fbpx
วังวนอันเชี่ยวกรากของทุนนิยมพวกพ้องมาเลเซีย

วังวนอันเชี่ยวกรากของทุนนิยมพวกพ้องมาเลเซีย

สามปีที่แล้ว โรเบิร์ต ก๊วก (Robert Kuok) อภิมหาเศรษฐีชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนวัย 94 ปี ตีพิมพ์หนังสือ ‘Robert Kuok: A Memoir’ โดยอาจตั้งใจให้บันทึกความทรงจำเล่มนี้เป็นอัตชีวประวัติความสำเร็จในชีวิต แต่โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ‘Robert Kuok: A Memoir’ กลายมาเป็นบันทึกสำคัญที่บอกเล่ามิติทางเศรษฐกิจการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงแปดทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นบันทึกประวัติศาสตร์อันเลอค่าถึง ‘ระบบทุนนิยมพวกพ้อง’ ของมาเลเซียจากปากคำของผู้เล่นคนสำคัญ ถ้าจะว่าไปแล้ว ระบบนี้เองที่ครั้งหนึ่งได้มอบฉายาว่า ‘ราชาน้ำตาล’ ให้แก่เขาในฐานะผู้ผูกขาดการนำเข้าและส่งออกน้ำตาลของประเทศของแต่เพียงผู้เดียว

สายสัมพันธ์บางอย่างไม่มีวันตายสำหรับโรเบิร์ต ก๊วก เจ้าของวาทะ “การเมืองกับเศรษฐกิจแบ่งแยกไม่ได้ การเมืองกับชีวิตก็แยกกันไม่ออก” เพราะในปีเดียวกับที่ตีพิมพ์อัตชีวประวัติ เขาก็ได้รับคำเชิญของอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) สหายเก่าที่เพิ่งนำอดีตแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านจัดตั้งรัฐบาลไปหมาดๆ ให้เข้ารับตำแหน่งหนึ่งในห้าของที่ปรึกษาสูงสุดด้านนโยบาย โรเบิร์ต ก๊วกทำงานจนกระทั่งรัฐบาลมหาเธร์สิ้นสุดลงในสองปีต่อมา ปัจจุบันใน พ.ศ. 2564 ด้วยวัยเฉียด 100 ปี เขายังรักษาตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของมาเลเซียจากการจัดลำดับของนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ไว้อย่างเหนียวแน่น  

ยุคก่อร่างสร้างประเทศหลังอาณานิคมผ่านไปแต่วิถีของเงินและอำนาจไม่เคยเปลี่ยน เมื่อกลางคริสต์ทศวรรษ 1980s อนันดา กริชนัน (Ananda Krishnan) นักธุรกิจน้ำมันชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียรับตำแหน่งซีอีโอของเปโตรนาส บริษัทน้ำมันใหญ่ของรัฐ จากการชักชวนของนักการเมืองอาวุโสในพรรค United Malays National Organisation หรืออัมโน (UMNO) แกนนำรัฐบาลในตอนนั้น ไม่นานเขาก็เดินสะดุดขุมทรัพย์ครั้งใหญ่ในชีวิตเมื่อผลงานเข้าตานายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้ทรงอิทธิพลบนบัลลังก์การเมือง 

มหาเธร์เจาะจงชี้ตัวเขาให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการสร้างตึกในฝันกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ที่ตนตั้งใจให้เป็นเครื่องมือประกาศศักดิ์ศรีของมาเลเซียในฐานะเจ้าของตึกที่สูงที่สุดในโลก ที่มากไปกว่านั้นคือมันจะต้องไม่ใช่แค่ตึกเดียว แต่เป็นสองตึก  อนันดา กริชนัน ควักกระเป๋าร่วมทุนบางส่วนพร้อมกำกับดูแลการก่อสร้างและมอบผลงานตึก KLCC หรือตึกแฝดเปโตรนาส ให้นายกฯ ได้อย่างเรียบร้อยหมดจด โดยตึกเปโตรนาสได้รับการขนานนามว่าเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกระหว่างปี 2541–2547 และกลายมาเป็นหนึ่งในไอคอนสำคัญของมาเลเซียนับแต่นั้น  

