fbpx

จะเลือกป่าชายเลนหรือท่าเรือยอร์ช

เป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นที่ติดริมฝั่งทะเล ไม่ว่าจะเป็นชายหาดหรือป่าชายเลนบนจังหวัดภูเก็ต หากไม่ใช่พื้นที่อุทยาน  ทุกวันนี้แทบจะไม่ได้เป็นที่ดินของชาวบ้านอีกต่อไป แต่ถูกเปลี่ยนมือเป็นของนายทุนจากข้างนอก หรือผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นไปแล้ว

ที่ดินผืนงามๆ ติดทะเล ส่วนใหญ่จึงเป็นที่ก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ตหรู คอนโดมิเนียม ท่าเทียบเรือยอร์ช หรือบ้านจัดสรรสำหรับบรรดามหาเศรษฐีผู้มีอันจะกิน

แต่บนเกาะภูเก็ต ยังมีผืนดินติดทะเลไม่กี่แห่งที่ชาวบ้านยังช่วยกันปกป้องรักษาให้เป็นที่สาธารณะประโยชน์

ที่นั่นคือบริเวณบ้านอ่าวกุ้ง ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง ที่นี่มีป่าชายเลนผืนใหญ่ที่ชาวบ้านชุมชนชาวมุสลิมช่วยกันปกป้องรักษาถึงห้าร้อยกว่าไร่ ต่อสู้กับนายทุนผู้บุกรุกนากุ้งในอดีตให้กลับมีสภาพเป็นป่าชายเลน

ชุมชนบ้านอ่าวกุ้งเป็นชุมชนเก่าแก่ในอ่าวพังงา มีอายุไม่ต่ำกว่า 250 ปี ชื่ออ่าวกุ้งมาจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรกุ้งทะเล ประกอบกับพื้นที่มีลักษณะเป็นอ่าวจึงมีการเรียกต่อๆ กันมาว่า ‘บ้านอ่าวกุ้ง’ แต่ในอดีตบริเวณแห่งนี้ถูกบุกรุกจากการทำสัมปทานป่าชายเลน มีเรือประมงขนาดใหญ่จากภายนอกใช้เครื่องมือประมงขนาดใหญ่ในการจับสัตว์น้ำ โดยเฉพาะอวนลาก อวนรุน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านอ่าวกุ้ง 

ในปี 2538 พวกเขาจึงรวมตัวกันเพื่อเริ่มฟื้นฟูป่าชายเลนจำนวนห้าร้อยไร่อย่างจริงจัง เพราะทราบดีว่าป่าชายเลนและปะการังหน้าบ้านคือที่อนุบาลสัตว์น้ำจำนวนมหาศาล และเดิมพันการอยู่รอดของชาวอ่าวกุ้งด้วย จนทำให้ความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำบริเวณอ่าวหน้าบ้านของพวกเขากลับคืนความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง

การจัดการป่าชายเลนและทะเลหน้าอ่าวห้าร้อยกว่าไร่ของชุมชนบ้านอ่าวกุ้ง ทำให้เกิดความหลากหลายของพันธุ์ไม้ ได้แก่ ไม้โกงกาง แสม ตะบูน และที่โดดเด่นคือ ไม้แสมทะเลและลำพูลำแพนทะเล ที่เป็นพันธุ์ไม้ขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2,000 ต้น 

ในขณะที่ ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้เพิ่มขึ้นมากขึ้นกว่าเดิม มีสัตว์น้ำที่ทำรายได้สูง เช่น ปูม้า ปูดำ ปลาเก๋า ปลาหมึกสาย หอยจุ๊บแจง ฯลฯ

มีสัตว์หายากกลับมาด้วย นั่นคือ ลิงแสม 4 ฝูง ประมาณ 400 ตัว นากทะเลที่หายไปจากชุมชน กลับมาอยู่ในป่าชายเลน เช่นเดียวกับโลมาปากขวดและปลาฉลามเสือ ได้เข้ามาบริเวณหน้าทะเลบ้านอ่าวกุ้งอยู่บ่อยครั้ง 

