fbpx
Undi 18 (Vote 18) มาเลเซีย – เมื่อคนรุ่นใหม่เปิดประตูการเมืองให้ตนเอง

Undi 18 (Vote 18) มาเลเซีย – เมื่อคนรุ่นใหม่เปิดประตูการเมืองให้ตนเอง

Parti Muda ภาพประกอบ

การต่อสู้ทางการเมืองของเยาวชนมาเลเซียอาจดูไม่ค่อยตื่นเต้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยหรือเมียนมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพิษของกฎหมายนับสิบฉบับที่ใช้ในการควบคุมการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนมาเลเซียมาตั้งแต่รุ่นบิดามารดา และส่วนหนึ่งอาจมาจากปัญหาการแบ่งแยกทางเชื้อชาติที่ทำให้การรวมตัวต่อสู้แบบหลากหลายเชื้อชาติ (multiracial) ต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่าปกติ ชาวมาเลเซียจึงเลือกการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในการแสดงเจตจำนงทางการเมืองมากกว่าออกถนนสู้ตาย แต่ก็จะมีบ้างในช่วง 20 ปีให้หลังที่ขบวนการปฏิรูปการเมืองสามารถระดมคนนับแสนสู่ท้องถนน กระนั้นก็ตามการเลือกตั้งยังเป็นวิถีสูงสุดของการเปลี่ยนแปลงในสายตาประชาชนและนักการเมืองมาเลเซีย

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเหล่าเยาวชนมาเลเซียจะนั่งเฉยๆ ขณะที่การเมืองเข้ารกเข้าพง ที่จริงแล้วแม้เยาวชนเหล่านี้จะเงียบ ๆ แต่ก็เฉียบไม่เบา ดูได้จากผลงานชิ้นโบแดงของขบวนการ Undi 18 (Vote 18) ที่เริ่มในปี 2559 และเพิ่งส่งผลสำเร็จอย่างสวยงามเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ 

Undi 18 คือการเรียกร้องของเยาวชนมาเลเซียให้ลดอายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจาก 21 ปี เป็น 18 ปี และให้รัฐบาลจัดให้มีระบบการลงทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแบบอัตโนมัติทั่วประเทศ 

ใน พ.ศ. 2562 Undi 18 ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้รัฐสภาใน ‘รัฐบาลแห่งความหวัง’ (Pakatan Harapan) ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) และนายอันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลยกมือลงคะแนนร่างกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญเพื่อการนี้ได้สำเร็จ ตามมาด้วยความสำเร็จในการกดดันให้รัฐบาลใหม่ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี อิสมาอิล ซาบรี ยาคอป (Ismail Sabri Yacob) ประกาศบังคับใช้กฎหมายใหม่ฉบับนี้หลักจากที่ยึกยักถ่วงเวลามานาน

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี อิสมาอิล ซาบรี มีมติไม่อุุทธรณ์ต่อคำสั่งศาลแห่งรัฐซาราวัก ที่สั่งให้รัฐบาลกลางเตรียมการบังคับใช้กฎหมายลดอายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564  ในการแถลงข่าว นายกรัฐมนตรี อิสมาอิล ซาบรี ได้ชี้แจงเหตุผลของคณะรัฐมนตรีในการตัดสินใจการไม่อุทธรณ์ว่า “เพื่อแสดงการเคารพต่อ (สิทธิของ) เยาวชนคนหนุ่มสาว”

จากการประเมินของรัฐบาล Pakatan Harapan เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ มาเลเซียจะมีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นถึง 7.8 ล้านคน โดย 3.7 ล้านคนในนี้เป็นกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 21 ปี และอีก 4.1 ล้านคนเป็นกลุ่มอายุ 21 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง ตัวเลขนี้มีนัยสำคัญสำหรับการเมืองมาเลเซียอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 50 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาที่มี 14.9 ล้านคน นั่นหมายความว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะครบกำหนดในปี 2565 มาเลเซียจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมกันทั้งหมด 22.7 ล้านคน โดยนักการเมืองระดับสูงบางรายสารภาพกับสื่อว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงกลุ่มเยาวชนถือเป็นกลุ่มที่พรรคการเมืองยังจับทางไม่ถูก 

