ฝุ่นนี้มีที่มา : วิธีแก้ปัญหาฝุ่นที่รัฐบาล (และทุกคน) ควรอ่าน

ฝุ่นนี้มีที่มา : วิธีแก้ปัญหาฝุ่นที่รัฐบาล (และทุกคน) ควรอ่าน

ธารา กุศลชาติธรรม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เนื่องด้วยผู้เขียนเคยมีโอกาสบุกเบิกธุรกิจให้กับบริษัทเยอรมัน ในธุรกิจบำบัดมลพิษอากาศ และมีโอกาสเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จากต่างประเทศ มาให้ความรู้กับทั้งกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันปิโตรเลียแห่งประเทศไทย รวมถึงจัดสัมมนาให้ความรู้แก่บริษัทต่างๆ ในนิคมมาบตาพุดและหลายบริษัทในจังหวัดระยอง ขณะเดัยวกันก็ได้เข้าร่วมประชุมผู้บริหารแผนกธุรกิจเดียวกันจากทุกภูมิภาค จึงได้เห็นภาพรวมของการบำบัดมลพิษอากาศ และแนวโน้มเทคโนโลยีต่างๆ จากการประชุมทุก 6 เดือน เป็นเวลาต่อเนื่องมาเกือบ 5 ปี

ด้วยข้อมูลที่ผู้เขียนทราบดังกล่าว มีการคาดการณ์มานานแล้วว่า ปัญหาหมอกฝุ่นเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ วันใดวันหนึ่ง กระทั่งเมื่อปัญหาเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่ภาครัฐกลับไม่ได้ยกปัญหาในระดับวิกฤต และไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา รวมถึงการคำนึงถึงปัญหาสุขภาพต่อประชาชน

ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ได้ด้วยเพียงการร่วมมือร่วมใจของประชาชน หรือการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น อันที่จริงแล้ว การแก้ปัญหาหมอกฝุ่นที่เกิดขึ้น อาจทำได้แค่รอให้ลมพัดให้เจือจางเท่านั้น แต่ระหว่างนั้นสิ่งที่รัฐควรทำ คือการลดการเพิ่มฝุ่นเท่าที่ทำได้ เตือนให้ประชาชนตระหนักรู้ และหาทางป้องกันให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพน้อยที่สุด

รัฐควรสนับสนุนหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศในสถานที่ราชการ สถานที่สาธารณะต่างๆ หรือหาช่องทางสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงสถานที่ที่มีเครื่องฟอกอากาศ หรือสามารถครอบครองเครื่องฟอกอากาศต่อครอบครัวในราคาที่เหมาะสม จัดเตรียมสถานที่ที่มีเครื่องฟอกอากาศให้เป็นทางเลือกในการหลับนอนแก่ประชาชนระดับล่าง เพราะท้ายที่สุดแล้ว การขาดการป้องกันในภาวะหมอกฝุ่นดังกล่าว ย่อมส่งผลต่อค่าใช้จ่ายต่อสุขภาพประชาชน รวมถึงงบสาธารณสุขในระยะยาว

อย่างไรก็ดี เมื่อหมอกฝุ่นกลับมารุนแรงอีกครั้งในรอบเดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างขาดหลักวิชา เช่น การให้ทหารอากาศนำเครื่องบินขึ้นไปโปรยน้ำบนอากาศ เป็นต้น

 

ฝุ่นนี้มีที่มา

 

ในทางเทคนิค ผู้เขียนขออธิบายคร่าวๆ ดังนี้ว่า อากาศที่เราหายใจประกอบด้วยก๊าซหลักๆ อยู่สามชนิด คือ ไนโตรเจน อ๊อกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งในทางสาธารณะ มักเข้าใจผิดว่า คาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเสียหรือก๊าซพิษ เพราะสับสนกับก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ จริงๆ แล้ว คาร์บอนไดออกไซด์ถือเป็นก๊าซสะอาดที่หมุนเวียนและจำเป็นต่อพืชต้นไม้ แต่หากมีปริมาณมากเกินไปจะก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก แต่เฉพาะตัวคาร์บอนไดออกไซด์เองมีผลน้อยมาก และใช้เป็นหน่วยวัดของก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เช่น สารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ เป็นก๊าซเรือนกระจกระดับแสนเท่าของคาร์บอนไดออกไซด์ ไอระเหยเบนซินนับเป็นหกร้อยเท่าของคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทนนับเป็นยี่สิบห้าเท่าของคารบอนไดออกไซด์ เป็นต้น