แต่ที่เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจมากที่สุดคือ พบการฟื้นตัวของปะการังหลังวิกฤติการณ์ปะการังฟอกขาวเมื่อสิบกว่าปีก่อน ปะการังสมบูรณ์และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปะการังเขากวาง ปะการังสมอง ปะการังโขด ฯลฯ รวมประมาณ 30 ชนิด และกัลปังหาสีแดง (สัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับปะการัง) จำนวนมาก จนเป็นบริเวณใหญ่ที่สุดในอ่าวพังงา เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำจำนวนมาก ทำให้ความสมบูรณ์ของกุ้ง หอย ปู ปลากลับคืนมา

คนรุ่นหนุ่มสาวในชุมชน ที่เคยออกไปทำงานในเมือง ได้กลับมาอยู่บ้านมาในช่วงโควิด-19 เริ่มต้นอาชีพประมงพื้นบ้านตามรอยรุ่นพ่อแม่ จนสามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็มีกฎกติกาในการจับสัตว์น้ำ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์อย่างชัดเจน

อาจารย์สายสนิท พงศ์สุวรรณ แห่งคณะวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวว่า

“ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เราปิดประเทศ นักท่องเที่ยวกว่า 14 ล้านคน ลดลงเหลือ 0% ชาวบ้านในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ส่วนใหญ่ ทำอาชีพด้านการท่องเที่ยว คนตกงานจำนวนมากกลับบ้านพึ่งอาชีพประมง ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาเรารอดมาได้ด้วยทรัพยากรที่มีและพื้นที่อ่าวกุ้งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของการประมง”

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อความเจริญก้าวย่างมา นายทุนภายนอกเข้ามากว้านซื้อที่ดิน และมีโครงการจะทำท่าเทียบเรือมารีน่า ด้วยการทำร่องน้ำขนาดลึก 8 เมตรและกว้างประมาณ 30 เมตร พาดผ่านแนวปะการัง ยื่นออกไปในทะเลหลายกิโลเมตร

ชาวบ้านอ่าวกุ้ง ออกมาเรียกร้องให้ทบทวนโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ เรื่องที่พวกเขากังวล ไม่ใช่แค่ผลเสียที่มีต่อป่าชายเลนในพื้นที่ แต่ยังรวมถึงแนวปะการังด้วย 

กลางพายุฝนที่กระหน่ำลงมาแบบไม่ลืมหูลืมตา ชาวบ้านอ่าวกุ้งพาผู้เขียนลงเรือหางยาว แล่นออกไปดูบริเวณทุ่งปะการังเขากวางที่โผล่พ้นน้ำ  คือหลักฐานยืนยันของความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะถูกทำลายขุดเป็นร่องน้ำ หากมีการสร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ เพื่อให้เรือแล่นเข้ามาจอดได้

“บริษัทยักษ์ใหญ่จะสร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่จอดเรือได้ 75 ลำ แต่ยังไม่ยอมระบุชัดเจนว่า จะขุดร่องน้ำตรงบริเวณใด แต่เชื่อว่า แนวปะการังที่เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำได้รับผลกระทบแน่นอน” ประดิษฐ์ พวงเกษ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนอ่าวกุ้งเล่าให้ฟัง

โครงการท่าเทียบเรืออ่าวกุ้งมารีน่า ใช้เงินลงทุน 800 ล้าน (ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติ) เป็นการก่อสร้างบนที่ดินนากุ้งของเอกชน เนื้อที่ 30 ไร่ แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ส่วน คือ ที่จอดเรือยอร์ช 75 ลำ ซึ่งมีความยาวตั้งแต่ 18-40 เมตร มีพื้นที่แอ่งจอดเรือทั้งหมด 35,000 ตร.ม.และในส่วนของพื้นที่บริการ ก่อสร้างอาคารชั้นเดียว 8 อาคาร เช่น โรงเก็บเรือ อาคารงานระบบ อาคารสำนักงาน โรงซ่อมบำรุงเรือ ห้องน้ำ ศาลาพักคอย เป็นต้น  และในอนาคตอาจจะมีการสร้างที่พักหรูแบบพูลวิลล่าด้วย

