fbpx

เศรษฐกิจโลก – เศรษฐกิจไทย 2022: แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ไม่ได้เจิดจ้าอย่างที่เราคิด

ฟังก์ชันเดียวของการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจคือการทำให้โหราศาสตร์ดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

– John Kenneth Galbraith

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยคาดการณ์ไว้ว่า ปี 2022 เศรษฐกิจโลกจะเติบโต 4.4% เป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 2021 ซึ่งเติบโตถึง 6% ไม่ใช่เรื่องแปลกใจนัก หากผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกจะแอบ ‘อมยิ้ม’ เล็กๆ กับตัวเลขข้างต้น

ส่วนประเทศไทยหลายคนหวังไว้กว่านั้นมาก เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างเต็มที่ (เติบโตเพียงแค่ 1.6% ในปี 2021 ทั้งๆ ที่ถดถอยถึง 6% ในปี 2020) ต้นปี 2022 IMF ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยดีดตัวขึ้นมาโตได้ 4.5 % ในขณะที่กระทรวงการคลังคาดหวังไว้ที่ 4% ไม่ว่าจะยึดตัวเลขของสำนักไหน  ปี 2022 ก็น่าจะเป็นปีที่ดีของเศรษฐกิจไทย 

แต่ที่สุดแล้ว เศรษฐกิจโลกและไทยก็ไม่อาจดีได้อย่างที่หวัง ตัวเลขล่าสุดในเดือนตุลาคมชี้ว่า ในปี 2022 เศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้แค่ 3.2% เท่านั้น ในขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้แค่ 3.4%   

‘แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์’ หลายคนเปรียบเปรยเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 ไว้แบบนั้น และหนทางเดียวที่เราทำได้คือการปรับตัวและอดทน แต่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2022 บอกเราว่า แม้ที่ปลายอุโมงค์จะมีแสงอยู่จริง แต่ก็ไม่ได้เจิดจ้าอย่างที่เราคิด

สงครามเงินเฟ้อ: เพื่อน (เก่า) ที่ไม่เคยเจอในรอบ 30 ปี

เปิดปี 2022 โลกก็เริ่มต้นด้วยความยากลำบาก เมื่อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่างโอมิครอน เริ่มแพร่ระบาด ในเบื้องแรกผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าโควิด-19 กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าเดลต้ามาก และวัคซีนทุกชนิดรวมถึง mRNA ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ส่งผลให้หลายประเทศต้องกลับมาเพิ่มมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดอีกครั้ง ทั้งการกลับมาจำกัดการทานข้าวในร้านอาหาร การงดมิให้มีการรวมตัวหรือจัดงานฉลองขนาดใหญ่ รวมไปถึงการจำกัดชาวต่างชาติเข้าประเทศ ฯลฯ

“ฉากทัศน์ที่หนึ่งของเศรษฐกิจไทย คือ ‘ดีเลย์ (delay) แต่ไม่ดีเรล (derail)’ พูดง่ายๆ นักท่องเที่ยวในไตรมาสแรกหายไป แต่ครึ่งปีหลังจะกลับมาได้อย่างที่หลายคนตั้งความหวังเอาไว้ ฉากทัศน์นี้ ถ้าเป็น best case แล้วก็คงจะเป็น best case เลย เพราะคงจะไม่ดีไปกว่านี้เท่าไหร่” พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัยวิเคราะห์ไว้ในวงสนทนา Round Table : จับตาไทยและโลกปี 2022 ในช่วงต้นปี    

นอกจากปัญหาโรคระบาดแล้ว โลกต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ (Inflation) ที่เริ่มก่อตัวตั้งแต่ปลายปี 2021 ซึ่งเป็นผลมาจากความร้อนแรงทางเศรษฐกิจเมื่อรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกต่างอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คนออกมาใช้จ่ายมากขึ้นหลังจากอั้นไปในช่วงปิดเมือง ในขณะที่สินค้าบางส่วนยังขาดตลาด เนื่องจากการผลิตที่หยุดชะงักไปในช่วงโควิด-19 สถานการณ์เช่นนี้นับเป็นเรื่องที่โลกไม่เคยเจอมาก่อนในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาเงินเฟ้อในยุคหลังโควิด-19 ทำให้โจทย์ด้านนโยบายมีความยุ่งยากและซับซ้อน เพราะโดยเงินมักจะเฟ้อในช่วงที่เศรษฐกิจดี และธนาคารกลางก็จะแตะเบรกเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรงเกินด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่ในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี การไปแตะเบรกเศรษฐกิจก็จะเป็นการซ้ำเติมคนที่เดือดร้อนอยู่แล้ว