ส่วนสารอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมานอกจากก๊าซดังกล่าว เป็นสิ่งที่มนุษย์เราไม่ต้องการทั้งสิ้น เราจึงจำกัดความสิ่งที่ปะปนมา ไม่ว่าจะเป็นสารแขวนลอย ฝุ่นในอากาศ รวมถึงก๊าซอื่นๆ ว่าเป็นมลพิษอากาศ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดมลพิษเหล่านี้ ก็มาจากกิจกรรมของต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าควันรถยนต์ ควันธูป ควันปิ้งย่าง งานก่อสร้าง โดยมลพิษอากาศที่เกิดขึ้นภายในกิจกรรมเหล่านื้ คือปริมาณมลพิษพื้นฐานที่เราผลิตเองในเมือง (Based load air pollution)

สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันในขณะนี้ คาดว่ามีปัจจัยภายนอกมาเสริม ทั้งมลพิษจากโรงงานรอบกรุงเทพฯ ทั้งอยุธยา สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง รวมถึงการเผาหญ้าในต่างจังหวัด ไปจนถึงการเผาพื้นที่ทางการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมลพิษเหล่านี้ได้เข้ามาเติม (Top-up) จนปริมาณมลพิษในเมืองเพิ่มขึ้นจากปริมาณพื้นฐาน ประกอบกับกระแสลมที่ไหลเวียนช้า มลพิษเหล่านี้จึงระบายไม่ทัน จนเกิดเป็นหมอกฝุ่นปกคลุมพื้นที่

อย่างไรก็ดี ภาวะหมอกฝุ่นที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากการสะสมมาเป็นเวลายาวนาน

หากพิจารณาสัดส่วนของแหล่งมลพิษต่างๆ ในภาพรวมตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ถ้านับจากปี 1970 (เป็นช่วงที่ภาครัฐในหลายประเทศในยุโรป ประกาศใช้กฏหมายควบคุมมลพิษอากาศ) จะพบว่ามลพิษจากการเดินทาง การผลิตไฟฟ้า และภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 มาโดยตลอด โดยสัดส่วนจากการใช้ยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรม ถือว่าลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีของเชื้อเพลิง ทางเลือกใหม่ๆ ในการเดินทาง ทางเลือกต่างๆ ในการผลิต เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากชึ้น รวมถึงเทคโนโลยีบำบัดมลพิษจากแหล่งปล่อย ไม่ว่าท่อไอเสียและปล่องปล่อยทิ้งของโรงงาน

ในทางกลับกัน สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมาแทนที่ คือการผลิตไฟฟ้า ขณะที่ภาคครัวเรือนและการเกษตรมีผลกระทบเพียงร้อยละ 20 โดยภาคการเกษตรมีสัดส่วนที่น้อยลง

 

กายวิภาคของ ‘ฝุ่น’

 

หากเราทำความเข้าใจถึง ‘มลสาร’ (สารที่ทำให้เกิดมลพิษ) ในอากาศประเภทต่างๆ ว่ามีที่มาจากไหน และส่งผลต่อสุจภาพของเราอย่างไร อาจแบ่งได้ดังนี้

1) ฝุ่นละออง ดิน หิน ปูน ฝุ่นคาร์บอนจากการเผาไหม้และแขวนลอยในอากาศ

ฝุ่นเหล่านี้มักสร้างความระคายเคืองเท่านั้น ยกเว้นปริมาณที่เข้มข้นมากๆ จนส่งผลต่อการหายใจ สามารถวนเข้าสู่ระบบนิเวศทั่วไปของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน จากลมที่พัดเจือจางไป ฝนตก การดูดซับโดยธรรมชาติผ่านพืช การปะปนหรือกินเข้าไปของสิ่งมีชีวิต และสลายเข้าสู่วัฏจักรของคาร์บอนตามที่กล่าวมา

การที่เราจัดกลุ่ม PM 2.5 เพราะมันมีขนาดเล็กเกินกว่าร่างกายมนุษย์จะจัดการกับมันได้ และเป็นพิษต่อร่างกายเมื่อหายใจรับฝุ่นเหล่านี้ในปริมาณที่เข้มข้นถึงระดับหนึ่ง (ความเป็นพิษแตกต่างกันตามสภาพร่างกายของแต่ละคน)

