fbpx
สื่อไทยในดวงตาบิ๊กบราเธอร์ : คุยกับ 'เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย' CEO แห่ง Voice TV

สื่อไทยในดวงตาบิ๊กบราเธอร์ : คุยกับ ‘เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย’ CEO แห่ง Voice TV

ธิติ มีแต้ม และ สมคิด พุทธศรี เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

ในมุมผลกระทบทางการเมือง ถือว่าเป็นความยากลำบากไหมที่ต้องเข้ามาทำองค์กรสื่อหลังรัฐประหาร, ประเมินสภาพสังคมอย่างไร Voice TV จะปรับตัวอย่างไรท่ามกลางธุรกิจสื่อที่อยู่ในภาวะขาลง

ความท้าทายของคุณคืออะไร, ถ้าพิจารณาตัวตนสื่อไทย คุณคิดว่ามีสปิริตพอที่จะพากันออกความขัดแย้งได้ไหม, สื่อที่โตแล้วเป็นตัวของตัวเองได้ ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร

การมีเจ้าของเป็นคนตระกูล ‘ชินวัตร’ ถือว่าท้าทายเสรีภาพของสื่อไหม, และอะไรคือความสำเร็จของ Voice TV ที่คุณอยากเห็นในอนาคต

ทั้งหมดเป็นคำถามบางส่วนที่ 101 มีโอกาสชวน เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ร่วมทบทวน-พูดคุย ในวันเวลาที่องค์กรสื่อมวลชนไทยถูกเขย่าจากภาวะเศรษฐกิจเสื่อมถอย และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีผลต่อพฤติกรรมคนเสพสื่อไปอย่างสิ้นเชิง มากกว่านั้นคือการที่ Voice TV ตกเป็นเป้าหลัก ขึ้นทำเนียบในการจับตาจากบิ๊กบราเธอร์เป็นพิเศษ

ประเด็นคือ อดีตคนทำธุรกิจที่เติบโตมาในธุรกิจที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ตั้งแต่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และขยับมาเป็นเบอร์ 1 ในการคุมบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อต้องเข้ามาในเกมธุรกิจสื่อหลังรัฐประหาร 2557 และเต็มไปด้วยความแปรปรวนมาก เขารับมืออย่างไร ด้วยทัศนคติแบบไหน

คำตอบยาวเหยียดต่อไปนี้ชวนสะท้อนภาพของสื่อไทยอย่างยิ่ง

เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด

หลังจากเข้ามาบริหาร Voice TV คุณมองธุรกิจสื่ออย่างไร

สื่อเป็น content business และเป็น content creator ซึ่งส่วนที่เป็น content creator นั้นมีทั้งส่วนที่เป็น creativity และส่วนที่เป็น story telling สำหรับภาคที่เป็น business ผมมองว่าเป็นกึ่งอุตสาหกรรม ซึ่งมีมิติของ creativity ที่น่าสนใจ

ผมขอเน้นว่าสื่อเป็นสถาบันที่สำคัญของประเทศที่จะทำให้สังคมมีวัฒนธรรมที่ดีงาม และมีส่วนทำให้สังคมก้าวหน้าขึ้นได้จากการเผยแพร่ข่าวสาร แต่อีกด้านก็กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบทบาทของ Technology Disruption ที่ทำให้ปั่นป่วน ผมรู้สึกเลยว่าท้าทายมาก

ขณะที่สื่อหลายๆ สำนัก เน้นขายข่าวประเภทใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่ ฯลฯ อะไรคือความจำเป็นที่ต้องมี creativity

จากการที่ผมเคยเป็นวิศวกร ผมจะใช้วิธีตีโจทย์แบบเดียวกับการแก้สมการ มองจากข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง แล้วลองปรับให้เป็นสมการคณิตศาสตร์ก่อน

ผมวางสมการที่จะทำ content ที่มีคุณค่า ผู้ชมก็ได้ประโยชน์จากคุณค่าของข่าวสารที่น่าเชื่อถือ นี่คือการสร้างฐานผู้ชมซึ่งเป็นกลไก และใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดได้

ขณะเดียวกัน เราก็ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (data mining) ในการออกแบบ content และปรับเปลี่ยนตามผู้ชมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา

ส่วน creativity นั้นมีความสำคัญในแง่ของการสร้างคุณค่าให้กับคอนเทนต์ใน 2 มิติ

มิติแรก คือ การสร้างสรรค์เนื้อหาที่ทำให้สังคมเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก วิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่จะส่งเสริมให้เกิดสังคมที่ดี ชีวิตที่ดี และมีความก้าวหน้า