งานใหญ่ย่อมมาพร้อมรางวัลงาม สำหรับอนันดา กริชนัน มันคือหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทเจ้าของตึกแฝด KLCC Holding Bhd ต่อมาในปี 2545 เขาขายหุ้นทั้งหมดให้บริษัทเปโตรนาสในราคาที่ไม่เปิดเผย แล้วใช้เงินก้อนนั้นผันตัวออกจากธุรกิจแบบเก่าคือน้ำมันและอสังหาริมทรัพย์เข้าสู่โทรคมนาคมและมัลติมีเดีย สถาปนาตนเป็นเจ้าพ่อโทรคมนาคมมาเลเซียผ่านบริษัทโฮลดิ้ง Usaha Tegas Sdn Bhd ของตน ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ Maxis Communication Bhd และบริษัทสถานีโทรทัศน์และวิทยุผ่านดาวเทียม Astro Holding Sdn Bhd เขาขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีที่รวยเป็นอันดับสี่ของประเทศในปีนี้ด้วยทรัพย์สินมหาศาล รวมทั้งดาวเทียมสองดวงในห้วงเวหา  

ในเวลาไล่เลี่ยกัน วินเซนต์ ตัน (Vincent Tan) อดีตเซลล์แมนขายประกันเชื้อสายจีนกลายมาเป็นคนใกล้ชิดของดาอิม ไซนูดีน (Daim Zainuddin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนสนิทของนายกฯ มหาเธร์ เวลานั้นรัฐบาล UMNO เริ่มกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยบริษัทของรัฐค่อยๆ ถูกผันเข้าสู่มือเอกชน วินเซนต์ ตันได้ไฟเขียวเข้าซื้อหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท Sports Toto Malaysia Sdn Bhd เจ้าของกิจการลอตเตอรี่ของรัฐบาลโดยไม่ต้องผ่านระบบประมูลแข่งขัน ปัจจุบันบริษัท Berjaya Corporation Berhad ของเขาเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ผูกขาดดำเนินกิจการลอตเตอรี่ในมาเลเซีย กลายเป็นห่านไข่ทองคำที่ทำให้เขาดำรงฐานะมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของมาเลเซียมาจนปัจจุบัน

ชะรอย โรเบิร์ต ก๊วกจะพูดไว้ไม่ผิดว่าระบบเศรษฐกิจกับการเมืองมาเลเซียพัวพันกันอย่างแยกไม่ออก ในคริสต์ทศวรรษ 1970s นายกรัฐมนตรี อับดุล ราซัก (Abdul Razak) จากพรรค UMNO ใช้การเมืองเชื้อชาตินิยมเป็นตัวกำหนดระบบเศรษฐกิจผ่านนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy: NEP) เอื้อสิทธิพิเศษให้พลเมืองเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลาม หรือกลุ่มภูมิบุตร แม้ว่ามาเลเซียในทศวรรษต่อมาภายใต้การนำของมหาเธร์ โมฮัมหมัดจะเริ่มกระบวนการการพัฒนาสู่ความเป็นสมัยใหม่อย่างแข็งขัน แต่ก็ยังคงสืบทอดอุดมการณ์เชื้อชาตินิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย 

ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นยุคใด สิ่งที่ค้ำจุนอำนาจทางการเมืองอย่างไม่เปลี่ยนแปลงคือระบบเศรษฐกิจพวกพ้องแบบมาเลเซียที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

การเมืองกับทุนนิยมพวกพ้อง พี่น้องท้องเดียวกัน

นิโคลัส ไวท์ (Nicholas White) อธิบายความหมายของทุนนิยมพวกพ้อง (Crony Capitalism) ไว้ว่าคือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่นักธุรกิจภาคเอกชนได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผ่านการให้สัมปทานและการหนุนช่วยจากรัฐ รวมทั้งได้รับความคุ้มครองจากการแข่งขันจากกลุ่มธุรกิจต่างชาติ เขาชี้ว่าระบบเศรษฐกิจการเมืองมาเลเซียปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้มีอํานาจด้วยการเอื้อให้มีการผูกขาดและรวมศูนย์ความมั่งคั่ง นำไปสู่ความอ่อนแอของกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ที่ขาดเส้นสายทางการเมือง

