fbpx

เมื่อนักวิทยาศาสตร์ประท้วง: จาก WALL-E ถึง Don’t Look Up หรือเรากำลังจะเข้าใกล้ดิสโทเปีย (ถ้าไม่ได้เป็นอยู่ก่อนแล้วน่ะนะ)

ภาพนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจฉุดกระชากลากถู หลังออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลถอนคำสั่งอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกร้อนขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นชนวนหลักที่ทำให้สื่อใหญ่ทั่วโลกจับจ้องมายังปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่หนักข้อขึ้นทุกที พร้อมกันกับที่หลายเหตุการณ์ก็ทับซ้อนฉากในภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการถกเถียงกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับรัฐบาลอย่าง Don’t Look Up (2021) เรื่อยไปจนถึง WALL-E (2008) แอนิเมชันเมื่อสิบกว่าปีก่อน ที่ก็พูดเรื่องโลกซึ่งพินาศย่อยยับจนมนุษย์ต้องระเห็จไปอยู่บนยานอวกาศแทน

กล่าวอย่างย่นย่อสำหรับการประท้วงที่ขยายตัวเป็นวงกว้างในเวลาต่อมานั้น ต้นธารมาจากการตวัดปากกาของรัฐบาลอังกฤษที่เซ็นอนุมัติให้สร้างโรงงานพลังงานฟอลซิลได้ ซึ่งเหล่านักวิทยาศาสตร์เห็นว่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โลกร้อนขึ้นได้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า (จากที่ตอนนี้ก็ร้อนอยู่แล้ว) และเมื่อถึงจุดนั้นโลกก็อาจอยู่ในจุดที่ ‘เกินเยียวยา’ จนไม่อาจหวนกลับสู่สภาวะปกติได้อีกต่อไป ขณะที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change -IPCC) ก็ตีพิมพ์บทความที่ว่าด้วยสภาพอากาศโลกที่อยู่ในภาวะวิกฤตสุดขีด ยิ่งทำให้การอนุมัติสร้างโรงงานพลังงานฟอสซิลของรัฐบาลอังกฤษยิ่งไม่ชอบธรรมในแง่สิ่งแวดล้อม

YouTube video

ยิ่งสำหรับในสหราชอาณาจักร ประเด็นนี้ลากยาวมาตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ นำโดย Just Stop Oil กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ประท้วงแทบทุกวิถีทางให้รัฐบาลยุติการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล รวมทั้งยุติการสนับสนุนแก่กลุ่มทุนที่จะเข้ามาลงทุนจากโรงงานไฟฟ้า เรื่อยไปจนถึงการขุดเจาะน้ำมันและผลิตเชื้อเพลิง (หลายคนน่าจะเคยเห็นการประท้วงของกลุ่ม Just Stop Oil จากพรีเมียร์ลีก นัดระหว่างนิวคาสเซิลกับเอฟเวอร์ตัน เมื่อมีผู้สวมเสื้อสีส้ม สกรีนข้อความ Just Stop Oil แล้วผูกตัวเองเข้ากับเสาประตูจนต้องระงับเกมไปพักหนึ่ง)

ดารอน เธียรี นักนิเวศวิทยาบอกว่า “รัฐบาลเพี้ยนสนิทเลย ผมไม่รู้แล้วต้องทำอะไรมากไปกว่านี้ได้ คือพยายามเรียกร้องความสนใจเพื่อปลุกให้สาธารณะชนรับรู้ประเด็นนี้” เขาบอก “สักสัปดาห์ก่อนมีรายงานจากนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกหลายคนที่ชี้ให้เห็นว่านี่เป็นสัญญาณเตือนสุดท้ายจากโลกแล้ว เราต้องหยุดหมกมุ่นกับพลังงานฟอสซิลสักที แล้วอีกสองสามวันให้หลัง รัฐบาลอังกฤษก็ตอบรับด้วยการอนุมัติให้มีการขุดหาน้ำมันกับแก๊สเพิ่มจนหยดสุดท้ายอีก