2) มลสารของสารระเหย

บ้างเป็นก๊าซไปเลย บ้างเป็นสถานะก๊าซที่พร้อมกลั่นตัวเป็นของเหลวเมื่ออุณหภูมิลดลง เช่น สีรถยนต์ที่ออกจากปล่องในอุณหภูมิร้อยกว่าองศาเซลเซียส สามารถกลายเป็นของเหลวตกใส่แหล่งน้ำได้โดยตรงเมื่ออุณหภูมิลดลงเท่าอุณหภูมิปกติในสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรม ไม่ว่าไอระเหยของเม็ดพลาสติกในถังเก็บ ไอระเหยน้ำมัน ไอสารทำละลายในงานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ไอระเหยของสีในงานพ่นสีทำสีชิ้นส่วนระยนต์ ไอระเหยของสารเคลือบฉนวนลวดทองแดง และกระบวนการต่างๆ อันซับซ้อน ตามแต่ละกระบวนการผลิต ซึ่งแทบทุกผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันของเรา ผลิตออกมาโดยมีการปลดปล่อยสารระเหยเหล่านี้ไม่มากก็น้อย

สิ่งที่น่ากังวลคือ สารเหล่านี้แทบจะไม่สูญสลายไปเองโดยการดูดซับโดยธรรมชาติ ที่สำคัญคือสารระเหยเหล่านี้เป็นมลสารในอากาศที่อันตรายมาก และเป็นปัจจัยที่นำไปสู่โรคมะเร็ง ส่งผลให้กำเนิดลูกพิการ มีสถิติรองรับจากงานวิจัยมากมาย

3) ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO)

เป็นก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบรูณ์ และถูกใช้ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม มีความแข็งแรงเพราะพันธะเคมีชนิดโควาแนนซ์ พันธะเหล่านี้ไม่สูญสลายโดยง่ายแม้จะมีการเผาทำลาย แต่ส่งผลต่อระบบเลือดของมนุษย์เมื่อหายใจเข้าไป และส่งผลต่อภาวะเรือนกระจกทางอ้อม

4) ก๊าซไอระเหยของโลหะ

เช่น สารตะกั่ว ที่พบในงานเชื่อมบัดกรี ไออะลูมินั่มจากการหลอม ก๊าซจากโลหะเหล่านี้อันตรายมากที่สุด แต่มักเดินทางไม่ไกลจากแหล่งกำเนิดมากนัก

5) ก๊าซในตระกูล NOx (NO2 NO N2O)

ก๊าซเหล่านี้เป็นก๊าซที่ทำให้เกิดฝนกรด และภาวะเรือนกระจก โดย N2O เป็นตัวที่อันตรายที่สุดในสามตัว แต่เกิดขึ้นจำนวนน้อย ก๊าซเหล่านี้เกิดได้ 3 กรณีในการเผาไหม้ คือ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Prompt NOx) หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไนโตรเจนเป็นก๊าซในธรรมชาติ , เกิดจากความร้อนหรือการเผาที่ทำให้เกิดการสันดาประหว่างไนโตรเจนและอ๊อกซิเจนในธรรมชาติ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เหมือนกัน และปัจจัยสุดท้าย เกิดจากการทำปฏิกริยาในโรงงานของสารเคมีที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ เช่น สาร ACN ในการผลิตปิโตรเคมี หรือองค์ประกอบในน้ำยาล้างเล็บ

6) ก๊าซอื่นๆ เช่น SO2, Halogens gas, HCl, HBr, HF เป็นก๊าซที่มักจะมากับโรงงานอุตสาหกรรม และมาพร้อมกับสารระเหยในกระบวนการผลิตต่างๆ ก๊าซเหล่านี้เป็นกรดและอันตรายมากต่อสุขภาพ ธรรมชาติดูดซับได้ยาก

 

เมื่อเข้าใจองค์ประกอบดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่า แม้จะมีแหล่งกำเนิดจากโรงงานอุตสาหกรรมเพียงร้อยละ 20 แต่กลับส่งผลที่น่ากลัวกว่า และเมื่อแพร่กระจายในอากาศในสถานะของ ‘ก๊าซ’ แล้ว หมายความว่าหน้ากากกรองฝุ่นกลับไม่มีประโยชน์อันใด ยกเว้นว่าต้องใช้หน้ากากสารเคมีที่มีถ่านกัมมันต์ (Activated carbon) จึงพอจะมีความสามารถดูดซับได้บ้าง

