fbpx
การดื่มชาของมาเลเซียและอินโดนีเซีย

ชาใส่นมหรือไม่ใส่นม? มรดกเจ้าอาณานิคมกับวัฒนธรรมชาในมาเลเซีย-อินโดนีเซีย

วัฒนธรรมการดื่มชาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาอย่างช้านาน ไม่ว่าจะในพม่า เวียดนาม ไทย และประเทศที่มีวัฒนธรรมร่วมอย่างเด่นชัด อย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

แม้ว่าอินโดนีเซียและมาเลเซียจะมีวัฒนธรรมหลายอย่างคล้ายคลึงกัน แต่หากมองลึกไปถึงการดื่มชาของสองประเทศนี้จะพบลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ มาเลเซียดื่มชาโดยมีนมเป็นส่วนประกอบ ขณะที่อินโดนีเซียไม่นิยมใส่นมในชา

ผู้เขียนจึงลองหาคำตอบว่าทำไมการดื่มชาของทั้งสองประเทศถึงแตกต่างกันทั้งๆ ที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน


จากจีนสู่ยุโรปและนมในถ้วยกระเบื้อง


เพื่อแยกแยะความแตกต่างของจุดเริ่มต้นการดื่มชาในสองประเทศนี้ ต้องย้อนภาพกลับไปในยุคล่าอาณานิคม เมื่ออังกฤษที่ขึ้นชื่อเรื่องการดื่มชาใส่นมเข้ามาปกครองมาเลเซียตั้งแต่ปี 1826 จนถึงปี 1957 และเนเธอร์แลนด์หรือฮอลันดาปกครองอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 1800-1949 ทั้งสองเจ้าอาณานิคมต่างมีอิทธิพลต่อการดื่มชาของมาเลเซียและอินโดนีเซียอย่างมีนัยสำคัญ

‘ชา’ ในสมัยก่อนขึ้นชื่อว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย หรูหรา เป็นสินค้าหายากจากจีน ดินแดนแปลกตาในสายตาชาวยุโรป ประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างเนเธอร์แลนด์และอังกฤษ เป็นสองชาติแรกที่นำเข้าชาจากจีนไปยังยุโรป  (Sigley, 2015, หน้า 329) ย้อนกลับไปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 พ่อค้าชาวดัตช์เป็นพวกแรกที่แนะนำชาให้ชาวยุโรปได้รู้จัก จนกลายเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นนำของเนเธอแลนด์

แต่นั่นก็ไม่ใช่ครั้งแรกเสียทีเดียว Hoh และ Mair ระบุในหนังสือ The True History of Tea ว่าในปี 1545 พ่อค้าเวนิสท่านหนึ่งชื่อ Giambattista Ramusio ได้บันทึกข้อความว่าพบชาครั้งแรกจากการร่วมวงอาหารค่ำกับพ่อค้าชาวเปอร์เซียที่เกาะมูราโน ที่เวนิส  และพ่อค้าเปอร์เซียผู้นั้นเชื่ออย่างหนักแน่นว่าชาเป็นสมุนไพรชั้นเลิศและมีรสชาติน่ามหัศจรรย์ที่สุดในเวลานั้น

พ่อค้าเปอร์เซียและพ่อค้าเวนิสอาจเป็นคนกลุ่มแรกที่แนะนำชาให้ชาวยุโรปรู้จักในฐานะของสินค้าหรูหราดีต่อสุขภาพ ต่อมาเมื่อเนเธอร์แลนด์เริ่มดำเนินตามรอยสเปนและโปรตุเกสที่บุกเบิกพื้นที่แปลกตา ตลอดจนล่าอาณานิคม ก็ได้ทำการค้าขายชากับจีนอย่างจริงจังจนกลายเป็นสินค้าฮิตติดลมบนเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงของเนเธอร์แลนด์ รวมไปถึงดินแดนอื่นๆ ในยุโรปภาคพื้นทวีป

ไม่ต่างกันกับอังกฤษ ย้อนกลับไปปี 1662 แคทเธอรีนแห่งบราแกนซา(Catherine of Braganza) (BBC Travel, 2017) ราชินีอังกฤษ ผู้เป็นกำลังหลักในการช่วยกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สอง (Charles II of England) ให้กลับมาครองบัลลังก์ได้สำเร็จ ราชินีผู้นี้นำชามาเป็นส่วนหนึ่งในการจิบระหว่างพักผ่อนยามบ่าย จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในแวดวงชนชั้นสูงของอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม เดิมทีการดื่มชาใส่นมไม่ใช่วิสัยการดื่มชาในวัฒนธรรมจีน หากแต่การใส่นมนั้นกลับมาจากชนชั้นสูงอังกฤษ โดยในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึง 19 อังกฤษนำเข้าถ้วยโถโอชามกระเบื้องล้ำค่าราคาแพงจากจีนมาเป็นภาชนะดื่มชาและใช้ในชีวิตประจำวัน แต่หากภาชนะกระเบื้องเหล่านั้นบรรจุอาหารที่มีอุณหภูมิร้อนเกินไปอย่างน้ำร้อน ภาชนะก็จะเกิดรอยร้าวและแตกได้ ผู้ดีอังกฤษมักจะใส่นมก่อนใส่น้ำชาร้อนลงถ้วยเพื่อลดอุณหภูมิน้ำ ไม่ให้ถ้วยกระเบื้องราคาแพงแตกร้าว (Beverly, 2010, หน้า 24)


