fbpx
How to เปิดเมืองอย่างไร ให้ปลอดภัยจาก COVID-19

How to เปิดเมืองอย่างไร ให้ปลอดภัยจาก COVID-19

รุ่งรวิน แสงสิงห์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

หลังจากประเทศไทยประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้มีการปิดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และสถานบริการต่างๆ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อของประชาชนจากการทำกิจกรรมที่มีความใกล้ชิดและมีการสัมผัสระหว่างกัน ขณะที่ประชาชนถูกขอความร่วมมือให้ร่วมทำ ‘Social Distancing’ หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยการหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หรือทำกิจกรรมต่างๆ โดยเว้นระยะระหว่างกัน

นอกจากมาตรการระลอกแรกที่ออกมาเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวและลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสแล้ว รัฐบาลยังออกประกาศให้มีการปิดเมืองด้วย ‘เคอร์ฟิว’ ทำให้มีคำสั่งห้ามออกจากบ้านระหว่าง 23.00-04.00 น. ด้วย

การใช้มาตรการกักตัวและปิดเมืองมาได้ราว 1 เดือน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่พบในแต่ละวันเริ่มลดลง จึงเริ่มมีการเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเมือง ทั้งด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจหรือปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น  อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาระหว่างการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้มีรายละเอียดซับซ้อน การใช้นโยบายใดๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกคนในสังคม ทำให้เราต้องให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะโควิด-19 ไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบในระดับสุขภาพ  แต่ยังเปลี่ยนและปรับพฤติกรรมและกิจกรรมการดำเนินชีวิตของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง ‘การเปิดเมือง’ ที่จะมีขึ้นในอนาคตจึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับทุกๆ คน ที่จะต้องมาร่วมกันหาสมดุลระหว่างการจัดการโรคระบาด กับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น

เพราะการเปิดเมืองเป็นโจทย์ที่ยาก ซับซ้อน และต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจจากหลายภาคส่วน จึงมีหลายหน่วยงานจัดการเสวนาเพื่อระดมสมองหาวิธี ‘เปิดเมือง’ ให้ปลอดภัยที่สุด หนึ่งในนั้นคือสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ที่ได้จัดวงเสวนา RoLD Virtual Forum The Series: Living with COVID-19 ในหัวข้อ ‘เปิดเมืองอย่างไรให้ปลอดภัย’ ทางแอปพลิเคชัน ZOOM ผ่านเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนา หรือ RoLD (Rules of Law Development) ซึ่งการจัดวงเสวนาออนไลน์ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการหาวิธีอยู่ร่วมกับโควิด-19 แล้ว ยังเป็นภาพสะท้อนการปรับตัวของประชาชนต่อ ‘ความปกติใหม่’ (new normal) ในการอาศัยโลกออนไลน์เพื่อจัดกิจกรรมและดำเนินชีวิตในมิติต่างๆ ระหว่างการแพร่ระบาดอีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เริ่มต้นวงเสวนาด้วยการอธิบาย ‘ความปกติใหม่ (new normal)’ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตแบบใดก็ตาม ซึ่งทุกคนจำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนี้

นอกจากนี้ กิตติพงษ์ยังได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยน ‘ชุมชน’ ให้กลายเป็น ปราการด่านหน้า (frontline defend) ในการต่อสู้กับโควิด-19 และเปลี่ยนบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็น ปราการด่านสุดท้าย (last line defend)

“การทำเช่นนี้จะช่วยลดภาระและจำนวนงานของแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดในสภาวะโรคระบาดได้มาก อย่างไรก็ดี เราต้องไม่ลืมประเด็นสำคัญคือ การทำให้ชุมชนแข็งแรงและเข้มแข็งจนพอจะกลายเป็นปราการด่านหน้าได้ก็ยากไม่แพ้กัน”

กิตติพงษ์อธิบายว่า วงเสวนานี้จะช่วยเชื่อมโยงภาพใหญ่ให้เห็นความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนชุมชนให้กลายเป็น ปราการด่านหน้า และเปลี่ยนบุคลากรสาธารณสุขให้กลายเป็นปราการด่านสุดท้าย เพื่อรักษาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้มากที่สุด

“ถ้า ทำ track tracing ได้ ระบุตัวตนได้ ทำการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงได้ และสามารถแยกกลุ่มเสี่ยงออกมาได้ หากเราสามารถทำตรงนี้ได้ก็จะเปิดเมืองอย่างปลอดภัย” กิตติพงษ์ปิดท้าย

 

เปิดตำราเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เปิดเมืองอย่างไรไม่ให้ระบาดซ้ำ?