อีกแหล่งหนึ่งที่เป็นภัยอันตรายอย่างมหันต์ คือการเผาขยะที่ไม่ใช่ขยะธรรมชาติ หรือการเผาเพื่อการเกษตร การเผาขยะที่ไม่ได้แยกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเผาไหม้สมบูรณ์หรือในเตาเผาที่ดีเท่าไหร่ก็ตาม แม้จะไม่เกิด CO แต่ก็อาจมีสารในตารางธาตุหมู่ 7 อย่างซัลเฟอร์ ที่ปะปนออกมา แม้ปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลร้ายแรงมากต่อสุขภาพ

 

ทำไมเราจึงควรสนใจเรื่องมลพิษในอากาศ

 

ของเสียในรูปแบบของแข็ง ของเหลว เช่น ขยะที่เราทิ้งลงถังขยะ น้ำเสีย เราเห็นได้ เราเลี่ยงไม่สัมผัสได้ แต่อากาศเราเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะมีฐานะเศรษฐกิจอย่างไรก็ตาม อากาศเป็นสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างเท่าเทียม เพราะเดินทางทั่วถึงตั้งแต่บ้านเศรษฐี จนถึงบ้านคนระดับล่าง แม้บ้านเศรษฐีจะมีเครื่องกรองอากาศ และใส่หน้ากากกรอง แต่ด้วยชีวิตประจำวัน ไม่มีทางเลยที่จะเลี่ยงการไม่หายใจเอามลพิษเข้าไป นอกเสียจากว่าย้ายไปภูมิลำเนาอื่นที่อากาศไม่เป็นมลพิษเท่านั้น

ดังนั้นเมื่อเกิดมลพิษในอากาศ ในระดับที่กลายเป็นหมอกฝุ่นอย่างตอนนี้ สิ่งที่ผู้เขียนกังวล ก็คือความไม่เข้าใจของภาครัฐในปัญหานี้อย่างเพียงพอ ซึ่งเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เกิดปัญหา แต่เมื่อประชาชนเริ่มตระหนักรู้มากขึ้น กระทั่งรับรู้โดยทั่วไปว่า PM 2.5 คืออะไร ผู้เขียนจึงมั่นใจว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขในที่สุด

แต่สิ่งที่ต้องการเสริมคือ ‘ความเข้าใจที่ถูกต้องทางเทคนิค’ รวมถึงเรื่องสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) ที่ควรได้รับการพูดถึงและให้ความรู้ต่อสาธารณะไปพร้อมกัน เพื่อออกมาตรการป้องกันเสียตั้งแต่ในเวลานี้

ในภาวะที่เกิดหมอกฝุ่นระดับ AQI (Air Quality Index) 100 – 200 ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ ‘ไม่แก้ไม่ได้’ เพราะหากปล่อยให้มีการสะสมฝุ่นไปเรื่อยๆ ความรุนแรงจะยิ่งทวีขึ้นกว่านี้แน่นอน เช่น เวลาออกจากบ้าน เราอาจต้องใส่หน้ากากกันเป็นปีๆ และแทบจะอยู่ในที่โล่งแจ้งไม่ได้เลย ปลายทางของเรื่องนี้คือสุขภาพของคนทั้งสังคม ตั้งแต่โรคปอด โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และมะเร็ง!

ทั้งนี้ ปัจจุบันเราสามารถสอบข้อมูลย้อนหลังจากอินเทอร์เน็ต ถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในยุโรป อเมริกา รวมถึงข้อมูลเรียลไทม์ในปัจจุบันที่แสดงให้เห็นว่าภาวะเช่นนั้นเป็นไปได้จริง ดังที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศจีน ซึ่งบางเมืองมีระดับ AQI สูงถึง 300 แทบทุกวัน

