ปริทัศน์วรรณกรรมปฏิวัติพากย์ไทย ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

“ครั้นถึง ร.ศ. 130 คือ พ.ศ. 2454…น.ส.พ.ลงข่าวตื่นเต้นติดต่อกันถึงสงครามในประเทศจีนระหว่างฝ่ายเก็กเหม็ง (สำเนียงแต้จิ๋ว) ภายใต้การนำของซุนยัดเซ็นกับฝ่ายกษัตริย์ราชวงศ์แมนจู ครูบางท่านที่ก้าวหน้าได้ติดตามข่าวและเอามาวิจารณ์ให้นักเรียนฟังว่า วันไหนฝ่ายใดชนะ ฝ่ายใดแพ้ ซึ่งทำให้ปรีดีและนักเรียนที่สนใจเกิดสนุกกับข่าวนั้น… ต่อมาในไม่ช้าความปรากฏว่าฝ่ายกษัตริย์แห่งราชวงศ์แมนจูต้องพ่ายแพ้ ครูที่ก้าวหน้าจึงพูดเปรยๆ กับปรีดีว่า ระบบสมบูรณาฯ ก็สิ้นไปแล้วในจีน ยังเหลือแต่รุสเซียกับเมืองไทยเท่านั้น ครูไม่รู้ว่าระบบสมบูรณาฯ ใดใน 2 ประเทศนี้ ประเทศใดจะสิ้นสุดก่อนกัน”

บันทึกการประกอบขึ้นซึ่งจิตสำนักทางอภิวัฒน์ของ ปรีดี พนมยงค์[1]

บทบาทวรรณกรรมในฐานะของเครื่องมือเผยแพร่อุดมการณ์ปฏิวัติจากต่างประเทศดูจะเข้มข้นขึ้นทันทีที่ผลัดแผ่นดินเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 อันเป็นผลมาจากบริบทก่อนหน้านั้นไม่นานนัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางการเมืองทั้งในประเทศตุรกีและโปรตุเกส ทั้งนี้ ในต้นรัชสมัยของพระองค์ เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบมากกว่าการปฏิวัติที่อื่นใด ได้แก่ความสำเร็จของ “การปฏิวัติซินไฮ่ 辛亥革命” เพื่อล้มล้างสถาบันกษัตริย์ของซุนยัตเซ็น ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในสังคมสยามว่า “เก๊กเหม็ง” (บ้างก็สะกด “เก็กเหม็ง”) เป็นการปฏิวัติใหญ่ของจีนที่อุบัติขึ้นเพียงหนึ่งปีหลังการเถลิงราชสมบัติของ ร.6

รัฐสยามสมัยนั้นย่อมมิอาจปิดกั้นความเชี่ยวกรากของกระแสข่าวการเปลี่ยนแปลงในโลกขณะนั้นไว้ได้  ผู้เขียนเคยผ่านตาหนังสือเล่มหนึ่งตีพิมพ์ภาพชุดการปฏิวัติซินไฮ่บรรยายไทยที่อ้างชื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบ ในนามตัวแทน “สมาคมลับ สำนักคฤศตังอั้งยี้สยาม” พร้อมคำนำ 3 แผ่นที่แสดงความคิดเห็นค่อนข้างดุเดือดลงท้ายปีไว้เมื่อ ค.ศ. 1912 [2]

หนังสือภาพการปฏิวัติจีนที่อ้างว่าเป็นของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ตีพิมพ์ ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455)
หนังสือภาพการปฏิวัติจีนที่อ้างว่าเป็นของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ตีพิมพ์ ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455)
หนังสือภาพการปฏิวัติจีนที่อ้างว่าเป็นของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ตีพิมพ์ ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455)

แม้ผู้เขียนจะ Skeptical ต่อหนังสือฉบับนี้จนยังไม่ปักใจว่าจะเป็นของแท้แน่หรือไม่ แต่หากพิจารณาแล้ว เนื้อหาในเล่มพอดูจะสอดคล้องกับเหตุการณ์เมื่อครั้งคณะ ร.ศ.130 วางแผนก่อการที่บันทึกในหนังสือหมอเหล็งรำลึกไว้ว่า“โอกาสนั้นเองหมออัทย์ได้นำสมุดภาพ และแฟ้มบรรจุเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจีนมาให้สมาชิกชม”![3]

อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่าระยะนั้นหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ ที่เพิ่งก่อตั้งปลายรัชกาลที่ 5 โดยปัญญาชนจีนสยาม นายเซียวฮุดเสง ได้เกาะติดและนำเสนอความคืบหน้าการปฏิวัติในจีนอย่างต่อเนื่อง (ดูภาพประกอบหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ ฉบับ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2454) อีกทั้งภายในปีเดียวกับการพิพากษาจำคุกคณะ ร.ศ.130 ที่ล้มเหลวจากความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยกำลังทหารครั้งแรกนั้นเอง นายเซียวฮุดเสงยังจัดพิมพ์หนังสือพงษาวดารสังเขปประเทศอังกฤษ อันแฝงแนวคิดการเมืองการปกครองสมัยใหม่