 

ผศ.ดร. ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง ‘เปิดเมืองอย่างไรให้อยู่รอด’ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โดยธานีเผยว่า ขณะนี้ผู้คนกำลังเหนื่อยล้ากับกฎเกณฑ์และข้อบังคับมากมายจากมาตรการป้องกันต่างๆ และหัวใจหลักของการแก้ไขก็คือ “การจัดการความเหนื่อยในเชิงพฤติกรรมและความคาดหวังกับการเปิดเมืองของประชาชน”

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ธานีได้แสดงข้อมูลสำรวจที่พบว่า ในช่วงแรกของการกักตัวและปิดเมือง ประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่พอผ่านไปสองสัปดาห์ แนวโน้มความร่วมมือลดลง เช่น การเข้าไปยังพื้นที่แออัดของประชาชนเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 8.5% สถิติประชาชนที่ออกนอกบ้านเพิ่มขึ้น 30% และหย่อนการ เว้นระยะห่างทางสังคมลง 25%

“ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คนคาดหวังให้รัฐบาลจะต้องเปิดเมืองให้เร็วขึ้น” ธานีกล่าว ซึ่งภาพทั้งหมดนี้นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า “ไม่ว่าจะเปิดเมืองมากหรือน้อย รัฐบาลก็จำเป็นจะต้องคลายมาตรการบางอย่าง”

นอกจากเรื่องความเหน็ดเหนื่อยของประชาชนแล้ว ประเด็นถัดมาที่พบคือ ความกังวลในการเกิด super migration หรือ การเคลื่อนย้ายของผู้คนจากจังหวัดที่ปิดเมืองไปยังจังหวัดที่ถูกเปิด โดยข้อมูลในแบบสำรวจพบว่า ประชาชนที่มีรายได้น้อยยอมเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 เพื่อออกไปทำงาน ข้อมูลดังกล่าวยังมีความสัมพันธ์กับอีกแบบสำรวจที่ถามว่า หากมีการเปิดเมืองแล้ว ผู้มีรายได้น้อยจะย้ายพื้นที่การทำมาหากินหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ พวกเขา “ยอมไปแน่นอน” ดังนั้น รัฐบาลจะต้องระวังและหาทางออก โดยเฉพาะเหตุผลและเกณฑ์ในการเปิดเมืองของแต่ละจังหวัดจะต้องชัดเจนอย่างมาก เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายของคนจำนวนมาก ควบคู่ไปกับการนำมาตรการทางสาธารณสุขมาควบคุมคนที่เคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดด้วย

ประเด็นที่สามคือ ความรู้ระหว่างคนแต่ละกลุ่มต่อเรื่องการปฏิบัติตัวช่วงโควิด-19 ที่คนทุกกลุ่มมีความรู้และทัศนคติเท่ากัน แต่ปฏิบัติตัวได้ต่างกัน ในงานวิจัยฉายภาพให้เห็นว่า แต่ละครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคนในเมือง คนจนเมือง คนชนบท หรือคนชายแดนใต้ ต่างมีข้อจำกัดแตกต่างกัน กลุ่มคนในเมืองจะมีจำนวนสมาชิกครอบครัวน้อยที่สุด ขณะที่กลุ่มคนชายแดนใต้จะมีสมาชิกในครอบครัวมากที่สุด คือประมาณ 5 คน ดังนั้น การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือทำ social isolate จึงมีข้อจำกัดและขึ้นกับแต่ละกลุ่มด้วย

“ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ครอบครัวของคนในเมืองมีจำนวนห้องนอนมากกว่าจำนวนคน จึงทำ social distancing ได้ง่ายกว่า” ธานีกล่าว และนำมาซึ่งข้อแนะนำที่ว่า หน่วยครัวเรือนจะต้องสร้างและออกแบบ family node เพื่อป้องกันภายในบ้าน และต้องมอบความรับผิดชอบให้แม่กับเด็กรุ่นใหม่ด้วย

