fbpx

เราเรียกสิ่งนี้ว่าความรัก

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

– 1 –

 

สมัยที่พ่อยังเป็นเด็กวัยอนุบาล เวลาได้นั่งรถปู่ของลูก พ่อชอบนั่งบนกล่องเก็บของเล็กๆ ตรงกระปุกเกียร์ เพราะมันพอดีกับก้นเล็กๆ ขาซ้ายจะพาดไปทางเบาะหลัง ขาขวาจะพาดไปทางเบาะหน้าซึ่งย่านั่งอยู่ข้างปู่ผู้เป็นคนขับ

ตำแหน่งตรงที่พ่อนั่งมักทำให้เด็กน้อยสามารถเห็นวิวด้านหน้ารถได้เหมือนที่ปู่เห็น เพียงแต่ไม่ได้ขับเองก็เท่านั้น

ในรถ – นอกจากบรรดาเทปคาสเซ็ทเพลงลูกกรุง ลูกทุ่งและเพื่อชีวิต อาทิ สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร, คาราบาว, สายัณห์ สัญญา, เพลิน พรหมแดน ปู่มักชอบเปิดเทปเพลงของน้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ

พ่อจำไม่ได้ว่าอัลบั้มไหน แต่ปู่มีอยู่อัลบั้มเดียวนั่นแหละที่เปิดฟังจนเทปยืด มันอาจจะเป็นอัลบั้มปกติหรืออัลบั้มรวมฮิตไม่แน่ใจ แต่เพลงที่พ่อติดอกติดใจเพลงหนึ่งคือเพลงวันเวลา อยู่ในอัลบั้มมันดี (1986)

เอาเข้าจริง ตอนเด็กที่ร้องตามได้ก็ไม่ได้ซึมซับความหมายของมันเท่าไหร่ แต่อาจเพราะทำนองเมโลดี้ที่พลิ้วไหว ท่อนโซโล่ปลุกเร้าและอบอุ่นเลยทำให้เพลงนี้ค้างอยู่ในใจตลอดมา

พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ คือคนรุ่นราวคราวเดียวกับปู่ของลูก แกเป็นคนโคราชที่โตมาในยุคของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยสมัยปี 1973 แต่การปราบปรามอย่างหฤโหดของผู้มีอำนาจทำให้แกต้องหนีเข้าป่า จำใจไปเป็นคอมนิวนิสต์ในปี 1976 ได้ชื่อใหม่ว่า “สหายประทีป” และบ่มเพาะการเขียนบทกวีแต่งเพลงมาจากในป่าจนได้ฉายาจาก นายผี อัศนี พลจันทร กวีนักปฏิวัติรุ่นพี่ว่า “กวีศรีชาวไร่”

ช่วงที่ลูกเริ่มซน เวลาพ่อขับรถไปไหน ลูกชอบมานั่งบนกล่องกลางข้างกระปุกเกียร์ ทำให้พ่อเห็นตัวเองในวัยของลูก และมันทำให้เพลงวันเวลาแว่วดังขึ้นมาอีกครั้ง บังเอิญว่า “เวลา” ก็เป็นชื่อลูกด้วยเช่นกัน

หลายครั้งพ่อมักถามตัวเองว่าทำไมคนเราถึงซึมซับเพลงที่มีเนื้อหาจับใจได้อย่างลึกซึ้ง และเพลงที่เรารู้สึกว่าลึกซึ้งย่อมสืบสาวไปได้ถึงประสบการณ์ของตัวศิลปิน

เป็นไปได้ไหมว่าวันเวลาชีวิตของกวีศรีชาวไร่นั้นเข้มข้น การผ่านพบเผชิญทั้งการสู้รบในป่า การเดินทางกลับจากความพ่ายแพ้สู่เมือง การดิ้นรนเอาชีวิตรอด การทบทวนตัวเอง ก็ยิ่งทำให้บทเพลงของน้าหมูเข้มข้นเป็นเงาตามไป

แน่นอน, บทเพลงวันเวลาย่อมเป็นการตกผลึกหนึ่งจากการเดินทางทั้งหมด

แล้วอะไรล่ะที่อนุญาตให้น้าหมูได้เดินทาง ได้เลือกใช้ชีวิต ได้เก็บเกี่ยวเรื่องราวมาเขียนเป็นบทเพลง พ่อคิดว่าถ้าศิลปินไม่มีสิทธิเสรีภาพ แล้วเราจะได้ฟังเพลงอย่างติดอกติดใจเหล่านี้จากไหน ไม่เช่นนั้นบทเพลงก็คงกลายเป็นโซ่ตรวน แทนที่เราจะรู้สึกปลดปล่อย กลับต้องคุมขังตัวเอง

