fbpx
ชีวิต Happy-Sad ของ M Yoss : เมื่อเป็ดจะบินสูง

ชีวิต Happy-Sad ของ M Yoss : เมื่อเป็ดจะบินสูง

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

หากคุณได้ดูภาพยนตร์สารคดี 2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ที่ตามติด ‘พี่ตูน’ วิ่งข้ามประเทศตั้งแต่เบตงถึงแม่สาย เบื้องหลังช็อตงามๆ และความเจ็บปวดของพี่ตูน ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาช่างภาพนามว่า เอ็ม-ยศวัศ สิทธิวงค์  เขาทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับทีมงานอีก 3 คน และทำงานเคียงคู่กับ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับ อย่างสมบุกสมบัน

ก่อนหน้า เอ็มทำงานด้านโปรดักชัน ถ่าย ตัดต่อ มิวสิควิดีโอหลายต่อหลายชิ้น ไม่ใช่แค่หลังกล้อง แต่งานเบื้องหน้าอย่างพระเอกเอ็มวีหน้าตาเจี่ยมเจี้ยมในเพลง มนุษย์ลืม ของ แสตมป์ อภิวัชร์ และเพลง ทางของฝุ่น ของอะตอม ชนกันต์ ก็เป็นเอ็มคนเดียวกันที่ปรากฏโฉมหนุ่มแว่นจอมผิดหวังได้อย่างน่าจดจำ

แต่แค่มิวสิควิดีโอยังไม่พอ เอ็ม ยศวัศ ยังเป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง นมัสเตอินเดีย ส่งเกรียนไปเรียนพุทธ และ มหาสมุทรและสุสาน

นอกจากงานภาพแล้ว เขายังทำงานด้านเสียงเพลง ในนามศิลปินว่า M Yoss ด้วยการเป็นนักร้องคนแรกของค่ายเพลง 12sumrecords (นึง-ส่อง-ซั่ม เรคคอร์ดส์) ค่ายของแสตมป์ อภิวัชร์ เปิดตัวด้วยเพลง เสาอากาศ เพลงที่เล่าเรื่องความรักจากเรื่องใกล้ตัว ตามติดมาด้วยเพลง พจนานุกรม ที่เขาลงทุนบินไปเชียงรายบ้านเกิดเพื่อทำมิวสิควิดีโอด้วยตัวเอง ต่อด้วยเพลง บ๊อบเท ที่มีท่อนฮุคติดหูว่า “บ๊อบเท บ๊อบเท” และในเพลงล่าสุดที่เอ็ม ร้องเพลง กำลังพัฒนา ร่วมกับ แสตมป์ และ PUNG TUNTEK

ออกมาจากเนื้อเพลง เขาเองก็บอกว่า ชีวิตช่วงนี้ก็กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา

จากหนุ่มเชียงราย ผู้ชอบดนตรี รักการวาดรูป ใฝ่ฝันอยากเล่นกังฟู สนุกกับการทำหนัง และหลงใหลการแสดง เขาทำทั้งหมดนี้ในช่วงเวลาเดียวกันได้อย่างไร ชีวิตการเป็นศิลปินหนุ่มในบ้านนี้เมืองนี้เป็นแบบไหน มีอุปสรรคและความสนุกอะไรซ่อนอยู่บ้าง

101 ชวนคุยกับ เอ็ม ยศวัศ ยาวๆ ท่ามกลางอากาศทึมเทาของฝุ่น PM 2.5 ใจกลางกรุงเทพฯ ย่านสุขุมวิท — โชคดีที่เรานั่งอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ และคุยกันเรื่องชีวิตด้วยเสียงหัวเราะแทบทุกประโยค

เอ็ม-ยศวัศ สิทธิวงค์

ความสามารถ ความสนใจหลายๆ อย่างของคุณเริ่มต้นมาจากไหน ตอนเด็กมีความใฝ่ฝันอะไร

ช่วงเด็กๆ พ่อแม่จะยัดใส่เหมือนเด็กทั่วไป เป็นหมอสิลูก เพราะแม่ผมก็เป็นพยาบาล ส่วนพ่อก็บอกให้เป็นทนายความ แต่ไม่ได้ยัดว่าลูกต้องทำ ต้องเรียนพิเศษ เพราะบางทีที่ผมอยากจะยัดอะไรบางอย่างให้ตัวเอง เขาก็ซัพพอร์ต เช่น อยากเล่นดนตรี ก็พาไปเล่นที่บ้านอาจารย์แถวบ้านที่สอนดนตรีพื้นเมือง อยากเล่นกีตาร์ เขาก็ซื้อให้ ตอน ป.3 พ่อแม่ขับรถไปที่ชายแดนพม่า พาไปซื้อกีตาร์โปร่ง ราคา 100 บาท ตรงนั้นของถูกมาก

ตอนเด็กๆ อ่านเรื่องเคนจิ หมัดกังฟู ก็เลยชอบกังฟูมาก ถามแม่ว่าอยากเล่นกีฬากังฟู มีมั้ย แม่ก็บอกว่า เชียงรายไม่มีกังฟูนะลูก มีแต่ฟ้อนเล็บ (หัวเราะ) ก็เลยไปเล่นคาราเต้ อยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ แต่ก็ไปไม่ถึง เหมือนความฝันจะมาเป็นห้วงๆ พอเล่นคาราเต้ ก็อยากไปวัดเส้าหลิน ตอน ม.ปลายก็เลยเดินไปสมัครศิลป์-จีน ผมอยู่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม เชียงราย จำได้ว่าตอนนั้นเดินเข้าไปคนแรกเลย ครูวางกระดาษลงกับพื้น เขียนเลย ศิลป์-ภาษาจีน ผมลงชื่อคนแรก ลงเพราะอยากไปวัดเส้าหลินมาก