จากเจ้าอาณานิคมสู่ประเทศใต้อาณัติ


การเดินทางของชา จากที่เป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวันของชาวจีน กลายมาสินค้าฟุ่มเฟือยในยุโรปที่ไม่เพียงแค่สะท้อนถึงค่านิยม แต่ยังสะท้อนถึงฐานันดรของผู้ดื่มในช่วงเวลานั้นอีกด้วย อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมการดื่มชายังส่งผลต่ออินโดนีเซียและมาเลเซียด้วยในฐานะประเทศใต้อาณัติอีกด้วย

อินโดนีเซียได้รับอิทธิพลเรื่องการดื่มชาจากเจ้าอาณานิคมชาวดัตช์ ชาเริ่มเป็นที่แพร่หลายในสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษชั้นสูงในคริสต์ศตวรรษที่ 18 วัฒนธรรมการดื่มชาเข้าสู่อินโดนีเซียผ่านบริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย หรือวีโอซี (Dutch East India Company: Vereenigde Oostindische Compagnie – VOC ) ไม่เพียงแค่นำวัฒนธรรมดื่มชามาเท่านั้น แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เนเธอร์แลนด์ได้ปรับพื้นที่หลายแห่งในอินโดนีเซียเพื่อรองรับการปลูกชาส่งออกแข่งกับอังกฤษที่ใช้อินเดียเป็นแหล่งปลูกชา

ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับ Irsyad Martias อาจารย์ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัย Brawijaya อินโดนีเซีย เขาเล่าว่าเมื่อก่อนในช่วงอาณานิคม ชาวอินโดนีเซียจะได้ดื่มชาจากเศษใบชาหลังจากเก็บเกี่ยวเท่านั้น ซึ่งจะมีแต่กลุ่มชนชั้นนำชาวดัตช์เท่านั้นที่ได้ดื่มชาจากยอดใบชา ส่วนใบชาจากส่วนอื่นๆ จะถูกส่งออกไปยุโรป ส่วนในปัจจุบัน Irsyad Martias บอกว่า ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่จะดื่มชาดำใส่น้ำตาล และการดื่มชามีขึ้นได้ตลอดทั้งวัน แต่กลุ่มวัยรุ่นมักจะนิยมออกไปดื่มชา สูบบุหรี่ พูดคุยกันตามร้านชายามค่ำคืน อย่างไรก็ตามการดื่มชาของชาวอินโดนีเซียในปัจจุบันนี้เริ่มมีการใส่นมบ้างตามเทรนด์ แต่ก็ยังไม่แพร่หลายเท่ากับในมาเลเซีย


ส่วนวัฒนธรรมการดื่มชาในมาเลเซียสะท้อนความผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและการดื่มชาแบบชาวจีน ในมาเลเซียมีเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่ขึ้นชื่อ ซึ่งก็คือ Teh Tarik หรือ ชาชัก โดยมีวิธีการชงชาแบบเดียวกับชาชักในทางตอนใต้ของไทย

ชาชัก หรือ Teh Tarik ในมาเลเซีย มีต้นกำเนิดมาจากแรงงานอพยพชาวทมิฬจากอินเดียใต้ที่เจ้าอาณานิคมพาเข้ามาปลูกยางในมาเลเซียหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Kopicha, ไม่ระบุปี) โดยในช่วงแรกชาวทมิฬเปิดร้านอาหารเช้าเล็กๆ หรือที่เรียกว่า Mamak อาหารและเครื่องดื่มหลักจะขายชาชักกับโรตีจาไนหรือโรตีจาเน (คล้ายกับโรตีที่เห็นทั่วไป) จนกระทั่งได้รับความนิยมในปัจจุบันและสามารถเบียดเข้าไปเป็นวัฒนธรรมการดื่มกินของชาวมาเลย์ได้ ซึ่งปัจจุบันไม่จำกัดว่าเป็นอาหารเช้าเท่านั้น แต่เป็นอาหารที่เหมาะกับทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการถ่ายทอดสดฟุตบอล ชาก็เป็นเครื่องดื่มที่ขาดไม่ได้