“วิทยาศาสตร์ชี้ว่าการทำเช่นนี้ยิ่งทำให้พวกเราล่มสลาย และเราจะไม่ยอมทนมองให้มันเกิดขึ้นเฉยๆ หรอก อันที่จริง นักวิทยาศาสตร์ก็พร่ำเตือนเรื่องนี้กันมาเป็นทศวรรษแล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่เคยใส่ใจสักที”

ดร.ชาร์ลี การ์ดเนอร์ นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการอาวุโสประจำมหาวิทยาลัยเคนต์เสริมว่า “ถ้ามองจากนโยบายทั้งในและนอกประเทศ ก็จะพบว่ามีตัวละครมากหน้าหลายตาทีเดียวที่ไม่อยากให้สังคมเราไปสู่จุดที่เราไร้คาร์บอน (decarbonise -ใช้พลังงานโดยไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์) อย่างพวกคนที่ตักตวงเงินทองและอิทธิพลจากสิ่งที่โลกเราเป็นอยู่ตอนนี้ก็ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรหรอก แล้วก็แน่ล่ะว่าพวกเขาไม่อยากให้วิธีการใช้พลังงานโดยไร้คาร์บอนนั้นเกิดขึ้นได้จริงเพราะมันไปปิดหนทางทำเงินจากพลังงานฟอสซิลของพวกเขายังไงล่ะ

“แล้วสิ่งที่เราได้รับตอนนี้คือรัฐบาลที่ตัดสินใจพาพวกเราทั้งยวงไปหาหายนะ และผมเองในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่ตระหนักรู้เรื่องผลกระทบต่างๆ ผมรู้ดีทีเดียวว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภายหน้า และทนอยู่นิ่งๆ ไม่ได้หรอก ปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเหตุนี้ผมจึงต้องออกมาพูด”

นอกจากเธียรีและการ์ดเนอร์ที่ตัดสินใจแสดงออกด้วยการลงถนนประท้วง ยังมีนักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกหลายคนที่พยายามขยับขยายพื้นที่การรับรู้ของประชาชนด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ มิแรนดา วีเลอฮาน นักศึกษาและนักเคลื่อนไหวที่พยายามเตือนรัฐบาลอังกฤษเรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาจากนโยบายน้ำมันและอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลด้วยการออกรายการ Good Morning Britain -รายการข่าวยักษ์ใหญ่ของสหราชอาณาจักร- เพื่อจะพบว่า ริชาร์ด แมดีลีย์ ผู้ดำเนินรายการมองข้ามประเด็นที่เธอต้องการสื่อและหันไปสนใจอย่างอื่นแทน จนเป็นเหตุให้วีเลอฮานเขียนเรื่องนี้ลงเว็บไซต์ The Guardian ว่า ‘ฉันแค่ไปออกทีวีเพราะต้องการให้รัฐหยุดเรื่องน้ำมัน แต่มันกลับออกมาเหมือนล้อหนังเรื่อง Don’t Look Up เฉยเลย

Don’t Look Up

กล่าวสำหรับ Don’t Look Up หนังลำดับล่าสุดของ อดัม แม็กคีย์ ที่เข้าชิงออสการ์สี่สาขารวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ว่าด้วย แรนดัลล์ (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) และเคต (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) สองนักวิทยาศาสตร์ที่พบว่าอีกไม่กี่เดือนภายหน้านี้อุกกาบาตยักษ์จะพุ่งตรงเข้ามาชนโลก เลยหัวหกก้นขวิดขอเข้าพบประธานาธิบดี (เมอริล สตรีป -ที่มอบการแสดงแบบเล่นใหญ่เห็นชัดเหมือนแปะป้ายอยู่บนหน้าผากว่ากำลังเลียนแบบอดีตปธน. ขวาจัดของสหรัฐฯ) ที่ก็เมินเฉยประเด็นนี้เพราะกำลังง่วนเรื่องการรักษาภาพลักษณ์และหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งครั้งถัดไป แต่ทั้งแรนดัลล์และเคตก็ยังไม่ยอมแพ้ พวกเขาไปออกรายการข่าวยักษ์ใหญ่ ซึ่งผู้ดำเนินรายการไม่สนใจเนื้อหาที่พวกเขาพูดแม้แต่นิดและหันไปทักเรื่องชีวิตส่วนตัวตลอดจนเรื่องราวอื่นๆ ที่อยู่ไกลจากเรื่องอุกกาบาตลิบลิ่ว

