fbpx
ขอแสดงความ(ไม่)นับถือ : จดหมายรักถึงผู้บริหาร จากอาจารย์ปรัชญาคนหนึ่ง

ขอแสดงความ(ไม่)นับถือ : จดหมายรักถึงผู้บริหาร จากอาจารย์ปรัชญาคนหนึ่ง

เรียน ท่านผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคณะที่รักยิ่ง

 

สิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ผมจะทำงานในภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรครบสิบปี  ไม่น่าเชื่อว่าสิบปีจะไวขนาดนี้ เป็นสิบปีที่น่าจดจำ ผมตระหนักถึงบุญคุณที่สถาบันการศึกษานี้ชุบเลี้ยง ให้เงินทองเป็นค่าข้าวน้ำดำรงชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น ยังให้เกียรติ ความมีอิสระและศักดิ์ศรีในฐานะคนสอนหนังสือคนหนึ่ง

จดหมายฉบับนี้ผมจึงเขียนถึงท่านด้วยความรัก กระผมไม่มีปัญหาส่วนตัวใดใดกับทั้งสองท่าน ผมนึกถึงวันที่ท่านอธิการบดีมาเยี่ยมเราที่คณะ แม้กระผมจะแสดงหน้าตาบูดเบี้ยวใส่ท่านด้วยความโมโหต่อนโยบายของท่าน แต่ท่านก็ไม่ถือสา หาความทั้งยังใช้ความนิ่งเงียบสยบคำถามต่างๆ ที่ผมพรั่งพรูเข้าใส่ จนคนในที่ประชุมงุนงงกันไปเพราะไม่ได้ความชัดเจนอะไรทั้งสิ้น นับว่าท่านเป็นต้นแบบของผู้ใหญ่ในอุดมคติไทยโดยแท้ หรือท่านอาจถือหลักชาวยุทธ์ “นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว”

ส่วนท่านคณบดี แม้ผมอาจไม่เห็นด้วยกับแนวคิดทางการเมืองของท่านหลายอย่าง แต่เราก็เป็นอาจารย์ในคณะเดียวกันและท่านก็มีน้ำมิตรจิตใจในความสัมพันธ์ส่วนตัว แม้จะไม่ได้สนิทสนมกันนัก แต่ครานี้ผมเองคงต้องขอกราบเรียนมายังท่านหลายประการ ในฐานะที่ท่านเป็นคณบดีของคณะที่ผมสังกัด

ปีนี้มหาวิทยาลัยได้ออกระเบียบเรื่องยุบรวมและการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาและเร่งรัดให้เสร็จในสิ้นปี แต่แรกผมเข้าใจว่ามันเป็นเทคนิคทางกฎหมาย คือเมื่อมหาวิทยาลัยเพิ่งออกนอกระบบ และต้องตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่เพราะถูกยุบลงไป(ซึ่งเป็นวิธีการทางกฏหมาย)เท่านั้น เผอิญว่ามหาวิทยาลัยก็ได้ตั้งกฏเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ด้วย เป็นต้นว่า ถ้าจะขอตั้งเป็นภาควิชาได้ฯ ต้องมีสองหลักสูตรคือตรีโท มีอาจารย์มากกว่าสิบคน รวมถึง “ต้องเลี้ยงตัวเองได้” และมีอาคารสถานที่ของตนเอง

โอ้โห เกณฑ์ของท่านนี่ไม่ธรรมดา ภาควิชาของผมที่เคยสอนหนังสือได้และทำหน้าที่ได้ตามปกติ จู่ๆ ไอ้เจ้าเกณฑ์นี้มันดันทำให้ต้องลดสถานะลงกลายเป็นสาขาไปโดยปริยายซะงั้น ผมจำได้ว่าเคยถามท่านอธิการในที่ประชุมว่า เลี้ยงตัวเองของท่านแปลว่าอะไร แต่ท่านก็ไม่ยอมตอบตรงๆ ท่านบอกตีความกว้างๆ ก็ได้ ท่านครับระเบียบของท่านเป็นกฏหมายนะครับจะตีความตามใจได้ยังไง และถ้าใช้เกณฑ์แบบนี้ ใครจะเลี้ยงตัวเองได้ ขนาดมหาวิทยาลัยจะเลี้ยงตัวเองยังยากเลย