ประเด็นสุดท้าย คือ การสร้างพลังให้กับประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ เพราะทุกคนพร้อมจะเชื่อใจเพื่อก้าวผ่านปัญหาไป ส่วนนี้จึงสำคัญมากที่รัฐสามารถนำไปใช้เป็นยุทธศาสตร์ได้ อย่างไรก็ดี โจทย์ใหญ่ของประเด็นนี้คือ เราต้องระวังไม่ให้การสร้างพลังให้ประชาชนนำไปสู่การเกิดสภาวะตีตรา (stigma)  คนในพื้นที่ และต้องระวังเรื่องความรุนแรงของคนในสังคมด้วย

 

ลงทุน 2 ทาง สร้างชุมชนเข้มแข็ง

 

“ในการรับมือและอยู่ร่วมกับโควิด-19 เราจำเป็นจะต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบกลไกในระดับชุมชน”

รศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวนำ พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า แนวทางการดำเนินงานของสาธารณสุขที่เราเห็นกันเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ประชาชนจะได้รับเฉพาะข้อมูลของปัญหา เช่น จำนวนผู้ที่ติดเชื้อ แต่หัวใจสำคัญของการทำงานในระดับสาธารณสุขจริงๆ คือ การให้ทุกคน ทุกวัย ในสังคมแข็งแรงและปลอดภัย ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอในการนำ ‘ทุนมนุษย์’ และ ‘ทุนทางสังคม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยในการแก้ไขปัญหาวิกฤตในครั้งนี้

ด้วยความที่มาตรการทางสาธารณสุขจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนปัจเจก และเพิ่มความรู้ ให้ปัจเจกเข้าถึงข้อมูล ชะนวนทองจึงกล่าวว่า หากปัจเจกเข้าถึงข้อมูลและตัดสินใจได้เอง ก็มีโอกาสที่จะพวกเขาปฏิบัติตาม

นอกเหนือจากระดับปัจเจกคือ ระดับครัวเรือน (family level) ซึ่งระบบสาธารณสุขของไทยที่ได้ออกแบบไว้คือ การให้เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าไปขับเคลื่อนในระดับครัวเรือนและชุมชน แต่นี่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะชุมชนสามารถถูกออกแบบให้เข้มแข็งได้ด้วยตัวเอง

“ในกลไกการออกแบบชุมชน จะต้องคำนึงถึงปัจจัยความแตกต่างของภูมิสังคม ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ ผู้คน หรือปัจจัยอื่นๆ นอกจากนี้ การออกแบบต้องมองการพัฒนาทุนมนุษย์ควบคู่กับทุนสังคมไปด้วยกัน ตัวชุมชนเองมีทุนทางสังคมจากการเรียนรู้จากบริบทในพื้นที่ เช่น การมีชุดความรู้ในการป้องกันโรคของคนในชุมชน การล้างมือ การบอกต่อ ถ้าหากเราทำให้คนในชุมชนมีทักษะการเรียนรู้ มีข้อมูลและมีประสบการณ์ตรง ความรู้ด้านสาธารณสุข (Health literacy) ก็จะเกิดขึ้น”

ชะนวนทองกล่าวว่า ทุนทางสังคมของประเทศไทยค่อนข้างเข้มแข็ง มีการเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน และช่วยกันสอดส่องพฤติกรรมของคนในชุมชน หรือที่เรียกว่าการขับเคลื่อนชุมชน (Community Mobilisation) ซึ่งการขับเคลื่อนชุมชน จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนโดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนในชุมชนมีพลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

ในตอนท้าย ชะนวนทองได้เสนอการสร้างโมเดลยั่งยืนสำหรับการสร้างชุมชน ซึ่งประกอบด้วย (1) การให้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ใช้วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ให้มีธรรมนูญสุขภาพและมีกติการะหว่างกันของคนในชุมชน และ (2) เนื่องด้วยโควิด-19 เป็นโรคใหม่ที่ยังไม่มีข้อตกลงกลาง การใช้ทุนทางปัญญาเพื่อช่วยในการสร้างความปลอดภัยจึงเป็นวิธีที่ดี เช่น ให้มีการถอดบทเรียน มีการสร้างหัวข้อในการเปิดเมือง เช่น บทที่หนึ่งเตรียมตัว และนำประสบการณ์ต่างๆ มาบวกกับพลังของชุมชน รวมถึงอาศัยภาคเอกชนด้วย

