fbpx
เอกซเรย์ประเทศไทย ในวันที่ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

เอกซเรย์ประเทศไทย ในวันที่ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

กรกมล ศรีวัฒน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นวิกฤตที่สร้างความเสียหายให้ทั้งชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม และด้วยความที่โควิด-19 เป็นวิกฤตที่ใหม่และต้องหาทางแก้อย่างเร่งด่วน รัฐบาลจึงมีการใช้ยาแรงอย่างการปิดเมืองล็อกดาวน์ มาตรการเข้มข้นต่างถูกนำมาใช้เพื่อพยายามระงับความเสียหายในชีวิตผู้คนให้มากที่สุด จนถึงวันนี้ แม้ประเทศไทยสามารถตั้งหลักรับมือในการชะลอตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ แต่ก็มีหลายคนคาดการณ์ว่า โรคนี้จะอยู่กับเรายาวนานไปอีกสักระยะหนึ่ง จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องหันมาดูโดยรอบว่า ระหว่างที่เรามุ่งหาวิธีรักษา ‘โรค’ เราสร้างผลกระทบให้ ‘โลก’ ของคนกลุ่มใดหรือไม่ มีใครบ้างที่จะต้องกลายเป็นกลุ่มเปราะบาง และโดนทอดทิ้งเอาไว้ข้างหลัง

เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และเครือข่ายผู้เข้าร่วมหลักสูตร Rule of Law and Development Program (RoLD Program) จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ Living with COVID-19: ตอน ฝ่าวิกฤตโควิด-19 …โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับกลุ่มเปราะบางในสังคมที่กำลังกับเผชิญปัญหา และแนวทางในการแก้ไขจากภาคประชาสังคม และภาคเอกชนที่ได้ดำเนินการช่วยเหลือในสถานการณ์ดังกล่าว

 

ทุกคนได้รับผลกระทบ แต่ไม่เท่ากัน

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวเริ่มต้นการเสวนาว่า โควิดสร้างผลกระทบไปทั่วโลก โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินความเสียหายในทางเศรษฐกิจว่า ตัวเลขอาจสูงถึงสองล้านล้านล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และอาจจะนำไปสู่การถดถอยทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับทางธนาคารโลก (World Bank) ที่รายงานว่า จะมีคนจำนวน 11 ล้านคนกลายเป็นคนจนใหม่ รวมถึงมีข้อมูลว่าเด็กพันกว่าล้านคนเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการศึกษา เพราะข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี

กิตติพงษ์ยังได้หยิบยกถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีสวีเดนที่ว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดของโควิด คือ ‘กลุ่มเปราะบาง’ ที่อาจจะถูกทอดทิ้งไป ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง กลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มที่มีรายได้น้อยหาเช้ากินค่ำ  ซึ่งในส่วนของประเทศไทย คนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่เป็นแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน ซึ่งเป็น 50% ของแรงงานทั้งหมด และแรงงานจำนวนมากก็ไม่ได้มีโครงข่ายรองรับทางสังคม (social safety net) ใดๆ เพราะฉะนั้น มาตรการของรัฐจึงมีผลกระทบรุนแรงต่อปากท้องของผู้คน

 

ทำงานจากบ้าน งานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาด
ต่ำ สูง
ทำได้ง่าย ผลกระทบ น้อย ผลกระทบ ปานกลาง
นักสังคมวิทยา

