fbpx
ลักษณ์อาลัย กับคุณค่าของเรื่องเล่า

ลักษณ์อาลัย กับคุณค่าของเรื่องเล่า

ธร ปีติดล เรื่อง

ลักษณ์อาลัย อุทิศ เหมะมูล
ภาพจากเว็บไซต์ readery

ลักษณ์อาลัย (หนังสืองานศพ)

มีคนเคยบอกว่า ของขวัญที่ดีที่สุดที่พ่อจะมอบให้กับลูกชายได้ คือการที่พ่อตายจากไปในช่วงที่ลูกชายยังอยู่ในวัยหนุ่มแน่น

‘ลักษณ์อาลัย’ เขียนโดยอุทิศ เหมะมูล นักเขียนผู้ได้รางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ. 2552 จากนวนิยายเรื่อง ‘ลับแล แก่งคอย’ อุทิศกล่าวถึงนวนิยายเรื่องนี้ว่าถูกเขียนขึ้นประหนึ่งกับเป็นหนังสืองานศพให้กับพ่อของเขา

แม้จะมีลักษณะเป็นนวนิยาย ซึ่งผู้อ่านจะคาดหวังว่าเรื่องราวต่างๆ นั้นถูกแต่งขึ้นมากกว่าเป็นเรื่องจริง แต่อุทิศก็เล่าเรื่องราวในลักษณ์อาลัยเปรียบดังว่าเป็นเรื่องจริงจากชีวิตของเขาเอง เขาตั้งชื่อตัวละครหลักผู้สูญเสียพ่อไปอย่างไม่คาดหมายว่า ‘อุทิศ’ เหมือนชื่อตนเอง และเรื่องราวทั้งหมดก็เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนโรงปูนซีเมนต์ในอำเภอแก่งคอย พื้นที่ซึ่งผู้อ่านที่ติดตามผลงานของอุทิศมาก่อนคงทราบดีว่าเป็นบ้านเกิดของเขา

ลักษณ์อาลัย เล่าเรื่องราวของอุทิศ (เพื่อไม่ให้สับสน ต่อจากนี้ผู้เขียนขอใช้ ‘อุทิศ’ แทนชื่อตัวละครในนวนิยาย และ ‘อุทิศ เหมะมูล’ แทนตัวนักเขียน) อดีตนักศึกษาศิลปะผู้ซึ่งผันตัวมาทำงานด้านตัวหนังสือ อุทิศได้รับข่าวร้ายว่าพ่อของตนเองเสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุ เหตุการณ์นี้นำเขากลับไปสู่บ้านเกิด ที่ๆ เขาเคยจากมาอย่างไร้เยื่อใยตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ด้วยแรงผลักดันคือความขัดแย้งกับพ่อ

ในชั่วขณะเดียวกับที่เขากลับไปจัดการปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการเสียชีวิตของพ่อ การกลับสู่บ้านเกิดของอุทิศยังนำมาซึ่งเรื่องเล่าอีกมากที่ผุดขึ้นมา ภาพจากความทรงจำถึงความสัมพันธ์ที่ร้าวรานระหว่างเขากับพ่อถูกนำกลับมาทบทวน

“มึงมันเลวไม่มีอะไรเหมือน เลวมาแต่อ้อนแต่ออก สู้น้องชายมึงไม่ได้สักอย่าง พ่อของเขาจารึกถ้อยคำนั้นไว้ คนอย่างมึงไม่มีวันเจริญหรอก ไอ้ฉิบหาย พ่อของเขาสอดพินัยกรรมนั้นใส่ซอง มึงคอยดูแล้วกัน แล้วปิดผนึก”

