fbpx
“โลกนี้มี background เป็นความทุกข์ สุขเพียง foreground สีสดใส” : กวีราษฎร ตอนจบ

ผู้ไม่ไปสวรรค์กวีรุจีรัตน์ : กวีราษฎร ตอนที่ 1

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

สุมาลี เอกชนนิยม ภาพประกอบ

 

 

ภาพจำ คำประกาศ หนังสือ และชื่อใหม่ก่อนตาย

 

บ่ายวันที่ 23 เมษายน 2014 ไม้หนึ่ง ก.กุนที ในวัย 45 ปี ขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตโดยไม่มีขาลง เพราะคนอำมหิตไม่อนุญาต.ให้เขาชราตามครรลอง

ก่อนที่เขาจะก้าวไปสู่พรมแดนหลังความตาย แวดวงนักเขียนจดจำเขาได้ดีในภาพกวีเสื้อแดง ที่เปล่งท่วงทำนองของการอ่านบทกวีในงาน ‘การเมืองในมิติกวีนิพนธ์’ (Thai Poet Society Forum) วันที่ 22 มีนาคม 2009 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

เวทีดังกล่าวอาจนับเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาจงใจบอกแก่มิตรสหายกวีคนอื่นๆ ว่ากวีนิพนธ์ไม่ได้สังกัดอยู่เฉพาะชนชั้นกวีอีกต่อไป

เมื่อถึงคิวอ่าน เขา-ในเสื้อยืดคอโปโลสีแดง ก็ขึ้นไปร่ายบทกวียาวกว่า 20 นาที บทกวียาวกว่า 7 หน้า ในชื่อ ‘สถาปนาสถาบันประชาชน’ จึงเสมือนเป็นคำประกาศของเขาที่พาตัวเองก้าวออกจากภาพลักษณ์กวีจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้ไม้หนึ่งฯ เคยนิยามตัวเองว่าเป็นกวีสัมมาอาชีวะ หมายถึงเขียนกวีไปพร้อมๆ กับใช้แรงงานออกเหงื่อ ประกอบอาชีพค้าขายเป็ดย่างไปด้วย

เขาพูดหลายครั้งว่าการใช้สมองโดยไม่ออกแรง ไม่นับเป็นปัญญาชน

ความแปลกแปร่งประการหนึ่งของรวมบทกวี ‘สถาปนาสถาบันประชาชน’ (2011) นั้นคือหนังสือถูกผลิตขึ้นในห้วงยามที่ตัวเขาต้องลี้ภัยการเมือง และเป็นหนังสือที่ขายไม่ได้อยู่ 3 ปี เขาก็มาจากไป

‘สถาปนาสถาบันประชาชน’ ได้รับการแจกเป็นที่ระลึกในงานศพแทน และทุกเล่มมีการประทับข้อความ “อย่าไปเลยสวรรค์กวีรุจีรัตน์ อยู่ที่นี่เป็นกวีราษฎร” อาจกล่าวได้ว่าบทกวีของเขาทำหน้าที่อย่างทรงพลังก็จริงอยู่ แต่น่าเสียดายไม่น้อย ที่เขากับหนังสือตัวเองนั้นแทบไม่ได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันเลย

หากจะนับเป็นความผูกพัน เขากับหนังสือเล่มนี้ได้เดินทางร่วมกันเพียง 3 ปีเท่านั้น

วันที่เขาถูกยิงตาย สื่อทุกสำนักรายงานชื่อจริงของเขาในข่าวว่า ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีเสื้อแดง หรือ นายกมล ดวงผาสุข โดยอาจไม่รู้ว่าเขาเปลี่ยนชื่อตัวเองในบัตรประชาชนใหม่หลังรัฐประหาร 2006

เขาใช้ชื่อว่า นายอี๊ด อิสรนาวี

อี๊ด หรือ east ที่หมายถึงตะวันออก ขณะที่คนรู้จักมักคุ้นมักเรียกชื่อเขาสั้นๆ กันติดปากว่า ‘ไผ่’

ผ่านมา 5 ปี บทกวีของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ถูกรวบรวมและคัดสรรใหม่ในชื่อ ‘กวีราษฎร’ เป็นบทกวีที่เขาเริ่มเขียนตั้งแต่ปี 1991 สมัยยังเป็นนักศึกษา จนกระทั่งชิ้นสุดท้ายในวาระของชีวิตปี 2014

