fbpx
เรื่องของ Loveseat โซฟาที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก

เรื่องของ Loveseat โซฟาที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

เลิฟซีต (Loveseat) คือโซฟาที่นั่งได้แค่สองคน จริงๆ จะนั่งมากกว่าสองคนก็คงได้นะครับ แต่เนื่องจากเลิฟซีตถูกออกแบบมาให้เป็นโซฟาแบบ ‘สองที่นั่ง’ จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ที่นั่งแห่งความรัก’ หรือเลิฟซีตนั่นแหละครับ

แล้วทำไมต้องพูดถึงเลิฟซีตกันตอนนี้ด้วย

หลายคนอาจคิดว่า คงเพราะเป็นช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ ผมจึงอยากชวนคุณมาพูดเรื่องรักๆ ใคร่ๆ แล้วนึกอะไรไม่ออก ก็เลยหยิบเรื่องเลิฟซีตมาเล่า

แต่ที่จริงเรื่องของเลิฟซีตนี่มีอะไรมากกว่านั้นเยอะนะครับ เพราะมันเกี่ยวพันไปถึงขบวนการและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนานใหญ่ด้วย

เรื่องของเรื่องก็คือ หนังสือพิมพ์ (ที่ไม่ค่อยจะน่าเชื่อถือเท่าไหร่) อย่าง Dailymail รายงานเอาไว้ว่า เลิฟซีตกำลังกลายเป็นโซฟาที่ขายดีที่สุดในโลก เพราะยอดขายของเลิฟซีตในอังกฤษพุ่งสูงขึ้นถึง 4,500% โดยเฉพาะเลิฟซีตที่บุด้วยผ้ากำมะหยี่ ให้ความรู้สึกผ่อนคลายสบายๆ

ลำพังถ้า Dailymail รายงานเจ้าเดียว ก็อาจไม่น่าเชื่อถือมากนัก แต่นักเขียนของ The Guardian หยิบประเด็นนี้มาเล่าต่อ (ดูรายละเอียดที่นี่) และตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจมากเอาไว้อย่างหนึ่ง

แต่ก่อนจะไปพูดถึงข้อสังเกตที่ว่า เรามาดูกันหน่อยไหมครับ ว่าเลิฟซีตที่ขายมีหน้าตาเป็นอย่างไรกัน

ที่จริงแล้ว เลิฟซีตมีหน้าตาได้หลายแบบนะครับ โดยตระกูลเลิฟซีตนั้นน่าจะแบ่งออกเป็นสามตระกูลใหญ่ๆ อย่างแรกก็คือเลิฟซีตที่พัฒนามาจากอาร์มแชร์ คือเป็นที่นั่งเดี่ยว แต่ทำให้มีขนาดกว้างกว่าอาร์มแชร์ธรรมดาๆ ทั่วไปอยู่สักหน่อย จึงสามารถ ‘เบียด’ เข้าไปนั่งด้วยกันได้สองคน ทำให้เกิดความชิดใกล้เนื้อแนบเนื้อ

เลิฟซีตแบบที่สองพัฒนามาจากโซฟาทั่วไป ที่ปกติแล้วแล้วจะมีสามที่นั่ง (อาจมากกว่านี้ก็ได้) แต่หดที่นั่งของโซฟาเหล่านั้นลงมาจนเหลือแค่สองที่นั่ง เลิฟซีตแบบนี้มักจะกว้างกว่าแบบแรกอยู่สักหน่อย มักจะไม่ได้มีเป้าหมายให้เกิดอาการ ‘เนื้อแนบเนื้อ’ อย่างเดียว ทว่าเป็นโซฟาสำหรับนั่งสองคน แต่โดยรวมๆ แล้วก็เรียกขานว่าเลิฟซีตเหมือนกัน

