fbpx
แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และกำเนิดบรรษัทฟุตบอลข้ามชาติ

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และกำเนิดบรรษัทฟุตบอลข้ามชาติ

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

 

การผงาดคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แบบม้วนเดียวจบในฤดูกาล 2017/18 ไม่ได้ส่งผลสะเทือนเฉพาะกับเมืองแมนเชสเตอร์และประเทศอังกฤษเท่านั้น

แต่นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่สำหรับวงการลูกหนังโลก

ยุคที่สโมสรฟุตบอลต้องเปลี่ยนสถานะเป็น บรรษัทข้ามชาติ (multinational corporation) เท่านั้น จึงจะประสบความสำเร็จในลีกชั้นนำได้

การเป็นแชมป์ลีกสองครั้งก่อนของแมนฯ ซิตี้ ในปี 2011/12 และ 2013/14 อาจเป็นเรื่องของการใช้เงินมหาศาลกว้านซื้อนักเตะดังที่ถูกวิจารณ์ แต่การคว้าแชมป์ปีล่าสุดมีนัยไปไกลกว่านั้นมาก

บนสนามแข่ง เราเห็นสไตล์การเล่นที่เปลี่ยนไปตามแนวทางของโค้ชเป๊ป กวาร์ดิโอลา

แต่การเปลี่ยนแปลงและความทะเยอทะยานที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอยู่นอกสนาม

เพราะทีมแมนฯ ซิตี้ ยุคปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “บรรษัทฟุตบอลข้ามชาติ” ที่มีเครือข่ายครอบคลุม 5 ทวีปทั่วโลก

เป็นโมเดลใหม่ที่กำลังสั่นสะเทือนทั้งวงการฟุตบอลและวงการธุรกิจ

 

จากเถ้าแก่น้อยสู่เจ้าสัวใหญ่

 

ในแง่ความเป็นเจ้าของ โลกฟุตบอลเคยผ่านการเปลี่ยนแปลงสำคัญมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรก คือการเปลี่ยนมือจากเจ้าของระดับท้องถิ่นมาเป็นกิจการของเศรษฐีระดับชาติ

ครั้งที่สองคือ การเปลี่ยนมือจากเศรษฐีระดับชาติมาเป็นเจ้าสัวระดับโลก

เช่น ในบรรดาสโมสรฟุตบอลจากพรีเมียร์ลีก 20 ทีมในฤดูกาลที่ผ่านมา มีเพียง 7 ทีมเท่านั้นที่มีคนอังกฤษเป็นเจ้าของ ส่วนที่เหลือล้วนมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่มาจากต่างแดนทั้งสิ้น อาทิ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน หรือแม้แต่ไทย

ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์อันเชี่ยวกราก พลังเงินปอนด์พ่ายแพ้ต่อพลังรูเบิลและพลังหยวนไปแล้ว

แมนฯ ซิตี้ก็เป็นหนึ่งในทีมที่มีเจ้าของเป็นคนต่างชาติ คือ ชีค มานซูร์ (Sheikh Mansour) แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

แต่ยุทธศาสตร์ของชีค มานซูร์ ไม่ได้จบลงที่แมนฯ ซิตี้เท่านั้น เป้าหมายของเขาอยู่ที่การสร้างเครือข่ายอาณาจักรลูกหนังระหว่างประเทศ

เป็นอาณาจักรที่ทีมจากต่างทวีปอยู่ภายใต้บริษัทโฮลดิ้งเดียวกัน สามารถโยกย้ายถ่ายเทนักเตะและข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของทีมฟุตบอล และเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรของธุรกิจไปพร้อมกัน

 

ชีค มานซูร์

 

สองกุนซือของ City Football Group

 

ชีค มานซูร์ ก่อตั้ง City Football Group (CFG) ขึ้นในปี 2008 เพื่อเข้าซื้อสโมสรแมนฯ ซิตี้ เขาใช้เวลา 4 ปีและเงินลงทุนราว 1,000 ล้านปอนด์ ในการยกระดับแมนฯ ซิตี้ จากทีมกลางตารางสู่บัลลังก์แชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2011/12

