ผลการคัดเลือกหนังสือ ‘น่าอ่าน’ ประจำปี 2559 (ที่เหลืออีก 27 เล่ม) โดยกรรมการ 5 คน คือ สฤณี อาชวานันทกุล, นิวัต พุทธประสาท, ทราย เจริญปุระ, ทีปกร วุฒิพิทยามงคล และ โตมร ศุขปรีชา ในโปรเจ็กต์ ‘ความน่าจะอ่าน’ มาแล้ว!
ไปลุ้นกันต่อ ว่าเล่มไหนตรงใจหรือไม่ตรงใจคุณบ้าง และคอมเมนต์ให้เรารู้ด้วยก็จะขอบพระคุณยิ่ง
[ดูหนังสือ ‘น่าอ่าน’ 26 เล่มแรก ได้ ที่นี่]เมื่อลมหายใจกลายเป็นอากาศ (When Breath Becomes Air)
พอล กาลนิธิ เขียน
โตมร ศุขปรีชา แปล
สำนักพิมพ์ Openworlds
Recommend by : ทีปกร
บันทึกของคุณหมออนาคตไกล ที่ชีวิตต้องพลิกผันเมื่อพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย คนคนหนึ่งจะรับมือกับความตายอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อคนๆ นั้นคือคุณหมอที่ช่วยชีวิตคนไข้มานับไม่ถ้วน นี่คือหนังสือชวนให้ครุ่นคิดถึงความหมายของชีวิต และการจัดการกับความตายที่รู้ล่วงหน้า เป็นหนังสือที่ทำให้คุณหลั่งน้ำตาได้ไม่ยาก
“ถ้าใครกลัวเลือด อ่านแล้วอาจเป็นลมได้” – นิวัต พุทธประสาท
“ขนาดแปลเอง ยังรู้สึกว่าตอนท้ายๆ มันเฉื่อยไปหน่อย” – โตมร ศุขปรีชา
อาคเนย์คะนึง
อนุสรณ์ ติปยานนท์ เขียน
สำนักพิมพ์มติชน
Recommend by : นิวัต
กลิ่นและเสียงของเรื่องสั้นชุดนี้ชัดเจนภายใต้บรรยากาศทึมเทา อนุสรณ์เล่าเรื่องได้ละมุนแต่แฝงความปวดร้าวไว้ลึกๆ ฉากหลังที่เป็นดินแดนเอเชียอาคเนย์ช่วยขับให้เรื่องเล่าลึกลับ ทว่าก็เปิดเปลือยตัวเองจนหมดเปลือกในนามของความรัก
“มนต์รักป่ายาง” – ทราย เจริญปุระ
“ชอบเล่มนี้มากกว่า เพลงรักนิวตริโน่” – สฤณี อาชวานันทกุล
ฝนบางหยดกลายเป็นผีเสื้อ
ลัดดา สงกระสินธิ์ เขียน
สำนักพิมพ์สมมติ
Recommend by : นิวัต
บทกวีที่ไร้ซึ่งการปะติดปะต่อ หรือสัมพันธ์ทางท่วงทำนอง ร้อยเรียงกันด้วยภาษาที่โดดเดี่ยว ทว่าแข็งแรง บางความเหงาถูกแทนที่ด้วยน้ำตาและเสียงที่เปล่งออกไปโดยไม่มีใครได้ยิน ภาษาเรียบง่ายแต่เฉียบขาด ใช้คำน้อยแต่เก็บครบทุกความรู้สึก
Elizabeth II: The Steadfast (เอลิซาเบธที่ 2 : แน่วในปณิธาน)
ดักลาส เฮิร์ด เขียน
สำนักพิมพ์ Openbooks
Recommend by : ทีปกร
ชีวประวัติสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เขียนโดย ดักลาส เฮิร์ด อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ บอกเล่าชีวิตและบทบาทของสตรีผู้มีหัวใจอนุรักษนิยม แต่ก็พร้อมจะยอมรับวิถีชีวิตสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับพระราชภาระอันสำคัญ ฟันฝ่าวิกฤตในช่วงการล่มสลายของจักรวรรดิ รวมถึงการแยกตัวจากสหราชอาณาจักร ทำให้รู้ว่าทำไมคนอังกฤษถึงรักและยกย่องราชีนีพระองค์นี้
“ตอนที่อ่านกำลังอินกับซีรีส์ The Crown อยู่พอดี” – ทีปกร วุฒิพุทยามงคล
นางกลางโรม
อัลแบร์โต้ โมราวียา เขียน
เลิศ กำแหงฤทธิรงค์ แปล
สำนักพิมพ์นาคร
Recommend by : โตมร
เรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่เกิดมาท่ามกลางความยากจน และต้องดำเนินชีวิตต่อไปอย่างคนบาป เนื้อหาท้าทายศีลธรรมและหลักศาสนา และเคยถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นหนังสือต้องห้ามของชาวโรมันคาทอลิก ผู้เขียนพาเราดำดิ่งไปในโลกโลกีย์อย่างยากที่จะถอนตัว นี่คือนวนิยายชิ้นเอกอีกเล่มที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำในปี 2559 ที่ผ่านมา
สนธิสัญญาฟลามิงโก
จิราภรณ์ วิหวา เขียน
สำนักพิมพ์แซลมอนบุ๊คส์
Recommend by : ทีปกร / นิวัต
นวนิยายเล่มแรกของ ‘จิราภรณ์ วิหวา’ ว่าด้วยเรื่องของนกฟลามิงโกผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับความลับ และสนธิสัญญาที่ทำให้แมวคู่รักต้องประสาทเสีย นี่คือโลกของสารพัดสัตว์ที่สะท้อนภาพของสังคมเมืองอันกลวงเปล่า ฉาบฉวย และยึดโยงกันอยู่ด้วยความลับความลวง—มากกว่าความจริง
“คิดว่าเป็นเล่มที่ดีที่สุดของจิราภรณ์” – นิวัต พุทธประสาท
“อ่านแล้วไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ รู้สึกว่ามันเป็นการ์ตูนไปหน่อย” – ทราย เจริญปุระ
THOU SHALL FEAR : เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ
กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช เขียน
สำนักพิมพ์มติชน
Recommend by : สฤณี
แค่พูดคำว่า ‘ก่อการร้าย’ ขึ้นมา ไม่ว่าใครก็รู้สึกกลัว แต่เรากลัวมันเพราะอะไร ความหมายที่แท้จริงของมันถูกสร้างขึ้นมาจากสำนึกร่วมของผู้คนแบบไหน หนังสือเล่มนี้ชวนวิเคราะห์การก่อการร้าย อันเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพในยุคใหม่ อย่างที่เราอาจไม่เคยรู้จักกับความกลัวในเชิงลึกเท่านี้มาก่อน!