ไม่ต่างกันจากชะตากรรมของวีเลอฮานนัก เธอพยายามอธิบายถึงวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้จมูกของรัฐบาลและประชาชนชาวอังกฤษทุกคน แต่แมดีลีย์บอกเธอเพียงว่า “เสื้อผ้าที่คุณสวมอยู่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาน้ำมันเหมือนกันนะ เพราะมันถูกขนส่งด้วยรถยนต์, รถบรรทุกหรือรถตู้เพื่อนำส่งไปยังร้านค้าน่ะ” และวีเลอฮานตอบกลับอย่างเหลืออดว่า “เรากำลังพูดเรื่องวิกฤตผลผลิตทางการเกษตรที่จะเกิดขึ้นในปี 2030 กำลังพูดถึงผู้คนในประเทศนี้ที่กำลังเผชิญปัญหาพลังงานเชื้อเพลิงจากราคาน้ำมัน แล้วคุณก็มาพูดเรื่องเสื้อผ้าที่ฉันสวมอยู่เนี่ยนะ” ซึ่งแทบจะทาบเป็นหนึ่งเดียวกับฉากที่ตัวละครเคตระเบิดลงกลางรายการเมื่อถูกผู้ดำเนินรายการพูดติดตลก ออกนอกประเด็นเรื่อยเปื่อยจนเธอขึ้นเสียงว่า “ขอโทษทีนะ นี่เรายังพูดกันไม่ชัดพอหรือไง เราพยายามบอกคุณว่าโลกนี้กำลังจะโดนทำลายนะโว้ย” (ในเวลาต่อมา ช่องยูทูบรายการ The Mehdi Hasan Show เอาฉากจากหนังและฉากที่วีเลอฮานให้สัมภาษณ์กับแมดีลีย์มาตัดเทียบกันให้เห็นแบบฉากต่อฉาก)

YouTube video

“ส่วนที่แย่ที่สุดของเรื่องนี้คือผู้ดำเนินรายการและสื่อมวลชนคิดไปว่าตัวเองรู้ดียิ่งกว่าหัวหน้านักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องวิกฤตสภาพอากาศมาไม่รู้กี่ทศวรรษ ทั้งยังปฏิเสธไม่ฟังความเห็นต่างด้วย นี่มันเป็นความตั้งใจจะปิดหูปิดตาตัวเอง ซึ่งจะทำร้ายเราทุกคนในที่สุด” วีเลอฮานเขียนในบทความ

“เมื่อการสัมภาษณ์จบลง ฉันพยายามคุยกับ รันเวียร์ ซิงห์ (ผู้ดำเนินรายการหญิง) และแมดีลีย์ว่าเรื่องนี้มันจริงจังขนาดไหน แต่แมดีลีย์บอกให้ฉันเงียบแล้วนั่งดูพิธีกรพยากรณ์อากาศไป”

“สิ่งที่ฉันกลัวคือทางเดียวที่พวกเขาจะเข้าใจวิกฤตเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงก็เมื่อมันมาจ่ออยู่ใต้จมูกแล้วนั่นแหละ เช่นเมื่อน้ำหลากอย่างคุมอะไรไม่ได้ทะลักเข้าไปในบ้านพวกเขา หรือไม่ก็ตอนที่พวกเขาหาอาหารจากในซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้อีกแล้ว ไม่ก็อาจจะเป็นตอนที่ตระหนักได้ว่ากำลังสูญเสีย ‘ดาวเคราะห์ที่เราอาศัยอยู่ได้’ ไปแล้วนั่นแหละ ถึงตอนนั้นพวกสื่อมวลชน ผู้รายงานข่าวและคนที่ไม่ค่อยสนใจปัญหาเรื่องสภาวะอากาศผิดเพี้ยนอาจจะคิดขึ้นมาได้ว่า ‘ตายล่ะ รู้อย่างนี้เราน่าจะฟังพวกนั้นสักหน่อย ลงไม้ลงมือทำอะไรสักอย่างเข้าหน่อย’ และก็แน่นอนว่า มันสายไปแล้วล่ะ”