มิติที่สอง คือ การสร้างสรรค์วิธีเล่าเรื่องและวิธีการนำเสนอที่เข้าใจง่าย น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง creative production การผลิตงานคุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยให้รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาสอดคล้องกับการใช้งานของผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งแตกต่างทั้งในแง่รูปแบบและ device ไม่ว่าจะเป็น long form video แบบ playlist สำหรับรายการทีวี, short form video หรือ info-graphic สำหรับช่องทางออนไลน์

ด้วยเหตุนี้ creativity จึงเป็นวิธีการนำเสนอที่สำคัญให้สอดคล้องกับความปั่นป่วนที่เกิดขึ้น และผมมองว่านี่เป็นหัวใจ

สมัยก่อนสินค้า 10 ชิ้น จะแข่งขันกันว่าหากสามารถนำสินค้าสองชิ้นใดเข้าสู่สื่อโทรทัศน์แค่เพียง 3 ช่องหลักได้ ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว ขณะที่สินค้าอีก 7 ชิ้นของคุณอาจจะมีคุณภาพดีกว่า แต่ก็ขายไม่ได้ ซึ่งเวลานี้มันไม่ใช่โมเดลแบบนั้นแล้ว วิวัฒนาการของเทคโนโลยีมันกลายเป็นสื่อในหลายรูปแบบ ไม่มีขีดจำกัด เรามี living room TV, personal handset, notebook และแอพพลิเคชันมากมาย

ตอนตัดสินใจเข้ามาทำสื่อ มองภาพสื่อไว้อย่างไร พอเข้ามาแล้วเห็นอะไร

ผมมองเห็นภาพสถานการณ์ที่ปั่นป่วนของกิจการสื่อสารมวลชนและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ผมมองว่าอุตสาหกรรมของสื่อไทยยังไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่ สิ่งที่เห็นชัดคือ การทำงานสื่อนั้นขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ทางบวก ซึ่งเป็นพลังพิเศษ แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกหลงใหลอะไร ผมเข้ามาในวันที่สื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แต่ผมไม่ค่อยรู้สึกอะไร เพราะมันเป็นการถอดรหัสตัวแปรในสมการ แล้วที่เหลือก็เปิดเวทีให้กับคนที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ

อุตสาหกรรมสื่อเวลานี้อยู่ในโหมด oversupply เศรษฐกิจของสื่อทีวีมีขนาดตลาดเท่าเดิม หรือเติบโตน้อยตาม GDP ขณะที่ตลาดสื่อมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นมาก ผู้ประกอบการเพิ่มจาก 6 ช่องเป็น 20 กว่าช่อง ผลประกอบการส่วนใหญ่ขาดทุน ซึ่งน่าจะมาจาก 3 ปัจจัยหลักก็คือ Regulator ซึ่งก็คือการที่ กสทช. และผู้ประกอบการ สร้างเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมนี้ไม่สำเร็จ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขาดทุนหรือมีกำไรถดถอย

ผู้ประกอบการจำนวนมากเข้าประมูลและมีค่าใช้จ่ายสูงมากจากการประมูลคลื่นความถี่รวมกว่า 50,000 ล้านบาท และค่าเช่าบริการโครงข่ายก็สูงมาก ขณะที่มีผู้ชมจากโครงข่ายน้อยกว่าเป้าหมายมากและช้ากว่ากำหนด เงินหายจากระบบไปจำนวนมาก การนำเงินประมูลกลับเข้ามาใช้ไม่มีประสิทธิภาพ

ผมมองตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้และอีกหลายประเทศ เขาสร้างเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการโดยรวมได้สำเร็จ ผู้ประกอบการพัฒนาตนเองจนขยายผลเป็นการสร้าง content ส่งออก นำเงินเข้าประเทศได้

ปัจจัยที่ 2 ผมคิดว่าเรายังมีระบบการวัดผลแบบดั้งเดิม เน้นการวัดผลเชิงตัวเลข ซึ่งไม่ครอบคลุมพอ ไม่สะท้อนพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคยุคใหม่หรือการตลาดแบบ segmentation ถ้าสังเกตดูทุกวันนี้ การจะทำให้ได้ผลตัวเลขผู้ชมที่สูง ช่องข่าวยังต้องมีรายการมวยเลย

