fbpx
พยากรณ์อนาคตเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ผ่านซีรีส์ LOVE, DEATH + ROBOTS

พยากรณ์อนาคตเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ผ่านซีรีส์ LOVE, DEATH + ROBOTS

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

หากจัดอันดับหนังหรือซีรีส์เรื่องโปรดของตัวเองประจำไตรมาสแรกของปี 2019 ดูเล่นๆ พบว่า LOVE, DEATH + ROBOTS จาก NETFLIX คงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อยู่ในลิสต์

สำหรับคนที่ยังไม่เคยดู ซีรีส์อนิเมชั่น 18 ตอนชุดนี้ มีเนื้อเรื่องไม่ต่อเนื่องกัน ได้ผู้กำกับชั้นเซียนอย่าง David Fincher มาเป็นหนึ่งใน Executive Producer เนื้อหาที่คลุมทุกตอนไว้ว่าด้วยโลกอนาคตในยุคที่หุ่นยนต์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์เต็มตัวโลกของแต่ละตอนเต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำจินตนาการ วัฒนธรรมประหลาด และเส้นศีลธรรมที่สุดขอบ แต่เชื่อมโยงกลับมาหาเราได้ ด้วยคำถามที่ทุกตอนมีเหมือนกันว่าอะไรคือความเป็นมนุษย์ ?”

นอกจากพล็อตเรื่องที่ดึงดูดจนดูรวดเดียวจบทั้งซีซั่น เทคนิคอนิเมชันสุดล้ำก็โดดเด่นอย่างมาก บางเรื่องชูความเหมือนจริงซะจนคิดว่าถ่ายด้วยกล้อง บางเรื่องใช้ลายเส้นอนิเมชั่นแบบเก่าผสมเทคนิคใหม่กลายเป็นอาร์ตไดเรคชันที่แปลกตา สิ่งที่โดดเด่นเตะตาใน LOVE, DEATH + ROBOTS คือเทคโนโลยีมัลติมีเดียในหนัง แต่ละชิ้นกระเจิงจินตนาการ บิลด์ไอเดียของเราให้พุ่งปรี๊ด แถมพาให้นักออกแบบมัลติมีเดียอย่างเราตั้งคำถามว่าอนาคตของเทคโนโลยีมัลติมีเดียจะหน้าตาเป็นอย่างไร ?

เทคโนโลยีที่ว่ามีอะไรบ้าง ไปดูกัน

พิธีกรล่องหน

Sonnie’s Edge

ในอนิเมชั่นตอนแรก Sonnie’s Edge เล่าเรื่องเวทีประลองกำลังในโลกอนาคต ที่มนุษย์อย่างเราไม่จำเป็นต้องลงสนามเองให้เสียเลือด มนุษย์ผู้เข้าแข่งขันมีหน้าที่เพียงใช้จิตเชื่อมต่อกับสัตว์ประหลาดที่ตัวเองสร้างขึ้น และควบคุมให้มันลงไปขับเคี่ยวเอาชนะสัตว์ประหลาดของฝ่ายตรงข้าม

ฉากสนามประลอง ก่อนการต่อสู้จะเริ่มขึ้น พิธีกรร่างบึ้กในสนามกล่าวปลุกอารมณ์และแนะนำสัตว์ประหลาดจากทั้งสองฝั่ง ราวกับพิธีกรเวทีมวยกล่าวแนะนำคู่ชกฝ่ายแดงและฝ่ายน้ำเงิน วินาทีก่อนการต่อสู้จะเริ่ม เราจะเห็นว่าคุณพิธีกรร่างล่ำ ไม่ได้ยืนอยู่ตรงนั้นจริง ทว่าเป็นเพียงภาพที่ฉายผ่านเครื่องกลมๆ ที่ลอยอยู่กลางสนาม 

Sonnie’s Edge

เทคโนโลยี Holographic Projection หรือที่เราคุ้นหูว่า โฮโลแกรม คือเทคโนโลยีการฉายภาพสามมิติที่สร้างภาพเสมือนว่าวัตถุอยู่ตรงนั้นจริงๆ ศิลปิน Roy Orbison ที่จากไปกว่า 30 ปี สามารถปรากฏตัวมาเล่นดนตรีบนเวทีได้ ด้วยการฉายภาพโฮโลแกรมนี้