แต่นั่นเป็นเพียงก้าวแรกของเป้าหมายระดับโลกเท่านั้น

ยิ่งถูกวิจารณ์ว่าแมนฯ ซิตี้ เป็นเพียงของเล่นเศรษฐีที่ใช้เงินซื้อความสำเร็จ ชีค มานซูร์ยิ่งต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า CFG เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จได้ทั้งในโลกลูกหนังและโลกธุรกิจ

มือขวาของชีค มานซูร์ ผู้ผลักดันโมเดลธุรกิจฟุตบอลใหม่ คือ เฟอร์ราน โซริอาโน (Ferran Soriano) เจ้าของฉายา “เดอะ คอมพิวเตอร์” จากแคว้นคาตาลุญญา

โซริอาโนเป็นลูกชายช่างตัดผมจากเมืองเล็กๆ ข้างบาร์เซโลนา เขาสร้างตัวเองจนเป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ และสามารถก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานสโมสรบาร์เซโลนาระหว่างปี 2003 ถึง 2008 โดยเป็นผู้รับผิดชอบด้านการเงิน

 

source: www.youtube.com/watch?v=TzkRGvL0VNY&t=159s

 

ระหว่างนั้นเขาปฏิรูปสโมสรครั้งใหญ่ พลิกตัวเลขจากการขาดทุนสะสมมาเป็นผลกำไร จัดโครงสร้างองค์กรให้ก้าวหน้าขึ้น นำคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานด้านต่างๆ เป็นผู้ทำงานหลังบ้านอันแข็งแกร่ง เป็นรากฐานให้บาร์เซโลนาประสบความสำเร็จ สร้าง “ฤดูกาลมหัศจรรย์” ปี 2008/09 ที่สามารถคว้าแชมป์ทั้ง 6 ถ้วยตรงหน้าภายใต้โค้ชเป๊ป กวาร์ดิโอลา

ความฝันของโซริอาโนที่อยากทำสโมสรฟุตบอลให้เป็นกิจการระหว่างประเทศเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ช่วงเวลานั้น

แต่เนื่องจากบาร์เซโลนาเป็นสโมสรที่วางอยู่บนระบบสมาชิก (สมาชิก 143,000 คนออกเสียงโหวตได้) ทั้งยังฝังรากลึกอยู่กับแคว้นคาตาลุญญา เมื่อโซริอาโนเสนอโปรเจ็กต์บรรษัทฟุตบอลข้ามชาติให้กับผู้บริหารบาร์เซโลนา เขาจึงได้รับคำตอบเพียงสั้นๆ ว่า “You’re crazy.”

ไอเดียของโซริอาโนได้รับการผลักดันจริงจังเมื่อ ชีค มานซูร์ ชักชวนเขามาเป็นซีอีโอของแมนฯ ซิตี้ ในปี 2012

ด้วยเม็ดเงินของชีค มานซูร์ พิมพ์เขียวของโซริอาโนค่อยๆ กลายเป็นความจริง

5 ปีหลังจากเขาเป็นซีอีโอ CFG กลายเป็นเจ้าของสโมสรจำนวน 6 แห่ง ใน 5 ทวีปทั่วโลก คือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (อังกฤษ) นิวยอร์ก ซิตี้ (สหรัฐอเมริกา) เมลเบิร์น ซิตี้ (ออสเตรเลีย) โยโกฮามะ เอฟ มารินอส (ญี่ปุ่น)  แอตเลติโก ตอเฆ (อุรุกวัย) และคิโรน่า (สเปน)

นอกจากเข้าซื้อสโมสรในหลายทวีป CFG ยังมีสำนักงานในหลายประเทศ เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรด้านการฝึกซ้อมและแลกเปลี่ยนข้อมูลแมวมองกับสโมสรอื่นๆ อีกห้าแห่ง และกำลังมองหาทีมเป้าหมายต่อไปในจีนและแอฟริกา

