fbpx

จากแม่ฮ่องสอนถึงรัฐไทย: การเดินทางไกลของ ‘ชาติพันธุ์’

ธีรภัทร อรุณรัตน์ เรื่อง

 

“มีแค่สองโค้ง โค้งซ้ายกับโค้งขวา”

ผู้นำทางของเราพูดติดตลกระหว่างขับรถจากตัวเมืองเชียงใหม่ ผ่านระยะทางราวสองร้อยกว่ากิโลเมตรและพันกว่าโค้งบนถนนพื้นราบเข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นที่สูง และพื้นที่ป่ากว่า 86.99 เปอร์เซ็นต์ รวมถึง 79.3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดเป็น ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ทั้งปกาเกาะญอ ม้ง ลีซู ลาหู่ดำ ไทใหญ่ ฯลฯ แม่ฮ่องสอนจึงเป็นสถานที่หลากหลายทั้งวัฒนธรรมการดำรงชีวิต รวมทั้งเป็นจังหวัดที่ได้ชื่อว่า ‘มีความสุขที่สุด’

แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจกลับบอกข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่าแม่ฮ่องสอน ‘ยากจนที่สุด’

ด้วยสามัญสำนึก คงหลีกหนีไม่ได้ที่จะไม่ฉุกใจคิดถึงความผิดปกติ

 

บ้านหนองขาวกลาง ตำบลห้วยปูลิง อ. เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

ถ้าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ‘การเมือง’ จึงบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน ใครสูง-ใครต่ำ หรือเราเท่ากันขนาดไหน อย่างไร และหนึ่งในสิ่งที่กำหนดความสัมพันธ์ทั้งหลายนั้นคือ ‘กฎหมาย’

‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ในพื้นที่ป่ากว่าครึ่งค่อนจังหวัดแม่ฮ่องสอนต้องเผชิญหน้ากับกฎหมายป่าไม้ด้วยแนวคิดเบื้องหลังของ ‘การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ’ ในนามของความบริสุทธิ์ผุดผ่องซึ่งไม่มีที่ทางของมนุษย์อยู่ในนั้น ตลอดจนการให้ความสำคัญกับ ‘ความมั่นคง’ – มรดกสำคัญของสงครามเย็นที่มีหน่วยงานความมั่นคงมากหน้าหลายตาเข้ามาร่วมวง

คนแปลกหน้าที่คุ้นเคยเหล่านี้จึงถูกแปะป้ายตั้งแต่ ‘ต่างด้าว’ ‘เผาป่า’ ‘ตัดไม้ทำลายป่า’ จนถึงการไม่ถูกมองว่าเป็นคนที่เท่าเทียมกัน

หนึ่งในความพยายามทำให้คนเท่ากันของกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างน้อยที่สุดก็อาจทำด้วยการประกาศ ‘เขตวัฒนธรรมพิเศษ’ ด้วยการใช้วัฒนธรรมเอกลักษณ์เฉพาะเป็นแนวหน้าสำคัญในการถ่วงดุลกับความรุนแรงทางตรงและทางอ้อมในนามของกฎหมาย และเพื่อเปิดประตูขั้นแรกสู่การสร้างความเข้าใจ-เพื่ออยู่ร่วมกัน

การประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ เช่นนี้สืบที่มาได้จากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วย ‘แนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง’ ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญเพื่อแก้ปัญหาองค์รวมของคน ‘ที่สูง’ ที่ดูเหมือนเป็น ‘คนอื่น’ ในรัฐไทยพื้นราบ

มติดังกล่าวพยายามแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่การจัดการทรัพยากรในถิ่นที่อยู่อาศัย การได้รับสัญชาติซึ่งตามมาด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ จนถึงความสามารถในการรักษาวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่

แต่ 10 ปีผ่านมา ต้องกลืนน้ำลายขมคอ และพยักหน้ายอมรับว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ถูกแก้ไข ไม่คืบหน้า

หรือพูดให้ถึงที่สุด – ใต้ฟ้าเดียวกัน แต่คนยังไม่เท่ากัน

พ.ศ.​ 2553 ถึง 2563 หนึ่งทศวรรษผ่านไป เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไร? ปัญหาของ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ นี้ฉายให้เห็นการเมืองภาพใหญ่อย่างไร? และที่สำคัญที่สุด ก้าวต่อไปเพื่อให้คนเท่ากัน จะเดินต่อไปอย่างไร?