“โจทย์สำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนคือ เราควรจะใช้ข้อมูลจาก top down และให้นำข้อมูล bottom up มาใช้เป็นบทเรียน จึงจะเกิดความเข้มแข็งขึ้นได้” ชะนวนทองปิดท้าย

 

ถอดบทเรียนแอปพลิเคชันจากต่างแดน: ติดตาม เฝ้าระวัง แต่ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว

 

ขณะที่ สุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการสถาบัน Change Fusion ได้ร่วมถอดบทเรียนประสบการณ์แอปพลิเคชันติดตามผู้เสี่ยงติดเชื้อ และฉายภาพความเป็นไปได้ของการพัฒนาชุมชนและปัจเจกชนจากการพัฒนานวัตกรรมในแอปพลิเคชัน โดยเขาได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างระบบติดตามตัวบุคคลที่มีลักษณะ รวมข้อมูลเข้าศูนย์กลาง (Centralization) กับระบบที่กระจายข้อมูลสู่ปัจเจก (Decentralization)

กลุ่มประเทศแรกที่มีลักษณะการดึงข้อมูลจากระบบติดตามบุคคล (Track tracing) แบบรวมศูนย์ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์และสหภาพยุโรป โดยประเทศสิงคโปร์จะใช้การปล่อยสัญญาณ bluetooth เพื่อระบุตำแหน่งของผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และรัฐบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลโดยออกกฎหมายกำกับเรื่องความเป็นส่วนตัวไว้ในระดับหนึ่ง

ขณะที่ฝั่งสหภาพยุโรปก็มีลักษณะรวมข้อมูลสู่ศูนย์กลางด้วยเช่นกัน โดยได้ออกหลักการร่วม ในลักษณะของชุดหลักการพร้อมกับชุดเครื่องมือแบบเดียวกันทั้งสหภาพยุโรป เพื่อให้ประเทศสมาชิกต่างๆ สามารถนำหลักการชุดเครื่องมือที่ออกแบบไว้ไปปรับใช้ตามความต้องการและความเหมาะสมของประเทศตนเอง

สำหรับระบบปฏิบัติการที่มีลักษณะกระจายข้อมูลสู่ปัจเจก สุนิตย์ได้ยกตัวอย่างประเทศเอสโตเนีย ซึ่งเป็นประเทศนำร่องด้านดิจิทัลและต้นกำเนิดของ Skype โดยเอสโตเนียได้พัฒนาระบบการติดตามบุคคลผ่านทางระบบปฏิบัติการอย่าง Apple และ Google ข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ในระบบจะอยู่ในโทรศัพท์มือถือของแต่ละคน ไม่วิ่งเข้าสู่ศูนย์กลาง ทั้งนี้ สุนิตย์เสริมว่า แอปพลิเคชันสัญชาติไทยอย่าง ‘หมอชนะ’ ก็มีลักษณะคล้ายกับระบบของเอสโตเนียเช่นกัน

อีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจคือเกาหลีใต้ โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ได้แก้กฎหมายในกรณีเกิดการระบาด รัฐสามารถเข้าถึงเข้าถึงข้อมูลของประชาชนได้ รัฐบาลจะใช้แอปพลิเคชันนี้ในลักษณะ ‘เครื่องมือบริหารสาธารณะ’ โดยเมื่อมีการพบผู้ติดเชื้อ จะแจ้งข้อมูลแก่ประชาชนทุกคนผ่านทาง sms ว่าพบผู้ติดเชื้อที่ใด และพบเมื่อไหร่ แต่จะไม่บอกว่าผู้ติดเชื้อคนนั้นเป็นใคร ซึ่งสุนิตย์กล่าวว่า “นี่เป็นการแจ้งความเสี่ยงทุกรูปแบบแก่ประชาชน มีการเปิดเผยข้อมูลแบบ radical transparency คือเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ โดยที่ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล”

ในกรณีของประเทศไทย สุนิตย์ทิ้งท้ายว่า แอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ สามารถทำให้โปร่งใสได้ด้วยการเป็น opensource มีการตรวจสอบกับคณะกรรมการ นำข้อมูลมาใช้เพื่อการแพทย์เท่านั้น และสื่อสารกลับไปยังประชาชนอย่างไม่จำกัด ซึ่งหมดนี้จะสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงของปัจเจกได้