ปัจจัยที่ 3 ก็คือการให้บริการ social media platform ซึ่งถูกครอบครองโดย aggregator รายใหญ่ๆ ทั้ง Facebook, Google, Youtube, Line, Instragram, Twitter, Netflix ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศต้องปรับโมเดลธุรกิจ ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

เราจึงต้องตัดสินใจปรับขนาดองค์กรให้สอดคล้องกับขนาดเศรษฐกิจรวมของอุตสาหกรรม ปรับกลุ่ม product และ sub companies ให้แต่ละส่วนสามารถ self-finance ได้

ในมุมผลกระทบทางการเมือง ถือว่าเป็นความยากลำบากไหมที่ต้องเข้ามาทำองค์กรสื่อหลังรัฐประหาร

ผมเป็นคนที่ robotic มาก ผมตั้งใจจะทำให้สังคมไทยเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้คนในสังคมมีชีวิตที่ก้าวหน้า ผมจึงยึดหลักความยุติธรรมสากลกับประชาธิปไตยเสรี

ผมรู้สึกว่าหลังๆ มานี้ เราใช้พลังไปกับการอธิบายภายใต้การขอความร่วมมือหรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากเลย ถามว่ารู้สึกอึดอัดไหม มีคนบ่นแทนผมไปเยอะแล้ว จนผมไม่รู้สึกอึดอัดอะไร มันแค่เสียเวลา

ผมถอดสมการว่าอะไรเชื่อมโยงกับอะไรบ้าง แล้วที่เหลือผมก็ดูว่าอะไรคือตัวแปร ซึ่งบางทีมันก็เป็น noise เท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวแปร แต่ถ้ามีสัญญาณรบกวนที่มากเกินไป มันก็กลายเป็นตัวแปรขึ้นมาได้บ้าง เราก็จะไปเจรจากับตัวแปรเหล่านั้น ไม่ว่ามันจะมีโอกาสเป็นศูนย์หรือหนึ่งก็ตาม

นอกจากนี้เราพยายามสื่อสารให้คนในองค์กรเข้าใจว่าเส้นของเราอยู่ตรงไหน แล้วผู้มีอำนาจเขามองเราอย่างไร หน้าที่ผมคือต้องบาลานซ์ว่าบุคลากรที่เขามีอุดมการณ์ เขาทำเนื้อหาแบบนี้เพื่ออะไร แล้วผมก็ไปชี้แจงให้ผู้มีอำนาจฟัง ทุกคนมีความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน สุดท้ายเราให้ผู้ชมเป็นคนตัดสิน เราไม่ได้ปลุกระดม ไม่ได้ใส่ความหรือหมิ่นประมาทใคร

บางอย่างมันแก้ปัญหาได้แบบครั้งเดียวจบ แต่บางอย่างก็ต้องแก้ปัญหาแบบค่อยๆ ชี้แจง บางเรื่องผมก็บอกเขาไปตรงๆ ว่าต้องแก้ปัญหาแบบปรับแต่งกันไป สมการมันคือการเปลี่ยนตัวแปรไปเรื่อยๆ หมุนไปหมุนมา

เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด

ตั้งแต่คุณเข้ามาบริหาร มีการผ่าตัดองค์กรไปสองครั้งด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ตอนนี้ลงตัวหรือยัง ประเมินความรู้สึกคนทำงานอย่างไร

คนที่นี่เป็นคนมีอุดมการณ์ เขาเข้าใจว่าเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ และมันต้องเกิดกับทั้งระบบ ไม่ได้เกิดขึ้นที่เราที่เดียว เราประกาศตัวไปเลยว่าเราปรับขนาดองค์กรให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจทั้งอุตสาหกรรม จัดการให้มี self-finance และสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจว่าเราปรับเพื่อหาจุดที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมแล้ว และกำลังจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

ตอนนี้ผมก็พยายามสื่อสารให้ กสทช. ทราบว่า มูลค่าเศรษฐกิจโดยรวมทั้งอุตสาหกรรม สำหรับผู้ประกอบการมันยังไม่พอ ในขณะที่อุตสาหกรรมสื่อนั้นมีความสำคัญกับสังคมอย่างมาก

คุณประเมินสภาพสังคมอย่างไร แล้ว Voice TV จะปรับตัวอย่างไรท่ามกลางธุรกิจสื่อที่อยู่ในภาวะขาลง

