fbpx
โชค VS ความสามารถ : การศึกษาว่าอะไรสำคัญกว่ากัน

โชค VS ความสามารถ : การศึกษาว่าอะไรสำคัญกว่ากัน

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

“เมื่อล้มเหลว คนมักบอกว่าเป็นเพราะปัจจัยภายนอก หากเมื่อประสบความสำเร็จ คนกลับบอกว่าเป็นเพราะปัจจัยภายใน คือตัวเอง”

นั่นเป็นแนวโน้มเหตุการณ์ที่เรามักพบ จะกับคนใกล้ตัว กับเจ้านาย หรือกับตัวเองก็ตามแต่

หากทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งสำเร็จ เรามักบอกว่าเป็นเพราะความสามารถของเราหรือของเพื่อนร่วมทีม แต่ถ้างานเดียวกันล้มเหลว เราอาจได้ยิน (หรือกระทั่ง, พูด) ข้ออ้างสารพัด งานอาจล้มเหลวเพราะเวลาไม่ดี อาจเพราะลูกค้าแก้งานมากเกินไป (ทำให้อัจฉริยภาพของเราฉานฉายไม่เต็มที่) อาจเพราะตลาดไม่พร้อม หรือสุดท้าย อาจเป็นเพราะเรื่องโชค โชคไม่ดี – ไม่เกี่ยวกับเรา

โดยสามัญสำนึก เรารู้ว่าความสำเร็จมีทั้งปัจจัยด้านโชคและความสามารถเป็นส่วนประกอบ บางวงการมีโชคเป็นส่วนประกอบมาก ในขณะที่บางวงการความสามารถก็เป็นตัวนำ คำถามคือ เราจะขจัดเมฆหมอกแห่งอคติในวงการที่เราอยู่ และมองมันอย่างเที่ยงธรรมได้อย่างไร ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวเป็นเพราะโชค หรือความสามารถเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ มีวิธีที่จะแยกตัวแปรออกมาให้เห็นชัดไหม

การศึกษาเรื่องผลกระทบของโชคและความสามารถต่อความสำเร็จนั้นทำกันมาอย่างยาวนาน หนึ่งในสมการที่ถูกเสนอขึ้นมาโดย Michael J. Mauboussin ผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยที่บลูเมาท์เทนแคปิตัลแมเนจเมนต์ และศาสตราจารย์ด้านการบริหารของวิทยาลัยธุรกิจโคลอมเบีย เพื่อวัดความสำเร็จนั้นเป็นโมเดลง่ายๆ ดังนี้

ความสำเร็จ = a * ทักษะ + (1-a) * โชค

Mauboussin นิยามความสำเร็จแตกต่างกันไปในแต่ละวงการ ในการลงทุน มันอาจเป็นผลกำไรหรือรายได้ ในการแข่งขันกีฬา มันอาจเป็นชัยชนะ ในวงการเพลงป็อป มันอาจเป็นยอดขายหรือยอดฟังอัลบั้ม เขานิยามทักษะว่าเป็น “ความสามารถในการใช้ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถสร้างผลงานหรือทำงานนั้นๆ ได้” ส่วนโชค เขาให้ความหมายไว้ว่าเป็น “เหตุการณ์ที่อาจส่งผลบวกหรือลบต่อบุคคลนั้น”

สมการนี้ตรงไปตรงมาและเข้าใจง่าย มันบอกว่า ความสำเร็จเกิดจากผลรวมของทักษะและโชค แต่จะเป็นสัดส่วนเท่าไรนั้นขึ้นกับ a ซึ่งค่า a นี้แตกต่างกันไปในแต่ละวงการ จากโมเดลเชิงเส้นง่ายๆ นี้เอง ที่ทำให้เราสามารถประเมินค่าของ a ในแต่ละวงการได้โดยการวิเคราะห์ถดถอย (regression) เชิงสถิติ

ในหนังสือสมการแห่งความสำเร็จ (The Success Equation) Mauboussin ใช้สมการนี้เพื่อประเมินค่า a ในวงการต่างๆ เช่นวงการกีฬา โดยกีฬาแต่ละชนิดก็มีค่า a แตกต่างกันไป เช่น การแข่งขันบาสเก็ตบอล NBA นั้นถูกประเมินว่ามีโชคเป็นส่วนประกอบค่อนข้างน้อยที่ 12% ในขณะที่การแข่งขันฮอกกี้อย่าง NHA นั้นมีโชคเป็นส่วนประกอบมากถึง 53% หรือเกินครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ

สมการแห่งความสำเร็จ

นอกจากวงการกีฬาแล้ว Mauboussin ยังวิเคราะห์แบบเดียวกันเพื่อวางกิจกรรมอื่นๆ ไว้บนสเปกตรัมที่มุมซ้ายสุดคือ “โชคล้วนโดยไม่มีความสามารถมาเกี่ยวข้องเลย” และมุมขวาคือ “ความสามารถล้วนโดยไม่มีโชคมาเกี่ยวข้องเลย” ไว้ตามภาพ

สมการแห่งความสำเร็จ Mauboussin

จากภาพ จะเห็นได้ว่ากิจกรรมที่ค่อนไปทางโชคล้วนคือ การเล่นรูเลตและการเล่นสลอต ถัดจากนั้นเป็นการซื้อขายหุ้น ตรงกลางๆ ที่มีส่วนผสมระหว่างโชคและความสามารถค่อนข้างใกล้เคียงกันคือฮอกกี้ ตามด้วยอเมริกันฟุตบอล เบสบอล ฟุตบอลและบาสเกตบอลตามลำดับ ส่วนกิจกรรมที่พึ่งพาความสามารถมากกว่าโชคอย่างสุดขั้วคือหมากรุก

