fbpx

ขุดรากเหง้าที่ถูกเหมบเต็ง : มาโนช พรหมสิงห์

วารินชำราบอุบลราชธานี / 70 กิโลเมตรจากริมโขง

บ่ายนั้นร้อนระอุ มดแดงจากต้นมะม่วงดุดัน หากจะมีอะไรทำให้บ่ายนั้นเย็นขึ้นมาบ้าง ก็คงจะเป็นเรื่องเล่าในอดีต และสายลมเอื่อยเฉื่อยที่พัดตามใจตัวเอง – เรากำลังคุยกับนักเขียน คนทำสวน และบรรณาธิการชายคาเรื่องสั้น

มาโนช พรหมสิงห์ในวัย 64 ปี ยังยิ้มแย้ม มีลูกล่อลูกชน และอดทนกับแดดบ่ายได้เหมือนเป็นเพื่อนสนิท

ในวัยหนุ่มเขาลาออกจากอาชีพครู ยืนยันหนักแน่นจะดำรงชีพด้วยการทำสวนและเขียนหนังสือ — เขายังทำมันจนทุกวันนี้ 

“ผมจะเป็นนักเขียนจริงๆ เป็นนักเขียนเฉยๆ ไม่โด่งดังก็ช่าง จะนั่งเขียนหนังสือที่บ้าน” คือประโยคที่เขาใช้อธิบายความรู้สึกตอนที่ตัดสินใจลาออกจากครูเพื่อมาเขียนหนังสือ

ไม่ใช่แค่เรื่องการเขียนที่เขาเอาจริงเอาจัง แต่ความเป็นคนอีสานของเขายังบ่มเพาะให้เล่าเรื่องที่ถูกกดทับด้วยมายาคติโง่จนเจ็บ และขุดประวัติศาสตร์ที่ถูกกลบออกมาชำระใหม่ผ่านวรรณกรรม ทั้งในบทบาทของนักเขียนและบรรณาธิการ

เขามีผลงานเรื่องสั้นลงตีพิมพ์ในนิตยสารตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นก็มีเรื่องสั้นตีพิมพ์ลงนิตยสารช่อการะเกดคือ คุกดอกไม้ (2537) ก่อนจะได้รางวัลช่อการะเกดยอดนิยมจากเรื่องสั้น 2 เรื่องคือ ร่างแหแห่งวิหค (2539) และสายลมบนถนนโบราณ (2540) 

หนังสือรวมเรื่องสั้น สายลมบนถนนโบราณ ของมาโนช พรหมสิงห์เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปี 2548 เขาเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลรพีพรในปี 2551 รางวัลสำหรับนักเขียนที่ผลิตผลงานอย่างต่อเนื่องและยึดอาชีพนักเขียนเพียงอย่างเดียว และถูกยกให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ (วรรณกรรมร่วมสมัย) ปี 2559 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น 

ในปกหลังของหนังสือสายลมบนถนนโบราณ เขียนไว้ว่า “ฉันตั้งความปรารถนาลึกๆ อยู่ในจิตใจ ให้สายลมเหน็บหนาวหยุดความเกรี้ยวกราดลงบ้าง ความป่วยไข้ของผู้คนและผืนดินจะได้ยุติลงเสียที ดอกคูน ดอกพะยอม ดอกลำดวนจะได้บานสะพรั่ง และจักจั่นจะได้กรีดปีกดังก้องระงมไปทั้งราวป่า ปลุกที่ราบสูงให้กลับฟื้นคืนมามีชีวิตชีวาด้วยสีสันกลิ่นหอม แหละเสียงเพลงไพรอีกครั้ง”

บนพื้นที่ห่างไกลจากส่วนกลางของรัฐไทย เราคุยกันด้วยภาษาลาวว่าด้วยเรื่องการขุดดินปลูกดอกไม้ ขุดความคิดเพื่อสร้างสวนอักษร และขุดรากเหง้าความเป็นลาวที่ถูกกลบฝัง

ชีวิตวัยเด็กของคุณเป็นอย่างไร

สมัยเด็กผมอยู่ตำบลกระโทก ที่โคราช ครอบครัวทำนา สมัยนั้นโจรเยอะ ยายผมเลยต้องหาบผักไปขายที่โรงหนัง สถานีรถไฟ พ่อแม่ผมก็ตามมาขายด้วย เพราะทำนาไม่ได้ผลด้วยแหละ ยายบอกว่าขายของได้เงินดี แม่ก็เลยมาช่วยยาย 

