fbpx

เลือกตั้งท้องถิ่นพร้อมเลือกตั้งใหญ่ดีกว่าไหม?

ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบตระเวนถ่ายป้ายหาเสียงเก็บไว้ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งก็เลยเห็นว่าท่ามกลางป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ที่มีทั่วทุกหัวระแหง กลับพบป้ายหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ., นายกเทศมนตรีแทรกตัวปะปนอยู่

หลายคนคงเกิดคำถาม ทำไมถึงต้องมีเลือกตั้ง (ซ่อม) อีก ทั้งที่ดูเหมือนเพิ่งจะจัดการเลือกตั้งไปเมื่อไม่นานนี้ ตอบได้แบบแทบไม่ต้องคิด ส่วนใหญ่เพราะนักการเมืองท้องถิ่นตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรืออยากขยับไปเล่นการเมืองสนามใหญ่นั่นเอง

ขณะเดียวกันถ้าลองสังเกตจากป้ายหาเสียงผู้สมัคร ส.ส.ครั้งนี้ จำนวนไม่น้อยนิยมใส่คำนำหน้าชื่อตัวเองด้วยคำว่า ส.จ.หรือนายกฯ ซึ่งน่าจะมากกว่าตำแหน่งหรืออาชีพอื่นใดทั้งหมด ไม่ว่าทนายความ ตำรวจ ครูบาอาจารย์ จากการที่ผมลองประเมินด้วยสายตาเท่าที่เห็น

สอดคล้องกับข้อมูลจาก Rocket Media Lab ที่พบว่าผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตหน้าใหม่มีถึง 2,896 คน (จากทั้งหมด 4,781 คน) ในจำนวนนี้ 729 คน คิดเป็น 25.17% มาจากนักการเมืองระดับท้องถิ่น (ในที่นี้รวมไปถึงอดีตผู้สมัครสอบตกด้วย) ซึ่งถือว่ามากเป็นลำดับ 2 ไล่หลังกลุ่มใหญ่คือคนที่ประกอบอาชีพส่วนตัว[1]

และที่น่าสนใจคือกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีสัดส่วนมากที่สุดในพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย กระทั่งพรรคเพื่อไทยก็ยึดแนวทางนี้ อันเป็นหนทางปกติของนักการเมืองไทยส่วนใหญ่ที่มักเริ่มสร้างตัวเองจากการเมืองในระดับท้องถิ่นก่อน ซึ่งบรรดาผู้สมัครกลุ่มนี้มักเป็นสมาชิกสภา อบจ.สมัยที่เลือกตั้งไปเมื่อ 20 ธันวาคม 2563 (2 ปีเศษ) และนายกเทศมนตรีที่เลือกตั้งไปเมื่อ 28 มีนาคม 2564 (2 ปีเต็ม)

จากข้อมูลกองการเลือกตั้งท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นแทนตำแหน่งที่ว่างไปรวมแล้ว 549 แห่ง (นับแยก แม้เป็น อปท.เดียวกัน) ในจำนวนนี้เป็นการเลือกตั้ง ส.อบจ. 108 แห่ง[2]

รวบรวมจากข้อมูลที่เผยแพร่ลงในแฟนเพจอย่างเป็นทางการของกองการเลือกตั้งท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ดู https://web.facebook.com/p/กองการเลือกตั้งท้องถิ่น-100064629738108/
รวบรวมจากข้อมูลที่เผยแพร่ลงในแฟนเพจอย่างเป็นทางการของกองการเลือกตั้งท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ดู https://web.facebook.com/p/กองการเลือกตั้งท้องถิ่น-100064629738108/

น่าเสียดายที่กองการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้ระบุสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ เราจึงไม่รู้แน่ชัด ซึ่งมีเหตุผลเป็นไปได้หลายอย่าง ทั้งตาย ลาออก ศาลอุทธรณ์สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือผู้มีอำนาจกำกับดูแลสั่งให้พ้นจากตำแหน่งกรณีขาดคุณสมบัติหรือกระทำการต้องห้ามตามกฎหมาย 

แต่ในกรณีของ ส.อบจ. ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่พ้นลาออกไปสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เช่นที่ชลบุรี 6 เขต นครศรีธรรมราช 4 เขต กาฬสินธุ์ 3 เขต โดยสกลนครเป็นจังหวัดที่มีการเลือกตั้งซ่อม ส.อบจ.มากที่สุดถึง 10 เขต ต้องจัดกระจายถึง 3 วันจึงจะครบ

นายก อบจ.เพียงคนเดียวที่ลาออกมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.คือ นายก อบจ.สระแก้ว ซึ่งก็เอาชนะได้ดังคาด เพราะเขตเลือกตั้งนายก อบจ.ครอบคลุมทุกเขตเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งจังหวัด ได้เป็นนายก อบจ.จึงยากกว่าการลง ส.ส.