AQI เป็นตัวชี้วัดหนึ่งซึ่งบอกคุณภาพอากาศ ซึ่งแม้ไม่มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับ VOC NOx SOx ในทางเทคนิค แต่หากเราควบคุมฝุ่นได้ มลพิษทางอากาศได้รับการตระหนักรู้ นำมาตรการป้องกันไปปฎิบัติอย่างเคร่งครัด แหล่งปล่อยมลพิษต่างๆ ก็จะถูกควบคุมโดยปริยาย ดังที่เห็นผลแล้วในกรณีของยุโรป อเมริกา

ในภาพรวมกว่า 50 ปีที่ผ่านมา แม้ทั้งโลกมีการปลดปล่อยมลพิษมากขึ้น แต่การปลดปล่อยจากประเทศสมาชิกยุโรป 28 ประเทศ หรือสหรัฐอเมริกา กลับมีการปลดปล่อยคงที่หรือลดลง ประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้

ในภาพที่เล็กลง ประเทศไทยมีการปลดปล่อยฝุ่น PM 2.5 จากจำนวน 273 กิโลตันในปี 1970 เพิ่มเป็น 380 กิโลตัน ในปี 1980 เพิ่มเป็น 452 กิโลตัน ในปี 1990, เพิ่มเป็น 488 กิโลตัน ในปี 2000 และเพิ่มเป็น 682 กิโลตันในปี 2012

จะเห็นว่ามีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นวันใดวันหนึ่ง จุดที่เราเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ย่อมมาถึงแน่นอน หมายถึงจุดที่เราผลิตฝุ่นมากเกินกว่าปริมาณลมที่พัดจะช่วยให้เจือจางไปได้ นอกจากนี้ ในภาพรวมปริมาตรอากาศของทั้งโลก ก็มีปริมาณฝุ่นสะสมมากขึ้นเช่นกัน และถ้าหากยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ณ จุดหนึ่งมนุษย์จะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้

 

การป้องกันและแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้น

 

เมื่อหมอกฝุ่นเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องระวังผลกระทบต่อสุขภาพ สรา้งความตระหนักรู้ให้ประชาชน อย่างไรก็ดี การใส่หน้ากากป้องกัน การอยู่ในสถานที่ปิดที่ติดเครื่องกรองอากาศ เป็นเพียงแนวทางแก้ไขปัญหาปลายเหตุเท่านั้น

หากเราคำนวณตามปริมาตรอากาศ สมมติว่าเอาพื้นที่กรุงเทพมหานคร (1500 ตร.กม.) คูณด้วยความสูงของตึก (300 ม.) จะได้ปริมาตรอากาศที่ประชากรกรุงเทพฯ อาศัยอยู่ คิดเป็นปริมาตรราวๆ 450,000 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นข่าวที่ทหารอากาศจะบินเพื่อปล่อยน้ำปริมาตรแค่ 3 ลบ.ม. ต่อครั้ง จึงเป็นการเพิ่มมลพิษอากาศจากเชื้อเพลิงเครื่องบินให้มากขึ้นด้วยซ้ำ

มีผลการศึกษาว่า แม้ฝนตกหนัก ก็ให้ผลได้ไม่มาก กล่าวคือมีผลไม่ถึง 10% ซึ่งเป็นความจริง เพราะแม้แต่เครื่องจักรบำบัดมลพิษอากาศด้วยการชะล้างด้วยน้ำ ซึ่งทำในที่ปิด (Wet Scrubber) ก็ยังจำเป็นต้องควบคุมแรงดันอากาศ พื้นที่ผิวสัมผัส เวลาที่มีโอกาสสัมผัสกันระหว่างน้ำกับอากาศมลพิษ การบำบัดในเครื่องจักรถึงได้ผล

การพ่นน้ำที่เป็นการบรรเทาในระดับพื้นดิน แม้จะน้อย ก็ยังพอช่วยได้ แต่จะได้ผลในพื้นที่จำกัดมากๆ กล่าวคือ บริเวณที่ห่างจากจุดที่พ่นน้ำมาไม่มาก จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย แต่วิธีนี้อาจช่วย ‘บรรเทา’ ได้ระดับหนึ่ง ในจุดที่มีการสัญจรของคนเดินถนนคับคั่งในเวลาเร่งด่วน

