fbpx

“ในกระแสแห่งยุติธรรมา ยากจะหาความเกษมเปรมใจ” โศกนาฏกรรมตุลาการมาเลเซีย

โมฮัมเหม็ด ซาเละห์ อับบาส  (Mohamed Salleh Abas) อดีตประธานศาลฎีกามาเลเซีย (Lord President หรือ Chief Justice of the Federal Court ในปัจจุบัน) เสียชีวิตจากโควิด-19 ในวัย 92 ปี เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว การจากไปของเขาเป็นความใจหายของสมาชิกวงการยุติธรรมและผู้พิพากษาบางคนในมาเลเซียที่ยังคิดถึงประวัติศาสตร์เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ครั้งนั้นผู้พิพากษาซาเละห์ ชูธงนำเหล่าผู้พิพากษาศาลฎีกาต่อสู้กับอำนาจทางการเมือง ในเวลาที่ผู้พิพากษายังสามารถกล่าวถึงความเป็นอิสระของสถาบันศาลได้อย่างภาคภูมิใจ

ซาเละห์เสียชีวิตไปกว่าปี กว่าศาลแห่งสหพันธรัฐหรือศาลสูงสุดของมาเลเซีย (Federal Court of Malaysia) จะตัดสินใจประกาศในเดือนกันยายนปีนี้ว่าศาลจะจัดพิธีเชิดชูเกียรติอันสูงสุดแก่เขา ณ ที่ทำการศาลสูงสุดแห่งรัฐบาลกลาง (Palace of Justice) โดยในประวัติศาสตร์สถาบันตุลาการมาเลเซียมีผู้พิพากษาเพียง 2 คนที่ได้รับเกียรตินี้ ซึ่งอีกคนหนึ่งคือสุลต่าน อัซลาน ชาห์ (Sultan Azlan Shah) แห่งรัฐเปรัก สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 9 ของมาเลเซีย อดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุดและผู้บังคับบัญชาของซาเละห์เอง ที่ทรงลาออกจากหน้าที่ผู้พิพากษาเพื่อเข้ารับตำแหน่งประมุขของประเทศ

นับตั้งแต่การก่อเกิดประเทศ มาเลเซียมีประธานศาลสูงสุดทั้งหมด 16 คนที่นำพาระบบศาลที่เป็นระบบตรวจสอบอันสำคัญยิ่งของประเทศให้ผ่านช่วงเวลาที่สงบและผันผวนของประวัติศาสตร์ สถาบันศาลมาเลเซียถูกออกแบบตามหลักกฎหมายที่อังกฤษอดีตเจ้าอาณานิคมวางรากฐานให้ประเทศในเครือจักรภพ เป็นเรื่องเศร้าที่อำนาจตุลาการที่สามารถฝ่าคลื่นลมทางการเมืองรักษาความเป็นตัวของตัวเองมาได้หลายสิบปี ต้องประสบเหตุจนถูกตั้งข้อสงสัยนับครั้งไม่ถ้วนในปัจจุบัน

อะไรทำให้ผู้พิพากษาซาเละห์ได้รับเกียรติสูงสุดของตุลาการเทียบเท่ากับที่องค์ประมุขของประเทศเคยได้รับ คำตอบอยู่ที่การต่อสู้ของเขาและผู้พิพากษากลุ่มหนึ่งเมื่อ 35 ปีที่แล้ว และถือเป็นการจับมือกันต่อสู้ครั้งสุดท้ายของเหล่าตุลาการ เป็นกรณีที่เรียกกันภายหลังว่าวิกฤตสถาบันตุลาการ วิกฤตรัฐธรรมนูญ โดยผู้พิพากษาซาเละห์ในฐานะประธานศาลฎีกานำขบวนผู้พิพากษาต่อกรกับการแทรกแซงทางการเมืองจากนักการเมืองอำนาจล้นฟ้าของประเทศ ซึ่งจะเป็นใครไม่ได้นอกจาก นายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) ประธานพรรคอัมโน (United Malays National Organisation – UMNO) ในเวลานั้น

