fbpx
"โลกนี้มี background เป็นความทุกข์ สุขเพียง foreground สีสดใส" : กวีราษฎร ตอนจบ

“โลกนี้มี background เป็นความทุกข์ สุขเพียง foreground สีสดใส” : กวีราษฎร ตอนจบ

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

สุมาลี เอกชนนิยม ภาพประกอบ

-1-

ก่อนไม้หนึ่ง ก.กุนที หรือคนที่คุ้นเคยจะเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ไผ่’ จะตายไปพร้อมภาพจำการเป็นกวีเสื้อแดง ซึ่งการสวมเสื้อสีเป็นเจตจำนงของเขา แต่ความตายที่มีคนอื่นหยิบยื่นให้ เขาไม่ได้ร้องขอ มีคำถามว่าเขาเริ่มเขียนบทกวีตั้งแต่เมื่อไหร่

ย้อนไปราวปี 1997 ตอนที่ยังไม่มี ‘บางเราในนคร’(รวมบทกวีเล่มแรก 1998) เขาเคยให้สัมภาษณ์ อโนชา ปัทมดิลก ลงในคอลัมน์เยี่ยมบ้านนักเขียน หน้าจุดประกายวรรณกรรม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า “งานชิ้นแรกส่งไปที่คอลัมน์ ‘ลมหายใจกวี’ ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ตอนเรียนอยู่ปี 3 มหาวิทยาลัยศิลปากร กวีเป็นธรรมชาติของผม ตอนเรียนผมไม่ค่อยใส่ใจกับวิชาเรียนเท่าไหร่ เรียนภาษาไทย-วรรณคดี ผมไม่ต้องเสียเวลากับการดูตำราเรียนเหมือนกับเพื่อนคนอื่น เพราะผมรู้เคล็ดลับของมัน รู้เคล็ดลับของจิตใจอาจารย์ รู้เคล็ดลับว่าการเลือกแก่นวรรณคดีอยู่ตรงไหน

“เวลาเหลือเยอะ ผมเลยเขียนกวี แต่ก่อนจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมส่งงานไปที่ลมหายใจกวีเยอะมาก รู้สึกว่าคุณไพลิน รุ้งรัตน์ จะทยอยลงให้ไม่ทัน เห็นเงียบหายไป ผมเลยขอถอนส่งไปลง มติชน แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมส่งไป มติชน ทุกวัน วันละชิ้น ช่วงหลังก็ห่างขึ้นเป็นอาทิตย์ละชิ้น หรือว่าเดือนละสองชิ้น งานชิ้นแรกปี 1991 และเพิ่มความถี่ขึ้นในปี 1993

“ผมเขียนทั้งฉันทลักษณ์และกลอนเปล่า ถ้าเขียนกลอนเปล่า ผมก็จะอยู่ในทำนองของฉันทลักษณ์ แต่ผมก็รู้สึกเฉยเมยต่อวรรณคดี ผมไม่ได้ให้ค่าว่ามันเป็นรากเหง้า ตอนนี้มีกระแสว่าทำไมกวีรุ่นใหม่ถึงไม่สนใจวรรณคดี แล้วถูกนักวิจารณ์บอกว่าไร้ราก ถ้านักวิจารณ์เขามีความเป็นนักวิชาการจริง เขาต้องมองลงไปให้ลึกว่า กว่าที่ขนบหรือรูปแบบฉันทลักษณ์จะพัฒนามาได้จนถึงทุกวันนี้ มันคือการเก็บรวบรวมความเป็นชาวบ้าน รวบรวมท่วงทำนองต่างๆ ที่สะเปะสะปะ แล้วมาจัดเป็นรูปร่างที่ลงตัว จนกลายเป็นรูปแบบที่อลังการ…