ข่าว “เก๊กเหม็งจีน” ในจีนโนสยามวารศัพท์ วันที่ 6 พฤษภาคม ร.ศ.130 (พ.ศ. 2454)

เซียวฮุดเสงเสนอคำนำไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้เคยนึกมานานแล้วว่า เรื่องพงษาวดารต่างประเทศนั้นไม่ใคร่มีใครแปลออกเปนหนังสือไทย…เรื่องต่างๆ ที่แปลเปนภาษาไทยมากที่สุดก็คือเรื่องจีน…ก็ล้วนเปนเรื่องอ่านเล่น ซึ่งจีนที่เปนนักเลงหนังสือไม่มีใครยกเรื่องราวในหนังสือเหล่านั้นขึ้นอ้างเปนหลักถานเลย ส่วนเรื่องราวของฝรั่งนั้น ในเวลานี้ ก็มีผู้แปลออกเปนภาษาไทยบ้างแล้ว แต่เปนเรื่องอ่านเล่นโดยมาก ที่เปนพงษาวดารแห่งประเทศจริงๆ เกือบบอกได้ว่าไม่มีเลย[4] เหตุนี้จึงทำให้ข้าพเจ้าเกิดความปรารภอยากแปลพงษาวดารต่างประเทศออกเปนภาษาไทย เพื่อประโยชน์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เรื่องนี้ ภ.ศ.ร.สหายของข้าพเจ้า มีความเห็นพ้องด้วย จึงรับอาษาจะแปลเรื่องพงษาวดารฝรั่งให้ แต่ข้างฝ่ายจีนนั้นมอบให้เปนหน้าที่ข้าพเจ้า…ส่วนพงษาวดารจีนที่เปนหน้าที่ของข้าพเจ้านั้นยังอยู่ในความพยายาม จะบอกไม่ได้ว่า เมื่อไรจึงจะสำเร็จ[5]

ด้านตัวผู้แปลนามแฝง “ภ.ศ.ร.” กล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ไว้ว่า “หนังสือพงษาวดารสังเขปประเทศอังกฤษเล่มนี้ ข้าพเจ้าแปลแลเรียบเรียงจากหนังสืออังกฤษฉบับหนึ่ง…ในหนังสือฉบับนี้แบ่งเป็น 53 บท จัดเปน 10 ภาค เริ่มใจความตั้งแต่เมื่อเกาะอังกฤษยังเปนป่าเถื่อนอยู่ เปนลำดับมาจนถึงรัชกาลของพระราชินีวิกตอเรีย เมื่อ ค.ศ. 1901 เปนที่สุด…1 สิงหาคม ร.ศ. 131”[6]

นอกจากนี้ หนังสือพงษาวดารสังเขปประเทศอังกฤษขนาดหนาจำนวน 332 หน้านี้ยังได้สอดแทรกประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองในฝรั่งเศสไว้ด้วยว่า “พระเจ้าหลุยที่ 16 ได้ครองราชย์สมบัติอยู่ในเวลานั้น พระองค์ก็ทรงตั้งอยู่ในยุติธรรมมีพระไทยเมตตาปรานีดี ทรงคิดจะจัดการปกครองให้เรียบร้อยราษฎรจะได้อยู่เย็นเปนสุข แต่พวกเจ้าแลขุนนางทั้งปวงมิเห็นชอบด้วยพระเจ้าหลุยที่ 16 จึงทรงทำไปไม่ได้ตลอด ราษฎรจึงซ่องสุมรวบรวมตัวขึ้นในกรุงปารีส จับเจ้าแผ่นดินและพระมะเหษีพระวงษานุวงษ์จำคุกไว้สำเร็จโทษตัดศีร์ษะหลุยที่ 16 กับพระมะเหษีแลพี่นางของพระมะเหษีเสียเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ.1793”[7]

หนังสือรวมเล่มของ “อัศวพาหุ” ภาคจีน และ ภาคไทย, พงษาวดารสังเขปประเทศอังกฤษ ร.ศ.130 (พ.ศ. 2455), พงศาวดารยี่ปุ่น เล่ม 1-2-3 (พ.ศ. 2459) และ ราสปูติน แปลจาก Rasputin The Minister of Evil พ.ศ. 2467

ฉากของปฏิวัติฝรั่งเศสดังว่าถูกนำมาขยายถ่ายทอดในวรรณกรรมร่วมสมัยที่อ้างว่าแปลจากภาษาต่างประเทศ ชื่อว่า รักนักมักหน่าย เมื่อ พ.ศ. 2459 โดยมีตัวเอกชื่อเลียนแบบบุคคลในประวัติศาสตร์ว่า มาร์คิส์เดอะลาวัลแยรส์ และพบคำจัดความเครื่องบั่นคอมนุษย์ Guillotine ไว้ว่า “กีโลตินเปนเครื่องประหารชีวิตคนโทษ ซึ่งมีคนๆ หนึ่งชื่อกิโลตินเปนผู้คิดขึ้น เครื่องนั้นจึงได้ชื่อตามเจ้าของผู้คิด. กิโลตินเปนคนในชุดแรกซึ่งถูกประหารด้วยเครื่องอย่างนี้.”[8]