“เงินเฟ้อทำให้เกิดปัญหาอยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องที่ 1 พอต้นทุนในการดำรงชีวิตสูงขึ้น คนก็จะนำเงินไปซื้อสินค้าประจำที่จำเป็นก่อน เช่น เติมน้ำมัน กินข้าว ซึ่งถ้ารายได้ไม่เพิ่มตามหรือรายได้มีอยู่อย่างจำกัด แน่นอนว่าเงินที่จะเหลือไปใช้ซื้อสินค้าอื่นๆ ก็จะลดลง เศรษฐกิจก็จะหมุนช้าลง เรื่องที่ 2 ถ้ารายได้ของคนไม่เพิ่มขึ้น คนมีเงินเหลือน้อยลง เงินออมก็จะน้อยลง เงินที่จะนำไปใช้คืนหนี้ก็จะน้อยลง เพราะฉะนั้นความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ก็จะมีปัญหา เรื่องที่ 3 เวลาเงินเฟ้อขึ้นทีไรจะทำให้ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยด้วย ก็จะยิ่งไปแตะเบรกเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก เงินเฟ้อจึงเป็นเรื่องที่กระทบทั้งชีวิตคนและกระทบถึงธุรกิจด้วย” พิพัฒน์ อธิบายในการประเมินเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังของ 2022

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ปัญหาเงินเฟ้อซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน งานศึกษาเรื่อง Stagflation ของแพง-เศรษฐกิจแย่ ยิ่งจนยิ่งเจ็บ ของฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอยในประเทศไทยนั้นส่งผลกระทบต่อผู้คนไม่เท่ากันใน 3 มิติ กล่าวคือ คนที่อยู่ในภูมิภาคเดือดร้อนมากกว่าคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ คนที่อยู่ในชนบทเดือดร้อนกว่าคนที่อยู่ในเมือง และคนที่มีรายได้น้อยเดือดร้อนกว่าคนที่มีรายได้มาก    

สิ่งที่ธนาคารกลางและนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกจับตามองคือ แนวโน้มนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเฟดเปลี่ยนทิศทางนโยบายจากปี 2021 ที่เคยมองว่าเงินเฟ้อเป็นแค่เรื่องชั่วคราวมาเป็นการสู้เงินเฟ้ออย่างถึงที่สุดในช่วงกลางปี 2022 ทั้งนี้ เฟดเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2022 แต่ก็เป็นการทยอยขึ้นเพียงแค่ 0.25% เท่านั้น (จาก 0.25% เป็น 0.5%) และปรับในเดือนพฤษภาคมอีก 0.50% (จาก 0.5% เป็น 1.0%) จนกระทั่งกลางเดือนมิถุนายน 2022 เฟดตัดสินใจเชิงนโยบายชนิดที่ ‘สะเทือนขวัญ’ นักลงทุนทั่วโลก คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% นับเป็นการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดที่สุดในรอบ 28 ปี ทว่ายังไม่จบแค่นั้น ตลอดครึ่งหลังปี 2022 เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% อีกสามครั้ง ก่อนที่จะขึ้นครั้งสุดท้ายของปีในเดือนธันวาคม 2022 อีก 0.5%

ผลการทำ ‘สงครามเงินเฟ้อ’ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดปรับขึ้นจาก 0.25% เป็น 4.50% ภายในปีเดียว นี่คือ ‘ช็อก’ ใหญ่ทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะมองผ่านทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สำนักไหนก็ตาม รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ อธิบายไว้ในบทความเรื่อง ทำไมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ถึงทำร้ายเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก? ไว้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจมหภาคของประเทศอื่นทั่วโลก เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดย่อมทำให้เม็ดเงินที่เคยกระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลกไหลกลับไปอยู่ในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐ ผลักให้เกิดการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น ‘กระทืบซ้ำ’ ให้ภาวะเงินเฟ้อทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในประเทศที่ไม่ได้ใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลัก  