ต่อไปนี้คือสาส์นจาก ‘ชายขอบ’ ถึง ‘รัฐไทย’ … ขอเชิญร่วมกันหาคำตอบ

 

 

“พวกเผาไม้ทำลายป่า”

 

ต้นเดือนสิงหาคม 2563 วันฝนพรำ​ ณ​ บ้านหนองขาวกลาง ตำบลห้วยปูลิง หากกวาดสายตาจากบนลงล่างจะเห็นตั้งแต่หมอกหนาปกคลุมท้องฟ้าจากฝนตกเบาบาง มองต่ำลงมาจึงเห็นพื้นที่ป่าสลับไปกับพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่สำหรับหากินและหาเลี้ยงทางเศรษฐกิจ

 

 

พื้นที่ไร่หมุนเวียนตำบลห้วยปูลิง

 

คริสตจักรบ้านหนองขาวกลาง แสดงให้เห็นการนับถือคริสต์ศาสนาของคนในพื้นที่

 

มองอย่างเผินๆ อาจดูเหมือนพื้นที่ป่าหายไปเป็นหย่อมด้วยความสูงของพื้นที่สีเขียวที่ไม่เท่าเทียมกัน แต่ในฐานะชุมชนกะเหรี่ยงที่มีวัฒนธรรมสัมพันธ์กับการใช้สอยทรัพยากรในพื้นที่ ภาพเช่นนี้จึงไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม แต่เป็นวิถีชีวิต

พื้นที่ในบ้านหนองขาวกลางนี้เป็นตัวอย่างของการทำ ‘ไร่หมุนเวียน’ ตามความหมายตรงตัวคือการเกษตรที่ผลัดเปลี่ยนกันทำไร่ในพื้นที่ ไม่ทำซ้ำพื้นที่ที่เคยทำและหมุนเวียนไปทำในพื้นที่อื่น ปล่อยให้พื้นที่เดิมเติบโตเป็นป่า ผลัดไปปีแล้วปีเล่า เมื่อครบรอบที่กำหนดไว้จึงกลับมาทำพื้นที่เดิมซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

จึงเหมือนการรับใช้ซึ่งกันและกันของมนุษย์กับผืนดินที่ไม่ย่ำยีกันและกันจนเกินไป

แต่ความปกติของวิถีชีวิตเหล่านี้กลับถูกมองว่าเป็นความผิดปกติ จากภาพที่หลายครั้งสร้างความเข้าใจบางส่วนว่ามันคือการตัดไม้ทำลายป่า

เหล่านี้จึงเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญว่าจะทำอย่างไร ถึงจะเข้าอกเข้าใจกัน (เสียบ้าง)

 

ไร่หมุนเวียนที่เว้นการใช้ประโยชน์เป็นรายปี

 

แนวกันไฟ

 

มองรากของปัญหา เพื่อความเข้าใจ

 

หนึ่งในแนวหน้าที่ผลักดันการสร้างความเข้าใจร่วมกันกับประชาชนในพื้นที่ ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย-นโยบายรัฐ​ และสาธารณะ คือ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.)

ก่อนที่จะเข้าอกเข้าใจกัน ที่ขาดไปไม่ได้เลยคือการพูดถึงรากของปัญหาอย่างตรงไปตรงมา

อภินันท์ ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์จาก ศมส. ได้ชี้ให้เราเห็นปัญหาภาพรวมของ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ไว้ 5 ประเด็น

 

อภินันท์ ธรรมเสนา

 

“อย่างแรกคือปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ กลุ่มชาติพันธุ์จะถูกมองด้วยภาพลบว่าเป็นคนต่างด้าว ไม่ใช่คนไทย เพียงเพราะมีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่แตกต่าง นอกจากนั้นยังถูกมองว่าเป็นพวกทำลายป่าไม้ พวกค้ายา

“ถ้าถามว่าภาพลักษณ์เหล่านี้เกิดขึ้นมาเพราะเหตุใด คำตอบคือ เกิดจากแง่คิดในเรื่องความมั่นคงในสมัยสงครามเย็น ซึ่งรัฐมองว่าต้องจัดการโบ้ยความผิดให้กลุ่มชาติพันธุ์ก่อน เพื่อรัฐจะเข้าไปจัดการพื้นที่และควบคุมได้”

เมื่อถูกมองว่าภาพลักษณ์ของ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ เป็นดังข้อแรกแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาการจัดการทรัพยากร เมื่อข้อครหาถึงการตัดไม้ทำลายป่า หรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติถูกแปะฉลากไว้ฉาบหน้า สิทธิขั้นพื้นฐานของการจัดการทรัพยากรในพื้นที่จึงถูกริบกลับทันทีจากรัฐ​

นั่นหมายถึงปัจจัยการดำรงชีวิตพื้นฐาน อย่างที่อยู่อาศัยและพื้นที่เพื่อประกอบอาชีพจึงอยู่ภายใต้อำนาจรัฐแทนการจัดการในชุมชน

