fbpx
LIT Fest : งานหนังสือที่ชวนให้คุณมา ‘เล่น’ กับหนังสือ มากกว่าแค่มาหาหนังสืออ่าน

LIT Fest : งานหนังสือที่ชวนให้คุณมา ‘เล่น’ กับหนังสือ มากกว่าแค่มาหาหนังสืออ่าน

ภาวิณี คงฤทธิ์ และ พิมพ์ใจ พิมพิลา เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ทันทีที่ได้ยินคำว่า ‘งานหนังสือ’ พวกเราคงมีภาพแรกผุดขึ้นมาในหัวไม่ต่างกันนัก ภาพผู้คนที่เดินเบียดเสียดกันไปมา ผสมเข้ากับเสียงประกาศลดราคาหนังสือ หรือภาพของบรรดานักอ่านจากทั่วสารทิศที่เตรียมเงินมาเพื่อจ่ายและหอบเอาหนังสือกลับบ้าน แน่นอนว่าต้องพกกระเป๋าลากใบใหญ่มาขนหนังสือกลับบ้านด้วย งานหนังสือในบ้านเราดูจะเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้พลังกายและใจสูงไม่แพ้การวิ่งมาราธอนในตอนเช้าเลย

แต่ภาพจำนี้คงใช้ไม่ได้สำหรับ LIT Fest งานหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ! งานหนังสือที่นิยามตัวเองว่าเป็นเจ้าชายเลือดผสม ระหว่างพ่อที่เป็นเทศกาลดนตรีและแม่ที่เป็นงานหนังสือ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-20 มกราคมที่ผ่านมา

เพียงแค่ก้าวเข้ามาในงาน สิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าก็ทำให้ฉันรู้สึกประหลาดใจ เสียงดนตรีแจ๊สสดๆ บรรเลงผ่านแซกโซโฟนและกีต้าร์อะคูสติกคลอผสานกันเบาๆ ในบรรยากาศยามเย็น มีฉากหลังเป็นสนามหญ้าขนาดกลางที่ให้ความรู้สึกเดียวกันกับสวนสาธารณะแถวบ้าน ภาพของผู้คนที่กำลังเลือกซื้อหนังสือมากมายจากหลายสำนักพิมพ์ที่จัดบูธขายหนังสือแบบที่ฉันไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน บ้างเป็นร้านขายปลาดิบ บ้างเป็นร้านดอกไม้ เป็นซุ้มยิปซีทำนายดวงก็มี ทำให้ฉันอดที่จะตื่นเต้นกับสิ่งที่อยู่ภายในงานเสียไม่ได้

“ความจริงแล้วงานหนังสือกับงานเทศกาลดนตรี ก็พอมีอยู่บ้างแต่ไม่สม่ำเสมอ อย่างงานของ Fat Radio เขาก็เป็นเทศกาลดนตรีที่มีหนังสือมาขายด้วย งานของนิตยสาร happening เองก็เหมือนกัน แต่งาน LIT Fest ต่างตรงที่ว่ามีหนังสือเข้ามาก่อน และมีดนตรีตามเข้ามาทีหลัง ความแตกต่างเลยอยู่ที่ตัวตั้งต้นของงานนี้เป็นหนังสือ มีสำนักพิมพ์มากมายเข้าร่วม โดยสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่เกือบ 80% มาจากสำนักพิมพ์อินดี้ที่มีคาแรคเตอร์และบทบาทในการทำสื่อต่างจากสำนักพิมพ์ใหญ่ เราจะมองเรื่องการตลาดเป็นรองและมองเรื่องคอนเทนต์เป็นหลัก”

นิวัต พุทธประสาท นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม หนึ่งในสำนักพิมพ์ที่ได้มาร่วมออกบูธในครั้งนี้ได้กล่าวไว้ เมื่อเราถามถึงความแตกต่างระหว่างงาน LIT Fest กับงานหนังสือทั่วไป

ความแปลกใหม่ หรือ ‘ความอินดี้’ ของงานนี้ ตอบโจทย์สำนักพิมพ์ที่ยังไม่มีโอกาสได้นำเสนอหนังสือของตนเท่าที่ควร อาจเพราะหนังสือภายในประเทศนี้มีมากมาย แต่พื้นที่รองรับความหลากหลายของหนังสือกลับสวนทางกัน จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจหากเราจะเห็นพื้นที่หนังสือจากสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ มีพื้นที่เยอะกว่า เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่สำนักพิมพ์เล็กๆ ได้รับ จนสุดท้ายหนังสือที่รอเวลาให้คนมาค้นพบก็ต้องทยอยไปอยู่หลังร้านจนหมด งาน LIT Fest จึงถือเป็นพื้นที่ใหม่ที่เปิดโอกาสให้หนังสือแนวนี้ได้แสดงพลังของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่