หากพิจารณาจากเกณฑ์ที่ท่านใส่ไว้ในระเบียบ หลายภาควิชาของคณะฯ จะต้องยุบลงเป็น “สาขาวิชา” ซึ่งไม่ได้มีสถานะเป็นหน่วยงาน และหลายสาขาซึ่งมีอาจารย์น้อยคงต้องถูกยุบรวมกัน ในที่ประชุมวันนั้นมีคนถามท่านอธิการในทำนองว่า แล้วไอ้ที่เป็นอยู่เดิมตอนนี้มันมีปัญหาอย่างไรถึงต้องไปเปลี่ยนมัน ท่านก็ไม่ตอบ แถมท่านยังโชว์ว่าเราต้องปรับตัวเพราะขนาดธนาคารหลายๆ แห่งยังยุบสาขาทิ้งจำนวนมาก พุทโธ่ ท่านเทียบมหาวิทยาลัยกับธนาคารได้ยังไง เราเป็นสถาบันการศึกษาในกำกับของรัฐ ซึ่งมุ่งเน้นผลประโยชน์ทางการศึกษาเป็นหลัก ไม่ใช่สถาบันการเงินที่เน้นกำไรเป็นหลัก การเปรียบเทียบแบบนี้ปรัชญาเรียกว่า False Analogy หรือการเปรียบเทียบแบบผิดฝาผิดตัวซึ่งใช้การไม่ได้

ผมเห็นใจท่านเพราะภาระที่ท่านแบกไว้ คงไม่ได้เป็นเพียงการจัดการบริหารองค์กรให้เจริญ วัดด้วยตัวเลขอะไรต่างๆ แต่ท่านต้องแบกภาระทางการจัดการศึกษา ซึ่งหมายความว่าท่านต้องคิดถึงการรักษาองค์ความรู้ต่างๆ ไว้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาด้วย

ผมพอจะทราบว่าท่านเป็นเภสัชกร และต่อมาท่านก็สนใจทางการจัดการและกลายมาเป็นผู้บริหารในคณะการจัดการ หากท่านมีความประสงค์ให้มหาวิทยาลัยก้าวไปข้างหน้าตามหลักบริหารที่มีธรรมาภิบาลผมก็ขออนุโมทนา แต่คงต้องถามด้วยว่าเราจะไปกันอย่างไร จะไปแบบทิ้งบางส่วนที่ยังไม่เข้มแข็งไว้ข้างหลังให้ล้มหายตายจากไปเอง หรือไปด้วยกันพร้อมๆ กันทั้งหมดทุกภาคส่วน

ผมเดาว่า ท่านคงคิดแบบแรก เพราะท่านกระซิบในที่ประชุมวันนั้นว่า เกณฑ์ดังกล่าวท่านอิงจากคณะทางฝ่ายวิทยาศาสตร์ แต่ท่านมาบังคับใช้กับทุกคณะวิชา ซึ่งมีธรรมชาติคนละแบบ ท่านไม่คิดจะถามเกณฑ์จากฝั่งพวกผมบ้างหรือ คณะฝ่ายวิทยาศาสตร์นั้นตั้งแต่ต้นเขาก็มีการจัดการเรียนการสอนและบริหารองค์กรไม่เหมือนกับเรา จำนวนบุคลากรและนักศึกษาก็ต่าง ซึ่งก็เกิดจากธรรมชาติของสาขาวิชาของเขาเอง ของเราก็เป็นอย่างนี้เพราะธรรมชาติของวิชาเราเป็นเช่นนี้ อันนี้ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและไม่โทษคณะฝั่งนั้นแต่อย่างใด แต่ต้องโทษคนคิดเกณฑ์

ธรรมชาติของสายมนุษย์ศาสตร์-สังคมศาสตร์นั้นมีความหลากหลาย ทั้งสายทางภาษาตะวันตก –ออก วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา ฯลฯ แถมคณะเรายังรวมวิชาทางสังคมศาสตร์ไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเนื่องจากสถาบันเรามีภูมิหลังเกี่ยวกับศิลปะ ตั้งแต่แรกตั้งคณะจึงมีศาสตร์ด้านศิลปะรวมไว้ด้วยเช่น ละคร ดนตรี และทัศนศิลป์ เพื่อให้นักศึกษาทางมนุษยศาสตร์ได้เรียนทั้งวิชาการ และมีความละเอียดอ่อนในจิตใจ

เช่นนี้แล้วท่านจะเอาสาขาต่างๆ มาขยำรวมกันยังไง แน่นอนว่าหลายครั้งเรามีวิชาแบบบูรณาการ แต่เราก็ต้องรักษาวิชาเอกที่ลึกๆ ไว้ด้วย การรวมกันจึงไม่ใช่ทางออก ซึ่งอันนี้เป็นธรรมชาติที่ต่างจากศาสตร์แขนงอื่นๆ

