fbpx

‘มะนิลาซาวด์’ แนวเพลงไร้อารยะสู่วัฒนธรรมป็อปฟิลิปปินส์

ดนตรีและเสียงเพลงเป็นหนึ่งในกิจกรรมสันทนาการที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้นในหลายอารยธรรมทั่วโลก ดนตรียังเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้อันสำคัญที่ตกทอดกันรุ่นสู่รุ่น มีพลวัตและแพร่หลายได้อย่างรวดเร็วในสังคมหลายแห่งทั่วโลก ดนตรียังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสะท้อนความคิด เหตุการณ์ต่างๆ เรื่องตลกขบขัน เสียดสี หรือกระทั่งจินตนาการของมนุษย์ รวมถึงการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านดนตรี

เมื่อสองปีที่ผ่านมา ขณะที่ผู้เขียนชมพิธีเปิดกีฬาซีเกมส์ก็สะดุดหูกับเพลงที่นำมาเปิดในมหกรรมกีฬาครั้งนั้น จึงถามมิตรสหายชาวฟิลิปปินส์ที่นั่งชมอยู่ด้วยกันและได้รับคำตอบว่าเพลงที่ใช้เปิดชื่อ Manila Song โดยวง The Hotdog เป็นเพลงป็อปยุค 1970 ซึ่งชาวปินอยรู้จักเป็นอย่างดี วง The Hotdog ยังเป็นเพลงต้นกำเนิดของแนวเพลง ‘เสียงมะนิลา’ หรือ ‘มะนิลาซาวด์’ (Manila Sound) และที่สำคัญแนวเพลงนี้เคยเป็นแนวเพลงอุบัติใหม่ในยุคเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสของฟิลิปปินส์อีกด้วย

ในหลายประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘รัฐอำนาจนิยม’ หรือ ‘รัฐเผด็จการ’ มักปรากฏตัวอย่างความพยายามครอบงำวัฒนธรรมจากบรรดาผู้มีอำนาจ มีการตีกรอบการสร้างศิลปะและดนตรีให้เป็นไปตามที่ชนนำต้องการ อย่างในประเทศไทยก็มีการแบนเพลงตั้งแต่ยุคแผ่นเสียงรุ่งเรือง อย่างเพลงกลิ่นโคลนสาปควาย ที่เคยได้รับความนิยมอยู่ช่วงหนึ่ง ก็ถูกแบนในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์[1] จนถึงยุคการฟังเพลงออนไลน์ก็ยังมีการสั่งห้าม ไล่แบนเพลง หรือกระทั่งตีกรอบศิลปะให้เป็นไปตามที่ชนชั้นนำต้องการ สอดคล้องกับคุณค่าหลักที่รัฐเชิดชู

กลุ่มชนชั้นนำในรัฐอำนาจนิยมเหล่านี้มักมีลักษณะอนุรักษนิยมสุดโต่ง พยายามส่งเสริมวัฒนธรรมตามรูปแบบเดิมๆ ที่พวกเขาเคยชิน อย่างการบรรจุเป็นวิชาภาคบังคับในโรงเรียน แทนที่จะให้โอกาสผู้เรียนได้เลือกเรียนตามความชอบ หรือแม้กระทั่งดูถูกดูแคลนวัฒนธรรมเกิดใหม่ที่มาจากชนชั้นล่าง

สำหรับมะนิลาซาวด์นับว่าเป็นหนึ่งในแนวเพลงเกิดขึ้นใหม่ท่ามกลางข้อจำกัดในการสรรค์สร้างดนตรี เมื่อกลุ่มชนชั้นนำในฟิลิปปินส์ไม่ชอบใจการเกิดใหม่ของวัฒนธรรมมวลชนมากนัก นำไปสู่คำถามที่ว่าแนวเพลงนี้กลายมาเป็นวัฒนธรรมป็อปได้อย่างไร

เสียงมะนิลา ดิสโก้แห่งยุค

มะนิลาซาวด์ มีต้นกำเนิดมาจากแนวเพลงดิสโก้ ซึ่งแต่เดิมเป็นเพลงนอกกระแสที่เกิดขึ้นช่วงราวปี 1960 ก่อนที่จะฮิตติดลมบนในช่วงปี 1970 ในสหรัฐฯ เดิมทีดิสโก้เป็นวัฒนธรรมย่อยที่ไหลทะลักออกไปยังประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ หลายแห่งทั่วโลก ขณะเดียวก็ถูกแบนในบรรดาประเทศคอมมิวนิสต์เพราะเป็นภาพตัวแทนของลัทธิทุนนิยมและจักรวรรดินิยม