LIT Fest : งานหนังสือ

-1-

“อ.ต้นบอกว่าแกเพิ่งกลับมาจากฮ่องกง แกไปงานบุ๊คส์แฟร์เหมือนกันนี่แหละ ในงานก็มีการเก็บค่าเข้า แต่พอไปถึงก็เป็นงานแห้งๆ เป็นงานโชว์เคสเฉยๆ ไม่มีอะไร แต่พอมาดูงานที่ไทย มันมีสีสัน มันคึกคัก มันวาไรตี้มาก ทุกคนครีเอทกันเต็มที่” – ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์

ป่าน-ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์ เจ้าของร้านหนังสือ Fathom Bookspace และเจ้าของไอเดียกิจกรรม book blind date เล่าให้ฟังถึงบทสนทนาระหว่างเธอกับอาจารย์ต้น-คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ นักเขียน นักออกแบบ และยังพ่วงตำแหน่งอาจารย์พิเศษเรื่องพิพิธภัณฑ์ เกี่ยวกับความแตกต่างของงานบุ๊คส์แฟร์ที่จัดขึ้นในต่างประเทศและในไทย ซึ่งจริงอย่างที่ทั้งคู่ได้ว่าไว้ สังเกตได้จากโชว์เคสจากหลายสำนักพิมพ์ที่มาในงาน เรียกได้ว่าพกกิจกรรมสนุกๆ มาให้ผู้ร่วมงานได้เล่นกัน

น่าสนใจตรงที่ว่างานนี้เอาคำว่า ‘หนังสือ’ มาจับคู่กับคำว่า ‘เล่น’ เช่น กิจกรรม book blind date ที่ให้เรานำหนังสือที่ตัวเองรักหรืออยากจะส่งต่อภายใต้หัวข้อคำว่า ‘ขอบ’ มาห่อในกระดาษตามสไตล์ของตัวเราเอง แนบด้วยการ์ดใบเล็กๆ ที่เขียนแนะนำสั้นๆ ว่าขอบแบบไหนกันที่เขาจะเจอจากการหยิบหนังสือเล่มนี้ไป

LIT Fest : งานหนังสือ

“ไอเดียมาจากที่เราคิดว่าหนังสือสามารถทำอะไรที่สนุกๆ ได้ แล้วก็ไม่ต้องรู้สึกว่าจริงจังกับมัน การทำ book blind date ก็เป็นกิมมิกเล็กๆ ให้คนได้อ่านหนังสือใหม่ๆ ที่ตัวเองไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย ได้หนังสืออะไรกลับบ้านไปก็ไม่รู้ แล้วก็มีสตอรี่บางอย่าง บางคนเขียนเล่าจริงจัง ซึ่งสุดท้ายมันอาจพาเขาไปที่ขอบอะไรบางอย่างก็ได้ หรืออาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า มีหนังสือแบบนี้ในโลกว่ะ” ป่านเล่าให้ฟังถึงไอเดียการจัด book blind date ขึ้นมา

เจ้าของร้านหนังสือ Fathom Bookspace แอบกระซิบให้ฟังว่า มีใครสักคนบอกให้ลองเขียนไอดีไลน์เสียบไว้ข้างในหนังสือดู ไม่แน่ว่าปีนี้ได้แลกหนังสือกัน ปีหน้าอาจเดินมางานด้วยกันก็ได้ใครจะไปรู้

ใกล้ๆ กันก็มีอีกหนึ่งกิจกรรมที่โดดเด่นไม่แพ้กัน คือกิจกรรม Book Factory โรงงานผลิตหนังสือที่ไม่เหมือนกันสักเล่มในโลก โดยให้ผู้ร่วมงานเข้ามาเลือกบทที่ใช่ ตกแต่งหนังสือตามใจชอบ โดยสำนักพิมพ์ P.S. ได้คัดสรรเรื่องสั้นและบทความต่างๆ มาให้เลือก และให้ผู้ร่วมงานได้ลองมาออกแบบหน้าปก ดีไซน์เนื้อหาเองตามความต้องการ เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้คนได้ลองมาเป็นบรรณาธิการสำเร็จรูปภายใน 1 ชั่วโมง ถือเป็นกิจกรรมที่ผู้คนให้ความสนใจอันดับต้นๆ ของงานก็ว่าได้