พอเข้าไปแล้วเป็นไง

ครูก็สอนให้ร้องเพลง F4 (หัวเราะ) ให้ร้องเพลงเจ โชว์ (Jay Chou) สอนประวัติศาสตร์ของแพนด้า เราก็แบบ เฮ้ย ไม่ใช่เส้าหลินแล้วว่ะ ตอนนั้นเราเศร้ามาก ไม่เป็นอย่างที่คิด เอาไงดีวะ ก็เรียนไป กลายเป็นว่า เออ ภาษาจีนมันสนุก พอเขาเริ่มจำแนกตัวอักษรแต่ละชนิด จะมีเรื่องราว ตัวนี้เหมือนต้นไม้ ตัวนี้เหมือนหัวใจ พอประกอบกันก็สนุกดี เหมือนวาดรูป ส่วนตัวก็ชอบวาดรูปอยู่แล้ว วาดตั้งแต่เด็กเลย แม่ชอบซื้อกระดาษให้ ซื้อสีให้ จำได้ว่าเคยวาดรูปทิ้งไว้ แล้วแม่เอาไปทิ้ง คิดว่าไม่ได้ใช้กระดาษใบนั้น ร้องไห้หนักเลย เศร้ามาก เป็นคนที่อินกับอะไรแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ส่วนเรื่องวัดเส้าหลิน.. ก็ตามนั้นแหละครับ

จนกระทั่งได้มาเรียนที่คณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็เข้ามาด้วยโควตาช้างเผือกกีฬาคาราเต้ เล่นคาราเต้จนสะบักสะบอม กรามหลุด เอ็นนิ้วขาด เล่นตั้งแต่ ม.1-6 ช่วง ม.5 ก็เริ่มไปแข่ง เริ่มได้รางวัลบ้าง ได้เหรียญทอง ชิงแชมป์ประเทศไทย ก็ไปยื่นสมัคร แล้วก็ทดสอบข้อเขียน สุดท้ายก็ได้เข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ

เลือกเรียนคณะวารสารฯ เพราะอะไร

เราเลือกวิชาที่อยากเรียน อยากไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น ตอนมัธยมชอบดูหนัง ดูโฆษณา ก็เคยนัดเพื่อนสมัยมัธยมทำหนังเล่นกัน หนังชื่อว่า อาหลงสู้ๆ เป็นหนังเกี่ยวกับกังฟู ทำกับเพื่อนสามคน ซึ่งก่อนหน้านั้นผมไม่เคยเจอสองคนนี้เลย ผมรู้แค่ว่า คนนึงมีโปรแกรมตัดต่อ แล้วผมตัดไม่เป็น ส่วนอีกคนเป็นเพื่อนกันแล้วน่ารักมาก หน้าเขาตลก มีคาแรกเตอร์ ผมอยากให้เขาเก่ง ผมก็จะเป็นสแตนด์อินให้เขาตอนเล่นฉากแอ็คชั่น เขียนบทกันเล่นๆ ก็ชอบ อยากต่อยอด อยากรู้วิธีการตัดต่อ ก็เลยเลือกวารสารฯ

พ่อแม่ก็ถามบ่อยเหมือนกันนะว่า เรียนนิเทศฯ เหรอลูก ที่บ้านไม่รู้เลยว่าเรียนนิเทศฯ จบมาทำอาชีพอะไร ทุกวันนี้ก็ยังรู้แค่บางๆ ไม่ได้รู้เยอะว่าทำอะไร

พอเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ชีวิตเป็นยังไง

การที่เป็นเด็กต่างจังหวัดมาอยู่หอพัก พอไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีบ้าน เหมือนบวชเลย ไม่เคยบวชเหมือนกันนะ แต่พยายามเทียบอะไรที่ใกล้เคียง ได้คิด ได้อยู่กับตัวเอง ระหว่างนั้นก็เลยเริ่มเขียนเพลง ผมอยู่หอเอเชียนเกมส์ เป็นหอใน ใกล้ตลาดนัด มีวัยรุ่นอยู่กันเยอะ ทีนี้เพื่อนที่เป็นรูมเมท บ้านเขาอยู่กรุงเทพฯ เสาร์-อาทิตย์เขาก็กลับบ้าน เราก็จะอยู่เหงาๆ หาอะไรทำไป

ช่วงแรก ร้องไห้เลยนะ ป๊อดสุดๆ เลย ช่วงแรกที่ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ที่บ้านก็มีปัญหาด้วย เรื่องความสัมพันธ์ของพ่อแม่ เรื่องฐานะทางการเงิน เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างเศร้ามาก ยังหาทางออกไม่เจอ พ่อแม่เลิกกัน ถึงขนาดต้องขึ้นโรงขึ้นศาล แล้วเป็นจังหวะที่เรากำลังจะเข้ามหา’ลัยพอดี แต่ข้อดีคือ พอเราห่างจากสภาพแวดล้อมที่กดดันแล้ว ก็ค่อยๆ คิดมากขึ้น หาเหตุผลว่าเพราะอะไรเหรอ ทำไมถึงทะเลาะกัน ทำไมถึงเครียด ทำไมไม่โอเคกัน เราในฐานะลูก สุดท้าย อยู่คนเดียวว่ะ ไม่มีอะไรเลย ในความคิดที่วุ่นวายมากๆ สุดท้ายแล้วเป็นเรื่องของพ่อแม่ ก็ตัดเลย

มีคำพูดนึงก่อนผมจะมาอยู่กรุงเทพฯ พ่อบอกว่า เห็นแล้วใช่มั้ยว่าพ่อกับแม่เฟลมาก เป็นผู้ใหญ่ก็มี error ได้ ไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ ต่อไปนี้อยากทำอะไรก็ทำเลย ไม่มีแบบแผนแล้ว ลูกจะไปเส้นไหนก็เลือกเอา อันนี้เราจำมาตลอด เอาไปเป็นบรรทัดฐานมองคนได้ว่า บางทีคนคนนึงอาจจะไม่ได้สำเร็จ เป็นเทพเจ้า บางทีก็ต้องมีด้านที่เขาเฟลบ้าง

เอ็ม-ยศวัศ สิทธิวงค์

ตอนนั้นที่อายุ 18-19 คุณรับมือกับเรื่องพวกนี้ยังไง

อาจจะเป็นสภาพแวดล้อม หรืออาจจะด้วยวิธีการเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก คนเหนือจะปาหี่ มักม่วน เวลางานศพก็นินทาคุยกัน สมัยตอนที่มันยังมีชีวิตอยู่ มันตลกนะ ไปตกคลองตรงนี้ แบบ Happy-Sad น่ะ เราอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้นมา พอมาอยู่กรุงเทพฯ ก็มีเพื่อนพาไปนู่นไหนี่ มีเพลงดีๆ ฟัง สภาพแวดล้อมใหม่ด้วย ก็เลยดึงความสนใจเราไปจากทางนั้น เลยผ่านมาได้

ช่วงเรียนมหา’ลัย ก็เริ่มทำหนังจริงจัง จับกล้องจริงจัง?