Holographic Projection Roy Orbison

เราจะไม่ลงลึกถึงรายละเอียดของเทคนิควิธีการทำซึ่งทุกวันนี้ทุกคนสามารถศึกษาได้จากกูเกิ้ล สิ่งที่น่าสนใจกว่าในฉากนี้ คือการใช้โฮโลแกรมบวกกับเทคโนโลยี Drone ปัจจุบันคนส่วนใหญ่อาจรู้จักโดรนในฐานะอุปกรณ์ถ่ายภาพมุมสูง แต่เมื่อไม่นานมานี้บริษัทหนึ่งในออสเตรเลียได้คิดค้นโดรนที่สามารถติดตั้งเครื่องโปรเจคเตอร์ ทำให้โดรนสามารถฉายภาพในขณะที่เคลื่อนที่ไปไหนมาไหน และนั่นอาจกลายเป็นสื่อโฆษณาใหม่ในอนาคต

ในวันที่โฮโลแกรมปรากฏให้เห็นจนคุ้นตา อีกทั้งโดรนก็สามารถติดตั้งเครื่องฉายได้ ภาพของพิธีกรล่องหน แต่ราวกับยืนอยู่ตรงนั้นจริงใน Sonnie’s Edge คงเกิดขึ้นจริงในอีกไม่นาน เทคโนโลยีนี้จะรวมศักยภาพการฉายภาพเสมือนจริงของโฮโลแกรม เข้ากับศักยภาพในการไปได้ทุกที่ของโดรน ในวันนั้นกรรมการคงสามารถปรากฏตัวอยู่บนเวทีมวยปล้ำ และบอกให้นักชกสองฝั่งแยกจากกันได้โดยไม่ต้องเจ็บตัว นายกรัฐมนตรีสามารถปรากฏตัวอย่างปลอดภัยท่ามกลางความรุนแรงของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ผู้ประกาศข่าวภาคสนามสามารถส่งโดรนตัวเล็กที่ฉายภาพโฮโลแกรมได้ไปลอยอยู่กลางถนนข้าวสาร และฉายภาพเสมือนตัวเองยืนรายงานข่าวอยู่กลางงานสงกรานต์ โดยตัวจริงแห้งสบายอยู่ที่ห้องส่ง

ทะลุจอมีอยู่จริง

Sonnie

ในตอนเดียวกัน เราจะเห็นฉากเวทีที่ผู้เข้าแข่งขันใช้นั่งควบคุมสัตว์ประหลาด ฉากนั้นเริ่มต้นด้วย Sonnie ตัวเอกของเรื่องเดินทะลุม่านจอออกมายังเวที

Sonnie

เทคโนโลยีในฉากนี้ทำให้เรานึกถึง ‘Curtain Call’ งานศิลปะโดยศิลปินและสถาปนิก Ron Arad พื้นที่วงกลมขนาดใหญ่ถูกล้อมด้วยวัสดุคล้ายผ้าเส้นบางๆ ฉายด้วยภาพจากโปรเจคเตอร์ เกิดเป็นหน้าจอทรงกระบอกยักษ์ ที่คนดูสามารถดูได้จากข้างนอก หรือจะเดินทะลุเข้าไปดูข้างในก็ได้

Curtain Call

เมื่อพูดถึงเรื่องจอ เราจึงนึกถึงเทคโนโลยีในอีกตอนที่เกี่ยวข้องกัน คือ The Witness ว่าด้วยการฆาตกรรมและพยานผู้บังเอิญเห็นเหตุการณ์ กลายเป็นการไล่ล่ากันบนฉากหลังของเมืองฮ่องกงในอนาคต ฮ่องกองที่เราคุ้นตานั้นเต็มไปด้วยป้ายหน้าร้านและป้ายโฆษณารกตาตามถนนหนทาง แต่ฮ่องกงในจินตนาการของผู้กำกับ Alberto Mielgo พรายตาไปด้วยป้ายโฆษณาแบบใส มองทะลุเห็นด้านหลัง ไม่รกตา แม้จำนวนจะเยอะเท่าเดิม

