fbpx
มาลาเรีย ความเหลื่อมล้ำ โรคระบาดที่กำจัดไม่สิ้นในประเทศไทย

มาลาเรีย ความเหลื่อมล้ำ โรคระบาดที่กำจัดไม่สิ้นในประเทศไทย

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์, พิมพ์ใจ พิมพิลา เรื่องและภาพ

ในโลกสมัยใหม่ที่ผู้คนถกเถียงกันเรื่องเทคโนโลยีความก้าวหน้า มีภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ ให้เราคอยห่วงมากมาย ‘มาลาเรียระบาด’ เป็นข้อเท็จจริงที่หากทราบแล้วคงต้องอ่านทวนซ้ำ ใช่ ‘มาลาเรียระบาด’ เป็นเรื่องจริง และยังคงเป็นปัญหาที่ไม่จบสิ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทย

เดือนเมษายนที่ขึ้นชื่อเรื่องความร้อนรุ่ม ฉันเดินทางไปยังจังหวัดศรีสะเกษพร้อมกับเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิรักษ์ไทย หนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมกับภาครัฐวางยุทธศาสตร์กำจัดไข้มาลาเรีย เพื่อดูให้เห็นกับตาว่า พื้นที่ที่โรคมาลาเรียหรือไข้จับสั่นระบาดนั้นเป็นอย่างไรกันแน่

ศรีสะเกษ เป็นหนึ่งในจังหวัดพื้นที่เสี่ยง มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นชายแดน มีภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำลำธาร ตรงตามระเบียบแหล่งแพร่พันธุ์ยุงก้นปล่องหรือพาหะนำโรคมาลาเรียแบบถูกทุกข้อ อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์กำจัดมาลาเรียได้วางเดิมพันให้พื้นที่นี้ว่า ‘ศรีสะเกษจะปลอดการแพร่เชื้อภายในปี 2567’

แต่…เหตุผลอะไรที่ทำให้วันนี้ศรีสะเกษยังไม่ปลอดการแพร่เชื้อมาลาเรียล่ะ? นี่คือคำถามใหญ่ที่เราจะหาคำตอบตลอดการเดินทางครั้งนี้

ศรีสะเกษ

 

ภูมิศาสตร์ของปากท้อง

เพื่อเดินทางไปพบกับชาวบ้านที่อยู่ในป่า แต่เช้าตรู่ ฉันและเจ้าหน้าที่อีกหลายคนได้ออกเดินทางไปยัง อําเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างทาง กรกฎ อินต๊ะผัด เจ้าหน้าที่โครงการมูลนิธิรักษ์ไทย ได้เล่าให้ฟังว่า จากการดำเนินงานโครงการกําจัดเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยาในภูมิภาคลุ่มแม่น้ําโขงของมูลนิธิพบว่า ประเทศไทยยังคงติดอันดับประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากมาลาเรียสูงที่สุด จํานวน 27 รายในปี พ.ศ. 2559 แม้ว่าจะคิดเป็นเพียง 7% ของผู้ป่วยรวมทั้งหมด แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตนี้เท่ากับตัวเลขของอีก 4 ประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงรวมกัน (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม)

กรกฎ อินต๊ะผัด เจ้าหน้าที่โครงการมูลนิธิรักษ์ไทย
กรกฎ อินต๊ะผัด เจ้าหน้าที่โครงการมูลนิธิรักษ์ไทย

ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มูลนิธิรักษ์ไทยเข้าไปดูแลยับยั้งเชื้อมาลาเรีย จำนวนมากเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะแรงงานจากกัมพูชา พวกเขามักจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยกว่า 6 เดือน ทำงานเสร็จก็ข้ามพรมแดนออกไป และกลับเข้ามาทำงานใหม่อีกเรื่อยๆ ตามฤดูกาลเกษตร เช่น แรงงานไร่อ้อย สวนผลไม้ หรือฟาร์มของชุมชน

นอกจากแรงงานต่างชาติแล้ว ชาวบ้านคนไทยที่มีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับป่าก็เป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน ตั้งแต่ คนเก็บของป่า เกษตรกรกรีดยาง ไปจนถึงหน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่ป่า เช่น ตำรวจตระเวนชายแดน และทหาร