หนังสือ “รักนักมักหน่าย” เรื่องตามความเปนจริงในสมัยหนึ่งแห่งประวัติการฝรั่งเศส พ.ศ. 2459
หนังสือ “รักนักมักหน่าย” เรื่องตามความเปนจริงในสมัยหนึ่งแห่งประวัติการฝรั่งเศส พ.ศ. 2459

ภาพวาดเครื่องจักรสังหารนี้ย่อมเป็นของแสลงในระบอบเก่า แต่ทันทีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 มันได้ถูกนำเสนอขึ้นปกหนังสือเป็นครั้งแรกชื่อว่า ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส (พ.ศ.2477) ปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึงหนังสือพิมพ์ของเซียวฮุดเสงไว้ในหนังสืองานศพปัญญาชนจีนสยามท่านนี้ไว้ดังนี้ “หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ได้ทำหน้าที่นำให้เกิดมติมหาชนไปในทางระบอบประชาธิปไตย”[9] ขณะที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม บันทึกไว้ในอนุสรณ์เล่มเดียวกันนี้ว่า “ข้าพเจ้าเริ่มรู้จักกิตติคุณของท่านเซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ในราวปี พ.ศ. 2454 ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นเจ้าของ บรรณาธิการและผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือพิมพ์ฉะบับนี้ตลอดมาเป็นเวลานาน”[10]

ถึงแม้ว่าผู้เขียนยังไม่พบหนังสือพงศาวดารจีนฉบับที่เซียวฮุดเสงปรารภไว้ว่าจะจัดพิมพ์ขึ้น แต่หลังปฏิวัติซินไฮ่ การโต้ตอบเรื่องลัทธิการเมืองระหว่างปัญญาชนจีนสยามผู้นี้กับในหลวงรัชกาลที่ 6 ที่ทรงใช้นามปากกาว่า “อัศวพาหุ”[11] เป็นไปอย่างเผ็ดร้อน[12] จนแม้แต่หลวงวิจิตรวาทการยังจดจำเรื่องราวช่วงนั้นได้แม่น[13] ว่า “ในขณะที่ประเทศจีนเปลี่ยนการปกครองแล้วใหม่ๆ ข้าพเจ้ามีอายุ 15 ปี แต่ก็พอใจอ่านความเห็นของอัศวพาหุที่โต้ตอบกับหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ ข้าพเจ้าอ่านซ้ำซากจนเกือบจะจำถ้อยคำของอัศวพาหุได้ทุกคำ และในเวลานั้นก็ได้แลเห็นชัดว่า อัศวพาหุกับจีนโนสยามวารศัพท์ผลัดกันแพ้ผลัดกันชะนะ และหักโค่นกันคนละครั้ง”[14]

ทั้งนี้ เคยมีการกล่าวอ้างว่าก่อนความสำเร็จของการล้มล้างราชวงศ์ชิงเมื่อ ร.ศ. 130 ซุนยัตเซ็น เคยเดินทางมาเยือนประเทศสยาม 4 ครั้ง[15] แต่จากเอกสารราชการกลับพบว่ามีเพียง 2 ครั้ง[16] ที่สามารถอ้างอิงได้คือครั้งแรก มิถุนายน พ.ศ. 2446[17] และครั้งสอง ธันวาคม พ.ศ. 2451[18] อย่างไรก็ตาม จากเรื่องมุขปาฐะของมหาดเล็กคนสนิทของในหลวง ร.6 พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) กล่าวอ้างว่า ดร.ซุนยัตเซ็น ขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวง และพระองค์ทรงมอบหมายให้พระบรมโอรสาธิราช (ร.6) สัมภาษณ์ นายเทียบอ้างว่าใช้บ้านของตนย่านเยาวราชเป็นที่พบปะสนทนาของทั้งคู่โดยใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารยาวนานนับแต่ 19 นาฬิกา จนถึง 4 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น และเมื่อเสด็จกลับได้ทรงรับสั่งว่า “เขาทำของเขาสำเร็จแน่นอน” [19]

อันว่าเรื่องเล่านี้ดูเหมือนมีความย้อนแย้งกับบันทึกเอกสารราชการครั้งซุนยัดเซ็นมาเยือนเมื่อ พ.ศ. 2451 โดยเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) แสดงทัศนะไว้ว่า “ดอกเตอร์ซุนยัดเซียนกับพวกตั้งต้นไม่ดีเสียแล้ว เพียงเท่าที่พูดนี้ก็พอจะยกเหตุไล่ออกจากพระนครได้แล้ว…ควรให้ออกไปเสียดีกว่า พระราชกระแสร์ก็ได้พระราชทานไว้แล้ว เพราะฉนั้นข้าพระพุทธเจ้าได้มีคำสั่ง ให้มิศเตอร์ลอซัน (Eric St. J. Lawson) ผู้บังคับการกองตระเวร จัดการให้ดอกเตอร์ซุนยัดเซียนกับพวกที่มาอีก 3 คน ออกไปจากพระนครด้วยแล้ว” (สจช. ร.5 ต.21/10)[20]