ในยุค 1980s อดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด เจ้าของฉายา ‘สถาปนิกแห่งมาเลเซียยุคใหม่’ ครองเก้าอี้หัวหน้าพรรค UMNO ซึ่งปักธงรวบอำนาจทางการเมืองในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล มหาเธร์นำพาแนวร่วมรัฐบาลชนะเลือกตั้งติดต่อกันห้าสมัยและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันถึง 22 ปีระหว่าง พ.ศ. 2524-2546 ในระยะเวลา 22 ปีนั้น ระบบทุนนิยมพวกพ้องไดรับการปรับเปลี่ยนให้ระบบและเข้มข้นขึ้นกว่าเดิมด้วยฝีมือของนายกรัฐมนตรีเอง   

ในเวลาที่รัฐบาล UMNO ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเชื้อชาตินิยมต่อประชากรชั้นกลางและรากหญ้าอย่างแข็งขัน นายกฯ มหาเธร์กลับไม่เอาเรื่องเชื้อชาติมาเป็นประเด็นในการเลือกนักธุรกิจจำนวนหยิบมือเข้าไว้ในเครือข่ายตน ทั้งโรเบิร์ต ก๊วก, อนันดา กริชนัน, วินเซนท์ ตัน และนักธุรกิจนอกกลุ่มภูมิบุตรบางราย ล้วนได้รับโอกาสใหญ่ทางธุรกิจจากเขาในลักษณะที่ไม่ต่างกับนักธุรกิจกลุ่มภูมิบุตรเช่น นายม็อคตา อัล บุคคารี (Mokhtar Al-Bukhary) เจ้าของ Al-Bukhary Group ที่ครอบครองธุรกิจขนาดใหญ่หลายชนิด เช่นการเงิน ยานยนต์ และเหมืองแร่ ถือเป็นผู้เติบโตในยุคมหาเธร์จนมีฉายาว่าหัวหน้ากลุ่มเด็กเส้นพรรค UMNO (UMNO’s Chief Crony) 

มหาเธร์อาจเป็นผู้ตัดแต่งดีเอ็นเอของระบบทุนนิยมพวกพ้องให้เข้ากับผลประโยชน์ของตนและสภาพแวดล้อมทางการเมืองมาเลเซียในภายหลัง แต่เขาไม่ใช่ผู้ก่อกำเนิดมัน 

ทุนนิยมพวกพ้อง การเมืองแบบอุปถัมภ์ และอุดมการณ์มลายูเป็นใหญ่ ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกันในคาบสมุทรมลายานับแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษ หลังการประกาศเอกราชในคริสต์ทศวรรษ 1950s  กลุ่ม ‘เถ้าแก่’ หรือนักธุรกิจชั้นนำเชื้อสายจีนกับกลุ่มนักการเมืองภูมิบุตรก็จับมือเป็นพันธมิตรกันอย่างชัดเจน เป็นจุดเริ่มต้นของความรางเลือนของเส้นแบ่งระหว่างธุรกิจและการเมือง ก่อกำเนิดระบบทุนนิยมพวกพ้องไปพร้อมกับการก่อตัวประเทศเกิดใหม่ชื่อมาเลเซีย

เถ้าแก่เชื้อสายจีนลงขันตั้งพรรค MCA (Malaysian Chinese Association) รวบรวมฐานเสียงชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนไว้กับตนแล้วสร้างแนวร่วมกับพรรค UMNO ซึ่งมีฐานเสียงเป็นชาวมลายู เถ้าแก่เหล่านี้ใจป้ำควักกระเป๋าออกทุนในการหาเสียงให้ทั้งสองพรรคในการเลือกตั้งครั้งแรกๆ ที่ UMNO ยังขาดทุนรอน แต่เป็นที่รู้กันว่าเงินลงทุนไปไม่ใช่ของฟรี เจ้าของเงินได้รับกำไรตอบแทนเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงการคลัง ตำแหน่งประธานรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ และใบอนุญาตก่อตั้งกิจการสำคัญ เช่น ธนาคาร 

