fbpx
นรกหลังเกาะสวรรค์ มัลดีฟส์

นรกหลังเกาะสวรรค์ มัลดีฟส์

หาดทรายขาวละเอียดกับทิวมะพร้าวเขียวไสวไหวเอนตามลมท่ามกลางท้องฟ้าสีครามและน้ำทะเลใสบริสุทธิ์ ชมอาทิตย์อัสดงที่พูลวิลล่ากลางทะเลสุดลูกหูลูกตา ดำน้ำดูปะการังคลอเคลียไปกับโลมาและปลาวาฬ คงเป็นความฝันแสนหวานสุดโรแมนติกเมื่อกล่าวถึงมัลดีฟส์ ประเทศหมู่เกาะกลางมหาสมุทรอินเดียที่ใครหลายคนหวังว่าจะได้ไปพักผ่อนกับคนรู้ใจสักครั้งในชีวิต

 

 

แต่มัลดีฟส์นั้นไม่ได้มีแค่ด้านของรีสอร์ทกลางทะเลแสนโรแมนติก ทว่ามีความขัดแย้งที่ซับซ้อนและคุกรุ่นทั้งทางการเมือง ศาสนา และการรักษาสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติซ่อนอยู่ หากเราลัดเลาะออกจากท่าเรือที่ส่งนักท่องเที่ยวดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์เข้าไปยังตรอกซอกซอยของกรุงมาเล่ ก็จะเห็นความโกลาหลทางเศรษฐกิจและความกังวลเหล่านั้นลึกๆ

 

 

มนุษย์เข้ามาเริ่มตั้งถิ่นฐานบนหมู่เกาะมัลดีฟส์ตั้งแต่ราวยุคหินใหม่ แต่พบบันทึกทางประวัติศาสตร์ภายหลังจากชาวสิงหลจากเกาะศรีลังกาเข้ามาสำรวจและตั้งถิ่นฐานเป็นแหล่งเติมอาหารและเสบียงน้ำจืดในราวศตวรรษที่ 6 เรียกว่า มหิลทวีปิกะ หรือพวงมาลัยแห่งเกาะน้อยๆ ซึ่งหมายความถึงหมู่เกาะปะการัง (Atoll) ขนาดเล็กที่เรียงรายกันเป็นกลุ่ม ปรากฏในมหาวงศ์ พงศาวดารลังกา และได้เริ่มใช้ภาษาทิเวลี อันเป็นภาษาตระกูลอินโด-อารยันขึ้นในหมู่เกาะแห่งนี้

จากนั้นชาวมัลดีฟส์ก็รับนับถือพุทธศาสนาตามลังกา จนกระทั่งการเข้ามาแผ่อำนาจของพ่อค้าอาหรับในศตวรรษที่ 12 ทำให้ราชาของหมู่เกาะเปลี่ยนศาสนาตามอำนาจการค้าของพ่อค้าอาหรับด้วย เศรษฐกิจมัลดีฟส์เฟื่องฟูขึ้นจากการส่งออกเปลือกหอยเบี้ยและปะการังที่สามารถใช้เป็นเงินตราแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศพร้อมกับการค้าจนถึงศตวรรษที่ 16 ที่การล่าอาณานิคมเข้ามาถึงมหาสมุทรอินเดีย และมัลดีฟส์ก็กลายเป็นรัฐอาณานิคมในอารักขาของอังกฤษเช่นเดียวกับอินเดีย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1953 สาธารณรัฐแรกของมัลดีฟส์ถูกสถาปนาขึ้น นายกรัฐมนตรีมูฮัมหมัด อามิน ดีดี ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกด้วยแนวคิดปฏิรูปให้ทันสมัยและมีอิสระจากการครอบงำทางเศรษฐกิจของฐานทัพอังกฤษ แต่ทว่าการปฏิรูปที่รวดเร็วไป เช่น การยึดอุตสาหกรรมประมงส่งออกเป็นของรัฐ ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงและการขาดแคลนอาหารอย่างรวดเร็ว และสาธารณรัฐแรกก็ล่มลงไปพร้อมกับการที่ประธานาธิบดีถูกฝูงชนรุมประชาทัณฑ์ตายบนเกาะใกล้เคียง มัลดีฟส์กลับมาเป็นรัฐสุลต่านในอารักขาของอังกฤษ

ในปี 1965 หลังเหตุสงครามคลองสุเอซ อังกฤษต้องถอนฐานทัพทหารออกจากฝั่งตะวันตกของคลองสุเอซออกไป ทำให้มัลดีฟส์เจรจาเป็นเอกราชอีกครั้ง และประชาชนชาวมัลดีฟส์ก็ได้ลงประชามติเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ เป็นสาธารณรัฐในวันที่ 15 มีนาคม 1968 และมีอิบราฮิม นัสเซอร์ เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐหมู่เกาะใหม่เต็มตัว