“การก่อการร้ายไม่ใช่แค่กำจัดให้หมดไป เล่มนี้น่าจะเรียกได้เลยว่าเป็นคู่มือได้เลยว่าการก่อการร้ายสมัยใหม่เป็นอย่างไร จะจัดการด้วยวิธีไหน แล้วควรจัดการกับมันอย่างไร” – สฤณี อาชวานันทกุล
“รู้สึกเหมือนอ่านรายงานวิชาการมากเลย” – ทราย เจริญปุระ
รอยจูบของผู้หญิง ที่คนรักของเธอไม่รัก
มันดา เอช เขียน
สำนักพิมพ์ Moody Book
Recommend by : นิวัต
นวนิยายสายดาร์คที่ฉายภาพให้เห็นว่าเวลาที่ผู้ชายสักคนตกอยู่ในห้วงแห่งรักนั้น เขามีวิธีคิดและวิธีจัดการความสัมพันธ์ในภาวะต่างๆ อย่างไร เหตุผลอะไรที่ทำให้ผู้ชายหมดรัก หรือกล้าแตกหักกับคนรัก (เก่า) เป็นนิยายที่ให้อารมณ์เหงา เศร้า แต่ไม่ถึงกับฟูมฟาย สำนวนภาษาอ่านง่ายกว่าเล่มก่อนๆ
“รู้สึกว่าเขาเขียนดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกเล่มนะ” – นิวัต พุทธประสาท
ใครดีใครได้ (Finder Keeper)
สตีเฟ่น คิง เขียน
โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล แปล
สำนักพิมพ์แพรวสำนักพิมพ์
Recommend by : ทราย
นี่คือภาคต่อของ มิสเตอร์เมอร์เซเดส ที่สตีเฟ่นเขียนไว้ก่อนหน้า ว่าด้วยเรื่องราวของนักเขียนและต้นฉบับของเขา ที่มีคนคลั่งไคล้มากถึงขั้นยอมตายเพื่อให้ได้ต้นฉบับของมันมาครอบครอง ยังมีกลิ่นอายความหลอนและสร้างความกลัวจับใจให้ขนลุกหลังอ่านได้เหมือนเดิมตามสไตล์ของสตีเฟ่น คิง
“สตีเฟ่น คิง เป็นคนเขียนหนังสือเก่ง อาจจะติดหวานบ้าง แต่นานๆ เขาจะระเบิดพลังออกมาที อ่านเล้วรู้สึกว่า เออ เก่งว่ะ” – ทราย เจริญปุระ
จักรวาลในหนึ่งย่อหน้า
อุทิศ เหมะมูล เขียน
สำนักพิมพ์จุติ
Recommend by : โตมร
รวมบทความวิเคราะห์วรรณกรรมที่นำ ‘ย่อหน้าแรก’ ของวรรณกรรมระดับโลก 12 เรื่อง มาชำแหละ ถอดรหัส และตีความนัยยะต่างๆ ที่ถูกอำพรางไว้ ชี้ให้เห็นบริบทที่มีอิทธิพลต่อตัวตนและวิธีคิดของนักเขียนคนนั้นๆ ทำให้เราเข้าใจว่าหนังสือหลายเล่มที่ได้รับการยกย่อง มันดีงามและสุดยอดอย่างไร ขณะเดียวกันก็ได้เห็นความเจนจัดทางวรรณกรรมของ อุทิศ เหมะมูล ด้วย
กระท่อมน้อยของลุงทอม (Uncle Tom’s Cabin)
แฮเรียต บีชเช่อร์ สโตว์ เขียน
อ.สนิทวงศ์ แปล
สำนักพิมพ์ทับหนังสือ
Recommend by : โตมร
วรรณกรรมคลาสสิคเล่มหนาที่ได้รับการตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งในปีที่ผ่านมา ว่าด้วยความโหดร้ายของ ‘ระบบทาส’ ในช่วงศตวรรษที่ 19 ยุคที่มีการซื้อขายทาสผิวดำกันอย่างแพร่หลาย ชีวิตมนุษย์กลายเป็นสิ่งของ ไม่น่าเชื่อว่าผ่านไปสองร้อยกว่าปี แม้จะไม่มีระบบทาสแบบนั้นแล้ว แต่เรากลับเห็นการค้าและการกดขี่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ
ความป่วยไข้ของยุคสมัย
เชตวัน เตือประโคน เขียน
สำนักพิมพ์โจนทะยาน
Recommend by : นิวัต