ผมไม่คิดว่าสื่ออยู่ในช่วงขาลง ผมคิดว่าการเป็นผู้ผลิตเนื้อหา Content Creator เป็นอุตสาหกรรมที่ดีมากๆ มีผลมากต่อสังคม และมันดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นที่ถูกแทนที่ไปก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ ผมคิดว่าธุรกิจสื่อจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะถูกแทนที่ คุณดูดีๆ ตอนนี้เรามีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นแทบทุกปี แต่สิ่งที่ทดแทนได้ยากที่สุดคือความสร้างสรรค์

ผมมองว่าผู้ผลิตเนื้อหาเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน และจะมีรายได้สูงมาก เพียงแต่ว่าตอนนี้ผู้เล่นในอุตสาหกรรม ทั้งรัฐบาลและผู้ผลิตเองยังไม่เข้าใจ ก็เลยเกิดสภาวะที่เราประคองยาก ทำให้บุคลากรบางส่วนต้องไปอยู่กับอุตสากรรมอื่น แต่ผมมองว่าผู้ผลิตเนื้อหาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าจริงๆและยากที่จะถูกทดแทนจากสิ่งอื่น ไม่มีใครมาหยิบฉวยได้ แค่เราต้องทำให้เศรษฐกิจของสื่อสำเร็จให้ได้

ผมอยากรู้ว่าถ้ามีคนต่างชาติอยากรู้เรื่องประเทศไทย มันจะมีใครทำเนื้อหาที่ดีที่สุดได้ ถ้าไม่ใช่คนในไทย

พูดกันถึงที่สุด อุตสาหกรรมนี้เป็นที่พึ่งสำคัญของสังคมได้ ถ้าคุณอยากทำอะไร อุตสาหกรรมนี้สามารถเคลื่อนย้ายและสร้างการเปลี่ยนทุกอย่างได้ทั้งประเทศ

ในขณะที่สื่อทั่วไปเน้นเนื้อหาง่ายๆ เพื่อเข้าถึงคนวงกว้าง แต่คุณยิ่งอยากทำเนื้อหายากๆ มันทำให้ขายโฆษณายากไหม ความท้าทายของคุณคืออะไร

Voice TV เน้นสร้าง Content ที่มีคุณค่า มีคุณภาพสูง เนื้อหาเราขายได้ทั้งกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ กลุ่มคนที่เป็นนักคิด ความท้าทายคือเนื้อหาและงานโปรดักชั่นต้องคุณภาพสูง มีการเล่าเรื่องที่ดี เข้าใจง่าย

ในมุมกลับกัน ลองเปรียบเทียบว่า ถ้าคุณทำรายการท่องเที่ยวญี่ปุ่นหรือเกาหลีธรรมดาๆ กับการท่องเที่ยวที่ทิเบต โดยใช้ประสบการณ์และความรู้ความสามารถจากนักคิดและบรรณาธิการ แน่นอนว่าการลงโฆษณากับแบบหลัง คุณจะได้ความพรีเมียมเข้าไปด้วย

เราจะไม่เน้นข่าวเรื่องคนตีกันหรือใครชกมวยตอนไหน ใครชนะ เราเน้นว่าเราจะพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาไทยไปได้อย่างไร ตอนนี้สภาพเป็นอย่างไร มันไม่ใช่การทำข่าวที่คนสนใจอย่างเดียว แต่แกนเนื้อหาคือสังคมมีชีวิตที่ก้าวหน้าขึ้น นี่คือธงของเรา

อีกเรื่องที่สำคัญคือสร้างฐาน การขยายฐานผู้ชมให้มีปริมาณ ไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่แม่นยำ นี่เป็นความท้าทายของทั้งอุตสาหกรรมสื่อ

ดูแล้วสังคมไทยน่าจะยังอยู่ในความขัดแย้งอีกนาน หากอุตสาหกรรมสื่อยังโตไม่ทัน คุณจะทำอย่างไร 

อย่าลืมว่าความขัดแย้งทางการเมืองมันกระทบทุกอุตสาหกรรม กระทบความกินดีอยู่ดี ส่วนการที่ผมโตมา ก็ถือว่าประสบความสำเร็จกับทุกมิติแล้ว คนรุ่นลูกรุ่นหลานเรามีความคิดเรื่อง global citizen มากกว่าเราอีกนะ

ความกังวลเรื่องนี้มันเป็นปัญหาร่วมกันของสังคม ถ้ามันขัดแย้งไปเรื่อยๆ เรายิ่งต้องอยู่เพื่อรักษาสถานะของความยุติธรรมและประชาธิปไตยเสรี ถ้ามีแก่นนี้ไว้ให้คนยึดเหนี่ยวเป็นพื้นที่ในการสื่อสารประเด็นต่างๆ ได้ มุ่งผลิตเนื้อหาให้สังคมไป ผมว่าความขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ จะหายไปเอง