เลิฟซีตตระกูลที่สามเป็นเลิฟซีตแบบไว้เนื้อไว้ตัวอยู่สักหน่อย เพราะแม้นั่งได้สองคนเหมือนเลิฟซีตสองแบบแรก แต่เป็นเลิฟซีตแบบบิดไขว้ คือเหมือนเอาเก้าอี้หรืออาร์มแชร์สองตัวมาต่อกันโดยวางสลับหน้าหลังแบบตัว S ทำให้คนนั่งสองคนเหมือนนั่งหันข้างให้กัน แต่ใบหน้านั้นผินไปคนละทิศ

ชื่อของเลิฟซีตมีอีกหลากหลายนะครับ คนฝรั่งเศสเรียกว่า tête-à-tête บางคนก็เรียกว่า courting bench คือเป็นม้านั่งที่เอาไว้เกี้ยวพานกันโดยเฉพาะ บางที่ก็เรียกว่า kissing bench คือเอาไว้จูบ หรือไม่ ถ้าเป็นทางการหน่อย ก็อาจเรียกว่า conversation bench หรือแม้แต่ gossip’s chair ก็มี

เว็บนี้ บอกว่า เลิฟซีตเกิดขึ้นในตอนปลายศตวรรษที่ 17 โดยมีเป้าหมายให้เป็นที่นั่งของผู้หญิงที่ใส่กระโปรงสุ่มไก่หนาหลายๆ ชั้น จึงมีปริมาตรของเสื้อผ้ามาก โดยเลิฟซีตยุคแรกๆ ไม่ได้หุ้มผ้า (แบบที่เรียกว่า upholstered) แต่จำเป็นต้องทำให้มีขนาดใหญ่กว่าเก้าอี้ปกติ ไม่อย่างนั้นผู้หญิงที่ใส่ชุดแบบน้ีจะนั่งไม่ได้ เพราะชุดจะใหญ่เกินเก้าอี้ไป แต่พอถึงศตวรรษที่ 18 และ 19 ชุดของผู้หญิงเริ่ม ‘หด’ ลงมา คือเป็นชุดที่มีขนาดเล็กลง เข้ารูปมากขึ้น เก้าอี้แบบนี้จึงสามารถนั่งได้สองคน ทำให้เริ่มมีการมองว่านี่เป็นเก้าอี้สำหรับคู่รัก จึงเกิดคำว่า ‘เลิฟซีต’ ขึ้นมา

เลิฟซีตยุคแรกๆ ที่ได้รับความนิยม เป็นสไตล์ที่เรียกว่า ชิพเพนเดล ตามชื่อของ โธมัส ชิพเพนเดล (Thomas Chippendale) ที่บุกเบิกเก้าอี้รูปแบบนี้ในตอนแรก เก้าอี้ชิพเพนเดลนั้น แม้จะเป็นเลิฟซีตในความหมายปัจจุบันก็จริงอยู่ แต่ชิพเพนเดลไม่ได้คิดจะให้มีเป้าหมายแบบนี้มาตั้งแต่ต้น เขาได้รับแรงบันดาลใจจากจีนและอังกฤษ เก้าอี้ชิพเพนเดลจึงทำจากไม้ และมีการแกะสลัก ไม่ได้นุ่มสบายบุผ้าเหมือนในปัจจุบัน

เลิฟซีตมีวิวัฒนาการขั้นต่อมามาเป็นเลิฟซีตที่เรียกว่า บูดัวร์ (Boudoir Loveseats) ซึ่งได้รับความนิยมมากในยุคสี่ศูนย์ คราวนี้เป็นการหุ้มผ้า โดยมีชายผ้าห้อยลงมาเพื่อปิดขาเก้าอี้ด้วย แล้วก็เป็นยุคนี้นี่แหละครับ ที่เลิฟซีตมีความหมายโรแมนติกที่สุด

ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เลิฟซีตเริ่มถูกมองว่าไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับความโรแมนติกสักเท่าไหร่ เพราะพอมาถึงยุคใหม่ ‘พื้นที่’ เริ่มเป็นเรื่องใหญ่ คนยุคสี่ศูนย์ (เช่นยุคแกตสบี้) อาจไม่ได้มองว่า ‘พื้นที่’ คือความหรูหราสักเท่าไหร่ เพราะทุกคนก็มีบ้านกว้างๆ มีสนามใหญ่ๆ กันทั้งนั้น จะจัดโซฟากี่ที่นั่งก็ได้ไม่มีปัญหา โซฟาแบบเลิฟซีตจึงเป็นของแปลก และมีหน้าที่ใช้สอยหรือฟังก์ชั่นเฉพาะของมัน แต่พอโลกซับซ้อนขึ้น คนเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น พื้นที่คับแคบลง โซฟาจึงจำเป็นต้องหดเล็กลงด้วย เลิฟซีตจึงเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

วิกฤตที่อยู่อาศัยทั้งในอังกฤษ อเมริกา รวมถึงความนิยมย้ายเข้ามาอยู่ในคอนโดฯ แบบคนเมืองกรุงเทพฯ ทำให้การซื้อหาโซฟาใหญ่ๆ สามสี่ที่นั่งเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม ไม่ใช่เพราะโซฟาเหล่านั้นแพงเกินไป แต่เพราะไม่มีพื้นที่จะวาง และเอาเข้าจริงก็ไม่มีใครใช้งานด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่กันเป็นครอบครัวเล็ก หรือกระทั่งว่าอยู่คนเดียว ดังนั้น เลิฟซีตขนาดกะทัดรัดจึงเหมาะสมกับชีวิตยุคใหม่มากกว่า

นอกจากนี้ The Guardian ยังบอกด้วยว่า สิ่งที่เรียกว่า Kondo Effect หรือ Konmarie Effect คือผลที่เกิดจาก ‘ชีวิตดีขึ้นทุกด้าน ด้วยการจัดบ้านเพียงครั้งเดียว’ ของมาริเอะ คนโดะ ยังเป็นเรื่องที่ส่งผลในวงกว้างต่อการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ในเมืองอีกด้วย แม้ไม่ได้มีคนโดะมาแนะนำ คนจำนวนมากก็ต้องประหยัดพื้นที่ด้วยการกำจัดข้าวของที่ไม่จำเป็น (หรือไม่ Spark Joy) ออกไปอยู่แล้วเนื่องจากพื้นที่แคบ แต่พอมีปรากฏการณ์นี้ขึ้นมาร่วมด้วย ก็ย่อมเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ ผลักดันให้คนเริ่ม ‘กำจัด’ สิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต แต่ ‘ติดค้าง’ มาจากอดีต (เช่นโซฟาต้องมีสามสี่ที่นั่ง ทั้งที่อยู่บ้านคนเดียว ฯลฯ) ออกไปจากชีวิต

การที่เลิฟซีตขายได้เพิ่มมากขึ้นถึง 4,500% จึงเป็นปรากฏการณ์ไม่ธรรมดา เพราะมันยืนยันถึง ‘เทรนด์’ ที่กำลังเกิดขึ้นกับชีวิตของคนยุคใหม่ให้เห็นเป็นรูปธรรม

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

TREND RIDER

12 Jul 2018

เทรนด์ของวัสดุอวกาศ

เหตุผลหนึ่งที่ผู้คนจับตา ‘อีลอน มัสก์’ คือความทุ่มเทที่เขามีให้กับ ‘วัสดุอวกาศ’ วัสดุที่อาจนำพามนุษยชาติไปสู่พรมแดนใหม่ได้ โตมร ศุขปรีชา ชวนสำรวจเทรนด์ของวัสดุแห่งอนาคตว่ามีอะไรบ้าง และกว่าจะผลิตขึ้นมาได้ยากเย็นแค่ไหน

โตมร ศุขปรีชา

12 Jul 2018

World

9 Mar 2018

สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

อาร์ม ตั้งนิรันดร วิเคราะห์เส้นทางการเมืองของสีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีนที่สามารถรวบอำนาจมาอยู่ในมือได้สำเร็จเด็ดขาด สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? และสุดท้ายเขาจะพาจีนพังกันหมดหรือไม่?

อาร์ม ตั้งนิรันดร

9 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save