นอกจากภาพทางการเมืองที่ติดตัวเขาไปอย่างนิรันดร์ ทัศนะทางศิลปะ ภาวะอารมณ์คนหนุ่ม มุมมองการประกอบอาชีพค้าขาย กระทั่งมุมมองความรัก ครอบครัว ลูก ก็รวมอยู่ในรวมบทกวีเล่มใหม่นี้

นับเป็นการประกอบส่วนเพื่อให้เห็นตัวตนของไม้หนึ่งฯ อย่างรอบด้านมากที่สุด

 

 

หลากมุมมองต่อไม้หนึ่งฯ

 

ท่ามกลางความเศร้าโศกแก่การจากไป กวีบทหนึ่งกลับปลอบขวัญและเรียกพลังของปุถุชน บทกวีดังกล่าวเขียนขึ้นวันที่ 24 เมษายน 2016 โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

กอไผ่ถูกฟ้าผ่าป่าไฟไหม้
มีฝนแตกหน่อใหม่ลำไผ่กล้า
ฆ่าแกงได้กินดีเลี้ยงชีวา
หน่อไม้ประชาธิปไตยกินได้อร่อยดี

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เคยเขียนถึงเขาในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2-8 พฤษภาคม 2014 ว่า “ในบรรดาปัญญาชนกลุ่มใหม่ด้วยกัน ไม้หนึ่งเป็นหนึ่งในคนที่มีวิถีชีวิตโลดโผนโจนทะยานที่สุด เขาเป็นหนึ่งในกวีไม่กี่คนที่ขึ้นไปร่ายกวีโดยสม่ำเสมอ บนเวทีการชุมนุมที่มีผู้ฟังมากที่สุดของประเทศ

“เป็นหนึ่งในผู้พยายามรื้อฟื้นพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย เป็นกวีที่ไม่รังเกียจการปะทะกับกวีรุ่นเก่าและรุ่นไล่เลี่ยกันตามวาระต่างๆ และในที่สุดก็เป็นกวีคนแรกของประเทศที่ถูกฆ่ากลางเมืองหลวงอย่างเลือดเย็น

“แม้ไม้หนึ่งจะเขียนบทกวีหลายชิ้นเพื่อสื่อสารกับมวลชน แต่ก็ไม่ได้ปล่อยให้มวลชนครอบงำความเป็นศิลปะ แม้ในงานที่เป็นการเมืองอย่างถึงที่สุด สุนทรียศาสตร์ก็สำคัญเท่าอรรถประโยชน์ของบทกวีเสมอ

“บทกวี ‘สถาปนาสถาบันประชาชน’ คือผลงานที่โดดเด่นที่สุดในแง่นี้ โดดเด่นถึงขั้นคงเป็นอนุสาวรีย์ประจำตัวไม้หนึ่งอีกนานหลายปี”

สมบัติ บุญงามอนงค์ เคยพูดถึงเขาในข่าวว่า “ไม้หนึ่งฯ เป็นกวีคนแรกที่ประกาศตัวเป็นกวีเสื้อแดง ไม่ง่ายที่ปัญญาชนจะประกาศตัวว่าเป็นกวีของเสื้อแดง ที่ในช่วงแรกๆ มีแต่ชาวบ้านเข้าร่วม ไม้หนึ่งฯ เป็นหัวหอกคนแรกที่กล้าประกาศตัว เมื่อมีไม้หนึ่งฯ จึงมีนักเขียนคนอื่นๆ อีกหลายคนตามมา

“การตายของเขา แน่นอนว่าสร้างความตกใจ เพราะเขาเป็นกวี อาวุธของเขาเป็นเพียงปากกา การตายครั้งนี้จึงกลายเป็นเรื่องเขย่าขวัญ โดยเฉพาะเป็นการฆ่าที่ใช้ทีมสังหาร

“ไม้หนึ่งฯ ไม่ใช่แกนนำแถวบน นี่เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความตระหนก แต่ไม้หนึ่งฯ จะกลายเป็นตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองรอบนี้ และไม่รู้ว่าอนาคต เขาอาจจะกลายเป็นแบบจิตร ภูมิศักดิ์ หรือไม่ เรื่องราวและบทกวีของเขาอาจถูกขุดคุ้ยขึ้นมาในอีก 30 ปีข้างหน้า และทำให้คนเขียนบทกวีมากขึ้น บทกวีของเขาเป็นงานศิลปะที่รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง”

ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2006 มาถึงก่อนปี 2010 ที่การเมืองไทยปลุกเร้ากวีจำนวนมากให้แสดงทัศนคติทางการเมืองต่อที่สาธารณะ ทั้งทางกลางแจ้ง ที่ร่ม และสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะมาเป็นคำพูดหรือบทกวี และไม่ว่าจะออกไปในทางเสรีหรืออนุรักษนิยม

เกษียร เตชะพีระ เคยพูดถึงบทบาทของกวีในสังคมไทยช่วงเวลานั้นไว้ในบทสัมภาษณ์ของนิตยสารปาจารยสาร ฉบับ มีนาคม-เมษายน 2009 ว่า “หลายๆ เรื่อง ถ้าคุณพูดเป็นภาษาร้อยแก้ว คุณติดคุกแน่ แต่คุณเขียนเป็นร้อยกรอง ไม่ยักมีใครทำ ทั้งๆ ที่คนอ่านก็พอจะรู้มันหมายถึงอะไร แต่สังคมไทยอนุญาตให้บทกวีเป็นพื้นที่พิเศษ เป็นพื้นที่อภิสิทธิ์ทางวัฒนธรรม ถ้าพูดให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน คือ ปัญญาชนนักวิชาการรุ่นหลังนี่เขียนบทกวีไม่เป็น คดีความจึงมีมาก

“…เราอาจจะบอกได้ว่าที่นายผีตัดสินใจร่วมขบวนการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์น่ะผิด ผิดในความหมายว่า ที่สุดมันก็ล้มเหลว และเอาเข้าจริงก็ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายนำที่รวมศูนย์อำนาจและมหาอำนาจต่างชาติ แต่ถ้าถามว่า บทกวีที่นายผีเขียนขึ้นจากอุดมการณ์ความเชื่อเหล่านั้น มันพลอยหมดคุณค่าไปด้วยหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่ มันมีทั้งสัจธรรม ข้อคิดบางอย่างที่ประทับใจ ต่างไปจากการกระทำหรือตัดสินใจทางชีวิตการเมืองของตัวผู้เขียนเอง

“…งานกวีการเมืองหลัง 19 กันยาฯ เป็นต้นมา โดยส่วนใหญ่ เป็นงานที่ปลอดภัยกว่าเมื่อก่อน หมายความว่า เนื้อหาเป็นสิ่งที่คนในสังคมเขารู้กันอยู่แล้ว ผมคิดว่ากวีในปัจจุบันไม่ได้ไปให้สุดเพดานความเป็นไปได้ของบทกวี แล้วผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ไปให้สุดเท่าที่วัฒนธรรมไทยอนุญาตให้ไป เหมือนที่กวีรุ่นนายผี รุ่นจิตรทำกัน มีบางคนบอกว่าบทกวีสมัยนี้แรงจังนะ หารู้ไม่ว่ามันกลับปลอดภัยเสียเหลือเกิน”

เมื่อทบทวนข้อความข้างต้นของเกษียร เตชะพีระ ก็อดคิดถึงบทกวีหลายๆ ชิ้นของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ไม่ได้ เพราะถึงที่สุด ไม่ว่าเพดานของสังคมไทยจะมีพื้นที่ความเป็นไปได้แค่ไหน แต่การไล่ล่าเอาชีวิตก็รวดเร็วเกินกว่าที่เขาจะตั้งตัวได้ทัน

ซะการีย์ยา อมตยา เคยพูดถึงเขาไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2-8 พฤษภาคม 2014 ว่า “ตอนทราบข่าวไม้หนึ่งถูกยิง ผมนึกถึงถ้อยคำ ‘ข้าคือกวี ไม่มีใครยิงกวีหรอก’ ของ เฟเดอริโก การ์เซีย ลอร์ก้า กวีชาวสเปนผู้ยิ่งใหญ่กล่าวไว้ ต่อมาลอร์ก้าถูกยิง และไม่มีใครพบศพจนกระทั่งทุกวันนี้ การตายของลอร์ก้าสร้างความสะเทือนใจแก่กวีทั่วโลก ลอร์ก้าได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและภราดรภาพ

“การตายของไม้หนึ่งเท่ากับวงการกวีไทยได้สูญเสียกวีอีกคนที่น่านับถืออย่างยิ่ง ไม้หนึ่งซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกนึกคิดของตนเอง จึงได้จุ่มตัวเองลงไปปฏิบัติในสิ่งที่ตัวเองเชื่อและศรัทธา ผมไม่เชื่อว่าความคิดไม้หนึ่งจะตายตามเขาไปด้วย”

 

 

เมื่อทัศนะทางการเมืองและบทกวีได้หลอมรวม

 

ตัวอย่างหนึ่งที่ไม้หนึ่ง ก.กุนที อธิบายความคิดในบทกวีของตัวเองไว้อย่างน่าสนใจ ปรากฏขึ้นในงาน ‘กนกพงศ์ ยังคงอยู่’ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2010 ที่ People Space ย่านแพร่งภูธร คนในแวดวงวรรณกรรมหลายสิบชีวิตต่างมาร่วมงานรำลึกถึงกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนหนุ่มที่ล่วงลับไปแล้ว

ไม้หนึ่งเตรียมบทกวีมาอ่านต่อหน้าเพื่อนพ้องและครอบครัวสงสมพันธุ์ บนแกลเลอรี่ชั้น 2 ไม่มีเสียงใดนอกจากเสียงของเขาที่ทุกคนกำลังจดจ่อ-บทกวีชื่อ ‘ระลึกกนกพง’

เขาเคยอธิบายไว้ว่า ที่จงใจเขียน ‘กนกพง’ แทน ‘กนกพงศ์’ นั้นเป็นการเรียกตัวตนของผู้ล่วงลับที่หมายถึงการติดดิน เป็นที่อาศัยของมด แมลง สัตว์เล็กสัตว์น้อย หรือในความหมายที่เรียบง่ายคือเป็นที่พึ่งของประชาชน

ตายได้ดี… พี่ที่รัก !
เด่นไม้หนุ่มโค่นหัก ยังสดสวย
ให้มวลมิตร พิศวง พลันงงงวย
ช่วยเป็นสื่อย้ำชีวิต อนิจจัง

ตายได้ดี… พี่ที่รัก !
น้ำตานกจักพราก คงตกหลั่ง
ให้ฝันเพลิงเสรีผลิพลัง
วัยและวัน เปล่งอุดมการณ์ประกาย

 ตายได้ดี… พี่ที่รัก !
พ้นสภาพพืชผักพันธุ์ทาสไพร่
บินจากรัฐเร้นรัฐคลุมตาข่าย
ไม่ต้องอยู่เป็นขยะ ใต้ฝ่าตีน

อย่าเสียดาย รสเหนียง กลิ่นสะตอ
หม้อคั่วกลิ้ง แกงไตปลา ยอดกระถิน
รื่นโนราห์ เกฮูลู ฮึกเหิมยิน
ก่อนไข้สีขมิ้นกินซัลมาน

โลกใบเล็กกระท่อมทับของบินหลา
แค่สัตว์เลี้ยงขึ้นอยู่ในเมตตาศาล
ฝูงฤๅษีล้วนรากษสอวตาร
รัฐประหารโดยคนลวงขี่เวนไตย

ตายได้ดี ตายได้ดี พี่ที่รัก !
เป็นไม้หนุ่มข้นหักคงเนื้อไม้
วาวเสี้ยนเงา เลื่อมแก่นแข็ง ละเอียดลาย
งอกงามได้โดยสามัญชนบำรุง 

อย่าไปเลย สวรรค์กวีรุจีรัตน์
เป็นเทพไท้ในอาณัติชนชั้นสูง
กลับเรือกสวนไร่นา ราษฎรผดุง
เป็นผีทุ่งผีป่าคุ้มประชาชน !.

