกฎหมายอำเภอต้องมาด้วย เพราะตามกฎหมายถือว่าคุณไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตอนนั้นนักศึกษาเป็นใหญ่มาก ข้าราชการท้องถิ่นก็อ่อนแอด้วย เวลาชาวบ้านไปร้องเรียนอะไร เขาก็จะพูดแย้งว่า “ชาวบ้านเอาแต่เรียกร้อง ภาษีไม่เคยจ่าย มาเรียกร้องอะไรกัน เขาให้ทำนาก็ดีแล้ว เรียกร้องทำไม” โห ชาวบ้านไม่รู้จะเถียงอย่างไร 

พวกเราสบายมาก ขึ้นพูดเลย “รู้ไหมนายอำเภอ ชาวนาเสียภาษีมากกว่าคุณเสียภาษีบุคคลอีก นายอำเภอยังเสียภาษีไม่เท่าชาวนาเลย” คือสมัยนั้นจะมีภาษีพรีเมียมข้าว เนื่องจากข้าวเป็นรายได้อันดับหนึ่งของประเทศไทย เราก็บอกว่า “ค่าพรีเมียมเป็นเท่าไหร่ นายอำเภอก็รู้ใช่ไหม มากกว่าพวกคุณจ่ายภาษีอีก ซื้อน้ำปลาก็เสียภาษีใช่ไหม คุณจะมาบอกว่าชาวนาไม่เสียภาษีได้อย่างไร” 

ชาวบ้านชอบ ปรบมือเฮฮาใหญ่เลย นายอำเภอเถียงไม่ได้ เราก็รู้สึกฮึกเหิมด้วย กูชนะมึง (หัวเราะ) ตรงนี้แหละที่ทำให้ข้าราชการท้องถิ่นโกรธเรา จากนั้นชาวบ้านก็ไปบอกกันปากต่อปาก สู้แล้วชนะ มีหมู่บ้านนั้น หมู่บ้านนี้มาหานักศึกษากัน เรารวมกลุ่มกันได้ใหญ่มาก แม้กระทั่งหมู่บ้านชาติพันธุ์ก็มา สมัยนั้นมีพวกข้าราชการที่ไปเอาไก่ชาวบ้านมากิน เห็นลูกสาวสวย ก็เอามาเป็นเมียแล้วก็ทิ้งขว้าง ชาวบ้านมาร้องเรียนเราที่เชียงใหม่ เราก็แห่กันไป ครั้งนั้นเรารู้เลยนะว่ามันมีคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกทิ้งให้ล้าหลังมาก ชาวนาว่าทุกข์แล้วนะ คนบนดอยทุกข์กว่าเราอีก บางทีชาวบ้านก็ดูถูกเขาด้วยนะ เราก็บอกว่าดูถูกเขาไม่ได้ เขาก็มีปัญหาเขานะ เราก็เริ่มให้ชาวนาเรียนรู้บนดอย

การต่อสู้ด้วยกันแบบนี้มันคือระดับ ‘ร่วมทุกข์ ร่วมสุข’ มันทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า แม้จะเป็นนักศึกษาปัญญาชนหรือคนที่มีฐานะสูงกว่า แต่เขาพร้อมจะมาเรียนรู้ มาต่อสู้ไปด้วยกัน มันเป็นความเชื่อใจ เรามีปัญหาอะไรก็ช่วยเหลือกัน หรือใครมาเล่นงานเขา เราก็สู้ เพราะฉะนั้น มีผู้นำเยอะมากที่พร้อมจะสู้ ลูกหลานหลายคนพร้อมจะสู้ พอเราติดอาวุธให้ เอาเลย ป้องกัน สู้ เราเห็นนักศึกษาถูกยิง เขาก็เอาเลย ความรู้สึกนี้มันเริ่มแผ่ให้เขาเห็นว่าพวกนี้สู้จริง 

ช่วงแรกที่ไปทำงาน มีชาวบ้านต่อต้านการเข้ามาของนักศึกษาบ้างไหม

มีเลย เราได้เรียนรู้มาก ตอนที่เราเอากฎหมายค่าเช่านาไปพูด เราเคยตั้งคำถามว่าทำไมเราลูกเสือชาวบ้านบางคน ซึ่งเป็นชาวนาที่ยากจนไปเป็นสมาชิกที่มาต่อต้านเรา ทำไมไปสมัครเป็นนวพล ทำไมต้องไปเป็นสปายให้ฝั่งนั้น ทั้งๆ ที่เขาทุกข์ยาก 

ปี 2518 เรามาวิเคราะห์กันหลังจากสู้มาปีกว่า เรื่องแรก เราได้เคสมาครอบครัวหนึ่งมี สามี แม่บ้าน และลูกอีกคน มีนาของตัวเองประมาณ 3 ไร่กว่า แต่ไม่พอก็เลยเช่านาเขาทำด้วย ทั้งหมดนี้กินอยู่ได้ แต่สามีตาย แม่บ้านทำนาไม่ไหว เลยให้คนอื่นเช่าที่นาตัวเอง แต่พอสมาชิกสหพันธ์ชาวนาภาคเหนือที่มาเช่านากับเขา ใช้กฎหมายเช่านาด้วย เจ้าของที่นาซึ่งจนอยู่แล้ว ไม่พอกิน เขารู้สึกไม่ยุติธรรม เขาได้แค่ส่วนเดียวจะเลี้ยงครอบครัวพอได้อย่างไร กฎหมายนี้ไม่ใช่สำหรับเขา เขาเลยไปเป็นลูกเสือชาวบ้าน

อันที่สอง ด้วยการเช่านาทางเหนือเป็นรากเหง้าแบบศักดินา การเก็บภาษีของพวกเจ้าของที่จะให้ตัวแทนของเจ้าที่ดินในหมู่บ้านเป็นคนเก็บค่า หมายความว่าพวกนี้เป็นลูกน้องของเจ้าที่ดิน เลยมีเงินก้อน เป็นเส้นสายกับเจ้าที่ดินอยู่ 

เราเลยสรุปบทเรียนว่ากฎหมายค่าเช่านา ขอใช้อย่างมีรายละเอียดจำแนกก่อน ที่นาไหนเราไปเช่าเขาทำ แล้วเขายากจนอยู่แล้ว แบ่งครึ่ง-ครึ่งอย่างยุติธรรม ไม่จำเป็นต้องแบ่ง 1 ใน 3 ไม่งั้นไปด้วยกันไม่รอด

 

นอกจากเรื่องค่าเช่าที่นา นักศึกษาได้เข้าไปทำงานอื่นๆ อีกไหม

มีๆ อย่างเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน สมัยนั้นเขากำลังออกโฉนดที่ดิน เพราะชาวบ้านมีแต่ใบเสียภาษี พอราชการบอกว่าจะออกโฉนดให้ จะได้มีสิทธิเป็นเจ้าของ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 3,000-3,500 บาท ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงต้องเสียไม่เกิน 150 บาท พอเราได้ยินอย่างนี้ก็มาชุมนุมกันเลย ล้อมทั้งอำเภอ เอาที่ดินมาคุย ทำไมมันโกงชาวบ้านอย่างนี้ แล้วพอชนะมันก็มีพลัง