มาตรการที่จะช่วยได้อย่างเห็นผล คือการใช้เครื่องกรองอากาศขนาดยักษ์ เช่นที่จีนเคยนำมาใช้ ซึ่งประสิทธิผลขึ้นกับความขนาดของเครื่อง ว่านำปริมาตรอากาศเข้าไปกรองได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเครื่องกรองอากาศที่ว่านี้ก็ต้องมีจำนวนเพียงพอที่จะกรองให้ทันกับปริมาณมลพิษและปริมาตรอากาศในพื้นที่เปิด ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่สูงและท้าทายมากในทางวิศวกรรม

นอกจากนี้ วิธีที่ช่วยได้คือรอลมธรรมชาติที่พัดเร็วขึ้น เพื่อให้เจือจางมวลอากาศดังกล่าว หรือไม่ก็ต้องมีฝนตกหนักพอที่จะเอาฝุ่นแขวนลอยไปสู่พื้นดิน ผ่านระบบระบายน้ำ หรือแหล่งน้ำต่างๆ เท่านั้น

แต่เหนืออื่นใด เมื่อถึงเวลาที่สภาวะอากาศปิด ซึ่งจะเกิดชึ้นทุกๆ ปี สถานการณ์เช่นนี้ก็จะกลับมาอีก

การแก้ไขปัญหาในระยะยาว

 

หลายคนสงสัยว่าทำไมประเทศพัฒนาแล้วประสบความสำเร็จ เมื่อเราสำรวจด้วยแอปในมือถือ พบว่าประเทศเหล่านี้สภาพอากาศเป็นสีเขียว ที่จริงแล้วประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรปและอเมริกา ถ้าย้อนไปเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว ล้วนประสบปัญหาดังกล่าวในระดับที่หนักจนมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในวงกว้าง และต้องใช้เวลาเป็นสิบปีในการแก้ไข ซึ่งสภาพอากาศในจีนขณะนี้ ก็คือระดับเดียวกับยุโรปและอเมริกาในตอนนั้น

คำถามสำหรับประเทศไทย คือเราจะลืมเมื่อสถานการณ์นี้ผ่านไป หรือจะตระหนักรู้ถึงสัญญาณเตือน เพื่อเราจะได้ไม่ต้องเดินตามรอยในสิ่งที่ประเทศอื่นๆ ประสบมาแล้ว

สำคัญที่สุดคือการตระหนักรู้ที่ประชาชนต้องไม่ยอม และผู้มีอำนาจต้องรู้ว่าปัญหานี้มีผลกระทบต่อตนเองและลูกหลานตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี หรือผู้มีตำแหน่งใดๆ นี่คือปัญหาที่ต้องร่วมกันทำอย่างเร่งด่วนตั้งแต่ตอนนี้

ผู้เขียนไม่ขอลงวิธีแก้ไขทางเทคนิคต่อยานพาหนะ การเดินทางสาธารณะ การก่อสร้าง เนื่องจากมีการพูดโดยทั่วไป และเป็นเรื่องสาธารณะที่มีผู้รู้มากกว่าผู้เขียน แต่ขอเสริมในส่วนที่ยังไม่ค่อยได้รับการพูดในวงกว้าง ดังนี้

ประเด็นที่ 1 : ยานพาหนะในยุโรปมีการดับเครื่องอัตโนมัติเมื่อจอด และติดเครื่องอัตโนมัติเมื่อเคลื่อนที่ ภาครัฐสามารถสั่งให้บริษัทรถบัส จักรยานยนต์ ต่างดำเนินการแก้ไขในรถผลิตใหม่ได้ทันที เพราะรถบัส จักรยานยนต์ ไม่จำเป็นต้องติดเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้าเลี้ยงระบบปรับอากาศ (แอร์)

ในเยอรมัน บางเมืองไม่สามารถล้างรถในบ้านตัวเองได้ เพราะระบบบำบัดน้ำเสียในบ้านไม่มีความสามารถกำจัดน้ำล้างรถและสารเคมีได้ดีเพียงพอ ต้องไปล้างที่ศูนย์ล้างรถเท่านั้น เช่นเดียวกัน การทำระบบบำบัดอากาศด้วยการดูดมาบำบัดที่จุดเดียวด้วยไส้กรองคาร์บอนในร้านอาหาร ก็เป็นเรื่องที่ภาครัฐควรให้ความรู้ และมีกฎเกณฑ์บังคับตามความเหมาะสม ตามลักษณะร้านและขนาดธุรกิจ เช่น ร้านหมูกระทะ ร้านไก่ย่างต่างๆ