 

แอปพลิเคชัน หมอชนะ’ : หนึ่งเครื่องมือเพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19

 

ส่วนสุดท้ายของการเสวนาคือการพูดถึงแอปพลิเคชันเพื่อการเปิดเมือง และออกแบบแอปพลิเคชันเพื่อรองรับสภาวะ ‘living with COVID-19’ เพราะแม้โควิด-19 จะยังไม่มีทางรักษา แต่เราก็ไม่สามารถปิดเมืองต่อไปโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านอื่น ดังนั้น ทางออกหนึ่งที่น่าสนใจคือ การอยู่ร่วมกับไวรัสโดยมีเครื่องมือที่พร้อมจะสร้างความแข็งแรงให้ระดับปัจเจก

หนึ่งในเครื่องมือที่น่าสนใจคือ แอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ ที่ถูกพัฒนาร่วมกันระหว่าง ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ หน่วยงานรัฐ องค์กรทางธุรกิจตลอดจนสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยประเมินความเสี่ยงได้

สมโภชน์ อาหุนัย  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และเป็นตัวแทนจากทีมพัฒนาแอปพลิเคชันหมอชนะ ได้อธิบายหลักการของแอปพลิเคชันว่า เป็นการนำการระบุพิกัดในระยะไกล (GPS) มาทำงานร่วมกับการระบุพิกัดระยะใกล้ (Bluetooth) และเก็บข้อมูลสถานที่ที่ผู้ใช้ได้เดินทางไปในแต่ละจุด เพื่อประมวลผลแบบเรียลไทม์ว่า ผู้ใช้มีความเสี่ยงอยู่ในระดับใด โดยหมอชนะจะมีการแบ่งกลุ่มผู้ใช้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

 

  1. สีเขียว คือ ผู้ใช้งานที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่มีอาการปรากฎ ไม่เคยมีประวัติเดินทางไปยังต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้ที่มีความเสี่ยงในระยะ 14 วัน
  2. สีเหลือง คือ ผู้ใช้งานที่มีความเสี่ยงน้อย มีไข้หวัด แต่ไม่เคยเดินทางไปยังต่างประเทศ หรือ ใกล้ชิดผู้ที่มีความเสี่ยงในระยะ 14 วัน แต่หากผู้ใช้งานหายจากไข้หวัดแล้ว สถานะก็จะกลับไปเป็นสีเขียว
  3. สีส้ม คือ ผู้ใช้งานที่มีความเสี่ยงสูง มีประวัติการเดินทางไปยังต่างประเทศ และใกล้ชิดผู้ที่มีความเสี่ยงในระยะ 14 วัน แต่ไม่ได้แสดงอาการชัดเจน
  4. สีแดง คือ ผู้ใช้งานที่มีความเสี่ยงสูงมาก มีอาการและมีทั้งประวัติการไปต่างประเทศ และใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในระยะ 14 วัน

 

วัตถุประสงค์ของแอปพลิเคชันหมอชนะคือ ช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับความสะดวกสบายจากการให้ข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่ป้อนเข้าสู่ระบบ อีกทั้งยังช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ให้ปลอดภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ และยังจะช่วยให้รัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ได้รวดเร็ว เพราะหมอชนะมีลักษณะเป็นการสื่อสารสองทาง 2-way communications) ที่ผู้ใช้งานสามารถส่งข้อมูลให้ผู้กำกับดูแลแอปพลิเคชัน ขณะที่บุคลากรที่มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลก็สามารถตรวจสอบสถานะผู้ใช้งานจากแถบสีที่เปลี่ยนไปตามความเสี่ยงเช่นกัน

สำหรับประเด็นเรื่องความโปร่งใสในการใช้ข้อมูล สมโภชน์ได้อธิบายว่า ผู้ใช้งานจะมี ID ที่มีสถานะไม่ระบุตัวตน (anonymous) มีเพียงการอัปโหลดรูปเพื่อใช้เข้าระบบเท่านั้น และสีของบาร์โค้ดก็จะเปลี่ยนไปแบบเรียลไทม์ หากผู้ใช้งานมีมีอาการป่วยและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ถึงเวลานั้นผู้ใช้งานจึงจะต้องแจ้งข้อมูลส่วนตัวกับโรงพยาบาล อย่างไรก็ดี จะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันหมอชนะ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023