จำได้ว่า ก่อนหน้าที่จะมาเรียนวารสารฯ ผมดูหนังสั้นของ ม.รังสิต เรื่องนึง ชื่อ หลวงตา มารู้ทีหลังว่าคนกำกับชื่อภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ที่กำกับ Home Stay บันดาลใจผมมากเลย เป็นหนังสั้นที่ดูแล้ว ตอนจบจะขนลุก เขาพูดเรื่องหลวงตาพิการที่เป็นเจ้าอาวาส แล้วสุดท้ายโกงเงิน เล่าผ่านสายตาเด็กคนนึงที่เป็นลูกของโยมในวัด เราก็อยากทำหนังขึ้นมาสักเรื่อง ตอนนั้นก็คุยกับเพื่อน รวมตัวกันทำโปรเจ็กต์

เรารู้ตัวว่าชอบถ่ายภาพ แต่วิชาถ่ายภาพได้ D คือครูให้เราท่องเคลวินหรืออุณหภูมิแสง ยศวัศ เทียนกี่อุณหภูมิ เป็นตัวเลขเท่าไหร่ ผมไม่รู้ รู้แค่ภาพกว้าง ภาพแคบ แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ แก้ไป ติด F ก็มี เพราะมัวแต่ไปเล่นคาราเต้ เราเข้ามาด้วยกีฬา ก็ต้องไปเล่นกีฬามหา’ลัย ได้เหรียญทองด้วยนะ แต่ได้แล้วก็ไม่ค่อยคุ้ม เราสามารถบาลานซ์ได้เลยนะว่าเราเสียเวลาตื่นตี 4 ไปออกกำลังกาย ซ้อมๆๆ ได้เหรียญทองมา มหา’ลัยก็ตัดสูทให้ตัวนึง ก็โอเค แฮปปี้ดี แต่มันมีทางแฮปปี้กว่านี้ว่ะ ก็เลยเลือกทำหนัง ไปทางโปรดักชันเต็มที่เลย

ช่วงจะจบมหา’ลัย อาจารย์ให้เลือกระหว่างทำธีสิสกับฝึกงาน มีคนทำธีสิสอยู่ 3-4 คน ผมก็ทำกับเพื่อน ผมถ่ายสองเรื่อง เป็นตากล้อง เริ่มรู้สึกว่าชอบการถ่ายแล้ว แต่ไม่เคยคิดเลยว่าจบมาแล้วจะทำอาชีพอะไร

ช่วงก่อนจบมีงานประกวดของ Panasonic เอ็มวีเพลง หน่วง ของ Room 39 ก็ชนะได้ที่ 1 ทำเสร็จแล้ว มีรุ่นพี่ที่วารสารฯ ที่ทำโปรดักชั่นเฮ้าส์อยู่ ชื่อว่า กระต่ายตื่นตัว มาชวนให้ไปทำงาน ระหว่างนั้นก็รับงานฟรีแลนซ์ ถ่าย ตัด ทำเองหมดเลย ตอนนั้นมีกล้อง Canon 7D ตัวเดียว แล้วก็มีไมค์สายเสียบ เอาไว้สัมภาษณ์ รับงานวิดีโอความยาว 15 นาที ถ่าย 3 วัน ตัดด้วย ได้ 5,000 บาท ตอนนั้นรู้สึกว่า โห คุ้มว่ะ มีเงินเข้าแล้วเว้ย เดือนนี้กูสบายละ เดินหล่อๆ ออกไปหาอะไรกินแพงๆ มองย้อนกลับไปก็ตลกดี

ผมรับงานเยอะ หลายประเภทมาก ส่วนมากเป็นภาพเคลื่อนไหวหมดเลย ทำมาหลายปีอยู่เหมือนกัน ทำไปสักพักก็เริ่มมีพี่ชวนไปถ่ายเอ็มวี เพื่อนผมก็เริ่มไปกำกับวงที่ดังขึ้นมา เช่น โฟร์มด ผมก็ได้ไปถ่ายให้เขา มีทั้งงานที่คนชอบ คนด่า สุดท้ายมันฟีดแบกกลับมาที่เรา ถ้ามึงไหว มึงพัฒนาต่อไปนะ ถ้ามึงไม่ไหว ท้อ มึงก็โยนทิ้ง ตอนนั้นเหยียบมาทางไหวอยู่

มีงานไหนบ้างที่เฟล

เฟลทุกงานเลย (หัวเราะ) ธรรมชาติของกองถ่ายคือ เราแสร้งบอกตัวเองว่าควบคุมได้ มีสตอรี่บอร์ด มีนู่นมีนี่ แต่สุดท้ายคุมไม่ได้อยู่ดี เพียงแต่ว่าค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ ปล่อยวาง เราหวังผลในจุดที่คาดหวังได้ก็พอ จะมีบางงานที่เรารู้สึกว่าแค่นี้อยู่ ทำได้แล้ว แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ปล่อยไป

ชีวิตการเป็นฟรีแลนซ์เป็นยังไง

พวกงานตัดต่อ โฆษณา พรีเซนเทชัน ก็นั่งทำอยู่บ้าน ไม่มีเป็นผลงานชัดๆ ว่าเราทำนะ แต่เราทำงานโปรดักชั่นเพราะว่าต้องเอาเงินมาจ่ายในแต่ละเดือน เราคิดไว้แต่แรกอยู่แล้วว่า คุณเป็นเด็กต่างจังหวัด 12 เดือนคูณกันได้เงินเท่าไหร่ แต่ละเดือนคุณใช้เงินเท่าไหร่ ก็ทำงานให้ได้อยู่ต่อไป แต่ระหว่างนั้นเราก็จะหางานที่อยากทำ แต่งานที่ต้องทำก็ต้องมาก่อน เพราะไม่มีก็โดนไล่ออกเลย ผมเคยยืมเงินเพื่อนด้วยนะ ลูซเซอร์มากเลย รู้สึกว่าเราดูแลตัวเองไม่ได้ แต่ระหว่างนั้นก็เริ่มมีงานมาเรื่อยๆ