อย่างไรก็ตาม การขยายอิทธิพลทางการเมืองของนักธุรกิจเชื้อสายจีนต้องยุติลงหลังการจลาจลทางเชื้อชาติใน พ.ศ. 2512 การเมืองเชื้อชาตินิยมที่รุนแรงขึ้นหลังจากนั้นทำให้ MCA ต้องจำกัดบทบาทกลายเป็นพรรครองที่เดินตามคำบัญชาทางการเมืองของ UMNO เพื่อแลกกับการสร้างความมั่งคั่งและเครือข่ายอุปถัมภ์ของตนเอง

มหาเธร์ โมฮัมหมัด
สถาปนิกแห่งมาเลเซียยุคใหม่ สถาปนิกแห่งทุนนิยมพวกพ้อง

ในเวลา 22 ปีของการครองอำนาจ นายกฯ มหาเธร์ เปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจทุนนิยมพวกพ้องของประเทศให้เข้มข้น ครอบคลุมขอบเขตกว้างขวางและเป็นระบบมากกว่าเดิม ด้วยการลงมือทำเรื่องใหญ่สองประการ นั่นคือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980s และการใช้นโยบายตะกร้าเงิน (Capital Control) ในช่วงวิกฤติการเงินเอเชีย พ.ศ. 2540 

บทบาทของเขาและนักการเมืองพรรค UMNO นำไปสู่ข้อสรุปของแดน สเลเทอร์ (Dan Slater) ที่ชี้ว่าระบบการเมืองมาเลเซียเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการทําอํานาจทางการเมืองให้เป็นอํานาจส่วนตัว โดยผู้แสวงอํานาจเผด็จการฉวยโอกาสใช้สถาบันทางการเมืองไปในการขยายอิทธิพลส่วนตัวทางการเมืองของตนเอง พฤติกรรมเช่นนี้ยังดำเนินไปแม้แต่ในช่วงเวลาที่มีกระแสกดดันด้านประชาธิปไตย

ก่อนที่มหาเธร์จะเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค UMNO เต็มไปด้วยเครือข่ายนักธุรกิจภูมิบุตรในระบบอุปถัมภ์ของนักการเมืองที่เติบโตจากนโยบายเศรษฐกิจใหม่ยุคนายกรัฐมนตรี อับดุล ราซัก นักธุรกิจเหล่านี้ทำหน้าที่หนุนช่วยทางการเงินแก่ผู้นำพรรคระดับสูง หรือ ‘ขุนศึก’ ของพรรคจำนวนหนึ่งที่แยกตัวเป็นกลุ่มอำนาจใหญ่น้อยภายในพรรค การมีทุนรอนทางการเมืองมากขึ้นทำให้ผู้นำกลุ่มอำนาจภายเหล่านี้มีความพร้อมและตั้งป้อมที่จะช่วงชิงอำนาจการนำในพรรคได้ทุกเมื่อ

มหาเธร์ใช้กลเม็ดเด็ดพรายทางการเมืองฝ่าดงขุนศึกขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากอับดุล ราซักได้สำเร็จ ช่วงเศรษฐกิจเติบโตกลางคริสต์ทศวรรษ 1980s เขาประกาศนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ด้วยเหตุผลเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ในมาเลเซียบางรายชี้ว่า มหาเธร์ไม่ได้มีเหตุผลทางเศรษฐกิจเพียงประการเดียว แต่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจยังเป็นยุทธวิธีทางการเมืองที่เขาใช้กระจายผลประโยชน์ให้แก่นักธุรกิจในสังกัดกลุ่มอำนาจต่างๆ เพื่อลดแรงกดดันภายในพรรค 

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในการนำของเขายืดยาวถึงกลางคริสต์ทศวรรษ ​​1990s และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่กว้างขวางที่สุดทั้งในแง่ขนาดและขอบเขตของอุตสาหกรรม 