ถ้าพิจารณาตัวตนสื่อไทย คุณคิดว่ามีสปิริตพอที่จะพากันออกความขัดแย้งได้ไหม

ตอนนี้ผลประกอบการของทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ยังขาดทุน ผมห่วงว่าอุตสาหกรรมสื่อมันเล็กไป ทำให้อำนาจต่อรองของเรามันน้อยลงไปด้วย และความเป็นตัวของตัวเองลดลง ถ้าสื่อสามารถ self-finance ตัวเองได้ มันจะมีความเป็นตัวของตัวเองและมีพลังเต็มที่

เวลาผมเห็นมูลค่าเศรษฐกิจของสื่อน้อยลง ผมก็รู้สึกว่าวงการนี้จะต้องต่อสู้ เพื่อให้ความแข็งแกร่งกลับมาอีกครั้ง นี่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง แต่ถึงที่สุดแล้วผลประกอบการจะติดลบอย่างไร Content Creator ที่ไม่มีตรรกะ ก็จะถูกแรงเหวี่ยงกลับไปสู่ตรรกะเองอยู่ดี

สื่อที่โตแล้วเป็นตัวของตัวเองได้ ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร

สำหรับประเทศไทย สุดท้ายควรต้องมีกลุ่ม Content Creator หรือกลุ่มช่องการศึกษา กลุ่มช่อง E Sport กลุ่มช่องข่าว กลุ่มช่องบันเทิง กลุ่มช่องกีฬา กลุ่มช่องเพลงที่ประสบความสำเร็จได้ สามารถทำกำไร และส่งออกในที่สุด รวมทั้งผู้ประกอบการ ผู้ผลิตเนื้อหา ควรรวมตัวกันทำ National Content Aggregator ของประเทศไทย เพื่อสู้กับแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ และทำให้เกิดเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าสำหรับแพลตฟอร์มของสังคมไทยอย่างแท้จริง

แต่ที่ต้องจัดการก่อนอื่นคือ จำนวนผู้เล่นของสื่อจะต้องเหมาะสมกับปริมาณเศรษฐกิจโดยรวม เช่น เดิมเรามีผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ 6 ช่อง แต่มีคนที่ต้องการดูมากกว่า 15 ช่อง ถ้าคุณเป็นคนจัดการระบบอุตสาหกรรม คุณต้องจัดการให้มีเศรษฐกิจรวมเพียงพอสำหรับผู้ประกอบการ ผมขอย้ำอย่างหนึ่งว่า คนที่ทำธุรกิจในตลาดทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ เป็นผู้เล่นที่มีจุดยืนที่จะเป็นคนสร้างเนื้อหาที่ดี

ผมว่าตอนนี้ กสทช. ก็เริ่มมีการผ่อนปรนการจ่ายค่าสัมปทานเป็นงวด มีการพักการชำระหนี้ มีการลดค่ามักซ์ แต่มันไม่ทันเวลาแล้วหรือเปล่า

ในขณะที่โมเดลของต่างประเทศ เวลาที่มีผู้ผลิตจำนวนมากแล้วแย่งความถี่กัน ผู้ผลิตจ่ายค่าใช้ความถี่สูงไป ถ้าเกิดมีปัญหาเศรษฐกิจรวม ผู้ประกอบการไม่พอ ภาครัฐก็จะเอาเงินกลับมาช่วยทันที เพื่อให้เศรษฐกิจในวงจรนี้มันหมุนไปได้ แต่ในไทย การเปลี่ยนผ่านเป็นทีวีดิจิทัลนั้น เราพบว่าภาครัฐไม่ได้สนับสนุนกิจการตรงนี้อย่างได้ผลเท่าไหร่

ที่สหรัฐอเมริกา เวลามีการให้ประมูลความถี่ จากสถานีโทรทัศน์ที่ใช้อยู่ก็กลับไปใช้ทางโทรคมนาคม มีการคืนคลื่น รวมถึงย้ายรายการตัวเองไปอยู่ในแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น เพลย์ลิสต์ออนไลน์หรือแอพพลิเคชันต่างๆ