LIT Fest : งานหนังสือ

กิจกรรมจากสำนักพิมพ์อื่นๆ ก็สนุกไม่ต่างกัน อย่างสำนักพิมพ์คมบาง ที่นำผลงานของ ชมัยภร แสงกระจ่าง และวรรณกรรมระดับโลกอย่างฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ หรือฟรานซ์ คาฟคา มาให้เลือกชม มีกิจกรรมให้ทายว่าข้อความนี้มาจากหนังสือเล่มใด เพื่อร่วมลุ้นการดูดวงไพ่ฟรี เราเห็นภาพหลายคนที่ต่อแถวเพื่อเข้ากิจกรรมอย่างตื่นเต้น แต่เมื่อดูดวงเสร็จ ความหลากหลายทางอารมณ์ที่แสดงออกบนใบหน้า ก็ทำให้เดาได้ไม่ยากว่าได้รับฟังเรื่องดีหรือเรื่องแย่กลับไป

นาบู เป็นอีกหนึ่งสำนักพิมพ์ที่คนให้ความสนใจ ด้วยกระแสหนังสือวายที่ครองใจวัยรุ่นในปัจจุบัน จนถึงขั้นเป็นหนังสือขายดีในร้านหนังสือ โดยนำเสนอนิยายวายทั้งงานไทยและงานแปล แต่ถ้าใครมีความสนใจในเรื่องเหตุการณ์สำคัญของโลก สงคราม ศาสนา ที่มุ่งเน้นในด้านประวัติศาสตร์ สำนักพิมพ์ยิปซีถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของคุณแน่นอน

ความหลากหลาย ความแปลกใหม่ของทุกสำนักพิมพ์สามารถสร้างความน่าสนใจให้กับผู้ร่วมงาน โดยการโชว์ความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างสร้างสรรค์ ทำให้การเลือกซื้อหนังสือเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่อ (ถึงแม้ว่าคนจะเยอะ) อีกต่อไป

LIT Fest : งานหนังสือ

-2-

“การสร้างชุมชนทำให้การอ่านเข้มแข็งขึ้น คนอ่านกับคนเขียนคือคนเดียวกัน เพียงแต่ว่าใครจะยืนยันตัวเองเท่านั้นเอง คนเขียนก็ต้องอ่าน คนที่อ่านเยอะๆ สุดท้ายก็อดเขียนไม่ได้” – อุรุดา โควินท์

คำพูดจาก ชมพู-อุรุดา โควินท์ นักเขียน (แน่นอนว่าพ่วงตำแหน่งนักอ่าน) สาวชาวเหนือที่ขับรถไกลมาจากเชียงรายเพื่อมาร่วมงานในครั้งนี้ ทำให้เรารู้สึกว่าการสร้างสังคมนักอ่านเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และคงจะดีไม่น้อยหากเราสามารถแชร์เรื่องราว แง่คิด กับกลุ่มนักอ่านด้วยกันได้ ซึ่งความคิดที่ว่านี้ ดันไปตรงเข้ากับกิจกรรม Book Club ที่ให้นักอ่านและเพจหนังสือต่างๆ เข้ามาล้อมวงพูดคุยถึงหนังสือเล่มเดียวกัน ฉันไม่รอช้ารีบตรงดิ่งไปร่วมกิจกรรมทันที

Book Club ในช่วงที่ฉันมีโอกาสได้เข้าไปนั่งฟัง เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือเรื่อง เด็กชายกับชุดนอนลายทาง’ ในช่วงเริ่มต้นฉันสังเกตได้ถึงความประหม่า ทั้งเจ้าของเพจหนังสือและเหล่านักอ่านที่ค่อยๆ เข้ามานั่งบนเก้าอี้ แน่นอนว่ารวมถึงฉันด้วย ระยะเวลาที่อยู่ร่วมกันนานขึ้นทำให้ความเขินอายค่อยๆ จางหายไป การพูดคุยระหว่างเราดังขึ้นเรื่อยๆ สลับกันไปมาจากหลายๆ คน คล้ายกับการตีปิงปอง คนนี้โยน คนนู้นโต้ เราพูดถึงเนื้อเรื่อง ฉากประทับใจ แง่คิด ตัวละครที่บางครั้งเราก็มองต่างกัน การกระทำบางอย่างที่ทำให้รู้สึกสงสัยว่ามีอะไรซ่อนอยู่ ผู้เขียนต้องการจะบอกอะไร กระทั่งตอนจบของเรื่อง เราอยากจะให้จบแบบไหน หรือคิดว่ามันควรจบแบบใด