“ความเฉยเมยของรัฐบาลนั้น ฉันเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะถูกตัดสินให้เป็นอาชญากรรมอย่างแน่นอน”

เช่นเดียวกับตัวละครของลอว์เรนซ์ที่ตะบี้ตะบันยืนกรานต่อประธานาธิบดีว่าการจะหยุดยั้งวิกฤตโลกนั้นไม่อาจใช้แค่ ‘เรี่ยวแรงของคนตัวเล็กตัวน้อย’ ได้ แต่ต้องมีที่มาจากนโยบายรัฐที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะส่งจรวดหรือนักบินอวกาศไปทุบเจ้าอุกกาบาตยักษ์ทิ้งก่อนมันดิ่งมาชนโลก วีเลอฮานย้ำว่า นาทีนี้รัฐจำเป็นต้องมีหมุดหมาย ออกกฎเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อยับยั้งวิกฤตทางสภาพอากาศก่อนจะสายเกินแก้ และหนึ่งในนั้น -ที่อยู่นอกเหนือกำลังมือ ‘คนตัวเล็กตัวน้อย’ ไปแล้ว- คือการระงับการอนุมัตินโยบายพลังงานหลายๆ ประการ และหนึ่งในนั้นคือหยุดให้การสนับสนุน หรือให้เงินทุนแก่บริษัทเอกชนที่จะเข้ามาทำกิจการขุดเจาะน้ำมันหรือโรงไฟฟ้าด้วย

WALL-E

ท่าทีของรัฐบาลจึงแนบเป็นหนึ่งเดียวกันกับบทบาทของกลุ่มทุน ซึ่งสำหรับประเด็นนี้ อเล็กซ์ เว็บบ์ คอลัมนิสต์จากเว็บไซต์ Bloomberg ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความ ‘เมื่อฝันร้ายจาก WALL-E กลายเป็นความจริงขึ้นมา‘ ว่า ภายใต้สภาพการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะโลกร้อน, วิกฤตผลผลิตทางการเกษตร ไปจนถึงเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันมนุษย์ เขานึกถึง WALL-E แอนิเมชันดิสโทเปียจากค่ายพิกซาร์ที่คว้ารางวัลแอนิเมชันยอดเยี่ยมแห่งปีไปครอง (และชิงอีกห้าสาขา รวมถึงเขียนบทยอดเยี่ยมด้วย)

WALL-E กำกับโดย แอนดรูว สแตนตัน เล่าเรื่องขวบปีที่โลกล่มสลายโดยสมบูรณ์จนกลายเป็นดาวเคราะห์ร้างนาน 700 ปีเพราะมนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ไม่ได้ ต้องระเห็จเผ่าพันธุ์ขึ้นไปใช้ชีวิตกันอยู่บนยานอวกาศยักษ์หน้าตาหรูหรา ทิ้งไว้เพียง วอลล์-อี หุ่นกระป๋อง (ที่เห็นหน้าแล้วต้องอุทานว่า ‘น้อนนน~’) ทำหน้าที่เก็บขยะบนโลก เพื่อนที่เป็นสิ่งมีชีวิตตัวเดียวคือแมลงสาบที่คงกระพันทุกสถานการณ์ วันหนึ่งมันได้เจอกับ อีฟ หุ่นยนต์นักสำรวจจากนอกโลกซึ่งวอลล์-อีประทับใจมากจนมอบต้นไม้เป็นของขวัญให้ผู้มาเยือน โดยไม่รู้เลยว่าการที่ต้นไม้ยังงอกงามบนโลกได้ถือเป็นนิมิตหมายว่าสิ่งมีชีวิตอื่น -นอกจากแมลงสาบ- ก็สามารถเติบโตบนดาวเคราะห์นี้ได้อีกเช่นกัน อีฟจึงหอบเอาต้นไม้และวอลล์-อีกลับไปยังยานแม่อันเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ซึ่งมีหุ่นยนต์คอยปรนนิบัติทุกอิริยาบถ ตั้งแต่หาอาหารจนถึงกิจวัตรประจำวันง่ายๆ อย่างการล้างหน้าแปรงฟัน หรือกล่าวอย่างย่นย่อคือ มนุษย์มีหน้าที่นั่งหายใจตัวบวมอยู่บนเก้าอี้ รอคอยให้บรรดาหุ่นยนต์มอบความสะดวกสบายให้

