fbpx
Louder Than a Bomb ระเบิดบทกวี

Louder Than a Bomb ระเบิดบทกวี

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

เราอาจได้เคยได้ยินคำว่าสแลม (slam) จากแวดวงกีฬามาบ้าง เช่น กอล์ฟ เทนนิส บาสเก็ตบอล ฯลฯ เมื่อใดที่พบคำนี้ มักเดาได้ว่ามีการแข่งขันเกิดขึ้น

ในแวดวงกวีก็มีสแลมเช่นกัน Marc Kelly Smith กวีชาวชิคาโก คิดค้นการร่ายบทกวีแบบสแลมขึ้นในยุค 90s โดยเขากล่าวว่านี่คือการยึดคืนบทกวีจากสถาบันการศึกษามาสู่คนทั่วไป เขาได้ทดลองจัดสแลมในบาร์และริมถนนก่อน ต่อมาสแลมได้เข้าไปในโรงเรียน และได้ขยายกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยใช้สแลม (Slam Poetry Movement) ในที่สุด

สมิธสาธิตการ ‘สแลม’ เปี่ยมแรงบันดาลใจ และผู้ชม ‘สแลม’ กลับอย่างสนุกสนาน

“ในหลายๆ ครั้งคำว่า ‘บทกวี’ ได้กันผู้คนออกไป โรงเรียนและสถาบันทางวิชาการต่างๆ นั่นเองเป็นตัวการ  แต่สแลมนำบทกวีกลับมาสู่ผู้คน เราต้องการเห็นคนพูดบทกวีต่อกันและกัน เพื่อสื่อสารถึงสิ่งที่เรายึดถือ เรื่องราวในหัวใจของเรา สิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้และทำให้เราเป็นเรา” สมิธกล่าว

ตั้งแต่เด็กจนโตสมิธเป็นช่างก่อสร้าง เขาเขียนบทกวีตั้งแต่อายุ 19 ปี และประกาศจุดยืนว่าเป็นสังคมนิยม สแลมได้ชื่อว่าเป็นการร่ายบทกวีรูปแบบใหม่ กวีที่เข้าร่วมจะถูกเรียกว่า slammer ผู้ที่จะเข้าสู่การสแลมต้องตระหนักว่าถ้อยคำและการร่ายบทกวีจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และตั้งใจร่ายบทกวีนั้นด้วยจิตวิญญาณ ทักษะ และทุกอย่างที่ตัวเองมีอยู่

ปัจจุบันการสแลมบทกวีเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นของหลายเมืองในอเมริกาและยุโรปบางประเทศ ซึ่งมองว่าสนุกไม่แพ้การแข่งขันกีฬา โดยสแลมที่โด่งดังที่สุดย่อมหนีไม่พ้น Louder Than a Bomb (LTAB)  หรือการแข่งขันการร่ายบทกวีระดับมัธยมที่ใหญ่ที่สุดโลก ซึ่งจัดขึ้นที่ชิคาโก เมืองที่แทบจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งบทกวีของสหรัฐอเมริกาในขณะนี้

โฮเมอร์หรือฮิปฮ็อป

Louder Than a Bomb (LTAB) เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2001 หลังเหตุการณ์ตึกเวิร์ลด์เทรดถล่ม เยาวชนในชิคาโกตกเป็นเป้าหมายของกฎหมายห้ามเยาวชนรวมตัวเป็นกลุ่ม (Anti-Gang Loitering Law) กวีชิคาโกสองคน คือ Kevin Coval (ผู้กล่าวว่า “แน่นอนที่สุด ฮิปฮ็อปส่งผมเข้าห้องสมุด KRS-One เป็นครูของผม และเขาเป็นกวีด้วย”) กับ Anna West ครูมัธยมที่ริเริ่มการแข่งขันสแลมในโรงเรียนของเธอมาก่อนที่จะมี LTAB นับสิบปี ร่วมด้วยครูและนักการศึกษาหลายคนที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้เยาวชนชิคาโกมีพื้นที่และได้แสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง จึงก่อตั้ง LTAB ขึ้นมา