อย่างไรก็ตาม รพีพัฒน์มองว่า สิ่งที่น่ากังวลที่สุดจากการขยับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ คือหนี้ภาครัฐของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีมูลค่ามหาศาล เนื่องจากรัฐบาลเหล่านั้นต้องการเงินก้อนใหญ่ไปใช้รับมือการระบาดของโควิด-19 โดยหนี้สินจำนวนหนึ่งเป็นการระดมเงินจากนอกประเทศในรูปดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นย่อมสร้างแรงกดดันทางการเงินต่อประเทศเหล่านั้นซึ่งอยู่ในภาวะง่อนแง่นอยู่แล้วเป็นทุนเดิม และอาจนำไปสู่การวิกฤตครั้งใหญ่ได้เช่นกัน

หากมองแค่ปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวก็พอจะเห็นได้ว่า เหตุใดเศรษฐกิจโลกและไทยในปี 2022 จึงดูไม่ค่อยสู้ดีนัก แต่เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่น่ากังวลกว่า ‘สงครามเงินเฟ้อ’ คือ สงครามที่รบจริง ยิงจริง ตายจริง และสร้างความไร้เสถียรภาพอย่างแท้จริง

สงครามรัสเซีย – ยูเครน : ช็อกที่ไม่มีใครกล้าจินตนาการถึง

ในโลกความคิดของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ‘ceteris paribus’ หรือ ‘การสมมติให้ปัจจัยต่างๆ คงที่’ เป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งที่จะทำให้ทฤษฎีหรือแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์มีความแม่นยำ นักเศรษฐศาสตร์จึงมักถูกแซะอยู่เนืองๆ ว่า ‘คิดเป็นแต่เลข คิดได้แต่ในตำรา’

แต่เอาเข้าจริง นักเศรษฐศาสตร์เองก็ไม่ได้ไร้เดียงสาถึงขนาดที่จะขอให้ปัจจัยต่างๆ ในโลกจริงคงที่เหมือนในตำรา หากแต่พยายามพัฒนาแบบจำลองทางเศรษฐกิจให้มีความซับซ้อนและสะท้อนพลวัตทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด พูดกันแบบแฟร์ๆ สงครามเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ก็ยังพอมีคำอธิบายในเชิงหลักการอยู่บ้าง   

แต่สงครามรัสเซีย – ยูเครนที่เริ่มต้นในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 คือวันช็อกโลกในระดับเป็น ‘หมุดหมายทางประวัติศาสตร์’ และเป็นช็อกที่นักเศรษฐศาสตร์น้อยคนจะกล้าจินตนาการ

ในแง่ปรากฏการณ์ พลันที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียประกาศ ‘ปฏิบัติการทางการทหารพิเศษ’ บุกโจมตียูเครน ยกระดับไปสู่สงครามเต็มขั้นระหว่างทั้งสองประเทศ ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่การรบกันของทั้งสองประเทศ หากแต่เป็นการยุติสันติภาพและเสถียรภาพของยุโรปและของโลกที่ดำเนินมาอย่างน้อย 30 ปีตั้งแต่หลังสงครามเย็น เหล่าบรรดานักวิเคราะห์ต่างรู้ดีว่า สงครามครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการเมืองโลกอย่างรุนแรงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และจะมีส่วนในการกำหนดระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจโลกในอนาคตอย่างสำคัญ

“สงครามเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากมาก เหมือนกับที่เราก็คงไม่ได้คาดว่าปูตินจะบุกยูเครนจริงๆ และท่าทางจะไม่จบกันง่ายๆ เพราะฝั่งยุโรปก็คงจะไม่ยอมรัสเซีย รัสเซียก็คงจะไม่ยอมฝั่งยุโรป และประเด็นสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันคือรัสเซียเป็นคนส่งออกทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินรายใหญ่ของโลก จริงๆ ต้องบอกว่าสหรัฐฯ ไม่ได้เดือดร้อน เพราะสหรัฐฯ เป็นผู้ส่งออกน้ำมัน วันนี้ที่ราคาพลังงานแพงขึ้น ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจริงๆ คือยุโรป ที่ต้องใช้พลังงานต่างๆ ในราคาที่แพงขึ้น นี่คือราคาที่ยุโรปต้องจ่ายในการที่ไม่ยอมรัสเซีย” พิพัฒน์อธิบายที่ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อเศรษฐกิจหลักของโลก