“ผมไม่อยากเข้าไปคลุกคลีในวงการวรรณกรรม เนี่ย ถ้าจะพูดให้หรูหน่อยก็กลัวสูญเสียตัวเอง ถ้าจะพูดก็ต้องพูดอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วไม่น่าจะใช่ ผมค่อนข้างรู้สึกเฉยชากับคนในวงการวรรณกรรมที่รวมกลุ่มกัน รู้สึกว่ามันเป็นการสร้างการจองจำชนิดหนึ่งด้วยซ้ำ…

“ข้างหลังเขียงผมคือที่ทำงาน ข้างใต้มีกระดาษไว้คอยจดบางวรรคบางท่อนที่แผ้วผ่านขึ้นมา มันไม่ใช่การนึกการขบเค้น น้อยมากที่ผมจะทำงานแบบเค้นแล้วคิดออกมา ผมทำงานแบบให้มันหลุดออกมา ผมก็ดักจับแล้วผมก็ถ่ายรูปมันไว้”

"โลกนี้มี background เป็นความทุกข์ สุขเพียง foreground สีสดใส" : กวีราษฎร ตอนจบ

-2-

เมื่อภาวะกวีหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตการใช้แรงงานทำมาค้าขายข้าวหน้าเป็ด ราวปี 1997-1998 ไม้หนึ่ง ก.กุนที ย้ายจากราชวัตรไปเปิดร้านบะหมี่เป็ดที่ข้างคณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร วิทยาเขตทับแก้ว

มิตรสหายท่านหนึ่งเล่าว่า “ร้านของไผ่แม้จะเป็นรถเข็น และตั้งไม่กี่โต๊ะ แต่ก็เป็นศูนย์กลางของนักศึกษาที่สนใจการอ่านการเขียน ที่ร้านจะมี มติชนสุดสัปดาห์ มีนิตยสารจีเอ็ม มีวารสารที่ทันสมัยกว่าในห้องสมุด คนที่สนใจการอ่านการเขียน พอไปกินที่ร้านไผ่ก็จะอ่านหนังสือต่อ ส่วนนักศึกษาที่ไม่มีเงิน ครอบครัวยากจน ไผ่ให้กินฟรีหมด จนหลายคนเกรงใจ เมื่อกินเสร็จจะวางเงินไว้แล้วรีบลุกออกไป เพราะไผ่จะไม่เอาเงิน”

“ช่วงเวลานั้น นักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ที่สนใจวรรณกรรมรวมตัวกันทำนิตยสารอิสระ ชื่อ กล้าทานตะวัน ไผ่เป็นที่ปรึกษาที่สำคัญมาก ทำให้นักศึกษาจากที่ไม่รู้โลกภายนอก ได้ค้นคว้าและออกไปฝึกวิทยายุทธ ซึ่งเชื่อมมาที่วง มาลีฮวนน่า บางคนเป็นศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม เป็นช่วงเวลาที่เขาซ้อมวงเตรียมทำอัลบั้มชุดแรกกันอยู่ ไผ่ซึ่งเขียนบทกวีแล้วจึงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับสมาชิกมาลีฮวนน่ายุคแรก”

“ไผ่เป็นคนที่ชอบพูดความคิด ชอบแลกเปลี่ยนตลอดว่ากำลังคิดอะไร ทำอะไรอยู่ เช่น ช่วงหนึ่งคิดคำว่าข้อมูลกับความรู้ ก็จะมาเล่าให้ฟังว่าข้อมูลคืออะไร ความรู้คืออะไร สับเป็ดไป ในใจก็มีประเด็นตลอด แล้วไผ่ก็จะมาเล่าว่าความรู้คือสิ่งที่ไม่ละลายในปาก ไม่ละลายในมือ มันจะอธิบายแบบเปรียบว่าข้อมูลคือวิธีการใช้ทีวีเครื่องหนึ่ง แต่การสะสมข้อมูลมากกว่าสะสมความรู้มันไม่เกิดประโยชน์ ข้อมูลมันลื่นไหลแปรเปลี่ยน แต่ความรู้คือสิ่งที่ไม่ละลายในปาก ไม่ละลายในมือ ซึ่งมันเอาไปเขียนในหนังสือรวมบทกวี ‘รูปทรง มวลสาร พลังงาน และความรัก’ (2001)”