ธนยศ พรมด้าว ผู้อำนวยการมูลนิธิรักษ์ไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่ร่วมทางไปด้วยกัน เล่าว่าสาเหตุที่มาลาเรียยังไม่หมดสิ้นไป ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศที่เป็นเขตร้อน จึงมียุงพาหะนำโรคจำนวนมาก แต่ปัจจัยที่สำคัญและเป็นตัวกำหนดว่าจะมีคนป่วยหรือไม่ คือพฤติกรรมการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพของชาวบ้าน ซึ่งผูกติดอยู่กับเรื่องปากท้อง เงินทอง มูลนิธิหรือหน่วยงานต่างๆ จึงไม่สามารถห้ามชาวบ้านได้

“จริงๆ แล้วการแก้ไขในโครงการ เราพยายามที่จะสื่อสารกับกลุ่มเสี่ยงให้รู้จักวิธีการป้องกันตัวเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงหรือลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทำให้เขารู้ว่าเมื่อเข้าป่าจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร เช่น ใส่เสื้อผ้ารัดกุม เวลานอนต้องใช้มุ้งที่มีน้ำยา การใช้มุ้งคลุมเปลรวมไปถึงเรื่องการทายากันยุงป้องกัน แต่ถามว่าเราจะกำจัดเชื้อนี้ให้หายออกไปจากประเทศไทยได้ไหม ผมไม่แน่ใจ เพราะยุงอยู่ในป่า เราจะไปพ่นยาในป่าที่กว้างใหญ่ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันจึงขึ้นอยู่ที่คน ซึ่งเราก็ห้ามคนเข้าป่าไม่ได้” ธนยศ กล่าว

ธนยศ พรมด้าว ผู้อำนวยการมูลนิธิรักษ์ไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ธนยศ พรมด้าว ผู้อำนวยการมูลนิธิรักษ์ไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กลางป่าทึบละลานไปด้วยต้นยางจำนวนมาก รถเคลื่อนตัวมาหยุดบริเวณที่เรานัดพบชาวบ้านไว้ ตามทิวแถวของต้นไม้มากมาย มีบ้านไม้ขนาดเล็กถูกสร้างแทรกไว้ เมื่อสอบถามพบว่าเป็นบ้านพักของชาวบ้านเมื่อต้องเข้ามากรีดยาง เด็กน้อยนั่งไกวขาที่ชานบ้านลอบมองกันอย่างเอียงอาย อีกครั้งที่เจ้าหน้าที่กระซิบกับฉันว่า ชาวบ้านต้องพาลูกหลานเข้ามาในป่าด้วยเพราะไม่มีคนดูแล

ใกล้ๆ กันนั้น ต้นไม้สองต้นถูกเจ้าหน้าที่ใช้เป็นที่แขวนป้ายความรู้เกี่ยวกับโรคมาลาเรีย ชาวบ้านกว่ายี่สิบคนนั่งลงบนพื้นป่า รับฟังข้อมูลที่อาสาสมัครมูลนิธิค่อยๆ อธิบายอย่างตั้งใจ ดูเหมือนว่าชาวบ้านจะไม่ได้ขาดความรู้มากนัก เพราะหลายคนเคยป่วยเป็นโรคมาลาเรียมาก่อนแล้ว เช่น แอ้น ทองละมุน ชายวัย 48 ในชุดคลุมแปลกตา ผู้ประกอบอาชีพหารังผึ้งในป่า เล่าให้ฉันฟังว่า เขาป่วยเป็นมาลาเรียมาหลายครั้ง ไปรับยาจากอนามัยมากินก็หาย เพียงแต่ว่าเมื่อกลับไปทำงานก็ป่วยซ้ำอีก

เวลาหาผึ้งส่วนมากจะเข้าไปในป่าช่วง 6 โมงเช้า กลับออกมา 6 โมงเย็น เป็นช่วงที่ยุงจะเยอะมาก ชุดที่สวมกันผึ้งได้ แต่ช่วยกันยุงไม่ได้หรอก เพราะว่าผมจะถอดเสื้อเดินหา แต่เวลาจะขึ้นผึ้งถึงใส่ชุด ”

เมื่อถามว่าป่วยบ่อยๆ ไม่ทำให้เขากลัวหรือ เขาตอบว่า

ไม่รู้จะพูดยังไง พูดง่ายๆ คือ ถ้ากลัวก็ไม่มีจะกิน มันต้องหากินอย่างนี้ เพราะพอถึงฤดูปิดหน้ายาง กรีดยางไม่ได้ ก็ไม่มีที่จะไปแล้วครับ ถึงกลัวก็ต้องไป