การดื่มชาใส่นมแบบอังกฤษดูเหมือนไม่มีอิทธิพลโดยตรงกับการดื่มชานมในมาเลเซียมากนัก แต่การดื่มชาใส่นมนั้นค่อนข้างแน่ชัดว่ามาจากชาวทมิฬอพยพในมาเลเซีย เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปสู่ประวัติการดื่มชาในอินเดีย และชาที่มีชื่อว่ามาซาล่าไช (Masala Chai) ซึ่งเป็นชาดำใส่นมควายและเครื่องเทศกลิ่นหอม

มองย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น อินเดียก็ได้รับอิทธิพลมาจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อังกฤษได้เริ่มอุตสาหกรรมการปลูกชาดำในแคว้นอัสสัมของอินเดียเพื่อส่งออกไปยุโรป การปลูกในแคว้นอัสสัมเป็นเสมือนจุดกำเนิดของชาอัสสัมอันลือชื่อและมักจะชูจุดขายว่าเป็นชาสำหรับอาหารเช้า (breakfast tea)

มากกว่านั้นสมาคมชาแห่งอินเดีย (Indian Tea Association) ที่ริเริ่มโดยอังกฤษ ในปี 1881 ทำแคมเปญสนับสนุนการขายชาในอินเดีย โดยสนับสนุนให้บริษัท ห้าง ร้าน โรงงาน เหมืองแร่ และโรงงานทอผ้า จัดพื้นที่ขายชาให้ลูกจ้างนั่งดื่มระหว่างเวลาพักผ่อนในแต่ละวัน แต่ด้วยราคาชาอัสสัมที่สูงเพราะเป็นสินค้าส่งออกในขณะนั้น บรรดาพ่อค้าแม่ขายชาแผงลอยหรือร้านตั้งถาวรจึงลดต้นทุนของชาแต่ละแก้ว ด้วยการเพิ่มนมควาย และเครื่องเทศเข้าไปในชาดำเข้มข้น

จากการสนับสนุนของเจ้าอาณานิคมนี้เอง ทำให้เกิดอาชีพใหม่อย่าง ชาวาลา (Chawala) ซึ่งเป็นอาชีพคนขายน้ำชาที่มีส่วนสำคัญในการทำให้วัฒนธรรมการดื่มมาซาล่าไช ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว


นมในชาและเขตอำนาจอาณานิคม


ในขั้นต้นสามารถสรุปได้ว่า การดื่มชาในสองประเทศนี้มีความแตกต่างกันโดยมีสาเหตุหลักมาจากเจ้าอาณานิคมที่ให้มีการปลูกชาส่งออกป้อนตลาดชนชั้นสูง การกระตุ้นการค้าชาจากเจ้าอาณานิคม ตลอดจนส่งวัฒนธรรมการดื่มชาผ่านแรงงานอพยพ

เจ้าอาณานิคมเป็นตัวตั้งตัวตีที่ทั้งดื่มชา ค้าชา รวมถึงกระตุ้นให้ดื่ม อย่างการดื่มชาในอินเดียที่ชาวทมิฬนำมาสู่มาเลเซีย ก็ได้รับอิทธิพลมาจากการกระตุ้นให้ดื่มชาจากเจ้าอาณานิคมอีกทอดหนึ่ง

สันนิษฐานได้ว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการดื่มชาใส่นมมีส่วนได้รับอิทธิพลมาจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษที่เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนใต้อาณัติและมีการส่งต่อวัฒนธรรมการดื่มชาผ่านตัวบุคคล เช่น แรงงานชาวทมิฬ ส่วนในอินโดนีเซียที่แตกต่างออกไป เป็นไปได้ว่าวัฒนธรรมการดื่มชาแบบอังกฤษไม่สามารถเบียดเสียดเข้าไปมีอำนาจนำในพื้นที่ของเนเธอร์แลนด์ได้ และการเดินทางข้ามรัฐอาณานิคมอาจจะทำได้ยากจึงไม่มีการส่งต่อผ่านตัวบุคคล

ดังนั้นความแตกต่างของการดื่มชาในอินโดนีเซียและมาเลเซียมีรากมาจากเจ้าอาณานิคมที่มีส่วนสำคัญในการสร้างและเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านอำนาจนำ ทั้งในแง่การสร้างภาพหรูหราจากชนชั้นนำในการดื่มชา รวมไปถึงการใช้ประเทศใต้อาณัติเป็นพื้นที่ในการปลูก ส่งออก และขายในดินแดน

__________________________________________________

อ้างอิง

– BBC Travel. (28 August 2017). The true story behind englands tea obsession.

– Dubrin Beverly . (2010). Tea Culture: History, Traditions, Celebrations, Recipes & More. Watertown, Massachusetts: Charlesbridge Publishing.

– Erling Hoh, และ Victor Mair. (2009). The true history of tea. New York: Thames and Hudson.

– Gary Sigley. (2015). Tea and China’s rise: tea, nationalism and culture in the 21st century. International Communication of Chinese Culture, 2(3), 319–341.

– Kopicha. (ไม่ระบุปี). All about Tea: Tea Culture in Malaysia.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save