มีคำถามว่าบุคลิกของไม้หนึ่ง ก.กุนที เป็นอย่างไร มิตรสหายท่านหนึ่งเล่าว่าไผ่เป็นคนที่พูดตรงๆ ถ้าคนติดกับฟอร์มมากๆ แรกๆ จะเกลียด “เช่น ถ้ามีใครกินข้าวกับมันอยู่ แล้วมันเห็นเม็ดข้าวติดปาก มันก็จะบอกว่าข้าวติดปาก ช่วยเอาออกด้วย ไผ่ทำลายฟอร์มทุกอย่าง มันเชื่อว่าทำไมต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก อะไรตัดตอนได้ก็ตัดไป มันเลยเหมือนไปทำลายฟอร์มคนอื่น มีคนไม่ชอบไผ่เพราะบุคลิกส่วนนี้ก็เยอะ

“คนที่รู้จักไผ่ผิวเผิน มักมองว่าไผ่เป็นคนที่ค่อนข้างเผด็จการ ชอบบังคับ จริงๆ มันไม่มีอะไร คิดอะไรก็พูดไปตามนั้น ใครจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ มันเป็นคนที่ไม่อ้ำอึ้ง”

-3-

ก่อนเสียชีวิต ไม้หนึ่ง ก.กุนที มีหนังสือรวมบทกวีของตัวเองทั้งหมด 3 เล่ม ได้แก่ บางเราในนคร, รูปทรง มวลสาร พลังงาน และความรัก และสถาปนาสถาบันประชาชน กระทั่งผ่านไป 5 ปี รวมบทกวีชื่อ กวีราษฎร ก็ได้รับการรังสรรค์ออกมาโดยมิตรน้ำหมึก เป็นการรวมจาก 3 เล่มแรก และคัดสรรบทกวีที่ทั้งไม่เคยได้เผยแพร่ที่ไหนมาก่อน (จากสมุดบันทึกส่วนตัว) และอีกบางส่วนไม่เคยได้รับการรวมเล่ม

ความน่าสนใจอยู่ที่ส่วนหลังนี้ คือซีรี่ย์บทกวีที่ว่าด้วยเรื่องลูก (2002-2003) น่าสนใจเพราะสาธารณชนมักจดจำ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ในทางการเมือง (บางคนที่ติดตามงานไม้หนึ่งมาตลอด มองว่าบทกวีของเขาค่อนข้างเริ่มแข็งกระด้างราวกับการเขียนแมนนิเฟสโต) ขณะที่บทกวีของเขาในช่วงก่อนพาตัวเองเข้าไปขลุกในความขัดแย้งทางการเมืองเต็มตัว (2006-2014) นั้นบ่งบอกว่าเขาสามารถสะท้อนภาพสามัญชนผ่านชีวิตตัวเองได้อย่างลึกซึ้งและจับต้องได้ เช่น บทกวีชื่อ ‘ลูกชาวบ้าน’ ที่สะท้อนความเป็นกวีราษฎรของเขาเอง

ได้กำหนดก็กำเนิดธรรมดา
ปราศจากกฤดาปาฏิหาริย์
ฟ้าดินคงรู้เห็นเป็นพยาน
แต่ไม่มีปรากฏการณ์ให้ฮือฮา
แม่มันก็ไม่เคยมีนิมิต
หลับฝันแล้วให้ชวนคิดไปว่า…
ลูกอีฉันจุติจากเทวา
หรือมีภูตมารมาอวตาร
คลอดเป็นทารกปกติ
ไร้ตำหนิ โดดเด่นในสังขาร
อันบ่งชี้ว่าเปี่ยมบุญญาธิการ
เติบโตจะสะท้านสะเทือนเมือง
เพียงเจริญเป็นหลานเหลนของหมู่เรา
ในเทือกเถาเผ่าพันธุ์คนผิวเหลือง
ตัวเล็กๆ กินน้อยๆ ไม่ค่อยเปลือง
พยศ, เชื่อง ตามประสาประชาชน