ครั้นเมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ระหว่างซุนยัตเซ็นลี้ภัยชั่วคราวไปญี่ปุ่นช่วงขัดแย้งกับหยวนสื้อข่าย[21] พ.ศ. 2456 อัศวพาหุ (ร.6) วิพากษ์ไว้ว่า “แม้ชื่ออันมีกายสิทธิ์ เช่นซุนยัดเซนก็ยังเสื่อมความขลังแล้ว เว้นแต่คนสองสามคนที่ได้โฆษณาความเลื่อมใสอย่างแขงแรง จนกระทั่งจะถอนคำไม่ได้เพราะอายเขา คนเช่นนี้ยังมีตกหล่นอยู่ในที่ต่างๆ ถึงในกรุงเทพฯ ก็ยังมี…ถึงแม้รูปของซุนยัดเซนยังคงแขวนอยู่ในที่เชิดชูตามฝาผนังเรือนพวกจีนในประเทศต่างๆก็ดี แต่เขาแขวนห้อยหัวลงฯ ที่อื่นข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ในประเทศสยามนี้ ข้าพเจ้าได้ยินว่าเปนเช่นนั้นในบ้านจีนหลายแห่ง”[22]

4 ปีหลังจัดพิมพ์พงศาวดารอังกฤษ ธิดานายเซียวฮุดเสง ละม่อม สีบุญเรือง ใช้นามปากกา “ยูปิเตอร์” แปลหนังสือพงศาวดารยี่ปุ่น เป็นชุด 3 เล่มตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ของบิดา เธอให้รายละเอียดในคำนำไว้ว่า “ผู้เรียบเรียงพงศาวดารฉบับนี้เปนคนยี่ปุ่นชื่อฮิโซ-ซาอิโต แลสัตรีอังกฤษชื่ออลิซาเบธลีแปลออกเปนภาษาอังกฤษ อันเปนต้นฉบับที่ได้แปลออกเปนภาษาไทย เนื้อเรื่องมีตั้งแต่แรกสถาปนาราชอาณาจักรไปจนกระทั่งถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชเมยี” ด้านผู้เป็นบิดาในนามปากกา “อโยมัยเสตว์” แจ้งบริบทและขอบเขตเนื้อหาไว้ว่า “ได้แปลขึ้นเมื่อขณะพักอยู่ที่โฮเต็ลแฟร์มองต์จังหวัดโยโกฮามา…อนึ่งพระราชพงศาวดารยี่ปุ่นฉบับนี้ได้กล่าวตั้งแต่ยี่ปุ่นได้สถาปนาประเทศยี่ปุ่นจนถึงทำสงครามกับชาติรูเซียเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ เปนที่สุด”  หนังสือชุดนี้จบบริบูรณ์ที่ความหนา 299 หน้า และกล่าวถึง ‘เริ่มการปกครองอย่างใช้พระธรรมนูญ’ ในเล่ม 3 ยุคสี่ ศักราชเมยี บทที่ 3 เล่ม 3 หน้า 251

หลังการปฏิวัติจีนต่อมาอีกเพียง 6 ปี ความสำเร็จของ “วลาดิมีร์ เลนิน” และผองเพื่อนสหายพรรคบอลเชวิกในการโค่นล้มระบอบราชาธิปไตยในประเทศรัสเซียระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2460 ดูจะสั่นสะเทือนถึงราชสำนักสยามยิ่งกว่าปฏิวัติครั้งใดๆ เมื่อระดับความรุนแรงถึงขึ้นปลงพระชนม์ล้มล้างราชวงศ์โรมานอฟที่นับเป็นมิตรสหายใกล้ชิด ประเทศสยามตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซียนับแต่ปี พ.ศ. 2461[23] เหล่านักศึกษาไทยที่ร่ำเรียนอยู่ถูกเรียกตัวกลับ และห้ามมิให้พูดเหตุการณ์ดังกล่าวดั่งปรากฏในบันทึกของหม่อมเจ้า สุระวุฒิประวัติ เทวกุล (พ.ศ. 2439-2517) จากเดิมตั้งใจจะเขียนเรื่องที่ได้ประสบพบเห็นมาด้วยตาตนเองขณะนั้น แต่ก็ปรารภว่า ข้าพเจ้าก็อาจจะได้รับภัยอันตรายก็ได้  เช่นเมื่อ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) เพียงแต่มีข่าวลงในหนังสือพิมพ์ว่าในประเทศจีนมีการกบฏเกิดขึ้น โดยมีด๊อกเตอร์ซุนยัดเซ็น กับพรรคพวกได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากกษัตริย์จีน ประกอบกับมีข้าราชการทหารบกหลายเหล่าหลายคนและพลเรือนอีกหลายคน ไม่พอใจในการปกครองของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ด้วยได้สมคบกันคบคิดจะทำการกบฏขึ้น”[24] กระทั่งเวลาล่วงเลยมาครึ่งศตวรรษจึงเริ่มเขียนพร้อมนำมาจัดพิมพ์รวมเล่มในหนังสืออนุสรณ์งานศพ

ข่าวการปฏิวัติบอลเชวิก ในจีนโนสยามวารศัพท์ วันที 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2460
คณะนักเรียนไทยที่ไปเรียนรัสเซียช่วงปฏิวัติบอลเชวิก (หม่อมเจ้าสุระวุฒิประวัติ เทวกุล ประทับยืนที่ 2 จากซ้าย)