ระหว่างทำโปรดักชั่น ผมก็เคยคิดว่าอยากทำเพลงด้วย ทำเพลงแบบเป็นศิลปิน ก็ไปคุยกับพี่ว่าอยากหยุดทำโปรดักชันสัก 2-3 เดือน พอหยุดไปแล้ว ไม่มีตังค์ว่ะ สุดท้ายก็เลยพักเพลงไว้ก่อน แต่งไว้แหละ แล้วก็ทำโปรดักชั่นไป ก็มีงานที่อยากทำเช่น หนังสั้น หรือว่าเอ็มวีวงที่เราอยากทำ เช่น Scrubb พอทำมาสักพัก ก็แอบตันประมาณนึง เพราะเด็กที่จบหลังเรามาเรื่อยๆ มีอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นในราคาถูกลง กลายเป็นว่างานเราน้อยลง

ช่วงที่ไม่มีงานเลย ผมก็นั่งเล่นเฟซบุ๊กไป แล้วพี่ไก่ ณฐพล บุญประกอบ ก็โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรียนสารคดีอยู่อเมริกา กำลังทำธีสิส หาคนช่วยถ่ายหน่อย เรามีกล้องอยู่ที่บ้าน ตกงาน ก็เลยทักไปบอกว่า พี่ ผมชื่อเอ็มนะครับ ผมไปถ่ายให้ได้มั้ย แล้วเดี๋ยวส่งฟุตเทจไปทางอีเมล ก็ออกไปถ่ายเช้า-เย็น สมบุกสมบัน กลายเป็นว่าคุยไปคุยมา คลิกกัน พี่เขามีมุมมองที่เราไม่เคยมองเลย แล้วก็สอนเราตลอด กลายเป็นว่าทำธีสิสให้เขาจนสำเร็จ ถ่ายหลายครั้งมาก จนมีงานโปรเจ็กต์ที่พี่ไก่ได้ทำ แล้วชวนผมเข้าไปทำ คือสารคดี 2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว จู่ๆ ก็ได้ถ่ายหนังเฉยเลย ชีวิตงงมาก

เอ็ม-ยศวัศ สิทธิวงค์

ทำงานยากมั้ย สารคดี 2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว

ก็ยากตรงที่ว่าเป็นงานใหม่ เป็นหนังประเภทสารคดีที่ไม่เคยทำเลย มานั่งคุยกับพี่ไก่กับทีมงาน คือเราไม่เคยเห็นผู้ชายที่วิ่งข้ามประเทศมาก่อน จินตนาการกองถ่ายไม่ออกว่าเราจะไปอยู่ตรงจุดไหน ก็ค่อยๆ หาคำตอบไประหว่างทางพร้อมๆ กับพี่ตูน ตัวเราก็ได้เรียนรู้วิธีการถ่ายในหลายๆ แบบด้วย ถามว่ายากมั้ย ก็ยาก แต่ผมชอบเคมีของทีมงานมากเลย ไม่เคยเจอในกองถ่ายไหน เป็นกองถ่ายที่คนน้อยที่สุด แล้วก็ช่วยเหลือกันที่สุด มีทั้งหมด 4 คน สนุกมากเลย เหมือนผมทำหนัง อาหลงสู้ๆ อีกครั้งนึง

มีเรื่องประทับใจอะไรมั้ยที่เกิดขึ้นในกองถ่ายสารคดี

มีทุกวันเลยนะ เราไม่เคยไปเบตงเลย เป็นคนเชียงราย ถ้ามองตามแผนที่ บ้านเราอยู่บนสุด แล้วเบตงอยู่ล่างสุด เราก็คิดว่าชีวิตเรามาไกลมากเลยว่ะ เดี๋ยวเราจะวิ่งตามผู้ชายคนนึงกลับบ้าน ตื่นเต้นมาก แล้วพอเราตามขบวนผ่านอุโมงค์ ที่มีข้อความเขียนว่า ‘จุดใต้สุด’ ช่วงที่ค่อยๆ ผ่านอุโมงค์มืดๆ เสียงก้องๆ เด้งไปเด้งมา ดังโว้วๆๆ พอวิ่งออกไปจะเป็นปลายวงเวียนแสง แล้วแสงก็ค่อยๆ กว้างขึ้นเรื่อยๆ จนเราหลุดออกมาจากอุโมงค์ เป็นโมเมนต์ที่อธิบายยากมาก น้ำตาไหลเลย ความรู้สึกเหมือนในหนัง หลุดออกมาจากความมืดแล้วเห็นความสว่าง ชีวิตเราสดชื่นจังเลย ดีใจที่ได้ทำโปรเจ็กต์นี้ หันไปมองพี่ไก่ที่ตั้งกล้องรออีกมุมนึง ปลายอุโมงค์ ผมก็บอก พี่ เมื่อกี๊ผมร้องไห้ พี่ไก่ก็บอก ดีมากเลยว่ะ มหัศจรรย์มาก

แล้วตอนถึงเชียงรายรู้สึกยังไง

เหนื่อย แต่รู้สึกดี ด้วยอากาศที่หนาว แล้วก็ด้วยซาวด์แทร็คข้างทางเป็นภาษาเหนือ รู้สึกเหมือนกลับบ้าน ดีใจ แล้วกลับมาด้วยงานที่เราทำ กลับมาในพื้นที่ที่เราคุ้นเคย เสียงคนข้างทางก็จะบอกว่า สู้ๆ นะเจ้า แฮ๋มน้อยเดียว แปลว่า อีกนิดเดียวนะ เขาเชียร์พี่ตูนแหละ แต่เราได้ยินภาษาเหนือแล้วเราเข้าใจ มีแรงขึ้นมา ตอนตัดต่อกับพี่ไก่ เปิดคำว่า ‘อีกนิดเดียว’ บ่อยมาก