นอกจากการโยนความเห็นที่หลากหลายแล้ว ฉันคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือการได้เห็นว่าแท้จริงแล้ว โลกของหนังสือได้เปิดกว้างออกไปไกลกว่าที่คิด และแอบซ่อนตัวอยู่รอบๆ ตัวเรา อาจเปลี่ยนสถานะไปแต่แก่นของมันยังคงอยู่ เหมือนอย่างที่เหล่านักอ่านที่มาร่วมพูดคุยกันในวันนี้

การพูดคุยสิ้นสุดลงแต่ความสนุกในใจฉันยังคงอยู่ Book club ในวันนี้เปิดโลกของฉันมากกว่าเดิม หนังสือพาฉันไปได้ไกลเกินกว่าจินตนการ เพราะมันทำให้ฉันเห็นแล้วว่าจินตนาการที่ได้จากหนังสือ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้เรากล้าออกไปสรรค์สร้างความเป็นจริง

ฉันเดินออกจากห้องสมุดชั้น 2 สถานที่จัดกิจกรรม Book club พร้อมความคิดที่ลอยขึ้นมาในหัว “พวกเราควรได้มาเจอกันบ่อยๆ”

แหม่ม วีรพร LIT Fest : งานหนังสือ

-3-

“ผมกับเขาคนนั้นเชื่อมต่อกัน ส่วนจะเชื่อมต่อกันอย่างไรนั้นผมไม่รู้รายละเอียด แต่รับรู้ได้ว่า ณ ความมืดมิดลึกลงไปด้านล่าง รากเหง้าของผมกับเขาเชื่อมต่อกันอยู่ผ่านระบบที่เรียกว่าเรื่องเล่า” – ฮารูกิ มูราคามิ

“เชื่อว่าพอกูได้เล่ามันต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่งแน่ๆ” คือประโยคที่ฉันบังเอิญได้ยิน ขณะกำลังยืนเข้าแถวต่อคิว ณ บูธ Lit poetry เพื่อรอที่จะเล่าเรื่องราวของ ‘ฉัน’ ให้ ‘เขา’ เหล่านักเขียนคนโปรดฟัง หลังจากนั้นพวกเขาจะแปรเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ฟังให้กลายเป็นบทกวีตามสไตล์ของแต่ละคน

บทกวีที่ ‘เขา’ เขียนโดยมีแรงบันดาลใจมาจาก ‘ฉัน’

บทกวีเพียงชิ้นเดียวในโลกของ ‘ฉัน’ ที่มีโอกาสให้ ‘เขา’ ได้เป็นคนประพันธ์

ช่างเป็นกิจกรรมที่ชวนให้หัวใจสั่นไหวไม่น้อย แต่ดูเหมือนจะไม่ได้มีฉันเพียงคนเดียวที่คิดอย่างนั้น แถวเข้าคิวที่ยาวเฟื้อยจนล้นมาในโซนสนามหญ้า เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพวกเราต่างก็อยากมีใครสักคนรับฟังเรื่องราวของเราอย่างจริงใจ ยิ่งคนที่รับฟังเหล่านั้นเป็นเหล่าคนที่เคยเขย่าหัวใจของเราด้วยตัวอักษรมาแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ใครหลายๆ คนอยากจะลองเล่าเรื่องราวของตัวเองให้พวกเขาได้ฟัง

รอได้ประมาณ 10 นาที ในที่สุดก็ถึงคิวของฉัน

ฉันเดินเข้าไปหาเขาอย่างเขินๆ พิมพ์ดีดสีเขียวขี้ม้าไม่คุ้นตาสะดุดตาฉันตั้งแต่แรกเห็น มันคงเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยถ่ายทอดเรื่องราวของฉันในวันนี้สินะ นอกจากจะได้เจอพูดคุยแบบดีพทอล์กกับนักเขียนที่ชอบเป็นครั้งแรกแล้ว ยังได้ของแถมมาเป็นบทกวีในรูปแบบข้อความจากเครื่องพิมพ์ดีดอีกเป็นกิจกรรมที่ทำให้ฉันรู้สึกตื่นเต้นตั้งแต่ยังไม่ได้เล่าเรื่อง