อุทิศแทบไม่ได้มีความทรงจำใดๆ ที่ดีถึงพ่อ เขาติดอยู่กับปมว่าพ่อไม่ได้รักตนเองเท่ากับน้องชาย แต่ถึงกระนั้น เมื่อพ่อประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต เขาก็กลับมาที่บ้านเพื่อทำหน้าที่ผู้นำ หน้าที่ที่เขามองว่าตนเองมีโดยชอบธรรมในฐานะลูกชายคนโต เขาพยายามเข้าไปจัดแจงเรื่องต่างๆ ในงานศพ ทุ่มเทเรียกร้องค่าเสียหายจากคนที่มีส่วนในการตายของพ่อ แต่สุดท้ายสายตาของผู้คนในบ้านเกิด กลับมองเขาเป็นคนแปลกหน้าที่เข้ามาวุ่นวาย

“คนอื่นๆ เขาก็มีชีวิตของเขา ไม่ใช่ภาพตัวต่อในชีวิตของพี่ พี่หนีออกจากบ้านไปแล้วกลับมา พี่หวังว่าทุกอย่างจะเหมือนเดิมเหรอ คิดว่าหลายปีผ่านไปแล้ว พอพี่กลับมา พี่จะกลับมาเชื่อมต่อกับชีวิตตัวเองที่ทำทิ้งค้างไว้งั้นเหรอ พี่ไปโตที่อื่น พวกเราก็เหมือนกัน…เราโตกันอยู่ที่นี่”

คนที่รู้สึกถึงความแปลกหน้าของอุทิศมากกว่าใครก็คือวัฒน์ น้องชายของเขา ผู้ซึ่งอุทิศเคยขโมยความฝันที่จะได้เรียนศิลปะเอาไปเป็นทางเดินของตนเอง และปล่อยทิ้งให้เติบโตไปกับครรลองของชุมชนบ้านเกิด วัฒน์ผู้ซึ่งอุทิศค่อนแคะเสมอว่าเป็น “ลูกรักของพ่อ” ตราบจนวันที่พ่อตายไปก็ยังอยู่ในบ้านหลังเดิมของพ่อ ทำอาชีพเดียวกับพ่อ

ที่ผ่านมาวัฒน์แทบจะเป็นคนสุดท้ายที่อุทิศจะใส่ใจในความรู้สึก แต่การจากไปของพ่อก็ทำให้อุทิศได้กลับมาย้อนดูฉากความทรงจำต่างๆ ระหว่างเขากับวัฒน์อีกครั้ง จนท้ายที่สุด เขาเหมือนจะมองเห็นการกระทำที่ผ่านมาของตนเองในอีกมุมหนึ่ง

ลักษณ์อาลัยกับเรื่องเล่า

“จำคำใครมาพูดอีกล่ะ”

หากไม่นับคนในครอบครัวของอุทิศแล้ว ตัวละครเด่นในลักษณ์อาลัยอีกคนหนึ่งก็คือ กันยา อดีตคนรักจากสมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่ทุกวันนี้เปลี่ยนสถานะกลายเป็นชู้รักของอุทิศ กันยาเหมือนจะเข้าใจอุทิศได้ดีกว่าทุกคน เธอชอบความเป็นนักเล่าเรื่องของเขา แต่ก็ชอบเย้ยหยันคุณลักษณะนี้ของเขาไปด้วย “จำคำใครมาพูดอีกล่ะ” คือคำที่เธอชอบกล่าวกับอุทิศ

บ่อยครั้งที่คำกล่าวของกันยา เหมือนจะไม่เป็นเพียงแค่บทพูดในนวนิยาย แต่ยังเป็นคำถามไปถึงสิ่งที่อุทิศ เหมะมูล กำลังทำผ่านบทประพันธ์ที่เธอนั้นเป็นเพียงตัวละคร

“นายจะพูดอะไรก็พูดไปเถอะ ยังไงมันก็เป็นแค่สถานที่ เรื่องเล่าล่องลอยอยู่ในอากาศ ถ้ามันเหมาะกับสภาพพื้นที่ไหน มันก็เติบโตงอกงามได้”

