fbpx
ซลาตัน อิบราฮิโมวิช : เพราะเขาโกรธ เขาจึงมีอยู่

ซลาตัน อิบราฮิโมวิช : เพราะเขาโกรธ เขาจึงมีอยู่

พิมพ์ชนก พุกสุข เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

วัดจากพฤติกรรมในสนาม ซลาตัน อิบราฮิโมวิช อาจไม่เป็นที่รักของทีมตรงข้ามนัก เขาพร้อมวิ่งไล่ขึ้นมาจากกลางสนาม ชนกองหลังอีกฝ่ายกระจุย ฝ่าขึ้นมาถึงหน้าประตูแล้วหวดลูกฟุตบอลตุงตาข่ายด้วยท่าตีลังกาจักรยานอันลือลั่น แต่หากว่าทั้งหมดนี้ไม่เกิดขึ้นหรือเขายิงไม่เข้า ความกราดเกรี้ยวทั้งหมดก็จะเบนมาลงกับเพื่อนร่วมทีมอยู่ดี เลวร้ายกว่านั้น ถ้ากรรมการเริ่มตักเตือนพฤติกรรม ซลาตันก็จะหันเหความสนใจทั้งหมดไปลงใส่กรรมการแทน

มันมีเรื่องอะไรให้ต้องโกรธขนาดนั้น กีฬามีแพ้มีชนะ – คุณอาจสงสัย

ก็จริงว่ามีแพ้มีชนะ แต่ในพจนานุกรมของซลาตัน ไม่มีคำว่าความแพ้ (โว้ย!)

ความโกรธขึ้งและชัยชนะกลายเป็นสิ่งจำเป็นของซลาตันตั้งแต่เขายังเด็ก ย้อนกลับไปสามสิบปีที่แล้ว ก่อนหน้าที่ร่างกายจะยืดขยายจนสูงถึง 195 เซนติเมตร เขาเป็นเด็กชายตัวเล็กจิ๋วและป่วยเป็นหวัดเรื้อรังตลอดทั้งปี โตมาในครอบครัวผู้อพยพเชื้อสายบอสเนียในสลัมโรเซ็นการ์ด, สวีเดน เป็นเจ้าหนูตัวจ้อยผู้สถาปนาตัวเองเป็นนักสะเดาะกลอนจักรยานมือฉมังตั้งแต่เข้าเรียนได้ขวบปีแรกๆ

และเช่นเดียวกับเด็กชายชาวสวีเดนรุ่นเดียวกัน พวกเขาหลงใหลในฟุตบอล ความเกรียงไกรของฟุตบอลในยุโรปขยายอาณาเขตเต็มที่ในยุค 80 ช่วงปีที่เด็กวัยเดียวกันกับซลาตันเติบโต พวกเขาหอบเอาลูกบอลลงสนาม แบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบบที่เด็กชายซลาตันหาที่ลงไม่ได้ นั่นเพราะข้อแรก เขาตัวเล็กกว่าเด็กวัยเดียวกัน ข้อสอง เขาผมสีน้ำตาลอยู่คนเดียวท่ามกลางผมสีบลอนด์สว่างของเด็กสวีเดน และดูเหมือนว่านั่นจะเป็นบ่อเกิดของ ‘ความเป็นอื่น’ ที่เขาจงเกลียดจงชังนักหนาแม้กระทั่งตอนโตแล้วก็ตาม

นั่นกลายเป็นชนวนแรกที่ทำให้ซลาตันตัวน้อยกราดเกรี้ยวใส่ทุกคนที่ไม่ให้เขาเข้าทีม และถ้าใครก็ตามใจอ่อนยอมให้เขาเข้าทีมแล้วแต่ทีมแพ้ เขาก็จะตะโกนใส่หน้าทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เขาพลาดชัยชนะ สบถสาบานว่าจะไม่มีวันกลับมาเตะฟุตบอลอีก และจะไปเล่นกีฬาที่เท่กว่าอย่างฮ็อคกี้แทน (แต่อนิจจา อุปกรณ์ฮ็อคกี้แพงเกินไป วันต่อมาเด็กชายซลาตันจึงกลับมาลงสนามฟุตบอลอีกครั้ง ด้วยความมุ่งมั่นจะชนะเหมือนเดิม)

 

“สลัมโรเซ็นการ์ดสร้างให้ผมเป็นคนแกร่ง”

ฟุตบอลกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตซลาตันวัยเด็ก นอกเหนือไปจากการขโมยจักรยานและลักของจากห้างสรรพสินค้าแถวบ้าน กีฬากับลูกกลมๆ ได้กลายมาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวเพียงไม่กี่อย่างของเขา พร้อมๆ กันกับปัญหาการควบคุมอารมณ์ที่ดิ่งลงเหวสวนทางกับฝีเท้า ด้วยวัยเพียง 13 ปี เขาก่อคดีกระชากคอเสื้อเพื่อนร่วมทีมแล้วเฮดบัดใส่เต็มเหนี่ยว ก่อนที่อีกวันต่อมาจะถูกกลุ่มผู้ปกครองล่าลายเซ็นให้เอา ‘ไอ้เด็กก้าวร้าวหัวน้ำตาล’ นั่นออกจากทีมซะ