รัสเซียไม่ใช่แหล่งพลังงานสำคัญของยุโรปเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลกในหลายรายการ ได้แก่ ปุ๋ย ธัญพืช เหล็ก/เหล็กกล้า สินแร่ rare earth โดยเฉพาะไทเทเนียม (titanium) และแพลเลเดียม (palladium) สงครามในรัสเซียจึงทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนและมีราคาสูงตามไปด้วย

ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นย่อมเป็นการซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลก ทว่าการที่ปัญหามีต้นตอมาจากสงครามยังผลให้ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยนโยบายเศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ยสักเท่าไหร่ จะดึงเงินออกจากระบบแค่ไหน ก็ไม่ได้ทำให้สงครามหยุดและราคาน้ำมันลดลงได้

นอกจากราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวนและสูงขึ้นแล้ว บทวิเคราะห์ของ ปิติ ศรีแสงนามชี้ให้เห็นด้วยว่า สงครามรัสเซีย – ยูเครนจะส่งผลทำให้ (1) อุปสงค์ทั่วโลกถดถอย กำลังซื้อหดตัวทั่วโลก 2) ห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติ (Global Value Chains – GVCs) ถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก และ 3) ความคาดหวังและความมั่นใจของประชาชนทั่วโลกตกต่ำลง นั่นหมายความว่า ความคาดหวังของทุกคนที่มองว่าวิกฤตโควิดจะจบได้ในปี 2022 และเศรษฐกิจโลกจะเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง 2-3 ปี ต้องชะลอตัวออกไป

พ้นไปจากผลกระทบระยะสั้น การเปลี่ยนระเบียบเศรษฐกิจการเงินนับเป็นเรื่องใหญ่ที่ทั่วโลกต่างจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสหรัฐอเมริกาและยุโรปใช้มาตรคว่ำบาตรไม่ให้ธนาคารกลางรัสเซียทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเป็นการตัดรัสเซียออกจากเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศโดยปริยาย ความรุนแรงของมาตรการนี้ถูกขนานนามว่าเป็น ‘นิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ’ เลยทีเดียว

แม้ถึงตอนนี้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ‘นิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ’ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจรัสเซียมากแค่ไหน แต่ประเทศมหาอำนาจต่างก็เริ่มปรับตัวเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาวกันบ้างแล้ว หลายฝ่ายได้ชี้ให้เห็นว่า จีนและรัสเซียพยายามจะหันมาใช้เงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมากขึ้น และพยายามจะพัฒนาระบบการชำระเงินใหม่แทนระบบ SWIFT ของตะวันตก ในแง่นี้ อาร์ม ตั้งนิรันดร์เห็นว่า มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจการเงินอย่างรุนแรงจะยิ่งตอกย้ำเทรนด์การลดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและตะวันตก ซึ่งเป็นความต้องการของทั้งสองฝ่าย เพราะต่างก็มองไปในอนาคตว่าถ้าเกิดขัดแย้งกันและต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรแบบที่ทำกับรัสเซีย จีนต้องพยายามพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น จะได้เจ็บตัวให้น้อย ส่วนสหรัฐฯ และฝั่งตะวันตก ก็จะต้องลดความเชื่อมโยงกับจีน ตนจะได้เจ็บตัวน้อยลงเช่นกัน