ม่อน - อุทิศ เหมะมูล

“สวัสดีครับ ชื่ออะไรครับ” คือประโยคแรกที่ ม่อน – อุทิศ เหมะมูล ใช้เป็นประโยคเปิดบทสนทนาระหว่างเรา นักเขียนรางวัลซีไรต์ ผู้ที่ฉันยกให้เขาเป็นนักเขียนในดวงใจ ชายหนุ่มเจ้าของรอยยิ้มกว้าง แต่สามารถเข้าใจความเศร้า เปล่าเปลี่ยวของผู้คนได้อย่างลึกซึ้ง และถ่ายทอดความเจ็บปวดออกมาได้อย่างงดงาม

“หนูไม่รู้จะเล่าอะไรดี เขินจัง” ฉันพูด

“อะไรก็ได้ครับ” เขาตอบกลับมา

ฉันเงียบไปพักหนึ่ง เขาส่งยิ้มกลับมาให้ ไม่ได้เร่งเร้า ไม่ได้รีบร้อน

ฉันสูดหายใจเข้าลึก ก่อนจะค่อยๆ เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ฉันคิดว่าถ้าเป็นเขาคงจะเข้าใจ และคงให้คำตอบอะไรบางอย่างกับฉันได้เหมือนอย่างที่ตัวอักษรของเขาเคยทำมา

ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนชื่อดังจากแดนอาทิตย์อุทัย ชายผู้หยิบความเหงาของผู้คนมาบรรเลงผ่านตัวอักษร และสะท้อนความโดดเดี่ยวในจิตใจเหล่านั้นออกมาในรูปแบบวรรณกรรมร่วมสมัย เคยกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนกับนักอ่านไว้ว่า

“ผมกับเขาคนนั้นเชื่อมต่อกัน ส่วนจะเชื่อมต่อกันอย่างไรนั้นผมไม่รู้รายละเอียด แต่รับรู้ได้ว่า ณ ความมืดมิดลึกลงไปด้านล่างรากเหง้าของผมกับเขาเชื่อมต่อกันอยู่ผ่านระบบที่เรียกว่าเรื่องเล่า เราเชื่อมต่อกัน”

มูราคามินิยามความสัมพันธ์ได้อย่างไม่มีผิดเพี้ยน น่าตลกดีที่ในตอนแรกฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเล่าอะไรให้เขาฟัง แต่พอได้เริ่มเล่าเรื่องราว ความทรงจำ ความรู้สึกต่างๆ ในชีวิตของฉันก็พรั่งพรูออกมา ไหลออกมายิ่งกว่าเวลาที่ท่อประปาที่บ้านแตก ฉันไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเล่าเรื่องอะไรหรือแสดงความรู้สึกแบบไหนออกไปบ้าง มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่ได้ยินเสียง ‘แต๊กแต๊กแต๊ก’ ของเครื่องพิมพ์ดีดกำลังดัง นักเขียนหนุ่มกำลังพิมพ์บทกวีให้ฉันอยู่

‘แต๊กแต๊กแต๊ก’ จากเสียงของเครื่องพิมพ์ดีดของเขา ทำให้ฉันได้ยินเสียงเต้นของหัวใจ ‘ตึกตึกตึก’ ของตัวเองอีกครั้ง และน้ำตาก็พานไหลลงมาดื้อๆ

อุทิศเขียนบทกวีให้ฉันเสร็จแล้ว เขาตัดกระดาษ เซ็นลายเซ็นและส่งกระดาษแผ่นนั้นมาให้ฉัน พร้อมกับคำแนะนำอีกสองสามอย่าง ฉันยอมรับว่าฉันจำไม่ได้แล้วว่าเขาพูดอะไรบ้าง แต่ฉันคิดว่าถ้อยคำที่เขาอยากจะบอกฉันคงอยู่ในกระดาษแผ่นนี้หมดแล้ว เพราะมันเป็นอย่างนี้เสมอมา เสน่ห์ของความสัมพันธ์ระหว่างนักอ่านและนักเขียน เราสัมผัส เข้าใจ แบ่งปันและปลอบประโลมกันและกันผ่านเรื่องราวที่อยู่ในหน้ากระดาษ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องรู้จักกัน แต่เรารู้ว่าเราต่างเชื่อมต่อถึงกันและกันอยู่เสมอ