10 เรื่องสั้นที่บันทึกความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในรอบสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ระดับสังคมไล่ลงมาถึงระดับครอบครัว เมื่อความปกติกลายเป็นความไม่ปกติ เมื่อความผิดกลายเป็นความถูกต้อง และเมื่อความตายกลายเป็นความชินชา จึงไม่แปลกที่ใครสักคนจะนิยามว่านี่คือยุคสมัยแห่งความป่วยไข้
“เชตวันยังเขียนงานแบบเพื่อชีวิตอยู่ ซึ่งสมัยนี้มันหายากนะ” – นิวัต พุทธประสาท
“แต่ถ้าเทียบกับงานเพื่อชีวิตสมัยก่อน ก็ยังสู้ไม่ได้นะ” – โตมร ศุขปรีชา
“รู้สึกว่าเขามีความคับแค้น เกรี้ยวกราด แล้วก็โพล่งออกมาแบบไม่ผ่านตะแกรงเลย” – สฤณี อาชวานันทกุล
Misbehaving (เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม)
ริชาร์ด เธเลอร์ เขียน
ศรพล ตุลยะเสถียร, พิมพัชรา กุศลวิทิตกุล แปล
สำนักพิมพ์ Openworlds
Recommend by : ทีปกร / โตมร
หนังสือที่จะทำให้คุณรู้จักกับ ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ เศรษฐศาสตร์แนวใหม่ที่นำผลวิจัยทางจิตวิทยามาประยุกต์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมด้านการเงินและการบริโภคของมนุษย์อย่างเราๆ ซึ่งบางครั้งก็เอาแต่ใจและไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย แต่หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของพฤติกรรมเหล่านั้นมากขึ้น แถมยังเอามาปรับใช้กับชีวิตได้ด้วย
“ทรายว่าอ่านง่ายกว่า The Sixth Extinction” – ทราย เจริญปุระ
“ตอนแรกคิดว่าเป็นหนังสือวิชาการจ๋า แต่ปรากฏเข้าใจง่ายกว่าที่คิด เขียนคล้ายๆ นิยาย ทำให้เศรษฐศาสตร์กลายเป็นเรื่องสนุกได้” – นิวัต พุทธประสาท
สิทธารถะ
เฮอร์มานน์ เฮสเส เขียน
สดใส แปล
สำนักพิมพ์ Openbooks
Recommended by : ทีปกร / โตมร
วรรณกรรมเชิงพุทธปรัชญาที่ได้รับความนิยมข้ามศตวรรษ ด้วยแก่นของเรื่องที่ตั้งคำถามถึงสาระและความหมายของชีวิต ซึ่งเป็นภาวะที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร สำหรับการตีพิมพ์ในครั้งนี้ของสำนักพิมพ์ Openbooks มีการออกแบบและเลือกใช้วัสดุอย่างพิถีพิถัน และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเนื้อหาอย่างน่าชื่นชม
“ชอบสัมผัสของกระดาษและการออกแบบของเวอร์ชั่นนี้มาก” – โตมร ศุขปรีชา
พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

วีรพร นิติประภา เขียน
สำนักพิมพ์มติชน
Recommend by : โตมร / ทราย / สฤณี / นิวัต / ทีปกร
จากนวนิยายซีไรต์ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต วีรพร นิติประภา ขยับความล้ำลึกของเนื้อหาในนวนิยายของเธอให้ลุ่มลึกไปอีกขั้น ทั้งเรื่องของความทรงจำ ความรัก และประวัติศาสตร์การเมือง ถูกบอกเล่าผ่านตัวละครที่เธอสร้างขึ้น และพาเราสำรวจเข้าไปถึงภายใน และไม่ลืมเก็บสำนวนภาษาในแบบของเธอไว้เป็นลายเซ็นต์ ในแบบที่ไม่ต้องเห็นชื่อคนเขียนก็รู้ว่าใคร
“เล่มนี้ทำงานกับเรามาก และเล่นกับสิ่งที่เราชอบมากๆ คือเรื่องของความทรงจำ” – ทราย เจริญปุระ
