fbpx

เลือกตั้งมาเลเซีย GE15 ‘บิดาแห่งความไม่แน่นอนทั้งปวง’

เดือนพฤศจิกายนของมาเลเซียเปียกปอนด้วยสายฝน ยิ่งใกล้กลางเดือนเข้าไป อากาศก็มืดครึ้มตั้งแต่เช้า วันไหนโชคดี  ยามสายเมฆที่ลอยต่ำจะแย้มให้แสงแดดส่องมาประเดี๋ยวประด๋าว แต่ตกบ่ายฝนก็ตกปูพรมโปรยปรายถึงค่ำมืดดึกดื่น อากาศชื้นแฉะเอี่อยเฉี่อยไม่ผิดอะไรกับการรณรงค์การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 (GE15) ที่กำลังจะมาถึงวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้

บรรยากาศแวดล้อมของ GE15 ผิดกันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือกับความคึกคักมีชีวิตชีวาในการเลือกตั้งครั้งที่ 14 (GE14) ในปี 2561 ที่เรียกกันว่า ‘มารดาแห่งการเลือกตั้งทั้งปวง’ ที่ถนนหนทางในกัวลาลัมเปอร์และเมืองใหญ่ๆ สะพรั่งพรึบพรับไปด้วยโปสเตอร์หาเสียง นักกิจกรรมการเมืองทุกฝ่ายออกรณรงค์ตามที่สาธารณะ สร้างทั้งสีสันและความหวาดเสียวให้ผู้สนับสนุนขั้วการเมืองสองกลุ่มที่โรมรันพันตูกันอย่างสุดใจขาดดิ้น

ในครั้งนี้ GE15 มาในรูปของการแข่งขันแบบ ‘สามขา’ ระหว่างแนวร่วมพรรคการเมืองสามขั้ว สะท้อนความแตกแยกระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ในปีกของรัฐบาลที่อิงอำนาจการเมืองกับกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลาม หรือกลุ่มภูมิบุตร (Bumiputera) ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ พรรคการเมืองมลายูนิยมอนุรักษนิยมที่เคยเหนียวแน่นเป็นหนึ่งเดียว เวลานี้แตกเป็นกลุ่มพันธมิตรการเมืองสองขั้ว และกำลังชักมีดจ่อคอหอยกันเองเพื่อชิงดำแย่งเสียงกลุ่มภูมิบุตรฐานอำนาจการเมืองอันสำคัญยิ่ง

พันธมิตรการเมืองกลุ่มแรกคือแนวร่วมบาริซาน เนชันแนล หรือ BN (Barisan National) ซึ่งเป็นแนวร่วมพรรคเก่าแก่นำโดยพรรค UMNO (United Malay National Organisation) แนวร่วม BN ยึดตำแหน่งแนวร่วมรัฐบาลมานับแต่มาเลเซียถือกำเนิดเป็นประเทศ ผู้นำ BN ที่มาจากพรรค UMNO รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันมา 60 ปี จนกระทั่งถูกถล่มบัลลังก์อย่างเจ็บปวดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาครั้งนี้ อาห์หมัด ซาฮีด ฮามิดี (Ahmad Zahid Hamidi) ประธานพรรคชูกำปั้นดับเครื่องชนประกาศคืนความยิ่งใหญ่ให้ UMNO แบบเทหมดหน้าตัก

แต่ใครๆ ก็รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญเป็นส่วนตัวต่อซาฮีดเป็นยิ่งนัก เพราะเขาเป็นหนึ่งในนักการเมืองระดับใหญ่ของพรรคที่กำลังถูกดำเนินคดีในศาลในข้อหาทุจริตนับสิบข้อหา เช่นเดียวกับลูกพี่ อดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก (Najib Razak) ที่ถูกศาลแห่งสหพันธรัฐ (Federal Court) ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของมาเลเซียตัดสินจำคุกในคดีทุจริตคดีแรกเป็นเวลา 12 ปี เป็นธรรมดาที่ผลการตัดสินคดีนาจิบย่อมทำให้ซาฮีดเสียวสันหลัง เพราะหากถูกตัดสินว่ามีความผิด ความฝันครองตำแหน่งนายกฯ ย่อมดับวูบ ถ้าโชคร้ายหน่อยก็อาจตามมาด้วยคุกเช่นเดียวกับลูกพี่ที่นำหน้าไปแล้ว ซาฮีดและพรรคพวกมีทางออกทางเดียวคือ ‘ล้างไพ่’ โดยจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด และพรรค UMNO ต้องชนะเลือกตั้งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะทำให้เขาผู้อยู่ในตำแหน่งผู้นำสูงสุดของพรรค ย่อมมีโอกาสใช้อิทธิพลกดดันกระบวนการศาลซึ่งเป็นเรื่องที่พรรค UMNO ถนัดมาแต่ไหนแต่ไร