นอกจากมหาอำนาจแล้ว ประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กก็เริ่มปรับตัวหาทางเลือกเชิงภูมิรัฐศาสตร์ด้วยเช่นกัน ในบทความเรื่อง “รู้จัก ‘กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก’ – เมื่อลาตินอเมริกาอยากเชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้ากับเอเชียแปซิฟิก” เชาวฤทธิ์ เชาวแสงรัตน์ ได้เขียนถึงที่มาที่ไปและเป้าหมายของ ‘กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก’ (ซึ่งประกอบไปด้วย ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู และประเทศผู้สังเกตการณ์อีก 61 ประเทศ) ซึ่งสะท้อนให้เห็นความพยายามของประเทศลาตินอเมริกาและเอเชียแปซิฟิกในการสร้างสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กที่เป็นสมาชิกของพันธมิตรมีอำนาจต่อรองในการเจรจากับมหาอำนาจมากยิ่งขึ้น แม้การรวมกลุ่มของประเทศเหล่านี้จะเพิ่งเริ่มต้นขึ้น แต่หากทำสำเร็จก็จะกลายเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเอเชียกับลาตินอเมริกาต่อไปในภายภาคหน้าได้

โดยปกติ เมื่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ล่วงเลยมาถึงจุดหนึ่ง มนุษย์มักจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงนั้นจนกลายเป็นความปกติใหม่ของชีวิต บัดนี้สงครามรัสเซีย-ยูเครนดำเนินมากว่า 8 เดือนแล้ว และหากไม่ใช่ชาวรัสเซียหรือรัสเซียที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สู้รบ ชีวิตของคนส่วนใหญ่ก็อาจไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย

ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครกล้าพูดว่า สงครามคือความปกติใหม่ที่โลกควรปรับตัวเข้าหาให้ได้   

เศรษฐกิจไทย 2022

นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง

เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด เมื่อโลกเป็นหวัดเมื่อไหร่ เราก็มักจะจามทันที – นี่เป็นความจริงพื้นฐานที่สุดประการหนึ่งของเศรษฐกิจไทยร่วมไทยร่วมสมัย ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยจะเอาตัวรอดจากความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกได้แค่ไหน อย่างไร

ในบทสัมภาษณ์มองความหวังเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยครึ่งหลัง 2022 พิพัฒน์มองว่า หากตัดภาพที่น่ากลัวของเศรษฐกิจโลกออกไป เศรษฐกิจไทยอยู่ในโหมดฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่เป็นการฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำมาก เพราะเศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงมากในช่วงโควิด -19 และไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่ระดับเศรษฐกิจในปี 2022 ยังไม่กลับไปเท่าก่อนปี 2019 หากมองในแง่ดีก็ถือว่า เศรษฐกิจไทยพอเอาตัวรอดได้จากเศรษฐกิจโลก แต่หากมองในแง่ร้าย สถานการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นความเสี่ยงในระยาว

“ความเสี่ยงสำคัญที่สุดของไทยตอนนี้คือการโตช้า และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเรื่อยๆ ลองนึกภาพว่า ถ้าขนาดของพายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เราจะแบ่งขายเยอะแค่ไหนก็ไม่เป็นไร เพราะทุกคนก็จะได้กินชิ้นพายที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ  แต่ถ้าพายไม่โตหรือเริ่มหดลง การแบ่งหรือแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ จะสำคัญมากขึ้น และความเหลื่อมล้ำจะเป็นปัญหาที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ และเราก็จะไม่สามารถยกคนออกจากความยากจนได้ การยกระดับคนจากชนชั้นกลางให้ขยับขึ้นมาก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ” พิพัฒน์แสดงความกังวลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

อภิชาต สถิตนิรามัยเปรียบเปรยว่า ไทยกำลังเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจแบบ ‘ต้มกบ’ – เศรษฐกิจไม่ดี โอกาสน้อย เพราะไม่ได้เกิดการปฏิรูปอย่างจริงจัง คล้ายกบที่กำลังถูกต้มด้วยอุณหภูมิร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่รู้สึกตัว จึงไม่กระโดดหนี จนกระทั่งตายไปในที่สุด ทั้งนี้อภิชาตมองว่า เมื่อกบต้มมาพบเจอกับโควิด-19 เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอาจถือได้ว่าเป็นช่วงที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยสมัยใหม่  