The Witness

เราคุ้นเคยกับเทคโนโลยีจอในรูปแบบสี่เหลี่ยม เป็นแผ่นทึบตันไม่ต่างกับกำแพง แต่เทคโนโลยีจอที่โปร่งและใสเกิดขึ้นแล้วในโลก จอ Hypervsn จากบริษัท Kino-Mo เป็นเพียงใบพัดติดตั้งแผง LED แสดงผล ใช้การหมุนอย่างรวดเร็วและการกระพริบของพิกเซล สร้างภาพให้เกิดขึ้นกลางอากาศ นอกจากแสดงภาพได้มหัศจรรย์ จอชนิดนี้ยังกินที่น้อย เปลี่ยนจากจอที่ทึบตันเหมือนกำแพง เป็นเพียงตะแกรงโปร่ง ไม่รบกวนวิสัยของดวงตาอีกต่อไป

จอ Hypervsn จากบริษัท Kino-Mo

ในอนาคตพื้นที่ในโลกน้อยลงเรื่อยๆ พื้นที่โฆษณาจึงน้อยตาม งานโฆษณาที่ยังอาศัยจออาจต้องมองหาจอที่มีคุณสมบัติอย่างจินตนาการใน The Witness คือประหยัดพื้นที่และไม่รกตา และจะยิ่งดีหากพื้นที่ของจอสามารถเปลี่ยนฟังก์ชั่นให้คนสามารถเดินทะลุผ่านได้ เช่นจินตนาการใน Sonnie’s Edge วันหนึ่งจออาจสามารถตั้งอยู่กลางทางเดินสกายวอล์ค และป้ายบิลบอร์ดบนทางด่วนอาจไม่จำเป็นต้องใหญ่โตมโหฬาร แถมยังสามารถมองทะลุเห็นข้างหลังได้

อักษรออร์แกนิค

18 ตอนของ LOVE, DEATH + ROBOTS ไม่ได้มีแค่เนื้อเรื่องดาร์คๆ มีหลายตอนที่น่ารักและแฝงอารมณ์ขันเชิงจิกกัด อย่างเช่น When the Yogurt Took Over ที่ว่าด้วยวันหนึ่งที่โยเกิร์ตลุกขึ้นมาครองโลก ผู้คนในโลกต่างอยู่ภายใต้กฎหมายการปกครองของโยเกิร์ต ในฉากที่ชายคนแรกได้รับการสื่อสารจากโยเกิร์ต ฉากนั้นเมล็ดธัญพืชที่ชายผู้นั้นเทในถ้วยโยเกิร์ต แปรอักษรกลายเป็นข้อความขอพบผู้นำประเทศ !

LOVE, DEATH + ROBOTSLOVE, DEATH + ROBOTS When the Yogurt Took OverLOVE, DEATH + ROBOTS When the Yogurt Took Over

ในฉากนี้พาลให้นึกถึง Ferrolic นาฬิกาที่นำเสนอด้วยคอนเซ็ปต์ ‘Where digital meets nature’ ผสานระบบการแสดงผลของนาฬิกาดิจิทัลเข้ากับของเหลว Ferro Fluid ที่มีคุณสมบัติแบบแม่เหล็ก ในหน้าปัดนาฬิกาเราจะเห็นของเหลวสีดำลอยเคว้งไปมาอย่างเป็นธรรมชาติ ให้ความรู้สึกสงบ พร้อมกับถูกควบคุมให้รวมตัวกันแสดงผลกลายเป็นตัวเลขดิจิทัลบอกเวลา 

Ferrolic ‘Where digital meets nature’