ผมไม่ทราบว่า ท่านจำต้องรับนโยบายจากสภา ซึ่งอาจรับมาจากรัฐบาลโดยตรง ในอันที่จะต้องลดจำนวนสาขาวิชาสายมนุษย์ศาสตร์-สังคมศาสตร์-ศิลปะ แล้วให้ความสำคัญกับสายวิทยาศาสตร์หรือไม่ เกณฑ์ที่อิงจากทางนั้นจึงมากำหนดคณะฝั่งเรา ผมเห็นใจแต่คงต้องโต้แย้งอย่างแข็งขันเหมือนเดิม

ท่านอาจมองว่าผมนี่ช่างดื้อรั้น และการเหนี่ยวรั้งให้ยังคงเป็นภาควิชามันไม่เกี่ยวอะไรกับการยุบเลิกศาสตร์ทางมนุษยศาสตร์ – สังคมศาสตร์ดอก ก็เป็นสาขามันก็สอนได้เหมือนกันและคล่องตัวกว่า แต่ท่านก็บอกกับผมเองในวันนั้นว่า การยุบภาควิชานั้นยากกว่าสาขา ในขณะที่สาขานั้นจะรวมหรือยุบก็ง่าย แต่การจะกลับเป็นภาควิชาได้ก็ยากกว่าเช่นกัน ผมคิดว่าสิ่งนี่แหละที่เป็นอันตราย เป็นความคล่องตัวที่อันตราย หากภาควิชาถูกยุบลงเป็นสาขาแล้วจำนวนอาจารย์ลดลงจนไม่สามารถมีหลักสูตรวิชาเอกปรัชญาได้ นั่นแปลว่าสาขานั้นก็อาจถูกยุบ คณะสายผมก็จะสูญเสียการเรียนปรัชญาในฐานะที่เป็นวิชาเอกลงไป ทั้งยังต่อรองขอตำแหน่งอาจารย์เพิ่มได้ยากเพราะไม่ได้เป็นหน่วยงานย่อยอย่างภาควิชา และท่านก็รวบเอาตำแหน่งอาจารย์ไปไว้ตรงกลางหมดเสียแล้ว วิชาปรัชญาจะค่อยๆ หายไป จะเหลือก็แต่วิชาจำพวกพื้นฐานให้เรียน และสุดท้ายก็อาจยุบหายไปหมด

ความกังวลใจเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งเกินเลย หากประเมินจากทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรวบอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราอาจารย์จากส่วนกลางความไม่ชัดเจนของเกณฑ์ การพยายามตั้งสถาบันภาษาและหน่วยที่ดูแลวิชาพื้นฐานมาไว้ส่วนกลาง ซึ่งสะท้อนนโยบายรวบอำนาจ บทเรียนที่เกิดขึ้นในสถาบันอื่นๆ ฯลฯ การลดสถานะจากภาควิชาเป็นสาขาวิชาจึงเป็นการตัดแขนตัดขาในระยะเริ่มแรกเพื่อให้ศาสตร์ทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ค่อยๆ ตายไปเองหรือไม่

หากท่านจะโยนกลับมาว่า ทำตามเกณฑ์ให้ได้ก็จบ ดังนั้นไม่ใช่ความผิดของท่านเลยที่ภาควิชาจะยุบเป็นสาขา คำถามของผมคือ แล้วไอ้ภาควิชาที่มีอยู่ตอนนี้มันมีปัญหาอะไรจึงต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง (ซึ่งท่านก็ไม่ยอมตอบในวันนั้น) เรามีคนเรียนเพียงพอ มีการบริหารจัดการที่ดี มีผลงานและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง แม้คณะฯ จะไม่มีกำไรอะไรมากนักแต่ก็ดูแลตัวเองได้ เพราะเราเป็นสถาบันการศึกษา จะเอากำไรอะไรมากมาย เว้นแต่ท่านอยากให้ภาควิชาหรือคณะที่คนเรียนน้อยๆ ได้เงินน้อยๆ หายไปซะ ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบผู้บริหารที่ไม่น่าจะเหลือความเป็นนักวิชาการหรืออาจารย์ผสมไปด้วยสักเท่าไร

นอกจากนี้การกลายสภาพจากภาควิชาเป็นสาขาวิชาอาจนำไปสู่ปัญหาในเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใส เช่นผู้บริหารอาจจัดคนที่เข้ากับตัวได้มาเป็นหัวหน้าสาขาวิชาแทนการคัดสรรหัวหน้าภาคที่มีระเบียบชัดเจน ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่าสาขาวิชานี่เลือกกันยังไง มีเกณฑ์อะไร เพราะมันไม่มีในระเบียบ การบริหารคณะก็จะเปลี่ยนไปเพราะไม่มีหัวหน้าภาควิชาไปนั่งเป็นกรรมการบริหารอีกแล้ว ไหนว่าออกนอกระบบแล้วจะเน้นการกระจายอำนาจ ความโปร่งใส แต่นี่ตรงกันข้าม เป็นระบบราชการยิ่งกว่าแต่ก่อน และคงมีผลกระทบต่อ “เสรีภาพทางวิชาการ” เป็นแน่