“จริงๆ แล้วนักเขียนก็มีสิทธิที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ควรทบทวนด้วยว่าเขาได้สิทธินั้นมาอย่างไร มี 3 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ตราบใดที่คุณยังไม่เป็นเซียนหรืออรหันต์ คือเรื่องการเมือง,เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม

“ผมเรียกร้องสรรพวิทยาในวงการกวี เพราะนักศิลปวัฒนธรรมในบ้านเราถูกจัดตั้งให้อยู่อย่างแยกส่วน จริงๆ แล้วควรจะมีความรู้ในด้านอื่นๆ ด้วย ถือเป็นความหลากหลายที่แท้จริง ไม่ใช่ความหลากหลายในความหมายของเอ็นจีโอ นักศิลปวัฒนธรรมของเราไม่เริ่มต้นจากข้อเท็จจริง” ไม้หนึ่งสรุป

 

รากแห่งกวีราษฎร

 

ไม้หนึ่งในวัยนักศึกษาเริ่มร่ำเรียนคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี 1988 มิตรสหายท่านหนึ่งเล่าว่า ไม้หนึ่งมักเน้นเสมอว่าตัวเองเป็นคนบ้านนอก เติบโตมาจากสังคมเกษตรกรรม เติบโตมาจากการใช้แรงงาน

“ขณะที่กุลบุตร กุลธิดา คนอื่นๆ หิ้วกระเป๋าไปโรงเรียน โดยมีพ่อแม่ขับรถไปรับไปส่ง ข้าพเจ้าก็รู้จักการหลั่งเลือดแล้ว หลั่งเลือดแปลว่าวัยเด็กถือมีดขึ้นไปอยู่บนยอดมะพร้าว เพราะที่บ้านทำน้ำตาลจากมะพร้าว ทุกวันก่อนจะไปโรงเรียน และหลังกลับจากโรงเรียนจะทำงานอยู่บนยอดมะพร้าว เป็นลูกชายคนโต ใช้ชีวิตบนต้นมะพร้าว ถือมีดตั้งแต่เด็ก เพราะต้องพึ่งตัวเอง”

ในขณะที่ยังเป็นหนุ่มนักศึกษาแสวงหาและใช้ชีวิต มิตรสหายท่านหนึ่งบอกว่า ไม้หนึ่งมีอีกบทบาทที่ต่างจากเพื่อนหนุ่มคนอื่นๆ คือการเขียนบทกวีส่งไปลงหนังสือ และเป็นนักวิ่ง วิ่งระยะไกล ธรรมชาติของนักวิ่งทำให้ต้องวางแผน ต้องประเมินพละกำลังร่างกายตัวเอง

“ความที่เป็นเด็กบ้านนอก พอมาเรียนในเมืองเจอเด็กกรุงเทพฯ มากกว่าหลายเท่า ไม่แปลกหากเด็กบ้านนอกจะมีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ หรือเจียมเนื้อเจียมตัว แต่ไผ่ไม่ใช่คนแบบนั้น คงเป็นอำนาจของความรู้ อำนาจวรรณกรรม อำนาจบทกวี เมื่อมนุษย์มีความรู้ ต้องพรีเซ็นต์ แสดงออกทางปัญญา ไผ่เป็นอย่างหลังมากกว่า

“ไผ่เรียนเอกภาษาไทย ทำให้แม่นเรื่องกาพย์ กลอน วรรณคดี และภาษาศาสตร์ ภูมิปัญญาตะวันออก โดยเฉพาะภาษาเขมร เขาเคยข้ามไปเรียนวิชาของคณะอักษรศาสตร์หลายวิชา ซึ่งได้คะแนนสูงทุกตัวที่เข้าเรียน

“เมื่อเรียนจบ ไผ่เป็นคนที่ไม่แคร์ค่านิยมว่าต้องผูกไทไปทำงาน ไผ่ไม่รังเกียจการใช้แรงงาน ไม่เอาคำว่าความมั่นคงของชีวิต ความสำเร็จของชีวิตมาวัด ไผ่เลือกยืนในร้านร้อนๆ เหงื่อออก ตื่นตีสี่มาย่างเป็ด เช้าถึงเย็นสับเป็ด เก็บร้านเข้านอนสามทุ่ม ตีนตีสี่มาทำเหมือนเดิม ถึงเวลาก็เขียนบทกวีส่งไปทุกสัปดาห์ การมีชีวิตแบบนี้แปลว่าไม่มีเวลาออกไปสังสรรค์แบบวิถีปัญญาชนที่กลางวันทำงาน กลางคืนไปดื่ม