จอแสดงผลอักษรที่ไม่ธรรมดาของนาฬิกา Ferrolic คล้ายกับชิ้นงานในพิพิธภัณฑ์ Warsaw Rising Museum ที่ชื่อ Quantum of Peace ซึ่งใช้ระบบแม่เหล็กเช่นเดียวกันในการบอกจำนวนตัวเลขต่างๆ จากสงครามโลกครั้งที่สอง แม่เหล็กใต้แผ่นโลหะจะทำหน้าที่ดึงดูดให้ลูกกระสุนที่ไหลลงมาจากด้านบนติดอยู่กับแผ่นโลหะทีละน้อย จนประกอบกลายเป็นตัวเลขในที่สุด

อาหารออร์แกนิค กลายเป็นตัวเลือกรับประทานของคนจำนวนมาก แทนอาหารสังเคราะห์ที่ผลิตโดยระบบอุตสาหกรรมที่ทำให้เราป่วยเป็นโรคประหลาดมากขึ้น เช่นเดียวกับเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ทุกวันนี้เราถูกรายล้อมด้วยหน้าจอดิจิทัลที่แสดงผลด้วยแสง ไม่ว่าจะป้าย LED บอกทางบนถนน จอหน้าห้าง หรือจอสมาร์ทโฟนในมือเรา ผลวิจัยยืนยันว่าแสงสีฟ้าจากหน้าจอทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยทั้งทางตรงกับดวงตา และทางอ้อมอย่างความเครียด น่าสนใจมากว่าวันหนึ่งตัวอักษรออร์แกนิคอาจกลายเป็นเทคโนโลยีทางเลือกในการแสดงผลที่แก้ปัญหานี้ได้ แถมตัวอักษรประเภทนี้ยังให้ความรู้สึกที่อุ่นกว่า จับต้องได้มากกว่าอีกด้วย

ผืนผ้าใบบนอวกาศ

Zima Blue

Zima Blue เป็นอีกหนึ่งตอนที่พูดถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างลุ่มลึก และคงเป็นตอนโปรดของใครหลายคน ศิลปินหนุ่มในเรื่องคือตัวแทนของมนุษย์ผู้มองไกลเกินกว่าตัวเอง สนใจสิ่งที่ไกลกว่าสายตา เพื่อจะกลับมาสู่สามัญในที่สุด ฉากหนึ่งเล่าถึงการท้าทายขีดจำกัดของศิลปินหนุ่มที่วาดภาพขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นภาพวาดที่ลอยอยู่กลางจักรวาล ให้คนชื่นชมจากบนพื้นโลก

Zima Blue

กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทสตาร์ทอัพในรัสเซีย ‘Startrocket’ เปิดตัวนวัตกรรม Orbital Billboard หรือบิลบอร์ดโฆษณาที่สามารถลอยอยู่นอกโลก มองเห็นได้จากคนเจ็ดพันล้านคนทั่วโลกได้พร้อมกัน

Zima Blue

ชาวเน็ตที่แชร์สิ่งนี้ออกไปบางคนให้ความเห็นว่า หากเทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นจริง ต่อไปนี้แม้แต่ท้องฟ้าสะอาดๆ เราก็จะไม่มีสิทธิ์เห็นมันใช่มั้ย นึกภาพว่าหากทุกบริษัทโฆษณาใช้เทคโนโลยีนี้ ท้องฟ้าจะเต็มไปด้วยดวงดาวแห่งโลโก้และคำโฆษณา

โชคดีที่ Startrocket อยู่ระหว่างการระดมทุนเพื่อเปิดตัวการทดสอบครั้งแรกในปี 2021 ในระหว่างนี้ ท้องฟ้าจึงยังเป็นของเรา

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การออกไปค้นหาและสร้างอะไรที่ใหญ่เกินขอบเขตสายตา คือการกลับมาเข้าใจแก่นที่สามัญที่สุดของตัวเองคือบทสรุปใน Zima Blue เช่นเดียวกับบทสรุปของเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ไม่ว่าจินตนาการในภาพยนตร์จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตหรือไม่ ล้ำโลกขนาดไหน แก่นที่สำคัญที่สุดของมันมีเพียงสองอย่าง คือสื่อสารข้อความ และทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่ยังคงมีความรักให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save