 

 

แนวทางของ CFG คือการเข้าซื้อสโมสรระดับกลางที่มีศักยภาพแต่ราคาไม่แพง เพื่อยกระดับให้เป็นทีมชั้นนำของลีก

เช่นในปี 2017 CFG เจรจาซื้อ สโมสรคิโรน่า (Girona FC) ตั้งแต่ยังอยู่ลีกรอง จึงใช้เงินเพียง 3 ล้านปอนด์ในการซื้อหุ้น 44 เปอร์เซ็นต์ (หุ้นอีก 44 เปอร์เซ็นต์เป็นของบริษัทน้องชายเป๊ป กวาดิโอลาร์) ก่อนที่คิโรน่าจะเลื่อนชั้นมาสู่ลาลีกาเป็นครั้งแรกในฤดูกาล 2016/17

คิโรน่าสามารถจบฤดูกาลล่าสุดในลาลีกาด้วยอันดับที่สิบ อยู่เหนือทีมชื่อดังอย่าง เรอัล โซเซียดาด, เซลต้า บีโก้, แอธเลติโก บิลเบา

ที่สำนักงานใหญ่ในเมืองแมนเชสเตอร์ CFG เขียนหลักการ 3 ข้อไว้บนผนังว่า Beautiful football – Football citizenship – A Global approach

สะท้อนเป้าหมายในการสร้างทีมฟุตบอลที่มีการเล่นสวยงามด้วยยุทธศาสตร์ระดับโลก

เป็นยุทธศาสตร์ที่มีเป๊ป กวาดิโอลาร์ เป็นกุนซือในสนาม

มีเฟอร์ราน โซริอาโน เป็นกุนซือนอกสนาม

และสนับสนุนด้วยเงินทุนของชีค มานซูร์

 

พลังของบรรษัทฟุตบอลข้ามชาติ

 

การยกระดับทีมงานและสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นเป้าหมายแรกๆ ของ CFG

CFG ดึงตัวผู้บริหารจากบริษัทกีฬาชั้นนำอื่นๆ เช่น ไนกี้ มายังแมนเชสเตอร์ ปรับปรุงสนามแข่ง สนามฝึกซ้อม และอุปกรณ์กีฬา เพื่อให้พนักงานและนักเตะทุกคนรู้สึกว่าแมนฯ ซิตี้ ไม่ใช่เพียงสถานที่สำหรับทำงานชั่วคราวก่อนย้ายไปสโมสรที่ใหญ่กว่า แต่สามารถวางเป้าหมายการทำงานระยะยาวที่นี่ได้

ถัดจากการสร้างคนและสิ่งของในฐานที่มั่น ก็เป็นการวางระบบเพื่อแสวงหาประโยชน์จากการเป็นบรรษัทข้ามชาติให้ได้มากที่สุด

แต่ละสโมสรในเครือจะมีซีอีโอด้านธุรกิจ (ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจกีฬา) ทำงานคู่กับประธานด้านฟุตบอล (ที่มักเป็นนักเตะมาก่อน)

ปัจจุบัน CFG มีนักเตะในเครือประมาณ 400 คน (เป็นนักบอลชาย 240 คน) จึงมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ขององค์กรที่สามารถแบ่งปันระหว่างทีมในเครือข่าย เช่น การรักษาอาการบาดเจ็บของนักเตะที่เมลเบิร์นก็สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลวิเคราะห์นักเตะในแมนเชสเตอร์ได้

ไม่เพียงแต่นักเตะเท่านั้น ฐานข้อมูลของ CFG ยังรวมถึงรายละเอียดของโค้ช แพทย์ประจำทีม นักสรีรวิทยา แมวมอง หรือแม้แต่ข้อมูลจากฝ่ายสื่อสารมวลชนของแต่ละสโมสรในเครือ