Kevin Coval หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Louder Than a Bomb ผู้ผลักดันเยาวชนให้ขับเคลื่อนชิคาโกเป็นเมืองบทกวีในปัจจุบัน
Kevin Coval หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Louder Than a Bomb ผู้ผลักดันเยาวชนให้ขับเคลื่อนชิคาโกเป็นเมืองบทกวีในปัจจุบัน

จากจุดเริ่มต้นของทีมงานเพียงหยิบมือ ปัจจุบันนี้กว่า 13 เมืองทั่วสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ได้ใช้ LTAB แห่งชิคาโก เป็นต้นแบบในการจัดการศึกษาและจัดการแข่งขันบทกวี  LTAB ได้ชื่อว่า “ไม่ใช่พื้นที่สำหรับคนใจเสาะ” เพราะมีการแข่งขันหลายรอบ แบ่งเป็นหลายสาย มีการหาทีมที่ชนะ รวมถึงหาผู้ชนะจากการแข่งขันเดี่ยว

ผู้เข้าแข่งขันต้องเตรียมตัวล่วงหน้านับปี ทั้งการแต่งบทกวีขึ้นใหม่ สำรวจเข้าไปในจิตใจตนเอง สภาพแวดล้อม ครอบครัว สภาพสังคมของตนเอง เพื่อกลั่นออกมาเป็นบทกวีที่สดใหม่และออกมาจากตนเองอย่างแท้จริง ขัดเกลาบทกวี ซักซ้อมการสแลมบทกวี แก้ไข ปรับปรุง และทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ปรับการสแลมให้สอดคล้องกับทีม โดยมีครูในโรงเรียนเป็นผู้ประคับประคอง เพื่อเข้าสู่ช่วงการแข่งขันสุดตื่นเต้นซึ่งทอดยาวราว 3 เดือน โดยมีทีมจากโรงเรียนมัธยมกว่า 120 ทีมพกความหวังแรงกล้าเข้าร่วม

ภาพยนตร์เรื่อง Louder Than a Bomb (2010) คือภาพยนตร์สารคดีที่ตามติดชีวิตผู้เข้าแข่งขัน LTAB 4 คน ซึ่งแต่ละคนมีภูมิหลังที่กลายมาเป็นบทกวีของพวกเขา

แต่สิ่งที่มากไปกว่าการแพ้ชนะ และทำให้ LTAB รวมทั้งการสแลม กลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม คือการที่บทกวีสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง ทำให้เยาวชนจำนวนมากมีเป้าหมาย กอบกู้ชีวิตเยาวชนหลายคนไว้ ผู้ผ่านเวที LTAB ไม่น้อยมีชีวิตเปลี่ยนไปหลังผ่านเวทีนี้

กราไฟต์ของเควียร์ผิวสี

Patricia Frazier กวีเควียร์ผิวสี
Patricia Frazier กวีเควียร์ผิวสี

Patricia Frazier เข้ารอบสุดท้ายสองครั้งในการแข่งขัน LTAB และปี 2018 ขณะที่เธอมีอายุเพียง 19 ปี เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กวีรัฐระดับเยาวชน (Youth Poet Laureate) คนแรกของสหรัฐอเมริกา เฟรเซอร์เขียนบทกวีมาตั้งแต่สมัยประถม เธอเติบโตในอพาร์ทเมนท์สำหรับคนรายได้น้อยซึ่งอุดหนุนค่าเช่าโดยรัฐ และพบว่าหลายครั้งหนังสือพิมพ์ลงงานเขียนเกี่ยวกับอาชญากรรม รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในละแวกเดียวกับเธอ ซึ่งไม่ตรงกับความจริงเสมอไป

“ฉันพยายามล้มล้างเรื่องเล่ากระแสหลักให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะบ่อยได้ และสร้างพื้นที่ให้กับเรื่องเล่าของทุกคน เป็นพื้นที่สำหรับรายละเอียดและความเฉพาะเจาะจง เรื่องเล่าในวงกว้างก็โอเคนะ แต่เรื่องเล่าเหล่านั้นไม่มีรูเรี้ยวใดๆ ที่จะบอกเล่าแม้แต่เรื่องเดียวที่สำคัญที่สุดสำหรับฉัน