อย่างไรก็ตามกระแสดิสโก้เดินสู่ทางตันในปลายยุค 1970 หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง อย่าง Disco Demolition Night หรือ คืนล้มล้างดิสโก้ ที่ปะทุขึ้นระหว่างการแข่งขันเบสบอลที่โคมิสกีปาร์ก นครชิคาโก ประเทศสหรัฐฯ ต้นตอของเหตุการณ์รุนแรงสืบเนื่องมาจากกระแสโต้ทางวัฒนธรรมที่มาจากแฟนเพลงแนวร็อก บวกกับทัศนคติที่ว่าดิสโก้คือภาพลักษณ์ของความฟุ่มเฟือย ยาเสพติด และเกย์ (ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับในสหรัฐฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว)

แต่กระแสดิสโก้ในหลายประเทศก็ไม่ได้มลายหายไป ดิสโก้กลับเฟื่องฟูในหลายประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ทั้งในยุโรปตะวันตก ไทย ไต้หวัน เวียดนามใต้ และฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นหนึ่งในอดีตประเทศใต้การปกครองของสหรัฐฯ ก็รับกระแสวัฒนธรรมนี้มาเช่นกัน  

ดังนั้น ด้วยอิทธิพลจากเพลงดิสโก้ มะนิลาซาวด์จึงเป็นหนึ่งในแนวเพลงที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของกระแสเพลงเต้นแบบดิสโก้ที่มีอิทธิพลจากภาพยนตร์เพลงเรื่อง Saturday Night Fever ที่นำแสดงโดยจอห์น ทราโวตา (John Travolta) และคาเรน ลิน กอร์นี (Karen Lynn Gorney) นอกจากนี้มะนิลาซาวด์ยังมีเพลงที่ถอดแบบจังหวะเพลงดิสโก้ กระทั่งแปลงเพลงภาษาอังกฤษเป็นภาษาตากาล็อกซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับเรื่องความรัก เรื่องตลกขบขัน ล้อเลียน เสียดสีสังคม

หลังลองฟังเพลงแนวมะนิลาซาวด์หลายวง อย่าง The Hotdog, VST & Co., Hagibis, Yolly Samson, Cinderella และ Pat Castillo โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง Awitin Mo Isasayaw Ko หรือเพลง Tayo’y Magsayawan ของวง VST & Co. ที่ฮิตในตลาดเพลงชาวฟิลิปปินส์ในปี 1978 ก็พบว่า หลายเพลงมีความเหมือนกับแนวเพลงดิสโก้อเมริกันหลายวง อย่าง Bee Gees ที่ผลิตผลงานเพลงออกมาในช่วงเวลาเดียวกัน ตอกย้ำว่าเพลงแนวมะนิลาซาวด์ได้รับอิทธิพลเพลงป็อปและดิสโก้ จากวัฒนธรรมอเมริกันมาตรงๆ (หากใครนึกไม่ออก แนวเพลงที่ใกล้เคียงในไทยคงหนีไม่พ้นวงดิ อิมพอสซิเบิ้ล หรือวงรอยัลสไปรท์ส)

แนวเพลงมะนิลาซาวด์ลดกลิ่นอายความเป็นดิสโก้ลงในช่วง 1970-1980 ตามพลวัตทางวัฒนธรรมที่เกิดได้ตลอดเวลา แต่เพลงแนวนี้ก็ได้วิวัฒนาการฝังตัวเองเข้าไปเป็นวัฒนธรรมป็อปกระแสหลักของฟิลิปปินส์ และมักจะปรากฏตามสื่อบันเทิงกระแสหลักต่างๆ จนมาเป็นหนึ่งในเพลงที่ฟิลิปปินส์เลือกใช้ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ผ่านมา ณ กรุงมะนิลา

ดนตรีที่ชนชั้นสูงไม่ปลื้ม

ย้อนกลับไปยุคเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ช่วงปี 1972-1981 อิเมลดา มาร์กอส ภรรยาผู้นำฟิลิปปินส์เข้าไปกุมบังเหียนศูนย์วัฒนธรรมฟิลิปปินส์ (Cultural Centre of the Philippines – CCP) ทั้งยังตั้งตนเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะฟิลิปปินส์ มาดามมาร์กอสกำหนดค่านิยมทางศิลปะในสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่ตนต้องการ ซึ่งเป็นหนึ่งในขบวนการสร้างสังคมใหม่ของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส

ในงานปริญญาเอกของ James Gabrillo เรื่อง The New Manila Sound: Music and Mass Culture, 1990s and Beyond (นิวมะนิลาซาวด์:เพลงและวัฒนธรรมมวลชน ในช่วงปี 1990 เป็นต้นไป) [2] ได้พูดถึงบทบาทของมาดามมาร์กอสกับศูนย์วัฒนธรรมว่า ภรรยาของผู้นำเผด็จการตั้งใจทำให้ศูนย์ฯ เป็นเครื่องมือหลักในการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและหลอมรวมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว โดยอิงกับความดี ความจริงแท้ในศิลปะและความสวยงาม ซึ่งล้วนแล้วเป็นคุณสมบัติอันประเสริฐสำหรับศิลปะชั้นสูง

สำหรับการส่งเสริม ‘วัฒนธรรมอันดี’ มาดามมาร์กอสพุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมและศึกษาวัฒนธรรมเชิงลึกที่ได้รับการพิจารณาจากชนชั้นนำว่าเป็นศิลปะชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นการบรรเลงเพลงออร์เคสตรา การร้องประสานเสียงตามแนววัฒธรรมยุโรป หรือกระทั่งศิลปะจากจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้คณะดนตรีของฟิลิปปินส์ร่วมร้องและแสดงเป็นภาษาอังกฤษกับวงออร์เคสตราจากออสเตรเลีย

แนวเพลงมะนิลาซาวด์เกิดขึ้นในช่วงเผด็จการเรืองอำนาจ ประกอบกับวัฒนธรรมถูกควบคุมจากศูนย์กลางที่มีชนชั้นนำเป็นผู้กำหนด จึงอดคิดไม่ได้ว่า การเกิดขึ้นของมะนิลาซาวด์อาจมีนัยในการโต้กลับการครอบงำวัฒนธรรมจากภาครัฐ เมื่อเพลงแนวนี้เป็นหนึ่งในความหวัง[3] หรือเป็นเพียงแค่หนึ่งในสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างยุคเผด็จการครองเมือง เพราะนอกเหนือจากนั้น ประชาชนแทบไม่มีสิทธิในการคิดค้นกำหนดวัฒนธรรมของตนเองได้เลย

อีกหนึ่งประเด็นที่เลี่ยงไม่ได้คือ มะนิลาซาวด์เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่เกิดจากพลวัตของวัฒนธรรมกระแสหลัก และอิงกับวัฒนธรรมทางภาษาของชนชั้นล่าง โดยมะนิลาซาวด์เป็นหนึ่งในแขนงของแนวเพลง Original Pilipino Music (OPM) หรือเพลงดั้งเดิมฟิลิปิโน ที่เป็นดนตรีป็อปร้องในภาษาตากาล็อกผสมภาษาอังกฤษหรือแต็กลิช (Taglish)

แน่นอนว่าเหล่าผู้ดีมักจะรังเกียจเดียดฉันท์วัฒนธรรมดนตรีที่อุบัติใหม่ โดยเฉพาะวัฒนธรรมคู่ตรงข้ามกับสิ่งที่พวกเขายกย่อง เช่นเพลงมะนิลาซาวด์ที่ผสมภาษาตากาล็อกกับอังกฤษเข้าไปในเนื้อร้อง เป็นเสมือนการทำลายภาพลักษณ์ศิลปะอันสูงส่งที่เหล่าชนชั้นสูงยกย่องว่าเป็นศิลปะประเภทที่มีคุณค่ามากกว่า

เมื่อกาลเวลาแปรเปลี่ยน ชาวฟิลิปปินส์ลุกฮือปฏิเสธอำนาจผู้นำเผด็จการจนเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสต้องสูญสิ้นอำนาจ ฟิลิปปินส์เปิดประตูต้อนรับยุคเฟื่องฟูทางประชาธิปไตยหลังปี 1990 กระแสเพลงมะนิลาซาวด์ก็ปรับเปลี่ยนตัวเองไปเช่นกันโดยวิวัฒนาการเป็นเพลงวัฒนธรรมป็อปอย่างเต็มตัวภายใต้ชื่อ ‘นิวมะนิลาซาวด์ (New Manila Sound)’ ที่ปรากฏตามสื่อบันเทิงกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นการนำเพลงมาใช้ประกอบภาพยนตร์เพลง ละครแนวซิตคอม รวมถึงละครน้ำเน่าสำหรับทั้งจอหนังและจอแก้ว