ทำให้ CFG สามารถจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต่างจากบริษัทธุรกิจขนาดยักษ์ที่มีบริษัทลูกกระจายอยู่ทั่วโลกอย่างแมคโดนัลด์ หรือโคคา-โคล่า

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการจัดการทีม เมลเบิร์น ซิตี้

CFG เข้าซื้อสโมสรเมลเบิร์น ฮาร์ท ของออสเตรเลียในปี 2014 ด้วยเงินทุน 12 ล้านดอลลาร์ จากนั้นก็เปลี่ยนชื่อสโมสรเป็นเมลเบิร์น ซิตี้ เปลี่ยนสีโมสรเป็นสีฟ้า และนำทรัพยากรในเครือข่ายมาใช้สร้างทีม

วิธีโยกย้ายที่ง่ายและส่งผลเร็วที่สุดคือ การยืมตัวนักเตะระหว่างทีมในเครือ เช่น การยืมตัว ดาวิด บีย่า จากนิวยอร์ก ซิตี้ มายังเมลเบิร์น ที่สามารถทำได้ชั่วข้ามคืนโดยไม่ต้องต่อรองอะไรวุ่นวาย

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การนำตัวนักเตะใหม่ที่เหมาะสมเข้าสู่ทีม เช่น การซื้อตัว บรูโน่ ฟอร์นาโรลี (Bruno Fornaroli) มาร่วมทีมเมลเบิร์น แม้ว่าฟอร์นาโรลีจะเป็นเพียงนักเตะระดับกลางที่ไม่ประสบความสำเร็จกับทีมใหญ่อย่างซามพ์โดเรีย แต่ CFG ประเมินทักษะความสามารถแล้วคิดว่าเหมาะสมกับการเล่นในลีกออสเตรเลียมาก

ผลก็คือ ฟอร์นาโรลีประสบความสำเร็จเหลือเชื่อกับเมลเบิร์น เขายิงไป 48 ประตูในสองฤดูกาล ได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมทุกรางวัลของลีกออสเตรเลีย และพาทีมเป็นแชมป์บอลถ้วยในปี 2016 สองปีหลัง CFG เข้ามาซื้อและปรับโครงสร้างทีม

การลงทุนในแต่ละประเทศยังสามารถตอบ โจทย์ทางยุทธศาสตร์ ที่ต่างกันได้ด้วย

เช่น การลงทุนในอุรุกวัย มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การค้นหานักเตะพรสวรรค์ให้เจอตั้งแต่ยังเด็ก เพราะ อุรุกวัยเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกนักเตะต่อหัวประชากรสูงที่สุดในโลก

นักเตะที่เข้าสู่สโมสรในเครือ CFG ยังมีทางเลือกเพิ่มขึ้นโดยปริยาย เพราะหากไม่ประสบความสำเร็จหรืออายุมากเกินไปสำหรับการเล่นทีมใหญ่อย่างแมนฯ ซิตี้ ก็ยังมีโอกาสย้ายไปเล่นแบบถาวรหรือยืมตัวกับสโมสรอื่นๆ ในเครือข่ายได้

ในขณะที่นักเตะเยาวชนหรือนักเตะสำรองทีมอื่นๆ ทำได้เพียงฝึกซ้อมหรือแข่งในทีมชุดเล็กเพื่อรอวันขึ้นชุดใหญ่ ผู้เล่นของสโมสรในเครือ CFG สามารถลงเล่นในลีกจริงสนามจริงตั้งแต่อายุยังน้อย และสามารถไต่เต้าตามลำดับขึ้นมาได้จาก ตอร์เฆ –> นิวยอร์ก –> คิโรน่า –> แมนฯ ซิตี้ หากมีพัฒนาการที่ดีต่อเนื่อง

ราวกับว่า CFG มีลีกฟุตบอลเป็นของตัวเองเลยทีเดียว

 

ฟุตบอลในฐานะ Venture Capital

 