“ตอนนี้เราเจอวิกฤตหลายลูกพร้อมกัน … คนอ่อนล้าจากโควิด-19 มามากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แล้วต้องมาเจอเงินเฟ้อสูง แต่เศรษฐกิจเติบโตต่ำอีก นี่คือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แย่ที่สุดตั้งแต่ผมมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แย่กว่าตอนต้มยำกุ้งอีก เพราะวิกฤตลากยาว … ตอนนี้ถามว่าคนจนจะอยู่อย่างไร ค่าแรงเราก็ไม่เพิ่มมาตั้งกี่ปีแล้ว รัฐก็ถังแตกอีก พื้นที่การเงินกับพื้นที่การคลังก็ไม่มี นโยบายการเงินก็ใช้ได้อย่างจำกัด ลดดอกเบี้ยไม่ได้ ต้องเพิ่มอย่างเดียว และอย่าลืมว่าเรามีปัญหาโครงสร้างอีกทั้งสังคมสูงวัยและความเหลื่อมล้ำ สังคมเราแทบไม่เหลือทุนอะไรเลยที่จะรองรับปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าตรงนี้” อภิชาตกล่าวถึงความรุนแรงของปัญหาเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

นอกจากการขยายตัวช้าแล้ว ความเหลื่อมล้ำยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน และอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเช่นกัน

ฉัตร คำแสง ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจที่อยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง (เช่น ไทย) ที่เติบโตจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ การเปิดเสรีทางการค้า การสร้างอาชีพที่ใช้แรงงานทักษะต่ำและราคาถูก มักจะยอมหรี่ตาอดทนกับความเหลื่อมล้ำ และเศรษฐกิจ (และแรงงาน) นอกระบบในเบื้องต้น โดยหวังว่าเศรษฐกิจที่เติบโตจะไหลรินไปสู่วงกว้าง ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และแก้ปัญหาโครงสร้างในภายหลังได้ง่ายขึ้น แต่ตลกร้ายก็คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นคู่กับการพัฒนาในช่วงต้นนี้เองที่กลับมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาในภายหลัง เพราะความเหลื่อมล้ำส่งผลกระทบทางลบต่อระบบการเมืองหลายรูปแบบ เช่น ปัญหาการถูกกลุ่มชนชั้นสูงยึดกุมเศรษฐกิจ (elite capture) ระบบอุปถัมภ์ในภาครัฐ ความไม่ยืดหยุ่นทางการเมือง ตลอดจนการใช้นโยบายประชานิยมที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งล้วนลดความสนใจและทรัพยากรที่ควรใช้ไปกับการอัปเกรดประเทศทั้งสิ้น

นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเหลื่อมล้ำยังสร้างให้เกิดบรรษัทขนาดใหญ่ที่มักจะเติบโตในสาขาสินค้าโภคภัณฑ์ สาขาที่มีกฎหมายควบคุมสูง สาขาที่มีการผูกขาดโดยธรรมชาติ หรือสาขาการผลิตที่มีเทคโนโลยีต่ำ แม้บรรษัทเหล่านี้มีทรัพยากร ความสามารถและอำนาจมาก แต่พวกเขาไม่มีแรงจูงใจอะไรให้ต้องสนใจยกระดับเศรษฐกิจทั้งประเทศมากนัก เพราะไม่ว่าอย่างไรพวกเขาก็สามารถเอาตัวรอดได้

คำอธิบายเชิงทฤษฎีข้างต้นสอดคล้องอย่างยิ่งกับข้อสังเกตของอภิชาติ ซึ่งทำการศึกษาความเหลื่อมล้ำของไทยย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคหลังการปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา  

“ถ้าถามว่าหน้าตาความเหลื่อมล้ำเปลี่ยนไปอย่างไรคือ ดีกรีของมันชัดเจนขึ้น โหดขึ้น ตอนนี้เป็นยุคการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี มีเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอย่างเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ซึ่งในด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดการผูกขาดง่ายขึ้น คนที่รวยก็จะรวยแบบกระโดด ส่วนคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิทัลก็จะหลุดออกมาเลย เป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่เห็นได้ชัดเจน