และก็เป็นซาฮีดนี่เองที่ทั้งขู่ทั้งปลอบและกดดันนายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาคอป (Ismail Sabri Yaakob) สหายร่วมพรรคที่ส้มหล่นได้รับตำแหน่งนายกฯ หลังจาก UMNO ถล่มนายกรัฐมนตรี มูยีดดีน ยาซซีน (Muhyiddin Yassin) แห่งพรรค Bersatu (The Malaysian United Indigenous Party) พรรคร่วมรัฐบาลของตนให้ออกจากตำแหน่งเป็นผลสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว ส่วนนายกฯ ซาบรีนั้น เมื่อได้รับตำแหน่ง ก็เอานักการเมือง UMNO ที่ปลอดคดีเข้านั่งในคณะรัฐมนตรี สร้างความหมั่นไส้ให้ซาฮีดและพวก 

อาห์หมัด ซาฮีด ฮามิดี (Ahmad Zahid Hamidi) ประธานพรรค UMNO
ภาพจาก AFP

พรรค UMNO แตกแยกภายในเป็นอย่างน้อยสองมุ้ง มุ้งแรกเรียกกันว่า ‘cabinet cluster’ หรือกลุ่มขุนพลพรรคในคณะรัฐมนตรี นำโดย นายกฯ ซาบรีผู้ไม่ประสงค์จะทิ้งอำนาจนายกฯ ของตนด้วยประการทั้งปวง มุ้งที่สองคือนักการเมืองระดับสูงในพรรคผู้ติดคดีรุงรัง รู้จักกันในนามกลุ่ม ‘court cluster’ นำโดยนาจิบ ราซัก และซาฮีดคนสนิท 

หลายเดือนก่อนการยุบสภาฯ ศึกระหว่างมุ้งใน UMNO เป็นไปอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน นายกฯ ซาบรีพยายามต่อต้านแรงกดดันให้ยุบสภาฯ สุดความสามารถ แต่ฝ่ายซาฮีดผู้มีอำนาจสูงสุดในพรรคถึงขั้นให้กรรมการพรรคขู่จะขับเขาออกจากสมาชิกภาพ ในที่สุดการประนีประนอมก็บรรลุผล นายกฯ ซาบรียอมประกาศยุบสภาฯ 

พรรค UMNO ประกาศให้ซาบรีเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แทนที่จะเป็นซาฮีดประธานพรรคตามธรรมเนียมที่มีมา แต่คนที่เชื่อคำสัญญาของซาฮีดอาจมีแค่ซาบรีเพียงคนเดียว เพราะนักวิจารณ์การเมืองพร้อมใจกันฟันธงว่า ถ้าหากแนวร่วม BN ชนะเลือกตั้งจริงๆ อย่างเก่งซาบรีอาจเป็นได้แค่นายกฯ หุ่นเชิด ที่มีซาฮีด นายกฯ ตัวจริงนั่งหายใจรดต้นคออยู่ข้างหลัง หรือไม่ก็อาจถูก UMNO ทิ้งไปดื้อๆ แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) เองก็ถึงขั้นออกมาฟันธงในเฟซบุ๊กของตัวเองว่า นายกฯ คนต่อไปคือ ซาฮีด ฮามิดี หาใช่ซาบรีไม่

นอกจากพรรค UMNO ที่ประกาศตนเป็นตัวแทนกลุ่มภูมิบุตรแล้ว แนวร่วม BN มีพรรคระดับชาติอีกสองพรรคที่เกาะกันมาอย่างเหนียวแน่นตลอดกาล นั่นคือ พรรค MCA (Malaysian Chinese Association) ที่มีฐานเสียงเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน และพรรค MIC (Malaysian Indian Congress) ที่หาเสียงในหมู่ชายมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย สะท้อนการแบ่งสรรในระบบพรรคการเมืองแบบเก่าๆ ที่เน้นการแบ่งแยกทางเชื้อชาติในสังคมมาเลเซียได้อย่างดี ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ทั้งสองพรรคพ่ายแพ้ให้แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านอย่างยับเยิน โดยเฉพาะเอ็มซีเอที่มั่งคั่งกลับได้เก้าอี้เพียงที่เดียวในรัฐสภาฯ เพราะเสียงของคนจีนหันไปเทให้ฝ่ายค้านอย่างถล่มทลาย