วิกฤตสถาบันตุลาการเป็นผลพวงของวิกฤตภายในพรรคอัมโน ในช่วงกลางทศวรรษ 1980s เศรษฐกิจมาเลเซียภายใต้การนำของนายกฯ มหาเธร์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจในอาเซียน มหาเธร์ใช้นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความมั่งคั่งของประเทศและพรรคอัมโนภายใต้การนำของเขาไปพร้อมๆ กัน พรรคอัมโนมีอำนาจอย่างสูงในสมัยของมหาเธร์ในฐานะที่เป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล Barisan Nasional (BN) โดยเป็นพรรคที่ครอบครองทรัพยากรและอำนาจการเมืองมหาศาล และยังเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมานับแต่การก่อตั้งประเทศ

เป็นที่รู้กันว่าการเลือกตั้งผู้นำพรรคอัมโนมีความหมายเท่ากับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของประเทศ ใครก็ตามที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานพรรคอัมโนจะได้รับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไปโดยปริยาย ยุคนั้นใครต่อใครจึงให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งผู้บริหารพรรคอัมโนเท่ากับการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศ

แต่อัมโนก็เป็นพรรคที่ไม่เคยปลอดจากการแข่งขันช่วงชิงอำนาจ ความแตกแยกในพรรคอัมโนระหว่าง ‘ขุนศึก’ เกรดเอ หรือนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพล มีมาตั้งแต่ยุคของ ตนกู อับดุล ระห์มาน (Tunku Abdul Rahman) นายกรัฐมนตรีคนแรก ผู้ถูกขุนศึกกลุ่ม อับดุล ราซัก (Abdul Razak) กดดันให้ลาออกจากตำแหน่งในปี 2514 ก่อนที่ราซักจะเข้ารับตำแหน่งประธานพรรคอัมโนและนายกรัฐมนตรีคนต่อมา ยิ่งเมื่อพรรคเติบโต มีการสั่งสมความมั่งคั่งและทรัพยากรทางการเมืองมากขึ้น  ตำแหน่งประธานพรรคก็ยิ่งเป็นที่หมายปองของนักการเมืองระดับหัวกะทิมากขึ้น นักการเมืองเหล่านี้สะสมสรรพกำลังยาวนานเพื่อเตรียมห้ำหั่นกันในการเลือกตั้งประธานและผู้บริหารพรรคที่จัดขึ้นทุก 3 ปี

ในการเลือกตั้งผู้บริหารพรรคอัมโนใน พ.ศ. 2530 มีผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานพรรค 2 คนนั่นคือ เติงกู ราซาลีห์ ฮัมซะห์ (Tengku Razaleigh Hamzah) นักการเมืองเชื้อเจ้ากลันตัน ผู้อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ โดยราซาลีห์ท้าชิงตำแหน่งจากมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีและประธานพรรคในขณะนั้น

การเลือกตั้งพรรคอัมโนมีกระบวนการที่เป็นระบบ ให้ภาพสะท้อนระบบพรรคการเมืองในมาเลเซียที่หยั่งรากลึกโดยปราศจากการท้าทายจากสถาบันอื่น พรรคหลักๆ ทุกพรรค โดยเฉพาะอัมโน สามารถขยายฐานสมาชิกในระดับรากหญ้าที่มีจำนวนที่ระบุแน่นอนได้ อัมโนยุคนั้นมีสาขาทั่วประเทศทั้งหมดกว่า 100 สาขา การเลือกตั้งประธานและผู้บริหารพรรคที่จะนั่งในสภาผู้บริหารสูงสุด (UMNO Supreme Council) เริ่มจากสมาชิกพรรคของแต่ละสาขาลงคะแนนเลือกประธานพรรคที่สาขาของตนจะสนับสนุนก่อน จากนั้นจึงส่งตัวแทนไปรายงานผลการเลือกตั้งระดับสาขาในที่ประชุมสมัชชาพรรค (national assembly) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์