“แต่สำหรับประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงเป็นแบบโบราณ เพราะความเหลื่อมล้ำของเราเพิ่มขึ้นจากการผูกขาดแบบชัดเจน ในหนังสือของผมก็แสดงตัวเลขไว้ชัดเจนว่า บริษัทที่ใหญ่ที่สุด 5% เปอร์เซ็นต์ของไทย กุมยอดขายไปถึง 60-70% เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำในวันนี้เกิดจากการมีอำนาจเหนือตลาดของคนบางกลุ่ม ตัวอย่างหนึ่งที่คลาสสิกก็คือเรื่องการผูกขาดสุรา และที่เราเห็นได้ชัดอีกก็คือเรื่องการควบรวมธุรกิจอย่างทรู-ดีแทค หรือซีพี-เทสโก้

“ที่ผมพูดว่าโบราณหมายความว่ามันยังคงเป็นรูปแบบ ‘นายทุนยึดรัฐ’ แล้วทำให้นโยบายต่อต้านการแข่งขันเป็นหมันไปในทางปฏิบัติ หรืออย่างคนระดับรัฐมนตรีบางคนก็เป็นตัวแทนของกลุ่มนายทุนใหญ่ที่รวยมาจากการได้สัมปทานแบบนอนกิน นี่มันโบราณมาก” อภิชาตอธิบายถึงสภาวะความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลง การสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง – จะให้มองไปข้างหน้าจากตอนนี้ถึงปี 2023 หรือรออีกสักหนึ่งปีแล้วมามองย้อนกลับมา เชื่อเถิดว่า เศรษฐกิจไทยก็คงยังไม่พ้นเรื่องเหล่านี้

เลือกตั้ง 2023: เมื่อตลาดนโยบายเปิดขึ้นอีกครั้ง

หากถามนักเศรษฐศาสตร์ว่าสิ่งใดจำเป็นที่สุดสำหรับการพัฒนาประเทศไทย ณ วันนี้ คำตอบคงหนีไม่พ้นว่า ‘ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ’ อย่างไรก็ตาม คำถามที่ถกเถียงกันมากและยังหาคำตอบสุดท้ายไม่ลงตัวคือ ทำอย่างไร? และหน้าตาของนโยบายควรเป็นแบบไหน?

ในปี 2022 The101.world มีผลงานสื่อหลายชิ้นที่นำเสนอแนวคิดและนโยบายในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เช่น สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เสนอชุดนโยบายลดการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์และฟื้นฟูทรัพยากรบุคคล ซึ่งจะทำให้คนสามารถกลับมาทำงานเต็มที่ได้มากที่สุดและช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาโต 4-5% ได้ หรือบทความเรื่อง ‘ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ต้องขัดใจทุกฝ่าย: เกษตรไทยใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก’ ของวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตรที่เสนอว่า ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยด้วยการถ่ายเทผู้คนและทรัพยากรจากภาคเกษตรสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ ผลงานชุด Thailand: The Great Reset – ตั้งหลักใหม่ประเทศไทยแห่งอนาคต ก็รวบรวมความคิดของผู้เชี่ยวชาญและผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจการเมืองชั้นนำของไทยไว้อย่างหลากหลาย แม้หลายชิ้นจะเป็นผลงานที่เผยแพร่ในปีก่อน แต่เนื้อหาก็ยังคงร่วมสมัย

ในส่วนนโยบายเฉพาะประเด็น 101 PUB ก็ผลิตบทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไว้หลายชิ้น เช่น รายงาน ‘ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต’ ‘รัฐราชการขยายใหญ่ เบียดพื้นที่การคลัง ยังด้อยประสิทธิภาพ’ ‘บ้าน(เช่า)มั่นคงสำหรับทุกคน: ทางแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตเมือง’ และ ‘ไทยต้องสูญเสียอะไรบ้าง หากการแก้ปัญหาโลกรวนยังไปไม่ถึงไหน?‘ เป็นต้น

กล่าวมาเช่นนี้มิได้ต้องการจะบอกว่า เนื้อหาที่ปรากฏอยู่ใน The101.world คือคำตอบสุดท้าย เท่ากับอยากชวนอ่าน ชวนคิด ชวนถกเถียง เพื่อเตรียมพร้อมมีส่วนในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจใหม่ในช่วงเวลาที่ตลาดนโยบายเปิดกว้างและประชาชนมีโอกาสเข้าไปมีส่วนในการกำหนดนโยบายมากที่สุดในรอบหลายปี

การเลือกตั้งทั่วไป 2023!!!

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save