ความแกร่งที่ซลาตันเข้าใจเมื่อยังเด็ก ข้ามเส้นไปสู่ความก้าวร้าวอย่างง่ายดาย เขาหยาบคายใส่พ่อแม่ของเพื่อนร่วมทีม ปฏิเสธจะทำตัวสุภาพ เพียงเพราะมันสะท้อนภาพลักษณ์ของการเป็นชาวสวีเดนที่ดีในอุดมคติซึ่งกีดกันเขาออกมา (“ที่บ้านผมนี่ไม่มีร้อก จะมาบอกว่าส่งแยมให้หน่อยสิจ๊ะ มีแต่บอกว่าส่งไอ้แยมเวรนั่นมาสิโว้ย”) ตลอดจนการไม่แยแสนักเตะสัญชาติสวีเดน และหันมาเทิดทูนนักเตะอย่าง ดิเอโก มาราโดนา, โรมาริโอ และ โรนัลโด นักเตะบราซิลที่ซลาตันแทบถวายหัวให้

อาจด้วยการถอยตัวเองออกมาจากการเป็นที่รักของชาวสวีเดน เพราะถึงอย่างไรเสียก็ไม่มีทางถูกรัก, การถูกตราหน้าในฐานะเป็นคนอื่นมาตั้งแต่ยังเด็ก, การเดินตามฝีเท้าของนักเตะชาติอื่นจนสร้างลวดลายแปลกประหลาดในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา ตลอดจนฝีปากที่สร้างวาทะเฉียบคม ฟาดมาแล้วทั้งเพื่อนร่วมรุ่น ตลอดจนรุ่นใหญ่กว่าอย่าง อาร์แซน แวงเกอร์ ที่ถูกตอกกลับอย่างเผ็ดร้อนสมัยที่พยายามให้ซลาตันในวัย 17 ทดสอบฝีเท้าเข้าทีมอาร์เซลนอลว่า “ไม่เอา เพราะซลาตันไม่ออดิชั่นโว้ย”

ทั้งหมดนี้ได้ประกอบร่างเป็นซลาตัน อิบราฮิโมวิช ที่มาพร้อมอารมณ์รุนแรงและกราดเกรี้ยวในสนาม จนพอเข้าใจได้ว่าทำไมครั้งหนึ่ง แพทริค เอริกสัน-โอลส์สัน อดีตนักเตะทีมเยอร์การ์เดนส์ ที่เคยดวลฝีเท้ากับซลาตัน ถึงกับกล่าวอย่างขมขื่นว่า “(ซลาตัน) คือไอ้เด็กที่ทำได้ทุกอย่างกับลูกฟุตบอล แต่เสือกคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้”

เหนืออื่นใด ในเวลาต่อมาเขาพบว่าความกราดเกรี้ยวได้กลายเป็นแหล่งพลังงานสำคัญราวกับเชื้อเพลิงหลักของเขาในสนามหญ้า

“ความโกรธมันเป็นแรงขับที่ดีสำหรับผมนะ ในสนามน่ะผมจำเป็นต้องโกรธ” เขาสาธยายอย่างจริงจัง “มารู้ทีหลังเหมือนกันว่าความโกรธเกลียดมันสร้างพลังให้ผม ตลอดอาชีพนักเตะนี่มีแต่คนไม่เชื่อในตัวผมมาตลอด ไอ้พวกที่บอกว่าผมทำไม่ได้หรอก คนที่มาตัดสินผมก่อนที่ผมจะมีโอกาสได้พิสูจน์อะไรทั้งนั้น และนั่นแหละที่ผมใช้มาเป็นแรงขับ”

 

“คุณอธิบายว่าซลาตันเป็นใครให้ชาวดัตช์เข้าใจหน่อย”

“ไม่เคยได้ยินคำถามแบบนี้มาก่อนเลยแฮะ ผมว่าคุณคงเป็นคนเดียวแหละมั้งที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ ลองไปถามคนที่รู้จักซลาตันดูสิ”

“… คุณคิดว่าพวกเขาจะตอบว่าไง”

“ก็ไปถามเขาดิ”