ตอนหลังเราก็เข้าไปช่วยกลุ่มอื่นๆ ด้วย คือทางเหนือมีที่นาแค่ 1 ใน 10 เท่านั้นเอง 3 ใน 10 เป็นที่ไร่ ไปทำนาไม่ได้ แล้วสถาบันชาวนาก็ช่วยพวกเขาไม่ได้ แต่เขาก็มีปัญหาไม่ต่างกัน พวกพืชผลการเกษตรถูกกดราคา เราเลยตั้งกลุ่มสหพันธ์ชาวไร่เพื่อต่อสู้เรื่องผลผลิต มีทั้งสหพันธ์หอมกระเทียม สหพันธ์เกี่ยวกับถั่วเหลือง พอผลผลิตออกมา เราก็พูดเรื่องราคา ทีนี้ก็เกิดพวกมากขึ้น ตรงนี้แหละ ที่ทำให้ความเป็นปึกแผ่นมีมากขึ้น  

หรือบางเรื่องก็รุนแรงมาก เช่น ชาวบ้านต่อต้านเหมืองแร่ เพราะทำให้น้ำเสีย พอประท้วงมากๆ ก็เริ่มมีการลอบฆ่าชาวบ้าน จริงๆ ตอนหลังก็มีการลอบฆ่าชาวนาเยอะ ผมกอดศพเพื่อนมาหลายคน จนเราคิดว่าต้องติดอาวุธ เพราะเราถูกฆ่าเยอะ คือไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เราอยากติดนะ มันต้องมี ถ้าไม่มี มันป้องกันไม่ได้

แสดงว่าหลัง 14 ตุลาฯ จนก่อนถึง 6 ตุลาฯ พลังการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและชาวนาภาคเหนือก็ไม่ต่างกันกับพลังที่เคลื่อนไหวในกรุงเทพมากนัก

กรุงเทพเคลื่อนไหวอะไรเราก็เคลื่อนไปด้วย เช่น ประท้วงรัฐบาล เราก็รวมตัวกัน หรือทางเรามีชาวนาถูกจับ ชาวนาจะรวมตัวประท้วงอะไร สมัยนั้นจะมีหนังสือพิมพ์ฝ่ายก้าวหน้า 3-4 หัว หนึ่งในนั้นคือหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ เขาก็ลงข่าว ขณะที่นักศึกษาที่กรุงเทพฯ ก็จัดชุมนุมร่วมไปด้วย 

แล้วบรรยากาศการชุมนุมที่เชียงใหม่ ถ้าไม่จำเป็น นักศึกษาไม่ขึ้นพูดเลย เราเอื้ออำนวยสถานที่ อุปกรณ์ สิ่งต่างๆ เท่านั้น ไปชุมนุมที่ท่าแพ เชียงใหม่ เราไปเตรียมที่และเครื่องเสียงให้เลยนะ ชาวนาก็มาขึ้นพูดเลย ผู้นำชาวนานักไฮด์ปาร์กทั้งนั้น เพราะเวลาไปชุมนุมที่อำเภอเป็นช่วงสั้นๆ ก็ไปไฮด์ปาร์กตลอด พวกเขาเลยได้เป็นนักพูด แล้วกลายเป็นว่านักพูดเก่งๆ จะถูกยิงทั้งนั้น เพราะว่าเด่น 

เวลาชุมนุม ส่วนใหญ่อาหารการกินนักศึกษาก็ส่วนนักศึกษา เอามาเอง ชาวบ้านก็เอามาเอง ขนหม้อข้าว เตาไฟมาตั้ง จานไม่มีไม่เห็นเป็นอะไรเลย ใบตองตึง ใบสักห่อข้าวกินได้ มันง่ายมาก 

ช่วงปีที่จะเกิดการปราบพลังเคลื่อนไหวในวันที่ 6 ตุลาฯ ทางภาคเหนือเป็นอย่างไรบ้าง

จริงๆ เราเริ่มเห็นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2518 ภาคเหนือเจอการฆ่าฟันมากขึ้นจนเราต้องเปลี่ยนแนวทาง คือชาวนาทางเหนือตายมากกว่าเพื่อน ถูกยิงกัน ประเภทถูกจับแล้วหายไป ยังมีอีกตั้งเยอะที่ตามตัวกันไม่เจอ เบ็ดเสร็จผมว่ารวมกันตายไม่ต่ำกว่า 50 ศพ นี่คือที่เราเอาศพมาทำบุญได้ 

พอขึ้นปี 2519 พอมีคนถูกลอบฆ่ามากๆ ก็เริ่มมีคนท้อ ถอนตัวไปยุติการเคลื่อนไหว บางคนก็ยอมเจ้าที่ดินไปเลย เราไม่ว่ากัน แต่บางหมู่บ้านที่ถูกยิงก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้น สู้ต่อ ไม่ยอม 

พอกลางปี 2519 แนวทางการทำงานของสหพันธ์ชาวนาเปลี่ยนแล้ว ไม่เน้นการเคลื่อนไหวการชุมนุมใหญ่ แต่จะเคลื่อนเฉพาะเรื่อง เช่น ฤดูกาลนี้ พืชผลนี้ออก ราคาตก เคลื่อน จบก็จบไป เป็นเรื่องๆ แต่จะมาเน้นเรื่องงานความคิดการเมือง นักศึกษาที่ออกชนบทเน้นจัดการเรื่องการศึกษาแล้ว ถกลึก เราลองมาทำงานด้านเศรษฐกิจ เราชวนแม่บ้านมาทำเห็ดฟางขาย กลางคืนก็ชวนชาวบ้านมาทำงานความคิด ตกดึกฟัง ศพท. (ศูนย์วิทยุพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) 

ช่วงนั้นถนอมและประภาส (จารุเสถียร) เริ่มกลับมา มันเอาว่ะ มันคงจะเอาอีกแล้ว นายทุนก็เสียผลประโยชน์ เจ้าที่ดินก็เสียผลประโยชน์ ทหารก็เสียผลประโยชน์ มันปล่อยเราไม่ได้ เราคุยกันแล้วนะว่า กลิ่นรัฐประหารมันแรง เราก็ถามกันนะว่าจะสู้ต่อหรือเปล่า ชาวบ้านก็บอกสู้ เลยคิดว่าเราไปสำรวจป่าไว้ก่อนไหม เพราะมันก็มีบางคนที่ไปร่วมกับ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) แล้ว เราก็ไปเตรียมไว้ก่อนด้วย ผู้นำชาวนาหลายคนมีลูกหลานส่งเข้าไปทำมาหากินในป่า เขาเรียกว่าไปฝังตัว ทำไมเราคิดอย่างนี้ก็ไม่รู้นะ แต่รู้ว่าถ้าเราจำเป็นจะต้องเข้าป่าจริงๆ มันต้องมีที่ทำรอเอาไว้ เราจะได้มีกิน

 