“ฉันมีมุมมองเชิงบวกสุดๆ สำหรับวรรณกรรม และฉันเข้าใจว่าการอ่านหนังสือได้คือสิทธิพิเศษ เด็กๆ ในละแวกเดียวกับฉันไม่ได้ ‘สนุกกับการอ่าน’ นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีความสุขกับการอ่าน แต่ไม่มีเรื่องราวอะไรที่พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงด้วยต่างหาก”

บทกวีทำให้เฟรเซอร์ได้ใช้ศักยภาพของเธอสื่อสารเรื่องราวที่อยู่ในใจ เผยคลี่สภาพสังคมจากมุมมองคนใน บทกวีจำนวนมากสะท้อนเรื่องราวของตัวเธอ ครอบครัว และผู้คนรายรอบ และในเดือนกันยายนนี้ เฟรเซอร์จะออกหนังสือรวมบทกวีเล่มล่าสุดของเธอชื่อว่า กราไฟต์  (Graphite)

เฟรเซอร์กล่าวว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจการตั้งชื่อหนังสือมาจากกวีบทหนึ่งที่เธอชื่นชอบ ซึ่งเขียนว่า “ฉันรู้สึกเหมือนเป็นกราไฟต์ เมื่อถูกใช้กรีดเส้นคมลงผืนกระดาษผาดขาว” “สิ่งนี้เชื่อมโยงกับยายของฉัน การเป็นกราไฟต์คือบางสิ่งที่ลบได้ บางสิ่งที่เป็นสีดำ บางสิ่งที่ผู้คนมองว่าการทำหน้าที่ของมันไม่ใช่แค่การถูกเขียน แต่รวมถึงถูกลบด้วย  โดยทั่วไปแล้ว คนดำ คนผิวสี และคนชายขอบมักต้องดิ้นรนเพื่อไม่ให้ถูกลบอยู่เสมอ”

ขณะนี้เฟรเซอร์เป็นนักศึกษาปีสองของ Columbia College Chicago เรียนด้านภาพยนตร์และการเขียนเชิงสร้างสรรค์  บทกวีของเธอมีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากเขียนถึงสิ่งที่คนผิวสีและคนยากจนต้องเผชิญ เฟรเซอร์ยังเขียนบทกวีเกี่ยวกับความยากลำบากของการมีเพศสภาพเป็นเควียร์ในครอบครัวที่ต่อต้านความลื่นไหลทางเพศ เขียนบทกวีเรื่องการคุกคามในโลกไซเบอร์ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ นอกจากนี้เฟรเซอร์ยังเป็นที่ปรึกษาให้เยาวชนที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมคล้ายๆ กันกับเธอ ให้พวกเขาเติบโตอย่างมีความมั่นคงในจิตใจโดยมีบทกวีเป็นเครื่องมือ

การร่ายบทกวีเรื่องการลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) โดย Patricia Frazier

บทกวีลำพังทำไม่ได้

Malcolm London เป็นอีกคนหนึ่งที่ผ่านเวที LTAB  บทกวี พื้นฐานการฝึกในโรงเรียน  (High School Training Ground) ของเขาซึ่งวิพากษ์การศึกษาในโรงเรียน จับใจผู้คนไม่เพียงใน LTAB แต่รวมถึงผู้คนวงกว้าง จนเขาได้ขึ้นกล่าวมันอีกครั้งบนเวที TED Talk ปี 2013  