ขายของอยู่หลายปี พ่อผมก็ไปสอบเป็นทหารนายสิบอยู่หน่วยซ่อมบำรุง เลยมาเช่าบ้านในเมืองโคราช แม่ก็ยังขายของอยู่ พ่อก็ไม่อยากให้แม่ขายของหรอก เพราะพ่อเป็นข้าราชการ แต่แม่ก็แอบขาย ได้เงินดี พ่อก็เลยยอมมาช่วยด้วย ขายถั่วต้มขายผักอยู่ตลาดเทศบาล 2 

แล้วพอดีตอนนั้นหน่วยทหารทางอุบลฯ กำลังรบกับลาว อเมริกาก็เข้ามา เขาเลยย้ายหน่วยซ่อมบำรุงของพ่อกับหน่วยรถถังมาประจำที่อุบลฯ แม่เลยมาทำร้านเสริมสวยที่อุบลฯ อยู่หลายปี ที่สุดแล้วก็ไม่ไหว เพราะฝรั่งกลับแล้วไม่มีคน พวกพาร์ตเนอร์ก็หายไป ก็เลยเข้ามาอยู่สวน เป็นบ้านหลังแรก สวนตรงนี้แหละ แม่ขายกับข้าวและปลูกดอกไม้ สมัยเด็กผมไปนั่งขายของอยู่ตลาด เรียนโรงเรียนเทศบาลใกล้ๆ บ้าน พอตอนมัธยมก็เข้าเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช โรงเรียนประจำจังหวัดอุบลฯ 

คุณชอบการอ่านเขียนตั้งแต่เด็กๆ เลยไหม

สมัยเป็นเด็กน้อย 3-4 ขวบ ขอตังค์ยายเพื่อไปเช่าแผงหนังสือการ์ตูนในตลาด เล่มหนึ่ง 5 สตางค์ มาเปิดดูที่บ้าน อ่านไม่ออกหรอก แต่ดูรูปก็ลำดับเรื่องได้ พวกนิยายภาพ อ่านแล้วก็เล่าให้พ่อแม่ฟัง 

พอย้ายมาอุบลฯ ก็มีแผงหนังสือเช่าการ์ตูน ผมอ่านสิงห์ดำ ของราช เลอสรวง ไปซื้อหน้ากากเสือ การ์ตูนนินจา พวกการ์ตูนต่างประเทศที่แปลมาเป็นตอนๆ แล้วพอดีแม่เปิดร้านเสริมสวยอยู่เมืองอุบลฯ ก็รับนิตยสารบางกอก สกุลไทย ผมติดนิตยสารงอมแงม อ่านนิยายรัก น้องผมก็ชอบอ่าน เสร็จแล้วก็ชวนกันทำนิตยสาร เอากระดาษเปล่ามาแบ่งทำเป็นคอลัมน์ แบ่งกันเขียน แบ่งกันวาด 

ผมอ่านทุกอย่าง การ์ตูน นิยายรัก นิยายบู๊ พอเข้าโรงเรียนเบ็ญฯ ก็อ่านงานของยาซูนาริ คาวาบาตะ, เฮอร์มานน์ เฮสเส, ศรีบูรพา, หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ตอนนั้นที่ห้องสมุดมีหนังสือเยอะ บรรณารักษ์ก็แนะนำหนังสือดี ตอน ม.ปลายผมมารู้จักฟ้าบ่กั้น ของลาว คำหอม ฉบับพิมพ์นั้นมีเทพศิริ สุขโสภาวาดภาพประกอบให้ สวยมาก อีกเล่มที่ชอบที่สุดคือความเงียบ ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี อ่านบ่อยจนเอาไปซ่อนไว้ 

หนังสือประเภทฝ่ายซ้าย สังคมนิยม มีแต่มาโนชนั่นแหละที่มีรายชื่อยืม วรรณกรรมกล่อมเกลาให้คนคนหนึ่งเป็นนักเขียนได้ ถ้าฝักใฝ่ในการอ่านแล้วฝึกเขียน 