โปรแกรมเมอร์

นักพัฒนาเว็บไซต์และสื่อ

นักเศรษฐศาสตร์

ผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงิน

ที่ปรึกษากฎหมาย

ผู้ประกอบวิชาชีพด้านงานบุคคล

ผู้จัดการด้านการขาย

ผู้จัดการด้านนโยบายและแผน

Front desk

ตัวแทนจัดหางาน

ครูระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป

ทำได้ยาก ผลกระทบ ปานกลาง ผลกระทบ สูง
ผู้ควบคุมเครื่องจักรทอผ้า

ช่างทำแบบโลหะ

คนงานปลูกพืช

งานก่อสร้าง

ผู้ควบคุมเครื่องจักรโรงงาน

คนงานด้านการผลิต

ช่างพ่นสีและขัดเงา

งานทำความสะอาดบ้าน อาคาร

งานร้านอาหาร

พนักงานจัดการการท่องเที่ยว

โรงเรียนระดับปฐมวัย

มัคคุเทศก์

ทันตแพทย์ และผู้ช่วย

สัตวแพทย์

(Source: Lekfuangfu, W. N., Piyapromdee, S., Porapakkarm, P .,Wasi, N. (2020). On Covid-19: New Implications of Job Task Requirements and Spouse’s Occupational Sorting. SSRN Electronic Journal. http://doi.org/10.2139/ssrn.3583954)

 

ขณะที่ฝั่ง ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ Sea Group ฉายภาพกว้างให้เห็นถึงผลกระทบที่ต่างกันในแต่ละอาชีพ โดยเริ่มด้วยแผนผัง (framework) ของอาจารย์เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟูและคณะ ซึ่งแบ่งกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบโดยใช้ปัจจัย 2 ข้อ ปัจจัยแรกเป็นเรื่องของงานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด โดยพิจารณาจากลักษณะอาชีพที่มีโอกาสพบปะผู้คน ปัจจัยที่สองคือ ดูว่างานนั้นๆ ทำจากที่บ้านง่ายหรือยาก ทำให้แบ่งกลุ่มอาชีพได้เป็น 4 กลุ่ม โดยกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยในวิกฤตครั้งนี้คือกลุ่มอาชีพที่ลักษณะงานเสี่ยงต่อการระบาดต่ำ และทำงานที่บ้านได้ง่าย เช่น โปรแกรมเมอร์ หรือที่ปรึกษาทางด้านการเงิน เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มซึ่งเป็นผู้เปราะบางมากที่สุดคือกลุ่มอาชีพที่ลักษณะงานก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดสูง และทำงานจากที่บ้านได้ยาก ได้แก่ พนักงานเสิร์ฟ คนขับแท็กซี่ ซึ่งมักเป็นกลุ่มอาชีพที่มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ ทำงานในเมือง เรื่องประเด็นทางสาธารณสุขที่มีมาตรการออกมาจึงเกี่ยวพันกับปัญหาปากท้อง ทำให้หลายคน “ไม่กลัวไวรัส กลัวอดตาย” ซึ่งสันติธารได้แนะนำแนวทางในการช่วยเหลือ 2 แนวทาง ได้แก่

  1.     บาซูก้าการคลัง คือการที่รัฐจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชน ซึ่งประเทศไทยมีความพยายามทำคล้ายคลึงกัน เช่น เงินเยียวยา 5,000 บาท แต่ก็เห็นว่ายังมีช่องโหว่เรื่องระบบสวัสดิการ และมีปัญหาเรื่องข้อมูล ทำให้หลายคนตกหล่นจากการเยียวยา
  2.     รัฐจ้างงานชั่วคราว เช่น Care & Safe Distancing Ambassador ของสิงคโปร์

“สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ ต้องบอกว่าจริงๆ แล้ววิกฤตคราวนี้เป็นวิกฤตที่แปลกประหลาด และเป็นมหาวิกฤตทางเศรษฐกิจอันหนึ่งที่เรียกว่าทำให้โลกต้องหยุดนิ่ง ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้อนาคตมาถึงเร็วขึ้นด้วย”