ลักษณะเด่นของลักษณ์อาลัยคือ การผสมผสานเรื่องเล่าหลายเรื่องเข้าด้วยกัน เรื่องเล่าของความสัมพันธ์ระหว่างอุทิศ พ่อ และน้องชาย เป็นเพียงแก่น แต่ยังมีเรื่องเล่าอีกหลากหลายถูกนำเข้ามาประกอบ ทั้งเรื่องราวของบุคคลต่างๆ ที่ผ่านเข้ามามีบทบาทในความทรงจำของอุทิศ หรือกระทั่งเรื่องราวที่ดึงมาจากงานเขียนที่อุทิศกำลังทำหน้าที่ตรวจตรา ทั้งหมดถูกนำมาแทรกอยู่ในส่วนหลังของทุกบท

เรื่องเล่าต่างๆ ปรากฏขึ้นในลักษณ์อาลัย ประหนึ่งว่ามันรอคอยสภาพเหมาะสมที่จะงอกเงย เมื่อนวนิยายเดินมาถึงจุดที่พอเหมาะ มันก็เติบโต เช่น เมื่อถึงตอนที่อุทิศได้ย้อนไปพินิจความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับน้องชาย เรื่องเล่าจากงานเขียนประวัติศาสตร์ช่วงปลายกรุงธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์ ถึงความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องต้นราชวงศ์จักรี รัชกาลที่หนึ่งและสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ก็ถูกหยิบขึ้นมาสอดแทรกให้พิเคราะห์ไปพร้อมกัน

การได้อ่านลักษณ์อาลัย ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำอธิบายของนักเขียนรางวัลโนเบล คาซูโอะ อิชิกูโร่ (Kazuo Ishiguro) ถึงเบื้องหลังของการเล่าเรื่องในนวนิยายของเขา [1]

อิชิกูโร่อธิบายว่านวนิยายแต่ละเรื่องที่เขาเขียนนั้น แท้จริงแล้วสาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่รายละเอียดมากมายที่ปรุงแต่งไว้บนพื้นผิว แต่อยู่กับแก่นกลางของเรื่อง ซึ่งหมายถึงแง่มุมในการกระทำ ความรู้สึก และความสัมพันธ์ของมนุษย์ อิชิกูโร่เริ่มเขียนนิยายจากการวางแก่นแล้วจึงค่อยแต่งเติมพื้นผิวภายนอก เขาเล่าว่าแท้จริงแล้วบริบทที่เขาเลือกมาเป็นพื้นผิวนั้น จะเปลี่ยนไปอยู่ในชุมชนใด ประเทศใด หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาใด ก็สามารถจะทำได้

ตัวอย่างเช่น เรื่องของมนุษย์ที่มุ่งมั่นรักษาหน้าที่ของตนเองในสถานการณ์ที่พลิกผัน หรือเรื่องราวของการแสวงหาความหมายในการมีชีวิตอยู่ จะเล่าให้เกิดขึ้นในที่ใดเวลาใด หรือแม้กระทั่งจะเล่าให้เกิดในโลกที่ไม่มีอยู่จริง ก็ทำได้

เมื่อมองเช่นนี้ แม้หลากเรื่องเล่าที่ปรากฏขึ้นในลักษณ์อาลัย ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวหลักของความสัมพันธ์ระหว่างอุทิศและครอบครัว แต่แท้จริงแล้วมันก็เข้ามาสะท้อนประกอบแก่นเรื่องเป็นอย่างดี

เรื่องเล่าแม้จากประวัติศาสตร์คนละยุคสมัย คนละบริบท แต่ก็ถ่ายทอดแง่มุมของความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่างพี่น้องร่วมสายเลือด เรื่องเล่ามากมายที่อุทิศ เหมะมูล นำเข้ามาเสียดสีความสัมพันธ์ระหว่างชนบทและเมือง ทั้งเรื่องของเพื่อนวัยเรียนที่ทุกวันนี้กลายเป็นเกษตรอำเภอผู้รักถิ่นฐานและต่อต้านทุนนิยม เรื่องของยายแก่ผู้ถูกทอดทิ้งแต่จู่ๆ ก็มีชื่อเสียงขึ้นมาจากรายการโทรทัศน์ที่เน้นปลุกความสงสาร เรื่องราวเหล่านี้คอยทำหน้าที่ประกอบแก่นของเรื่องที่ถ่ายทอดการปะทะเสียดสี ระหว่างอุทิศผู้กลายเป็นคนนอก กับสังคมบ้านเกิดที่เขาจากไปนานจนเกิดระยะห่าง