ตอนนั้นความคิดความอ่านทางการเมืองของคุณเป็นอย่างไร เริ่มสนใจการเมืองหรือยัง

ผมคิดไม่ค่อยเหมือนเพื่อน คิดเรื่องปรัชญา พออ่านหนังสือก็มีความคิดทางการเมืองเข้ามา ผมเคยเขียนการ์ตูนประท้วงรุ่นพี่ที่บังคับให้จ่ายตังค์ทำหนังสือรุ่น เป็นรูปรุ่นพี่ยื่นมือมารับเงินกับน้องที่ใส่ชุดนักเรียน แต่เงาทอดไปข้างหลังเหมือนกำลังบีบคอ สุดท้ายก็โดนรุ่นพี่ยึดรูปไป หลังจากนั้นก็ได้ฝึกเรื่องความคิดความอ่าน ฝึกตรรกะ มีเข้าชมรมโต้วาที เสียดายตอนนั้นไม่มีชมรมวรรณกรรม แต่ผมก็มีอาจารย์ภาษาไทยคนหนึ่งหนุนเวลาผมแต่งนั่นแต่งนี่ อาจารย์บอกว่า “แต่งดีนะมาโนช” แล้วเอาไปติดบอร์ดให้ 

ผมอ่านเขียนมาเรื่อย ตอนจบ ม.ศ.5 ก็เกิดเหตุการณ์ประท้วง 14 ตุลาพอดี จนเข้าไปเรียนครูที่ มศว วิทยาเขตมหาสารคาม (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ก็ทำงานองค์การนักศึกษา เรียนถึงปี 3 เจอเหตุการณ์ 6 ตุลา จำได้แม่น เขามาประกาศอยู่หน้ามหาวิทยาลัย “พวกที่มีรายชื่อทำงานในองค์การฯ ให้ออกมามอบตัวเดี๋ยวนี้” 

ระเบิดขวดดังตั้มๆๆ เพื่อนก็พาหนี ผมกับเพื่อนหมอบอยู่ เจ้าหน้าที่ก็ข้ามรั้วเข้ามา “เฮ้ย ใครน่ะ ออกมา” โดนเรียกให้เข้าไปหา เขาเอาปืนจ่อหัว “กูรู้นะว่ามึงเป็นใคร แต่กูไม่ทำอะไรมึงหรอก กูไม่ฆ่า สงสาร คนไทยเหมือนกัน ให้มึงวิ่งข้ามห้วยหนีเอานะ ไป” พูดจบ ผมก็วิ่งเลย

ใจเป็นอย่างไรตอนนั้น

โอย ตอนนั้นเห็นข่าวช่างไฟฟ้าสองคนถูกแขวนคอ ฟังวิทยุบอกว่าเขาฆ่ากันอยู่ธรรมศาสตร์ ในหัวผมคิดว่ากูตายแน่ ไม่ได้กลับบ้านแน่ คืนนั้นวิ่งไปนอนกับเพื่อนที่หอ เพื่อนบอกว่าพรุ่งนี้ค่อยนั่งรถกลับบ้าน รุ่งขึ้นผมก็ออกมาขึ้นรถที่ บขส. กลับบ้านที่อุบลฯ กลับมาบ้านเห็นแม่เผาหนังสือของผมอยู่ รูปวาดเช กูวาร่าที่ผมวาดเองก็โดนเผา เพราะแม่กลัว

ชีวิตการเรียนของคุณเป็นอย่างไรต่อหลังจากนั้น

ผมเสียเวลากว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันกว่าจะสอบบรรจุได้ ทำงานทีหลังเพื่อน เรื่องของเรื่องคือผมกลับไปเรียน แล้วต้องมีฝึกสอนก่อน แต่ตอนฝึกสอนผมเคยจัดบอร์ดในโรงเรียน เขียนคำคมจากวรรณกรรม ทำโปสเตอร์หนัง เขาก็กลัวคอมมิวนิสต์ กลัวว่าจะมาปลุกปั่นนักเรียน เลยมีคำสั่งให้ยุติการสอนจนต้องไปฝึกสอนใหม่ เลยจบช้ากว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน

ผมสอบบรรจุครูได้ที่แรกที่อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ สอนอยู่ที่นั่น 2-3 เดือนแล้วก็เขียนหนังสือลาออก อยากกลับมาอยู่กับแม่ที่อุบลฯ เพราะน้องคนอื่นไปเรียนหมด สุดท้ายผมก็สอบได้โรงเรียนใกล้บ้าน วันนั้นกลับมาบ้าน นอนหนุนตักแม่แล้วบอกว่า “แม่ ผมสอบได้แล้ว ดีใจบ่” 