สันติธารกล่าวต่อว่า กลุ่มต่อไปที่เปราะบางคือกลุ่มอาชีพที่มีลักษณะงานเสี่ยงต่อการระบาดต่ำ และทำงานที่บ้านได้ยาก เช่น กลุ่มที่ทำงานในโรงงาน แม้อาชีพกลุ่มนี้จะยังสามารถทำงานได้บ้าง โดยใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่สิ่งที่จะเป็นวิกฤตต่อไปคือในระยะยาว อาชีพกลุ่มนี้จะเสี่ยงต่อการถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและหุ่นยนต์ เพราะฉะนั้น เราอาจจะต้องมีทางแก้ระยะสั้นด้วยการให้คนกลุ่มนี้กลับไปทำงานให้เร็วที่สุด และในระยะยาว เราต้องอบรมและสร้างทักษะใหม่ให้แรงงานกลุ่มนี้ เพราะตลาดแรงงานจะเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลางอีกกลุ่มคือ กลุ่มอาชีพที่ลักษณะงานเสี่ยงต่อการระบาดต่ำ และทำงานจากที่บ้านได้ง่าย โดยในทางทฤษฎีสามารถใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตทดแทนได้ แต่ในชีวิตจริงอาจจะมีข้อจำกัด เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และขาดทักษะในการใช้งานดิจิทัล แนวทางในการแก้ปัญหาจึงเป็นการจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต และฝึกทักษะใหม่ทางด้านออนไลน์

“แม้ว่าจะพูดว่าแรงงานนอกระบบเหมือนกัน แต่ผลกระทบไม่เหมือนกันตามลักษณะอาชีพ การเปิดและปิดเมืองจะต้องทำอย่างมีหัวใจ และเข้าใจว่าแต่ละกลุ่มมี pain point ที่ต้องรับมือต่างกัน” สันติธารกล่าวสรุป

 

กลุ่มเปราะบางคือคลื่นแรกที่ถูกกระทบในช่วงโควิด

 

เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ เทใจดอทคอม ชุมชนการให้เพื่อสังคมไทย ซึ่งเป็นเว็บระดมทุนที่ดำเนินการมากว่า 8 ปี สะท้อนการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชนในช่วงที่ผ่านมา โดยพบว่ากลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นคลื่นแรกที่โดนผลกระทบของโควิดมีอยู่ด้วยกัน 4 กลุ่มได้แก่

  1. กลุ่มผู้มีรายได้น้อย รับจ้างรายวัน (Lower Middle Income) ซึ่งได้รับผลกระทบในแง่ของการขาดรายได้ ตกงาน
  2. กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ในแง่ของการเดินทางเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลยากลำบาก
  3. กลุ่มคนจนเมือง ทั้งในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ซึ่งมีค่าครองชีพสูง ทำให้เมื่อขาดรายได้ก็จะมีผลกระทบ หลายคนย้ายมาเพื่อทำงานและไม่ได้อยู่ที่ภูมิลำเนาเดิม ทำให้มีค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักอาศัย และขยับตัวอย่างยากลำบากในยามวิกฤต นอกจากนี้ ความช่วยเหลือเบื้องต้นจากรัฐอาจจะเข้าไม่ถึงพวกเขาด้วย โดยเฉพาะในชุมชนแออัด

และ 4. ครอบครัวยากจนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการล็อกดาวน์เข้มงวด