“สิ่งที่ไผ่ย้ำเสมอคือ สงสัยอะไร สนใจอะไร ให้ไปศึกษาอย่างจริงจังก่อน อย่าเพิ่งอคติ เมื่อการเมืองแหลมคม คุณก็ไม่ทัน พอไม่ทันแล้วบอกว่าไม่รู้ ไผ่ย้ำว่าไม่รู้ก็ไปทำให้รู้สิ ทีเรื่องอื่นๆ รู้ได้ ทำไมเรื่องแค่นี้จะรู้ไม่ได้ ไผ่สอนให้ทันกับความเป็นไป ไม่งั้นไม่ทัน และจะจมอยู่ในวาทกรรมที่สื่อกระแสหลักสร้างไว้ ไม่มีใครตั้งคำถาม โลกของประชาชนเปลี่ยนแปลง แต่โลกของปัญญาชนไม่เปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องน่าเศร้า คนเป็นกวี เป็นนักเขียน เป็นสื่อสารมวลชน กลายเป็นพวกมโน” มิตรสหายท่านหนึ่งกล่าว

 

บรรยากาศงานศพไม้หนึ่ง ก.กุนที ที่วัดเสมียนนารี : ธิติ มีแต้ม ภาพ

 

ความฝันสุดท้าย

 

ความฝันสุดท้ายของไม้หนึ่งคืออะไร ก่อนถูกลั่นไกใส่ มีรายงานว่าเขากำลังก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนขึ้นแถวศาลายา เพื่อนำเสนอข่าวสารและงานวรรณกรรม เขาตั้งใจนำผลงานของคณะนักเขียนสุภาพบุรุษ โดยเฉพาะผลงานของศรีบูรพา ถ่ายทอดผ่านวิทยุชุมชนแห่งนี้ อีกทั้งร้านอาหารและร้านสุราที่เขาคิดว่าควรจะบูรณาการให้อยู่ในย่านเดียวกัน กลายเป็นชุมชนที่เขาใฝ่ฝัน

คลื่นสัญญาณไม่ทันกระจายเสียง ทุกอย่างเปลี่ยนไปในพริบตา !

ในวันวัย 45 เขาถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนขนาด .45 มม. จ่อยิงถึง 5 นัด กลางเมืองหลวง หน้าร้านอาหารครกไม้ไทยลาว ย่านลาดปลาเค้า

เจ้าหน้าที่ตำรวจสงสัยคนร้ายที่ร่วมกันก่อเหตุมี 2 คน เพราะภาพกล้องวงจรปิดเห็นผู้ต้องสงสัยขับมอเตอร์ไซค์ผ่านที่เกิดเหตุไป กระทั่งออกหมายจับคนร้ายตามภาพสเกตช์ แต่การสืบสวนต้องหยุดชะงักลง เมื่ออีก 1 เดือนต่อมาเกิดการรัฐประหาร และบ้านเมืองก็เริ่มวิปริตแปรปรวน

ผ่านมา 5 ปี ไม้หนึ่งน่าจะเป็นคนแรกที่พูดคำว่า “สถาปนาสถาบันประชาชน” ก็คงเหมือนที่ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ มิตรน้ำหมึกของเขาเรียกเขาว่า “กวีราษฎร”

และแน่นอน, กวีราษฎรย่อมเคียงข้างทัศนะสิทธิเสรีภาพและเสมอภาค ซึ่งต้องการสถาปนาขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้

ในนามกวี ถ้อยคำถูกบัญญัติขึ้นแล้ว มีความหมาย มีพลัง แม้ว่าโดยข้อเท็จจริง กวีราษฎรจะไม่ทันเห็นสังคมที่ฝันใฝ่ในช่วงชีวิตนี้

 

 

อ่าน “โลกนี้มี Background เป็นความทุกข์ สุขเพียง Foreground สีสดใส” : กวีราษฎร ตอนจบ

อ่านบทสัมภาษณ์ ‘รุจิรา จารุพันธ์’ ถึง ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’ ในนามสามี กวี พ่อค้า และพ่อ 

 


หมายเหตุ – เรียบเรียงใหม่จากบทความขนาดยาวเรื่อง ‘กวี-ไม้หนึ่ง’ โดยผู้เขียน ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับ Under’teen Forever ปี 2016 และตีพิมพ์ครั้งที่สองในรวมบทกวี ‘กวีราษฎร’ ปี 2019

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save