อาจกล่าวได้ว่า ลักษณ์อาลัยเป็นนวนิยายที่แสดงให้เห็นถึงพลังของเรื่องเล่าในแบบที่อิชิกูโร่อธิบายไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของใคร เกิดขึ้นที่ไหน ในช่วงเวลาใด ก็สามารถสะท้อนแก่นที่ไม่แตกต่างกันในชีวิตมนุษย์ ดังเช่นที่อุทิศอยากกล่าวกับกันยาว่า

“โธ่ กันยา มันไม่มีคำและความไหนถูกคิดขึ้นใหม่หรอกนะ แม้แต่ชีวิตของเธอเอง นิยายเรื่องหนึ่งเขาก็อาจจะเขียนเอาไว้แล้ว แม้แต่ชีวิตของผมด้วยก็ตาม”

คุณค่าของเรื่องเล่า

ความโดดเด่นอีกประการของลักษณ์อาลัย มาจากความสามารถของอุทิศ เหมะมูล เขาสามารถเล่าเรื่องประหนึ่งวาดภาพออกมาจากความทรงจำ ความสามารถในการจับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ในแต่ละภาพจำของเขานั้นดีเยี่ยมจนยากจะหาใครทัดเทียม

ความสามารถของอุทิศ ช่วยเน้นถึงสิ่งที่อิชิกูโร่อธิบายว่าเป็นคุณค่าของนวนิยาย อิชิกูโร่กล่าวถึงการเล่าเรื่องด้วยนวนิยายว่ามีคุณลักษณะพิเศษอยู่ประการหนึ่งเป็นสำคัญ คือเป็นเสมือนการมองกลับไปที่ภาพๆ หนึ่งในความทรงจำ จากนั้นจึงค่อยพินิจรายละเอียดต่างๆ ของภาพต่อไป ไล่ไปถึงอารมณ์ความรู้สึก ไปจนถึงความสัมพันธ์และความเป็นไปของผู้คนในภาพ

เมื่อมองเช่นนี้ ลักษณ์อาลัยจึงไม่ใช่เพียงการนำเสนอภาพวาดจากความทรงจำระหว่างอุทิศและพ่อ แต่เป็นดังนิทรรศการศิลปะที่อุทิศนำเอาเรื่องเล่าหลากหลายมาจัดแสดงเพื่อระลึกถึงพ่อของเขา

ลักษณะเด่นของลักษณ์อาลัย ยังช่วยตั้งคำถามต่อไปได้อีกเกี่ยวกับคุณค่าของนวนิยาย ว่าแท้จริงแล้วศักยภาพของนวนิยายในการสร้างคุณค่ากับชีวิตมนุษย์นั้น สามารถไปได้ไกลเพียงใด เรื่องเล่าต่างๆ ในนวนิยายนั้นมีคุณค่าหลักอยู่ที่เพียงการจรรโลงใจ หรือมีอะไรได้มากมายกว่านั้น

ผู้เขียนขอหยิบยกคำอธิบายจาก มาร์ธา นุสบาม (Martha Nussbaum) นักปรัชญาชื่อดังชาวอเมริกัน เพื่อตอบคำถามนี้[2] สำหรับนุสบาม คุณค่าสำคัญของนวนิยายอยู่ที่ศักยภาพของเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดในการสร้างการเรียนรู้ทางจริยธรรมให้กับมนุษย์