เอด้าอธิบายต่อว่า ในระยะสั้น เทใจได้เข้าไปมีส่วนร่วมช่วยเหลือและตอบสนองความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร ยา และเครื่องใช้ต่างๆ ในการรักษาสุขอนามัยให้กับกลุ่มเปราะบางผ่านทางโครงการที่เข้ามาระดมทุน โดยแต่ละโครงการมีการปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ เทใจยังร่วมกับพาร์ทเนอร์จัดทำ open data ผ่านเว็บไซต์ Infoaid.org เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างผู้บริจาคและผู้รับบริจาคสิ่งของอำนวยความสะดวก ทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถตอบความสนองความต้องการในพื้นที่ใกล้กันได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ผู้เปราะบางแต่ละคนต้องการอะไรที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือทำให้เขามีเงิน เพื่อที่เขาจะได้จัดสรรเงินไปตามความต้องการของเขาเอง” เอด้าเล่าถึงแนวคิดที่ตกตะกอนได้ หลังจากที่เธอมีโอกาสลงพื้นที่ก่อนมีมาตรการที่เข้มข้นของภาครัฐ ซึ่งการหยิบยื่นเงินให้อาจทำให้เกิดปัญหาตามมา เทใจจึงริเริ่มโครงการ Sandbox คือจ้างงาน 200 งานในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนค่อนข้างมากจากฐานข้อมูล ทั้งในกรุงเทพฯ ยะลา และปัตตานี โดยมีการจ้างงานหลากหลาย สามารถแบ่งได้ 3 ลักษณะงาน ได้แก่ งานที่มีความต้องการ และผู้ถูกจ้างมีทักษะอาชีพอยู่แล้ว เช่น จ้างคนที่ทำอาหารได้มาทำอาหารให้เด็ก งานที่ผู้ถูกจ้างมีทักษะอยู่บ้าง เช่น คนกรีดยางมาจับปลา และงานที่เป็นอาชีพใหม่ ทักษะใหม่ เช่น การจ้างงานคนในคลองเตยเย็บหน้ากากอนามัยแบบผ้า

ผลดีจากการทำ Sandbox คือ ช่วยให้เงินได้ไปถึงมือผู้ที่มีความต้องการ ผู้ถูกจ้างได้เรียนรู้ทักษะใหม่ และมีช่องทางในการหารายได้เพิ่มเติม อีกทั้งการทำงานยังเป็นกระบวนการบำบัดสภาพจิตใจให้มีความภาคภูมิใจในตัวเองด้วย ทั้งนี้ เอด้ายอมรับว่า แม้พวกเธอจะมีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง แต่ก็ยังรู้สึกกังวลว่าอาจจะยังมีกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลืออีก

“ถ้าเป็นกลุ่มที่ตกงานในพื้นที่ล็อกดาวน์และกลุ่มคนไร้บ้าน เราจะหาตัวเขาได้ยากกว่า และถ้ามีการปรับนโยบายเรื่องล็อกดาวน์ คนกลุ่มนี้ก็จะเคลื่อนย้ายตัวเอง ซึ่งมีความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจ และเพิ่มความเสี่ยงเรื่องการกระจายเชื้อด้วย” เอด้าปิดท้าย

 

‘ที่พักกักตัวและอาหาร’ ความต้องการพื้นฐานของกลุ่มเปราะบาง

 

ดาวดี ชาญพานิชย์การ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์การพัฒนาความรู้ จำกัด และผู้จัดการสนามโครงการที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก by RoLD เป็นอีกคนที่ได้เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสถานการณ์เช่นนี้ โดยเริ่มจากการมองเห็นปัญหาว่าประชากรฐานล่างในประเทศไทยจำนวนมากมีปัญหาเรื่องการกักตัว เนื่องจากข้อจำกัดของที่พักอาศัย จึงเริ่มมีศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก (Isolation Facility) ขึ้น

ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก (Isolation Facility) เกิดขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดปทุมธานี ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์คือ ช่วยลดภาระโรงพยาบาล และช่วยให้กลุ่มคนเปราะบางที่บ้านไม่พร้อมต่อการกักตัวสามารถมาอยู่อาศัยได้ นอกจากนี้ยังมีการขยายผลไปยังศูนย์ที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อรองรับการกักตัวให้ครบ 14 วันของกลุ่มคนดังต่อไปนี้