 

2 –

 

อาจจะโดยบังเอิญ พ่อไม่รู้ว่าคนอื่นฟังเพลงวันเวลาของน้าหมูแล้วรู้สึกอย่างไร แต่ในช่วงที่บ้านเมืองผิดปกติ เวลาได้ยินเพลงนี้พ่อมักรู้สึกถึงคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 1932 ผู้ทำให้เรารู้จักสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ทำให้เรารู้ว่าเจ้าของชีวิตและประเทศตัวเองไม่ใช่ของใครอื่นนอกจากเราที่มีค่าเท่าๆ กับคนอื่นๆ

พ่อไม่แน่ใจว่าอีก 20-30 ปีข้างหน้า เราจะพูดเรื่องเหล่านี้กันอยู่อีกหรือไม่ หรืออาจจะล้าสมัยไปแล้ว แต่วันนี้บ้านเมืองของเราเดาไม่ได้ และดูสุ่มเสี่ยงเหลือเกินที่ในอนาคตการพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพยังจำเป็นอยู่

ในวันที่พ่อเขียนต้นฉบับอยู่นี้ (2019) ลูกเชื่อไหมว่ามีคนต้องติดคุก บ้างถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัส บ้างต้องล้มตายไปเพียงเพราะพวกเขาแค่ยืนยันเรียกร้องในสิ่งที่คณะราษฎรเคยเรียกร้องมา

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกรุมทำร้ายถึงสองครั้งในเดือนเดียวจนกระดูกใบหน้าหัก – เบ้าตาขวาแตก ก่อนงานรำลึกถึงคณะราษฎรเพียง 1 วัน ทั้งที่สิรวิชญ์กำลังจะเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทที่อินเดีย หลังรัฐบาลอินเดียให้ทุนการศึกษาเขา

เอกชัย หงส์กังวาน ถูกรุมทำร้ายมากกว่า 7 ครั้ง และรถยนต์ของเขาก็ถูกเผาที่หน้าบ้านของตัวเอง เพียงเพราะเอกชัยไม่หยุดตรวจสอบผู้มีอำนาจ และอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ก็ถูกรุมตีหัวแตกเพียงเพราะเขาเรียกร้องให้มีการถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลังผลการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2019 เต็มไปด้วยความผิดปกติไร้ความโปร่งใส

อะไรทำให้บ้านเมืองเราวนเวียนอยู่กับความขุ่นมัวทึมเทาราวกับถูกสาปไว้ไม่ให้เห็นเดือนเห็นตะวัน พ่อนึกถึงบทกวีของลุงไผ่ – กวีราษฎร บทนึงที่เล่าเรื่องเหล่าผู้ก่อการไว้ ไม่ใช่แค่คณะราษฎร แต่มีคนรุ่นก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้นที่เคยเรียกร้องประชาธิปไตยจนชีวิตหาไม่มาแล้ว บทกวีบทนี้ชื่อว่า บทกวี (ที่ยังเขียนไม่จบ)’ มันทำให้เราเห็นว่าไม่ใช่ไม่เคยมีใครพยายามตัดทางเถื่อนและบุกเบิกทางศิวิไลซ์ 

กี่กบฏชาวนา เขตป่าเขา
สืบสายธารประวัติเก่า เหลียงซานป๋อ
แค่ร้อยแปด ผู้กล้าไม่เพียงพอ
เป็นเส้นไหมถักทอ ธงชนะ

กี่กระบุงเม็ดพืชพันธุ์เสรีชน
งอกลูกหลาน เพาะเป็นคนอิสระ
รุ่นสู่รุ่น รับช่วงงาน แบกภาระ
สืบต่อพันธกิจแห่งสากล

จาก ร.ศ.หนึ่งร้อยสาม ปฤษฎางค์
ตั้งคำถามกับ ร.5 ในเบื้องต้น
ถึงเวลาที่สยามทุกมณฑล ?

เปิดถนนทางประชาธิปไตย ?

สู่ ร.ศ. ร้อยสามสิบ เหล็ง ศรีจันทร์
รวบรวมกัน เตรียมกระทำ กิจการใหญ่
จี้อัญเชิญ ร.6 ลงบัลลังก์ไป
แต่ความแตก เขาทั้งหลายต้องติดคุก!