หรือเช่นในบทกวีชื่อ ‘In the name of father’

ในนาม ผ้าสาลู ผ้าสำลี
มะ มา จะขยี้จนมือเปื่อย
เพื่อทันใช้ห่มมิให้ไอ้จู๋เปลือย
เลอะมาเลยซักไปเรื่อยไม่เหนื่อยแรง

ในนาม ผ้าสาลู ผ้าสำลี
ขอให้แดดดีๆ เดี๋ยวก็แห้ง
เมื่อหุ้มห่อพ่อผิวบัวไอ้ตัวแดง
กรุ่นหอมแฝงกลิ่นไฟกลิ่นสายลม

ในนาม ผ้าสาลู ผ้าสำลี
อึและฉี่อวลละมุนโชยฉุนฉม
มูลนี่นี้แปรรูปจากน้ำนม
ไร้เมือกมูกน่านิยมและยินดี

ในนาม ผ้าสำลี ผ้าสาลู
ใช้แพมเพิ่ดดูเหมือนถูกหยามศักดิ์ศรี
อับอายเถาโคตรเหง้าที่เรามี
ว่าพ่อไร้แรงขยี้หย่อนเชิงชาย

หรือในบทกวีชื่อ ‘สัจจ๋าธรรม’

ลูกตัวร้อน
แม่ก็นอนไม่หลับ
ลูกกระส่ายกระสับ
พ่อก็ไข้จับใจ
โลกนี้มี background เป็นความทุกข์
สุขเพียง foreground สีสดใส
คนคือ composition ภายใน
อยู่กลางความเป็นไปสองประการ
ในความคิดแบบ “พ่อครัวนิยม (cookism)”
รสชาติขมครอบคลุมทั้งเค็ม, หวาน
เพราะสุดโต่งของเกลือและน้ำตาล
ก็คือขมไพศาลเกินพรรณนา
อนิจจ๊ะ นานา มหาสนุก
พลันเสียดจุกเมื่อลูกร้องไห้จ้า
ต่อให้…โคตร จ้า มะ จ๊ะ ทิง จา
หรือเข้าใจโลกล้วนอนิจจา
เห็นน้ำตา… อุเบกขาไม่ค่อยทัน

หรือในบทกวีชื่อ ‘Family Man (ตัวจัง เสียงจริง)’

แหละ, โลกนี้มีเสมอคนเห่อลูก
มันเฝ้าขลุกอยู่กับบ้านไม่ไปไหน
คอยต้มยา ผ่าฟืน เมียอยู่ไฟ
ซักผ้าอ้อม เช็ดก้นให้ ไอ้ผิวบัว

ป้อนข้าวเมีย เมียก็ป้อนนมลูก
มีความสุขกับภาระพ่อและผัว
นามธรรมในรักฟักเป็นตัว
ฮ่า…ยิ้มหัว ได้ทั้งวันจริงๆ

ช่างสดชื่นอาบน้ำให้ไอ้ตัวน้อย
ถูค่อยๆ…เช็ดตัวทามหาหิงค์
รีบห่มผ้า โป๊เดี๋ยวแม่เป็นกุ้งยิง
อิ่มนมแล้วไม่ยอมนิ่งต้องลงเปล

เสียงห่วยแตกอุตสาหะแหกปากกล่อม
ชะเอิงเอย…ไอ้เนื้อหอมฟังพ่อเห่
No
โมสาร์ต มีแต่ลำตัด, ลิเก ฯลฯ
CD
เสีย ไม่อาจ play ซิมโฟนี