การคืนคลื่นจะทำได้ยังไง แล้วกลุ่มธุรกิจที่ลงทุนทำเสาส่งสัญญาณไปแล้วทำอย่างไร

สมมติคุณลงทุนเสาไป คุณลองไปสำรวจดูว่า มีคนใช้บริการจากเสาที่คุณลงทุนไปมากขนาดไหน สิ่งที่เป็นอยู่มันคุ้มหรือเปล่า ต้องลองไปเช็คดู ขณะที่โครงข่ายสามารถใช้บริการโทรคมนาคมได้เช่นกัน

เราเป็น Content Creator ที่ออกทุกแพลตฟอร์ม เราต้องเตรียม Content สำหรับทุกสื่อ ทุกเครือข่าย Digital TV, Satellite TV, Cable TV, Online ดังนั้นสิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่สุด ก็คือการเป็นผู้ผลิตเนื้อหา เราเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข่าว มีรูปแบบนำเสนอที่น่าสนใจ เราเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้

มากไปกว่านั้น คนไม่ได้ต้องการดูรายการตามตารางเวลาของเราในช่วงที่ผ่านมา ผมทำรายการต่างๆ แบบรีรันมากขึ้น เราต้องการอำนวยความสะดวกให้คนดูในเวลาที่เขาสะดวก ในขณะที่ทุกคนสามารถดูผ่านออนไลน์ได้อยู่แล้ว

พฤติกรรมผู้บริโภคมันหมุนไป เขาไม่ได้ดูผ่านดิจิทัลทีวีแล้ว เราก็ต้องมาประเมินว่าจะทำยังไง แต่เราจ่ายค่าสัมปทานไปแล้ว 8 ปีครึ่ง เหลืออีก 4 ปีครึ่งที่ยังไม่ได้จ่าย

เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด

ท่ามกลางวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา บุคลากรที่อยู่หน้าจอของช่อง ถูกมองว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน แบบนี้ถือว่าท้าทายกับการสร้างความหลากหลายไหม

เรื่องประเภทเนื้อหาของเราครบถ้วน ส่วนการยึดหลักประชาธิปไตยเสรีในช่วงเวลาที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้ Content แบบนี้จากที่ไหนก็ตาม ย่อมถูกมองว่าเป็นกลุ่มเดียวกันไป ซึ่งเข้าใจได้

ด้วยความที่เราถูกมองว่ามีเฉดสี แต่เพราะเราวางตัวเป็นประชาธิปไตยเสรี ถ้าไปดูช่องไหนก็ได้ที่วางจุดยืนที่เป็นประชาธิปไตยเสรี ก็ถูกมองเป็นแบบนั้นไปทั้งหมด แต่ถ้าดูเราจริงๆ จะเห็นว่าเราเชิญคนที่หลากหลายจากทุกฝ่ายมาพูดตลอด ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราก็ยอมรับไป เรารู้อยู่แล้วว่าจะถูกผลักไปอยู่ในมุมนั้น แต่เราก็จะเป็นในแบบที่เราเลือก

แล้วการมีเจ้าของเป็นคนตระกูล ชินวัตรถือว่าท้าทายเสรีภาพของสื่อไหม

ผมอยากให้มองว่าสื่อเรามีเนื้อหาที่มีคุณค่ากับสังคม ส่วนเรื่องการเมืองที่คนมองเข้ามา ผมรู้สึกเฉยๆ มันเป็นเรื่องชั่วคราวที่เกิดขึ้น เดี๋ยวมันก็หายไป แต่ถ้ามันยังมีอยู่ก็คงต้อง handle กันไป เพราะผมเห็นปรัชญาของที่นี่ ผมเห็นว่าเขาต้องการสร้างเวทีให้กับคนรุ่นใหม่ เขาต้องการสร้างคนคุณภาพให้กับสังคม ผมดูเนื้อหาปรัชญาแล้ว ไม่มีความรู้สึกติดขัดอะไรกัน

แต่อย่างที่บอกว่า เราเป็นสื่อที่มีหลักการเรื่องความยุติธรรมสากล และประชาธิปไตยเสรี การถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองไม่ใช่สาระสำคัญตั้งแต่ต้นและตลอดไป เราได้รับแรงกดดันไม่ใช่เพราะใครถือหุ้น แต่มาจากการที่เรามีจุดยืนประชาธิปไตยเสรีต่างหาก