ผลการเลือกตั้งปีนั้นทั้งสองฝ่ายมีคะแนนเฉียดฉิว มหาเธร์ได้ 761 เสียงจากสมาชิกที่ลงคะแนนใน 88 สาขา ส่วนราซาลีห์ได้  718 เสียงจาก 37 สาขา แต่เรื่องไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะสมาชิกพรรคอัมโนผู้สนับสนุนราซาลีห์ประกาศปฏิเสธผลการลงคะแนนโดยชี้ว่า ในบรรดาสมาชิกพรรค 1,479 คนทั่วประเทศ มี 78 คนที่ไม่มีคุณสมบัติในการลงคะแนน และอ้างว่าเอกสารในการเลือกตั้งจำนวนหนึ่งถูกบิดเบือน กลุ่มผู้คัดค้านยื่นเรื่องต่อศาลชั้นต้นขอให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ศาลชั้นต้นให้เวลาทั้งสองฝ่าย 2 สัปดาห์ในการเจรจาหาทางออกร่วมกันแต่ไม่เป็นผล ลงเอยด้วยค่ายราซาลีห์ประกาศดำเนินคดีในศาลต่อไป

มหาเธร์ผู้ซึ่งไม่เคยชอบจุดยืนของศาลมานานแล้วเริ่มต้นโจมตีระบบศาลอย่างเปิดเผยตั้งแต่ช่วงพิจารณาคดี เขาให้สัมภาษณ์นิตยสาร Time Magazine แสดงตรรกะของตนเองที่มีต่อสถาบันศาล กล่าวหาว่าศาลไม่สนใจเจตนารมณ์ของฝ่ายการเมืองในการออกกฎหมาย แต่มุ่งเพียงจะตีความกฎหมายตามความคิดของตนเอง แม้ว่าฝ่ายการเมืองจะไม่เห็นด้วยอย่างไรก็ตาม “ถ้าเราโอนอ่อนตาม (ศาล) เราก็จะเสียอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติไป” ที่จริงสิ่งที่มหาเธร์พูดสามารถใช้อธิบายความเป็นอิสระของระบบศาลและความเข้มแข็งของระบบตรวจสอบอำนาจได้เป็นอย่างดี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามหาเธร์ไม่ใช่ผู้นำที่พิศมัยความเป็นอิสระของระบบศาลหรือระบบใดๆ ก็ตามที่อาจท้าทายอำนาจของตนเอง การจัดการทางการเมืองจึงเริ่มขึ้น

ระหว่างการพิจารณาคดีพรรคอัมโน ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจำนวน 9 คนถูกสั่งย้ายจากตำแหน่งเดิม รวมทั้งผู้พิพากษา ฮารุน อาชิม (Harun Hashim) ผู้พิจารณาคดีนี้ถูกย้ายไปดูแลคดีอาชญากรรมทางธุรกิจ อย่างไรก็ตามเนื่องจากคดีอัมโนกำลังดำเนินอยู่ในศาลเขาจึงนั่งบัลลังก์พิจารณาต่อจนกว่าคดีจะจบ

คำพิพากษาของศาลชั้นต้นสร้างความตะลึงแก่สมาชิกพรรคอัมโนทุกขั้ว ผู้พิพากษา ฮารุน อาชิม อ่านคำพิพากษาในเดือนกุมภาพันธ์ 2531 ตัดสินให้อัมโนมีสถานะเป็นองค์กรผิดกฎหมายและต้องถูกยุบพรรค เพราะมีการกระทำที่ผิดกฎหมายที่กำหนดระเบียบการจดทะเบียนพรรคการเมือง เนื่องจากหลักฐานชี้ว่าอัมโนมีสาขาที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องถึง 30 สาขา ผู้พิพากษา ฮารุน บอกว่าตนเองไม่มีทางเลือกอื่นใดในการพิพากษา เพราะกฎหมายระบุว่าพรรคการเมืองไม่จดทะเบียนสาขาของตนอย่างถูกต้องถือว่าเป็นพรรคผิดกฎหมาย