ระบบพรรคการเมืองของมาเลเซียนับเป็นระบบที่เข้มแข็ง เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ ส่วนหนึ่งเนื่องจากกรอบของรัฐธรรมนูญและวิถีปฏิบัติทางการเมืองที่ไม่เอื้อให้สถาบันทางอำนาจอื่นๆ เข้าแข่งขัน พรรคการเมืองมาเลเซีย โดยเฉพาะพรรคที่มีบทบาทนับตั้งแต่มาเลเซียพ้นจากการปกครองของอังกฤษราว 60 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เช่นพรรคอัมโน (United Malays National Organization – UMNO) และพรรคพาส (Parti Islam SeMalaysia – PAS) ซึ่งเป็นพรรคอิสลาม หรือฝ่ายค้าน เช่นพรรคดีเอพี (Democratic Action Party – DAP) ล้วนมีฐานเสียงที่ชัดเจนและสั่งสมมายาวนานโดยวางอยู่บนฐานของเชื้อชาติเป็นหลัก 

การเข้ามาของกลุ่มผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเยาวชนที่โดยรวมมีบุคลิกที่คล่องแคล่วในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถส่งและรับข้อมูลขาวสารได้อย่างรวดเร็ว และอาจมีความคิดทางการเมืองที่ต่างจากคนรุ่นก่อน นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับพรรคการเมืองมาเลเซียในการเลือกตั้งครั้งหน้า

Undi 18 คือใคร

Undi 18 Movement เป็นขบวนการของนักศึกษาและเยาวชนมาเลเซียที่เริ่มขึ้นในปี 2559 ในสมัยรัฐบาล นาจิบ ราซัก (Najib Razak) โดยนักศึกษามาเลเซียวัย 20 ต้นๆ ที่กำลังศึกษาในต่างประเทศสองคนคือ นางสาวยีรา ยูศรี (Qyira Yusri) และนายธามาล พิลลัย (Tharmal Pillai) ที่ได้ฟังนายเบอร์นาร์ด หรือ ‘เบอร์นี’ แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) ส.ส. สหรัฐฯ เข้ามาสนทนาการเมืองกับนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เขาสังกัดอยู่ นำไปสู่คำถามว่าเหตุใดจึงไม่มีการแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองในหมู่คนรุ่นใหม่ในมาเลเซียบ้านเกิด 

นักศึกษาทั้งสองเกิดแรงบันดาลใจให้เริ่มการรณรงค์เรียกร้องสิทธิทางการเมืองของเยาวชนผ่านแนวร่วมนักศึกษามาเลเซียในต่างประเทศที่ชื่อ Malaysian Students’ Global Alliance โดยรณรงค์ให้เปิดโอกาสให้เยาวชนมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองมากขึ้นด้วยการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 119 (1) เพื่อให้ลดอายุของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศจาก 21 ปีเป็น 18 ปี พร้อมทั้งให้มีการลงทะเบียนแบบอัตโนมัติสำหรับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทุกคนในมาเลเซีย เพื่อนำพาเยาวชนกลุ่มใหม่พร้อมผู้ใหญ่ที่ไม่เคยออกเสียงเลือกตั้งเข้าในระบบของคณะกรรมการเลือกตั้ง (Election Commission – EC) โดยอัตโนมัติ

Undi 18 รณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดียโดยระบุเหตุผลของการเรียกร้องครั้งนี้ว่า การลดอายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเริ่มต้นให้ความสนใจและส่วนร่วมทางการเมืองและประเด็นทางนโยบายระดับประเทศตั้งแต่อายุน้อย หากแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ การเมืองของเยาวชนมาเลเซียจะมีความหลากหลายมากขึ้น เยาวชนมีตัวแทนทางการเมืองของตนเอง ในขณะเดียวกันการเมืองก็จะขานรับเยาวชนมากขึ้น

ในเวลานั้นมาเลเซียเป็นหนึ่งในสิบประเทศของโลกที่ยังกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ที่ 21 ปี ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่กำหนดอายุไว้ที่ 18 ปี หรือในกรณีเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียซึ่งกำหนดไว้ที่ 17 ปี