  1. ผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ผลตรวจเป็นลบ แพทย์ให้กักตัวให้ครบ 14 วัน
  2. ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว ผลตรวจเป็นลบ แพทย์ให้กักตัวให้ครบ 14 วัน
  3. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโนค ถูกส่งตัวจาก Local Quarantine ระดับตำบล
  4. ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศจากพื้นที่เสี่ยงสูง/พื้นที่ระบาดหนัก
  5. ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ไม่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค แต่มีเงื่อนไขต้องได้รับการดูแลใกล้ชิด อาทิ ผู้สูงอายุ ครอบครัวมีเด็กอ่อน สตรีมีครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัวที่ควรสังเกตอาการ

การให้บริการของศูนย์ฯ จะมีทั้งการดูแลทางด้านร่างกายและด้านจิตใจ ผ่านการดูแลใกล้ชิดของพยาบาล อย่างไรก็ดี ดาวดีชี้ให้เห็นถึงกลุ่มเปราะบางอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อ ที่อาจถูกรังเกียจและถูกสังคมตีตราได้

“มันค่อนข้างอึดอัด เพราะที่บ้านแฟนก็เสียชีวิตด้วยโควิด แล้วเขาก็กระจายข่าวกันในหมู่บ้าน สภาพจิตใจผมก็เป็นผู้สูญเสีย แล้วยังมาเจอชาวบ้านกดดัน ผมเลยแสดงความรับผิดชอบตัวเองด้วยการย้ายออกมาอยู่ข้างนอก เพื่อที่จิตใจของผมจะได้ดีขึ้นด้วย”

ข้างต้นคือเสียงสะท้อนของผู้ติดต่อเข้ามาพักในศูนย์ฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการตีตราในสังคม ซึ่งนอกจากตัวเขาเองแล้ว ลูกของเขาก็ยังได้รับผลกระทบจากการถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ด้วย เราจึงต้องเร่งหาทางบรรเทาปัญหาของกลุ่มเปราะบางกลุ่มนี้ด้วยการเร่งสร้างความเข้าใจในสังคม เพื่อยับยั้งการตีตราที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเปราะบางไม่ได้มีเพียงแต่ที่พักอาศัยและความเข้าใจในสังคมเท่านั้น แต่อาหารก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญเช่นเดียวกัน และเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนช่วยเหลือด้วย

“เราเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างเยอะ เช่น ความล้าสมัยของกฎหมาย และการเชื่อมข้อมูลที่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข เราเลยหันมาหาประเด็นที่เป็นประเด็นใหญ่ แต่เป็นปัญหาที่แก้ง่าย เพราะเป็นปัญหาเรื่องการจัดการทำอุปทาน (Supply) มาเจอกันอุปทาน (Demand)”

ขณะที่ ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อะบาคัส เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำแชทบอท ‘แบ่งปัน’ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องปากท้องให้กับกลุ่มคนเปราะบาง  โดยลักษณะการทำงานของแชทบอทจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ‘แบ่งปัน-รับปัน-บอกต่อ’

“แชทบอทนี้จะช่วยใน 2 เรื่องด้วยกัน คือเป็นตัวเชื่อมระหว่าง ‘ผู้แบ่งปัน’ กับ ‘ผู้ที่มีความต้องการอาหาร’ รวมถึงเป็นตัวกลางให้ผู้แบ่งปันที่ไม่สะดวกทำอาหารเอง เชื่อมโยงไปยังร้านอาหารขนาดเล็กในชุมชนเพื่อที่จะได้มีรายได้ และนำอาหารไปแบ่งปันให้กับผู้ที่ต้องการ เป็นการแบ่งปันอาหารที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ”

สุทธาภาทิ้งท้ายว่า เธอเสนอให้มีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการออกแบบวิธีการแจ้งแจกอาหารให้ถูกกฎหมาย ผ่านการใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้ามาช่วยลดความยากลำบากด้วย

 

อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แต่จะทำอย่างไรเมื่อบ้านอาจไม่ปลอดภัย?