ช่วงที่การไฟฟ้าสองคนถูกแขวนคอ ทางภาคเหนือเคลื่อนไหวอะไรกันบ้างไหม

เคลื่อนอยู่แล้ว ที่เชียงใหม่ เขาจัดกันใน มช. (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) วิทยาลัยครูก็มาร่วม ที่กรุงเทพฯ จัดละคร ที่นี่ก็จัดละคร เรื่องหนึ่งที่คนในกลุ่มคุยกันคือ ถ้าเขาเล่นแรงอย่างนี้ เขาข่มเราแล้ว เขาพร้อมแล้วล่ะ เขากำลังปรามพวกคนงานสหภาพ เพราะลำพังมีแค่นักศึกษาในธรรมศาสตร์ เขาไม่กลัว แต่กลัว 4-5 สหภาพแรงงานจะเคลื่อนร่วม ตอนนั้นมีสหภาพการไฟฟ้า สหภาพการรถไฟ สหภาพประปา สหภาพแรงงานอ้อมน้อย พวกนี้พลังใหญ่ทั้งนั้น เมื่อก่อนรัฐวิสาหกิจฝ่ายซ้ายทั้งนั้น 

แล้วคิดดูสิ พวกนี้เคลื่อนที ประปาปิด ไฟฟ้าปิด รถไฟหยุด รถเมล์หยุด เรื่องใหญ่นะ เราก็ฮึกเหิมว่าเรามีแนวร่วมตรงนี้อยู่ เราไม่กลัว แต่พอเริ่มแขวนคอ ทางเหนือบอกว่าเล่นแรงขนาดนี้ แรงแน่ เพราะเราคุ้นเคยกับความแรงพวกนี้มาก่อน 

คืนวันที่ 5 หรือวันที่เรารู้ว่าที่กรุงเทพรวมตัวกันแล้ว ต่างจังหวัดทำอะไรกันอยู่

เราก็ไปชุมนุม จริงๆ ก็ชุมนุมมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ถนอมกับประภาสกลับมา รู้ว่าทางนั้นก็เคลื่อนแล้ว เราก็เริ่มเคลื่อนแล้ว จัดชุมนุมที่เชียงใหม่

แต่คืนวันที่ 5 ข่าวไม่ดี เราประชุมกันในศาลากลาง ทีมนำของเราประเมินแล้วว่า ตอนนั้นกระทิงแดงขึ้นเหนือมาแล้วนะ จะมาบอมกับเรา เที่ยวนี้ยังไงมันล้อมเราแน่ ถ้ากรุงเทพฯ ต้องย้ายจากสนามหลวงเข้าธรรมศาสตร์ ผมยังบอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้เราแย่ ผมได้ติดต่อกับสุธรรม (แสงประทุม) ที่กรุงเทพฯ เขาบอกว่าต้องย้ายเข้าธรรมศาสตร์ ตอนแรกชุมนุมที่สนามหลวง ผมบอกว่าย้ายเข้าที่อับไม่ได้ เพราะมันล้อมเราไว้ แล้วมันเคยทำแล้วเมื่อสมัย 14 ตุลา 

อย่างทางเหนือ เราสู้กับสภาพพื้นที่ เราเลยรู้ว่าเวลาเราจะหลบหลีกต่อสู้ อย่าเข้าที่อับ ฉะนั้น ชุมนุมเชียงใหม่ เราใช้ที่โล่ง ถนนกว้าง ถ้าเขายิง เราป้องกันตัวเองได้ มีหน่วยมอเตอร์ไซค์ออกตระเวนได้ แต่ถ้าคุณไปอยู่ที่ปิดล้อม มันปิดประตูตีแมว แต่เราไม่โทษกรุงเทพฯ นะ เพราะเราก็ไม่เห็นภาพทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ทีนี้เราเลยคุยกันว่าคืนนี้แยกย้ายเถอะ มันเอาเราแรงแน่ แยกย้ายกันวันนี้ ถ้ามีรัฐประหารอีก 3 วันนัดเจอกันว่าจะทำอะไร คือก่อนหน้านี้เราคุยกันมาแล้วว่าถ้าเกิดรัฐประหารจะทำอย่างไร เราเริ่มวางหน่วย แกนนำหมู่บ้านใครพร้อมก็เข้ามา ใครจะอยู่ไม่ได้ เพราะอาจถูกจับหรือถูกฆ่าก็หาทางหนี และเนื่องจากเรามีหน่วยมังกรน้อย เป็นกลุ่มเยาวชนที่เราฝึกให้เป็นหน่วยสื่อสารในพื้นที่ ถ้าใครย้ายไปอยู่ตรงไหน หลบไปทางไหน หน่วยมังกรน้อยก็จะคอยส่งข่าวให้ 

พวกผมกับชาวนาส่วนหนึ่งวางแผนไปเตรียมที่ในชนบทไว้ แล้วประสานงานและเตรียมกันไว้ 2 ทาง ถ้ารัฐประหาร แล้วเราแพ้ เราจะไปไหน คำตอบคือเข้าป่า แล้วถ้าพวกเราลุกขึ้นฮือสู้ขึ้นมา แล้วเป็นแบบ 14 ตุลาฯ อีกรอบ เอาไหม ชาวบ้านบอก เอา งั้นหาทางจะเข้าเมืองอย่างไร เคลื่อนเข้ามาอย่างไร ถ้าเขาเล่นแรงแล้วเราเกิดฮึบขึ้นมาได้ ก็เอาเลย กำลังเราเยอะ บทเรียนจากการชุมนุมใหญ่ในเมืองทำให้เราล้อมเมืองเป็น

แต่เมื่อสุดท้ายเหตุการณ์คือการล้อมปราบในเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ ทางฝั่งกลุ่มชาวนาภาคเหนือเป็นอย่างไรบ้าง

กลัวและโกรธ กลัวที่ว่าเราจะถูกจับไหม เราจะตายไหม เราจะหนีได้ไหม เราจะทำสำเร็จไหม ตอนนั้นเรายังไม่ได้เห็นภาพมากนักของกรุงเทพฯ มีแต่หนังสือพิมพ์บางฉบับที่เราได้เห็น คนในพื้นที่เหนือรู้สึกกลัว ชาวนารู้สึกกลัว แต่ในขณะเดียวกันก็โกรธ สิ่งพื้นฐานที่มีการเตรียมไว้แล้วว่าถ้าเกิดสู้กัน เราจะทำอะไรบาง เราเลยคุยกันว่า ไป มีทางไป ต้องไป เพราะถ้าอยู่มหาวิทยาลัยมันก็จับคุณ คนเป็นร้อย จับมั่วไปหมด แกนนำชาวนาบางคนที่ว่าจะไป ยังไปไม่ทันเลย เพราะมาจับตั้งแต่เช้ามืดเลย

แน่นอนล่ะ นักศึกษาบางคนก็กลัว บางคนก็กลับบ้าน พวกผู้นำชาวนาที่สู้กันมาแท้ๆ บางคนกลับบ้านก็มี ไม่เป็นไร ไม่ห้าม เรื่องนี้มันเรื่องของอาสาสมัคร คุณไม่สมัครจะไป หรือสมัครจะสู้ มันบังคับได้อย่างไร เหลือเท่าไหร่ก็สู้กัน แต่กับแกนนำส่วนใหญ่ไปได้หมด มีบางอำเภอเท่านั้นระบบประสานงานไม่ดี ล่าช้า เขาล้อมไว้ เอาเข้าคุกหมดเลย มีผู้นำตัวเบ้งๆ อยู่ 6 คน ของเชียงใหม่ถูกจับเข้าคุกหมด