ผมเป็นครูคณิตศาสตร์คนแรกที่จบปริญญาตรี เข้ามาเป็นหัวหน้าหมวดและฝ่ายวิชาการ บริหารจัดการเรื่องสวัสดิการ งบประมาณ และวิชาการ จนเขาบอกว่าจะไม่ยอมให้ลาออก แต่ในที่สุดแล้ว ผมไม่ค่อยพอใจระบบ ระบบไม่ดี มีเรื่องทุจริตในโรงเรียน ผมไปแจ้งตำรวจ ก็ถึงขั้นมีการขู่ฆ่า ผมเลยคิดว่าลาออกดีกว่า ไม่เอาบำเหน็จ หาเอาข้างหน้าแล้วกัน อยากเขียนหนังสือ ผมจะเป็นนักเขียน 

คนก็ถามนะว่าจะลาออกทำไม ทำไมไม่ทำงานเช้าชามเย็นชามไป อยากเป็นนักเขียนก็เขียน ได้เงินเดือนด้วย ได้ค่าเรื่องด้วย ยิ่งดีนะ

แล้วทำไมไม่ทำแบบนั้น

ผมจะเป็นนักเขียนจริงๆ เป็นนักเขียนเฉยๆ ไม่โด่งดังก็ช่าง จะนั่งเขียนหนังสือที่บ้าน ได้พิมพ์ก็ดีใจ ไม่ต้องการรางวัลอะไร

การเป็นนักเขียนอย่างเดียวยากไหม

ไม่ยาก เพราะมีข้าวกิน ทำสวนช่วยแม่ แม่ให้กินข้าว มีที่นอน แม่ก็ไม่ว่าอะไร แต่พ่อน่ะว่า “ได้งานการดีๆ ไม่ชอบ” แต่แม่ก็บอกว่าเอาเถอะ อย่างไรมันก็มาช่วยทำสวน

เวลาทำสวน ผมทำเป็นทำนะ กลางคืนนู่นแหละถึงจะมีเวลาเขียน ตอนนั้นผมรับนิตยสารช่อการะเกดมาอ่านมาหลายปีแล้ว เลยคิดว่าส่งเรื่องสั้นไปช่อการะเกดดีกว่า เพราะอ่านจนรู้แนวทางว่าหนังสือนำเสนอเรื่องอย่างไร ประเด็นแบบไหน ก็เลยส่งเรื่องไป

ตอนนั้นพี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี (บรรณาธิการช่อการะเกด) บอกว่าถ้าเรื่องของคุณไม่ผ่าน ผมจะเขียนจดหมายมาบอก จำได้เลยวันนั้นกำลังทำสวนกับแม่ บ่ายแล้ว มีจดหมายมา คิดว่าคงไม่ผ่านแล้วละ แต่พอเปิดดู อ้าว ผ่านนี่หว่า เป็นจดหมายแนะนำเรื่องการเขียน เขาส่งต้นฉบับคืนด้วย ผมจำได้เลย วิ่งมากอดแม่ตรงแปลงดอกไม้ 

เรื่องแรกที่ได้ประดับช่อคือคุกดอกไม้ หลังจากนั้นได้รางวัลช่อการะเกดยอดนิยมจากสองเรื่องคือ ร่างแหแห่งวิหคและสายลมบนถนนโบราณ ส่วนมากก็เอาเรื่องรอบตัวนี่แหละมาเขียน พวกการทำสวน ความเป็นอีสาน แล้วก็เพิ่มประเด็นเข้าไปนิดหน่อย 

ตอนนั้นถือเป็นความสำเร็จของอาชีพนักเขียนเลยใช่ไหม

ใช่ ก่อนหน้านี้คิดว่าตัวเองโหลยโท่ย นักเขียนบ้านนอก ไม่อยู่ในสายตาใคร เห็นเดือนวาด พิมวนา เห็นประกาย ปรัชญา ไม่กล้าทักหรอก ตัวสั่น เจอนิวัต พุทธประสาทที่เป็นรุ่นน้อง เจอจารี จันทราภา ก็คุยแบบตื่นๆ 

แต่พอได้ประดับช่อ คนเขาก็แซวกันว่าเก่งเว้ย เป็นนักเขียนอีสานคนแรกที่ได้ช่อ ส่งเรื่องเดียวได้เลย คนอื่นส่งประจำยังไม่เคยได้ 