นอกจากเรื่องการจัดการทรัพยากรพื้นฐานแล้ว ปัญหาที่ตามมาจากข้อแรกอีกชั้นหนึ่งคือปัญหาการไม่มีสัญชาติ ผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนของรัฐไทยเหล่านี้ จึงไม่ได้เป็นคนไทย “หมายความว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน สิ่งที่ตามมาคือความเหลื่อมล้ำ”

“เมื่อไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคนไทย ไม่มีสัญชาติไทย ทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับกลับไม่ได้ แม้แต่บัตรทอง 30 บาทก็ไม่ได้” เหล่านี้จึงแสดงให้เห็นปัญหาอย่างที่สี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิต

อภินันท์พยายามชี้ให้เห็นว่า ปัญหาทั้ง 4 ประการข้างต้นได้รวบยอดไปสู่ปัญหาข้อสุดท้ายคือการสูญเสียความเป็นอัตลักษณ์ ซึ่งส่งผลให้ “คนเริ่มไม่พูดภาษาถิ่น ไม่มีคนสืบทอดวัฒนธรรม ปัญหานี้เมื่อมองผ่านๆ อาจจะคิดว่าผิวเผินแต่ถ้าลองมองดูดีๆ จะพบว่ากลุ่มคนของชาติพันธุ์และต้นทุนของพวกเขาหายไปด้วย”

จากเดิมที่ต้นทุนทางวัฒนธรรมของ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ สนับสนุนให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการพึ่งพาชุมชนและธรรมชาติ แต่เมื่อพบกับปัญหาสี่ประการข้างต้น การยึดถืออัตลักษณ์เดิมของตนจึงดูเหมือนเป็นสิ่งที่ผิดปกติ

“ซึ่งสุดท้ายกลุ่มคนชาติพันธุ์ก็ต้องกลายเป็นคนที่เราต้องช่วยเหลือ และกลายเป็นปัญหาซ้ำเดิมไปเรื่อยๆ จากเดิมที่จัดการตัวเองได้ เลยซ้ำย้อนวาทกรรมทั้งหลายเป็นวงจรอีก” อภินันท์แสดงให้เห็นถึงวงจรที่สลัดไม่หลุดของปัญหา

 

 

ขอย้ำอีกรอบว่าความสำคัญคือการเข้าใจซึ่งกันและกัน”

 

ด้วยการรวบยอดจำแนกปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ออกเป็น 5 ประการแล้ว มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการวางแบบแปลนแก้ปัญหาเป็นองค์รวมโดยมีกระทรวงวัฒนธรรมในสมัยนั้นเป็นแม่งาน

ถึงแม้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปธรรมในภาพใหญ่ แต่อภินันท์ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของมตินี้อยู่สองข้อ

“อย่างแรกคือช่วยสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มคนชาติพันธุ์ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็เปิดพื้นที่ให้กลุ่มชนชาติพันธุ์อ้างมติของคณะรัฐมนตรีจนเกิดเป็นการสร้างเครือข่ายที่สร้างอำนาจต่อรอง ชาวบ้านก็มีหลังพิงมากขึ้น

“สอง คือช่วยชะลอปัญหา ซึ่งแม้ว่าจะแก้ไขไม่ได้ทันทีแต่ก็ช่วยให้ปัญหาเกิดช้าลงได้ เช่น พื้นที่ของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่เป็นเขตอนุรักษ์ ยังยอมให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้มีโอกาสทำไร่หมุนเวียนได้ เพราะการอ้างมติครม.”

และหนึ่งในการแสดงออกเชิงรูปธรรมที่ต่อยอดจากมติครม. 3 สิงหา 2553 คือ การประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การพยายามคัดง้างกับกฎหมายและผู้ปฏิบัติเพื่อยืนยันสิทธิการจัดการตนเองบนฐานวัฒนธรรมเดิม แม้กรรมสิทธิ์ในพื้นดินยังเป็นของรัฐ​ แต่อย่างน้อยก็พอจะช่วยชะลอปัญหาของ ‘ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน’ ได้

ดังนั้น ก้าวต่อไปของการกลัดกระดุมเม็ดแรกคือการผลักดันมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยการผลักดัน ‘พระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์’ ซึ่งรวมถึงกลุ่มกะเหรี่ยงและชาวเลทางตอนใต้

แต่ความละเอียดอ่อนของการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้โดยศมส. ก็ได้เผชิญกับแรงเสียดทานทั้งภายในและภายนอก