อย่างไรก็ตามการกลับมาอีกครั้งของมะนิลาซาวด์ ก็ยังทำให้ชนชั้นนำและบรรดาชนชั้นกลางผู้มีการศึกษามองว่านิวมะนิลาซาวด์เป็นสิ่งที่ไร้วัฒนธรรม น่าสนใจว่าในงานของ James Gabrillo บอกว่ากลุ่มชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาและชนชั้นสูงพยายามเชื่อมโยงแนวเพลงมะนิลาซาวด์เข้ากับละครน้ำเน่าที่ชนชั้นรากหญ้านิยมชมชอบว่าเป็นวัฒนธรรมป็อปที่เชย ไม่มีความสวยงาม และไร้สุนทรียภาพ พร้อมทั้งด้อยค่าคนรากหญ้าที่ชื่นชอบแนวเพลงมะนิลาซาวด์ว่าเป็นพวกอ่อนต่อโลก บ้านนอก ไร้เดียงสา และไม่รู้จักศิลปะดีพอ ซึ่งผิดกับชนชั้นนำและชนชั้นกลางผู้เปี่ยมด้วยการศึกษาที่มักมองว่า ดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรมชั้นสูงต้องมาจากต่างประเทศเท่านั้น มิใช่เกิดขึ้นจากกลุ่มชนชั้นล่างไร้การศึกษา

จากวัฒนธรรมป็อปเชยๆ สู่การสร้างอัตลักษณ์

ผู้เขียนมองว่าแนวเพลงมะนิลาซาวด์เป็นเหมือนการปลดพันธนาการ หลีกหนีการควบคุมจากรัฐเผด็จการที่ชนชั้นนำพยายามปรับกระบวนทัศน์ทางศิลปะของคนในประเทศให้เป็นไปตามทิศทางที่ตนเองต้องการและมองว่าดี เช่นที่บางประเทศชนชั้นนำพยายามแช่แข็งวัฒนธรรมที่พวกเขาคิดว่าเป็นวัฒนธรรมชั้นสูง อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องปกติมากที่ผู้คนจะสร้างวัฒนธรรมหรือปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เข้ากับความนิยมในช่วงเวลานั้นๆ

ยังไม่นับกระแสทุนนิยมที่เข้ามาขับเคลื่อนและเป็นส่วนหนึ่งในสร้างพลวัตให้กับวัฒนธรรมดนตรี อย่างการนำเอาเพลงตะวันตกเข้ามาปรับเปลี่ยนให้มะนิลาซาวด์สามารถสร้างตลาดเจาะฐานมวลชนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ ทั้งนี้ยังไม่นับกระแสโหยหาอดีตที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมป็อป และมีการนำเพลงเก่าๆ กลับมารีมิกซ์ใหม่ซึ่งล้วนแล้วก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้วัฒนธรรมดนตรีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

วัฒนธรรมดนตรีควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากพลวัตทางสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้าง การพยายามแช่แข็งและทำให้วัฒนธรรมดูศักดิ์สิทธิ์เกินควรนั้นไม่ใช่การอนุรักษ์ให้คงอยู่ แต่เป็นการหยุดการเจริญเติบโตทางวัฒนธรรมและจะเป็นการทำลายไปในที่สุดเพราะมวลชนเข้าไม่ถึง การสืบทอดจึงไม่เกิดขึ้น  

การปรากฏขึ้นของเพลง Manila song ในงานซีเกมส์ที่กรุงมะนิลาสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมป็อปที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนทางวัฒนธรรมทางสังคมแบบล่างขึ้นบน ซึ่งเข้าถึงผู้คนได้ดีกว่าการสร้างวัฒนธรรมจากบนลงล่าง จากบทสัมภาษณ์ของ Floy Quintos[4] ผู้กำกับพิธีเปิดซีเกมส์พูดถึงการเลือกเพลงของ The Hotdog ว่า มาจากแนวคิดที่อยากให้ชาวฟิลิปปินส์ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างไม่มีข้อกีดขวางว่าคนฟิลิปปินส์คนนั้นจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ และเพลงนี้ไม่ได้เป็นเพลงสำหรับชาวฟิลิปปินส์ภาคใดภาคหนึ่งแต่เป็นของทุกคน


[1] “กลิ่นโคลนสาบควาย” เพลงดังขายดีที่สุดแห่งยุค โดนใครสั่ง “แบน” ?.

[2]James Gabrillo.(2018) The New Manila Sound: Music and Mass Culture, 1990s and Beyond. Phd dissertation: University of Cambridge.

[3] A little night of music for everyone

[4] ‘Manila’ song choice for SEA Games opening ‘not exclusionist’: director | ANC

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save