fbpx
ISIS: ถลก - ปก - เปิด

ISIS: ถลก – ปก – เปิด

มองไปให้ไกลกว่าภาพความรุนแรงและโหดร้าย ถ้าเราจะบอกว่า ISIS หรือ กลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย (Islamic State of Iraq and Syria) คือชื่อของกลุ่มก่อการร้ายที่ ‘ป๊อบ’ ที่สุดในยุคสมัยปัจจุบัน ก็คงจะไม่ใช่เรื่องเกินจริงเกินไปนัก

 

เพราะนอกจากรายงานของสำนักข่าวที่พร้อมใจกันนำเสนอภาพความรุนแรงจากเหตุก่อการร้าย และการเคลมตัวเองว่าอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุทั้งหลายแหล่ ความคุ้นหูที่ว่ายังเกิดจากความสามารถในการ ‘สร้างความกลัว’ ให้กับผู้คน โดยอาศัยเครื่องมืออันทรงพลังอย่างการใช้สื่อและการสร้าง ‘แบรนด์’ จนชื่อของ ISIS ติดอยู่ในความรับรู้ของคนทั่วโลก

แต่จะสร้างแค่ความรู้สึกหวาดกลัวอย่างเดียวยังไม่พอสำหรับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงกลุ่มนี้ ในอีกด้านหนึ่ง ISIS ในฐานะรัฐศาสนาที่ตั้งตนขึ้นมาเพื่อประกาศสงครามกับรัฐอื่นๆ ที่ไม่ใช่พวกของตัวเอง ก็ต้องการหาแนวร่วม ชักชวนชาวอิสลามสายสุดโต่งในนิกายซุนนีให้มาเข้าร่วมความฝันก่อร่างสร้างรัฐอิสลาม รวมชาวอิสลามให้อยู่ภายใต้ธงผืนเดียวกันได้อย่างที่ฝัน

หนึ่งในนั้นคือนิตยสารพร็อพพาแกนดาของพวกเขา ที่มีชื่อว่า Dabiq และ Rumiyah

 

 

 

Al Hayat Media Center คือหน่วยงาน – อธิบายด้วยภาษาอย่างง่าย – ฝ่ายสื่อสารองค์กรและการตลาดของ ISIS

ซึ่งว่ากันว่าผู้บัญชาการใหญ่ของฝ่ายผลิตสื่อแห่งนี้คือ Deso Dogg อดีตแร็ปเปอร์ชาวเยอรมนีผู้ผันตัวไปนับถืออิสลาม เขียนเพลงสรรเสริญศาสนา และเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกจนประกาศตัวว่าได้ตำแหน่งในฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่ม

ผลงานของ Al Hayat Media Center ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อช่วงกลางปี 2014 ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ ภาพถ่าย คลิปเสียง รวมไปถึงนิตยสารของ ISIS ทั้งสองเล่มที่เราว่า ต่างถูกสร้างขึ้นเพื่อสื่อสารกับชาวอิสลามในโลกตะวันตกทั้งสิ้น ทุกอย่างถูกแปลเป็นภาษาหลักๆ ของโลก ทั้งอังกฤษ เยอรมัน รัสเซีย ฝรั่งเศส และภาษาอื่นๆ อีกกว่า 20 ภาษา ตัวอย่างเช่นในหน้าหนึ่งของนิตยสาร ที่ถึงกับมีอินโฟกราฟิกแนะนำการเปิดซับไตเติลภาษาต่างๆ ในวิดีโอประหารชีวิตเชลยศึกเลยด้วยซ้ำ

โฆษณาหนึ่งในนิตยสาร ชวนให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นสอนภาษาอารบิกผ่านเกมโจมตีเมืองใหญ่

 