“ผมมีลูกสองคน ตอนนี้ลูกไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะช่วงทึ่ลูกเรียนอยู่ม.5 ผมโดนจับจากการเข้ามาหาผึ้งในป่า ติดคุกอยู่ปีนึง เลยไม่สามารถส่งลูกเรียนได้ พอออกมาก็ต้องกลับมาหาผึ้งอีก และต้องคอยหลบไม่ให้โดนจับ”

ไม่ต่างจากที่แอ้นพูด ดูเหมือนชาวบ้านจะทราบดีว่าในป่านั้นมียุงและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ชาวบ้านบางส่วนเลือกป้องกันด้วยวิธีเอายากันยุงแขวนไว้ที่หลังเมื่อเข้าป่าไปกรีดยาง แม้ควันไฟจากยากันยุงอาจคลุ้งขึ้นมา แต่ไม่สามารถไล่ยุงได้ร้อยเปอร์เซนต์ และไม่ครอบคลุมทุกส่วนของร่างกาย

ภูมิปัญญาชาวบ้าน กันยุง

สุขอนามัยตามมีตามเกิด

นอกจากพื้นที่ป่าแล้ว เรายังเดินทางไปที่ไร่อ้อยแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้บริเวณชายแดน อาสาสมัครจากรักษ์ไทยให้ความรู้กับชาวบ้านและแรงงานชาวกัมพูชาเกี่ยวกับโรคมาลาเรีย ทั้งยังแจกอุปกรณ์ป้องกัน เช่น มุ้งชุบน้ำยา ยาฉีดกันยุง รวมถึงถามไถ่สุขภาพและอาการที่อาจบ่งชี้ว่าเป็นไข้มาลาเรีย เช่น มีไข้ หนาวสั่นเป็นเวลา ปวดตัว

ที่ไร่อ้อยเราพบกับ ยูร แรงงานชาวกัมพูชาวัย 25 ปี ยูรจะมาทำงานที่ไทยทุกๆ สองสามปี ในหน้าตัดอ้อย และจะอยู่จนกว่าจะเก็บอ้อยเสร็จ “ก่อนจะมาทำได้ต้องไปตรวจสุขภาพก่อน ถึงจะทำงานได้ แรงงานคนอื่นๆ ก็มาพร้อมกัน เป็นพี่น้องจากหมู่บ้านเดียวกัน งานที่ทำจะตัดอ้อยตั้งแต่หกถึงเจ็ดโมง แล้วจะทำงานอีกทีเวลาห้าโมงเย็น เพราะตอนกลางวันอากาศร้อน บางทีทำงานแทบไม่ได้ หน้าที่ที่ต้องทำคือตัดอ้อย ขนอ้อยขึ้นรถ เมื่อตัดอ้อยเสร็จก็จะใส่ปุ๋ย ฉีดยาด้วย”

ยูรบอกว่าตัวเองไม่กลัวป่วยเป็นมาลาเรีย “ผมรู้ว่าถ้าไม่สบายก็จะบอกแม่ (เจ้าของไร่อ้อย) เพื่อให้พาไปหาหมอ ไม่ต้องกลับไปหาที่เขมร ผมมีบัตรสุขภาพสามารถรักษาได้ที่ไทย”

ยูร แรงงานชาวกัมพูชาวัย 25 ปี (ชายคนซ้าย) กับแรงงานในไร่อ้อยคนอื่นๆ
ยูร แรงงานชาวกัมพูชาวัย 25 ปี (ชายคนซ้าย) กับแรงงานในไร่อ้อยคนอื่นๆ

หลังจากพูดคุยกับยูร เราเดินไปดูบริเวณบ้านที่ยูรใช้พักอาศัย บ้านไม้มุงหลังคาไร้ผนัง อาจไม่แย่เท่าไหร่ เมื่อเทียบกับที่ ข้างๆ ตัวบ้าน เป็นลำธารเล็กล้อมรอบ สายน้ำซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธ์ของยุง

วิสาธร ผลสุข เจ้าของไร่อ้อยวัย 55 ปี เล่าให้ฟังถึงความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติ และความจำเป็นในการจ้างแรงงานเหล่านี้

