fbpx
“จีน่าที่รัก หวังว่าคุณคงสบายดี” - จดหมายน้อยคุณป้าสายลับมาเลเซีย

“จีน่าที่รัก หวังว่าคุณคงสบายดี” – จดหมายน้อยคุณป้าสายลับมาเลเซีย

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล, prisons.gov.my ภาพประกอบ

โลกของสปายสายลับมีอยู่จริง แต่ฮอลลีวูดมักทำให้เราเข้าใจผิดอยู่เสมอว่าสายลับสตรีนั้นจำกัดวงอยู่เฉพาะสาวสวยเซ็กซี่ระดับนางงาม เปี่ยมความสามารถเชิงบู๊ขั้นเด็ดขาด และว่องไววิ่งหลบปลีกลูกกระสุนในชุดราตรีแหวกอกและรองเท้าส้นเข็มได้โดยผมไม่เสียทรง

แต่นั่นไม่ใช่ฮาซานะห์ อับดุล ฮามิด (Hasanah Abdul Hamid) ผู้อำนวยการทั่วไปของแผนกวิจัยประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (Research Division of the Prime Minister’s Office) ในรัฐบาลนาจิบ ราซัก ก่อนจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดของมาเลเซียปี 2561 ต่อแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน ปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan) นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด และนายอันวาร์ อิบราฮิม  

ฮาซานะห์ ผู้มีตำแหน่ง ‘ดาโต๊ะ’ นำหน้าชื่อ เป็นสตรีวัย 61 ร่างท้วม แต่งตัวคลุมผมเรียบร้อยแบบสตรีมุสลิมจำนวนมากในมาเลเซีย ดูเผินๆ เธอก็เหมือนคุณป้าทั่วไป เว้นแต่เธอชอบใส่แว่นดำใหญ่ๆ และบางครั้งก็มีรอยยิ้มปริศนาประดับใบหน้า

ฮาซานะห์ตกเป็นข่าวอื้อฉาวแทบจะทันทีหลังการเลือกตั้ง จากผู้อำนวยการแผนกชื่อน่าเบื่อที่ไม่มีใครรู้จัก เธอกลับกลายเป็น ‘ซีไอเอมาเลเซีย’ และ “หัวหน้าสายลับ” ในสายตาสื่อมวลชนในเวลาเพียงข้ามคืน 

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่ามีมือดีปล่อยภาพถ่าย screenshot ของจดหมายจำนวน 3 หน้าลงวันที่ 4 มีนาคม 2561 ซึ่งเป็นเวลา 5 วันก่อนการเลือกตั้ง หัวจดหมายประทับตราสำนักนายกรัฐมนตรี มีลายเซ็นของฮาซานะห์ในฐานะผู้อำนวยการแผนกวิจัย เนื้อหาทั้งหมดในจดหมายพิมพ์เรียบร้อยตามรูปแบบจดหมายราชการ เว้นแต่คำขึ้นต้นที่เขียนด้วยลายมือตัวเล็กๆ ว่า “จีน่าที่รัก หวังว่าคุณคงสบายดี” (Dear Gina, hope you are well,)

จีน่าที่เธอเขียนถึงไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากจีน่า ฮาสเปล (Gina Haspel) ผู้อำนวยการองค์การ Central Intelligence Agency ของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นที่รู้จักกันดีในนามของซีไอเอ ฮาสเปลเพื่งได้รับการแต่งตั้งหมาดๆ ในเดือนนั้นเองโดยประธานาธิบดีทรัมป์ และอยู่ในตำแหน่งผู้อำนายการซีไอเอต่อมาจนถึงปี 2564 