ถึง 2475 มหาชัย
อภิวัฒน์ได้อย่างฉุกละหุก
โดยคณะราษฎร อริยยุค
รบ รับ รุก อยู่แค่ 15 ปี

สิ้นยุคไท…ในปี 2490
กงจักรมาร เริ่มหมุนคืนกลับที่
เสียครูเตียง สิ้น 4 รัฐมนตรี
หลังปรีดี ลี้ภัยไปต่างแดน

ปี 2500 ยุคสฤษดิ์
เทพวิปริต ตั้งหลักได้บนแท่น
อเมริกาหนุนเสริมสร้างพิมานแมน
ลงรากแน่นดูดน้ำเลี้ยงจากสังคม

ทรราชย์กอดคอกับเผด็จการ
สบสังวาส สโมสร อย่างเหมาะสม
ล้างแนวทางที่ประชาชนนิยม
ล้มแท้งแล้ว…”ครรภ์มารดา สู่เชิงตะกอน”

 ฯลฯ

 

3 –

 

เหมือนกับที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์และอดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ เคยบอกไว้ว่าถ้าเรามองประวัติศาสตร์ยาวๆ ไล่ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน ได้ทำการแปลรัฐธรรมนูญของอเมริกาเผยแพร่เป็นภาษาไทยลงในจดหมายเหตุแล้ว

สมัย ร.ศ.103 มีกลุ่มเจ้านายกลุ่มเล็กๆที่ไปทำงานอยู่ที่ยุโรปคือกลุ่มพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ได้ทำหนังสือส่งมาที่สยาม เพื่อเสนอให้รัชกาลที่ 5 ปฏิรูปการปกครองประเทศด้วยการมีรัฐธรรมนูญแบบญี่ปุ่นซึ่งตรงกับยุคจักรพรรดิเมจิ

“การเรียกร้องนี้เกิดขึ้นก่อน พ.ศ. 2475 ถึง 47 ปี และสมัยนั้นยังมี เทียนวรรณ’ สามัญชนผู้เสนอให้มี parliament มีการปกครองที่เป็นสมัยใหม่ด้วย และสมัย ร.ศ.130 ต้นรัชกาลที่ 6 ก็มีเหตุการณ์กบฎหมอเหล็ง ศรีจันทร์ที่ต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยและมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกิดก่อน พ.ศ.2475 ถึง 20 ปีแปลว่าความคิดเรื่องประชาธิปไตยเข้ามาในไทยตั้งนานแล้ว แนวคิดประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของความใจร้อนของคณะราษฎร”

ในยุคสมัยของพ่อ แม้เราจะมีเพลงฟังเพลงอย่างค่อนข้างหลากหลาย แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะใช้ชีวิตได้อย่างที่อยากเลือกตามอิสรภาพจริงๆ ลำพังแค่การพูดเรื่อง ‘2475’ ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วถึง 87 ปี และคนรุ่นนั้นย่อมห่างจากลูกเป็นร้อยกว่าปี แต่การรำลึกถึงพวกเขามักถูกใส่ร้ายว่าเป็นพวก “ไม่รักเจ้า”

ข้อกล่าวหานี้อาจปกติ ถ้าเป็นแค่การป้ายประณามด่าทอ แต่มันเป็นความป่าเถื่อนที่สุดที่คนในยุคสมัยพ่อและก่อนหน้าได้เผชิญมาและกำลังเผชิญอยู่ เพราะการใส่ร้ายแบบนี้นำไปสู่การทำร้ายเอาชีวิตกัน

ถ้าไม่มักง่ายกันเกินไป ดูข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์ก็ได้ อาจารย์ชาญวิทย์บอกว่าคณะราษฎรไม่ได้ล้มเจ้า เพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รัชกาลที่ 7 ก็ยังอยู่ พอมีการสละราชสมบัติไปแล้ว คณะราษฎรก็ยังกราบทูลในหลวงอานันท์รัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์ต่อ จะบอกว่าคณะราษฎรล้มเจ้าได้อย่างไร

“การบอกว่าล้มเจ้ามันเป็นข้อกล่าวหา เป็นอาวุธร้าย เป็นยุทธวิธีในการกำจัดคู่ต่อสู้”