อิสมาอิล ซาบรี ยาคอป (Ismail Sabri Yaakob) นายกฯ มาเลเซีย และรองประธานพรรค UMNO
ภาพจาก AFP

แนวร่วมพรรคการเมืองขั้วที่สอง PN (Perikatan National) มีพรรคการเมืองสองพรรคเป็นหลัก คือพรรค Bersatu ของอดีตนายกรัฐมนตรี มูยีดดีน ยาซซีน ที่ถูกปีกของซาฮีดในพรรค UMNO ‘กำจัด’ ออกจากตำแหน่งนายกฯ จนต้องแยกตัวออกมาอย่างมองหน้ากันไม่ติดอย่างน้อยก็ในเวลานี้ PN ยังมีพรรค PAS (Malaysian Islamic Party) พรรคอิสลามที่มีที่มั่นอยู่ที่กลันตันและเป็นพรรคที่ชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยรู้จักดี PAS นำโดย ฮาดี อาหวัง (Hadi Awang) ครูสอนศาสนาสายอนุรักษนิยมสุดติ่งผู้ที่ยังแอบหวังเป็นกาวใจให้ Bersatu หันไปคืนดีร่วมเรียงเคียงหมอนกับ UMNO ให้ได้สักวันหนึ่ง นอกจากนั้น PN ยังมีพรรคเล็กๆ จากเกาะซาบาห์ชื่อ Star ติดกลุ่มเข้ามา แนวร่วมนี้เสนอชื่อมูยีดดีน ยาซซีน เป็นตัวแทนชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แนวร่วมพรรคการเมืองขั้วสุดท้ายไม่ใช่อื่นไกลนอกจาก ‘แนวร่วมแห่งความหวัง’ หรือ PH (Pakatan Harapan) นำโดย อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) หัวหน้าพรรค PKR (People’s Justice Party) บุรุษผู้ยังไปไม่ถึงดวงดาว พลาดหวังจากตำแหน่งนายกฯ ไม่ต่ำกว่าสองครั้งในชีวิต เขาจับมือกับพันธมิตรเดิมคือพรรค DAP (Democratic Action Party) ที่มีฐานอยู่ที่ปีนัง ครองใจชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วได้อย่างแทบจะเบ็ดเสร็จ และพรรค AMANAH (National Trust Party) ภายใต้การนำของโมฮัมหมัด ซาบู (Mohamad Sabu) นักการเมืองติดดิน อดีตสมาชิกพรรค PAS และนักกิจกรรมของขบวนการยุวชนมุสลิม ABIM (Muslim Youth Movement) ในวัยหนุ่ม 

แนวร่วม PH มีดีไม่น้อย เพราะเป็นกลุ่มพรรคฝ่ายค้านที่มีที่นั่งในสภาฯ จำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ คือราว 90 ที่นั่งจากทั้งหมด 222 ที่นั่ง และยังเป็นรัฐบาลในรัฐใหญ่ๆ อีกสามรัฐ ครั้งนี้แนวร่วม PH ประกาศส่งอันวาร์ลงชิงดำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีพรรค MUDA ที่ประกาศตัวเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ นำโดย ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq) วัย 28 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬาในรัฐบาลที่แล้วเป็นแนวร่วมอย่างหลวมๆ

อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) หัวหน้าพรรค PKR
ภาพจาก AFP