จีน่า ฮาสเปล เป็นผู้อำนวยการซีไอเอหญิงคนแรกผู้โด่งดังไปทั่วโลกเมื่อสื่อตะวันตกขุดคุ้ยประวัติของเธอมารายงานว่า ในปี 2545 เธอเป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติงานของคุกลับของซีไอเอที่เรียกว่า ‘Cat’s Eye’ ในประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลการทรมานนักโทษอย่างน้อยหนึ่งคน คือชาวซาอุดีอาระเบียชื่อ ABD al-Rahim al-Nashiri ด้วยวิธีการทรมานขั้นพิเศษที่รวมถึงการใช้ waterboarding คือการราดน้ำบนใบหน้า ทำให้เหยื่อลำลักน้ำและรู้สึกเหมือนขาดอากาศหายใจ ส่วนคุกลับของซีไอเอในเมืองไทยเป็นอย่างไรสามารถรับชมได้ที่สารคดี ‘The Forever Prisoner’ ได้ที่ HBO

เมื่อจดหมายเจ้ากรรมกลายเป็นไวรัลในมาเลเซีย ความลับที่ถูกปกปิดมานานก็เผยตัวขึ้น แผนกวิจัยในสำนักนายกรัฐมนตรีของฮาซานะห์มีชื่อเล่นที่ยาวกว่าชื่อจริงว่า ‘องค์กรข่าวกรองภายนอกแห่งมาเลเซีย’ หรือ ‘Malaysian External Intelligence Organisation’ (MEIO) และคุณป้าฮาซานะห์หัวหน้าแผนกวิจัยก็มีอีกโฉมหน้าหนึ่งคือเป็นสายลับหญิงมากประสบการณ์ผู้พร้อมจะทำตามคำสั่งนักการเมือง

ในจดหมายถึงฮาสเปล ฮาซานะห์บรรยายสถานการณ์ต่างๆ ไว้มากมาย แล้วไปสรุปในตอนท้ายว่าขอความร่วมมือให้ฮาสเปล “อธิบายความซับซ้อนของระบบเลือกตั้งมาเลเซีย” ที่ดำเนินการแบบอังกฤษและไม่ตัดสินบนฐานของ popular vote ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลทรัมป์ และขอความสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกันให้นาจิบ ราซักเป็นรัฐบาล แม้ในสถานการณ์ที่แนวร่วมพรรครัฐบาลอาจชนะคะแนน popular vote เพียงหนึ่งคะแนนก็ตาม 

ในสถานการณ์ที่นาจิบ ราซัก ถูกโจมตีด้วยเรื่องทุจริต 1MDB ที่รัฐบาลอเมริกันเป็นตัวตั้งตัวตีสืบสวนก่อนใครเพื่อน จดหมายของฮาซานะห์แสดงถึงอาการหลังชนฝาใกล้แพ้อย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ทั้งนาจิบ ราซัก และฮาซานาห์เองก็ปฏิเสธว่านาจิบมีส่วนรู้เห็นในการส่งจดหมายฉบับนี้ ทั้งหมดเป็นการตัดสินใจของ MEIO โดยไม่มีคำสั่งจากผู้ใด

ในจดหมายลับฉบับนี้ ฮาซานะห์ได้เผยไต๋ของ MEIO และนโยบายด้านความมั่นคงระหว่างประเทศของมาเลเซียออกไปไม่น้อย เพราะมันไม่ได้มีแต่การสรรเสริญนาจิบ ราซัก แต่ยังดิสเครดิตฝ่ายค้านและอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด หัวหน้าแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน ว่าเป็นพวกเผด็จการต่อต้านตะวันตก ต่อต้านยิว ไม่สนใจสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย เท่านั้น แต่ยังยืนยันว่ามาเลเซียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนาจิบ มีจุดยืนเป็นพันธมิตรสหรัฐอเมริกาเต็มที่ จนสามารถทำให้กัวลาลัมเปอร์เป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ถึงสององค์กร แล้วยังวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามาเลเซียเป็นพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พึ่งพสได้มากที่สุดของสหรัฐฯ เพราะฟิลิปปินส์เริ่มตีตัวออกห่าง สิงคโปร์กับบรูไนก็เป็นประเทศที่เล็กเกินไป ส่วนอินโดนีเซียและไทยก็มัวแต่วุ่นอยู่กับปัญหาการเมืองภายในของตัวเอง เธอยังไม่หยุดอยู่แค่นั้นแต่ยังเขียนด้วยว่ามาเลเซียยินดีตอบรับการปรากฏตัวของสหรัฐฯ ในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้ เพื่อถ่วงดุลกับท่าทีเชิงรุกทางทะเลของจีน