แล้วหมู่คนที่มักโจมตีคนอื่นว่าไม่รักเจ้านั้น ชอบบอกว่าเมืองไทยดีที่สุดในโลกอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงใดๆ นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่เรามักถามตัวเองว่าเป็นไปได้จริงๆ หรือ อาจารย์ชาญวิทย์บอกว่า “สังคมไทยเราอยู่ในบริบทของโลก พ.ศ.2475 ตรงกับ ค.ศ.1932 เป็นช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่กี่ปีอิทธิพลของระบบโลกมีการเปลี่ยนแปลงมากตั้งแต่การปฏิวัติซุนยัดเซ็นในจีนซึ่งส่งผลต่อกบฏหมอเหล็ง ร.ศ.130 ถัดมาเกิดสงครามโลกครั้ง 1 ซึ่งเป็นจุดจบของระบอบกษัตริย์ในออสเตรียฮังการี และเป็นจุดจบของจักรวรรดิออตโตมัน 

“ถ้าอีลีทไทยยังเชื่อว่าคนไม่เท่ากันไม่เสมอภาคกันทางการเมืองมันก็ตกลงกันไม่ได้ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นหนทางเดียวของสังคมไทยที่จะออกจากวิกฤติเราอาจจะแต่งโจงกระเบนกันสนุกๆได้แต่ยังไงคุณก็ต้องนุ่งกางเกงอยู่ดีเราปฏิเสธวิถีทางสมัยใหม่ไม่ได้”

 

4 –

 

บนผนังบ้าน ลูกจะเห็นนาฬิกาแขวนผนังอยู่หนึ่งเรือน ย่าหมูให้พ่อกับแม่มาเป็นของขวัญวันแต่งงานเมื่อปี 2015 ของขวัญชิ้นนี้มีค่ากับเรามาก เป็นนาฬิกาที่มีฐานเป็นรูปหมุดคณะราษฎร สร้างสรรค์โดยลุงสมบัติ บุญงามอนงค์ มันทำให้เราพึงย้ำกับตัวเองได้ว่าไม่ว่าจะมีใครพยายามลากยุคสมัยให้กลับไปสู่อดีต แต่เวลาจะเป็นเครื่องย้ำว่าไม่มีทาง และนี่เองที่เป็นเหตุให้อีกสองปีต่อมาหลังการแต่งงานของพ่อกับแม่ – ลูกจึงชื่อว่า “เวลา” ช่วงเวลานั้นพ่อเขียนบทกวีแปะตู้เย็นทิ้งไว้หนึ่งบท เป็นบทเชยๆ ที่ชื่อว่า “เราเรียกสิ่งนี้ว่าความรัก”

เพราะเราเรียกสิ่งนี้ว่าความรัก
จะกอดรัดฟัดเหวี่ยงให้สดชื่น
แม้ผ่านร้อนผ่านหนาวทุกค่ำคืน
อีกทนฝืนกับป่าเถื่อนที่คดเคี้ยว
อยากฟูกฟักไปจนสุดปรโลก
แม้เศร้าโศกร้อยปีที่โดดเดี่ยว
ขอแค่วาบสว่างเพียงชาติเดียว
เหมือนเคยเกิดกับผู้มาก่อนกาล.

 

…..

กวีศรีชาวไร่อาจไม่ได้เขียนเพลงวันเวลาจากการระลึกถึงคณะราษฎร แต่ในฐานะคนฟังและอาศัยอยู่ในวันเวลาที่มืดมน การเชื่อมเพลงวันเวลาเข้ากับวันเวลาแห่งความกล้าหาญและยิ่งใหญ่ของคณะราษฎร ทำให้เราพอมีเรี่ยวแรงที่จะลุกขึ้นยืนในเช้าวันถัดไป

วันเวลาหมุนเปลี่ยนเวียนไป สุขสดใสไม่เคยเดินตาม วันเวลาหมุนเปลี่ยนโมงยาม ต่างทับถมแต่ความทุกข์ทน ในเวลาเหงาเปลี่ยวกมล เอาความฝันของฉันต่อเติม…

เส้นทางไปสู่ความศิวิไลซ์มีคนบุกเบิกมาแล้วจริงๆ แต่ท่ามกลางความมืดมน อย่างน้อยเราอาจปลอบใจตัวเองได้ว่ามันไม่ได้โดดเดี่ยวเกินไป.

 

____________________________
อ่านคอลัมน์เมื่อเวลามาถึงทั้งหมดต่อที่นี่ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save