ทันทีที่รัสเซียเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์สารคดีการเมืองต่างประเทศชื่อเรื่อง การจลาจลในรัสเซีย ตามความสันนิษฐานจากข่าวต่างๆ ที่ได้มีมาแล้ว โดยทรงใช้นามปากกา “รามจิตติ” ลงในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย พระองค์ทรงอารัมภบทตอนต้นไว้ว่า “..อนึ่งในการแต่งเรื่องเช่นนี้ ก็เปนธรรมดาอยู่บ้างที่ผู้แต่งมักจะแสดงความเห็นส่วนตัวลงไปไม่มากก็น้อย. แต่ข้าพเจ้ามิได้มีความตั้งใจที่จะชวนให้เกิดเปนปัณหาในทางลัทธิการเมืองขึ้นเลย,…จำเดิมแต่เมื่อได้เกิดขบถขึ้นต่อราชาธิปตัยรัสเซีย จนพระเจ้านิโคลัสที่ 2 ได้ถูกเชิญให้ออกจากราชสมบัติแล้ว, กิจการภายในประเทศรัสเซียได้ดำเนินเปลี่ยนแปลงไปโดยดรวดเร็วเปนลำดับ, จนทำให้ผู้อยู่ภายนอกรู้สึกเวียนหัวทีเดียว. ส่วนความดีความชั่วของรัฐบาลราชาธิปตัยรัสเซียมีอยู่อย่างไร ข้าพเจ้าจะขอขีดเอาเปนการนอกประเด็นในที่นี้. ความชั่วร้ายเสียหายของรัฐบาลราชาธิปตัยได้มีมาแล้วอย่างไร, ข้าพเจ้าขอทิ้งไว้ให้บุคคลจำพวกที่ชอบปรักปรำราชาธิปตัยเปนผู้คุ้ยค้นแสวงหามาให้ท่านทั้งหลายฟัง. ส่วนข้าพเจ้าไม่ใคร่ชอบคุ้ยเขี่ยในกองของโสโครก, ทั้งพวกราชาธิปตัยรัสเซียก็ล่มจมไปแล้ว, ข้าพเจ้าไม่รู้สึกว่าเปนของสนุกในการที่เหยียบย่ำซ้ำเติมผู้ล้มแล้ว, เพราะฉนั้นถ้าจะมีกล่าวถึงราชาธิปตัยรัสเซียบ้างก็จะมีแต่ในข้อที่เกี่ยวแก่กิจการภายหลังเท่านั้น…”

การจลาจลในรัสเซีย “รามจิตติ” พ.ศ. 2460

หนังสือความยาว 39 หน้านี้ไม่ได้ระบุปีพิมพ์ แต่พอจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นปี พ.ศ. 2460 เมื่อประเมินจากเนื้อความที่ทรงฉายภาพช่วงชิงไหวชิงพริบขับเคี่ยวระหว่าง เลนิน (Vladimir Lenin) กับ เกเร็นสกี้  (Alexander Kerensky) อันเป็นช่วงสิ้นสุดของระบอบเก่า รามจิตติกล่าวสรุปในท้ายเล่มไว้ว่า “อนิจจา รัสเซีย! นึกดูช่างน่าทุเรศเสียจริงๆ จนใจเหี่ยว! ภายในเวลายังมิทันชนขวบปี ได้เปลี่ยนจากเปนราชาธิปตัยลงมาเปนเมืองที่ไม่มีขื่อมีแป, ไม่มีระเบียบปกครองที่ใครเขาจะเชื่อถือได้…”

การอนุญาตให้เผยแพร่จัดพิมพ์พงศาวดารทั้งของประเทศอังกฤษและญี่ปุ่นของสำนักพิมพ์นายเซียวฮุดเสง รวมถึงการก่อสงครามปากกาในสวนอักษรว่าด้วยเรื่องการเมืองการปกครอง พอจะสะท้อนความเปิดกว้างของผู้ปกครองรัฐสยามระยะนั้นได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งพอจะประเมินได้ว่ารูปแบบการเปลี่ยนผ่านทั้งของประเทศอังกฤษและญี่ปุ่นนี้ยังคงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ที่นับว่าแลดูไม่ ‘Radical’ นักเมื่อเทียบกับของประเทศฝรั่งเศส จีน หรือรัสเซีย

กระนั้นหลังสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 6 ปลายปี พ.ศ. 2468  (ซุนยัดเซ็น ถึงแก่อสัญกรรมต้นปีเดียวกันนั้น) แวดวงวรรณกรรมก็ยังพบพานหนังสือบางเล่มที่สัมพันธ์ด้วยการเมืองการปกครองของทั้งสามประเทศหลังนี้อยู่บ้าง เช่น พระนางมารีอังตัวเน็ต (พ.ศ. 2469) โดย มนูศิลป์ (นามแฝง) และ โยเซฟิน (พ.ศ. 2468) โดย ศรียาตรา (สมาชิกคณะ ร.ศ. 130 ชื่อจริง ร.ต.โกย วรรณกุล), เรื่องสั้น ระหัสแห่งเลนิน (พ.ศ. 2468) ที่กล่าวถึงเลนิน[25] และทรอตสกี โดย คะนึง ฤทธาคนี และ หนังสือภาษาไทยจัดพิมพ์ที่สิงคโปร์ในรูปแบบคัมภีร์ศาสนาชื่อว่า ความสว่างแห่งวันในปัจจุบัน (พ.ศ. 2468) ที่ปรากฏภาพถ่ายของสามนักปฏิวัติ ซุนยัตเซ็น, เลนิน และ ทรอตสกี