คุณมีประเด็นอะไรที่อยากสื่อสารที่สุดในงานเขียน อยากเล่าเรื่องอะไร

ความเป็นคนอีสานที่ถูกมายาคติกดทับอยู่ รัฐบาลไม่ค่อยเหลียวแล ถูกมองว่าโง่เง่า สมัยทำงานองค์การนักศึกษา ก่อน 6 ตุลา ผมเข้าไปประชุม สนนท. ที่ธรรมศาสตร์ ตอนนั้นเพื่อนบอกว่าถ้าลงรถทัวร์แล้วห้ามพูดลาวนะ แล้วก็ห้ามพูดลงท้ายว่า ‘เนาะ’ เดี๋ยวคนอื่นจะรู้ว่าเป็นลาว แต่ทุกวันนี้ใครๆ ก็พูดเนาะ ไม่ว่าภาคไหน ตอนนั้นผมก็คิดนะว่าอะไรจะขนาดนั้น

เราควรกลับมาหาตัวเอง ค้นหารากเหง้าที่ถูกกลบ ถูกเหมบเต็ง (กดทับ) มาตั้งแต่เก่าก่อน ถูกปล้นทรัพยากรไปหล่อเลี้ยงส่วนกลางของประเทศ แล้วเล่าออกมา

คุณเห็นงานนักเขียนอีสานมาเยอะจากการเป็นบรรณาธิการชายคาเรื่องสั้น คิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางประเด็นหรือวิธีการเล่าใหม่ๆ บ้างไหม 

งานคนรุ่นใหม่ที่ได้ลงในชายคาเรื่องสั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัว ความรัก จินตนิยม ความเป็นชุมชน แล้วก็มีเขียนเป็นภาษาลาว พวกนี้ผมจะพิจารณาพิมพ์ให้ก่อน มีกลิ่นอายภาษาแปลก หรืออย่างถ้าภาคอื่นเขียนเป็นภาษาตัวเองมา ผมก็จะคงไว้ ไม่ว่าภาษาเหนือ ภาษายาวี นอกจากยาวแบบไม่รู้เรื่องถึงจะมีตัดบ้าง

คนรุ่นใหม่เก่ง เขียนดี 

เก่งอย่างไร

รู้จักเทคนิค เอาศิลปะหลายด้านมาสอดประสานกัน สร้างเรื่องข้ามไปประเด็นต่างประเทศ บางคนผมบอกว่าให้พอแล้ว เล่มหน้าไม่ต้องส่งมา เดี๋ยวคนจะหาว่าเอาแต่คนหน้าเดิมๆ มาลง แต่พอส่งมา อ่านแล้วก็ทิ้งไม่ได้เหมือนเดิม เขียนดี เขาลบตัวเอง วิ่งหนีตัวเอง เก่ง หลอมตัวเองให้เข้ากับยุคสมัย ไม่ได้อยู่แค่ในประเทศ ตัวผมก็นิยามตัวเองไปไกลกว่าประเทศไทยนะ มองความเจริญของโลก

เป็นพลเมืองโลก?

ใช่ๆ ถูกต้อง เป็นพลเมืองโลก ผมบอกเด็กรุ่นใหม่ตลอดว่าถ้าออกไปนอกประเทศได้ให้ไปเลย 

ตั้งแต่เขียนหนังสือและเป็นบรรณาธิการมา รู้สึกว่าเสรีภาพการเขียนในไทยเปลี่ยนไปไหม เปิดกว้างมากขึ้นไหม

ไม่เลย ยิ่งถอยหลัง รายได้จากการเขียนไม่ดีด้วย นักเขียนอีสานหลายคนก็เลิกเขียนหนังสือ ไปเขียนเพลง ร้องเพลงลงยูทูบ เพราะนักเขียนมันจนไง ไปขายตรงแล้วก็ยังไม่พอกิน เวลาประชุมเอายาสีฟัน สบู่ กาแฟมาขายก็ยังไม่พอกิน

คนก็คิดว่าทำไปก็เท่านั้น นักเขียนบางพวกก็รับใช้เผด็จการ เขาชวนไปทำอะไรก็ทำ อยากได้ลาภยศสรรเสริญ

คุณเอาแรงมาจากไหนที่ยังทำงานได้มาถึงวันนี้ และทำอย่างไรให้ไม่ตกยุคตกสมัย

มีคนส่งหนังสือมาให้หรือแนะนำให้อ่านหนังสือ ผมอ่านตลอด อย่างล่าสุดผมก็อ่านเซเปียนส์, บีเลิฟ, ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า 