ผมก็ได้รับหน้าที่รับผิดชอบไปหาฐานที่มั่น พคท. อยู่เชียงรายตรงแถวเทิงเชียงของ มีคนบอกว่า เข้าไปเถอะ ไปหาเขา เพื่อให้เขาเปิดเส้นทางให้เราลำเลียงคนเข้าไป ผมก็บอกว่า “เอาวะ” ไปกับเพื่อนสองคน พอถึงชายแดนป่าก็ขึ้นไปเลย เอาประทัดไปด้วย แต่ก็ไม่เจอเขานะ หลงป่าอยู่ 3 วัน ไม่มีอะไรกิน หน้าตาฐานที่มั่นเป็นอย่างไรไม่รู้ สุดท้ายลงไปเจอหมู่บ้านหนึ่งคิดว่าเป็นฐานที่มั่น ที่ไหนได้ พอเข้าไปเจอค่ายทหาร เขาก็จับเรา เสร็จแล้วเอาเราไปอยู่คุกค่ายการุณยเชษที่เชียงราย ถูกขังอยู่ 4-5 เดือน แล้วก็ปล่อยเรา เพราะว่าตอนนั้นมีแรงกดดันจากข้างนอก องค์กรเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้ปล่อยตัว ผมออกมา กลับบ้านไปลาครอบครัว ก็เข้าป่าเลย สู้ต่อ มันอยู่ตรงนั้นไม่ได้หรอก โคตรเผด็จการเลย เผด็จการตั้ง 12 ปี อยู่ได้ไง พรรคพวกที่ถูกจับก็เข้าป่าไป ความรู้สึกเราก็อยากเข้าป่าแล้ว

นอกจานักศึกษาแล้ว ชาวบ้านเข้าป่ากันเยอะไหม 

ชาวนาเข้าร่วมเยอะนะ แม้กระทั่งลูกหลานก็เอาเข้า ผมยกตัวอย่างหมู่บ้านหนึ่งมีผู้นำสหพันธ์ถูกฆ่าครั้งแรก แล้วเราใกล้ชิดมาก นักศึกษาไปอยู่ ไปนอน นักศึกษามหาวิทยาลัยเข้าไปจัดค่ายที่นี่ พอช่วง 6 ตุลา แกนนำรู้ว่าถ้าอยู่จะเสี่ยง ต้องย้ายครัวเรือน เขาประชุมกันนะว่าจะเข้าป่าไหม ในหมู่บ้านเป็นเครือญาติกัน เขาก็ตกลงว่าขึ้นไปให้หมดเลย ลูกเล็กเด็กแดงก็ไป ขายที่ดิน ขายของกัน 

ส่วนใหญ่ทางภาคเหนือเข้าฐานที่มั่นในเขตเชียงราย พะเยา และน่านเยอะ บางคนก็หนีข้ามไปแม่น้ำโขงที่เชียงแสน เอาเรือข้ามไปฝั่งลาว ส่วนหนึ่งก็เข้าป่าที่เราเตรียมไว้แถวเชียงใหม่ ดอยสุเทพก็ยังขึ้นเลย แถวเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เราขึ้นกันหมดเลย เราก็เข้าไปลงกันหมดในนั้น

พออยู่ฐานที่มั่นได้ 4-5 เดือน ผมคุยกับ พคท. ว่าอยู่ที่นี่อย่างเดียวคงไม่ไหว มีแต่ถางหญ้า ปลูกผัก แล้วก็รบกันอยู่แค่นั้น แต่ข้างล่างมีชาวนาหลายคนยังอยู่ เราอยากทำงานแนวหน้า คือไปประสานไปคุยกับชาวบ้าน เราเคยทำมาแล้ว เราทำได้ เขาก็ให้ไป เราก็ทำได้ ประสานชาวบ้านได้เยอะมาก มีความหวังนะ พอเราทำงานแล้ว เราเรียกว่าเขตบุกเบิกแนวหน้า มันขยายคนได้ สร้างคนได้ ฝึกอบรมคนได้ ใช้ป่าแถวนั้น สอนความคิด แล้วก็ไปขยายงาน มีความหวังว่าเราจะปลดปล่อยคนได้ และกำลังไปได้ดีเลย จนนั่นแหละเวียดนามมีปัญหา พคท. แพ้ ล้มแล้ว ฐานที่มั่นคงไม่รอด เราก็เรียกกลุ่มมาประชุมกัน มันคงต้องยุติแล้วล่ะ การสู้ด้วยอาวุธคงไม่ใช่แล้ว ต้องยุติ

ภาพคณะกรรมการประสานงานกำลังรักชาติประชาธิปไตย (กป.ชป.) ซึ่งเกิดขึ้นในฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยมีพ่อหลวงสีธน ยอดกันทา ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ เป็นหนึ่งในกรรมการ
ภาพจาก: Abb.: Führende Mitglieder des Committee for Coordinating Patriotic and Democratic Forces (CCPDF)
[Bildquelle: The Road to victory : documents from the Communist Party of Thailand, 1978]

หลังจากป่าแตก กลุ่มคุณและชาวนาที่ทำงานด้วยกันเป็นอย่างไรบ้าง

พวกเราหลายคนก็กลับไปเรียน ผมก็กลับไปเรียน เพื่อนบางคนก็แต่งงานอยู่ในพื้นที่ สมัครเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านกันไป ชาวนาบางคนก็ไม่เอาอีกเลย เข็ดกับพรรคคอมมิวนิสต์ 

แต่ต้องยอมรับว่าช่วงหลังปี 2525 มันทำให้ฝ่ายซ้ายกระจายตัวไปในพื้นที่ต่างๆ เยอะนะ แล้วเรามีแนวทางกำหนดไว้แล้วว่า เมื่อเราไม่สู้ด้วยกำลังอาวุธแล้ว ก็มาสู้ด้วยแนวสันติวิธีกันเถอะ องค์กรอะไรที่เราร่วมสร้างได้และสามารถสัมพันธ์เพื่อไปทำงานกับชาวนาได้ ร่วมต่อสู้กับชาวบ้านได้ แล้วถูกกฎหมาย ก็ทำเถอะ ทำให้รวมกลุ่มต่อไปได้   