Dabiq คือนิตยสารออนไลน์ฉบับแรกจากแผนกพีอาร์ระหว่างประเทศที่เปิดตัวฉบับแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2014 และเผยแพร่ในเครือข่าย deep web (ศูนย์รวมเว็บแปลกๆ ลึกลับๆ ที่เราเสิร์ชตามกูเกิลไม่เจอ) ซึ่งถ้าว่ากันตามชื่อแล้ว ดาบิกคือชื่อของเมืองในทางตอนเหนือของประเทศซีเรีย อันเป็นที่ตั้งตามคำพยากรณ์ของอิสลามนิกายซุนนีที่ว่า สงครามศาสนาครั้งสุดท้ายระหว่างฝ่ายคริสเตียนและฝ่ายมุสลิมจะเกิดขึ้นที่นี่

แต่หลังจากดาบิกถูกโจมตีและยึดคืนโดยกองกำลังกบฏที่มีตุรกีซัพพอร์ตช่วงปลายปี 2016 นิตยสาร Dabiq ก็ปิดตัวลง (เดาจากความเชื่อแบบไทยๆ ว่าอาจเป็นเพราะว่าถ้ายังใช้ชื่อเดิมอยู่ คงเป็นลางไม่ดีกับกลุ่ม) และกลับมาใหม่ในชื่อ Rumiyah ที่หมายถึงกรุงโรม เป้าหมายที่กลุ่ม ISIS ต้องการยึดครอง ด้วยความเชื่อที่ว่าอารยธรรมตะวันตกที่ขัดกับความเชื่ออิสลามล้วนสืบต่อมาจากจักรวรรดิโรมันโบราณ

ถึงชื่อจะต่างกัน แต่แมกกาซีนทั้งสองหัวจาก ISIS ก็มีเนื้อหาคล้ายๆ กัน โดยเลือกที่จะพูดถึงอุดมการณ์และความเชื่อของพวกเขา อธิบายว่าทำไมคนที่ขัดขวางและไม่เข้าร่วมกับรัฐอิสลามที่จัดตั้งขึ้นใหม่ถึงเป็นพวกนอกรีตและสมควรได้รับการลงทัณฑ์ ด้วย ‘ญิฮาด’ หรือการทำสงครามอันศักดิ์สิทธิ์ (ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่าในทางศาสนาอิสลาม ญิฮาดหมายถึงการเพิ่มศรัทธาในพระเจ้า การทำความดี และเผยแพร่ศาสนา ไล่ระดับไปตั้งแต่การต่อสู้กับกิเลสในตน จนถึงการตอบโต้การกดขี่ด้วยอาวุธ ‘เมื่อไม่มีทางแก้ไขอย่างอื่น’ และกระทำได้เมื่อการแก้ไขด้วยสันติในทุกวิธีล้มเหลว)

ในขณะเดียวกัน ภายใต้ความโปรเฟสชันนอลของการจัดหน้า แกรมมาร์ภาษาอังกฤษที่เป๊ะตามแบบที่สื่อสิ่งพิมพ์ควรจะเป็น ไปจนถึงบทความบรรยายความเสียหาย โชว์ภาพการทำลายล้างทรัพย์สินและชีวิตขอผู้คนที่นอนจมกองเลือดอย่างจะๆ แทรกด้วยบทคัดย่อพระประสงค์ของพระเจ้าตามคัมภีร์อัลกุรอ่าน – ทั้ง Dabiq และ Rumiyah ก็เป็นเครื่องมือของกลุ่มในการเชื้อเชิญให้ชาวมุสลิมทั่วโลกที่มีแนวคิดสุดโต่งให้เดินทางมาเข้าร่วมเป็นประชาคมรัฐอิสลามด้วยเช่นกัน

 

 

เราอาจจะคิดว่ากองกำลังทหารคือสิ่งที่ ISIS ต้องการ แต่สิ่งที่โฆษณาอยู่ในนิตยสารไม่ได้มีแค่ภาพชายชุดดำสวมชุดโม่งถือธงสีดำประจำกลุ่มเพียงอย่างเดียว เรายังได้เห็นคอลัมน์เล่าเรื่องระบบสาธารณสุขในรัฐเคาะลีฟะฮ์ (รัฐอิสลามในฝันของ ISIS ที่ปกครองกันภายใต้กฎหมายชะรีอะฮ์โดยตัวแทนจากพระผู้เป็นเจ้า) ตอนนี้มีจำนวนเครื่องมือทางการแพทย์ และโรงพยาบาลให้บริการทั้งหมดเท่าไหร่ ระบบเงินตราในรัฐเป็นอย่างไร ชีวิตของผู้คนในอิรักและซีเรียหลังจาก ISIS เข้ามาปกครองดีขึ้นแค่ไหน หรือเล่าถึงสะพานที่เคยไม่ได้รับการดูแลที่ถูกซ่อมแซมก็เพราะพวกเขานี่เอง