การรู้ว่ากิจกรรมที่เราทำอยู่มีโชคเป็นส่วนประกอบมากน้อยอย่างไรสามารถมอบบทเรียนล้ำค่าแก่เราได้ เช่น หากเราอยู่ในวงการที่มีโชคเป็นส่วนประกอบค่อนข้างมาก หากเราทำผลงานได้ดีต่อเนื่องติดกัน เราอาจต้องระวังการถดถอยสู่ค่าเฉลี่ย (regression to the mean) เช่น นักขายที่ทำยอดขายได้มากในเดือนนี้ อาจทำยอดขายได้เฉลี่ยหรือต่ำกว่าเฉลี่ยในเดือนหน้า ดังนั้น หากเราอยู่ในฐานะหัวหน้า เราก็อาจใช้ข้อมูลนี้ในการตัดสินใจเพื่อขึ้นหรือไม่ขึ้นเงินเดือนให้กับเขาได้ ในขณะที่หากเราอยู่ในวงการที่มีโชคเป็นส่วนประกอบน้อย ผลงานที่ดีต่อเนื่องกันสองเดือนก็อาจเพียงพอที่จะใช้เป็นตัวพยากรณ์ผลงานในเดือนต่อๆ มา

นอกจากนั้น โมเดลที่่ค่อนข้างตรงไปตรงมานี้ ยังมอบบทเรียนสำคัญให้เราอีกเรื่อง นั่นคือ “ในการแข่งขันมาตรฐานสูงที่ผู้เล่นมีความสามารถทัดเทียมกัน โชคจะมีส่วนประกอบมาก” ไม่ใช่เป็นเพราะว่าโชคมีส่วนประกอบมากในวงการนั้นโดยสมบูรณ์ หากแต่เป็นเพราะความสามารถของผู้แข่งขันไม่แตกต่างกัน ความแตกต่างจากโชคจึงมีผลมาก เช่น การแข่งขันวิ่งหรือว่ายน้ำที่ผลลัพธ์ต่างกันเพียงเสี้ยววินาที ในกรณีนี้ โชคจะเล่นบทบาทมากในการตัดสินว่าใครจะเป็นที่หนึ่ง Maubossin เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Paradox of Skill

ในหนังสือวิทยาศาสตร์แห่งความสำเร็จ (The Formula) Albert-László Barabási ผู้เขียนซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านเครือข่ายยืนยันแนวคิดนี้เช่นกัน เขายกตัวอย่างวงการการตัดสินไวน์ ที่คุณภาพของไวน์อยู่ในเกณฑ์ดีเลิศหมด ดังนั้น การตัดสินว่าไวน์ขวดไหนจะชนะนั้นแทบจะขึ้นอยู่กับโชคล้วนๆ ทั้งที่ชัยชนะนั้นจะมาพร้อมกับผลรางวัลอันมากมาย เขากล่าวไว้ว่า “Performance is Bounded, But Success is Unbounded” หรือ “ผลงานมีขีดจำกัด ทว่าความสำเร็จนั้นไม่มี” ซึ่งหมายถึงการที่ผลงานจะดำเนินตามกราฟรูประฆังคว่ำหรือการกระจัดมาตรฐาน (normal distribution) แต่ความสำเร็จจะดำเนินตามกราฟแบบหางยาวตามกฎกำลัง (Power law)

เรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์ผ่านโมเดลคณิตศาสตร์แสนสนุกของ Alessandro Pluchino, Alessio Emanuelle Biondo และ Andrea Rapisadra จากมหาวิทยาลัยคาตาเนีย ในงานวิจัยชื่อ Talent VS Luck: The Role of randomness in success and failure ซึ่งทีมสร้างโลกจำลองและประชากรภายในขึ้นมา ประชากรในโมเดลจะมีความสามารถตามกราฟรูประฆังคว่ำ ขณะที่โชคจะลอยหาประชากรเหล่านี้แบบสุ่ม หากประสบโชคดี บุคคลจำลองจะมีความสำเร็จ (ทรัพย์สินหรืออะไรก็ตาม) เพิ่มขึ้นสองเท่า ขณะที่หากโชคร้าย บุคคลจำลองจะมีความสำเร็จลดลงครึ่งหนึ่ง

ทีมจะให้โมเดลคณิตศาสตร์นี้ทำงานซ้อนกัน 40 ครั้ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนจำนวนปีที่มนุษย์จริงทำงาน (ตั้งแต่อายุ 20 ปี ถึงอายุ 60 ปี) พวกเขาพบว่าหลังรันโมเดล กราฟของความสำเร็จนั้นเป็นไปตามกฎของพาเรโต (Pareto’s Law) ที่ว่าความสำเร็จนั้นถูกแบ่งตามสัดส่วน 80:20 นั่นคือ คน 20% จะเป็นผู้กุมความสำเร็จ 80% และกลับกัน คน 80% จะต้องแบ่งสรรความสำเร็จ 20% ที่เหลือกันเอง ซึ่งเป็นไปตามกฎกำลัง

ทั้งหมดนี้กำลังบอกกับเราว่าในสังคมแบบ Meritocracy หรือ “ตอบแทนตามความเก่ง” นั้น เราไม่อาจใช้ความสำเร็จหรือผลลัพธ์มาเป็น Proxy ของความเก่งหรือทักษะได้อย่างสมบูรณ์ หากขึ้นกับตัวแปร a ในวงการนั้นๆ ว่าผลลัพธ์ขึ้นกับทักษะมากน้อยเพียงไร เมื่อเราตระหนักเรื่องนี้แล้ว เราก็อาจมองความสำเร็จอย่างแยกส่วนกันได้ดีขึ้น ทั้งความสำเร็จของคนอื่น และความสำเร็จของตนเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save