ผมอยากให้สังคมเข้าใจว่า ไม่มีอะไรมากดดันกับหลักการประชาธิปไตยเสรีที่เรายึดถือได้ หากผู้ถือหุ้นหรือพรรคการเมืองใดขัดกับหลักประชาธิปไตยเสรี บุคลากรในองค์กรนี้ที่มีอยู่หลากหลาย ก็จะวิเคราะห์วิจารณ์กันไป ไม่ใช่ทุกคนเห็นตรงกันหมด มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีคำถาม

จำเป็นต้องรีแบรนด์ไหม ถ้ามีคนติดภาพจำความเป็นตระกูลชินวัตร

ไม่, ไม่มีความจำเป็นที่เราต้องปรับภาพลักษณ์เรื่องนี้เลย โปรไฟล์ของผู้ถือหุ้นก็คือของผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมือง ซึ่งใกล้ชิดกับคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาทั้งสี่คน การที่เขาถือหุ้นในกิจการใดๆ แล้วเราจะไปปรับภาพลักษณ์ว่าไม่เกี่ยวข้อง มันไม่ใช่ประเด็น เนื้อหาที่มีความเป็นสากลต่างหากที่จะทำให้เรื่องเหล่านี้มีผลน้อยลงไปเองเรื่อยๆ

แบรนด์ของเราวางตัวเป็นสถานีวิเคราะห์ข่าว ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศมาแต่ต้น เรามุ่งทำให้คนเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เราเป็นสำนักข่าวที่วิเคราะห์ข่าวได้ดีที่สุดของประเทศไทย ก็เท่านั้นเอง

คุณเข้ามาที่ Voice TV หลังรัฐประหาร มาถึงวันนี้มองเห็นสื่อไทยเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

สื่อพัฒนาขึ้นเยอะในเชิงของรูปแบบการนำเสนอให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี แต่ผมมองว่าเรายังก้าวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มันเข้มข้นมากขึ้น

แต่เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นแล้ว อุตสาหกรรมสื่ออ่อนแอลงมากเลยทีเดียว และในประเทศไทยยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่เอื้อให้สื่อโตได้กว่านี้

มีสื่อสากลที่ใกล้เคียงอุดมคติของสื่อที่คุณอยากเห็นบ้างไหม

ยังไม่มี ผมมองว่าทุกคนมีจุดยืนของเขา แต่ผมชอบ Channel NewsAsia ของสิงคโปร์ ผมเห็นว่าเขามีประชากรน้อย แต่เนื้อหาของเขาสามารถฉายภาพ global citizen ได้ ผมชอบสิงคโปร์ตรงที่เขาเชื่อมอนาคตโลกไว้กับอนาคตสิงคโปร์

ผมชอบตามเพจต่างๆ ที่เป็นสถาบันการศึกษาหรือองค์กร ที่ผมดูบ่อยๆ ก็คือเพจของ World Economic Forum ผมรู้สึกว่าต่อไปเนื้อหาที่สื่อจะนำเสนอ จะต้องมีการศึกษาและการวิเคราะห์

คุณคิดว่าหลังจากนี้จะมีอะไรมาเขย่าวงการสื่อได้อีกไหม

ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายหลายมิติที่จะเกิดขึ้นกับทุกอุตสาหกรรม และจะปั่นป่วน มีวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวงการ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเจอก่อนเจอหลัง

เราต้องพยายามเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกและปรับองค์กรให้ทันเวลา สำหรับเราตอนนี้มันผ่านวิกฤตไปแล้ว ตอนนี้คือช่วงของการบริหารจัดการตัวเองในแต่ละส่วน แล้วค่อยขยับขยายขึ้นไปเป็นขั้นเป็นตอน

เราจะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ หากเราแทนค่าตัวแปรอย่างแม่นยำ มันอาจมีความก้าวหน้าแบบ Break through เกิดขึ้นได้เหมือนกัน

การมีภาพลักษณ์ด้านอุดมการณ์ที่คุณบอก มีผลต่อการหาโฆษณายากหรือง่ายอย่างไร

มีบ้าง, กับธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องอ่อนไหวทางการเมือง เราก็ชี้แจงกันไป แต่ถามว่าประสิทธิภาพของเราเป็นอย่างไร ก็เรามีฐานผู้ชม มีผลผลิตงานคุณภาพสูง ที่เหลือก็คือเรื่องของการทำความเข้าใจกันว่า ทิศทางขององค์กรและผลงานเราเป็นอย่างไร

นอกจากการบริหารฝ่าวิกฤตตั้งแต่เข้ามา คุณสนุกไหมกับการเข้ามาอยู่ในธุรกิจสื่อเต็มตัวได้ 4 ปี