เวลาที่เราเห็นใครสักคนให้แบบเต็มที่ อย่างพี่ตูนมาวิ่ง เหนื่อยมากเลย แล้วพี่ทำได้ด้วย สิ่งนี้บันดาลใจเรา เป็นพลังงานบวก ในระหว่างนั้นก็คงมีคำวิพากษ์เยอะ แต่เราเป็นตากล้องในโปรเจ็กต์นี้ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด คือทำออกมาให้ดี ไม่ได้สนเรื่องอื่น ตำแหน่งที่เราอยู่คือจับภาพให้ได้นะ อย่าตายก่อน แต่ใช้พลังงานเยอะมาก แขนล็อกเลย ยกได้แค่นี้ (ยกแขนให้ดู) รู้สึกว่าถ้าแก่กว่านี้มาทำคงจะท้อไปแล้ว จังหวะทุกอย่างมันพอดี

หลังจากทำสารคดีชิ้นนี้เสร็จแล้วชีวิตเปลี่ยนมั้ย หรือเหมือนเดิม

ผมพร้อมชนอะ พร้อมชนกับโปรเจ็กต์อื่นๆ เรานอนวันละ 2-3 ชั่วโมง แล้วในระหว่างที่อดหลับอดนอน เราต้องฝึกคิดแก้ปัญหาไปด้วย พอมาทำงานอื่นแล้วรู้สึกสบายขึ้น โล่งขึ้น เหมือนเราไปรบมา เสร็จแล้วต้องมาเล่นยิงปืนงานวัด เราจับปืนสบายขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนมาก ก็ยังทำงานอาชีพเดิม เป็นฟรีแลนซ์

ก่อนไปวิ่ง ก็ปล่อยเพลงด้วย ที่ทำกับค่าย 12sumrecords ไปบอกพี่แสตมป์ว่ายังจะรับโปรเจ็กต์นี้อยู่นะ เขาก็ให้เรามาทำ ก็ดีใจที่ได้ทำสองอันไปพร้อมกัน มีเวลาได้โฟกัสเพลงมากขึ้น ก็เริ่มทำเพลงที่สอง พจนานุกรม แล้วก็ทำ บ๊อบเท ต่อ หลังจากนั้นก็เริ่มสนุกแล้ว จะเห็นได้จาก พจนานุกรม เริ่มอยากลองถ่ายเอ็มวีเอง กล้องเดียว บินกลับบ้าน ถ่ายวันเดียว แล้วก็บินกลับมาตัดที่กรุงเทพฯ เริ่มท้าทายตัวเอง

ช่วงนี้เริ่มขยับมาทำเพลงเป็นหลักมากกว่าโปรดักชั่นรึยัง

งานโปรดักชันก็ยังทำอยู่ เป็นงานหลักเลยนะ แต่งานเพลงก็พยายามทำทุกวัน ไม่มากก็น้อย ทำเพลงที่บ้านเลย ตื่นมาก็ฝึก เราตื่นมา ฮัมๆ แล้วรู้สึกว่า เฮ้ย ได้แล้ว เราก็จะลุย เหมือนวาดรูป ทำเป็นลูปเก็บไว้ พยายามทำทุกวัน เหมือนเราพยายามหาคำตอบกับคำว่าศิลปิน นักร้อง คือเราเห็นคนสำเร็จเยอะ ได้ร้อยล้านวิว แต่เราไม่เห็นว่าก่อนทำเพลงเขาทำอะไร แล้วเราก็ไม่อยากเป็นนักดนตรีชุ่ยๆ ก็เลยมานั่งคิดว่าศิลปินต้องประกอบไปด้วยอะไรวะ ก็เลยต้องเรียนเรื่องเนื้อร้องใหม่ ไปฟังทำนองอื่นๆ แล้วก็เริ่มหัดที่จะเอาดนตรีมาประกอบเอง เรียนรู้เองทั้งหมด

ช่วงนี้ก็จะคุยกับพี่แสตมป์ กับน้อง PUNG TUNTEK ผมชอบถอดรูทของงานชิ้นนึงขึ้นมา เช่น เอ็มวีเพลง พจนานุกรม ถ้าเราจะถ่ายทำ ต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ก็วาดสตอรี่บอร์ด นักแสดงเป็นใคร ปู่ย่า หนังสือ พร็อบ พจนานุกรมยืมใคร อ๋อ ให้พ่อไปยืมที่โรงเรียนที่พ่อสอน คือพยายามหาว่าสิ่งที่เราพอจะจัดการได้มีอะไรบ้าง

เราไม่ได้เป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ มีเพลงติดชาร์ตขนาดนั้น ไม่ได้มีงานโชว์ตลอด มีบ้าง แต่ก็อยากเป็นศิลปินที่ดีขึ้นกว่าตอนนี้ ก็เลยได้ฟัง ได้ลองทำเยอะขึ้น แล้วก็คุยกับศิลปินคนอื่นว่าเขาทำยังไง ถามวง Whal & Dolph เฮ้ย ทำยังไงวะ มีเวลาทำเพลงเป็นอัลบั้ม เรายังทำไม่ได้เลย เขาก็ตอบมาว่า ก็ทำอะ ทำเลย ไม่ต้องรอใคร เออ จริงๆ มันก็แค่นั้น

แล้วค้นพบรึยังว่าต้องทำแบบไหนถึงจะเป็นศิลปิน

พอรู้บ้างแล้วว่าต้องทำ ต้องเรียบเรียง ต้องสื่อสารกับคน คือสุดท้ายแล้วก็จะกลับไปคำเดียว คือคำว่าเพลง ต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เราก็จะหาอะไรมาเติม เหมือนเพนท์ติ้ง ถ่ายรูป จะไม่ค่อยกำหนดว่าเพลงที่ดีคืออะไร มันคืองานศิลปะที่เกิดจากอาชีพที่เขาเรียกตัวเองว่าศิลปิน ก็เลยไม่ได้จำกัดความขนาดนั้น เหมือนเราเอาของเล่นมาเท ต่อเล่นกัน อยากต่ออะไรก็ต่อ ฝึกไป ตอนนี้สนุกกับการทดลองมากกว่า ไม่ได้สำเร็จนะ อยู่ในระหว่างพัฒนา อยากเป็นคนที่ดีขึ้น

ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ น่าจะเป็นคริสโตเฟอร์ ดอยล์ มั้ง ที่เป็นตากล้อง เขาบอกว่าคุณอยากเป็นอะไร ก็ทำให้ชีวิตในแต่ละวันเป็นแบบนั้นสิ ไม่ใช่มานั่งรอ คุณอยากเป็นตากล้อง ตื่นมาคุณทำอะไร ก็เลย อ๋อ ต้องเป็นอย่างนั้นว่ะ

เอ็ม-ยศวัศ สิทธิวงค์

มีอยู่คำนึงที่ที่ฟังแล้วสะกิดใจ คือคำว่า Happy-Sad คุณคิดว่าคำนี้เป็นตัวตนของคุณมั้ย

เฮ้ย ขนลุก เป็นไปได้นะ เซนซิทีฟมาก เรามองจากมุมตัวเองว่าทุกคนเป็น Happy-Sad แต่ละคนมีด้านที่จะสำเร็จและเฟล ทุกคนก็มีจุดผิดพลาดได้ ถามว่าเราเป็นคนแบบนี้มั้ย เออ ใช่ ก็น่าจะเป็นคนแบบนี้แหละ

พาร์ทที่เราทำเพลง จะเห็นว่าเป็นเพลง positive หมดเลย ยังไม่เจอด้านดาร์กเลย แต่จริงๆ ก็มีด้านที่รู้สึกว่าไม่พอใจตัวเอง หรือเฟลกับสิ่งที่เป็นอยู่ แต่แค่เราเลือกโชว์ให้คนเห็น ในความคิดเรา เวลาเราฟังเพลง น่าจะอารมณ์ดีเนาะ หรือว่าจะไปเติมให้ชีวิตเขาดีขึ้น ก็เลยรู้สึกว่าเพลงน่าจะเป็นสิ่งประมาณนี้ ในตอนนี้นะ ผมเคยพยายามแต่งเพลง ฉันเกลียดเธอ เธอมาทำให้ฉันรู้สึกแบบนี้ ทำไม่ได้เลย คือทำได้แหละ แต่ต้องฝึก

มีนักแต่งเพลงรุ่นพี่บอกว่าการเขียนเพลงเหมือนการแสดง เราต้องหลุดไปในบท เขียนเล่าเรื่อง บางทีอาจจะต้องอยู่ในร่างของคนที่เศร้ามาก ความคิด คำพูด ต้องเป็นประมาณนี้ แต่ตอนนี้เราอิงกับตัวเองมากกว่า เราไม่สามารถไปสิงร่างคนนู้นคนนี้ได้ เพลงก็จะเป็นแบบบ้าๆ บอๆ ซื่อๆ แบบนี้แหละ

แสดงว่าคุณเป็นคนไม่ค่อยเศร้า?

ตอนนี้นะ ไม่ค่อยเศร้าเท่าไหร่

สมมติถ้าย้อนเราไปอยู่ในวันเวลานั้นๆ เราเศร้านะ แต่ผ่านมาแล้วดีหมดเลย เหมือนมีเรื่องสอนเราตั้งแต่เด็ก ให้เข้าใจว่ามีคนมาชอบ มีความเฟลที่พ่อกับแม่ก็ไม่ได้ success ให้เรากล้าที่จะทำอะไรที่ไม่เคยทำ กล้าที่จะหาคำตอบของตัวเอง แล้วก็ไม่คาดหวัง สนุกเหมือนตอนเราทำหนัง อาหลงสู้ๆ บรรยากาศแบบนี้เหมือนเราเก็บมาตั้งแต่เด็ก เลยสะสมจนเป็นนิสัย ก็เลยเลือกทำงาน หรือคุยกับเพื่อนคนนู้นคนนี้ ไม่ได้เป็นคนซีเรียสเลย

บางคนเห็นหน้าผม บอกว่าต้องเป็นคนซึนๆ แน่ๆ แฟนเพลงก็จะพิมพ์มาบอก ไม่คิดว่าพี่จะเป็นคนตลกแบบนี้นะคะ บางคนก็มาฟังเพลง พจนานุกรม ก็คิดว่าพี่คนนี้ต้องเป็นคนนิ่งๆ แน่ๆ เลย พอเล่นสด ก็จะแบบ โอ๊ย ไม่เห็นเป็นอย่างนั้นเลย แต่ดีใจนะครับที่เห็นผมเป็นคนตลก

มีเรื่องอะไรที่รู้สึกหนักใจในชีวิตบ้างมั้ย

ถ้าเป็นเรื่องงาน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเวลา หมายถึง ทำหลายอย่างแล้วเวลาไม่พอ จะทำโปรเจ็กต์นึงให้ดี ถ้าเราเผลออินไปแล้ว มีเวลาแค่ไหนก็ไม่พอ ส่วนใหญ่ก็จะนอยด์ วิตกอยู่กับอะไรที่ควบคุมไม่ได้ จริงๆ เราเป็นคนคาดหวังเยอะนะ กับทุกเรื่อง แตก็พยายามหลอกตัวเองว่าอย่าคาดหวังเลย

มีเหตุการณ์นึง ตอนถ่ายหนังพี่ตูน ตั้งกล้องไว้ มองว่าขบวนจะวิ่งผ่านตรงนี้สวยๆ ข้างหลังเป็นยอดหญ้า แสงแฟลร์ๆ เป็นวิวประเทศไทยที่สวยมาก ขบวนยังไม่มา แต่มีรถชาวบ้านมาจอดอยู่ ทีมงานวิ่งมาไล่ จอดตรงนี้ไม่ได้พี่ รีบไปๆ พี่เขาก็บอก อะไรนะๆ ตอนนั้นผมนั่งอยู่บนต้นไม้ของอีกฝั่งถนน สองชั่วโมง เพื่อรอตรงนี้ แล้วชาวบ้านมาจอด เผลอแปปเดียวพี่ตูนมาแล้ว ฟิ้วว ทุกอย่างอลหม่านชุลมุนไปหมด แล้วพี่ตูนก็ผ่านไป