-4-

ย้อนไปปลายปี 2002 ไม้หนึ่ง ก.กุนที และภรรยา ได้ลูกชายคนแรก ขณะที่ภรรยามีเวลาลาคลอดได้เพียง 3 เดือน เขาจึงเป็นพ่อมือใหม่ที่สับเป็ดค้าขายไปด้วย อุ้มลูกไปด้วย ให้นมลูกไปด้วย

มีบันทึกเกี่ยวกับลูกที่เขาเขียนเผยแพร่ในนิตยสารรักลูก ช่วงปี 2003 ว่า “ผมอยู่กับพ่อตาที่ร้านข้าวหน้าเป็ดย่าง เยื้องตลาดราชวัตร ช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ แลกข้าวกินไปวันๆ เพราะนอกจากค่าบทกวีที่ลงใน มติชนสุดสัปดาห์ หน้า 66 และเงินจากงานเขียนเบ็ดเตล็ดอีกนิดหน่อย ซึ่งภรรยาเป็นคนถือบัญชีแล้ว ผมก็ไม่มีรายได้อะไรอีก นานๆ จึงขอสตางค์แม่ยายกินเบียร์สักกระป๋อง

“แต่ละวันตื่นตีสี่ย่างเป็ด ย่างหมู หุงข้าว ต้มน้ำชา ตั้งหม้อบะหมี่ จัดร้าน เสร็จแล้วจึงแบกเรือคายักใส่รถกระบะไปพายในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ท่ากรมชลประทาน เผาผลาญพลังงานให้ภูมิคุ้มกันร่างกายเข้มแข็งอยู่เสมอ สักชั่วโมงก็กลับมาอาบน้ำกินข้าว ไปส่งภรรยาผมที่ทำงาน แล้วกลับมาเก็บจานเช็ดโต๊ะตามปกติของกิจการ

“ตารางชีวิตเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนจิ๋วเริ่มอ้วน มีน้ำมีนวล จึงชวนกันไปให้หมอตรวจฉี่ สีไม่ม่วงนะครับ แต่พบฮอร์โมน hcg positive เจือปนอยู่ ผมก็เริ่มไชโยโห่ฮิ้วครึ้มหัวอก… ห้องหับหอรักเริ่มปรับปรุงรอคอยอาคันตุกะหนุ่มที่กำลังเดินทางมาถึง”

เกี่ยวกับการตั้งชื่อลูกชาย บันทึกของเขาระบุว่า “ชื่อที่คิดไว้ตอนนั้นก็มี บัวธรรมดา, มุกนาคา, พิณพญา, พันธุ์นาวา, รุจา และพันธ์รุจา บางชื่อออกลิเกไปหน่อย ชื่อหลังนี่ดูเหมือนมีลูกเล่นมากที่สุด เพราะลูกชายผมจะเกิดมาใช้นามสกุลแม่มัน คือ จารุพันธ์ ตามประสาเขยจิบข่วย (เขยที่อยู่บ้านผู้หญิง) ที่กินข้าวกินน้ำของพ่อตาแม่ยาย ประมาณว่าอยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย มีลูกชายให้ใช้แซ่ท่าน

“พันธ์รุจาเป็นการเอานามสกุลมาผัน นามสกุลที่ผันแล้วมีความหมายหายากนะครับ จารุพันธ์ แปลเป็นไทยน่าจะได้ว่า ผูกทอง พอผันแล้วได้ความหมายใหม่ว่า รุ่งผูก เพราะรุจา หมายถึงความรุ่งเรือง รุ่งผูก ผูกทอง เก๋ชะมัด…