ผมมีความสุขกับผลลัพธ์ ไม่ได้มีความรู้สึกอะไรกับระหว่างทาง ผมทำงานด้วยเหตุและผล ผมเคยทำงานด้านโทรคมนาคม ทำธุรกิจที่บ้าน ทำสนามบิน ผมไม่รู้สึกว่าต่างกัน การทำธุรกิจเป็นสมการที่มีตัวแปร มาทำงานที่นี่ก็เปลี่ยนตัวแปรที่มันยากขึ้นบ้าง คนอื่นอาจรู้สึกว่าผมมีช่องว่างเวลาคุย แต่จริงๆ แล้วผมไม่สนใจ ถ้าเขาทำเนื้อหาที่มีคุณค่า พัฒนาต่อได้ ผมก็ไม่มีปัญหา

เวลาอธิบายให้คนในองค์กรฟังเรื่องสมการเศรษฐกิจ เขาไม่เข้าใจ เขาอาจสนใจการทำงานดนตรีอยู่หลังบ้าน แต่ผมไม่สนใจ ผมอยากบอกว่าถ้าคุณมีเศรษฐกิจที่ทำให้ตัวคุณหาเงินได้พอตัว และทำกำไรได้ คุณก็จะใหญ่ขึ้น ทำห้องดนตรีหลังบ้านของคุณให้ใหญ่ขึ้นได้

สำหรับเรา สุดท้ายก็เลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุด ก็คือการวิเคราะห์ข่าว เพราะผมมองว่าจะทำให้เกิดประสบการณ์และความรู้จากการถกเถียง จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าอย่างได้ผล

 

เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด

คุณว่าน่าเบื่อไหมที่สื่อยังต้องพูดถึงอุดมการณ์หลักๆ อยู่ แทนที่จะไปพูดถึงเนื้อหาหรือรายละเอียดของเรื่องต่างๆ ไปเลย

Voice TV ถูกวางรากฐานอย่างเฉียบคม คือ Smart Voice ‘ฉลาดคิด ฉลาดใช้ชีวิต’ ถ้าเราทำให้คนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกได้สำเร็จ เราก็พอใจแล้ว ถ้าทำให้คนมีชีวิตมีสังคมดีขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ผมพอใจแล้ว

ส่วนการสื่อสารเรื่องจุดยืนประชาธิปไตยเสรี จุดยืนเรื่องความยุติธรรม ก็อาจถูกดึงเข้าไปสู่บรรยายกาศเฉดสีทางการเมืองไปบ้างไม่มากก็น้อย ด้วยสถานการณ์ก่อนกลับไปสู่การเป็นประชาธิปไตย แต่ก็เป็นหลักการสำคัญของการทำงาน

อะไรคือความสำเร็จของ Voice TV ที่คุณอยากเห็นในอนาคต

ผมต้องการทำให้อุตสาหกรรมนี้มีเศรษฐกิจเป็นของตนเอง และส่งออกได้ ความสำเร็จส่วนตัวของผมมันเกษียณไปตั้งนานแล้ว แต่ผมเข้ามาเป็นปากเสียงให้อุตสาหกรรมนี้ เพราะอยากเห็นเศรษฐกิจของสื่อที่โตขึ้นได้ ผมประเมินไว้ 3-5 ปี เศรษฐกิจสื่อน่าจะกลับมาคึกคักได้

ถ้าผมทำงานนี้เสร็จ ผมก็คงไปทำงานอย่างอื่น ตระกูลผมมันอยู่นิ่งไม่ได้ เป็นพวกไฮเปอร์ งานที่ทำต้องมีคุณค่า และผมมีความสุขตอนที่เห็นความสำเร็จ

ประเมินไหมว่าถ้าผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว Voice TV จะสบายขึ้นในทางธุรกิจและการทำเนื้อหาตามหลักการที่ยึดถือไหม

รามีบุคลากรที่ดีที่สุดในการวิเคราะห์ข่าวเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ต่างประเทศ อยู่ที่นี่หมดเลย หลังเลือกตั้ง สิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็เข้าสู่โหมดอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ Voice TV ก็จะเดินหน้ามุ่งสู่ความเป็นสถานีวิเคราะห์ข่าวที่ดีที่สุดของประเทศ เน้นสร้าง Content ที่มีคุณค่า มีคุณภาพสูง ซึ่งผมมองว่าบรรยากาศเรื่องเฉดสีทางการเมือง สุดท้ายมันจะเจือจางและหมดไปในที่สุด.

เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023