fbpx

ตัดเกรดกระทรวงแรงงานหลังโรคระบาดคลี่คลาย: เมื่อรัฐไทยสอบตกการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ

แรงงานข้ามชาติหลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยมามากกว่าทศวรรษ คงเป็นภาพชินตาที่เราจะเห็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น เมียนมา กัมพูชา หรือ ลาว อาบเหงื่อต่างน้ำ ทำงานที่เรียกกันว่า 3D คือ กลุ่มงานที่ยาก (difficult) อันตราย (dangerous) และสกปรก (dirty) เช่น ในภาคธุรกิจก่อสร้าง การเกษตร ประมง และโรงงานอุตสาหกรรม ทว่า เมื่อวิกฤตโรคระบาดมาเยือน แรงงานข้ามชาติผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลับถูกปฏิบัติอย่างเป็นอื่น ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐไทยเท่าที่ควร

การระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ในปลายปี 2563 ที่นำมาสู่การสั่งปิดตลาดกลางกุ้งมหาชัย เป็นหมุดหมายที่เผยให้เห็นความไร้ประสิทธิภาพและขาดวิสัยทัศน์ของรัฐไทยในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ มาตรการกวาดล้างจับกุมแรงงานผิดกฎหมายของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และกระทรวงแรงงาน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในหมู่แรงงานข้ามชาติในขณะนั้น ทำให้เกิดคลื่นนายจ้างลอยแพแรงงานข้ามชาติ ทำลายบรรยากาศความไว้วางใจระหว่างแรงงานข้ามชาติกับรัฐ แรงงานข้ามชาติจำนวนมากก็ค่อยๆ หล่นหายจากระบบจ้างงานอย่างถูกกฎหมายไปในที่สุด

เมื่อวิกฤตโรคระบาดกำลังคลี่คลาย วิกฤตขาดแคลนแรงงานเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคการผลิตและบริการปรากฏชัดขึ้น ข้อมูลจากหอการค้าไทยเผยว่า ในปี 2565 ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานย้ายถิ่นมากกว่า 500,000 คน ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่าในภาคการผลิตและก่อสร้างยังขาดแคลนแรงงานมากถึง 700,000 คน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องการจัดการที่มีประสิทธิภาพ นโยบายที่สามารถดึงแรงงานกลับสู่ระบบให้ได้มากกว่านี้ รัฐไทยทำได้แค่ไหนในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติหลังสถานการณ์โควิด

เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล (International Migrant Day) 18 ธันวาคม ปีนี้ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group – MWG) จัดเวทีเสวนา เช็คคะแนนกระทรวงแรงงาน เดินหน้า ย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลัง กับการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ หลังสถานการณ์โควิด โดยมีตัวแทนจากภาคประชาสังคมเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ

101 เก็บความจากงานเสวนาเพื่อร่วมติดตามการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติหลุดจากระบบ และร่วมฟังเสียงสะท้อนของคนด่านหน้าว่าอยากให้รัฐเดินหน้าอย่างไรในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ

แก้ปัญหาระยะสั้น สร้างระบบซับซ้อน

เปิดช่องให้ช้อนผลประโยชน์

อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ ชวนดูสถิติแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยก่อนและหลังโควิด พบว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564 มีแรงงานข้ามชาติหลุดจากระบบการจ้างงานอย่างถูกกฎหมายถึง 642,016 คน เมื่อคลี่สถิติดูรายเดือนจะเห็นจำนวนแรงงานที่ขึ้นๆ ลงๆ หากพิจารณาประกอบกับการออกมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่เปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานถึง 4 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2563 และมีมาตรการในการขยายเวลาการดำเนินการของแรงงานข้ามชาติออกไปอีกกว่า 10 ครั้ง จะสะท้อนได้ชัดว่ารัฐไทยยังเน้นแก้ปัญหาในระยะสั้น ช่วงไหนจำนวนแรงงานในระบบลดลง ก็เปิดให้มีการลงทะเบียนเป็นรอบๆ หวังจะดึงแรงงานเข้าสู่ระบบมากขึ้น

อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group – MWG)

นอกจากนี้ อดิศรยังชี้ให้เห็นปัญหาในการออกแบบระบบขึ้นทะเบียน ที่เพิ่มภาระมากกว่าจะอำนวยความสะดวกแก่นายจ้างและลูกจ้าง พิจารณาตั้งแต่การรวมศูนย์อำนาจในการจัดการไว้ที่กรมจัดหางานเพียงหน่วยงานเดียว นายจ้างซึ่งประมาณการว่ามีกว่าแสนคนต้องมุ่งเข้าไปที่ช่องทางเดียว ขณะที่กรอบเวลาที่รัฐกำหนดกลับไม่สมเหตุสมผล โดยเปิดให้ยื่นบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติทางระบบออนไลน์เพียง 15 วัน ทำให้นายจ้างส่วนมากดำเนินการไม่ทัน เนื่องจากความล่าช้ามีมาตั้งแต่ขั้นตอนขออนุมัติ อีกทั้งระบบออนไลน์ที่ใช้ก็มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย มีเงื่อนไขที่ยุ่งยากซับซ้อน ผลักให้นายจ้างต้องหันมาพึ่งนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนจึงเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว “เมื่อจ้างนายหน้า ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นถึง 12,000-18,000 บาท ทั้งที่ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนควรจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท” อดิศรกล่าว

นอกจากความซับซ้อนของระบบจะเปิดทางให้ธุรกิจนายหน้ารับขึ้นทะเบียนได้เฟื่องฟู เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่งได้อาศัยช่วงรอยต่อหลังมีมติ ครม. ที่ยังไม่มีประกาศรองรับการให้สถานะอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว และช่วงที่เอกสารประจำตัวของแรงงานหมดอายุ แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ มติคณะรัฐมนตรีและมาตรการต่างๆ ที่ออกมาถี่จนนายจ้างตามไม่ทันยังเปิดช่องให้มีการเรียกรับเงินจากนายจ้างหรือแรงงาน

“เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหนึ่งใช้ความไม่รู้หรือแสร้งว่าไม่รู้ ว่าไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือเดินทางในการยืนยัน โดยใช้เพียงเอกสารขึ้นทะเบียนก็ได้ มาเป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์ บอกนายจ้างหรือแรงงานว่าไม่มีพาสปอร์ตเท่ากับผิดกฎหมาย แล้วก็จับกุมเขา” อดิศรกล่าว

ด้าน แฉล้ม สุกใส ตัวแทนนายจ้างกิจการก่อสร้าง สะท้อนจากมุมมองของนายจ้างว่า นอกจากระบบจะยุ่งยากและมีรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยในแต่ละมติแล้ว กระทรวงแรงงานยังล้มเหลวในการประสานงานและสร้างความเข้าใจที่ตรงกันกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะตำรวจ ด้วยลักษณะงานก่อสร้างที่ต้องเดินทางไปทั่วประเทศ ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติของแฉล้มมักจะโดนตำรวจเรียกตรวจเอกสารอยู่บ่อยครั้ง จากประสบการณ์ที่พบเจอ ตำรวจมักจะไม่เข้าใจเอกสารขึ้นทะเบียนว่า แต่ละมติ ครม. อนุญาตให้ใช้เอกสารใดยืนยัน เมื่อตำรวจเห็นว่าแรงงานไม่มีเอกสารตัวจริงก็ถือว่าผิดกฎหมาย ท้ายสุดแรงงานก็โดนจับ และส่งผลกระทบสืบเนื่องคือทำให้แรงงานขาดรายได้