ภาพและคอลัมน์ที่ว่าถูกเลือกและเขียนออกมาเพื่อบอกว่า การเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในรัฐอิสลามใหม่แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องมาถืออาวุธเข่นฆ่า คุณจะเป็นหมอ เป็นวิศวกร สถาปนิก หรืออาชีพอะไรก็มาเข้าร่วมได้

จะทนอยู่ในโลกที่พวกคริสเตียนปกครองอยู่ทำไม ทั้งที่ไม่ได้ให้ความมั่นคงปลอดภัยกับประชาชนเลย งานก็แย่ ชีวิตก็ไม่ดี ถูกกดให้เป็นทาสทุนนิยม ใช้แรงงานแลกเงินค่าจ้างขั้นต่ำให้นายจ้างสุขสบาย

หรือถ้าเดินทางมาไม่ได้ หลายบทความในนี้ก็เชียร์ให้ชาวซุนนีหัวรุนแรงที่อ่านอยู่ลงมือก่อการร้ายในที่ที่ตัวเองอยู่เพื่อต่อสู้กับพวกนอกรีตทั้งหลายเอาเสียเลย

 

 

อันที่จริงกลยุทธ์เผยแพร่แนวคิดของกลุ่มก่อการร้ายด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ใช่ว่าจะเพิ่งเกิดขึ้นในยุคที่ ISIS ครอบครองความกลัวจากคนทั่วโลก เพราะรุ่นพี่อย่างกลุ่มตาลีบันก็เคยมีนิตยสารชื่อ In Fight หรือกลุ่มอัลกออิดะฮืเองก็มีเหมือนกันในชื่อ Inspire

แต่สิ่งที่ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ของ ISIS แตกต่างออกมาจากทั้งสองเล่มที่ว่า คือการเลือกที่จะไม่ใส่ตัวตนของคนเขียนลงไปในเนื้อหา เราจะไม่ได้เห็นชื่อของคนเขียน หรือคอลัมน์นิสต์ใดๆ ใน Dabiq และ Rumiyah เลย คอนเทนต์ในเล่มส่วนใหญ่อ้างอิงจากพระคัมภีร์ ทำให้มันดูเหมือนออกมาจากความเป็น ‘แบรนด์’ ISIS มากกว่าที่จะมาจากความคิดของนักเขียนแต่ละคน

จึงอาจจะไม่ผิดนักหากเราจะบอกว่า สื่อสิ่งพิมพ์ของ ISIS ทั้งสองเล่ม นอกจากจะเผยแพร่แนวคิดในแบบของตัวเอง (ที่คิดว่าเป็นเหตุเป็นผล) และเชิญชวนให้คนมาเข้าร่วม ในอีกทางหนึ่งยังสถาปนาตัวเองเหมือนเป็น ‘ฝ่ายกิจการเผยแพร่ศาสนาอย่างเป็นทางการ’ ไปในตัว

ดร. ฮาโรโร เจ. อินแกรม นักวิจัยจาก Australian National University ได้ลองศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหาในนิตยสาร Dabiq เพื่อค้นหาว่าอะไรในนั้นที่เป็นตัวกระตุ้นให้ชาวมุสลิมที่ได้อ่านเกิดอาการ ‘ตาสว่าง’ อะไรที่เป็นตัวขับเคลื่อนกลไกกระตุ้นอาการตาสว่าง สร้างสำนึก ‘พวกฉัน – พวกมัน’ ให้หมุนวนไปเรื่อยๆ และอะไรที่ทำให้พวกเขาเห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากฝีมือของ IS ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ

อินแกรมพบว่า Dabiq บรรลุเป้าหมายได้ด้วยคอนเทนต์ในเล่มที่ทำหน้าที่สองอย่างไปพร้อมๆ กัน อย่างแรกคือการนำเสนอมุมมองของโลกในแบบของ ISIS โดยเปรียบเทียบกับโลกที่ฝ่ายตรงข้าม (ชาวตะวันตกและชาวคริสต์) พูดถึง ทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างความหมาย และเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อเอาคุณค่าของตัวเองมาเปรียบเทียบกับคุณค่าที่ ‘ศัตรู’ มอง การรับรู้ของคนอ่านก็เหมือนถูกกรองผ่านแว่นอีกชั้น ซึ่งพร้อมจะเปลี่ยนขั้วความคิดให้กลายเป็นคนที่สุดโต่งไปมากกว่าเดิม

อย่างที่สอง คือการออกแบบเนื้อหาของนิตยสาร ให้มีเมสเสจที่ผสมผสานระหว่างความเป็นเหตุเป็นผล (บอกว่าทำไมการทำสงครามถึงถูกต้อง) และเข้าถึงกลุ่มคนที่มีศักยภาพจะผันตัวมาหลงเชื่อได้ในหลายระดับ (เนื้อหาอ่านได้ทุกกลุ่ม ไม่จำกัดแค่คนที่ชอบการต่อสู้ในสนามรบ) เข้าด้วยกัน

เมื่อทั้งสององค์ประกอบมารวมกัน กลไกตาสว่างจึงเกิดขึ้น และทำให้ Dabiq ทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์แบบ

 

 

มีปัจจัยหลายต่อหลายอย่างที่ทำให้เราพูดได้ว่า ISIS คือกลุ่มก่อการร้ายที่จัดการแพร่กระจายความกลัวผ่านสื่อในหลายช่องทางได้อยู่มือที่สุดในยุคสมัย พวกเขารู้ว่าต้องส่งผ่าน ‘อะไร’ ในช่องทาง ‘แบบไหน’ ถึงจะได้ผลดีที่สุด ผสมผสานทั้งสื่อใหม่ที่คุ้นเคย ควบคู่ไปกับสื่อเก่าที่คุ้นตา

ในขณะที่เรากำลังกังวลกันว่าสื่อเก่าอย่างบทความยาวๆ และนิตยสารกำลังจะตายจากโลกนี้ไป อีกแง่หนึ่ง การมีอยู่ของ Dabiq และ Rumiyah ก็ช่วยยืนยันว่าสิ่งพิมพ์ยังคงมีพลังในแบบของมันอยู่

เพียงแต่ในบริบทแบบ ISIS พลังที่ว่าอาจจะน่ากลัวเกินกว่าที่เราจะคาดคิด

ว่าแค่เพียงนิตยสารเล่มเดียว – มันสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดคนๆ หนึ่งไปได้มากเพียงใด

 

อ่านเพิ่มเติม

ข่าวเรื่อง The Islamic State’s (ISIS, ISIL) Magazine โดย David Harris ของ Clarion Project ตีพิมพ์เมื่อ 10 กันยายน 2557

บทความเรื่อง ISIS magazine: ‘Dabiq is not only news – it is public relations’ โดย Artur Beifuss ของ Icon Eye ตีพิมพ์เมื่อ 25 มกราคม 2559

รายงานเรื่อง 4 Things To Know About Dabiq, ISIS’ Slick Propaganda Magazine โดย Nick Robins-Early ของ Huffington Post ตีพิมพ์เมื่อ 2 ตุลาคม 2559

ข่าวเรื่อง The Isis propaganda war: a hi-tech media jihad โดย Steve Rose ของ ตีพิมพ์เมื่อ 7 ตุลาคม 2557

บทความเรื่อง An analysis of Islamic State’s Dabiq magazine โดย Haroro J. Ingram ของ AUSTRALIAN JOURNAL OF POLITICAL SCIENCE ตีพิมพ์เมื่อ 13 มิถุนายน 2559

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save