อย่างไรก็ดี เมื่อล่วงเข้าถึงปี พ.ศ. 2472 หรือก่อนปฏิวัติ 2475 เพียงสามปี บรรณโลกประเทศสยามก็ต้องจารึกชื่อ หนังสือลัทธิตรัยราษฎร์ (2472) โดยนายบุญเทียม อังกินันทน์ (ต.บุญเทียม พ.ศ. 2433-2493)[26] ไว้ในรายการหนังสือต้องห้าม เมื่อ “พิมพ์ออกจำหน่ายในคราวพิมพ์ครั้งที่ 1 ซึ่งสมัยนั้นเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ก็ถูกทางราชการสั่งเก็บและทำลาย”[27]

หนังสือ 三民主義 ลัทธิตรัยราษฎร์ ซามิ่นจูหงี SAN MIN CHU I THE THREE PRINCIPLES OF THE PEOPLE โดยท่านหมอซุนยัดเซน พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1929 (พ.ศ.2472)
ภาพของผู้แปลในเล่ม นายตันบุญเทียม อังกินันทน์

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หนังสือแนวปฏิวัติหลากหลายประเภทได้รับการตีพิมพ์เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ยกตัวอย่าง เช่น ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส ของพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ, หลักเศรษฐศาสตร์ของรุสโส ของ คณะยุวสาร, ประวัติศาสตร์ไทยจีน ของ เอี๊ยเม้ง อักษรมัต, หัวใจปฏิวัตรในฝรั่งเศส ของ เตียง ศิริขันธ์ และ จำรัส สุขุมวัฒนะ, เคมาล ของ เลียง ไชยกาล ฯลฯ หรือแม้แต่หนังสือเล่มแรกในชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2481 สตาลิน ของ ศักดิ์ชัย (บุญส่ง) บำรุงพงศ์ หรือ เสนีย์ เสาวพงศ์ เจ้าของผลงาน ปีศาจ อันเลื่องชื่อ และที่ขาดไม่ได้คือเรื่องราวของเหล่านักปฏิวัติในประเทศที่ถูกกลบฝังไปร่วม 20 ปีของคณะ “เก๊กเหม็ง ร.ศ.130” ก็ได้รับการรื้อฟื้นกลับมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง!

ป.ล. ผู้เขียนขอแถมเกร็ด “ปรีดี-แปลก” กับหนังสือเนื่องด้วยการปฏิวัติเล่มสำคัญ เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนหน้าการปฏิวัติ 2475 เพียงหนึ่งปี พ.ศ. 2474  C.malaparte เขียนหนังสือ Technique du coup d’etat  ปรีดีจึงสั่งตรงจากสำนักพิมพ์ เมื่อหนังสือมาถึงปรีดีเล่าว่า “ข้าพเจ้าได้ฉีกปกออกเผาไฟคงเหลือแต่เรื่องข้างใน ข้าพเจ้าอ่านแล้วก็มอบให้ ร.ท.แปลก ซึ่งมียศและบรรดาศักดิ์เป็นพันตรีหลวงพิบูลสงครามรับไปอ่านต่อๆ กันไป (ถ้าหนังสือเล่มนั้นยังอยู่ที่ทายาทท่านผู้นี้ ก็คงจะพบว่า หนังสือนั้นไม่มีปกหน้า เพราะข้าพเจ้าฉีกเผาไฟแล้วเพื่อความปลอดภัย)”[28]  

น่าสนใจตรงที่กว่าหนังสือเล่มนี้ของ “ดูร์สิโอ มาลาปาร์เต” กว่าจะมีฉบับพากย์ไทยให้คนไทยได้อ่านกันครั้งแรกในชื่อเล่มว่า เท็คนิครัฐประหาร โดย จินดา จินตนเสรี (จ.พันธุมจินดา พ.ศ. 2450-2534)[29] นั้น ก็ล่วงถึงปลายปีเดียวกับที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม สิ้นสุดอำนาจด้วยการรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ.2500 พอดี!

เท็คนิครัฐประหาร แปลโดย จินดา จินตนเสรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2500



บรรณานุกรมหนังสือปฏิวัติพากย์ไทยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

1.ก.ศ.ร.กุหลาบ เลขาสมาคม, ฮ่องเต้ ประเทศสยาม,  รหัสลำดับภาพ 30 ภาพ, สมาคมลับ สำนักคฤศตังอั้งยี้สยาม ศักราช  1912.

2.ภ.ศ.ร.(นามแฝง), พงษาวดารสังเขปประเทศอังกฤษ, จัดพิมพ์โดยเซียวฮุดเสง เอดิเตอร์หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ 1 สิงหาคม ร.ศ.131.