Undi 18 พบอุปสรรคแรกคือความเห็นของนักการเมืองบางรายที่ว่าบุคคลอายุ 18 ปียังไม่มีความเป็นผู้ใหญ่เพียงพอที่จะลงคะแนนเลือกตั้ง แต่สมาชิกกลุ่มโต้แย้งว่าในเมื่อกฎหมายมาเลเซียอนุญาตให้บุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถแต่งงานสร้างครอบครัว ทำงาน จ่ายภาษี และครอบครองสินทรัพย์ ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ เหตุไฉนจึงต้องละเว้นสิทธิทางการเมืองอย่างการลงคะแนนเลือกตั้งไปเล่า

ขบวนการ Undi 18 ใช้การกระจายข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียและการล็อบบี้นักการเมืองเป็นวิธีการรณรงค์หลัก นอกจากนั้นยังพยายามเข้าถึงเยาวชนและประชาชนทั่วไปผ่านการพบปะถกเถียงเสวนาทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มีการเดินสายพบนักการเมืองทุกขั้วการเมือง โดยยืนยันว่าประเด็นของเยาวชนเป็นประเด็นที่ก้าวข้ามการแบ่งฝักฝ่ายทางการเมือง 

อย่างไรก็ตามการล็อบบี้นักการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย นักกิจกรรม UNDI 18 ถูกปฏิเสธหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งมาพบกับ ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq) นักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรงวัย 25 ปี ‘เด็กปั้น’ ของอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ ผู้ที่กำลังเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งในปี 2561

จะว่าไปแล้ว ไซด์ ซาดีค ต่างหากที่เป็นผู้ค้นพบ UNDI 18 ก่อน เขาติดตามการรณรงค์ UNDI 18 มาตั้งแต่ก่อนตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อนักกิจกรรม UNDI 18 เริ่มต้นล็อบบี้แนวร่วมพรรคการเมืองสาย Pakatan Harapan ไซด์ ซาดีค กลายเป็นตัวหลักในการประสานงานติดต่อของฝ่ายการเมือง ในที่สุด UNDI 18 ก็สามารถโน้มน้าวให้แนวร่วมแห่งความหวัง Pakatan Harapan บรรจุประเด็นการลดอายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบบอัตโนมัติ เป็นหนึ่งในวาระปฏิรูปการเมืองที่เสนอต่อประชาชนในช่วงการรณรงค์เลือกตั้ง 

Pakatan Harapan ชนะการเลือกตั้งถล่มทลายในเดือนพฤษภาคม 2561 ไซด์ ซาดีค ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬา และเป็นรัฐมนตรีผู้อายุน้อยที่สุดของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีผู้มีอาวุโสมากที่สุดในโลกคือมหาเธร์ โมฮัมหมัด วัย 93 ปี   

UNDI 18 เล็งถูกแจ็กพอต เมื่อนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ สนับสนุนไซด์ ซาดีค ในการเสนอร่างกฎหมาย Constitution (Amendment) Bill 2019 ที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่าร่างกฎหมาย Undi 18 เพื่อพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร แต่เนื่องจากการแก้รัฐธรรมนูญมาเลเซียจะต้องอาศัยเสียงรับรองสองในสามของสภาฯ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ฝ่ายรัฐบาลมีไม่ถึง ทั้งนายกฯ มหาเธร์ และรัฐมนตรี ไซด์ ซาดีค จึงลงมือถึงขั้นแยกกันเขียนจดหมายส่วนตัวถึง ส.ส.รายคนทั้งฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ขอความสนับสนุนให้ลงคะแนนเสียงตอบรับในครังนี้ 

ความสำคัญของร่างกฎหมาย Undi 18 มีมากเพียงใด สังเกตได้จากการที่ศาลชั้นต้นที่นัดหมายพิจารณาคดีทุจริตของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ในวันเดียวกัน ตกลงย่นย่อเวลาการพิจารณาคดีเพื่อให้นายนาจิบได้เดินทางไปร่วมลงคะแนนที่รัฐสภาได้ทันเวลา 

วันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ร่างกฎหมาย Undi 18 ผ่านสภาฯ ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 211 เสียงจากทั้งหมด 222 เสียง เปิดทางให้เยาวชนอายุ 18 ปีขึ้นไปเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คาดกันว่าจะมีผลกระทบในอนาคตอย่างยิ่ง รัฐบาล Pakatan Harapan มอบหมายให้คณะกรรมการเลือกตั้งเป็นผู้เตรียมการระบบต่างๆ โดยเฉพาะระบบลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบบอัตโนมัติ และประกาศให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฏาคม 2564  