ประเด็นที่ 2 : การควบคุมสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่จุดปล่อย ซึ่งกฏหมายไทยยังไม่มีการควบคุมค่ารวมสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่จุดปล่อย เช่น ปล่องต่างๆ มีแต่ระบุชนิดและบังคับใช้กับโรงงานเคมีที่มีปริมาณการผลิตที่สูงถึงเกณฑ์เท่านั้น แต่ในยุโรป เช่น เยอรมัน ให้มาตรฐาน Ta Luft กำหนดมาตรฐาน Total VOC (TVOC – total organic carbon) ซึ่งไม่ให้เกิน 50 มก./ต่อลบ.ม. ประเทศไทยอาจเริ่มต้นที่ค่าประมาณ 100 – 200 มก./ลบ.ม.ก่อนก็ได้

ประเด็นที่ 3 : คือการคำนึงถึงเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการกำจัดมลพิษ (BAT – Best Available Technology) ปัจจุบันเทคโนโลยีบำบัดอากาศที่ได้รับการยอมรับเป็น BAT คือ การสันดาปด้วยความร้อน (Thermal Oxidation) ซึ่งมีการใช้หลักการในการเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมีของมลสาร ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น สารระเหย ในอุณหภูมิสูงที่ 800 – 1000 องศาเซลเซียส ภายในเวลาที่เพียงพอ ให้สลายตัวเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ซึ่งถือเป็นก๊าซที่ไม่เป็นพิษ และเปลี่ยนเป็นออกซิเจนได้ในระบบนิเวศ) และไอน้ำ

เทคโนโลยีการสันดาปเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุล ไม่ใฃ่แค่ดูดซับ (Absorption by activated carbon) ซึ่งมีไส้กรองที่ปนเปื้อนมลพิษให้กำจัด หรือ การชะล้างด้วยน้ำ Wet Scrubber ที่มีการล้างมลพิษด้วยน้ำ จึงมีน้ำเสียให้ต้องกำจัด

เทคโนโลยีในปัจจุบันของการสันดาปด้วยความร้อน อาจมีการใช้เชื้อเพลิงบ้างตอนอุ่นความร้อนให้ถึงอุณหภูมิที่กำหนด จากนั้นใช้มลสารสันดาปแล้วคายความร้อนให้เลี้ยงระบบเอง ดังนั้นมลสารดังกล่าวจึงกลายเป็นเชื้อเพลิงเลี้ยงระบบ โดยไม่ต้องการใช้เชื้อเพลิงภายนอกเลยตลอดหลายเดือนหรือหลายปี จนกว่าจะมีการหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักร

ความร้อนที่ได้จากระบบดังกล่าวสามารถนำไปใช้ทำไอน้ำ ทดแทนการใช้หม้อต้มไอน้ำ (ซึ่งปกติใช้เชื้อเพลิงและ เชื้อเพลิงบางประเภทเช่นน้ำมันเตาสร้างมลพิษ) แต่เครื่องจักรดังกล่าวมีการลงทุนที่สูง เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับ เอกชนจึงไม่ลงทุน ภาครัฐสามารถปิดจุดอ่อนนี้ด้วยการให้การสนับสนุน โดยคำนึงการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด

ประเด็นที่ 4 : การเผาศพ การเผาขยะ การเผากงเต็ก จำเป็นต้องให้ความรู้มากขึ้น หลีกเลี่ยงนำสสารบางชนิดเข้าไปเผา เพราะแม้จะเผาไหม้สมบรูณ์ก็ตาม มลสารที่เกิดจากธาตุหมู่ 7 ก็เป็นอันตรายได้ เช่น หนังเทียมจาก PVC (Chloride compound) จะกลายเป็นก๊าซกรดรุนแรง จำเป็นต้องมีระบบต่อเนื่องหลังการเผา โดยการล้างในระบบที่มีการควบคุม มีการใช้น้ำด่างเพื่อให้กลายเป็นน้ำและเกลือ ซึ่งไม่สามารถติดตั้งได้ในการเผาหรือเตาเผาเหล่านี้