ข้อสังเกตคือ ในสัปดาห์ที่มีการเลือกตั้งทั่วไปนั้น (13-14 พ.ค. 66) ก็ไม่มีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นอีก ทั้งๆ ที่หากสามารถจัดการร่วมกันได้จะช่วยประหยัดงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตลอดจนผู้ประกอบการกลางคืน (จากการถูกห้ามขายเหล้าทั้งในคืนก่อนเลือกตั้งและในวันเลือกตั้ง) เพราะในรอบ 2 สัปดาห์ถัดมา (19-20, 27-28 พ.ค. 66) มีการเลือกตั้งท้องถิ่นรวมกันมากมายถึง 153 แห่ง

ขณะที่สถิติผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปถูกทำลายลงด้วย 75.71% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่การเลือกตั้งซ่อมระดับท้องถิ่นในอีก 1-2 สัปดาห์ต่อมา ตัวเลขกลับลดลงน่าใจหาย เช่น การเลือกตั้ง ส.อบจ. อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เขต 2 มีผู้ใช้สิทธิ 47.60%, การเลือกตั้ง ส.อบจ. อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เขต 1 มีผู้ใช้สิทธิ 40% นั่นคือ โดยมากคนออกไปเลือกกันไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ

ยิ่งเสียกว่านั้น ผลการเลือกตั้งยังสะท้อนด้วยว่าการเมืองระดับชาติไม่ส่งผลต่อการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะจากกระแสของพรรคก้าวไกล

หลายๆ เขตที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกลสามารถล้มผู้สมัครในตระกูลการเมืองสำคัญของพื้นที่นั้น ลงได้ ผู้สมัคร ส.อบจ.คณะก้าวหน้ากลับพ่ายแพ้ต่อผู้สมัครในเครือข่ายเหล่านั้น เช่น เชียงใหม่, นครปฐม, ชลบุรี, สมุทรสาคร สรุปเร็วๆ ได้ว่าอิทธิพลของบ้านใหญ่ยังคงแข็งแกร่งในการเมืองระดับท้องถิ่น ทั้งที่ในการเมืองระดับชาติเพิ่งถูกท้าทายชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สมมติฐานของผมคือ คนตัดสินใจเลือกตั้งทั้งสองระดับด้วยชุดความคิดที่แตกต่างกัน ท้องถิ่นเลือกจากตัวบุคคลที่ทำประโยชน์รูปธรรม ระดับชาติเลือกพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ตรงกัน

ลองจินตนาการเล่นๆ ถ้าเลือกวันเดียวกันก็น่าคิดว่าผลการเลือกตั้งจะเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะมีตัวแปรสำคัญอยู่ที่คะแนนเสียงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่ และปัจจัยเรื่องความนิยมในพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ

ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งพร้อมกันยังจะช่วยแก้ปัญหานักการเมืองท้องถิ่นแห่แหนกันลาออกมาลงสมัคร ส.ส.ได้อีกด้วย เพราะไม่ได้เลือกตั้งเหลื่อมกันเป็นปีๆ แบบที่เป็นอยู่ ทำให้ไม่สามารถโยกจากสนามหนึ่งไปอีกสนามหนึ่งระหว่างกลางวาระได้

อย่างไรก็ดี ในกรณีทั่วๆ ไปนั้น เมื่อตำแหน่งว่างลงก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม (By-election) หรือที่หลายประเทศเรียกว่าการเลือกตั้งพิเศษ (Special Election) ทว่าหลายประเทศมีวิธีจัดการไม่ให้มีการเลือกตั้งบ่อยอันเนื่องมาจากตำแหน่งทางการเมืองที่ว่างลงก่อนครบวาระ (Casual Vacancy) ต่างกันออกไป

บางประเทศใช้ระบบตัวสำรอง (Substitute) เช่น ฝรั่งเศส ซึ่งผู้สมัครจะต้องประกาศชื่อตัวสำรองให้ประชาชนได้รู้ตั้งแต่ก่อนจะมีเลือกตั้งว่าหากตนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เช่น เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ผู้ใดจะได้มาเป็นต่อในช่วงตลอดวาระที่เหลืออยู่

บางประเทศที่ใช้ระบบเลือกตั้งสัดส่วน (Proportional Representation) เช่น เยอรมัน ถ้ามีการตายหรือลาออกก็เพียงเลื่อนอันดับรายชื่อคนถัดไปในบัญชีขึ้นมาแทน