ใครเป็นผู้ใหญ่บ้านได้ก็เป็น สมัครได้ก็สมัคร ในกลุ่มยังมีรากฐานทางความคิดอยู่ ส่วนนักศึกษาที่กลับเข้ามา ส่วนหนึ่งก็ทำมาหากินสร้างอาชีพ จนกระทั่งมีพรรคการเมืองขึ้นมา เข้าไปทำงานกัน ยุคหนึ่งมีเพื่อนผมมาชวนให้ไปทำงานให้พรรคพลังธรรม เพื่อนเราหลายคนก็ไปช่วย เออ เข้าท่านะ จนทักษิณ (ชินวัตร) ตั้งพรรคใหม่ เราก็ไปทำงานให้ นำเสนอความคิดของฝ่ายซ้ายเข้าไป แล้วเขาเอาสิ่งที่เราปรารถนาไปทำคือ ทำอย่างไรให้เรียนฟรี ทำอย่างไรให้รักษาพยาบาลฟรี มีที่ดิน มีสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม อย่ากดขี่กูชาวบ้าน คือเขารับนโยบายแบบนี้ เราเลยไปช่วยกันหาเสียง ตอนนั้นสหายเยอะเลย แล้วเพื่อนที่แต่งงานอยู่นู่น ไปลงเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็เป็นฐานเสียงให้ไทยรักไทยด้วยในยุคที่เราทำงาน มันก็เป็นฐานกำลังกัน ป่าแตกนี่ดีอย่างนะ มันทำให้ความคิดฝ่ายก้าวหน้าฝ่ายซ้ายกระจายทั่วทุกหย่อมหญ้า มหาวิทยาลัยก็มีอาจารย์ฝ่ายซ้าย เขากลับไปเรียนกันก็มาเป็นอาจารย์ได้

ที่จะบอกอีกอย่างคือสิ่งเหล่านี้เป็นฐานส่วนหนึ่งของคนเสื้อแดงด้วย ที่เขาบอกว่าทำไมเสื้อแดงภาคเหนือถึงแข็งจัง ก็ปู่ย่าตายายเคยสู้กันมาแล้ว เคยมีหนังสือพิมพ์ชาวนาตอนนั้น เขาก็อ่านกัน สู้กัน พอมีการจับก็เก็บฝังเอาไว้ เสร็จแล้วก็มาส่งต่อ เพราะฉะนั้น พอปี 2551-2553 เสื้อแดงเคลื่อนไหวต่อสู้และถูกปราบ พลังนี้ก็ยังอยู่ มันก็กระจายอยู่ทุกวันนี้

แต่บางคนก็ไม่ได้มาทำงานแบบนี้นะ มีคนที่ไม่เอาอีกเลย แค้นใจกับ พคท. มาก แพ้มาเยอะ ก็ไม่อยากพูดถึงอีก คนพวกนี้ไม่เล่าให้ลูกฟังเรื่องเข้าป่าเลยนะ ลูกก็เลยไม่ได้รับต่อเรื่องพวกนี้ เพื่อนบางคนท้อแท้กับการรบไม่ชนะ ก็เปลี่ยนข้างมาขูดรีดซะเลย เมื่อกูรบกับมึงไม่ชนะ กูก็เป็นอย่างมึงก็แล้วกัน ง่ายดี (หัวเราะ) 

คุณรู้สึกอย่างไรที่เห็นเพื่อนร่วมต่อสู้กันมาย้ายฝั่งในท้ายที่สุด

ใจหนึ่งรู้สึกผิดหวัง ใจหนึ่งก็บอกว่ากูไม่อยากคุยกับมึงแล้ว ใจหนึ่งก็บอกว่ามึงทำอะไรกูไม่ไปร่วม อันนี้เป็นแวบแรก

แต่แวบหลังจะบอกว่า มนุษย์น่ะเจ็บปวดได้ มันเลือกของมันได้ กฎเรามีอยู่ข้อเดียว เราเป็นมิตรได้กับทุกคน แต่เราจะไม่เป็นมิตรกับคนที่เอาปืนจ่อมาที่เรา เขาจะเป็นนายทุน เขาจะร่วมกับใคร ก็เป็นไปสิ ตราบใดที่เขาไม่เอาปืนมาจ่อเรา และไม่เรียกพวกนั้นเอาปืนมาจ่อเรา เราแยกแบบนั้นนะ คุณก็ยังเป็นเพื่อนเรา แต่คุณจะไม่ใช่มิตรเรา คนนี้อาจจะเป็นมิตรเรา แต่ไม่ใช่สหายเรา

เพื่อนก็คือเพื่อน กินข้าวเสร็จก็กลับบ้าน จะไปดูหนังต่อก็ไปดู ไม่ดูก็ไม่ต้องดู งาน 6 ตุลาฯ อยากเจอก็เจอ ไม่เจอก็ไม่เป็นไร แต่มิตรนี่ ถ้ามายืมเงินเพราะเดือดร้อน ก็ให้ ส่วนสหายก็ผูกพันกันด้วยอุดมการณ์ มีใจที่จะสู้กันอยู่ แต่ไม่ใช่สหายเดียวกันกับคอมมิวนิสต์นะ

ถ้าให้คุณมองภาพรวมการร่วมมือของนักศึกษากับชาวนาตั้งแต่หลัง 6 ตุลาจนถึงตอนนี้ ความเคลื่อนไหวเป็นอย่างไรบ้าง

ช่วงหลัง 2525 ผมคิดว่าบทบาทเอ็นจีโอโดดเด่นที่สุด เขาชุมนุมเคลื่อนไหวอยู่ แต่ไม่ได้ชุมนุมแบบสามประสานที่มีนักศึกษากับกรรมกรไปร่วมด้วยนะ เป็นเรื่องบุคคลล้วนๆ และสู้เฉพาะเรื่อง เช่น หมู่บ้านฉันมีปัญหาเรื่องหนี้สินก็พูดเรื่องหนี้สิน ถ้ามีปัญหาเรื่องที่ทำกินก็เรื่องที่ทำกิน ผมว่าการต่อสู้เพื่อปากท้องแบบนี้มีอยู่ แต่ไม่แหลมคม ต่อสู้เพื่อประโยชน์เฉพาะหน้า ไม่ได้มองว่าจะไปต่อสู้เพื่อเปลี่ยนโครงสร้าง 

พอการเมืองเปิด ยุคเปรม ติณสูลานนท์ – ยุคชาติชาย ชุณหะวัณ การเมืองก็เปิดมากขึ้น ชาวบ้านก็เรียกร้องได้ พวกดักฆ่า ดักยิงก็น้อยลง ตอนนั้นก็เริ่มมีสหพันธ์นักศึกษาขึ้นมา เป็นองค์กรนักศึกษาแต่พลังไม่ใหญ่ ผมเข้าใจนะ เขาไม่คุ้นคำว่าจัดตั้ง แล้วก็เริ่มมีนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้า เริ่มเขียนเรื่องราวในป่าออกมาให้คนได้เริ่มมีกลิ่นอายการต่อสู้มาบ้าง 

คนก็ตั้งคำถามว่า เอ๊ะ นักศึกษาไม่ตื่นตัวเลย พวกผมไม่เชื่อนะ ผมเชื่อว่านักศึกษาตื่นตัวอยู่ ผมเชื่อคำหนึ่ง “เยาวชนคืออาทิตย์เมื่ออุทัย” เป็นยีนของเยาวชนเลย เพราะคนพวกนี้ไม่ผูกพันการผลิต จิตใจเสรี พร้อมที่จะตื่นทันที แต่ที่ไม่ตื่นตัวเพราะไม่มีช่องทาง มันไม่มีจุดเริ่มต้น