“เราไปรับเขามาจากช่องสะงำ ไปหาคนงานจากอัลลองเวง ประเทศกัมพูชา แล้วก็พาเขาขึ้นมาทำบัตรแรงงาน ก่อนที่จะเข้ามาทำงาน เขาจะต้องตรวจสุขภาพก่อน ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ แล้วไปซื้อบัตรประกันสุขภาพที่จังหวัด ถ้าหมอวินิจฉัยว่าเขามีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เขาถึงจะมีสิทธิทำงานได้

“ตรวจสุขภาพจะจ่าย 500 ซื้อประกันสุขภาพอีก 500 และทำใบอนุญาตการทำงาน 325 บาท รวมเป็น 1,325 บาท เขาจะเป็นคนจ่ายเอง เราก็หักกับเขาจากค่าแรง บางทีเราก็มีสวัสดิการช่วยเขา อย่างการออกค่าบัตรประกันสุขภาพ บางทีเราก็มีอาหารให้เขา อาทิตย์นึงอาจจะซื้อข้าว ซื้อไข่ พูดง่ายๆ ว่าเราอยู่กับแบบพี่แบบน้อง ไม่ค่อยเหมือนนายจ้างเท่าไหร่ เวลาที่เขาไม่มี เราก็แบ่งปันกันกิน

เราก็ให้อยู่อย่างนี้แหละค่ะ มีห้องน้ำ มุ้งก็มีให้แต่คนมันเยอะ บางทีเขาก็เอามาเอง โดยส่วนมากจะไม่ให้เขาไปที่อื่น ให้อยู่ทำงาน นอนที่นี่ ไม่อยากให้เขาเข้าไปเพ่นพ่านในหมู่บ้านเท่าไหร่ แต่บางครั้งเราก็พาเขาไปเที่ยวเหมือนกัน ที่ศรีสะเกษ ตรงไหนที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นสวนสัตว์ก็พาเขาไป

“จริงๆ ที่นี่มีแรงงานไทยปะปนบ้าง แต่ถ้าเป็นช่วงตัดอ้อย เราใช้แรงงานเขมร เพราะไร่อ้อยอื่นๆ จะแย่งคนงานกัน คนไทยขาดแคลน เราก็ต้องเอาเขาเข้ามา”

 วิสาธร ผลสุข เจ้าของไร่อ้อย
วิสาธร ผลสุข เจ้าของไร่อ้อยวัย 55 ปี

นอกจากความเป็นอยู่แล้ว วิสาธรเล่าว่าแรงงานชาวกัมพูชามีพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ อีก เช่น การไม่ยอมหยุดงานไปรักษาตัว หรือไม่ไปหาหมอ แล้วหายากินเอง เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิรักษ์ไทยยังเสริมว่า จากการติดตามอาการของโรค พบว่าหลายคนเมื่อกินยาจนรู้สึกดีขึ้น ก็ไม่กินยาต่อจนครบ ทำให้ดื้อยา

“บางคนเป็นแผลก็พาเขาไปรักษา หายก็กลับมาทำงานต่อ หรือบางคนเขาป่วยมาจากบ้าน หมอห้ามไม่ให้ทำงาน แต่เขาก็ดื้ออยากทำงาน อยากได้เงิน

“บางคนที่ซื้อยามาจากเขมร เราก็ให้ความรู้ว่า ยาที่เรากิน ถ้าเราไม่ตรวจสุขภาพ ไม่หาหมอ ก็อย่าไปเสี่ยงกิน บางคนกินยาไม่ครบก็อาจดื้อยา เขาบอกเราว่า ถ้าอยู่เขมรเขาไม่ค่อยไปหาหมอเพราะว่ามันแพง เวลามีอาการเขาก็จะเดาอาการตัวเอง แล้วก็ไปซื้อยามากิน” วิสาธรเล่า

ความขรุขระและไกลห่างของสาธารณูปโภค

พ้นจากไร่อ้อยและป่าทึบ เราเดินทางไปยังวัดป่าสายกลาง วัดที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ถนนหนทางขณะที่รถตู้ของพวกเราเคลื่อนไปนั้น ทำให้ไหล่ซ้ายขวาของเรายักขึ้นลงไปมาตามหลุมร่องที่เกิดบนทางลูกรัง เลาะตามแนวป่าไปหลายนาที ก็ถึงวัดป่าที่เงียบสงบ ที่นั่นเราพบกับลูกศิษย์วัดที่มาปฏิบัติธรรม ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ ลูกศิษย์หลายคนป่วยเป็นมาลาเรียซ้ำๆ หลายครั้ง