ย้อนกลับไปในปี 2561 แนวร่วม PH ร่วมกับพรรค Bersatu ซึ่งเวลานั้นนำโดยมหาเธร์ โมฮัมหมัด ชนะการเลือกตั้ง GE14 อย่างถล่มทลาย แต่อนิจจา PH เป็นรัฐบาลได้เพียง 22 เดือน ก่อนที่จะล้มอย่างไม่คาดหมายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เมื่อมูยีดดีน ยาซซีน ประธานพรรค นำ ส.ส. จากพรรค Bersatu ร่วมกับ อัสมิน อาลี (Azmin Ali) นักการเมืองคนสนิทของอันวาร์จากพรรค PKR คนหนึ่งรวมทั้งหมด 10 คน นัดประชุมกันที่โรงแรมเชอราตันกัวลาลัมเปอร์แล้วประกาศย้ายมุ้งออกจากรัฐบาลหันไปจับมือพรรค UMNO เพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ ได้ชื่อว่าเป็นการหักหลังทางการเมืองครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่เรียกกันว่า ‘ความเคลื่อนไหวที่โรงแรมเชอราตัน’ (the Sheraton Move)  

หลังรัฐบาลล่ม พรรคแนวร่วม Bersatu โดยเฉพาะอย่างยิ่ง PKR และ DAP ก็ใช้เวลาในการการปรับโครงสร้างพรรคครั้งใหญ่ เริ่มจาก PKR ที่อันวาร์เริ่มล้างบางผู้สนับสนุนอัสมินที่ยังหลงเหลืออยู่ในพรรค ในขณะที่พรรค DAP ถึงวาระเลือกตั้งผู้บริหารพรรคชุดใหม่ นักการเมืองรุ่นใหม่เข้าแทนที่อำนาจบริหารของ ลิม กวน อิง (Lim Guan Eng) อดีตเลขาธิการพรรค ผู้ลาออกจากตำแหน่งมุขมนตรีรัฐปีนังเพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล PH แต่ไม่นานนักเมื่อมีการประกาศยุบสภาฯ ทั้งสองพรรคที่กำลังปรับโครงสร้างภายในก็ต้องรีบปรับขบวนมาหาเสียงในเวลาจำกัด

ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ หลังจากที่ถูกลูกน้องเก่าใน Bersatu ทิ้ง ก็จัดการตั้งพรรค Pejuang ขึ้นมา โดยสังกัดแนวร่วม Gerakan Tanah Air จากผู้นำประเทศที่มีอำนาจล้นฟ้า เวลานี้มหาเธร์ในวัย 97 เป็นหัวหน้าพรรคเล็กๆ ที่ยังไม่มีนัยสำคัญทางการเมืองใดๆ

มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) อดีตนายกฯ มาเลเซีย
ภาพจาก Mohd RASFAN / AFP

การเมืองมาเลเซียในช่วงสามปีหลังวิกฤตโรงแรมเชอราตันเต็มไปด้วยความขัดแย้งท่ามกลางความป่วยไข้จากโควิด-19 และความตกต่ำทางเศรษฐกิจ รัฐบาล UMNO-Bersatu ที่มีพรรค PAS มาสมทบ สั่นคลอนจากปัญหาแบ่งผลประโยชน์ และลงเอยด้วยการลงจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี มูยีดดีน ยาซซีน ความขัดแย้งกินลึกลงไปถึงระดับภายในพรรค ขณะที่ชาวมาเลเซียที่ยังไม่หายช็อกจากเหตุการณ์เชอราตันก็ใช้เวลาสามปีเฝ้ามองความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมทั้งบทบาทที่เพิ่มขึ้นของสมเด็จพระราชาธิบดี สลับกับข่าวทุจริตและวิดีโอเซ็กซ์ของนักการเมือง จึงไม่แปลกที่ความเหนื่อยหน่ายจะครอบงำจิตใจประชาชน และฉุดความศรัทธาในการเลือกตั้งให้ตกต่ำลง  

การประกาศนโยบายเลือกตั้งของพันธมิตรการเมืองกลุ่มต่างๆ ไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนเท่าไหร่นัก ชัดเจนว่ายุทธศาสตร์ของแนวร่วม BN และพรรค UMNO คือการยึดหลักทวงคืนความยิ่งใหญ่ในอดีตกลับคืนมาสู่ชาวภูมิบุตร UMNO ภายใต้ซาฮีดหวังกระตุ้นฐานเสียงเก่าที่มีอยู่ทั่วประเทศของพรรคให้กลับมาเหนียวแน่นอย่างเก่า ในขณะเดียวกันก็ใช้เครือข่ายนักธุรกิจใหญ่น้อยที่ UMNO เลี้ยงไว้แต่ในอดีตเป็นแขนขาให้เป็นประโยชน์ ควบคู่กันไปกับนโยบายลดแลกแจกแถมในกลุ่มชาวภูมิบุตรที่นายกฯ ซาบรีถึงขั้นลงมือประกาศเองโดยสนใจกฎกติกามารยาทของความเป็นนายกฯ รักษาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสัญญาเรื่องการสนับสนุนในพื้นที่โครงการเฟลดา (FELDA) ที่เป็นโครงการจัดสรรพื้นที่ทำกินทางการเกษตรให้กลุ่มภูมิบุตรฐานะยากจนทั่วประเทศ และเป็นฐานเสียงหลักของพรรค แต่น่าสนใจว่ายุทธศาสตร์นี้เป็นยุทธศาสตร์เดียวกันที่นาจิบ ราซัก ใช้ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเป๊ะ ก่อนจะแพ้ถล่มทลาย 