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญที่นำไปสู่ความล่มสลายบนโลกมนุษย์คือ Buy’N’Large บริษัทยักษ์ใหญ่ (ที่นอกเหนือจากเป็นตัวละครสำคัญใน WALL-E แล้ว มันยังไปปรากฏอยู่ในแอนิเมชันเรื่องอื่นๆ ของพิกซาร์ด้วย เช่น Toy Story 3, LEGO The Incredibles ใครตาดีไปตามหาดูกันได้จ้า) ที่ผูกขาดธุรกิจและกระตุ้นให้มนุษย์บริโภคอย่างหนักจนระบบการผลิตล่มสลาย และเมื่อมนุษย์อพยพไปใช้ชีวิตบนยานขนาดยักษ์นั้น ‘ทุนนิยม’ ของ Buy’N’Large ก็ยังตามติดขึ้นไปด้วยในฐานะของอุปโภคบริโภค (ในบทความมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นภาพสะท้อนของบริษัทแอมะซอน ที่เมื่อปี 2008 ทำรายได้ไปถึง 19,000 ล้านเหรียญฯ และประมาณการว่าในปี 2022 นี้จะทำเงินได้ถึงห้าแสนล้านเหรียญฯ และกินพื้นที่ตลาดอี-คอมเมิร์ซในเฉพาะสหรัฐฯ ไปแล้วถึง 40%)

อเล็กซ์ เว็บบ์ ชี้ให้เห็นความคล้ายคลึงระหว่างเรื่องแต่งกับความจริงบางประการ ไม่ว่าจะในแง่สภาพอากาศที่แปรปรวนจนสิ่งมีชีวิตอยู่อาศัยได้ยาก, ภาวะการพึ่งพิงระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี และโปรเจ็กต์ทัวร์อวกาศของสเปซเอ็กซ์โดย อีลอน มัสก์ สนนราคาที่ 55 ล้านเหรียญฯ (ตกราวๆ เกือบสองพันล้านบาทไทย -คำนวณว่าหากเก็บเงินด้วยอัตราสม่ำเสมอ ผู้เขียนน่าจะได้ตั๋วกับเขาบ้างในอีกสักสามร้อยปีข้างหน้า) ที่ครอบคลุมความสะดวกสบายทุกอย่างในการใช้ชีวิตบนอวกาศเช่นเดียวกับยานยักษ์ในแอนิเมชัน

“ปกติผมชอบนะที่เป็นฝ่ายคาดการณ์อะไรถูก แต่มันต้องไม่ใช่แบบนี้สิ” สแตนตันให้สัมภาษณ์เว็บบ์ “กับอะไรต่อมิอะไรก็ตามในหนังเรื่องนี้ ผมไม่ได้อยากให้ตัวเองเป็นฝ่ายคาดการณ์ถูกเลยจริงๆ”

“ตอนทำหนัง เราก็หยิบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเรานี่แหละเป็นหลัก เราสั่งพัสดุเยอะแยะ บางครั้งก็รายวันทีเดียว นึกออกใช่ไหมครับ ซึ่งตอนนี้คงเป็นเรื่องปกติแล้วล่ะ แต่ว่าตอนนั้นผมสงสัยว่า ‘กล่องพัสดุพวกนี้มันจะไปไหนต่อล่ะ’ แล้วนั่นแหละครับที่ไอเดียว่าด้วยเรื่องบริโภคนิยมมันก็เข้ามา ทั้งยังดูเป็นประเด็นที่คาดเดาอะไรได้ง่ายด้วย คือมันก็แค่ว่าผมนั่งมองดูคนมาส่งของหน้าบ้านแล้วเห็นกล่องพัสดุมันทบเท่าทวีคูณขึ้นไปทุกวันๆ แค่นั้นเอง”