“รู้สึกว่าเล่มนี้คือเล่มที่พี่แหม่ม (วีรพร) อยากเขียนจริงๆ เล่มที่ผ่านมา (ไส้เดือนตาบอดฯ) เหมือนเป็นแค่การลองมือ” – สฤณี อาชวานันทกุล
มาร์โควัลโด
อิตาโล คาลวิโน่ เขียน
นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ แปล
สำนักพิมพ์บทจร
Recommend by : โตมร
เรื่องสั้น 20 ตอนเกี่ยวกับกรรมกรที่ชื่อว่า ‘มาร์โควัลโด’ ผู้หาเช้ากินค่ำอยู่ในเมืองใหญ่ของอิตาลี เป็นตัวละครที่ทั้งตลก น่ารัก และน่าสงสารในเวลาเดียวกัน แต่ทุกครั้งที่ตกระกำลำบาก เขามักจะหาทางรอดได้แบบซื่อๆ ที่สำคัญคือความช่างสังเกตสิ่งละอันพันละน้อยของเขา ที่คนทั่วไปมักจะมองผ่านหรือไม่ทันสังเกต เพราะรู้สึกว่ามันไม่สำคัญ แง่หนึ่งนั้นอาจเป็นจุดที่สะท้อนตัวตนของมาร์โควัลโด และบทบาทของการเป็นคนที่ถูกสังคมละเลยได้เป็นอย่างดี
“ดีมาก สนุก ตลก” – ทีปกร วุฒิวิทยามงคล
แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร
อรุณวตี กงลี่ เขียน
สำนักพิมพ์อ่าน
Recommend by : นิวัต
นวนิยายรักขนาดกระชับ ตีแผ่เรื่องราวของคนในแวดวงมายาที่เฉิดฉายอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ ภายใต้บริบทการเมืองไทยปัจจุบัน ฉายภาพให้เห็นว่าผู้คนในแวดวงนี้มีส่วนประกอบสร้างวาทกรรมและชุดความคิด อันนำมาสู่การทำรัฐประหารครั้งล่าสุดได้อย่างไร เนื้อหาไม่หวานเหมือนปกเท่าไหร่นัก
เมียชายชั่ว
ดะไซ โอซามุ เขียน
พรพิรุณ กิจสมเจตน์ แปล
สำนักพิมพ์ J-LIT
Recommend by : โตมร
เข้มข้นและบาดลึกไม่น้อยไปกว่า สูญสิ้นความเป็นคน ต่างกันตรงที่เล่มนี้เป็นเรื่องสั้น และมุ่งไปที่การถลกบาดแผลอันเกิดจากความสัมพันธ์ในฐานะของคนที่ถูกตราหน้าว่าเป็น ‘ชายชั่ว’ ดะไซทำให้เห็นว่ามนุษย์ล้วนมีสัตว์ร้ายที่แฝงกายอยู่ลึกๆ และคนที่ถูกมันลอบทำร้ายมากที่สุดก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็นตัวเราเอง
“รู้สึกว่าดีกว่า สูญสิ้นความเป็นคน อีกนะ งงเหมือนกันว่าทำไมเล่มนั้นถึงดังกว่า” – ทราย เจริญปุระ
ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ
ภู กระดาษ เขียน
สำนักพิมพ์มติชน
Recommend by : สฤณี
หนังสือรวมเรื่องสั้นที่เล่าเรื่องผ่านสำเนียงพื้นถิ่นอีสาน ในจังหวะจะโคนของการผูกเรื่องที่น่าสนใจ ผสมกับตัวละครที่สะท้อนทัศนคติของภู กระดาษ ที่มีต่อความอยุติธรรมต่างๆ ทำให้เรื่องสั้นในเล่มนี้มีเอกลักษณ์ และทำให้ผู้อ่านได้ย้อนกลับมาคิดถึงความอยุติธรรมในสังคมที่เราอาศัยอยู่ด้วยในเวลาเดียวกัน
“ในภาษาไทยควรมีหนังสือแบบนี้ที่เป็นภาษาถิ่น ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดออกมามากขึ้น แทนที่จะอยู่ในระนาบเดียวที่เป็นภาษากลาง” – สฤณี อาชวานันทกุล
เก้าเรื่องสั้น
เจ.ดี.ซาลินเจอร์ เขียน
ปราบดา หยุ่น แปล
สำนักพิมพ์ไลต์เฮาส์พับลิชชิ่ง
Recommend by : โตมร