สำหรับแนวร่วม PN ของมูยีดดีน ที่ทุ่มเทกำลังทรัพย์จัดทำโปสเตอร์ราคาแพงพรึบพรับทั่วเมืองก่อนใครเพื่อน ก็ทำตัวเหมือนคนความจำเสื่อมที่ลืมไปแล้วว่าตนมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือจากการเล่มเกมการเมืองโค่นล้มรัฐบาล PH ในเหตุการณ์เชอราตัน PN วางหมากเล่นประเด็น ‘คนดี’ ประกาศตนเป็นผู้พิทักษ์ชาวภูมิบุตรรายใหม่ที่ใจซื่อมือสะอาดกว่าใครเพื่อน เป็นแนวร่วมพรรคการเมืองที่ดีของชาวมลายู (good Malay coalition) ต่างกับพรรค UMNO ที่สกปรกและทุจริต 

แนวร่วม PN ชูประเด็นเชื้อชาตินิยมอย่างโจ่งแจ้ง ด้วยการสัญญาจะจัดตั้งรัฐบาลที่มีแต่ชาวมลายู และประกาศปฏิเสธไม่ร่วมงานกับนักการเมืองมลายูที่อยู่กับแนวร่วม PH ด้วยประการทั้งปวง ดูเหมือนว่า ฮาดี อาหวัง แห่งพรรค PAS จะถือธงนำหน้าในการสร้างศัตรูร่วมให้ผู้มีสิทธิออกเสียงกลุ่มภูมิบุตร ด้วยการโจมตีชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนผ่านการโจมตีพรรค DAP ของแนวร่วม PH ครั้งหนึ่งเขาทวีตเรียกร้องให้ชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูต่อต้านพรรค DAP เพราะพรรคนี้เป็นพรรคที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ มีอุดมการณ์ที่ปฏิเสธอัลเลาะห์ และมีความร้ายกาจยิ่งกว่าเจ้าอาณานิคมคริสเตียนหรือยิว

มูยีดดีน ยาซซีน (Muhyiddin Yassin) หัวหน้าพรรค Bersatu และอดีตนายกฯ มาเลเซีย
ภาพจาก AFP

ในขณะที่แนวร่วมพรรคการเมืองสองกลุ่มแรกกำลังฟาดฟันชิงเสียงชาวภูมิบุตรอย่างเมามัน แนวร่วมแห่งความหวัง PH  และ อันวาร์ อิบราฮิม ยังคงเน้นย้ำกับสัญญาเก่าที่เคยให้ไว้ คือการปฏิรูปการเมืองระยะยาวที่ทำให้ PH ชนะเลือกตั้งถล่มทลายเมื่อครั้งที่แล้ว แต่ครั้งนี้สัญญาในอดีตจะยังมีมนต์ขลังพอหรือไม่ ยังน่าสงสัยอยู่ เพราะความเหน็ดเหนื่อยในการเฝ้ามองการเมืองอันยุ่งเหยิงมาเกือบสามปีได้บั่นทอนความกระตือรือร้นในหมู่ประชาชนลงอย่างเห็นได้ชัด ประชาชนฝ่ายก้าวหน้ามีความเห็นที่แตกแยกและมีข้อวิจารณ์ต่อ PH มากขึ้น แม้ว่านาทีนี้ผู้สนับสนุน PH รุ่นเก่าเริ่มออกมาแสดงเจตจำนงในการลงคะแนนเสียง แต่ไม่มีใครรู้ว่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชนอายุ 18 ปีผู้มีสิทธิออกเสียงครั้งแรกคิดอย่างไร