แฉล้มยังเล่าว่ามีหลายครั้งที่ถูกตำรวจเรียกรับเงินเพื่อปล่อยตัวลูกจ้าง ความไม่รู้และการมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ สร้างความเหนื่อยหน่ายไม่รู้จบให้กับเหล่านายจ้าง แฉล้มประเมินเกรดให้การจัดการของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานไว้ว่า ‘ก้าวถอยหลัง’ อย่างไม่ลังเล

แฉล้ม สุกใส ตัวแทนนายจ้างกิจการก่อสร้าง

ยุทธศาสตร์ที่เป็นระบบคือทางออกที่ยั่งยืน

ประเด็นที่รัฐไทยยังนิ่งนอนในการแก้ปัญหา คือการจัดการผู้อพยพหลังจากมีเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา อดิศรกล่าวว่า สถานการณ์ในเมียนมาทำให้ผู้ลี้ภัยสามกลุ่มดังต่อไปนี้เพิ่มขึ้น คือ ผู้ลี้ภัยตามชายแดน ผู้ลี้ภัยทางการเมือง และผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองแล้วโยกย้ายเข้ามาเป็นแรงงาน

ข้อกังวลของอดิศรคือรัฐไทยยังไม่มีการคัดกรองผู้ลี้ภัยอย่างจริงจัง แม้จะมีมติ ครม. ให้จัดทำกลไกคัดกรองและบริหารจัดการประชากรผู้ลี้ภัยตั้งแต่ปี 2560 แต่ผ่านมาห้าปี รัฐไทยกลับไม่เคยดำเนินการคัดกรองแล้วให้สถานะผู้ลี้ภัยตามกฎหมายของไทยได้ ความไม่คืบหน้าดังกล่าวทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งต่อตัวผู้ลี้ภัย คือ เมื่อรัฐไทยพยายามผลักดันกลับ ทำให้ผู้ลี้ภัยเสี่ยงจะเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้ายอีก และอีกประการคือความเสี่ยงต่อรัฐ คือทำให้คนที่ไม่มีทางเลือกในการเข้าประเทศกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายและเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์

อดิศรตัดเกรดให้รัฐบาลไทยสอบตกด้านการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในสี่ประเด็นหลักที่แก้ไม่ตก คือ แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายหลุดระบบได้ง่าย พบแรงงานอพยพเข้ามาอย่างผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น รัฐบาลยังแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขาดยุทธศาสตร์ในระยะยาว และมาตรการการจัดการยังส่งผลให้เกิดพื้นที่สีเทาที่เอื้อต่อการแสวงหาประโยชน์ของระบบนายหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล อดิศรอยากให้รัฐบาลทบทวนเงื่อนไขกรอบเวลาต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานข้ามชาติ ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 13 กุมภาพันธ์ 2566 การกำหนดเส้นตายโดยไม่สนความเป็นจริงที่ว่า ระบบของรัฐทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการจนนายจ้างและลูกจ้างเตรียมเอกสารไม่ทัน อีกทั้งในช่วงที่มีการปิดพรมแดนเพราะการระบาดของโควิด ยังทำให้แรงงานไม่สามารถเดินทางกลับไปทำหนังสือเดินทางได้ อดิศรย้ำว่า หากรัฐไม่ขยายกรอบเวลา ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานข้ามชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีการประมาณการว่าแรงงานข้ามชาติกว่า 700,000 คน จะหลุดจากระบบ อดิศรยังเรียกร้องให้รัฐไทยจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและผู้อพยพอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