ยุคแปรรูปรัฐวิสาหกิจกลายเป็นยุคทองของพรรค UMNO และพรรคร่วมรัฐบาล เห็นได้จากจากคำให้สัมภาษณ์ของมหาเธร์ต่อองค์กรความโปร่งใสนานาชาติใน พ.ศ. 2550 ว่าก่อนพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาได้ส่งมอบทรัพย์สินของพรรคให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ หุ้น และเงินสดรวมแล้ว 14,000 ล้านริงกิตมาเลเซีย (ราว 140,000 ล้านบาทไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น) ในปีเดียวกันองค์กรดังกล่าวยังประเมินทรัพย์สินของพรรค MCA ว่ามีประมาณ 20,000 ล้านริงกิตมาเลเซีย (200,000 ล้านบาทไทย)

หลังสิ้นสุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่นาน เศรษฐกิจมาเลเซียระหว่าง พ.ศ. 2540-2542 ก็ซวนเซด้วยวิกฤติต้มยำกุ้ง นายกฯ มหาเธร์ลงมือเรื่องใหญ่อีกครั้งด้วยการประกาศใช้นโยบายตะกร้าเงินเพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่มหาเธร์ก็คือมหาเธร์ผู้ปกป้องอำนาจทุกลมหายใจ วิกฤติการเงินในยามนั้นตัดความสามารถของขุนศึกใน UMNO ในการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจในเครือข่ายตนลง ซึ่งรวมถึงเครือข่ายของนายกรัฐมนตรีเอง นโยบายตะกร้าเงินส่งผลให้ได้มาซึ่งการหมุนเวียนของทุนในระยะสั้น และทุนหมุนเวียนเหล่านั้นบางส่วนถูกใช้ในการหนุนช่วยเพื่อกอบกู้กิจการของนักธุรกิจใกล้ชิดตัวนายกรัฐมนตรี

แม้ตัวเลขของการหนุนช่วยดังกล่าวจะไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ แต่การศึกษาในปี 2546 ชิ้นหนึ่งพบว่า ในเดือนกันยายน 2541 หลังการใช้นโยบายตะกร้าเงิน ร้อยละ 32 ของกลุ่มธุรกิจในเครือข่ายมหาเธร์มีมูลค่าการตลาดรวมกันสูงเป็นพิเศษถึง 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ใครจะไปรู้ว่านโยบายตะกร้าเงินจะเป็นโดมิโนสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอีก 20 ปีให้หลัง มันเริ่มจากชะตากรรมของอันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้เป็นขุนศึกใหญ่ในพรรค UMNO และผู้ได้ชื่อว่าถูกวางตัวเป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อจากมหาเธร์ อันวาร์คัดค้านนโยบายตระกร้าเงินอย่างเปิดเผยด้วยเหตุผลเรื่องความไม่เหมาะสมทางเศรษฐกิจ แต่เหตุผลหนึ่งที่ตีคู่กันไปในสายตาของนักวิเคราะห์บางรายในมาเลเซียคือความไม่พอใจของอันวาร์ต่อการที่มหาเธร์มุ่งช่วยกลุ่มนักธุรกิจภายใต้การอุปถัมภ์ของตนโดยละเลยกลุ่มอื่นรวมถึงกลุ่มของเขาเอง

มหาเธร์ตอบโต้ด้วยการใช้องคาพยพของพรรคและกฎหมายทั้งปวงเพื่อตัดตอนทางการเมือง เริ่มจากการใช้มติพรรคในการปลดอันวาร์จากตำแหน่ง ขับออกจากพรรค ตั้งข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริต รวมถึงข้อหารการมีพฤติกรรมทางเพศที่ขัดต่อกฎหมาย ทำให้อันวาร์เข้าๆ ออกๆ คุกสิริรวมระยะเวลากว่า 10 ปี แต่ชะตากรรมอันเลวร้ายกลับเปลี่ยนฐานะเขาให้กลายเป็นผู้นำขบวนการปฏิรูปการเมือง (Reformasi) ซึ่งรวมตัวองค์กรประชาสังคม ประชาชน และพรรคฝ่ายค้าน เรียกร้องความยุติธรรมในสังคม และนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของพรรค UMNO ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561