ความล้าและเบื่อหน่ายของผู้มีสิทธิออกเสียงมีผลกระทบต่อแนวร่วมพรรคการเมืองทุกขั้ว ในเบื้องต้น ทั้ง BN และ PH ลงสนามด้วยความมั่นใจอย่างสูง แต่ความมั่นใจนั้นค่อยๆ หดหายลงเมื่อพบกับความเฉี่อยเนือยของผู้คน มีรายงานว่าอาสาสมัครของพรรคการเมืองแทบทุกพรรคที่ลงพบปะชาวบ้านระดับรากหญ้า พบปฏิกิริยาตอบรับที่ค่อนข้างเย็นชาบ่อยครั้ง ไม่ว่าพรรคใดก็ล้วนพบความจริงในสนามว่าความภักดีแต่ก่อนจืดจางไป หลายคนเริ่มพูดให้เข้าหูว่านักการเมืองไม่ว่าฝ่ายไหนก็เหมือนๆ กัน ในขณะที่นักการเมืองต้องลงพื้นที่ทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ได้ใจประชาชนกลับคืน สนามใหญ่การรณรงค์เลือกตั้งไม่ได้อยู่ตามหมู่บ้านหรือท้องถนนเหมือนครั้งที่แล้วแต่ได้ย้ายเข้ามาในโลกออนไลน์แทน ส่งผลให้พรรคการเมืองหลายพรรคทุ่มทุนซื้อโฆษณาเพื่อซื้อใจประชาชนผ่านสื่อออนไลน์

หลังนายกฯ ซาบรีประกาศยุบสภาฯ องค์กรสำรวจประชามติอิสระ Merdeka Center ในมาเลเซียได้สำรวจความเห็นของผู้มีสิทธิออกเลียงเลือกตั้งอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,209 คนเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผลการสำรวจพบว่า 26 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบคำถามเลือกแนวร่วม PH ในขณะที่ 24 เปอร์เซ็นต์ชูมือสนับสนุน BN ส่วน PN ทิ้งห่างออกไปเป็น 13 เปอร์เซ็นต์   

แต่กฎของความไม่แน่นอนคือกฎของการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในการสำรวจคือ 31 เปอร์เซ็นต์สารภาพว่าตัวเองยังไม่แน่ใจว่าจะลงคะแนนให้ใครดี บางรายบอกว่าอาจยกเสียงให้พรรคของมหาเธร์ และบางรายบอกว่าอาจลงคะแนนให้พรรคเล็กอื่นๆ ไปโน่น เป็นที่ชัดเจนว่าโจทย์ใหญ่ของแนวร่วมหลักๆ อยู่ที่จะชิงเอาผู้ลงคะแนนเสียงกลุ่มนี้มาเป็นของตนได้อย่างไร

ถ้าจะแยกผู้มีสิทธิออกเสียงกันตามเชื้อชาติแล้ว กลุ่มภูมิบุตร 32 เปอร์เซ็นต์บอกว่าจะลงคะแนนให้ BN ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์สนับสนุน PN และ 13 เปอร์เซ็นต์บอกว่าจะลงคะแนนให้ PH ในขณะที่อีก 29 เปอร์เซ็นต์บอกว่าไม่แน่ใจ 

ปรากฏการณ์ ‘ไม่แน่ใจ’ เกิดขึ้นในกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงเชื้อสายจีนเช่นเดียวกัน เพราะแม้ว่า 47 เปอร์เซ็นต์ยืนยันสนับสนุน PH และมีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์จะลงคะแนนให้ BN แต่ก็ยังมีอีก 23 เปอร์เซ็นต์บอกไม่แน่ใจว่าจะเลือกใคร และสิ่งที่น่าวิตกสำหรับแนวร่วม PH อีกเรื่องหนึ่งคือ กลุ่มชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนเป็นกลุ่มที่จะออกไปลงคะแนนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มภูมิบุตรที่ 75 เปอร์เซ็นต์ และชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย 86 เปอร์เซ็นต์ ที่จะไปออกเสียง 