MEIO เป็นองค์กรด้านข่าวกรองลับเพื่อความมั่นคงของชาติที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1960s เริ่มแรกได้รับการจัดตั้งขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์และคำแนะนำของหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษ หรือ MI6 ซึ่งทำงานลับเกี่ยวกับการรวบรวม-วิเคราะห์ข่าวกรอง และ ‘ปฏิบัติการพิเศษ’ ในบางกรณี เพื่อสนับสนุนความมั่นคงของชาติและอำนาจอธิปไตยของประเทศ

มาเลเซียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการด้านข่าวกรองที่แข็งขันไม่น้อยหน้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสืบทอดองค์ความรู้จากเจ้าพ่อข่าวกรองอย่างอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเก่า นอกจาก MEIO ที่ก่อนนี้ไม่ค่อยมีใครรู้จักแล้ว มาเลเซียยังมีหน่วยงานข่าวกรองหลักๆ อีกสององค์กร นั่นคือ Special Branch (SB) ซึ่งเป็นหน่วยงานตำรวจที่ก่อตั้งมานานตั้งแต่ปี 2493 SB เป็นหน่วยข่าวกรองที่มีอิทธิพลที่สุดและอื้อฉาวที่สุด เนื่องจากรวมเอาอำนาจข่าวกรองและอำนาจการสืบสวน ตรวจค้น และจับกุมซึ่งเป็นอำนาจของตำรวจไว้ในมือ บางครั้งก็มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และหน่วยข่าวกรองอีกหน่วยหนึ่งก็คือ Defence Staff Intelligence Division (DSID) ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งทำหน้าที่หาข่าว ต่อต้านข่าวกรอง และรักษาความปลอดภัยในการป้องกันประเทศจากกองกำลังติดอาวุธ และป้องกันการก่อการร้ายและอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต หน่วยข่าวกรองทั้งหมดของมาเลเซียทำงานอยู่ในร่มของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยในยุคของนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก มีการเพิ่มอำนาจอำนาจของสภาความมั่นคงแห่งชาติให้มากขึ้น จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างสูง

เมื่อจดหมายหลุดออกไป ฮาซานะห์ก็ตั้งทนายไปแจ้งความตามกฎหมาย Official Secret Act (OSA) ที่ห้ามเปิดเผยเอกสารสำคัญของราชการ ทนายความบอกว่าฮาซานะห์วิตกว่าการที่จดหมายฉบับนี้ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ อาจกระทบชื่อเสียงขององค์กร รวมทั้งความปลอดภัยและขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ของเธอด้วย ฮาซานะห์มอบหมายให้ทนายอ่านคำแถลงของเธอที่ยืนยันข้อมูลว่ามีการส่งจดหมายฉบับนี้จริง และหน้าที่ของ MEIO คือการรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และรายงานให้นายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานข่าวกรองอื่นๆ ทราบ เธอบอกว่า MEIO มีคุณูปการมหาศาลต่อความมั่นคงของชาติ ตั้งแต่การแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์และปัญหาเผชิญหน้ากับอินโดนีเซียในอดีต รวมไปถึงการคุกคามของ IS หรือ Islamic State เธอไม่ได้เปิดเผยว่า MEIO มีเจ้าหน้าที่กี่คน แต่ทนายของเธอพูดแถลงข่าวเสียเองว่า MEIO มีเอเจนต์หรือสายลับ และเจ้าหน้าที่ที่ไม่เปิดเผยตัวกว่า 1,000 คนทั่วโลก

จดหมายฉบับนี้นำไปสู่คำวิพากษ์วิจารณ์ว่าฮาซานะห์กำลังชักศึกเข้าบ้านด้วยการเชื้อเชิญให้ต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลเหนือการเมืองมาเลเซีย แต่เธอปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ แล้วให้เหตุผลว่าการติดต่อระหว่าง MEIO กับซีไอเอถือเป็นวิถีปฏิบัติของชุมชนข่าวกรองทั่วโลกในการสร้างความมั่นคงร่วมกัน ซึ่งนับว่าเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ ยกเว้นว่าเธอลืมชี้แจงในส่วนที่ขอความช่วยเหลือให้สหรัฐฯ สนับสนุนนาจิบ ราซัก เป็นรัฐบาลเอาดื้อๆ เธอบอกเพียงว่าเธอไม่ได้เขียนจดหมายนี้ตามอำเภอใจ  แต่ได้ผ่านการเห็นชอบของเจ้าหน้าที่อาวุโสในหน่วยงานไม่ต่ำกว่า 10 คน 