 

นอกจากกลุ่มคนที่มีความเปราะบางทางด้านรายได้ สันทนี ดิษยบุตร อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ชี้ให้เราเห็นว่า อีกหนึ่งกลุ่มเปราะบางในช่วงโควิด-19 คือ กลุ่มเด็กและผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น สันทนีหยิบยกสถิติเรื่องความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงโควิดระบาด ไม่ว่าจะเป็นในประเทศฝรั่งเศส ที่ความรุนแรงในครอบครัวพุ่งขึ้น 30% หรือในสหราชอาณาจักร ที่มีรายงานร้องเรียนเรื่องความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นถึง 20% ในเมือง Avon และ Somerset ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เพียงแค่ 1 สัปดาห์หลังล๊อกดาวน์

สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศไทย จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่า ในเดือนมีนาคม รายงานความรุนแรงในครอบครัวของไทยลดลง จากเมื่อปีที่แล้วประมาณ 155 ราย เป็น 103 ราย ทำให้หลายคนมีความกังวลว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจมีนัยว่าคนที่ถูกทำร้ายเข้าไม่ถึงการรายงานการแจ้งเหตุ

“ต้องยอมรับว่า ความรุนแรงในครอบครัวแตกต่างจากปัญหาอย่างอื่น ถ้าเราโดนคนอื่นมาทุบตีหรือด่า เราคงไม่รอช้าที่จะไปบอกเพื่อน ไปแจ้งความ แต่ถ้าคนนั้นเป็นคนรักของเรา เป็นสามี เป็นพ่อแม่ หรือบางที ถ้าร้ายแรงที่สุดเป็นลูกของเรา เราก็คงคิดแล้วคิดอีกกว่าจะไปเล่าให้คนอื่นฟัง ส่วนเรื่องแจ้งความก็แทบจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เรานึกถึง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเลยกลายเป็นปัญหาซับซ้อนในช่วงที่เราไม่สามารถออกไปเจอใครได้”

สันทนีให้ข้อมูลว่า มีหลายครั้งที่สมาชิกในครอบครัวที่เหลือทราบถึงการทำร้ายและการกระทำความรุนแรงต่อเหยื่อ แต่ไม่สามารถยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือได้ ทำให้ต้องอาศัยคนนอกบ้านเข้ามาช่วยเหลือ แต่ภาวะโควิดทำให้ไม่สามารถไปแสวงหาความช่วยเหลือข้างนอกอย่างเต็มที่ได้เหมือนภาวะปกติ อีกทั้งการเผชิญหน้ากันตลอดเวลายังทำให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายได้มากขึ้น

ความท้าทายของการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวช่วงโควิด-19 จึงสามารถมองได้ 3 มิติ ทั้งจากมิติตัวผู้ถูกทำร้ายที่กล่าวไปข้างต้น มิติขององค์กรที่ให้ความช่วยเหลือซึ่งจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดในการลงพื้นที่ที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม และองค์กรต้องพิจารณาคุ้มครองบุคลากรไม่ให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ นอกจากนี้ที่พักพิงหรือบ้านพักฉุกเฉินต่างๆ ก็เริ่มมีการตรวจสอบมากขึ้น บางแห่งมีการปิดรับ เพราะการรับคนใหม่มีโอกาสที่จะรับเชื้อเข้ามา ขณะที่ในมิติชุมชนก็เป็นเรื่องยากในการสอดส่อง เพราะการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ยากต่อการพบเห็นความรุนแรงที่หลบซ่อนตัวในบ้าน ซึ่งสันทนีกล่าวว่า “ตอนนี้เราบอกให้อยู่ห่างอย่างห่วงๆ เราก็อาจจะได้ห่วงแต่เรายืนมือเข้าไปช่วยเขาไม่ได้ ไม่ทันท่วงที”