ผมพิสูจน์ด้วยการกลับขึ้นพื้นที่เก่าทางเหนือ ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องประปาภูเขา เขาจะใช้ท่อพีวีซีหล่อน้ำจากต้นน้ำบนดอยมาหมู่บ้าน ปรากฏว่าท่อที่ทำไว้แต่เดิมมันตื้น แล้วคนในเมืองไปซื้อที่ปลูกลิ้นจี่ ใช้สารเคมี ทำให้น้ำเสียอีก ชาวบ้านไม่มีน้ำประปาใช้ แต่ก็ได้งบจาก อบต. มาซื้อท่อพีวีซีไปทำ ผมก็เสนอว่าน่าจะเอานักศึกษามาช่วยได้

พอดีมีเพื่อนสอนวิชาภาษาไทยอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราก็จัดค่ายเหมือนตอนนั้น โดยจัดให้เป็นโครงการเรียนรู้ภาษาถิ่น กลางวันช่วยชาวบ้านต่อท่อพีวีซี กลางคืนเรียนรู้ภาษาถิ่นกับชาวบ้าน มหาวิทยาลัยให้งบมา พวกเราก็ไปกับนักศึกษา 10-20 คน พอทำเสร็จ ปรากฏว่าท่อไม่พอ เราก็ระดมทุนจากเพื่อนๆ ซื้อมาทำอีก คราวนี้พวกเด็กๆ ขึ้นไปเองเลย ไม่ได้มีโครงการอะไร ซื้อหมวกดาวแดงขึ้นไปทำงานกันทุกคน (หัวเราะ) 

คุณเชื่อไหมล่ะ คนหนุ่มสาวพร้อมตื่นตัว คนหนุ่มสาวคือดวงอาทิตย์เมื่ออุทัย การกดขี่ในมหาวิทยาลัย ในสถาบันการศึกษา ทำให้เขาตื่น เพียงแต่ว่าเขาเรียนรู้ไหมเรื่องการจัดตั้ง มีช่องทางให้เขาได้แสดงออกไหม

คุณคิดว่า อะไรที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในยุคหนึ่งไม่ได้ตื่นตัวเรื่องสังคมมากนัก และเข้าไม่ถึงการทำงานร่วมกับชาวบ้านแบบในอดีต

มันมี 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง รัฐเริ่มรู้แล้วว่าพลังการเปลี่ยนแปลงสังคมเริ่มจากมหาวิทยาลัย ก็เลยเอาเรื่องเลวร้ายใส่หัวนักศึกษาหมด ระบบอาวุโส โซตัสอะไรต่างๆ คุณทำได้ ประเคนเงินให้ พอคุณออกนอกกรอบเมื่อไหร่ ตีคุณตาย ไม่ยอมให้โอกาส มันคุมจริงๆ นะ

ข้อที่สอง ความพ่ายแพ้ของ พคท. ทำให้ฝ่ายก้าวหน้าสมัยนั้นกลับมาแล้วท้อแท้ด้วย อย่างที่บอกว่าบางคนก็ไม่เล่าให้ลูกฟัง บางคนก็ย้ายฝั่งไปเลย มันก็ไม่มีการกระตุ้นความคิดกับใครแล้ว การต่อยอดไม่เกิด

ส่วนข้อสาม อันนี้เป็นเหตุผลส่วนตัว เท่าที่ผมสังเกต คนรุ่นใหม่จะมองว่าคุณรุ่นพี่สู้กันมายังแพ้เลย ทำไมผมต้องฟังคุณ ลึกๆ มันมีอย่างนี้อยู่ แต่ผมอยากบอกเขานะ ในชัยชนะ มันเริ่มจากแพ้ทั้งนั้น เพราะแพ้ถึงจะไปชนะได้ แต่ถ้าคุณไม่เรียนรู้จากแพ้ คุณไม่มีทางชนะ

ยกตัวอย่างปัจจุบัน ตอนเราได้ยินข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ พวกเราหลายคนน้ำตาไหล เขาได้พูดในสิ่งที่เราอยากพูด เขาได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ แต่ให้ดูภาพรวมการเคลื่อนไหวทั้งหมด ผมคิดว่าพวกเขายังไม่มีการจัดตั้ง ไม่ได้วางแผนว่าจะสร้างกำลังคนอย่างไร คุณจะสร้างคนรุ่นใหม่ของคุณออกมาอย่างไร สร้างงานความคิดคุณอย่างไร

ภาษาเราจะบอกว่ายามศึกคึกคักรีบเคลื่อนไหว ยามถูกโจมตีปิดล้อม ทำงานความคิดเวลานี้คืองานสร้างคน ทำงานความคิด เมื่อสถานการณ์เปิด เลือกตั้งเที่ยวหน้า คุณลุยเลย ก่อนเลือกตั้งขอจัดกิจกรรมเผยแพร่ประชาธิปไตย ออกไปบอกชาวบ้านเรื่องการเลือกตั้งที่ถูกต้อง เที่ยวนี้แหละ คุณได้สร้างคนรุ่นใหม่แล้ว

หรือจริงๆ แล้วในบริบทการต่อรองกับชนชั้นนำของคนรุ่นใหม่ในยุคต่อๆ มากับคนรุ่นใหม่ในเดือนตุลาฯ ไม่เหมือนกัน ยิ่งถ้าหากพูดคำว่าจัดตั้งในยุคนี้ ก็มักมีคนบอกว่าคนรุ่นใหม่ถูกจ้างมาให้รวมตัวกันชุมนุม หรือถูกหลอกให้หลงเชื่อกับความคิดการปฏิรูป

นี่อาจจะเป็นอันหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นกลยุทธ์ฝ่ายนั้นอยู่แล้ว ยุคสมัยไหนก็ทำ สมัยเราเคลื่อนไหว เขาก็มองนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ มันเป็นธรรมดา อยู่ที่ว่าเราจะแก้เกมอย่างไร ทำไมชาวนาไม่เชื่อคำพูดที่ว่าคอมมิวนิสต์ไม่ดี ก็เราอยู่กับเขา สู้กับเขา กินกับเขา พอบอกว่าคอมมิวนิสต์หน้าตาแบบนี้นะ อ้าว งั้นก็เป็นสิ ถ้าเป็นแล้วมันดี 

คนรุ่นใหม่อาจจะมองว่าจัดตั้งคือคำของฝ่ายซ้าย แต่ผมมองอย่างนี้ ความหมายของจัดตั้ง มันเหมือนคุณเป็นตะเกียบ ถ้าอยู่คนเดียวมันก็หักได้ แต่ถ้ารวมกันหลายๆ อัน มันก็หักไม่ได้ จัดตั้งคือเอาอะไรมาร้อยให้เป็นมัดก็แค่นั้นแหละ แล้วการจัดตั้งมีอยู่หลายมิติ มิติที่หนึ่งคือจัดตั้งทางความคิด ไม่ต้องมีองค์กร จัดกลุ่มศึกษา เช่น เอาวรรณกรรมมาคุยกัน ใครสนใจเรื่องแม่ของแม็กซิม คอกี้บ้าง ไปอ่านมา อีกอาทิตย์หนึ่งเรามาร่วมวิเคราะห์ ถกเถียงกัน นี่คือการจัดตั้งทางความคิด ความคิดต้องมาก่อน ถ้าคุณไม่สร้างความคิด ทำให้เป็นเอกภาพทางความคิด คุณสู้ทำไม  