นุสบามอธิบายถึงกระบวนการถ่ายทอดเรื่องราวในนวนิยายว่าช่วยสื่อสารแง่มุมต่างๆ ที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับการตัดสินใจทางจริยธรรมของมนุษย์ได้ ในลักษณะที่การถ่ายทอดผ่านภาษาวิชาการที่เน้นตรรกะและหลักการนั้นไม่สามารถทำได้ มีเหตุผลอย่างน้อยสองประการที่ทำให้นวนิยายเหมาะสมที่จะทำหน้าที่สร้างการเรียนรู้ทางจริยธรรม

ประการแรก จริยธรรมนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ออกกับอารมณ์และการรับรู้ที่ละเอียดอ่อนของมนุษย์ การจะถ่ายทอดให้เข้าใจถึงประเด็นทางจริยธรรมจะต้องใช้ภาษาที่ละเอียดละออ และจะต้องเป็นการถ่ายทอดที่แสดงให้เห็นสภาพอันซับซ้อนและเปราะบางที่มนุษย์ต้องประสบพบเจอเมื่อเผชิญการตัดสินใจทางจริยธรรม การถ่ายทอดแง่มุมเหล่านี้สามารถทำได้สมบูรณ์กว่าจากการเล่าเรื่องผ่านนวนิยาย

ประการที่สอง จริยธรรมเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับสถานการณ์อันไม่คาดหมายที่มนุษย์ต้องประสบ การตัดสินใจทางจริยธรรมนั้นไม่ได้เกิดมาจากเพียงคุณธรรมภายในตัวของมนุษย์คนใดคนหนึ่ง แต่ยังถูกกำหนดด้วยสภาพภายนอกและการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่มักจะมาพร้อมกับความบังเอิญ รวมถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละสภาวการณ์ การสร้างความเข้าใจถึงเงื่อนไขที่เกิดจากสภาพแวดล้อมเหล่านี้ต่อจริยธรรมของมนุษย์ จะทำได้อย่างดีก็ด้วยการเล่าผ่านนวนิยาย

อุทิศ เหมะมูล กล่าวว่าการเขียนลักษณ์อาลัยเหมือนกับการได้เปิดเผยถึงก้อนดำมะเมื่อมแสนอัปลักษณ์ในจิตใจของเขา สำหรับผู้อ่าน การได้อ่านลักษณ์อาลัยก็อาจช่วยให้พวกเขาได้สะท้อนไปถึงก้อนดำมะเมื่อมในใจของตนเองเช่นกัน และการมองเห็นสิ่งอัปลักษณ์ในจิตใจของตนเองนั้น น่าจะเป็นภาวะที่ดีสำหรับผู้คนที่ต้องเดินหน้าต่อไปในชีวิตจริง อันเต็มไปด้วยร่องรอยของการบุบสลาย

ในฉากสุดท้ายของลักษณ์อาลัย เมื่ออุทิศกลับมาสู่สภาวะเดิมของคนที่ตัดขาดจากบ้านและครอบครัว เขากล่าวอำลากับพ่อของเขาเพียงลำพังว่า

“อย่าห่วงว่าพ่อไม่ได้ให้อะไรผม พ่อให้ของขวัญที่ดีที่สุดแล้วกับลูกชายคนหนึ่งของพ่อ….”

เชิงอรรถ

[1] ดูคำอธิบายของคาซูโอะ อิชิกูโร่ ได้จากการบรรยายของเขาในรายการ First Class, My Secret of Writing-Kazuo Ishiguro ของทางสถานี NHK-World

[2] ดูคำอธิบายเพิ่มเติมได้จาก Martha C. Nussbaum. 1990. Love’s Knowledge: Essays on Philosophy and Literature. Oxford University Press. ผู้เขียนขอขอบคุณอาจารย์ ดร. ปิยฤดี ไชยพร ที่ช่วยแนะนำให้ผู้เขียนได้รู้จักกับผลงานและแนวคิดของมาร์ธา นุสบาม รวมถึงเพื่อนสมาชิกโครงการปริทรรศน์นักทฤษฎีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ร่วมสมัยท่านอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนรู้แนวคิดทฤษฎีที่น่าสนใจอีกมากมาย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save