ในส่วนของเทคโนโลยีเรื่องระบบบำบัดมลพิษ ปัจจุบันนี้ถือว่าอยู่ในระดับดีพอที่จะทำให้อากาศที่ออกจากปล่องโรงงานนั้น สะอาดพอที่จะปล่อยสู่แวดล้อมอย่างไม่มีอันตรายใดๆ ขณะเดียวกันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด เช่น สามารถทำให้มลพิษต่างๆ กลับมาเป็นเชื้อเพลิงเผาตัวเอง ในจีนและเยอรมันกำลังพัฒนาระบบ Solid Combustion ที่เอาสิ่งที่กำจัดยากและเป็นพิษ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในระบบดังกล่าว รวมถึงการทำ Gasification จากถ่านหิน (เชื้อเพลิงธรรมชาติในรูปของแข็ง) โดยไม่มีผลกระทบด้านมลพิษอากาศ

ประเด็นที่ 5 : การปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่ไม่ทันต่อเทคโนโลยี เช่น ค่าควบคุม NOx ของประเทศไทยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตแก้ว กระจก  กำหนดไว้สูงถึง 1700 ppm ซึ่งเป็นค่าที่ไม่จำเป็นต้องบำบัดใดๆ ก็ปล่อยออกได้ เนื่องด้วยการติดตั้งระบบที่สามารถบำบัดฝุ่น SOx NOx เป็นการลงทุนที่แพงมากด้วยเทคโนโลยีในอดีต แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีไส้กรองที่เคลือบสารเร่งปฎิกริยา ทำให้ใช้อุปกรณ์ตัวเดียวสามารถกำจัดมลพิษฝุ่นอย่าง SOx NOx ได้ในเครื่องจักรที่ถูกลงมาก ดังนั้นในส่วนของกฎหมาย จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายเพื่อบังคับให้เกิดการติดตั้งระบบบำบัดมลพิษอากาศสำหรับอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย

ในส่วนของกฎเกณฑ์ด้านการควบคุมมลพิษอากาศจากยานพาหนะที่เคลื่อนที่ข้ามประเทศได้ ประเทศพัฒนาแล้วใช้กลไกภาษีกับยานพาหนะเช่น เรือบรรทุกสินค้า เครื่องบิน ที่มีการปลดปล่อยมลพิษเข้ามาเทียบท่าในประเทศตน ซึ่งประเทศไทยสามารถศึกษาและจัดเก็บภาษียานพาหนะที่มีการปลดปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐานเหล่านี้ได้เช่นกัน

ประเด็นที่ 6 : ประเทศจีนในปัจจุบัน อุตสาหกรรมบำบัดอากาศถือเป็นสิ่งที่กำลังได้รับความนิยม เมื่อมีการปรับปรุงกฎหมาย ก็เกิดการติดตั้งระบบบำบัดมลพิษดังกล่าวอย่างมากมาย จนเรียกอุปสงค์ดังกล่าวว่า ‘คลื่น’ (wave) คือจากไม่มีความต้องการ ก็มีความต้องการอย่างสูง แต่หลังจากนั้นความต้องการก็จะน้อยลง เพราะทุกคนติดไปหมดแล้ว (อาจจะเทียบกับเครื่องกรองอากาศในปัจจุบัน)

ทั้งนี้ ถ้ารัฐจะทำการปรับเปลี่ยนกฎหมาย ก็ควรคำนึงถึงทั้งอุตสาหกรรมแบบครบวงจรด้วย อย่างน้อยๆ ก็ควรทำให้ความต้องการของระบบบำบัดมลพิษอากาศที่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย สามารถช่วยขับเคลื่อนองค์ความรู้วิศวกรไทย บริษัทไทย ธุรกิจคนไทย ให้เข้าสู่การผลิตเครื่องจักรดังกล่าวได้เอง หรือทำการลอกเลียนแบบเพื่อการพัฒนาในอนาคต เพื่อป้องกันไม่ให้อุปสงค์ดังกล่าวกลายเป็นการเอาแต่ซื้อเครื่องจักรต่างประเทศเข้ามาใช้ครั้งใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว

 

ในบทสรุป ผู้เขียนคิดว่าหมอกฝุ่นไม่ใช่เรื่องใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเริ่มต้นสัญญาณเตือน การแก้ไขปัญหาไม่ใช่เพียงแค่การขอความร่วมมือประชาชน แต่รัฐต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเร่งด่วน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในปีหน้า หรือเกิดขึ้นอย่างถาวรแบบในประเทศจีน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save