เมื่อรัฐบาลใหม่กลับลำ

รัฐบาลแห่งความหวัง Pakatan Harapan ล้มลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า ‘Sheraton Move’ หรือ ‘ความเคลื่อนไหวที่โรงแรมเชอราตัน’ ที่ ส.ส. ร่วมรัฐบาล 11 รายจากพรรคเบอร์ซาตู (Malaysian United Indigenous Party) ของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ตบเท้าออกจากพรรคเพื่อจับมือตั้งรัฐบาลใหม่กับพรรคอัมโน รัฐบาลใหม่นำโดยนายกรัฐมนตรี มูยีดดีน ยาซซีน (Muhyiddin Yassin) จากพรรคเบอร์ซาตู กลายเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่ง่อนแง่นเพราะผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวกับพรรคอัมโนที่เคยเกรียงไกรในอดีต เกมการชิงอำนาจหลังเปลี่ยนรัฐบาลสร้างความยุ่งเหยิงประหนึ่งลิงแก้แห จนในที่สุดก็ลงเอยด้วยการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเป็นอิสมาอิล ซาบรี จากพรรคอัมโนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ในช่วงวิกฤติการเมืองที่มาพร้อมวิกฤติโควิด-19 ข่าวลือเรื่องยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่แพร่สะพัดในวงการเมืองมาเลเซีย ข่าวนี้ส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันของพรรคอัมโนที่ต้องการล้างไพ่แล้วกลับมาดำรงตำแหน่งแกนนำรัฐบาลเต็มตัวดังที่เป็นมาอย่างต่อเนื่องถึง 60 ปีก่อนจะพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในปี 2561 ในช่วงนั้นเองที่ความหวังของเยาวชน Undi 18 ในการจะได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในเร็ววันเริ่มริบหรี่ อุปสรรคปรากฏอย่างชัดเจนในเดือนมีนาคม 2564 เมื่อคณะกรรมการเลือกตั้งอ้างปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการควบคุมการเคลื่อนที่ของประชากร ประกาศว่ายังไม่สามารถเตรียมพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายใหม่ได้ภายในเดือนกรกฏาคม 2564 ตามกำหนด จึงขอเลื่อนการใช้กฎหมายไปอีกกว่า 1 ปีเป็นเดือนกันยายน 2565

หากเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเยาวชนกลุ่ม Undi 18 อาจตกขบวนเลือกตั้งไปอีก 4 ปี ถ้าหากรัฐบาลตัดสินใจยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งก่อนกฎหมายใหม่มีผลบังคับ การประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้งนำไปสู่การประท้วงของเยาวชนนับร้อยคนในนามกลุ่ม Sekretariat Solidariti Rakyat (SSR) ที่หน้าตึกรัฐสภาฯ เรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมาย Undi 18 ตามกำหนดเดิม 

ที่น่าสนใจคือ SSR ยังมีข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่มีความเป็นสากลและครอบคลุมประเด็นของการปฏิรูปในมิติต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนสิทธิของชาวมาเลเซียหลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งสวนทางกับแนวคิดให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มภูมิบุตรของพรรคมลายูนิยมทั่วไปที่กุมเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ให้รัฐบาลจัดการทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแก่ประชาชน ให้มีการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่ ‘ยุติธรรมและมีความเป็นมนุษย์’ (fair and human law enforcement) และสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการศึกษาเพื่อ ‘ชาวมาเลเซียทุกคน’ (all Malaysians) เป็นต้น การประท้วงครั้งนี้ส่งผลให้แกนนำ SSR ถูกสอบสวนภายใต้กฎหมาย Peaceful Assembly Act 2012 ที่มีโทษปรับผู้ชุมนุมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตไม่เกิน 10,000 ริงกิตมาเลเซีย (ราว 79,000 บาท)

การกลับลำของรัฐบาลถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ Undi 18 ตัดสินใจสู้กลับด้วยกระบวนการทางศาล หลังการประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้งไม่นาน สมาชิก Undi 18 ในรัฐซาราวักห้าคนที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 20 ปี ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี มูยีดดีน ยาซซีน ในขณะนั้น รวมทั้งรัฐบาลมาเลเซียและคณะกรรมการเลือกตั้ง และขอต่อศาลให้สั่งบังคับใช้กฎหมาย Undi 18 ในทันที 

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาศาลชั้นต้นที่เมืองกุชิง เมืองหลวงของรัฐซาราวัก มีคำสั่งระงับการตัดสินใจของรัฐบาลและคณะกรรมการเลือกตั้งเรื่องเลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย Undi 18 และสั่งให้คณะกรรมการเลือกตั้งเตรียมการในการบังคับใช้กฎหมายให้พร้อมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564

การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี อิสมาอิล ซาบรี ในการไม่อุทธรณ์คำสั่งศาลดังกล่าว นับเป็นชัยชนะครั้งที่สองของขบวนการเยาวชนใหม่ของมาเลเซีย ยามนี้เป็นไปได้ยากว่ารัฐบาลของนายอิสมาอิล ซาบรี จะประกาศยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่ภายในเดือนนี้ ซึ่งก็เท่ากับว่าสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของเยาวชนตามกฎหมายใหม่ก็ได้รับหลักประกันอย่างสมบูรณ์

ความหวังในมือคนรุ่นใหม่

Undi 18 และ SSR ไม่ได้เป็นกลุ่มเยาวชนเพียงสองกลุ่มที่แสดงบทบาทในช่วงสองปีที่ผ่านมา ในเวลาที่กลุ่มทั้งสองเดินหน้าผลักดันทางการเมือง เยาวชนกลุ่มหนึ่งที่เมืองกวนตัน ในรัฐปะหัง บนชายฝั่งด้านตะวันออกได้ริเริ่ม ‘ขบวนการธงขาว‘ (White Flag Movement) หรือ #BenderaPutih ขึ้น หลังจากเพื่อนคนหนึ่งฆ่าตัวตายด้วยปัญหาการเงินในครอบครัวจากวิกฤติโควิด-19 

นโยบายควบคุมการเคลื่อนที่ของประชากร (Movement Control Order – MCO) เพื่อลดการแพร่ระบาดช่วงปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้ได้นำไปสู่ปัญหาการตกงานขาดรายได้โดยเฉพาะในครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่าง คนจำนวนมากประสบวิกฤติทางการเงินสาหัส โดยรายงานขององค์กรตำรวจมาเลเซียชี้ว่า ในช่วง MCO ระหว่างเดือนมกราคมและพฤษภาคมปีนี้ มีประชาชนในมาเลเซียฆ่าตัวตายทั้งหมด 468 คนหรือเฉลี่ยวันละ 3 คน และที่น่าตกใจคือร้อยละ 51 เป็นเยาวชนอายุระหว่าง 15 – 18 ปี

‘ขบวนการธงขาว‘ เผยแพร่โปสเตอร์ผ่านเฟซบุ๊ก มีข้อความรณรงค์ให้ผู้ที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและต้องการสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีพติดธงสีขาวไว้หน้าบ้านเพื่อขอความช่วยเหลือ โปสเตอร์นี้ถูกส่งต่อในโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว  ทำให้ผู้ประสบปัญหาเริ่มติดธงขาวไว้หน้าบ้านตนเองในหลายรัฐ ความสำเร็จของการรณรงค์เห็นได้จากการที่ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ อาสาแจกอาหารฟรีแก่ผู้เดือดร้อน หรือขายอาหารในราคาลดพิเศษแก่ผู้ซื้อไปบริจาค ประชาชนเริ่มจัดจุดแจกอาหารฟรี หรือ food bank ตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ขณะที่เยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งเข้าสมทบสร้างแอปพลิเคชัน Sambal SOS รวบรวมข้อมูลผู้ขอความช่วยเหลือพร้อมทั้งจุดที่ตั้ง food bank ทั่วประเทศที่คนเหล่านั้นสามารถเข้าถึงได้ ทำให้การช่วยเหลือรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