บุญมี ไชยทอง ชายอายุ 40 ปี หนึ่งในลูกศิษย์วัด เล่าให้ฟังว่า “ตอนแรกที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ อยู่ๆ ก็ตัวร้อน ทรมาน เหมือนจะตาย ตอนแรกผมคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา นอนอยู่บ้าน 2-3 วันจนเยี่ยวออกมาเป็นสีเลือด กินทิฟฟี่ไปสักพักก็กลับมาก็เป็นเหมือนเดิมอีก พอมีไข้อีกรอบผมเลยไปโรงพยาบาล เขาก็เจาะเลือด พบว่าเป็นไข้มาลาเรีย

“ผมน่าจะติดเชื้อตอนช่วงฤดูฝน ระหว่างนั่งสมาธิ เดินจงกรม ผมไม่ได้ทายากันยุง จริงๆ นั่งสมาธิในมุ้งก็ได้ แต่ว่าตอนนั้นผมไม่ได้คิดระวังเรื่องนี้

“ผมขี่มอเตอร์ไซค์ไปโรงพยาบาลพร้อมกับกับภรรยา ตัวสั่นไปตลอดทางเลยครับ ผมเป็นคนขี่ คนป่วยเกือบพาคนธรรมดาล้ม (หัวเราะ) เพราะว่าถนนหนทางแบบนี้มันขับยาก และต้องขับออกไปเป็นชั่วโมงกว่าจะถึงโรงพยาบาล”

บุญมี ไชยทอง ชายอายุ 40 ปี
บุญมี ไชยทอง ชายอายุ 40 ปี หนึ่งในลูกศิษย์วัด

เส้นทางไกลและถนนที่ยังตัดเข้ามาไม่ถึงพื้นที่นี้ ไม่เพียงสร้างความลำบากให้กับผู้อาศัยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ยุรี เทพอาจ เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า

“ก่อนที่เราจะไปตามผู้ป่วย เราจะโทรเข้าไปหาอาสาสมัครว่ามีคนนี้อยู่ไหม? บางทีเขาไม่ได้อยู่บ้าน แต่จะไปอยู่สวนยางในป่า บัตรประชาชนระบุว่าอยู่บ้าน แต่ตัวจริงเขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น

“การติดตามการกินยาของผู้ป่วยจะต้องทำตามกำหนด และต้องตรวจเลือดครั้งสุดท้าย เพื่อระบุว่าผู้ป่วยหายขาดหรือปลอดจากเชื้อแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือผู้ป่วยไม่มาตามนัด เมื่อเราโทรสอบถาม ก็พบว่าผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางมาได้เพราะไม่มีค่าเดินทาง ไม่มีค่าน้ำมัน เนื่องจากระยะทางไกล

“การที่กำลังคนของหน่วยงานรัฐไม่สามารถลงพื้นที่ได้ เพราะส่วนใหญ่หน่วยงานรัฐเป็นหน่วยงานตั้งรับตามสถานบริการ ฉะนั้นผู้ป่วยจะต้องเข้ามาเองถึงได้รับการตรวจ ภาคประชาสังคมจึงต้องช่วยกัน ทำยังไงก็ได้ให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ ลงพื้นที่ วางแผนร่วมกับหน่วยงานรัฐ เข้าไปเจาะตรวจในพื้นที่” ยุรีเล่า

ยุรี เทพอาจ เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิรักษ์ไทย
ยุรี เทพอาจ เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิรักษ์ไทย (หญิงใส่แว่น) ขณะนั่งประชุม สอบถามเรื่องสุขภาพกับชาวบ้าน และแรงงานชาวกัมพูชา

ข้อจำกัดของการดำเนินงาน

สุกัน ผาริโน เจ้าหน้าที่รักษ์ไทยประจำจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า องค์กรภาคประชาสังคมไม่สามารถเจาะตรวจเลือดได้ บางครั้งวางแผนกับหน่วยงานภาครัฐแล้ว แต่ความรับผิดชอบอื่นๆ ที่มีมากของภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถจัดบุคลากรเข้าไปในพื้นที่พร้อมกันได้ ส่วนตัวเขาเอง ก็ไม่สามารถละทิ้งผู้ป่วยได้เช่นกัน ภาคประชาสังคมอย่างมูลนิธิรักษ์ไทยจึงพยายามรับผิดชอบผ่านการอบรม สื่อสารความรู้ในการป้องกันให้ชาวบ้านให้ได้มากที่สุด