คำตัดสินนี้สร้างวิกฤติให้อัมโนอย่างไม่เคยมีมาก่อน มหาเธร์พลิกสถานการณ์ทันควันโดยการจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ใหม่ชื่อ ‘อัมโนใหม่’ (UMNO Baru) ซึ่งคำว่า ‘ใหม่’ ได้หล่นหายไปโดยอัตโนมัติภายใน 1 ปี ส่วนราซาลีห์และผู้สนับสนุนแยกตัวไปตั้งพรรคใหม่ชื่อ ‘เซอมากัต 46’  (Semangat 46 – Spirit 46) ซึ่งหมายถึง ค.ศ. 1946 ซึ่งเป็นปีก่อตั้งพรรคอัมโน) แต่เขาก็รับคำเชิญจากมหาเธร์ จึงยุบพรรคและกลับเข้าพรรคอัมโนอีกครั้งในปี 2539

หลังจากจัดการปัญหาพรรคอัมโนใหม่ได้สำเร็จ มหาเธร์จึงเริ่มคิดบัญชีกับศาล ในปี 2531 รัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อสภาฯ ลดอำนาจศาลแห่งสหพันธรัฐลงจากที่เคยมีอำนาจเอกเทศจากฝ่ายนิติบัญญัติให้สามารถอยู่ภายใต้การกำหนดของกฎหมายหรือรัฐบาลกลางได้ นอกจากนั้นยังเพิ่มอำนาจให้อัยการสูงสุดซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง และเพิ่มอำนาจควบคุมกระบวนการยุติธรรมให้กับรัฐสภาฯ

ในเวลานั้นผู้พิพากษาซาเละห์ อับบาส ดำรงตำแหน่งประธานศาลฏีกา ซาเละห์เริ่มพูดถึงการปกป้องความเป็นอิสระของระบบตุลาการบ่อยครั้งขึ้น แม้จะไม่เอ่ยชื่อนักการเมืองคนใด แต่การเคลื่อนไหวของเขาได้รับความสนับสนุนจากเพื่อนผู้พิพากษาที่หลายคนเรียกร้องให้เขาทำไรมากกว่านั้น ซาเละห์จึงเชิญกลุ่มผู้พิพากษาศาลฏีกา 20 คนเข้าประชุมร่วมกันหาทางออกจากการคุกความของฝ่ายการเมืองในมีนาคม 2531

กลุ่มผู้พิพากษาศาลฎีกาตัดสินใจร่วมกันให้ซาเละห์ทำหนังสือลับต่อสมเด็จพระราชาธิบดีรวมทั้งสุลต่านของทุกรัฐ หนังสือฉบับนั้นมีข้อความแสดงความ “ผิดหวังของผู้พิพากษาต่อการแสดงความเห็นและข้อกล่าวหาต่อระบบตุลาการที่นายกฯ มหาเธร์กล่าวในรัฐสภาฯ” และแสดงความหวังว่าความเห็นและข้อกล่าวหาเหล่านี้จะยุติลง

ชะรอยจะเป็นความโชคร้ายของกลุ่มผู้พิพากษา เพราะสมเด็จพระราชาธิบดีในขณะนั้นคือสุลต่านมาห์หมุด อิสกานดาร์ (Sultan Mahmud Iskandar) แห่งรัฐยะโฮร์ มีความหลังฝังใจต่อศาลและผู้พิพากษาซาเละห์ เนื่องจากใน พ.ศ. 2516 ตอนที่พระองค์ยังทรงเป็นมกุฎราชกุมารแห่งยะโฮร์ ซาเละห์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการในตอนนั้นสั่งฟ้องพระองค์ในคดีใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ส่งผลให้ศาลตัดสินจำคุกพระองค์ 6 เดือน และทำให้พระองค์ถูกสุลต่านผู้บิดาถอดยศมกุฎราชกุมารชั่วคราว