หรือท่านจะชอบการบริหารแบบเดียวกับรัฐบาลในขณะนี้ผมก็ไม่ทราบใจท่านได้

แต่กระผมคงต้องย้ำเตือนท่านนิดนึงว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรเริ่มต้นจากวิชาด้านศิลปะและโบราณคดี เมื่อมีฝั่งวังสนามจันทร์ก็มีอักษรศาสตร์เป็นคณะแรก เราเกิดมาจากแบบนั้น และเมื่อคณะแบบอื่นๆ เกิดขึ้น มันก็งอกงามเป็นความหลากหลาย มีทั้งคณะวิชาฯ ที่ทำหน้าที่รักษาองค์ความรู้แต่ก่อนเก่าเช่นทางเราและโบราณคดี มีทั้งคณะวิชาที่ใช้วิทยาการเพื่อไปสู่ความก้าวหน้าเช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีทั้งคณะเพื่อรองรับความต้องการของคนทำงานและเพื่อความอยู่ดีกินดีอย่างการจัดการ สถาบันการศึกษาควรมีทั้งสามอย่างไม่ใช่ทอดทิ้งอันใดอันหนึ่ง

กล่าวถึงคณะของผมเองบ้าง ผมออกจะเสียใจกับท่านคณบดีมาก ท่านเป็นคณบดีของอักษรศาสตร์ อยากจะย้ำอีกห้าล้านครั้งว่าท่านคือคณบดีของคณะอักษรศาสตร์ ก็เช่นเดียวกับอธิการบดี คือต้องแบกรับเอาภาระทางการบริหารไว้บนบ่าข้างหนึ่ง แต่ท่านเองก็มีภารกิจที่ต้องรักษาองค์ความรู้ทางอักษรศาสตร์ไว้ด้วยอีกข้างหนึ่ง ในบัดนี้ผมเห็นเป็นความเข้าใจผิดของท่าน ที่เห็นว่าการเอาคนไปกองรวมกันเป็นความเข้มแข็งทางวิชาการและคล่องตัว และท่านเองเสียอีกที่รับสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยอย่างเร่งด่วน เร่งด่วนกว่าคณะไหนๆ แถมยังมาโน้มน้าวให้เรายุบรวมกันเสียด้วย ทั้งๆ ที่ทางอื่นอาจมี เช่นต่อรองระยะเวลาในการจัดตั้งเพื่อให้เกิดความพร้อมในคณะเสียก่อน หรือจดประชุมทั้งคณะเพื่อรับฟังความเห็นในวงกว้าง

ผมมีหลักคิดแบบนี้ หากอะไรที่เราไม่แน่ใจ เช่นความชัดเจนของระเบียบต่างๆ เราก็ควรจะชะลอไว้ก่อน ไม่ใช่เอาตัวไปเสี่ยงทั้งที่ยังไม่มีคำตอบอะไรเลย และนี่เรายังไม่ได้ลองพิจารณาประสบการณ์ และสรุปบทเรียนจากหลายภาควิชาและคณะในสถาบันอื่นๆที่เขาเคยยุบรวม-ยุบเลิกมาก่อน ว่ามีข้อดีเสียอย่างไร แล้วเราค่อยมาพิจารณากันอีกทีดีไหม

ท่านอาจกล่าวได้ว่าไม่ใช่ความผิดของท่านที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่เพราะมหาวิทยาลัยออกกฏเกณฑ์มาแล้วต่างหาก และท่านก็ได้ให้อิสระเต็มที่ในการเลือกแล้ว แต่ท่านครับ การให้อิสระภายใต้เงื่อนไขไม่ใช่อิสระ และเงื่อนไขหรือกฏเกณฑ์ที่มีปัญหาเราก็อาจตั้งคำถามกับมันได้มิใช่ต้องยอมรับเสมอไป การตั้งคำถามทักท้วงอาจยังให้เกิดความเจริญด้วยซ้ำ ลองมองย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์(ซึ่งเป็นสาขาที่ท่านคณบดีสอน)เป็นต้นว่า กว่าผู้หญิงจะได้เลือกตั้ง กว่าผู้หญิงจะได้นั่งเรียนในมหาวิทยาลัย กว่าคนผิวสีจะได้นั่งในรถเท่ากับคนขาว เราต้องผ่านการโต้แย้ง “กฏ” กันมามากมายเพียงไร