ตอนลงมาจากต้นไม้ ปวดหัวมาก ไม่ได้ช็อตที่อยากได้ ส่วนใหญ่ผมจะคาดหวังกับงานในระยะสั้นๆ อินมาก แต่พอไม่ได้ หลังจากนั้นก็เริ่มปรับตัวใหม่ ไม่เป็นไร ที่พูดแบบนี้ได้เพราะเราผ่านงานสารคดีมาแล้วมั้ง ถ้าถามช่วงก่อนทำงานสารคดีคงเป็นอีกเวอร์ชั่นนึง แต่งานสารคดีที่เราทำมา ทำให้เราตัดอีโก้ออกไป พวกความคาดหวังเยอะๆ ในเอ็มเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ หายไปเยอะเลย ก็เลยช่างมันเหอะ แล้วพอเราไม่ได้คาดหวัง ถึงจังหวะที่มันโผล่เข้ามาจริงๆ เราจะตื่นเต้นมาก แล้วก็ catchup ตรงนั้นให้ได้ จับให้ได้

ตอนนี้คุณอายุใกล้ 30 แล้ว คนก็พูดกันเยอะเรื่องวิกฤตวัย 30 เด็กรุ่นใหม่ก็สับสนเคว้งคว้าง แล้วในมุมมองของศิลปินหนุ่มอย่างคุณ รับมือกับภาวะที่มีความฝัน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะสำเร็จตอนไหน ได้ยังไง

ผมเป็นคนสมาธิสั้นมากเลย เพื่อนก็เตือนนะว่าทำไมมึงไม่ดูความมั่นคงในชีวิต ในช่วง 5 ปี 10 ปีบ้าง แต่งงานมั้ย หรือมึงใช้ชีวิตยังไง แต่เราเหมือนเทชีวิตให้กับสิ่งที่เราทำไปแล้ว ก็คืองาน เหมือนเพลงนึง ทำยังไงก็ได้ให้จบเป็นเพลง แค่นั้น ไม่ได้มองว่าต้องทำเพลงให้ได้เงิน มองเป็นชิ้นงานมากกว่า

อายุ 30 อยู่ที่เรามองเลย เรามองว่า ยังมีเวลาอยู่ ทุกวันนี้ยังมีแรง มีเวลา ก็ทำงานไป แต่ถ้าเรามองว่า โห ซาเวียร์ โดลอง กำกับหนังตอนอายุ 19 ได้เข้าชิง หรือ Damien Chazelle ทำ Whiplash ตอนอายุ 20 ต้นๆ กูเครียดแน่เลย กูทำอะไรอยู่วะ หรือถ้ามองว่าแวนโก๊ะ เริ่มวาดรูปตอนอายุ 28 เออ โอเค ใกล้ๆ กัน ก็มีคนเริ่มอะไรช้าอยู่ แล้วก็มีคนเริ่มอะไรเร็ว

แต่คนที่อยู่ในประวัติศาสตร์เหล่านี้ เขาแค่หมกมุ่นกับอะไรบางอย่างอยู่ คำถามจริงๆ คือเราทำอะไรอยู่ แค่นั้นเอง ถ้าเราล่องลอย รอเงิน ยังไงก็ไม่ได้ อยู่ที่ว่าเราอยากทำอะไร ตอนนี้เรายังหลงระเริงกับเพลงกับภาพอยู่ ก็คงต้องทำให้เต็มที่ ตอบไม่ได้เลยว่าต่อไปจะไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่สองอย่างนี้รึเปล่า ก็อาจเป็นไปได้

คิดเรื่องเงินเยอะมั้ย ถ้าต้องสมดุลระหว่างการมีเงินเยอะๆ กับการทำสิ่งที่เราชอบแล้วไม่ได้เงิน พอใกล้ 30 แล้ว คิดมากเรื่องนี้แค่ไหน

นั่นน่ะสิ ทุกวันนี้งานเอ็มวีที่ได้เงินน้อย ก็ต้องควักเงินทำออกมาให้ดี แต่ก็จะมีงานที่สมเหตุสมผลกับสิ่งที่ทำอยู่ ทำให้พอมีเงินบ้าง อย่างโฆษณาก็เยอะอยู่ เรามีเป้าในแต่ละปีอยู่แล้วว่าต้องทำเงินประมาณหนึ่ง เพื่อจ่ายค่าประกันชีวิต คิดเรื่องนี้มาช่วงนึงแล้ว รู้สึกว่าอาชีพที่เราทำอยู่ ต้นทุนคือร่างกายเลย สิ่งที่คิดว่าคุ้มที่สุดตอนนี้คือประกันชีวิต ก็เลยทำประกันชีวิต ไม่ได้คิดว่าต้องเก็บเงินให้ได้เท่าไหร่ ไม่ได้คิดขนาดนั้น

เอ็ม-ยศวัศ สิทธิวงค์

เรื่องสังคมการเมือง คุณอินมั้ย

ก็สนใจนะ แต่รู้สึกว่ามันเครียด ไม่ใช่พอเครียดแล้วไม่สนนะ ก็พยายามคุยกับคนใกล้ๆ ตัวเราที่ทำงานด้วยกันว่าเป็นไงบ้าง ถ้ามีเหตุการณ์นึงเกิดขึ้น แล้วเอฟเฟ็กต์กับชีวิตเรายังไงบ้าง ยากมากเลยที่จะเบลมว่าใครทำ ใครผิด สำหรับเราคิดว่าเป็นวงกว้างมาก ก็ไม่นิยมเสพบ่อยทุกวัน ส่วนใหญ่จะกลายเป็นมีมไปหมด เป็นสิ่งที่ตลกในเน็ตไปหมดแล้ว ในฐานะประชาชนก็ยังไม่เห็นว่าวิธีการแก้ปัญหาคืออะไร หรือดีขึ้นยังไงบ้าง พอเราไปเฝ้ารอตรงนี้เยอะๆ รู้สึกว่าเสียเวลามากเลย ก็เลยเลือกทำงานแบบที่เราทำดีกว่า