สอดรับกันกับที่ โจชัว ริเวรา คอลัมนิสต์จากเว็บไซต์ The Verge แสดงความเห็นไว้ในบทความเมื่อปี 2020 ว่า โลกดิสโทเปียใน WALL-E นั้นเกิดขึ้นเพราะมนุษย์เลือกอิงแอบกับบริษัททุนมากกว่ามนุษย์ด้วยกันเอง การบริโภคล้นเกินยังผลให้โลกกลายเป็นถังเก็บขยะและสร้างมลพิษจนมนุษย์อยู่ไม่ได้ มิหนำซ้ำ การที่มนุษย์กลายเป็นหนึ่งเดียวกับทุนนิยมที่หยิบป้อนสารพัดสิ่ง -ไม่ว่าจะอาหาร, ความบันเทิงหรือความสะดวกสบายครบสูตร- ผลักให้มนุษย์กลายเป็นสิ่งมีชีวิตอ่อนปวกเปียก แทบจะยืนและเดินด้วยสองขาไม่ได้ และไม่เคยมองเห็นอะไรอื่นนอกจากสิ่งที่ Buy’N’Large เลือกมาให้แล้วว่าจะให้ปรากฏบนหน้าจอ

แน่นอนว่าการดูซากโลกกลายเป็นถังเก็บขยะขนาดมหึมาใน WALL-E ก็อาจจะดูเกินจินตนาการในเวลานี้อยู่มากทีเดียว หรือมันอาจจะยิ่งดูห่างจากความจริงมากกว่าเดิมเมื่อเวลานี้เราก็ไม่ได้เผชิญกับอุกกาบาตยักษ์แบบใน Don’t Look Up หากแต่นี่ก็ไม่ได้แปลว่าหายนะในโลกแห่งความจริงเป็นเรื่องที่ยังวางใจและเพิกเฉยได้ ตรงกันข้าม เราน่าจะเคยสัมผัสความแปรปรวนของสภาพอากาศด้วยตัวเองมาแล้วไม่มากก็น้อย ทั้งภาวะน้ำท่วมที่รุนแรงและคาดการณ์ลำบากขึ้นทุกที ตลอดจนฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้นทุกปีเป็นลำดับ มีการคาดการณ์กันคร่าวๆ ว่าในอนาคต เด็กรุ่นใหม่ก็ต้องเสี่ยงเผชิญหน้ากับภัยพิบัติต่างๆ มากกว่าคนรุ่นก่อนหลายเท่าตัวอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ถึงที่สุดเราคงไม่อยากเดินรอยตามทั้ง Don’t Look Up และ WALL-E ตลอดจนหนังดิสโทเปียเรื่องอื่นๆ ซึ่งเวลานี้เห็นได้ชัดว่านอกเหนือจากภาคประชาชนแล้ว บริบทสำคัญที่มีส่วนขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างมากคือการกำหนดนโยบายและทิศทางจากภาครัฐ ไม่ว่าจะในแง่ของการออกกฎจำกัดเรื่องมลพิษ ไปจนถึงการควบคุมกลุ่มทุนต่างๆ

หันมองบ้านเรา ก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปหวังจากนายกฯ ที่ยังพูดเผียดๆ ถูกๆ ระหว่าง software กับ soft power ยังไม่นับวีรกรรมใช้สปีชรณรงค์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ บารัก โอบามา เมื่อครั้งไปงาน COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ในปี 2021 ที่ผ่านมา (เปลี่ยนจาก ‘plan B’ เป็น ‘แผนสอง’)

แต่ก็นั่นแหละ คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ จะเอาอะไรไปหวังจากนายกฯ ที่มาจากการยึดอำนาจตั้งแต่แรกกัน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save