จัดตั้งที่สองคือการจัดตั้งทางองค์กร มันมี 3 ระดับ ระดับเคลื่อนไหวทั่วไป เรียนรู้การทำงาน เช่น จัดงานปีใหม่ ใครเป็นประธาน ใครเป็นเหรัญญิก นี่คือจัดตั้งแบบองค์กร เสร็จงานแล้วมาสรุปบทเรียน ใครทำอะไรบ้าง ปัญหาต้องแก้ตรงไหน ท่าทีทำงานควรจะเป็นอย่างไร มันก็เรียนรู้ที่จะถนอมน้ำใจกัน เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกันทางความคิด นี่คือการหล่อหลอมทางความคิด

จัดตั้งองค์กรระดับที่ 2 กึ่งถาวรแล้ว เป็นกลุ่มของเราแล้วนะ เรามีอุดมการณ์แบบนี้นะ เมื่อเคลื่อนไหวเสร็จ เราจะจัดตั้งทางความคิดอย่างนี้นะ แล้วเราจะมาอบรมต่อ เราจะสร้างสมาชิกอย่างไร เราจะขยายความคิดอย่างไร จัดตั้งระดับที่ 3 สู้รบแล้ว นั่นคุณยังไปไม่ถึง สู้รบแบบไหน สร้างพรรคการเมือง หรือทำอะไรว่าไปเลย 

สมัยนั้นมีรูปการณ์แบบนี้ไง มันเลยเป็นพลัง เราเชื่ออย่างนี้จริงๆ นะ อย่างที่ว่า “หยดฝนย้อยหยาดฟ้ามาสู่ดิน ประมวลสินธุ์ เป็นมหา สาครใหญ่ แผดเสียงซัด ปฐพี อึงมี่ไป พลังไหล แรงรุด สุดต้านทาน” พออธิบายแบบนี้ให้ชาวบ้านฟัง เข้าใจเลย ว่าทำไมเราเรียกว่า ‘สหพันธ์’ เพราะ ‘สห’ คือร่วม ต้องร่วมกันถึงจะแข็ง เดี่ยวๆ ไปไม่ได้

นี่คือความเห็นผมนะ ถ้าหากว่าจริงๆ พวกเขาคิดอยู่และทำอยู่แล้ว ก็ดีไป แต่ในสายตาผมอาจจะไม่เห็น 

ถ้าให้คุณสรุปบทเรียนจากการลงมือเคลื่อนไหวการเมืองมาเกือบ 50 ปี คุณมองเห็นอะไรบ้าง

หนึ่ง ผมยังเชื่อมั่นว่าสังคมยังเปลี่ยนแปลง ช่วงเวลาหนึ่งที่เราทำงาน ภาษาเราสวยๆ เขาเรียกว่า การเกิดมาในช่วงประวัติศาสตร์ สำเร็จไม่สำเร็จ จบไปแล้ว ช่วงเวลาหนึ่งก็จะมีอีกชุดขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อ ไม่ต้องเสียใจที่ไม่สำเร็จ แต่เราก็เป็นหินก้อนแรกๆ ให้เขาก้าวขึ้นไป เราเชื่อปรัชญาความคิดนี้ที่ทำให้เรารู้สึกมีความหวัง ยังเชื่อมั่นคนรุ่นใหม่อยู่ 

ข้อที่สอง ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม งานจัดตั้งทางความคิดต้องเป็นอันดับแรก ต้องศึกษา หล่อหลอมตัวเองก่อน ถ้าไม่ทำอย่างนี้ คนอื่นจะฉวยโอกาสเอาชนะคุณไปหมด สู้มาจนตาย พวกนั้นจะฉวยโอกาสไปหมด เหนื่อยมาจนตาย เขาก็เอาไปหมด อาหรับสปริงเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว เผด็จการเอาไป แลกด้วยเลือดเนื้อประชาชน เพราะคุณไม่มีการจัดตั้งทางความคิด สู้ไปเพื่ออะไร แล้วจะขยายสมาชิกอย่างไร คือเรื่องวางแผนจะถูกผิดอย่างไรก็ไม่เป็นไร แล้วไปเรียนรู้จากมัน คุณแพ้วันนี้ วันหน้าเดินได้ 

ผมขอพูดนิดหนึ่ง ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดที่คนรุ่นใหม่บังคับตัวเองว่าต้องจบที่รุ่นเรา ไม่มีทาง ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสังคมเปลี่ยนได้ทุกรุ่น มันไม่ได้ชนะทุกครั้ง แต่มันมีชัยชนะสะสมอยู่ อย่างน้อยรุ่นผมทำให้ชาวนาตื่นตัวได้ ซึ่งไม่เคยมีมากมายขนาดนั้น และมันเป็นฐานให้ทุกวันนี้ได้ รุ่นคุณสามารถพูดถึงทะลุฟ้าได้แล้วอย่างเปิดเผย ก็ถือว่าเป็นชัยชนะใหญ่โตมากแล้ว อาจจะรออีกรุ่นที่ความเสื่อมทรามและความตื่นตัวถึงจุดสปาร์กกันตู้มทีเดียว การเปลี่ยนชนชั้นนำไม่จำเป็นต้องรุ่นคุณ คุณบังคับว่ารุ่นคุณ คุณฆ่าตัวตายเกินไป แล้วคุณจะท้อตัวคุณเอง

กลับมาที่ข้อสาม ผมเชื่อว่าบทเรียนทุกบทเรียนมีความหมาย อยู่ที่ว่าคุณถอดมันเป็นไหม ใช้มันเป็นไหม เสื้อมันหลวมคุณก็มาตัดใหม่ใช้ให้เหมาะกับตัวเอง เสื้อมันคับคุณก็เอาอะไรมาแปะให้มันขยาย ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์ เรียนรู้มัน

ข้อสุดท้าย ผมเชื่อว่าในการต่อสู้ แกนนำทั้งหลายต้องมีความคิดสร้างสรรค์ แปรนโยบายให้เป็นรูปธรรม แปรรูปธรรมให้เป็นปฏิบัติ แล้วปฏิบัติยืดหยุ่น อย่าเคร่งครัดว่าต้องอย่างนี้ๆ คุณเดินไปตะปูงอกขึ้นมา คุณจะเหยียบมันไหม ถ้าไม่เหยียบ จะทำอย่างไรไม่ให้คนอื่นโดน คุณจะเอามันลงอย่างไร ไม่จำเป็นต้องใช้ค้อนอย่างเดียวเพื่อทุบมัน คุณมีหินก็ทุบมันได้ ไม่มีหินใช้รองเท้าทุบก็ยังได้ อย่าไปคิดว่าต้องมีค้อน อะไรที่ใช้ได้ก่อน ทำมันก่อน

ตลอด 5 ทศวรรษที่คุณได้เคลื่อนไหวเรื่องการเมือง คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อย้อนมองสิ่งที่ได้ทำทั้งหมด

ผมสรุปได้อย่างนี้นะ อดีตมันเป็นความทรงจำของเรา จะเจ็บปวดหรือสุขสันต์ หรือมีความสุข หรือหลั่งน้ำตา มันก็คือชีวิตเรา เราเลือกมันเอง ไม่มีอะไรต้องเสียใจ มันเป็นสิ่งที่เราควรจะหวนรำลึกได้ 