การอ่านทำให้เราจัดการกับงานเขียนคนรุ่นใหม่ได้ทันยุคทันสมัย ได้ความรู้มุมมอง บทกวีบางเรื่องทำไมสร้างเราจังเลย เราไม่เคยมองโลกแบบนี้เลย ให้ความคิดเราดีมากเลย นับถือจริงๆ 

คิดอย่างไรกับการประท้วงของคนรุ่นใหม่

เห็นด้วย อยากบอกว่าสู้เขา สู้ด้วยกระแสพลเมืองโลก กระแสโลกาภิวัตน์ เมืองไทยไม่ใช่จักรวาลเดียว อย่าไปคิดว่าเมืองไทยไม่เหมือนคนอื่น ผู้ใหญ่มีแต่พูดว่าเรามีความเป็นไทยสูง รักษาไว้นะลูกหลาน แต่ลูกหลานไม่สนใจหรอก เขาเข้าเฟซบุ๊ก กูเกิล คุยแต่เรื่องล้ำสมัย

ต่อไปคนรุ่นใหม่จะกำหนดทิศทางประเทศ เดี๋ยวเขาก็โต เข้าไปทำงาน อย่าไปห้ามเขา หนุนส่งเขาเลย เขารู้กว้างกว่าเราอีก ให้เขากำหนดตัวตน ออกแบบโมเดลของประเทศชาติด้วยตัวเอง

พวกคุณเก่งกว่าพวกผมอีก ศึกษาค้นคว้าได้เองหมด ผมก็จะอยู่ดูนี่แหละ อันไหนที่พอทำได้ก็จะสร้างสรรค์งานให้โลกได้ประจักษ์ ให้คนรู้วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ วัฒนธรรมที่ถูกเหยียด วัฒนธรรมที่อยู่ในความทรงลืมไม่ใช่ความทรงจำ อย่างตอนที่เสื้อแดงถูกปราบ บางทีก็ถูกทำเหมือนว่าไม่มีใครตาย คนอีสานไปตายที่กรุงเทพฯ เศร้ามาก ผมอยากเล่าเรื่องพวกนี้

มีเป้าหมายอะไรในชีวิตที่รู้สึกว่าอยากทำแล้วยังไม่สำเร็จไหม

อยากทำหนังสือชายคาเรื่องสั้นนี่แหละ เอาวรรณกรรมสู้ให้โลกรับรู้ ให้ถึงมือผู้อ่านว่าอีสานมีเสียงแบบนี้ มีหนังสือแบบนี้ ภูมิใจนะที่ได้ทำ ตอนนี้ก็เหนื่อยเหมือนกันแต่ก็คงทำไปเรื่อยๆ นั่นแหละ หมดแรงค่อยหยุด

นอกจากทำชายคาเรื่องสั้นแล้ว ผมอยากทำร้านหนังสือทางเลือก ปลูกเป็นโรงนาใต้ต้นไม้ ข้างหลังจะทำเป็นห้องทำงานตัวเอง ปลูกเป็นกระต๊อบเล็กๆ 

อีกอย่างผมอยากปลูกบ้านให้ลูกเมียอยู่โดยเฉพาะ และสิ่งสุดท้ายที่อยากทำคืออยากเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ คัดเลือกเรื่องสั้นของนักเขียนอีสานมาพิมพ์ปีละสองเล่ม ชายคาเรื่องสั้นก็ยังมีอยู่ แต่ให้คนอื่นเป็น บ.ก. พิมพ์คู่ขนานกันไป แล้วค่อยขยายไปพิมพ์งานใหม่ๆ ทั่วประเทศ

แล้วไม่อยากเขียนงานตัวเองหรือ

อยากเขียนนิยายสักสองเรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือเส้นทางสายปลาแดก เป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการทำปลาแดก เรื่องที่สองคือนิยายเกี่ยวกับคนเจเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์ ก็คือผมที่เกิดในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คาบเกี่ยวมาถึงสงครามเวียดนาม มาถึงยุคประชาธิปไตยแบ่งบาน ถูกปราบ มีชีวิตอยู่จนกระทั่งเหตุการณ์ล้อมปราบเสื้อแดงปี 2553 จนถึงปัจจุบัน อยากเล่าเรื่องชีวิตพวกนี้ แต่ก็ไม่รู้จะทำได้ทั้งหมดไหมนะ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save