พื้นฐานการฝึกในโรงเรียน

7.45 น. ผมเปิดประตูตึก สิ่งซึ่งอุทิศแด่การสร้าง กระนั้นมันกลับทึ้งถล่มผม

ย่ำเท้าไปตามห้องโถง

ภารโรงสูบฉีบความสะอาดให้ไหลพล่าน

กระนั้นผมกลับไม่ให้เกียรติพอเชิดชูชื่อพวกเขา

ฝาล็อกเกอร์แง้มง้าง คล้ายปากอ้าค้างของเด็กหนุ่มวัยรุ่น

ยามเห็นเด็กสาวสวมเสื้อผ้าปกปิดส่วนสำคัญ ทว่าเปิดเปลือยทุกสิ่งนอกจากนั้น

เราเลียนแบบความเป็นชายซึ่งกันและกัน เรา…ซึ่งโตอย่างไร้พ่อ

พรางแผลด้วยการรังแกผู้อื่น ตัวอันตรายซึ่งโหยหาอ้อมกอด

ครูให้เราน้อยกว่าราคาที่จ่ายให้พวกเขามาที่นี่

ผู้เยาว์หลั่งไหลมาหาครูราวมหาสมุทร รองรับบทเรียน แล้วพบว่าไร้การฝึกให้แหวกว่ายได้ในบทเรียนนั้น

พรากขาดคล้ายทะเลแดงยามระฆังก้อง

นี่คือพื้นฐานการฝึกฝน

โรงเรียนมัธยมปลายของผมคือชิคาโก

แผกต่างกางกั้นโดยตั้งใจ

ขึงเส้นแบ่งทางสังคมด้วยลวดหนาม

ติดยี่ห้อด้วยคำว่า “ทั่วไป” และ  “ดีเด่น”

ผมเป็น “ดีเด่น”

แต่กลับบ้านกับ “ทั่วไป”

ซึ่งมีทหารคอยคุมตัวไว้อีกฟากฝั่ง

นี่คือพื้นฐานการฝึกฝน

เพียงเรียง “ทั่วไป” ออกจาก “ดีเด่น”

นั่นนับเป็นการสร้างวงจรผลิตขยะจากระบบไม่รู้จบแล้ว

ฝึกฝนเยาวชนให้รู้ว่าในประโยคมีบางอักษรตัวใหญ่

สอนให้รู้ว่าทุนนิยมจุนเจือคุณ แต่คุณต้องข้ามใครบางคนเพื่อไปถึงจุดนั้น

นี่คือพื้นฐานการฝึกฝน

ซึ่งคนกลุ่มเดียวเป็นผู้นำและที่เหลือเป็นผู้ตาม

ไม่สงสัยเลย ว่าทำไมคนพวกเดียวกับผมถึงชอบพ่นแร็พ เพราะความจริงขื่นกลืนลงคอ

ความต้องการวุฒิการศึกษาทิ้งผู้คนมากมายไว้ให้หนาวเหน็บ

การบ้านคือความเครียด

เมื่อทุกวันที่คุณกลับบ้านคุณพบว่านั่นคือ ‘การทำงานที่บ้าน’

คุณจะไม่อยากหยิบงานจากโรงเรียนชิ้นไหนมาทำทั้งนั้น

อ่านหนังสือเรียนคือเรื่องสุดเครียด

และการอ่านไม่สำคัญอีกเมี่อคุณรู้สึกว่าเรื่องราวของคุณถูกเขียนไว้แล้ว

นั่นคือหากไม่ตายก็ถูกตำรวจจับ

การทำแบบฝึกหัดคือเรื่องสุดเครียด

การฝนวงกลมในกระดาษคำตอบไม่ช่วยหยุดกระสุนพุ่งพราด

ระบบการศึกษากำลังระเนระนาด

แต่ผมเชื่อว่าพวกเขาสำเร็จในสิ่งที่พวกเขาตั้งใจจะสร้าง

นั่นคือฝึกฝนคุณ

ให้วิ่งในลู่ของคุณ

วิ่งในลู่สู่ฝันแบบอเมริกัน

ซึ่งบีบคั้นให้พวกเราล้มเหลวมากมายเหลือเกิน

หลังจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย Malcolm London เติบโตเป็นนักการศึกษาที่มีคุณภาพและจริงจังกับการพัฒนาระบบการศึกษา เขาได้กล่าวข้อความน่าจับใจว่า “บทกวีไม่สามารถหยุดกระสุนได้ ไม่สามารถเปิดโรงเรียนเพิ่ม ปิดคุกให้เหลือน้อยลง บทกวีไม่สามารถทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ฟัง ได้ นั่นไม่ได้หมายความว่าศิลปะไม่สำคัญ แต่ศิลปะไม่อาจทำทุกสิ่งสำเร็จได้เพียงลำพัง”