นอกจากโยกย้ายนักเตะที่มีอยู่ในเครือข่ายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว เป้าหมายขั้นต่อไปของ CFG คือ การฝึกนักเตะเยาวชนของตนเองให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับโลก เหมือนที่บาร์เซโลนาสามารถฟูมฟักดาวดังอย่าง ลิโอเนล เมสซี

หาก CFG สามารถปั้นนักเตะจากอคาเดมีของตัวเองขึ้นมาได้ตามแผน ก็จะได้ประโยชน์ทั้งในด้านการแข่งขันและมูลค่าซื้อขาย

โซริอาโนเห็นว่า การใช้เงินในฟุตบอลยุคปัจจุบันก็ไม่ต่างอะไรกับการทำธุรกิจ Venture Capital เพราะการลงทุนพัฒนาเด็กที่มีแววซัก 10 คน ด้วยงบประมาณไม่กี่ล้านปอนด์ต่อคน เมื่อเวลาผ่านไปสิบปี หากมีนักเตะชั้นนำเกิดขึ้นเพียง 1 คนก็นับว่าคุ้มค่าแล้ว เพราะเด็กคนนั้นอาจมีค่าตัวสูงถึง 100 ล้านปอนด์

ต่อให้นักเตะไม่ประสบความสำเร็จขั้นสูงสุด CFG ก็ยังสามารถขายทำกำไรได้ เพราะอย่างน้อยที่สุด นักเตะในเครือก็เป็นนักเตะที่ผ่านประสบการณ์การลงสนามจริงแล้ว

เช่น แมนฯ ซิตี้ ซื้อตัว Aaron Mooy มาจากเมลเบิร์น ซิตี้ ในปี 2016 ด้วยราคา 425,000 ปอนด์ แต่เมื่อนักเตะไปไม่ถึงขั้นเป็นตัวจริงของแมนฯ ซิตี้ ก็ถูกขายให้กับฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์ ในปีต่อมา ด้วยราคา 8 ล้านปอนด์ ทำกำไรเกือบ 20 เท่าตัว

ในอีกด้านหนึ่ง ระบบของ CFG ก็สามารถดึงดูดนักเตะพรสวรรค์เข้ามาร่วมทีมได้ง่ายขึ้นด้วย

แม้แต่หลานชายแท้ๆ ของสตีเฟน เจอร์ราด ที่ลิเวอร์พูลอยากเซ็นสัญญาด้วย ยังตัดสินใจไปอยู่กับทีมเยาวชนของแมนฯ ซิตี้ เพราะได้รับข้อเสนอที่ดีกว่า ทั้งในด้านเครือข่ายทีมและสัญญาที่รวมถึงการสนับสนุนให้นักเตะเยาวชนได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียนควบคู่ไปกับการฝึกซ้อมฟุตบอล

นี่คือพลังของเครือข่ายข้ามชาติ ที่มาพร้อมกับเม็ดเงินมหาศาลและโอกาสที่ยืดหยุ่น

แต่ก็ใช่ว่าเครือข่ายมหึมานี้จะส่งผลดีเสมอไป แม้จะมีแรงดึงดูดนักเตะพรสวรรค์เข้าสู่ทีม CFG ก็กำลังเผชิญปัญหา “สมองไหล” เช่นกัน

ถึง CFG จะลงทุนสูงมากกับการพัฒนาเยาวชน แต่โอกาสขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ก็ยังต่ำอยู่ดี โดยเฉพาะกับทีมชั้นนำอย่างแมนฯ ซิตี้ เนื่องจากโค้ชไม่กล้าเสี่ยงให้โอกาสผู้เล่นหน้าใหม่ลงสนาม โดยเฉพาะในเวทีที่มีการแข่งขันเข้มข้นอย่างพรีเมียร์ลีกหรือฟุตบอลยุโรป

แต่ปัญหาสมองไหลก็สามารถลดลงได้ ถ้า CFG มีสโมสรชั้นนำในเครือข่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทีมเกรดเอในระดับเดียวกับแมนฯ ซิตี้