“เช้านั้นเป็นวันเสาร์ เฝ้าแต่ดูดินฟ้าอากาศก็ไม่มีอะไรพิเศษ ดูข่าวทีวีในห้องพักโรงพยาบาลก็ไม่มีอะไรฮือฮา เหตุการณ์ทางโลกที่เคลื่อนไหวหน่อยก็แค่จีนเปลี่ยนผู้นำ อยากตั้งชื่อลูกว่าจ่าง เพราะมันแซ่ตั้ง เหมือนกวีในอุดมคติท่านนั้น ก็เห็นเมฆอยู่เต็มฟ้า จะชื่อ พาเมฆ ก็ให้คล้าย ผาเมฆ ลูกชายญาติทางกวีย่านน้ำยมมากเกินไป แต่วูบหนึ่งผมนึกถึงปรัชญาพุทธบางประโยค จึงเกิดพุทธไอเดีย วัฏสงสารคือห้วงน้ำ คนเป็นเรือข้ามสาคร พ่อจึงให้ชื่อไอ้ลูกชายว่า พระนาวา จารุพันธ์ ไอ้เรือพระ ผูกทอง

“ผมเป็นคนอัมพวา เกิดและเติบโตในชุมชนชาวน้ำ อยู่กับแม่น้ำลำคลอง สิ่งจำเป็นในชีวิตอย่างหนึ่งของทุกบ้านก็คือเรือ และเรือที่ทำให้ชีวิตราบรื่นก็คือเรือที่ดี นี่เป็นอีกเหตุผลที่ใช้สนับสนุนตั้งชื่อลูก พระนาวา หรือ ไอ้เรือดี”

เขาอธิบายถึงการตั้งชื่อลูกที่มีคำว่าพระนำหน้าไว้อย่างน่าสนใจว่า“คำว่าพระ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศักดินาเท้าแดงและไม่เคยเห็นใครนำมาใช้ตั้งชื่ออยู่ด้วย ทั้งที่จริงๆ แล้วคำนี้เป็นคำธรรมดาคำหนึ่ง เป็นคำเดียวกับ พร(พอน) หรือ วร(วอระ) ที่หมายถึงความดีงามนั่นเอง ชื่อเล่นจะเรียกหลวงจีนนาวา ก็กลัวพ่อตาแม่ยายด่า เลยเรียกนาวาเท่านั้นพอ

“…ชื่อนี้เหมาะกับปีมะเมีย 2002 ที่น้ำมากเป็นพิเศษ เอ๊ะ แล้วทำไมมึงไม่ตั้งว่า โนอาห์ ซะเลย บางท่านถามเช่นนี้ โนอาห์ใหญ่ไปครับ ลูกชาวน้ำทั่วไปรู้ว่าเรือใหญ่มันพายยาก เกะกะชาวบ้าน ท้องเรือกินน้ำลึก เทียบฝั่งไม่ได้ แล้วยังงี้มันจะพายกลับไปหารากเหง้าปู่ย่ามันในคลองเล็กๆ ที่อัมพวาได้ยังไง

“…ตั้งแต่ไอ้นาวาเกิด ผมแทบไม่ได้โผล่ศีรษะออกไปไหน ธุระจำเป็นก็ชั่วโมงสองชั่วโมงต้องรีบกลับ และถือว่าการไปนอนค้างอ้างแรมที่อื่นโดยไม่มีลูกไปด้วยเป็นการทำร้ายตัวเองอย่างไม่ควรทำ จึงมีความคิดใหม่ว่า ผมจะรอไอ้นาวานี่แหละมาเป็นเพื่อนพ่อ ให้มันสักเก้าขวบสิบขวบ แล้วพ่อจะพามันพายไปหาปู่กับย่าโดยทางเรือ”

ปัจจุบันไม่มีบันทึกว่า ไม้หนึ่ง ก.กุนที พาลูกชายพายเรือไปหาปู่ย่าสำเร็จหรือไม่ เพราะความรุนแรงทางการเมืองได้พรากชีวิตเขากับลูกออกจากกันเสียก่อน และความผูกพันกับสายน้ำสุดท้ายของชีวิตเขานอกจากการตั้งชื่อลูกก็อาจเป็นการตั้งชื่อตัวเองใหม่จากเดิม ‘กมล ดวงผาสุข’ เป็น ‘อี๊ด อิสรนาวี’


MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save