เมืองหลวงแห่งบทกวี

หลายคนกล่าวว่า ชิคาโกสมควรได้รับสมญาว่าเมืองหลวงแห่งบทกวีของอเมริกาได้แล้ว หลังถูกไฟไหม้ในปี 1871 ชิคาโกกลายเป็นเมืองใหม่ที่มีชีวิตขึ้นมาจากกองเถ้าถ่าน กวีหลั่งไหลมาที่เมืองนี้มากมายในระยะ 100 ปี ที่ผ่านมา การประท้วงเรียกร้องความถูกต้องครั้งสำคัญไม่เคยขาดเสียงอ่านบทกวี มีกลุ่ม มูลนิธิ สมาคมมากมายที่ทำงานส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานของกวีในทุกระดับ มีนิตยสารบทกวีหลากหลาย เป็นเมืองที่มีแม้กระทั่งบริการพิมพ์ดีดบทกวี (Typewritten Poetry on Demand) ให้พกพาบทกวีไว้อ่านเพื่อความรุ่มรวยรื่นรมย์

บรรยากาศการสแลมบทกวีในการแข่งขัน Louder Than a Bomb ณ เมืองชิคาโก
บรรยากาศการสแลมบทกวีในการแข่งขัน Louder Than a Bomb ณ เมืองชิคาโก

Don Share บรรณาธิการนิตยสารบทกวีชั้นแนวหน้าของโลกอย่าง Poetry ซึ่งตั้งอยู่ที่ชิคาโก กล่าวว่า “คุณลองดูนิตยสารวรรณกรรมแห่งยุคทั้งหลายสิ สำนักงานตั้งอยู่ในเมืองอย่างนิวยอร์ก ปารีส และสุดท้ายส่วนใหญ่ก็อยู่ได้ไม่นาน การตั้งอยู่ในที่ที่อยู่ตัวแล้วอย่างนั้น สุดท้ายศิลปะและวรรณกรรมก็ถูกชักจูงไปกับบรรยากาศทางภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมของที่นั่น แต่ที่ชิคาโก คุณสามารถสัมผัสความรู้สึกว่า ‘คุณจะทำอะไรที่นี่ก็ได้’ คุณสามารถสร้างตึกที่สูงที่สุด หันเหทิศทางไหลของแม่น้ำ ในเชิงวัฒนธรรม ชิคาโกกำลังรอคอยให้มีบางอย่างถูกเขียนลงไปในเมือง”

 บรรยากาศการประชุมกองบรรณาธิการนิตยสาร Poetry ปี 1956 ที่ห้องใต้หลังคาของห้องสมุด Newberry ในชิคาโก ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานของนิตยสาร ปัจจุบันนิตยสาร Poetry ได้ขยายแพล็ตฟอร์มมาสู่เว็บไซต์ชื่อว่า www.poetryfoundation.org นับเป็นฐานข้อมูลรวบรวมบทกวีและความเคลื่อนไหวในแวดวงกวีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
บรรยากาศการประชุมกองบรรณาธิการนิตยสาร Poetry ปี 1956 ที่ห้องใต้หลังคาของห้องสมุด Newberry ในชิคาโก ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานของนิตยสาร ปัจจุบันนิตยสาร Poetry ได้ขยายแพล็ตฟอร์มมาสู่เว็บไซต์ชื่อว่า www.poetryfoundation.org นับเป็นฐานข้อมูลรวบรวมบทกวีและความเคลื่อนไหวในแวดวงกวีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

บทกวียังคงดังก้องต่อไป ด้วยสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาปรับแต่ง การเปิดใจกว้าง ไม่กักขังบทกวีไว้เป็นของเกินเอื้อม การมีความเชื่อในคนรุ่นใหม่ การกอบเก็บทุกด้านไม่ว่าสวยงามหรือน่าชังของเมืองและคนในเมืองนั้นมาสื่อสารตามจริง ล้วนมีส่วนทำให้บทกวีเคลื่อนไหวต่อไป และแน่นอนว่าหลายแห่งในโลกนี้ บทกวีมีเสียงดังยิ่งกว่าระเบิด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save