น่าแปลกที่นักการเมืองอาวุโสบางรายในรัฐบาลมูยีดดีนมีท่าทีค่อนข้างไม่เป็นมิตรต่อความพยายามของเยาวชน เช่นนายมูฮัมหมัด ซานูซี (Muhammad Sanisi) มุขมนตรีรัฐเคดะห์กล่าวหาว่าขบวนการธงขาวเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายค้าน นอกจากนั้นนายอับดุห์ นิก อาซิซ (Nik Abduh Nik Aziz) ครูสอนศาสนาจากรัฐปีนัง ผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ของพรรคพาส กล่าวว่าผู้ที่ยกธงขาวคือพวกยอมรับความพ่ายแพ้ และแนะให้คนเหล่านั้นยกมือของตนขึ้นเพื่อสวดมนต์ขอพรจากพระเจ้าแทน ต่อมานาย อับดุห์ นิก อาซิซ ออกมาขอโทษต่อคำพูดของตนหลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากประชาชน  อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสนใจว่า กลุ่มยุวชนพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น อัมโน พาส และปากาตันฮาราปัน (Pakatan Harapan) ของนายอันวาร์ อิบราฮิม ล้วนสนับสนุนขบวนการธงขาวโดยพร้อมเพียงกัน

การแสดงบทบาททางสังคมและการเมืองของเยาวชนมาเลเซียกลุ่มต่างๆ อาจถือเป็นการส่งสัญญาณความพร้อมของพวกเขาในการเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง กลุ่ม Undi 18 ในปัจจุบันยังคงรณรงค์ทางการเมืองต่อไปในประเด็นต่างๆ เช่น การให้มีสัดส่วน ส.ส.หญิง ร้อยละ 50 ในสภาฯ และการลดอายุผู้มีสิทธิรับตำแหน่งวุฒิสมาชิกจาก 30 ปี เป็น 18 ปี เป็นต้น

ข้อเรียกร้องของเยาวชนเหล่านี้นับเป็นความท้าทายสำหรับพรรคการเมืองและนักการเมืองรุ่นเก่า ขณะเดียวกันนักการเมืองกลุ่มนี้ก็กำลังเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพยายามเข้าถึงกลุ่มเยาวชนให้ได้มากขึ้น ถือเป็นสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงในมาเลเซียที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยมือของคนรุ่นใหม่


อ้างอิง

Faye Lee. 31 March 2021. How Undi 18 Went from a Student Movement to Constitutional Amendment in 2021. https://vulcanpost.com/739980/undi-18-history-student-movement-constitutional-amendment/

Ida Lim. 16 July 2019. Simplified: The Undi 18 Bill to lower Malaysia’s voting age, and more. < https://www.malaymail.com/news/malaysia/2019/07/16/simplified-the-undi18-bill-to-lower-malaysias-voting-age-and-more/1771923>

Serina Rahman. 8 July 2021. Commentary: Malaysia’s white flag movement a symbol of hope and helping each other. https://www.channelnewsasia.com/commentary/commentary-malaysias-white-flag-movement-symbol-hope-and-helping-each-other-2030226

Terrence Tan. 25 March 2021. Muda to sue govt over Undi 18 delay. https://www.thestar.com.my/news/nation/2021/03/25/muda-to-sue-govt-over-undi18-delay

Ida Lim. 6 October 2021. It’s official: Court’s order for Undi 18 to be one by Dec 2021 still stands, as govt did not appeal. https://malaysia.news.yahoo.com/official-court-order-undi18-done-105226569.html?guccounter=1&guce_referrer=aHR0cHM6Ly93d3cuZ29vZ2xlLmNvbS8&guce_referrer_sig=AQAAALQc7UrX1_uayDa1rfbRLMD9gMRhQKRrkiin1vr44kEy5TT9TZFq5Z-VqelxkqlbGjtdQ2wGHphLjdfvthYXdeCBhJqh-Zc3U_2giJ1m7FxsZg1KNDVTxXqp2bIiH1TffmjJHeAcR8BP2RUHJz6YC–Lthi3sL8x3sPwHPVqpCpd

Nesya Tirtayana. 27 May 2021. Undi18: The Raise of Youth in Malaysia. https://www.freiheit.org/malaysia/undi18-rise-youth-malaysia

Kow Gah Chie. 25 July 2019. Senate passes constitutional bill to lower voting age – barely. https://www.malaysiakini.com/news/485432

https://undi18.org/campaigns/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save