บทสนทนาข้างต้นเกิดขึ้นกับนักเตะหนุ่มวัย 20 ที่เพิ่งย้ายมาจากสโมสรบ้านเกิด ข้ามพรมแดนมายังอาแยกซ์ สโมสรใหญ่ในอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ กับผู้สื่อข่าวท้องถิ่นที่เหมือนจะตั้งรับกับความผยองตรงหน้าไม่ทัน แต่นั่นเป็นแค่ปฐมบทการฟาดฝีปากระหว่างซลาตันกับนักข่าวเท่านั้น เพราะในอาชีพการค้าแข้งอีกสิบปีให้หลัง นอกเหนือไปจากความกราดเกรี้ยวฟาดงวงฟาดงาบนสนามหญ้า ซลาตันยังเป็นไม้เบื่อไม้เมากับนักข่าว แม้ไม่เคยถึงขั้นกระชากคอเสื้อหรือสาวหมัดใส่หน้ากันตรงๆ แต่เป็นที่รู้กันดีว่า เบื้องหลังคำถามคำตอบถากถางกันและกันนั้น เต็มไปด้วยมวลบรรยากาศของการเอาเรื่องกันไม่ใช่น้อย

ครั้งที่รุนแรงและกลายเป็นข้อพิพาทที่ใหญ่โตที่สุดของเขา หนีไม่พ้นสมัยเมื่ออยู่บาร์เซโลน่า เมื่อภาพเขากับ เฆราร์ด ปิเก้ กองหลังชาวคาตาลัน ยืนเอนตัวพิงรถอยู่ด้วยกัน และสะพัดไปทั่วทันทีจนเกิดเป็นข่าวเซอร์แตกของวงการฟุตบอลว่าทั้งสองคบหาดูใจกันอยู่ลับๆ (เอ่อ…) ขณะที่ปิเก้ตอบโต้กับข่าวนี้ด้วยการปล่อยผ่าน ซลาตันกลับกรรโชกใส่นักข่าวสาวที่ตรงเข้ามาถามเขาว่า จริงหรือไม่ที่เขาเป็นเกย์ ด้วยการท้าให้เธอมายังบ้านเขา “จะได้รู้ว่าผมเป็นเกย์หรือเปล่า” และมันได้กลายเป็นรอยด่างที่ลบไม่ออกของเขาทันที เพราะมันมาพร้อมคำตราหน้าว่าเขาไม่ให้เกียรติคู่สนทนา

“ผมให้ความเคารพสื่อมวลชนเสมอแหละถ้าพวกเขาเคารพผมด้วย” จบ ปิดประเด็นเดือด – อย่างไม่ยี่หระเช่นเคย

ถ้าไม่นับว่าความเกรี้ยวกราดเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากความอยากชนะ เชื้อเพลิงสำคัญในสนามฟุตบอล การไม่ได้รับเกียรติหรือการถูกหยามหมิ่น ก็คล้ายจะเป็นบ่อเกิดสำคัญนอกสนามเช่นกัน เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าในวัยแรกเริ่มประเดิมสนาม เขายังต้องอดทนกับการถูกถากถางจากเพื่อนนักเตะด้วยกัน โดยเฉพาะการถูกเหยียดเชื้อชาติผ่านทางคำพูดที่รุนแรง จนนำมาสู่การปะทะคารมยืดเยื้อและแสบคัน (“ทำไมล่ะ พวกมันยังเรียกผมว่าไอ้ยิปซีเปรตได้เลย”) โดยเฉพาะข้อครหาที่เขาได้รับมาตั้งแต่ยังเด็กอย่างการ ‘ไม่เป็นสวีเดน’ มากพอ

 

แม้จะพูดไม่ได้ว่าซลาตันเป็นนักเตะที่เป็นมิตรหรือสุภาพ แต่ความสุภาพมันจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในสนามที่เปรียบเสมือนสังเวียนของเหล่านักเตะ หรือให้ไกลกว่านั้น มันจำเป็นแค่ไหนสำหรับชีวิตของซลาตัน ไอ้หนูขี้โรคจากครอบครัวผู้อพยพที่เพื่อนไม่ยอมให้ร่วมทีมฟุตบอลเพราะตัวเล็ก เขาเลยต้องแย่งชิงและเรียกร้องเอาสิทธิของตัวเองกลับมา หรือมันจำเป็นแค่ไหนตอนที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นคนนอกทั้งในและนอกสนาม “มองย้อนกลับไป ผมชินชากับความรู้สึกเจ็บช้ำมาตลอด นั่นคือความรู้สึกของการไม่เป็นที่รักเพียงเพราะเป็นอิบราฮิโมวิช”

ก็ไม่แน่ว่าถ้าเขานุ่มนวลกว่านี้ ใจเย็นและสุภาพกว่านี้ เขาอาจมาได้ไม่ไกลถึงการเป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจของวงการฟุตบอลก็เป็นได้ หรือแม้แต่อาจไม่ได้เป็นที่รักในฐานะกองหน้าหัวร้อนแบบที่เขาเป็นอยู่ในทุกวันนี้

แต่ของแบบนี้ใครจะให้คำตอบได้กัน

 


 

อ้างอิงข้อมูลจาก :

  • หนังสือ ‘I am football’ เขียนโดย Zlatan Ibrahimovic (2018)
  • หนังสือ ‘I am Zlatan Ibrahimovic’ เขียนโดย Zlatan Ibrahimovic, David Lagercrantz (2013)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save