 

ความท้าทายของผู้คุมกฎและแฟนบอล

 

การเป็นบรรษัทข้ามชาติของ CFG ยกระดับพลังของสโมสรในเครืออย่างก้าวกระโดด เพราะแต่ละทีมจะได้รับประโยชน์จากการอยู่ในเครือข่ายที่ทรัพยากรทุกอย่างสามารถหมุนเวียน แบ่งปัน และโยกย้าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านฟุตบอลและการบริหารจัดการ

แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

โมเดลบรรษัทฟุตบอลข้ามชาติจะประสบความสำเร็จเพียงใด ย่อมขึ้นกับความสำเร็จบนสนามของแมนฯ ซิตี้ด้วย

หากแมนฯ ซิตี้ สามารถครองบัลลังก์พรีเมียร์ลีกได้ยาวนานและก้าวขึ้นมาเป็นเจ้ายุโรปทัดเทียมกับเรอัล แมดริด และบาร์เซโลนาได้ในอนาคต ย่อมเป็นแรงจูงใจให้สโมสรอื่นกระโจนเข้าสู่โมเดลนี้มากขึ้น

แต่ถ้า CFG กลายเป็นโมเดลใหม่ในวงการฟุตบอลได้จริงเมื่อใด ความท้าทายย่อมตกอยู่ที่ผู้คุมกฎอย่างสมาคมฟุตบอลของแต่ละลีก หรือองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป

ในทำนองเดียวกับที่รัฐชาติและองค์กรระหว่างประเทศปวดหัวกับการจัดการบรรษัทธุรกิจข้ามชาติ

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ความพยายามของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปที่ต้องการจำกัดการใช้เงินของแต่ละสโมสรไม่ให้สูงเกินไป (UEFA Financial Fair Play Regulations) เพื่อลดอิทธิพลของเงินตราต่อการแข่งขันฟุตบอล และป้องกันไม่ให้ช่องว่างระหว่างสโมสรขนาดใหญ่กับสโมสรขนาดเล็กถ่างออกไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี  เมื่อสโมสรฟุตบอลกลายเป็นกิจการข้ามชาติ การกำหนด ราคาโอน (transfer pricing) ระหว่างสโมสรก็จะทำได้ง่ายมาก เช่น การตั้งราคาการซื้อขายนักเตะเพื่อตัวเลขทางบัญชีที่ต้องการ โดยไม่ต้องสนใจราคาที่แท้จริงในตลาด เมื่อนั้น กฎระเบียบที่วางไว้ก็เป็นเพียงเสือกระดาษเท่านั้น

สมดุลระหว่างประสิทธิภาพกับความเป็นธรรมก็จะกลายเป็นปมเงื่อนใหญ่ในวงการลูกหนังยิ่งกว่าที่เป็นอยู่แล้วในปัจจุบัน

ความรู้สึกของแฟนบอลก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของโมเดลนี้

CFG หวังจะเปลี่ยนใจแฟนบอลให้ได้เหมือนที่เปลี่ยนสีสโมสรในเครือเป็นสีฟ้า

แฟนบอลเมลเบิร์น ซิตี้ น่าจะเริ่มมีใจหันมาร่วมเชียร์ “ทีมพี่” อย่าง แมนฯ ซิตี้ ด้วย

แต่อย่าลืมว่าจุดกำเนิดของฟุตบอลคือความรักท้องถิ่น ความจงรักภักดีต่อทีมเชื่อมโยงกับ “ท้องถิ่นนิยม” อย่างแนบแน่น

ถ้าจัดการไม่ดี แฟนบอลเมลเบิร์นอาจหันไปเชียร์ปีศาจแดง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แทน และอาจพานเลิกเชียร์เมลเบิร์นไปด้วย

นี่ก็เป็นโจทย์สำคัญที่บรรษัทธุรกิจข้ามชาติเผชิญมาก่อนเช่นกัน

 

อ้างอิง

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save