บางประเทศดังเช่น สหรัฐอเมริกา กรณีตำแหน่งวุฒิสมาชิกว่างลง หลายมลรัฐอาจใช้วิธีการแต่งตั้งบุคคลอื่นมาทำหน้าที่ไปพลางก่อนจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องรอเวลาตามปฏิทินที่แน่นอนทุกๆ 2 ปีครั้ง (ในปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเรียก General Election ถ้าปีนั้นไม่มีเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเรียกว่า Midterm Election) โดยให้ผู้ชนะเลือกตั้งซ่อมครองตำแหน่งเท่าเวลาที่เหลืออยู่ของคนเดิม ขณะที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม (Writ of Election) ทันทีตามกฎหมายแต่ละรัฐ

สหรัฐอเมริกามีความโดดเด่นตรงที่มีวันเลือกตั้งทั่วไปทั้งระดับชาติ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่นเป็นวันเดียวกัน โดยยึดเอาวันอังคารแรกของเดือนพฤศจิกายน (ซึ่งต้องไม่ใช่วันที่ 1) ในปีที่เป็นเลขคู่ เนื่องจากในอดีตเป็นช่วงเว้นว่างหลังการเก็บเกี่ยว (ถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะว่าไม่เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบันที่ถือเป็นวันทำงาน) ใช้มาตั้งแต่ปี 1845 ผ่านการออกกฎหมายโดยรัฐบาลกลาง (Presidential Election Day Act) ริเริ่มนำมาใช้กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีก่อน จากนั้นจึงขยายไปสู่การเลือกตั้งระดับรัฐ เช่น ผู้ว่าการรัฐ สมาชิกสภาระดับรัฐ อัยการสูงสุด ตำแหน่งการเมืองต่างๆ ในเคาน์ตี รวมถึงท้องถิ่น เช่น เมือง เทศบาล โดยที่บางรัฐกำหนดให้จัดเลือกตั้งระดับชาติและมลรัฐในปีเลขคู่ สลับกับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในปีที่เป็นเลขคี่

บางประเทศเขียนระบุเรื่องนี้ลงในรัฐธรรมนูญ เช่น เคนยา กำหนดให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นพร้อมกับการเลือกตั้งระดับชาติในวันอังคารที่สองของเดือนสิงหาคม ทุกๆ 5 ปี

ทั้งนี้มีหลายเหตุผลสนับสนุน ไม่ว่าเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ทำให้ฝ่ายบริหารมีเสถียรภาพ เพราะให้คนจากพรรค/กลุ่มเดียวกันขึ้นเป็นแทน (ซึ่งถ้าต้องมีเลือกตั้งใหม่ก็ไม่แน่) เป็นต้น

แม้นหลายๆ ประเทศ วันเลือกตั้งระดับประเทศกับวันเลือกตั้งระดับท้องถิ่นไม่ได้เป็นวันเดียวกัน แต่ได้พยายามสร้างความแน่ชัดให้เกิดกับการเมืองท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น คอสตาริกากำหนดให้อาทิตย์แรกของเดือนกุมภาพันธ์เป็นวันเลือกตั้งระดับชาติ และอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์เป็นวันเลือกตั้งระดับท้องถิ่น, สเปนไม่ได้กำหนดวันตายตัวสำหรับการเลือกตั้งระดับชาติ แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภทต้องจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคม

สำหรับประเทศไทย แนวคิดเรื่องการจัดเลือกตั้งระดับชาติกับท้องถิ่นวันเดียวกัน รวมไปถึงกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นให้เป็นวันเดียวกันทั่วประเทศแบบตายตัว เป็นประเด็นที่ควรจะต้องนำมาพิจารณาเช่นกัน

ถ้าหากวันใดทำได้ขึ้นมา การเมืองท้องถิ่นไทยอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

References
1 ดู Rocket Media Lab, “เลือกตั้ง ’66 ผู้สมัคร ส.ส. เขต 4,781 คน: แม้จะมีผู้สมัครหน้าใหม่มากที่สุด แต่ผู้สมัครหน้าเก่าชอบย้ายพรรคมากกว่าลงสมัครพรรคเดิม,” (Rocket Media Lab, 10 พฤษภาคม 2566), จาก https://rocketmedialab.co/election-66-16
2 รวบรวมจากข้อมูลที่เผยแพร่ลงในแฟนเพจอย่างเป็นทางการของกองการเลือกตั้งท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ดู https://web.facebook.com/p/กองการเลือกตั้งท้องถิ่น-100064629738108/

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save