3.ยูปิเตอร์ (ละม่อม สีบุญเรือง) แปลและเรียบเรียง, พงศาวดารยี่ปุ่น เล่ม 1-2-3, 10 ธันวาคม พระพุทธศักราช 2459,โรงพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์.

4.ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน, “รักนักมักหน่าย” เรื่องตามความเปนจริงในสมัยหนึ่งแห่งประวัติการฝรั่งเศส, พิมพ์ครั้งที่ 1 พุทธศักราช 2459, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร ถนนราชบพิธ กรุงเทพฯ.

5.ซุ่ยเทียม ตันเวชกุล, สุนทรพจน์ของท่านซุนยัดเซน เรื่อง ความเพียรนำมาซึ่งผล หรือ เรื่อง การเก๊กเหมงในประเทศจีน ปี พ.ศ.2454, ม.ป.พ.2465.

6.ซุ่ยเทียม ตันเวชกุล, มิ่นก๊กอิ้นหงี เล่ม 1, โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย 2467.

7.หลวงสารานุประพันธ์, ราสปูติน แปลจาก Rasputin The Minister of Evil ของ วิลเลียม เลอเคอซ์ ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์รายเดือนชื่อเสนาศึกษา ระหว่าง พ.ศ.2463-2465, จัดพิมพ์รวมเล่มโดยโรงพิมพ์บางกอกบรรณกิจ พ.ศ.2467.

8.ระหัสแห่งเลนิน (คัดจากหนังสือสวนกุหลาบวิทยา ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม พ.ศ.2468)  พิมพ์ซ้ำในหนังสืองานศพของผู้เขียน ภูมิประพันธ์บางเรื่อง ของ น.ฤทธาคนี พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายร้อยเอก คนึง ฤทธาคนี ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2479,โรงพิมพ์เดลิเมล์.

9.มนูศิลป์ แปลและเรียบเรียง, เรื่องพระนางมารีอังตัวเน็ต, พิมพ์ที่โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย 15/2/69.

10.ขุนจรัสชวนะพันธ์, พงษาดารโปลิติกส์ หรือ เรื่องต้นเหตุของความศิวิไลซ์ ในงานศพ นายพันตรี หลวงราชเสวก (ทัด) เจ้ากรมรักษาพระองค์ ปืนทองปรายซ้าย พุทธศักราช 2469 (ม.ป.ท., 2469).

11.ไม่มีชื่อผู้แต่ง, ความสว่างแห่งวันในปัจจุบัน, จัดพิมพ์ขึ้นที่โรงพิมพ์มาเลเซียนไซน์เพรส จังหวัดสิงคโปร์ ค.ศ.1925.

12.ตันบุญเทียม อังกินันทน์, 三民主義ลัทธิตรัยราษฎร์ ซามิ่นจูหงี SAN MIN CHU I  THE THREE PRINCIPLES OF THE PEOPLE โดยท่านหมอซุนยัดเซน, พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1929, โรงพิมพ์หลักเมือง (บุญทวีผล).


เชิงอรรถ

[1] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สัมภาษณ์ ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2525, ประสบการณ์และความเห็นบางประการ ของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งแรก, (เคล็ดไทย : 2526), น.34-35.

[2] ก.ศ.ร.กุหลาบ เลขาสมาคม, ฮ่องเต้ ประเทศสยาม, รหัสลำดับภาพ 30 ภาพ, สมาคมลับ สำนักคฤศตังอั้งยี้สยาม ศักราช 1912.

[3] หมอเหล็งรำลึก ภาคปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.๑๓๐ พิมพ์เป็นอนุสรณ์งในงานศพ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 19 เมษายน 2503, น.53.

[4] ก่อนหน้าเล่มนี้ราวสองทศวรรษ ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) เคยเรียบเรียงหนังสือพระราชพงษาวดารอังกฤศโดยพิสดาร ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) ตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์วิชากร ดู http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:47735

[5] เซียวฮุดเสง เอดิเตอร์ หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์, คำนำของผู้พิมพ์

[6] คำนำของผู้แปล

[7] ภ.ศ.ร.(นามแฝง), พงษาวดารสังเขปประเทศอังกฤษ, ร.ศ.131, (จีนโนสยามวารศัพท์), น.307.

[8] ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน, “รักนักมักหน่าย” เรื่องตามความเปนจริงในสมัยหนึ่งแห่งประวัติการฝรั่งเศส, พิมพ์ครั้งที่ 1 พุทธศักราช 2459 (โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร), น.53.

[9] คำไว้อาลัยของ หลวงประดิษฐมนูธรรม, ปาฐกถาทางวิทยุกระจายเสียง “การฝึกนิสสัยเด็ก” โดย นางอมร โอสถานนท์ บุตร-ธิดาพิมพ์อุทิศในงานฌาปนกิจศพ เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ณ เมรุ วัดแก้วแจ่มฟ้า 10 กันยายน พ.ศ. 2482.