ฝันหวานที่จะเห็นกลุ่มเยาวชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอายุ 18 ปีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ตบเท้าออกมาแสดงพลังบริสุทธิ์เป็นส่วนหนึ่งในวาระปฏิรูปการเมืองด้วยการลงคะแนนให้แนวร่วม PH ต้องสะดุดกับเมื่อผลการสำรวจของ Merdeka Center พบว่าเยาวชนกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงในกลุ่มอายุ 30 ปีลงไป ที่เป็นกลุ่มที่แสดงความตั้งใจจะไปลงคะแนนเลือกตั้งน้อยที่สุดในทุกกลุ่มอายุ คือมีเพียง 68 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่คนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขา คือผู้มีสิทธิออกเสียงอายุ 50 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มที่ตั้งใจไปลงคะแนนเสียงมากที่สุด คือ 80 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มอายุระหว่าง 31–50 ปี มี 74 เปอร์เซ็นต์

ความคิดว่าพลังการเมืองบริสุทธิ์ของเยาวชนเป็นเรื่องที่ได้มาฟรีๆ อาจเป็นความคิดที่ผิด ซึ่งถ้าย้อนกลับไปพิจารณาประวัติศาสตร์อันใกล้เมื่อ 24 ปีที่แล้ว ก็อาจเห็นบริบทการเมืองมาเลเซียมากขึ้น กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ของมาเลเซียเกิดขึ้นเมื่อประเทศเริ่มขยับจากการผูกขาดอำนาจของพรรคการเมืองมาเป็นวาระปฏิรูปของประชาชนราวปี 2541 เมื่อขบวนการปฏิรูปการเมือง (Reformasi) ในมาเลเซียเริ่มต้นขึ้น Reformasi ใช้เวลากว่า 20 ปีในการเติบโต จนบรรลุความสำเร็จสูงสุดในการเลือกตั้งครั้งที่ 14 เมื่อประชาชนพร้อมใจลงคะแนนให้วาระปฏิรูปที่มีแนวร่วม PH เป็นตัวแทน

คนหนุ่มสาวมาเลเซียที่โตมากับขบวนการการปฏิรูปการเมืองเมื่อ 24 ปีที่แล้วคือคนอายุ 40–50 ปีของวันนี้ ในขณะที่เด็กหนุ่มสาววัย 18-20 ปีในปัจจุบันยังลอยละล่องอยู่ที่ไหนสักแห่ง เมื่อโอกาสในการแสดงสิทธิทางการเมืองมาถึงจึงไม่แปลกที่คนอายุ 40–50 ปีจะยินดีกระโดดออกมาเป็นด่านหน้า ในขณะที่คนหนุ่มสาวรุ่นลูกยัง ‘เป็นงง’ เพราะระดับความเข้าใจทางการเมืองแทบเป็นศูนย์เมื่อเทียบกับคนรุ่น Reformasi

การสำรวจความเห็นของกลุ่มเยาวชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง อายุระหว่าง 18-30 ปี จำนวน 1,084 คน ของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Malaysiakini.com พบว่า เยาวชน 93 เปอร์เซ็นต์มีความตั้งใจจะออกไปลงคะแนนเลือกตั้ง แต่เมื่อถามถึงความรู้เบื้องต้นทางการเมือง เช่น ชื่อของรัฐมนตรีหรือนักการเมืองที่ชอบหรือไม่ชอบ เพราะเหตุใด หรือความรู้เรื่องกระบวนการเลือกตั้ง พบว่าเยาวชนส่วนใหญ่ไม่สามารถตอบคำถามได้ และแทบไม่ต้องหวังว่าระบบการศึกษามาเลเซียจะเปิดกว้างในการให้ความรู้ทางการเมือง พรรคการเมืองและสถาบันประชาธิปไตยต่างๆ เองก็ลืมให้ความรู้แก่พวกเขามากพอที่จะสร้างความมั่นใจพอในการแสดงความเห็นทางการเมืองได้ 

ถ้า GE14 เป็น ‘มารดาแห่งการเลือกตั้งทั้งปวง’ GE15 ก็น่าจะเป็น ‘บิดาแห่งความไม่แน่นอนทั้งปวง’ บรรยากาศของความไม่แน่นอนอาจมาทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง จากปัจจัยการแข่งขันสามขั้ว ความไม่แน่ใจของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และการต่อรองเชิงอำนาจในภาวะที่ไม่มีขั้วการเมืองใดมีอำนาจสูงสุดที่จะตามมา อาจเป็นสิ่งที่เราจะได้เห็นในมาเลเซียจนกว่าคนรุ่นใหม่มีความพร้อมทางความคิดที่จะรับไม้แบกอนาคตของประเทศต่อไป 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save