นับว่าฮาซานะห์เป็นสายลับและสายเหยี่ยวที่ไม่ธรรมดา ข้อมูลจาก Wikileaks ชิ้นหนึ่งระบุว่า ในปี 2549 MEIO รับหน้าที่จากรัฐบาลเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับ Moro Islamic Liberation Front (MILF) เรื่องนี้ทางการสหรัฐฯ มีความกังวลว่า ในอดีต MEIO ให้การสนับสนุนกิจกรรมของฝ่ายแบ่งแยกดินแดนในมินดาเนาอย่างลับๆ  และวางแผนจะกดดันมาเลเซียในเรื่องนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง MEIO ฮาซานะห์ กับบางกลุ่มในมินดาเนา คงมีมานานพอควร เพราะหลังจากที่เธอตกเป็นข่าว มีคนไปค้นภาพในปี 2557 ซึ่งเป็นภาพเธอนั่งหัวโต๊ะในการประชุมของกลุ่ม Bangsamoro Development Agency ในมินดาเนา อีกภาพหนึ่งที่ไม่ระบุวันเวลาแสดงภาพเธอกำลังถือปืนสั้นเล็งเป้าในสนามยิงปืนโดยมีนายตำรวจมาเลเซียยืนอยู่รอบๆ ตัวด้วยท่าทางนอบน้อม

ฮาซานะห์ดวงตกหลังการเปลี่ยนรัฐบาลในปี 2561 แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งถล่มทลายและเป็นที่ชัดเจนว่าจดหมายยาวยืดที่เธอส่งถึงซีไอเอไม่เป็นผล ไม่กี่วันหลังการเลือกตั้งตำรวจบุกเข้าค้นบ้านของเธอและเซฟเฮาส์ของ MEIO อีกสองแห่ง เพื่อค้นหา ‘เอกสาร’ ที่ระบุว่าอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก มอบให้เธอถือไว้สองวันก่อนการเลือกตั้ง เธอและรองผู้อำนวยการ MEIO รวมทั้งเจ้าหน้าที่อีก 6 รายถูกจับกุม ตัวเธอถูกฟ้องในข้อหาใช้เงินของรัฐในทางที่ผิดในช่วงเลือกตั้งซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี พร้อมถูกโบยและปรับ ภาพของเธอในกุญแจมือ ใส่เสื้อนักโทษสีส้ม กางเกงสีดำ มีผ้าคลุมผมสีม่วง เดินเอามือปิดหน้า มีตำรวจหญิงขนาบข้างขณะถูกควบคุมตัว เป็นภาพที่คนในแวดวงรัฐบาลเก่าคงคิดไม่ถึง

หนึ่งในพยานในคดีนี้ที่เป็นเจ้าของบริษัทเครื่องมือดักฟังโทรศัพท์ที่รับงานจาก MEIO ระหว่างปี 2559-2561 ให้การว่า  ก่อนการเลือกตั้ง รองผู้อำนวยการ MEIO ได้ขอยืมคอนโดมิเนียมของตนในเมืองไซเบอร์จายา โดยบอกว่าเพื่อใช้เก็บเอกสารของสำนักงาน และได้คืนกลับให้เขาเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง ส่วนพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตมาเลเซีย (Malaysian anti-Corruption Commission – MACC)  ผู้ทำหน้าที่สืบสวนเรื่องนี้ให้การว่า เจ้าหน้าที่ MACC พบเงินสดจำนวน 4.07 ล้านดอลล่าร์ในคอนโดมิเนียมที่ว่า และพบเงินอีก 200,000 ริงกิตมาเลเซียถูกเก็บไว้ในกล่องเราเตอร์ไวไฟในบ้านหลังหนึ่งที่ตรังกานู และพบอีก 3.5 ล้านริงกิตมาเลเซียในลังกระดาษวางทิ้งไว้ที่สำนักนายกรัฐมนตรี