การเมืองกระทบกับชีวิตคุณมั้ย

กระทบนะ โดยที่เราไม่รู้ตัว การจะขึ้นมอ’ไซค์มานั่งสัมภาษณ์ ด้วยการจราจรแบบนี้ สวัสดิการแบบนี้ มีคำว่าการเมืองอยู่ในนั้น ก็ต้องอยู่ไป ถ้าสนามเด็กเล่นของเรายังอยู่ในสเปซประเทศนี้อยู่ เรารู้สึกว่าต้องปรับตัว แล้วเราไม่ใช่คนขึงขัง ไอ้นั่นต้องเป็นอย่างนั้น ไอ้นี่ต้องทำอย่างนี้ เราอยากเยียวยาคนในด้านอื่น อยากจรรโลงคนด้วยผลงาน เพราะทุกคนน่าจะเครียดกันพอแล้ว เราก็เครียด เพลงน่าจะช่วยคนให้แฮปปี้ ให้เขาหายเครียดได้

ถ้ามองประเทศที่เจริญแล้ว การจะเป็นศิลปินจะได้รับการซัพพอร์ตค่อนข้างดี แต่ถ้าเราอยู่ในประเทศที่จะทำอะไรก็ต้องทำเอง ควักเงินเอง จะสำเร็จรึเปล่าก็ไม่รู้ สุดท้ายแล้วมันส่งผลต่อการเติบโตของศิลปินรุ่นใหม่ๆ แค่ไหนยังไง

การสร้างงานแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ข้อจำกัดไม่เหมือนกัน บางที่แทบจะไม่มีข้อจำกัดเลยในการสร้างงาน แต่บ้านเรามีข้อจำกัด เราว่าสุดท้ายศิลปินจะสร้างงานได้ เพราะไม่มีขอบเขตขนาดนั้น เราว่าสุดท้ายทุกคนปรับตัวได้ การทำออกมาในสภาพแวดล้อมที่คนไม่สนใจ หรือไม่ได้รับการซัพพอร์ตเท่าไหร่ ก็คงเศร้าแหละ Happy-Sad แต่อย่างน้อยมันก็เป็นเสียงๆ หนึ่ง หรือเป็นภาพๆ หนึ่ง ซึ่งน่าจะดีกว่าการที่เราตัดสินใจไม่ทำเลย เพราะเราก็สงสารคนที่เขารอ อาจจะเป็นกลุ่มน้อย แต่ว่าเราก็ช่วยเขาเถอะ

ยากมั้ย เป็นศิลปินในบ้านนี้เมืองนี้

ทุกคนก็เป็นได้นะครับ เป็น youtuber ได้ เน็ตไอดอล ก็ทำได้นะ หรือมองในด้านไหนล่ะ ถ้ามองในด้านข้อจำกัดของบ้านเมืองเรา คุณก็จะเครียดเลยนะ เราว่าไม่มีใครมาห้ามเรา ถ้าเรายังทำงานในห้องนอน หรือในพื้นที่ที่เรารู้สึกว่าปลอดภัยและมีอิสระอยู่

ถ้าเราต้องเอาวัตถุดิบจากบ้านเมืองนี้ เช่น ต้องเอาอุปกรณ์ดนตรีจากราชการมาอัดเพลง ต้องเอากีตาร์ตัวนึงที่อยู่ในตำบลนู้น กว่าจะทำเรื่องไป ต้องให้คนนู้นคนนี้เซ็น เราจะทุกข์แล้ว แต่ว่าอาชีพเรา ไม่ได้ผ่านระบบอะไรขนาดนั้น เราเลยไม่รู้สึกว่ามันยาก ศิลปินก็ไม่น่ายาก เพียงแต่ว่าจะมีเหตุการณ์ที่เราไปวาดรูปนายก อบต.นี้ แล้วเขาไม่ชอบ มายึดเรา ก็แล้วแต่ อยู่ที่ว่าเราจะสื่อสารเรื่องไหน หรือไปเกี่ยวข้องกับทรัพยากรบ้านเมืองแค่ไหน

แล้วถ้าเรื่องทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเงินล่ะ สำหรับใครที่กำลังอยากสร้างตัวเองขึ้นมา และอยากเป็นในสิ่งที่เราเป็นด้วย เราจะดำรงชีพอยู่ได้แบบไหน

ถ้าพูดในฐานะที่ผมจากบ้านมาอยู่อพาร์ทเม้นต์ในกรุงเทพฯ ตัวคนเดียว ก็คิดว่าไม่ยากนะ ผมก็ไม่สามารถไปบอกว่า ทำแบบผมแล้วถูก สุดท้ายแล้วเราต้องรู้ก่อนว่าอยากทำอะไร เราชอบตัวเองที่ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน แล้วก็ไปหาว่าตรงนั้นทำแล้วเป็นเงินมากน้อยแค่ไหน ทำได้แค่ไหน แล้วสามารถต่อยอดขึ้นมาเป็นอาชีพได้

เช่นเราชอบถ่ายวิดีโอ มีอาชีพ มีช่องทางที่จะสร้างรายได้จากการที่เราทำกิจกรรมเหล่านี้มั้ย ถ้ามี เราก็ตอบตัวเองได้ ถ้าวันนั้นเราหาคำตอบไม่ได้ เราก็คงไม่ได้ทำตำแหน่งช่างภาพ เราต้องถอดรูทตัวเอง สิ่งที่เราอยากจะเป็น สิ่งที่เราชอบทำก่อน แล้วก็ลองพยายามหาคำตอบด้วยตัวเองว่าไหวมั้ย รอดมั้ย รออย่างเดียวไม่รอดแน่นอน ต้องลองสร้าง

ตัวเราเองต้องดิ้น ต้องหาว่าเราชอบอะไร ต้องกล้า ต้องหน้าด้านกับสิ่งที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้น อย่างผมก็หน้าด้านไปทักพี่ไก่ ก็เลยได้ทำหนัง ไม่มีโซลูชั่น แต่ถ้าจังหวะมาแล้วรู้สึกว่าใช่ ก็ลุยไปเลย

เอ็ม-ยศวัศ สิทธิวงค์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save