ถึงที่สุดแล้ว ที่จริงจะเป็นภาคหรือเป็นสาขาผมก็ไม่ได้เกี่ยง หากมหาวิทยาลัยยอมให้สัตยาบันว่าจะธำรงรักษาศาสตร์ทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์รวมทั้งศิลปะเอาไว้ และมีมาตรการที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้ เช่นจะไม่ยอมให้มีการยุบเลิกหลักสูตรในกรณีที่มีจำนวนอาจารย์ไม่พอ คือต้องให้อัตรากำลังทันที เป็นต้น เพราะที่ผมสู้เรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะผมเห็นแก่ภาควิชาที่ผมรักแต่เพียงอย่างเดียว  แต่ผมเห็นแล้วว่าการดำรงอยู่ของภาควิชาเป็นทางหนึ่งที่จะต้านทานกระแสการพยายามยุบเลิกสาขาทางมนุษยศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาด้วยเล่ห์กลระยะยาวที่หลายท่านอาจมองไม่เห็น หรืออย่างเลวร้ายคือแกล้งมองไม่เห็น

ผมต้องขออภัยท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ได้อ่านจดหมายรักนี้ แม้มันจะดูเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างผมหรือภาควิชาของผมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรและคณะอักษรศาสตร์ และเนื่องด้วยเหตุการณ์เฉพาะที่กำลังเกิดขึ้น แต่ผมคงต้องเรียนด้วยว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้มิใช่เรื่องส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง ผมได้คิดแล้วว่าหากนำมาให้ได้อ่านกันคงจะเป็นประโยชน์ เพราะนี่คือสถานการณ์ปัญหาของอุดมศึกษาไทย โดยเฉพาะความพยายามที่จะเข้ามาจัดการวิชาสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ให้ลดน้อยหมดความสำคัญลงไป

มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มุ่งความสนใจไปยังธรรมชาติของมนุษย์และพยายามทำให้เรามีความละเอียดอ่อนในฐานะ “มนุษย์” ยิ่งขึ้น เราคิดเป็นอย่างรอบด้าน เรามีความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ผ่านภาษาและวรรณคดี ศิลปะและการละคร เรารักเป็นและเห็นคนอื่นว่าเป็นมนุษย์อย่างเรา เราคงไม่อยากได้แค่แรงงานฝีมือที่ไม่มีหัวใจไปสู่สังคม คุณค่าของวิชาเหล่านี้อาจไม่สามารถวัดด้วยเงินหรือตำแหน่งงานที่ชัดเจน แต่หากไร้มนุษยศาสตร์ การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์จะอยู่ส่วนไหนในสังคมไทย

ผมจึงขอเขียนจดหมายรักมายังท่านอธิการบดีและท่านคณบดี ผมอาจมิใช่อาจารย์ที่ฉลาดนักแต่อยากเตือนท่านให้มองอย่างรอบด้าน ให้ท่านมีพลังกายใจหากท่านเลือกต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ท่านอธิการบดีเคยอยู่คณะเภสัชศาสตร์ นี่เป็นโอกาสที่ท่านจะมอบ “โอสถ” แห่งปัญญาให้สังคมไทยที่กำลังป่วยไข้ ผ่านการปล่อยให้ศาสตร์ทางมนุษยศาสตร์–สังคมศาสตร์ ศิลปะ งอกเงยอย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยการกลับไปทบทวนเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยอีกครั้ง  ส่วนท่านคณบดี ท่านเองเป็นนักประวัติศาสตร์ ท่านคงเลือกได้ว่าจะสร้างประวัติศาสตร์ให้กับตนเองแบบไหน และจะเป็นที่จดจำอย่างไร

ในฐานะเพื่อนมนุษย์ผมคงต้องแสดงความนับถือมายังท่านทั้งสอง แต่ในฐานะผู้บริหารและสภาพการณ์ที่ปรากฏในขณะนี้ ผมคงต้องขอแสดงความไม่นับถือไว้ก่อน และหวังใจว่าท่านจะนำความนับถือมาสู่พวกเราทั้งหลายในอนาคต มิใช่ด้วยตำแหน่งยศฐาที่ท่านมีแต่ด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรมและการตัดสินใจที่จะยังประโยชน์ต่อวงวิชาการสืบไป

 

ขอแสดงความ(ไม่)นับถือ

 อาจารย์ปรัชญาคนหนึ่ง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save