วังน้ำวนของความหายนะ

ระบบพรรคการเมืองมาเลเซียดำเนินมาอย่างต่อเนื่องปราศจากการแข่งขันทางอำนาจจากสถาบันอื่นๆ และเอื้อต่อการสะสมทุนทางอำนาจและการเงินอย่างไม่ชะงักงัน ในยุครุ่งเรืองของพรรค UMNO ที่ยืดยาวถึงหกทศวรรษ กลุ่มธุรกิจและการเมืองในมาเลเซียมีอิทธิพลต่อกันและกันอย่างมหาศาลและร่วมกันเพิ่มพูนอํานาจควบคุมเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศจนกลายเป็นบรรทัดฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองของมาเลเซียถึงปัจจุบัน

การเมืองเชื้อชาตินิยมผสานกับทุนนิยมพวกพ้องก่อให้เกิดตระกูลชนชั้นนำทางการเมืองที่สะสมทุนและสร้างอาณาจักรน้อยๆ ขึ้นในพรรค ตระกูลเหล่านี้สืบทอดการควบคุมทรัพยากรของพรรคและส่งต่ออำนาจทางการเมืองจากสมาชิกครอบครัวรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นนาจิบ ราซัค (Najib Razak) อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุตรชายของอับดุล ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรีเจ้าของนโยบายเศรษฐกิจมลายูนิยม อีกทั้งนาซีร์ ราซัก (Nazir Razak) น้องชายของนาจิบยังดำรงตำแหน่งประธานธนาคาร CIMB Group Holdings Berhad ขณะที่ตัวเขารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, ฮิชามูดีน ฮุสเซน (Hishammuddin Hussein) รัฐมนตรีอาวุโสในรัฐบาลปัจจุบันก็เป็นบุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรี ฮุสเซน ออน (Hussein Onn), และไครี จามาลุดดีน (Khairy Jamaluddin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจากพรรค UMNO คนปัจจุบันก็เป็นบุตรเขยของอดีตนายกรัฐมนตรี อับดุลลาห์ บาดาวี (Abdullah Badawi)

พรรค UMNO ใช้ทุนนิยมพวกพ้องอย่างได้ผลเพราะอยู่ในอำนาจยาวนาน และเวลานี้ก็พร้อมจะสาดกระสุนชิงเก้าอี้ในการเลือกตั้งในเวลาอีกไม่ถึงสองปีข้างหน้า แต่จะชี้ UMNO เป็นผู้ร้ายหนึ่งเดียวก็ไม่น่าจะยุติธรรม เพราะข่าวที่ระแคะระคายอยู่ทุกวี่วันชี้ว่าไม่มีนักการเมืองใหญ่ ทุกก๊กทุกเหล่าเล่นบทผู้ร้ายได้พอกันถ้ามีโอกาส วิถีเดียวที่จะนำพามาเลเซียให้รอดคือการกลับมาของขบวนการปฏิรูปการเมือง ก่อนที่วังน้ำวนของความหายนะจะนำพาประเทศให้ “ดิ่งลง ลึกลงทุกที” ดังที่เพลงเก่าเพลงหนึ่งว่าไว้


อ้างอิง

Jeff Tan. (2008). Privatization in Malaysia: Regulation, Rent Seeking, and Policy Failure. Routledge Taylor&Francis Group. Retrieved from http://www.untag-smd.ac.id/files/Perpustakaan_Digital_2/PRIVATIZATION%20Privatization%20in%20Malaysia,%20Regulation,%20rent-seeking%20and%20policy%20failure.pdf

Johnson, S., & Mitton, T. (2003). Cronyism and Capital Controls: Evidence from Malaysia. Journal of financial economics67(2), 351-382.

Kuok, R., & Tanzer, A. (2017). Robert Kuok: A Memoir. Landmark Books, Singapore.

Searle, P. (1999). The Riddle of Malaysian Capitalism: Rent-seekers or Real Capitalists? Honolulu: Asian Studies Association of Australia in association with Allen & Unwin and University of Hawai’i Press.

Slater, D. Iron Cage in an Iron Fist: Authoritarian Institutions and the Personalization of Power in Malaysia Comparative Politics, Vol. 36, No. 1. (October 2003), 81, doi:10.2307/4150161.

White, N. J. (2004). The Beginnings of Crony Capitalism: Business, Politics and Economic Development in Malaysia, c. 1955–70. Modern Asian Studies,38(02), 389-417.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save