กระทรวงแรงงานทำลายพื้นที่ปลอดภัยในการเรียกร้องสิทธิของแรงงาน

ธนพร วิจันทร์ นักปกป้องสิทธิแรงงาน พาย้อนกลับไปเมื่อช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักในแคมป์แรงงานก่อสร้างจนรัฐบาลมีคำสั่งให้มีการปิดแคมป์คนงาน ธนพรทวนเหตุการณ์การสั่งปิดแคมป์แบบ ‘ลักหลับ’ ว่า ขณะนั้นมีการประกาศออกมาในช่วงกลางคืนที่ไม่มีใครทันติดตามข่าวสาร เช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อแรงงานข้ามชาติทราบประกาศก็เกิดความโกลาหลและแตกตื่น การออกประกาศที่ไม่มีการสื่อสารอย่างเหมาะสม ให้ผลตรงกันข้ามกับที่รัฐบาลอยากให้เป็น คือ แทนที่ประกาศปิดแคมป์แล้วจะคุมสถานการณ์ได้ แต่กลับทำให้สถานการณ์บานปลาย เพราะแรงงานกังวลเรื่องความเป็นอยู่และพยายามหาทางออกจากพื้นที่แคมป์ที่ถูกปิด นอกจากนี้ การที่ชายแดนปิดและหน่วยงานรัฐจำกัดการให้บริการ ทำให้แรงงานถูกกฎหมายจำนวนมากกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายไปอัตโนมัติเมื่อไม่สามารถต่ออายุเอกสารประจำตัวได้

มีความพยายามจากรัฐที่จะแก้ปัญหาแรงงานหลุดจากระบบ เมื่อมติ ครม. ว่าด้วยแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่ออกมาเมื่อปลายปี 2563 เปิดให้ลูกจ้างสามารถขึ้นทะเบียนเองได้ พอเดือนกันยายนในปีถัดมาก็มีมติ ครม. ออกมาอีก โดยเปลี่ยนแปลงให้นายจ้างสามารถนำลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนได้ฝ่ายเดียว แม้จะปรับกฎเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหวังดึงแรงงานเข้าระบบ แต่ปัญหาแรงงานตกอยู่ในสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ยังดำรงอยู่เช่นเดิม

ในด้านการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ธนพรได้รับแจ้งมาว่าหลายพื้นที่มีการประกาศไม่รับแรงงานข้ามชาติเข้ารักษา ถูกตัดสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุข อีกทั้งไม่มีโรงพยาบาลสนามที่เพียงพอในกรณีที่แรงงานติดเชื้อโควิด-19 เมื่อมีเสียงร้องเรียนจากแรงงานข้ามชาติมาจากหลายทิศทาง ธนพรจึงตัดสินใจไปยื่นหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน เพื่อทวงถามการเข้าถึงสิทธิประกันสังคม การรักษาพยาบาล และการผ่อนปรนการขึ้นทะเบียนแรงงาน

ธนพร วิจันทร์ นักปกป้องสิทธิแรงงาน

การยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาในกลุ่มแรงงานก่อสร้างและแรงงานข้ามชาติระหว่างการระบาดของโควิด-19 เมื่อ 29 ตุลาคม 2564 ไม่ประสบความสำเร็จในการพูดคุย เนื่องจากขณะที่ตัวแทนกำลังเข้าพบกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจเอกสารแรงงานที่มาร่วมยื่นหนังสือ และมีการจับกุมแรงงานข้ามชาติ จำนวน 7 คน ยิ่งไปกว่านั้น จากกิจกรรมยื่นหนังสือครั้งนี้ ทำให้ธนพรมีคดีติดตัว ถูกอัยการสั่งฟ้องฐานฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน การกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนั้นได้ทำลายความเชื่อมั่นจากภาคประชาสังคมและแรงงานข้ามชาติ ความพยายามจะชี้ให้กระทรวงแรงงานเห็นปัญหา กลับได้รับการตอบแทนเป็นการเข้าจับกุม ทั้งที่รัฐบาลประกาศว่าจะมีการผ่อนผันและยังตั้งข้อหาแก่ผู้ชุมนุม