1 เดือนหลังกลุ่มผู้พิพากษาถวายหนังสือต่อสมเด็จพระราชาธิบดี มหาเธร์และรองนายกรัฐมนตรีเรียกตัวผู้พิพากษาซาเละห์เข้าพบเพื่อแจ้งต่อเขาว่า สมเด็จพระราชาธิบดีมีพระราชประสงค์ให้เขาลาออกจากราชการ ในตอนแรกเขาเซ็นจดหมายลาออกตามพระประสงค์ของสมเด็จพระราชาธิบดี แต่ก็ถอนใบลาออกในวันรุ่งขึ้น เมื่อทราบว่าจะต้องเซ็นใบลาออกย้อนหลังเพื่อให้คดีบางคดีที่คั่งค้างอยู่โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับพรรคอัมโนเป็นโมฆะ เขาตัดสินใจดับเครื่องชนด้วยการออกแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เรียกร้องว่าถ้าจะให้เขาออกจากตำแหน่งก็จะต้องทำตามขั้นตอน ด้วยการตั้งศาลพิเศษชั่วคราว (tribunal) ขึ้นพิจารณาคดี

ระบบศาลพิเศษชั่วคราวเป็นกลไกหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาปลดผู้พิพากษาระดับสูงที่พบว่ากระทำมิชอบตามหลักยุติธรรมของประเทศในเครือจักรภพที่มาเลเซียเป็นสมาชิกอยู่ โดยกว่า 40 เปอร์เซนต์ของประเทศในเครือจักรภพใช้วิธีนี้ ส่วนประเทศที่เหลือใช้กลไกอื่นๆ เช่นคณะกรรมการทางวินัย หรือกลไกรัฐสภาฯ เป็นต้น กลไกศาลพิเศษเริ่มต้นด้วยการพิจารณาว่าคดีมีมูลเพียงพอไหม ซึ่งผู้พิจารณามักเป็นประธานศาลสูงสุดหรือกลไกทางศาลอื่นๆ แต่บางประเทศเช่นมาเลเซียใช้รัฐบาลเป็นผู้พิจารณาและตั้งข้อหา

ขั้นตอนต่อไปคือการแจ้งให้ประมุขของประเทศทราบ แน่นอนที่สุดในกรณีของมาเลเซียคือสมเด็จพระราชาธิบดี พร้อมกันนั้นผู้พิพากษาจะพิจารณาคดีในศาลพิเศษนี้ด้วย โดยประเทศในเครือจักรภพส่วนใหญ่จะใช้ผู้พิพากษาระดับสูงที่เกษียณอายุไปแล้ว โดยอาจจะมาจากประเทศนั้นเองทั้งหมด หรือบางส่วนมาจากประเทศในเครือจักรภพอื่นๆ เพื่อลดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนภายในประเทศ และระหว่างการพิจารณาคดีก็ถือเป็นเรื่องปกติที่ผู้พิพากษาผู้ถูกกล่าวหาจะถูกพักงานชั่วคราว เมื่อได้ผลการพิพากษาแล้ว หลักการของเครือจักรภพยังสร้างหลักประกันด้านความยุติธรรมไว้ เช่นให้โอกาสอุทธรณ์ได้ในศาลฎีกาเป็นต้น

สิ่งที่ตามมาในกรณีผู้พิพากษาซาเละห์แสดงถึงความเขี้ยวของนักการเมืองอย่างมหาเธร์ในการตีความหลักการสากลให้เป็นประโยชน์ต่อตน ไม่กี่วันหลังซาเละห์ถอนใบลาออก มหาเธร์เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีอีกครั้ง โดยครั้งนี้เขาไปเพื่อกล่าวหาซาเละห์ว่ากระทำการไม่เหมาะสมด้วยการจัดแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ไม่นานสมเด็จพระราชาธิบดีก็ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลพิเศษตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ทำให้ซาเละห์ถูกพักงานจากตำแหน่งประธานศาลฎีกาทันที