“เราทำได้แค่ให้ข้อมูล แจกมุ้ง แต่ไม่ได้เจาะเลือด เมื่อไม่ได้เจาะเลือดก็ไม่สามารถคีย์ข้อมูลเข้าระบบได้ จึงทำให้ตัวเลขข้อมูลของจังหวัดมันต่ำ

“อย่างกัมพูชาและลาว องค์กรภาคประชาสังคมสามารถเจาะเลือดได้ เมื่อเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่ไกล หรือมีการจัดกิจกรรม เขาจะเจาะตรวจตรงนั้นแล้วนำผลเลือดมาให้หน่วยงานภาครัฐวินิจฉัย และถ้ารู้ผลเร็วก็สามารถรักษาได้เร็ว แต่ในข้อจำกัดของกฎหมายไทย จะต้องเป็นผู้ที่มีวิชาชีพเท่านั้นถึงจะเจาะเลือดได้”

สุกัน ผาริโน เจ้าหน้าที่รักษ์ไทยประจำจังหวัดศรีสะเกษ
สุกัน ผาริโน เจ้าหน้าที่รักษ์ไทยประจำจังหวัดศรีสะเกษ

กรกฎ เสริมในประเด็นนี้ว่า ไม่นานนี้เขาได้เข้าประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข กองควบคุมโรค ว่าจะมีนโยบายการพัฒนาอาสาสมัคร อสม. (อาสาสมัครสาธารณะสุข) ของพื้นที่ศรีสะเกษให้มีการดำเนินการเจาะเลือด

นอกจากนี้ สุกันยังกล่าวถึงข้อจำกัดอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือบริบทของแต่ละพื้นที่ ถึงแม้ว่า อสม.จะผ่านการอบรมและเจาะตรวจได้ แต่ อสม. ก็จะอยู่แค่ในชุมชนหรือหมู่บ้านเท่านั้น ขณะที่แหล่งติดเชื้อห่างออกไปไกลกว่า บางที่เป็นกระท่อมเล็กๆ ในป่า ซึ่ง อสม. และ หน่วยงานต่างๆ เข้าถึงได้ยาก

“สาเหตุที่ไม่เข้าไป มี 2 อย่างคือ ระยะทางที่ไกลและความปลอดภัย เพราะในป่าอาจมียาเสพติด และพื้นที่ในบริเวณป่าเหล่านั้นไม่มีเอกสารสิทธิ์ ดังนั้นผู้ประกอบการจะไม่อยากให้ใครเข้าไป นอกจากนั้น อสม. ยังเป็นบทบาทที่ไม่ได้ดูแลแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว อสม. ยังต้องดูและสุขอนามัยของชุมชนในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น การป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ความรุนแรงในครอบครัว โรคเอดส์ และโรคอื่นๆ”

ปัจจุบันมูลนิธิรักษ์ไทย ดำเนินโครงการภายใต้การสนับสนุนของงบประมาณจากกองทุนโลก ให้บริการตรวจและรักษามาลาเรียโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแก่ประชากรทุกคน ในไม่ช้ามูลนิธิจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ตามนโยบายและการสนับสนุนของกองทุนโลก ซึ่งสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทุกคนหมายมั่น คือความยั่งยืนของกระบวนการอาสาสมัครในอนาคต กรกฎกล่าวว่า

“เราสร้างคนในชุมชนให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น เพื่อที่เขาจะได้บริหารจัดการในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของคนในชุมชนได้ อาสาสมัครก็เป็นคนในพื้นที่ คนทำงานเราก็ให้ความรู้ สร้างเครือข่ายร่วมกับกลุ่มต่างๆ เช่น เครือข่ายผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของกิจการ ว่าถ้ามีปัญหาเรื่องสุขภาพกับแรงงานจะต้องดูแลยังไง บางพื้นที่อาจไม่รู้ว่าต้องไปตรวจที่ไหน เราก็ต้องให้ข้อมูลเขา

“เราพยายามที่จะทำให้การทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรที่อยู่ในชุมชน ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เราอาจมีเวลาในการอยู่ร่วมกันกับเขาแค่ในช่วงแรก แต่เราจะต้องพยายามเร่งให้เกิดการร่วมมือ และนำไปสู่การปฏิบัติในอนาคตเมื่อไม่มีเรา ให้กลายเป็นความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาให้ได้”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save