หนึ่งในนั้นคือคำนิยามของ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ซึ่งอภินันท์แสดงให้เห็นความละเอียดอ่อนในประเด็นนี้ว่า “สุดท้ายแล้วเราจะนิยามกลุ่มชาติพันธุ์แค่ไหน เพราะถ้าเป็นภาษาทางมานุษยวิทยา ชาติพันธุ์จะเป็นใครก็ได้ อย่างกรณีชาวมลายูจะแยกดินแดนหรือเปล่า? จะประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษระดับภาคหรือเปล่า? ฝ่ายความมั่นคงก็จะจับตามองเราเป็นพิเศษว่าหลังออกกฎหมายจะมีผลเสียเกิดตามมาหรือไม่

“กฎหมายเป็นเรื่องของโครงสร้าง แต่โครงสร้างอย่างเดียวไม่พอ เราต้องทำงานฐานรากด้วย นี่คือกระบวนการมานุษยวิทยาที่ต้องหาทางออกร่วมกัน

“เราขอย้ำอีกรอบว่าความสำคัญคือการเข้าใจซึ่งกันและกัน” อภินันท์ทิ้งท้าย

… แต่ 10 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อย ดูเหมือนฝ่ายที่ไม่เข้าใจกันมากที่สุดคือฝ่ายความมั่นคงของรัฐเสียเอง ดังตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างการถูกอุ้มฆ่าบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ผู้ซึ่งลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมของชาวกะเหรี่ยงพื้นที่บางกลอย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 จนถึงตอนนี้ ควานหาความยุติธรรมที่ไหนก็ไม่เจอ

ดังนั้น คำถามที่ตามมาของความพยายามหาทางออกคือ แล้วเหตุใดรัฐจึงไม่เข้าใจ (พวกเรา)?

 

ประวัติศาสตร์ของการกดขี่ของรัฐ

 

“กลุ่มชาติพันธุ์ถูกกันออกตั้งแต่แรกอยู่แล้วในสมัยสงครามเย็น ซึ่งเขตภูเขาทั้งหมดของไทยกลายเป็นเขตจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ ภาครัฐของไทยก็มองว่าเรื่องนี้เป็นภัยความมั่นคง จึงเป็นที่มาของการออกกฎหมายเพื่อมาควบคุม เช่น ห้ามออกโฉนดบนเขตภูเขา ประกาศเขตพื้นที่ให้เป็นเขตป่าสงวนหรือเป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อคุมสภาพพื้นที่ไว้

“กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ก็อยู่ในเขตนี้ และรัฐไทยเองก็มองว่าพวกเขาเป็นแนวร่วมไม่ว่าจะเป็นม้งหรือกะเหรี่ยงก็ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง มิตินี้คล้ายกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทางใต้จะมีมิติทางศาสนาและความเป็นชาติพันธุ์ เช่น มลายูมุสลิม

“เพราะฉะนั้นความระแวงของรัฐไทยที่มีต่อชาติพันธุ์กลายเป็นสาเหตุเบื้องลึกที่มองเป็นภัยความมั่นคงมาตลอด ผ่านการพยายามควบคุมทุกรูปแบบ”

สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ฉายให้เห็นปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบรากมาจากมรดกใหญ่ในช่วงสงครามเย็น

รวมทั้งยังแสดงให้เห็นเนื้อแท้ของการ ‘สร้างชาติ’ ที่ต้องการให้ ‘คนอื่น’ นั้นกลายเป็น ‘พวกเรา’ ว่า “นี่คือสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์การกดขี่ของรัฐ และอุดมการณ์แบบนี้มาจากแนวคิดแบบลัทธิอาณานิคม ซึ่งไทยเองก็ใช้วิธีการแบบนี้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในการรวมประเทศให้กลายเป็นสยาม”

อุดมการณ์ของการสร้างอาณานิคมภายใน (internal colonization) นี้จึงสืบทอดไปยังตัวกฎหมาย “ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายป่าไม้ กฎหมายที่ดิน ก็มาจากอุดมการณ์นี้ทั้งนั้น”

 

สุมิตรชัย หัตถสาร

 

หากการเดินทางเข้าจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะมีแค่ ‘โค้งซ้าย’ หรือ ‘โค้งขวา’

ทำนองเดียวกันกับหนทางข้างหน้า มีแค่ชนะหรือแพ้ เท่ากันหรือเหลื่อมล้ำต่ำสูง

การเดินทางไกลของ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ จึงไม่ใช่เรื่องของ ‘คนอื่น’ แต่เป็นปัญหาที่พวกเราใต้ฟ้าเดียวกันร่วมเผชิญ

แน่นอน คงไม่จบในรุ่นเรา

 

 

 

 


หมายเหตุ – เก็บความจากโครงการมหกรรมไร่หมุนเวียนและการสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอน สนับสนุนโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save