ระว่างการดำเนินคดี ทนายความของซาเละห์พยายามต่อสู้ให้เปลี่ยนตัวผู้พิพากษา เขาชี้ว่ากลุ่มผู้พิพากษาศาลพิเศษที่รัฐบาลคัดเลือกมานั้นมีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมด้วยสาเหตุที่ต่างกัน เช่นผู้พิพากษาคนหนึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะจะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกาถ้าหากซาเละห์ถูกตัดสินให้ออกจากตำแหน่ง อีก 2 คนเป็นผู้พิพากษาอ่อนอาวุโส และอีก 2 คนเป็นผู้พิพากษาจากประเทศในเครือจักรภพที่รับรู้กันทั่วไปว่ามีระบบศาลที่ไม่เป็นอิสระ ซาเละห์เรียกร้องให้ผู้พิพากษาที่จะมานั่งพิจารณาคดีเขาเป็น “บุคคลผู้มีตำแหน่งสูงในการพิจารณาคดี” ซึ่งหมายถึงผู้พิพากษาที่มีฐานะเท่าเทียมกับตัวเขา เช่น อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา แต่ศาลพิเศษปฏิเสธข้อเรียกร้องทั้งหมด

เมื่อส่อแววไม่ชอบมาพากล ซาเละห์จึงหันไปใช้กลไกที่ยังเหลืออยู่คือการยื่นคำร้องต่อต่อศาลฎีกาขอให้พิจารณาระงับกระบวนการของศาลพิเศษ ด้วยเหตุผลว่าเป็นกระบวนการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และสมเด็จพระราชาธิบดีทรงได้รับคำแนะนำที่ไม่เหมาะสม ศาลฎีกาจัดพิจารณาคำร้องของเขาเป็นวาระเร่งด่วน  และตัดสินให้ระงับกระบวนการของศาลพิเศษ  

แต่ 4 วันให้หลัง สมเด็จพระราชาธิบดีทรงสั่งพักงานผู้พิพากษาศาลฎีกาผู้นั่งบัลลังก์ตัดสินทั้ง 5 คน ตามด้วยรัฐบาลฟ้องร้องให้ปลดผู้พิพากษาทั้งห้าในข้อหามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมร้ายแรงและสมคบคิดกันในการพิจารณาคดี ทำให้จำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาของมาเลเซียที่สามารถทำหน้าที่ได้ในเวลานั้นลดลงจากทั้งหมด 10 คนเหลือเพียง 4 คน ผู้พิพากษา 2 ใน ภ คนที่เหลือนั่งอยู่ในศาลพิเศษในคดีซาเละห์ แต่ไม่นานมหาเธร์ก็ถวายรายชื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาคนใหม่ต่อสมเด็จพระราชาธิบดีเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ศาลฎีกากลับมามีผู้พิพากษาครบจำนวน ก่อนที่ผู้พิพากษากลุ่มใหม่นี้จะปฏิเสธการพิจารณาคำร้องของซาเละห์ต่อไป

ในที่สุดศาลพิเศษก็ตัดสินให้ซาเละห์มีความผิดตามคำกล่าวหาของรัฐบาล เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งราชการอย่างเป็นทางการในปี 2531 พร้อมกับผู้พิพากษาศาลฎีกาอีก 3 คน  ในขณะที่อีก 2 คนพ้นผิด

ไม่นานหลังถูกปลดจากตำแหน่ง สุลต่านแห่งกลันตันได้พระราชทานตำแหน่ง Darjah Kerabat Yang Amat Dihormati (Al-Yunusi) (D.K.) (ผู้ใกล้ชิดประหนึ่งเครือญาติที่นับถือยิ่ง)  ซึ่งเป็นตำแหน่งอันมีเกียรติสูงสุดที่สุลต่านทรงสามารถให้ได้ให้แก่เขา ซาเละห์อำลาชีวิตผู้พิพากษาอันมีเกียรติแล้วลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้รับตำแหน่งสมาชิกสภาแห่งรัฐตรังกานูครั้งหนึ่ง ก่อนจะเลิกราไปเพราะปัญหาสุขภาพ