อดีตเป็นบทเรียนสำหรับเรา สำหรับคนอื่นที่จะศึกษาก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรเลย ประสบการณ์ของเราเป็นความทรงจำ เป็นเกียรติภูมิของเรา เกิดมาชาติหนึ่งไม่เสียชาติเกิดแล้ว แม้จะไม่สำเร็จ แต่เราก็ได้ทำอะไรขึ้นมาแล้ว ต้นไม้กว่าจะโต มันก็ไปของมันแต่ละก้าว กล้วยกว่าจะโต มะละกอกว่าจะโต กิ่งต้องหักลงมา ถึงจะโตขึ้นไปได้ นี่คือสรุปบทเรียนที่ผมได้ ดังนั้น ผมและเพื่อนหลายคนไม่ได้รู้สึกเสียใจ เพียงแต่เสียดาย เราแก่เร็วไปหน่อย อายุเราเหลือน้อยแล้ว เวลาน้อยแล้ว (หัวเราะ)

แต่เพื่อนผมบางคนสรุปว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่แล้ว เรารุ่นเก่าตามเขาไม่ทัน เราฟังภาษาเขาไม่รู้เรื่อง ถอยออกมาห่างๆ อย่าไปยุ่ง คอยให้กำลังใจห่างๆ ความเห็นนี้ผมไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้อยากไปก้าวก่ายว่า น้องต้องทำอย่างนี้ๆ นะ มันไม่ถูก มันเป็นเรื่องของเขา

แต่สิ่งที่เราควรทำ ประสบการณ์ที่เรามี อะไรที่เราถ่ายทอดได้ บอกต่อได้ก็บอก ง่ายที่สุดคือถ้าเขาเดินขบวน เราไปได้ก็ไป ช่วยเหลือเงินได้ก็ช่วย ช่วยปลอบใจได้ก็ช่วย ช่วยกำลังใจได้ก็ช่วย ช่วยส่งต่อข่าวสารได้ก็ต้องช่วย ร่วมสู้ได้ก็ต้องร่วม แต่สิ่งสำคัญก็คืออย่าปิดกั้นตัวเอง อย่าดูถูกประวัติศาสตร์ตัวเอง บอกให้น้องรู้ถ้าน้องอยากฟัง คำที่ว่าเรื่องในอดีตล้าสมัยนั้นไม่จริง บทเรียนมีความหมาย ทุกวันนี้การศึกษาเรียนอดีตทั้งนั้น ไม่เรียนอนาคตสักตัวเดียว อย่ากีดกันตัวคุณเองหรือกีดกันคนอื่น มันจะยิ่งทำให้น้องโดดเดี่ยว นี่ไง มันเลยขลุกขลักแบบนี้มา 3 ปีแล้ว

อะไรที่ทำให้คุณยังเลือกที่จะสู้และยึดมั่นในอุดมการณ์ที่เชื่อไว้

ภาพที่เห็นในปัจจุบัน ภาพที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี่แหละ ผมกลับมาเรียน เรียนจบ ผมเห็นสภาพสังคมเป็นอย่างนี้ กลับไปเป็นอาจารย์ เห็นสภาพสังคมแบบนี้ ตัดสินใจกลับมาอยู่ชนบทใหม่ ก็ยังเห็นชนบทเป็นอย่างนี้ กลับมานึกถึงลูกหลานเรา อนาคตจะเป็นอย่างไร แค่นี้แหละ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราจะสู้ต่อ มันต้องสู้ ยอมได้อย่างไรอยู่กับสังคมอย่างนี้ ลูกเราเรียนจบมาจะอยู่อย่างไร หลานเราจะอยู่อย่างไร เพื่อนเราจะอยู่อย่างไร เราเคยอยู่แล้ว จะให้เขาอยู่อย่างนี้อยู่เหรอ ถ้าเราทำได้ ทำ ทำได้แค่ไหนก็ทำ ต้องทำ นี่คือตัวเองจรรโลง ข้อที่หนึ่งนะ

ส่วนที่สองคือ ภาพในอดีตที่พรรคพวกมิตรสหายที่หลั่งเลือดมาด้วยกัน อุ้มศพมาด้วยกัน มันฝังความรู้สึกเขาไม่ควรต้องตายเปล่า ยังทำได้อยู่ ทำไป เพื่อนหลายคนก็คิดอย่างนี้ เรายังมีแรง ทำได้ ทำไปเลย สองอย่างนี้แหละที่ทำให้ตื่นตัว

ผมคิดว่าคนหนุ่มสาวทุกวันนี้ตื่นตัวจากสภาพของตัวเอง ก็เป็นอย่างนี้ ฉันอยู่อย่างนี้ ฉันไม่เอา ไม่เอาก็ต้องสู้ การเมืองเป็นอย่างนี้ รัฐบาลเป็นอย่างนี้ ออกมารถก็ติด น้ำก็ท่วม เอาไง อยู่อย่างนี้เหรอ ตรงนี้ต่างหาก คนดิ้นรนต่อสู้ เพราะความคับข้องใจ ไม่ใช่เพราะความสุข 

สุดท้ายแล้วคุณในฐานะคนเดือนตุลาฯ มีความฝันที่อยากเห็นสังคมไทยเป็นแบบไหนบ้าง

สังคมสวัสดิการ รัฐสวัสดิการ เป็นสังคมนิยมที่เป็นประชาธิปไตย นี่คือเป้าหมายสำหรับเราที่จำเป็นต้องไป ส่วนอนาคตไปถึงไหนไม่รู้ แต่นั่นน่าจะเป็นภาพที่เป็นไปได้มากที่สุด จริงๆ ตัวอย่างก็มีแล้ว เพียงแต่หนทางที่เรายังไม่เลือก จะเลือกหนทางไหน

จริงๆ ถ้าจะบอกว่าพวกเราอ่านหนังสือเรื่องมาร์กซ์ เลนิน หรือเหมามา เราก็ไม่ได้เห็นภาพสังคมแบบเขานะ มันเป็นจินตนาการความเท่าเทียม ซึ่งมันไม่เกิด เรารู้ว่าไม่ใช่ แต่เรารู้ว่า ชีวิตที่จำเป็นต้องมีคืออะไร ทำอย่างไรชีวิตคนถึงสะดวก เจ็บป่วยมีการรักษา เรียนได้ฟรี มีที่ทำกิน มีปัญญาคิดอะไรแล้วทำมาหากินได้ สมัยนี้เขาเรียกว่า SME ทำอย่างไรให้มีโอกาสเติบโต เข้าถึงแหล่งทุนง่าย เราได้มีสิทธิพูดในสิ่งที่ไม่ถูกต้องของสังคม ไม่ถูกรังแก นี่คือรูปธรรมของสังคมที่เราต้องการ

แล้วผมก็เชื่อว่าลัทธิมาร์กซ์ก็สอนแบบนี้แหละ สังคมที่พลังการผลิตถูกปลดปล่อย ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนไหน ความสัมพันธ์การผลิตที่เท่าเทียมกัน เจ้าของไม่ขูดรีดแรงงานหรือคนที่ทำงาน มันต้องยุติธรรม ผมมองเห็นอย่างนี้

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save