ทศวรรษที่ 1970 มัลดีฟส์ใต้การนำของประธานาธิบดีนัสเซอร์ได้พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ เปิดอุตสาหกรรมปลากระป๋อง และประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติโดยการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถม เพื่อรองรับการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง แต่การคอร์รัปชันก็รุนแรงเช่นกัน ทำให้นัสเซอร์ถูกกดดันให้ออกจากตำแหน่งและต้องลี้ภัยไปอยู่สิงคโปร์พร้อมกับเงินมหาศาล มะห์มุน อับดุล กัยยูม อดีตเอกอัครรัฐทูตมัลดีฟส์ประจำสหรัฐอเมริกาเข้ามาเป็นประธานาธิบดีแทนพร้อมตั้งข้อหานัสเซอร์ย้อนหลังแม้จะได้รับการอภัยโทษให้ในปี 2008 แต่อดีตประธานาธิบดีผู้สร้างชาติก็ไม่ได้กลับมายังมัลดีฟส์จนสิ้นชีวิต ในขณะที่อับดุลกัยยูม กลายเป็นประธานาธิบดีตลอดกาลยาวนานถึง 30 ปี

กระแสการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยทำให้อับดุลกัยยูมต้องเริ่มถอยออกจากการเมืองในปี 2003 และประกอบกับคลื่นสึนามิพัดถล่มในเดือนธันวาคม 2004 ยิ่งทำให้การเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีมากขึ้น จนกระทั่งปี 2008 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ นักกิจกรรมและนักข่าว มูฮัมหมัด นาชีด ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดี แต่ปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สินของรัฐที่รุมเร้าทำให้เขาแก้ไขอะไรไม่ได้ อีกทั้งยังเกิดกระแสอิสลามหัวรุนแรงที่ถูกเผยแพร่เข้ามาจากนักเรียนศาสนาที่ได้รับทุนเรียนจากต่างประเทศ ก่อเหตุทำลายรีสอร์ท สถานที่ท่องเที่ยว และแม้กระทั่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เก็บรักษารูปปั้นรูปเคารพในยุคก่อนอิสลาม ทำให้การท่องเที่ยวมัลดีฟส์เสื่อมถอยลงระยะหนึ่ง ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจขึ้นไปอีก ประธานาธิบดีนาชีดต้องลาออกจากตำแหน่ง และถูกจับกุมด้วยข้อหาสนับสนุนการก่อการร้าย ถูกพิพากษาจำคุก 13 ปี ซึ่งสหประชาชาติประณามว่าเป็นการสร้างคดีการเมืองจนได้รับการปล่อยตัว ก่อนที่นาชีดจะชนะการเลือกตั้งในปี 2014 แต่ถูกศาลสูงสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และถูกจับกุมอีกครั้งและขอลี้ภัยในอังกฤษ

ทางปลายเกาะด้านใต้ของกรุงมาเล่ เมืองหลวงของมัลดีฟส์ จะมีคุกขนาดใหญ่ตั้งอยู่ และสามารถพบเห็นโปสเตอร์แปะตามผนังร้านค้าบ้านเรือน ว่าให้ปล่อยนักโทษการเมืองเป็นการทั่วไป แม้ว่ามัลดีฟส์จะเป็นเกาะรีสอร์ทที่คุณภาพชีวิตของประชาชนค่อนข้างดีจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่การปลูกฝังว่าการท่องเที่ยวที่ให้คนต่างชาติมาใส่ชุดเปิดเผยเนื้อหนัง เต้นรำร้องเพลงและดื่มเหล้าเป็นเรื่องชั่วร้าย ทำลายศีลธรรมแบบอิสลามอันดี ยังถูกแพร่กระจายในกลุ่มผู้นับถืออิสลามหัวรุนแรงจำนวนมากที่อาศัยอยู่บนเกาะ แม้แต่กฎหมายของมัลดีฟส์เองก็ลักลั่น คือบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์แบบอิสลามกับประชาชนบนเกาะหลัก แต่เว้นกฎหมายเหล่านั้นให้กับเกาะรีสอร์ทและในโรงแรม ทำให้เยาวชนเกิดความสับสนในหลักการของชีวิต คนหนุ่มสาวเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยออกจากเกาะไปเพื่อร่วมกับกองทัพก่อการร้ายของ ISIL โดยรัฐบาลมัลดีฟส์ไม่มีมาตรการใดป้องกันภัยเลย

 

 

 

 

เมื่อผนวกกับความขาดแคลนและพึ่งพาตนเองไม่ได้ ทั้งในด้านอาหารและน้ำจืด รวมถึงความมั่นคงด้านกองทัพที่แม้แต่เมื่อกองกำลังป้องกันตนเองของมัลดีฟส์คิดจะทำรัฐประหาร อินเดียส่งพลร่มมาเพียงกองร้อยเดียวก็ปราบได้ราบคาบ มัลดีฟส์จึงอยู่ในภาวะเปราะบางอย่างยิ่งในทางการเมืองเช่นเดียวกับในระบบสิ่งแวดล้อมเมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทุกที และขยะจากเกาะต่างๆ ของรีสอร์ทและเกาะหลักถูกนำไปทิ้งและเผาบนเกาะทิ้งขยะ ส่งควันอบอวลไปทั่ว มองเห็นได้จากเครื่องบินเมื่อบินขึ้นจากสนามบินนานาชาติเวลานา (อิบราฮิม นัสเซอร์) มัลดีฟส์จึงเป็นสวรรค์ในเปลือกนอกของสายตานักท่องเที่ยวที่ผ่านมาชมหาดทรายสายลมและท้องทะเลเพียงชั่วคราว แต่ก็คล้ายนรกสีครามสุดสายตาของคนที่ต้องอยู่อาศัยตลอดชีวิต

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022