เวลาผ่านไป มหาเธร์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลางสภาฯ ใน พ.ศ. 2546 หลังจากครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันมานานถึง 2 ทศวรรษ เป็นช่วงเวลาที่การเมืองมาเลเซียมีความเคลื่อนไหวใหม่ จากการก่อตัวของขบวนการปฏิรูปการเมืองในมาเลเซียที่เริ่มตั้งแต่ปี 2541 อับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวี (Abdullah Ahmad Badawi) เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่ถึงแม้มหาเธร์จะออกจากตำแหน่งแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะวางมือจากการเมือง ตรงข้ามเขากลับมองว่าตนเองเป็นผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลังนายกรัฐมนตรีคนใหม่ผู้ซึ่งเขาจะบีบก็ตายจะคลายก็รอด แต่เมื่อนายกฯ บาดาวีเห็นต่าง ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองเริ่มสั่นคลอน

ขบวนการปฏิรูปการเมืองทำให้เกิดการเรียกร้องหลายเรื่อง รวมทั้งให้ทบทวนคดีของผู้พิพากษาซาเละห์และกลุ่มด้วย ซึ่งตัวเขาเองก็เข้าร่วมเรียกร้องเรื่องนี้เต็มกำลัง แต่รัฐบาลบาดาวียังคงปฏิเสธ จนกระทั่งการเลือกตั้งทั่วไปมาถึงในปี 2551 พรรคอัมโนเริ่มเสียที่นั่งให้กลุ่มพรรคฝ่ายค้านในระดับที่น่าหวั่นใจ นายกฯ บาดาวีผู้เข้ารับตำแหน่งรอบ 2 ถูกมหาเธร์วิพากษ์วิจารณ์โจมตีอย่างหนัก การต่อสู้ในพรรคอัมโนระหว่างค่ายมหาเธร์และค่ายของบาดาวีชัดเจนขึ้น นักการเมืองฝั่งบาดาวีเริ่มหาทางตอบโต้มหาเธร์ด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งการนำคดีของซาเละห์มาโจมตีมหาเธร์ด้วย

เรื่องนี้มีซาฮีด อิบราฮิม (Zaid Ibrahim) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมผู้อยู่ในปีกของบาดาวีเป็นหัวหอก ซาฮีดเริ่มต้นด้วยการแนะให้มีการขอโทษซาเละห์และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ถูกตัดสินลงโทษ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรกล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการในเรื่องการจัดการกับวิกฤตตุลาการในครั้งนั้นที่เขาเห็นว่าทำให้ระบบยุติธรรมของมาเลเซียอ่อนแอลงในสายตาของชาวโลก

แต่ถึงอย่างไรซาฮีดก็คือนักการเมือง คำพูดของซาฮีดฟังดูดีแต่เขาก็หยุดข้อเสนอไว้เพียงแค่นี้ โดยปฏิเสธการเปิดพิจารณาคดีนี้ใหม่ บอกว่าตนเองเพียงอยากชี้ให้เห็นว่าเป็นความชัดเจนในสายตาของทุกฝ่ายว่ารัฐบาลที่แล้ว (รัฐบาลมหาเธร์) กระทำการล่วงละเมิดอย่างร้ายแรง โดยตัวเขาเองเชื่อว่านายกฯ (บาดาวี) เป็นลูกผู้ชายพอที่จะยอมรับว่ารัฐบาลทำผิดต่อกลุ่มผู้พิพากษาแล้วมีความเสียใจที่เรื่องนี้เกิดขึ้น