สรุปได้ว่า ‘เอกสาร’ ที่ว่าคือเงินจำนวนกว่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ MACC สันนิฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่อดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ยักยอกไปในกรณีทุจริตกองทุน 1MDB แล้วเก็บไว้ในต่างประเทศ แต่ถูก ‘หิ้ว’ เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายอีกครั้งหนึ่งผ่านสนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ ไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนการเลือกตั้ง 2561 โดยมีฮาซานะห์เป็นคนจัดการให้เงินผ่านการตรวจสอบที่สนามบิน การสืบสวนของ MACC ยังพบว่าเธอใช้เงินดังกล่าวซื้อนาฬิกาหรูจำนวน 3 เรือนโดยไม่ทราบว่าซื้อให้ใคร แล้วยังจ่ายเงินให้บุคคลที่สามในช่วงก่อนการเลือกตั้งอีกด้วย เธอปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดในศาลโดยอ้างว่าตนเองเพียงปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น

เมื่อมาเลเซียเปลี่ยนรัฐบาลอีกครั้งจากปรากฏการณ์ย้ายมุ้งของนักการเมืองเมื่อต้นปี 2563 พรรคอัมโน (United Malays Nasional Organisation – UMNO) ของนาจิบ ราซัก กลับมาเป็นพรรคใหญ่ในรัฐบาล อัยการในรัฐบาลใหม่มีคำสั่งไม่ดำเนินคดีฮาซานะห์ มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการ MACC คนใหม่ แล้วสั่งจับกุมเจ้าหน้าที่ MACC ผู้รับผิดชอบในการสืบสวนคดีของเธอจำนวน 3 คนด้วยข้อกล่าวหาว่ายักยอกเงินสดที่ยึดได้ระหว่างการตรวจสอบ MEIO คนที่คุ้นเคยกับการเมืองมาเลเซียล้วนทราบดีว่า นี่เป็นวิถีปกติของการล้างแค้นเอาคืนแบบการเมืองมาเลเซีย

เมื่อครั้งมหาเธร์ โมฮัมหมัด ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้งปี 2561 เขาเคยเปรยว่าอาจสั่งยุบองค์กร MEIO ทว่าปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่า MEIO ยังมีอยู่หรือไม่ หรือมีอยู่ในรูปแบบใด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ข่าวกรองกว่า 1,000 คนทั่วโลกยังทำงานกันอยู่ภายใต้โครงสร้างใด 

ในขณะที่งานข่าวกรองถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของรัฐทั่วไป แต่เรื่องราวของฮาซานะห์บ่งชี้ถึงปัญหาการเมืองในมาเลเซีย ที่ส่งผลให้หน่วยข่าวกรองหันออกจากภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศ และมุ่งรับใช้อำนาจการเมืองอย่างชัดเจนขึ้นทุกที


Germany: Criminal Complaint against CIA Director Gina Haspel

https://www.ecchr.eu/en/case/germany-criminal-complaint-against-cia-director-gina-haspel/

Malaysian spy agency has over 1,000 personnel worldwide

https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/malaysian-spy-agency-has-over-1000-personnel-worldwide

PMD’s research division hid documents in Cyberjaya condo owned by witness in ex-spy chief’s CBT case

https://www.edgeprop.my/content/1746684/pmds-research-division-hid-documents-cyberjaya-condo-owned-witness-ex-spy-chief%E2%80%99s-cbt-case

Witness in ex-spy chief’s CBT case says millions in cash confiscated from raids during investigation

https://www.theedgemarkets.com/article/witness-exspy-chiefs-cbt-case-says-millions-cash-confiscated-raids-during-investigation

Report: MACC probing Hasanah-US$12mil-1MDB links

https://www.malaysiakini.com/news/440954?utm_source=email&utm_medium=textlink&utm_campaign=kinimorningbrief//

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save