สำหรับการช่วยแก้ปัญหาที่มีการดำเนินการไปแล้ว คือการทำโครงการแชทบอท ‘มายซิส MySis Bot’ ผ่านทาง Facebook เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงสามารถเข้าถึงบริการ และความช่วยเหลือต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเมื่อพูดคุยผ่านกล่องข้อความจะมีคำแนะนำ การให้ข้อมูลทางกฎหมายเบื้องต้นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา และช่องทางติดต่อความช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังขยายไปถึงการแจ้งเหตุและแจ้งเบาะแสเพิ่มเติม เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้

อีกด้านหนึ่ง ทีมงานกำลังพัฒนา ‘MySis dashboard’ ซึ่งเป็นกระดานชนวนแสดงให้เห็นข้อมูลของผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ เพื่อช่วยลดการกระทำซ้ำในกระบวนการ ไม่ต้องเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ทราบเรื่องราว และสามารถติดตามได้ว่าคดีอยู่ขั้นตอนใด รวมถึงสามารถเก็บสถิติได้

“กระบวนการยุติธรรมต้องกลับมามองเรื่องของตัวกระบวนการเองเหมือนกัน อย่างตอนนี้ เราเลื่อนคดีไปสองเดือน ซึ่งก็คงไม่สามารถเลื่อนตลอดไปได้ เราอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติได้ แต่เราคงไม่สามารถหยุดความคุ้มครองเด็ก ผู้หญิง หรือคนที่ได้รับความรุนแรงได้” สันทนีกล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า เหตุการณ์ไวรัสที่เขย่าโลกอยู่ตอนนี้อาจนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นก็เป็นได้

 

เด็กในกรอบการศึกษาอยู่ในสภาวะเปราะบาง

 

“ถ้าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเกิดขึ้นในวันนี้ มันจะเชื่อมโยงและสร้างความเหลื่อมล้ำในเจเนอเรชันต่อไปสันติธารกล่าวถึงความกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดกับกลุ่มเปราะบางในอนาคต เนื่องมาจากมาตรการปิดโรงเรียนและให้ทำการเรียนการสอนที่บ้าน

ความเหลื่อมล้ำที่ว่าสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เรื่องของความพร้อมในการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งเด็กหลายคนไม่มีอุปกรณ์เพื่อใช้เรียนรู้ในโลกออนไลน์ อีกทั้งสภาพแวดล้อมที่บ้านก็ไม่เหมาะสมในการเรียนรู้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาที่เด็กบางคนอาจจะมีช่องว่างทางการเรียนรู้ เมื่อกลับเข้าสู่ภาคการศึกษาปกติแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย โรงเรียนยังเป็นมากกว่าสถานศึกษา แต่ยังเป็นสถานที่ที่ให้บริการหลายๆ อย่าง เช่น อาหารที่ถูกต้องตามโภชนาการและการเลี้ยงดู

ขณะที่สุทธาภาเสริมว่า การให้เด็กเรียนผ่านหน้าจอมากเกินไปอาจมาพร้อมกับปัญหาพฤติกรรมหลายๆ อย่าง และยังเป็นการผลักเด็กส่วนหนึ่งให้เข้าสู่โลกดิจิทัลก่อนวัยอันควร ในขณะที่เด็กเหล่านี้ยังไม่ได้ติดอาวุธในการรับมืออาชญากรรมบนโลกออนไลน์ ที่มีทั้งการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyber Bullying) และการสะกดรอยตามบนโลกออนไลน์ (Cyber-Stalking) ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จำเป็นต้องให้ความรู้เรื่องเท่าทันสื่อ (Digital Literacy) และความปลอดภัยทางไซเบอร์ผ่านโรงเรียน เพื่อให้เด็กได้ติดอาวุธในการสร้างความเข้มแข็งเสียก่อน

เพราะในสถานการณ์ที่มีความลื่นไหลเช่นนี้ คงมีอีกหลายคำถามที่ต้องหาคำตอบและแนวทางในการเยียวยาผู้เปราะบางเดิม และยับยั้งผู้เปราะบางใหม่ต่อไป เพื่อที่เราจะระงับ ‘โรค’ ได้โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save