เป็นรวมเรื่องสั้นที่อ่านเพลิน และมีประเด็นแหลมๆ ที่ชวนคิดต่อมากมาย ไล่ตั้งแต่เรื่องของความสัมพันธ์อันแสนสั้นแต่ไม่อาจลืม ความทรงจำวัยเด็กที่เลือนราง ความเชื่อทางศาสนาและการมีอยู่ของพระเจ้า ทั้งหมดนั้นเชื่อมร้อยเข้าด้วยกันแบบหลวมๆ ด้วยกลิ่นอายจากสงครามโลกครั้งที่ 2
ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ภาณุ ตรัยเวช เขียน
สำนักพิมพ์มติชน
Recommend by : ทราย / สฤณี / โตมร
สารคดีอ่านง่ายแถมยังเพลิน พาเราไปสำรวจความเป็นไปก่อนที่เยอรมันจะกลายมาเป็นอย่างทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่มิติการเมือง แต่ยังเชื่อมโยงจิ๊กซอว์ชิ้นต่างๆ ทั้งงานศิลปะ ภาพยนตร์ วรรณกรรม สถาปัตยกรรม ที่ประกอบสร้างสังคมเยอรมันในช่วงสาธารณะรัฐไวมาร์ (หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งนำพาให้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก้าวขื้นมาเป็นผู้นำประเทศ และกลายเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์โลก
“หลายคนบอกว่ามันป๊อป มันไม่ค่อยวิชาการ แต่ทรายว่ามันสนุกนะ แล้วสำหรับคนที่ไม่มีพื้นความรู้มาก่อน มันก็ต้องเริ่มจากหนังสือแบบนี้แหละ” – ทราย เจริญปุระ
วิชาสุดท้าย ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน
สฤณี อาชวานันทกุล แปล
สำนักพิมพ์ Openbooks
Recommend by : โตมร
จะบอกว่าเป็น Best seller ประจำเทศกาลรับปริญญาไปแล้วก็ว่าได้ เพราะนี่คือหนังสือที่รวบรวมบทแปลสุนทรพจน์ในวันรับปริญญา จากบุคคลระดับโลกที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในชีวิต สิ่งที่พวกเขาหลายคนพูดเหมือนกัน และเป็นบทเรียนสำคัญที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน ก็คือการ ‘กล้า’ ที่จะล้มเหลวและเรียนรู้จากมัน เหมาะกับทุกคนที่ต้องการแรงบันดาลใจ ไม่ใช่เฉพาะนิสิตนักศึกษาเท่านั้น
“เล่มนี้นับด้วยเหรอ รู้สึกว่าพิมพ์บ่อยมากเลยนะ” – ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
เมื่อโลกพลิกผัน
คาร์ล โปลานยี เขียน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
Recommended by : โตมร
ผลงานชิ้นเอกของ คาร์ล โปลานยี นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวฮังการี หนังสือเล่มนี้คือการพยายามทำความเข้าใจโลกสมัยใหม่ ภายหลังการเกิดขึ้นของระบบตลาดนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และเป็นเล่มที่วิพากษ์แนวคิดตลาดเสรีของอดัม สมิธ ได้อย่างถึงแก่น จนนำไปสู่การสร้างสำนักเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ (New Institutional Economics) ในทศวรรษ 1980 นับเป็นหนังสือเล่มสำคัญสำหรับคนที่อยากศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง และประวัติศาสตร์ตะวันตก
“เป็นหนังสือที่สำคัญมากเล่มหนึ่งในวงการเศรษฐศาสตร์” – สฤณี อาชวานันทกุล
ความโดดเดี่ยวของนักวิ่งระยะไกล
วิกรานต์ ปอแก้ว เขียน
สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม
Recommend by : นิวัต / สฤณี
เรื่องสั้นสะท้อนความเป็นมนุษย์ในมุมมองของนักเขียนในยุคร่วมสมัย ที่มองเรื่องราวความสัมพันธ์ ความรัก ความโดดเดี่ยวในมุมมองที่เราอาจไม่เคยนึกถึง ผสมปนเปไปกับประเด็นทางสังคม การเมือง และเพศสภาพอย่างแนบเนียน ทำให้ระหว่างที่ละเลียดไปกับเนื้อหาเจ็บปวดหรือกินใจ ก็ได้เรียนรู้ความเป็นไปของสังคมไปพร้อมๆ กัน
“อธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงชอบเล่มนี้ รู้แต่ว่าอ่านแล้วรู้สึกดี” – สฤณี อาชวานันทกุล
คนนอก
อัลแบรต์ กามู เขียน
สำนักพิมพ์สามัญชน
Recommended by : โตมร
วรรณกรรมระดับตำนานอีกเล่ม ที่ได้รับการตีพิมพ์ใหม่ในปี 2559 เรื่องราวของ ‘เมอโซ’ ชายหนุ่มผู้ไม่ศรัทธาในศาสนา ไม่เชื่อในพิธีกรรม และไม่แสดงความอาลัยต่อการจากไปของแม่อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งทำให้เขาถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นผู้ที่เสื่อมทรามทางศีลธรรม เขาถูกทำให้กลายเป็น ‘คนนอก’ เพียงเพราะไม่อาจเสแสร้งต่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ดูแล้วก็คล้ายๆ กับหลายเหตุการณ์ในสังคมปัจจุบัน ที่คนบางกลุ่มถูกกีดกันและตีตราว่าชั่วร้ายจากฝ่ายที่อ้างศีลธรรมและความดี
ผู้มาเยือนหลังเที่ยงคืน (Monster Calls)
แพทริก เนสส์ เขียน
วรรธนา วงษ์ฉัตร แปล
สำนักพิมพ์เวิร์ดส์วอนเดอร์
Recommend by : สฤณี
ทั้งเนื้อเรื่องและภาพประกอบอาจชวนให้นึกว่านี่คือนวนิยายแฟนตาซีสำหรับเยาวชนธรรมดาๆ แต่เรื่องราวชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่ครอบครัวเต็มไปด้วยมรสุม ความกดดัน จนสะท้อนออกมาในรูปของฝันร้ายที่นำพา ‘ผู้มาเยือน’ มาเล่าเรื่องต่างๆ ให้เด็กน้อยคนนี้ฟัง ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่เราคิด และรู้สึกผิดภายในใจ ไม่ใช่เรื่องผิดบาปและต้องปิดบัง เพียงแต่เราต้อง ‘ยอมรับ’ และ ‘เรียนรู้’ จากมันเท่านั้นเอง
“ปกติไม่ค่อยได้อ่านวรรณกรรมเยาวชน แต่เล่มนี้เล่นเรื่องของความดีความชั่วที่น่าสนใจ ปกติอ่านหนังสือแล้วไม่ค่อยน้ำตาซึม แต่เล่มนี้ทำเราน้ำตาซึมได้” – สฤณี อาชวานันทกุล
“น้ำเสียงมันสั่งสอนแบบตรงไปตรงมาเกินไป ผมอ่านแล้วไม่ชอบ” – ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
Revenge
โยโกะ โอกาวะ เขียน
นลินญา จรูญเรืองฤทธิ์ แปล
สำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์
Recommend by : ทีปกร / โตมร
เรื่องสั้นเขย่าขวัญ 11 เรื่องที่ไม่มีบทสรุปในตัว แต่มีจุดเชื่อมโยงจางๆ ระหว่างแต่ละเรื่อง เหตุการณ์พิลึกพิลั่นและตัวละครอันเปลี่ยวเหงาเว้าแหว่ง ถูกบรรยายผ่านน้ำเสียงเรียบนิ่งราวกับว่านั่นเป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดา และนั่นก็ยิ่งทำให้ความสยดสยองเผยตัวออกมาอย่างน่าเกรงขาม แต่แทนที่จะวิ่งหนี เรากลับจดจ้องมันอยู่อย่างนั้นโดยไม่มีเหตุผล