ธนพรจัดเรตติ้งและให้ความเห็นต่อการทำงานของกระทรวงแรงงานไว้ว่า “ถอยหลัง และยังตกขอบ ไม่ใช่ถอยหลังธรรมดา เห็นได้จากกระบวนการจัดการที่มีปัญหา ยิ่งเป็นหน่วยงานรัฐก็ยิ่งมีแนวคิดในเรื่องชาตินิยม มีทัศนคติที่ไม่ดีกับแรงงานข้ามชาติ ข้อหาที่ตนได้รับยิ่งสะท้อนว่ารัฐไร้น้ำยาในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ การที่นักปกป้องสิทธิแรงงานไปยื่นหนังสือ แล้วติดคุก 1 เดือน ปรับ 20,000 บาท มันทำลายพื้นที่ปลอดภัยที่กระทรวงแรงงานควรจะมีให้สำหรับแรงงานทุกเชื้อชาติที่อยู่ในประเทศไทย นี่คือลักษณะของกระทรวงแรงงานในยุคเผด็จการ”

เมื่อโรคระบาดไม่เลือกสัญชาติ

อสต. ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐมากกว่านี้

ธันดา เมียว (Thandar Myo) อาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) ชาวเมียนมา จากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ผู้ผันตัวมาเป็น อสต. หลังเป็นล่ามอาสาสมัครในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักในชุมชนแรงงานข้ามชาติ ธันดาเล็งเห็นว่าการสื่อสารคือหัวใจที่นำไปสู่การรักษาที่ประสบผลสำเร็จ เพราะภาษายังเป็นอุปสรรคหลักระหว่างคนไข้ที่เป็นคนข้ามชาติและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ธันดาให้ความเห็นว่า ลำพังการเข้าถึงการรักษาในหมู่พี่น้องแรงงานข้ามชาติก็ยากลำบากอยู่แล้ว หากไม่มีล่ามช่วยสื่อสารอาการเจ็บป่วยให้หมอเข้าใจ แรงงานข้ามชาติก็เสี่ยงที่จะได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที ธันดาจึงอยากส่งเสียงถึงภาครัฐให้มีการจัดหาล่ามให้เพียงพอต่อแรงงานข้ามชาติที่เข้ารับบริการตามโรงพยาบาลต่างๆ

ธันดา เมียว (Thandar Myo) อาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ หรือ อสต.

นอกจากจะช่วยก้าวข้ามกำแพงภาษาแล้ว อสต. ยังร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทยในการคัดกรอง แจกสิ่งของ และติดตามอาการเพื่อนแรงงานข้ามชาติในชุมชน ธันดามีความภาคภูมิใจในหน้าที่ของตน แต่จะดีกว่านี้หากรัฐให้การสนับสนุน อสต. อย่างทัดเทียมกับอาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เป็นคนไทย ทั้งค่าตอบแทนและการเข้ารับการอบรมที่มีมาตรฐาน ธันดายังอยากให้รัฐออกใบรับรองอย่างเป็นทางการแก่ อสต. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในชุมชน เธอกล่าวเสริมว่า “โรคระบาดไม่เลือกสัญชาติ อสต. ควรจะได้รับการยอมรับเหมือน อสม. เพื่อที่จะได้ร่วมมือกันพัฒนาสุขภาวะคนในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ”

ธันดาชูป้าย ‘ก้าวหน้า’ ให้การจัดการแรงงานข้ามชาติของภาครัฐในด้านสาธารณสุข เพราะตั้งแต่รับหน้าที่ อสต. เธอได้รับความร่วมมือที่ดีจากรัฐมาโดยตลอด และอยากให้ภาครัฐทำได้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ปราศจากพี่น้องแรงงานข้ามชาติ เศรษฐกิจไทยก็ยากจะเดินต่อได้ หากรัฐบาลยังมองว่าแรงงานข้ามชาติคือความหวังในการฟื้นฟูประเทศหลังสถานการณ์โควิด รัฐไทยต้องไม่นิ่งนอนที่จะรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคประชาสังคม เพื่อนำไปปรับเปลี่ยนแนวทางบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพต่อไป

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save