20 ปีผ่านไป ในที่สุดในปี 2551 ประธานศาลฎีกา ซาเละห์ อับบาส และอดีตผู้พิพากษาศาลฏีกาในคดีนี้ก็ได้รับศักดิ์ศรีคืนมาด้วยคำขอโทษจากรัฐบาล ซึ่งซาเละห์พูดกับสื่อไว้ล่วงหน้าว่าตนเองจะขอรับไว้ด้วยความยินดียิ่ง เขาและกลุ่มผู้พิพากษาได้รับเงินค่าเสียหายรวมกันจำนวน 10.5 ล้านริงกิตมาเลเซีย ซึ่งรัฐมนตรีซาอีดชี้แจงว่าเป็นเงินชดใช้ต่อการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและกระบวนการพิจารณาที่เหมาะสมที่กระทำต่อซาเละห์และกลุ่มอดีตผู้พิพากษาศาลฏีกา

การต่อสู้ของผู้พิพากษาซาเละห์เป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายที่ผู้พิพากษาระดับสูงจับมือกันต่อต้านอิทธิพลทางการเมือง หลังความพ่ายแพ้ครั้งนั้นดูเหมือนว่าแวดวงตุลาการมาเลเซียก็ไม่เหมือนเดิม มีบางครั้งที่ผู้พิพากษาบางรายแสดงความกล้าหาญต่อต้านระบบ แต่ก็ต้องประสบชะตากรรมโดยลำพังเพราะความกล้าหาญรวมหมู่ตามแบบซาเละห์และกลุ่มได้อ่อนแรงนานแล้ว ตรงข้ามมาเลเซียกลับพบข่าวของผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ไปตากอากาศกับทนายจำเลย คดีที่ตัดสินอย่างเที่ยงตรงในศาลชั้นต้นถูกกลับคำพิพากษาในศาลระดับสูง หรือผู้พิพากษาถูกคุกคามโดยนักการเมืองอยู่เนืองๆ

ในการอ่านคำพิพากษาคดีคดีหนึ่งใน พ.ศ. 2538 ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เอ็นเอช ชาน (NH Chan) ผู้ได้ชื่อว่ามีความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ระบบยุติธรรมในมาเลเซียอย่างเปิดเผยผู้หนึ่ง เริ่มต้นด้วยการอ้างตอนหนึ่งของบทละครโศกนาฏกรรม ‘แฮมเล็ท’ (Hamlet) ของวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespear) ที่กล่าวว่า “บางสิ่งบางอย่างกำลังผุพังในอาณาจักรเดนมาร์ก” (Something is rotten in the state of Denmark.) เพื่อเปรียบเทียบระบบศาลมาเลเซียกับอาณาจักรเดนมาร์กของเชคสเปียร์

แม้ผู้พิพากษา ซาเละ อับบาสห์ และ เอ็นเอช ชาน จะล่วงลับไปแล้ว แต่ระบบตุลาการมาเลเซียก็ยังคงบาดเจ็บจากวิกฤตปี 2531 อย่างไม่อาจเยียวยา อาณาจักรเดนมาร์กมาเลเซียยังผุพังประหนึ่งละครโศกนาฏกรรมที่ยังดำเนินต่อไป


อ้างอิง

Court declares ruling party illegal, nullifies inter-party election

COMMENT | May Day 1988 – justice died when Dr M sacked Salleh Abas

The day Mahathir resigned, and returned as PM

Judiciary to honour Salleh Abas at Palace of Justice

Ex-Lord President Salleh gladly accepts any apology

Salleh Abbas Affair: Clues from a second look at the judges’ saga

Comment: Tun Salleh and the judiciary

THEMATIC COMPILATION OF RELEVANT INFORMATION SUBMITTED BY MALAYSIA: ARTICLE 11 UNCAC JUDICIAL AND PROSECUTORIAL INTEGRITY

The Appointment, Tenure and Removal of Judges under Commonwealth Principles: A Compendium and Analysis of Best Practice

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save