“ปกติปะการังทั่วโลกเมื่อเจอสภาพฟอกขาวจะตายเกือบหมด แต่ที่นี่ฟื้นตัวได้เร็วมาก เป็นที่แปลกใจของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ว่ามันเป็นแนวปะการังที่สามารถปรับตัวอยู่ได้ในสภาวะภูมิอากาศโลกที่วิกฤติ มันสามารถเจริญเติบโตได้ดีมาก ซึ่งนักปะการังกำลังศึกษา ว่าทำไมปะการังแบบนี้จึงอยู่รอดได้ ถือว่าเป็น super coral” ดร.จตุรงค์ คงแก้ว คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ตั้งข้อสังเกตถึงความพิเศษของปะการังอ่าวกุ้ง และอาจจะถูกทำลายไปจากการขุดร่องน้ำ

แม้ว่าชาวบ้านอ่าวกุ้ง รวมตัวกันคัดค้าน เพราะหากมีร่องน้ำในทะเลเกิดขึ้นเพื่อให้เรือใหญ่แล่นเข้ามาได้ นั่นหมายถึงการทำลายแนวปะการัง ถิ่นอนุบาลหรือบ้านของสัตว์น้ำ และปลายทางคืออาชีพประมงที่จะหายไป แต่ในขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งสนับสนุนการสร้างท่าเทียบเรือแห่งนี้ เพราะพวกเขาจะได้ประโยชน์จากท่าเทียบเรือ

“ชาวบ้านรอการขุดลอกร่องน้ำอ่าวกุ้งอย่างมีความหวังว่าจะได้ขุดอย่างแน่นอน เรือจะได้เข้าออกได้ตลอดทั้งวัน ไม่ต้องรอช่วงน้ำขึ้น และที่สำคัญคือเอาบ่อกุ้งร้างมาพัฒนาให้มีมูลค่าขึ้น” ตัวแทนชาวบ้านฝ่ายสนับสนุนคนหนึ่งให้คำอธิบาย

ปี 2559 รัฐบาลเผด็จการได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจเรือสำราญในอาเซียน (Marina Hub of ASEAN) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุนขนาดใหญ่ในภูเก็ต

ทุกวันนี้ในจังหวัดภูเก็ตมีท่าเทียบเรือมารีน่าสำหรับจอดเรือยอร์ชแล้ว 4 แห่ง  และการต่อสู้เพื่อให้ได้ท่าเทียบเรือแห่งที่ 5 ตามเป้าหมายของรัฐบาลยังดำเนินต่อไป ฝ่ายหนึ่งคือนักธุรกิจ ชาวบ้านบางส่วน กับข้าราชการบางฝ่ายที่รู้ช่องทางกฎหมาย อีกฝ่ายคือ ชาวบ้าน นักพัฒนา และนักวิชาการในสถาบันการศึกษา

เดิมพันด้วยสิทธิในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้านที่อยู่มานาน กับความเจริญ และเงินทุนจากต่างชาติ

จตุรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า

“ทะเลคือหลังพิงสุดท้ายของคนจน ที่ผ่านมา ชาวบ้านบอบช้ำจากโควิด-19 บอบช้ำจากภาระหนี้สิน  แต่เมื่อพวกเขาหันกลับไปพึ่งทะเล แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย พวกเขากลับมาใหม่ได้ แต่ถ้าหลังพิงนี้มันพัง เกิดวิกฤตนี้ขึ้นมาใครจะเป็นคนรับแรงกระแทกจากวิกฤตนั้น  ที่ผ่านมาโควิด-19 เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าทะเลเป็นความมั่นคง เป็นแหล่งพิงของคนจนอย่างแท้จริง”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save