[10] คำไว้อาลัยของ นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม, ปาฐกถาทางวิทยุกระจายเสียง “การฝึกนิสสัยเด็ก” โดย นางอมร โอสถานนท์ บุตร-ธิดาพิมพ์อุทิศในงานฌาปนกิจศพ เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ณ เมรุ วัดแก้วแจ่มฟ้า 10 กันยายน พ.ศ. 2482

[11] เทพ บุญตานนท์, พวกยิวแห่งบูรพาทิศ : ประวัติศาสตร์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับชาวจีนโพ้นทะเล, วารสารมนุษยศาสตร์ปีที่ 24 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2560), น.55-79.

[12] พรรัตน์ ทองพูล. การสร้างความชอบธรรมทางความคิดในบทความโต้แย้งระหว่างรัชกาลที่ 6 กับนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายค้านในสงครามปากกา (พ.ศ.2455-2465), วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2445.

[13] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, อ่านโทรเลข ‘เซียวฮุดเสง’ ถึง ‘ในหลวงรัชกาลที่ 7’ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/sieohutseng/

[14] หลวงวิจิตรวาทการ, การเมืองการปกครองของกรุงสยาม, พิมพ์ครั้งแรก 30 กรกฎาคม 2475, (ไทยใหม่), น.197-198.

[15] เซี่ยกวง, “กิจกรรมทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย (ค.ศ.1906-1939)”, 2546, น.8.

[16] วัฒนา กีรติชาญเดชา, ภาพตัวแทนของซุนยัตเซ็นในมุมมองของรัฐบาลสยามในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2446-2453, รายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ SMARTS ครั้งที่ 8, น.795-806.

[17] Pichai Laiteerapong黎道纲, Archives Regarding Dr.Sun Yat-sen’ Activity in Siam in 1903 (泰国国家档案馆藏1903年孙中山先生来暹档案解读), 华侨华人文献学刊(第一辑) September 1, 2015, pp.70-90. ดูเพิ่ม หจช. ร.5 ต.21/16 เรื่องรายงานการสนทนากับ ดร.ซุนยัตเซ็น โดย หลวงสรรพกิจปรีชา

[18] อนึ่ง มีการอ้างรูปถ่ายหนึ่งว่าเป็นปาฐกถาของ ดร.ซุนยัตเซ็น ในประเทศไทย ผู้เขียนพบว่าภาพดังกล่าวน่าจะคลาดเคลื่อน เนื่องด้วย ปี พ.ศ.2451 ธงไตรรงค์ยังไม่ได้อุบัติขึ้น ดู ศรเนตร อารีโสภณพิเชฐ, สี่แยกปาฐกถาและซุ้มประตูซุนยัตเซ็น ใน สำเพ็ง ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ, พิมพ์ครั้งแรก 2549, (จุฬา), น.286-300.

[19] รักษ์ อัศวราช, การเยี่ยมชาวจีนโพ้นทะเลของ ดร.ซุนยัดเซน ใน ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) ณ วัดเทพศิรินทราวาส 1 มิ.ย.2512, น.28-33.

[20] วัฒนา กีรติชาญเดชา, ภาพตัวแทนของซุนยัตเซ็นในมุมมองของรัฐบาลสยามในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2446-2453, รายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ SMARTS ครั้งที่ 8, น.803.

[21] หลิวเสี่ยวฮุ่ย เขียน เรืองชัย รักศรีอักษร แปล, ซุนยัตเซ็น, 2556, (มติชน), น.303.

[22] ปกิณกะคดี บทที่ 22 “เมื่อเสร็จเล่น เต้นรำ” ใน เรื่องของเมืองจีน เรียบเรียงโดยอัศวพาหุ, พ.ศ.2456, (โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย), น.112-114.

[23] ฉลอง สุนทราวาณิชย์, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรุสเซียและประเทศไทย ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิตแผนกวิทยาลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2516, น.278.

[24] พันตำรวจเอก หม่อมเจ้าสุระวุฒิประวัติ เทวกุล, การปฏิวัติในรัสเซีย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของผู้ประพันธ์ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 20 พ.ย.2517, คำนำ น.1-3.

[25] ในเล่มเล่าจุดจบของเลนินเกิดจากการลอบสังหารซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เรื่องแนวๆ นี้ยังพบได้ในรายงานข่าวของจีนโนสยามวารศัพท์ วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2465, น.2.

[26] ประวัติ ดร.ซุนยัดเซ็น 孫中山先生傳略 นางทรัพย์ อังกินันทน์ และ บุตร ธิดา พิมพ์แจก ในการบรรจุศพ นาย ต.บุญเทียม อังกินันทน์ ณ กุฏิสร้างใหม่ วัดธาตุทอง บ้านกล้วย พระโขนง วันเสารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2494, (โรงพิมพ์หลักเมือง).

[27] ต.บุญเทียม, ลัทธิไตรราษฎร์ (ซามิ่นจูหงี) พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2495, (โอเดียนสโตร์), พัฒน์ นีลวัฒนานนท์ 5 เมษายน 2495, คำนำ น.ค.

[28] ปรีดี พนมยงค์, คำไว้อาลัยในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) ณ เมรุวัดธาตุทอง 27 ธันวาคม 2516, (ชวนพิมพ์), น. (๗)-(๘).

[29] เพื่อระลึกถึง คุณจินดา จินตนเสรี หนังสืออนุสรณ์งานศพ ดู  http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:179244

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save