“ขอบคุณที่มาเล่าสู่กันฟังครับ” คือประโยคที่ทิ้งท้ายจากนักเขียนอย่างเขาถึงนักอ่านอย่างฉัน

 

-4-

 “การได้มาร่วมงานนี้ มันเปิดโลกทางดนตรีของผมเหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องผิดหรอกว่ามันแมสหรือไม่แมส มันคือตัวตนของเราที่เราชอบแบบนี้ แต่สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นกับผมวันนี้ มันทำให้ผมได้รับรู้เพลงใหม่ๆ ศิลปินหรือแนวทางใหม่ๆ ที่บอกได้ว่า มันเจ๋งว่ะ!” – MC ประจำงาน LIT fest

หลากบทเพลงบรรเลงออกมาจากศิลปินที่บางคนรู้จัก บางคนไม่เคยเจอ บางคนรู้สึกคุ้นเคย ที่เกิดขึ้นบนเวทีตรงลานกว้างภายในงาน ได้สร้างความประทับใจได้อย่างไม่มีวันลืม และฉันเชื่อว่าใครหลายๆ คนคงมีเพลงแนวใหม่หรือต่างจากเดิมกลับไปฟังที่บ้านแน่นอน

ดนตรีเชื่อมโยงกับหนังสือ เพราะบางบทเพลงก็ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ และบางบทเพลงก็เกิดขึ้นจากหนังสือเช่นเดียวกัน อย่างเช่นเพลง ‘เธอยังคงมีฉัน’ ที่แต่งโดยเจี๊ยบ วรรธนา เธอเล่าว่าได้หยิบเนื้อหาบทกวีจากหนังสือของ ปะการัง มาแต่ง และเธอได้นำเพลงนี้มาร้องภายในงาน สร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังไม่น้อย

เช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่เชื่อมโยงกับหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่อง ตัวละคร ภาพยนตร์หลายเรื่องถูกสร้างมาจากหนังสือขายดี หรือบางเรื่องที่มีเนื้อหาถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียน อย่างภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง ‘Memoir of War’ ที่นำเสนอเรื่องราวของนักเขียนได้อย่างเข้มข้น งดงามและตรึงใจผู้ชม

Lit Fest

-5-

 “อย่างสำนักพิมพ์ที่มาออกในงานหนังสือวันนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นสำนักพิมพ์แนวหน้า คำว่าแนวหน้าในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องของยอดขายนะคะ แต่ในความหมายว่าพวกเขากล้าที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ เสมอ”  – สุชาดา สหัสกุล

ท้องฟ้าเปลี่ยนจากสีฟ้าสดใส (แน่นอนว่ายังคงปกคลุมไปด้วยนายฝุ่นตัวร้ายที่มีชื่อว่า PM 2.5) เป็นสีมืดดำสนิท ฉันก้มลงมองดูนาฬิกา เข็มยาวของนาฬิกาชี้ไปที่เลขเจ็ด เอียงไปทางเลขแปด เป็นเวลาหนึ่งทุ่มกว่าๆ แต่ปริมาณผู้คนในงานกลับไม่ลดลง ไม่สิ ต้องเรียกว่าเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ยิ่งดึกกลายเป็นว่ายิ่งคึกคัก บรรยากาศภายในงานเรียกว่าร้อนแรงกว่าฟายเออร์ จนฉันเองไม่อยากจะเชื่อว่า งานหนังสือที่สนุกจนไฟลุกงานนี้กำลังจัดขึ้นในยุคที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ยุควิกฤติของวงการธุรกิจหนังสือไทย’

แต่มันจะพอเป็นไปได้ไหมที่เราจะเห็นแสงไฟดวงใหม่ๆ ถูกจุดขึ้นจากงานภายในวันนี้อีกครั้ง?

ฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับ สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) และเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักในการจัดงาน LIT fest ครั้งนี้ จึงขอถามเธอถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานหนังสือแนวใหม่ที่เกิดขึ้น

“ต้องเชียร์คนที่เขาสร้างสรรค์งานนี้นะ ต้องนับถือจิตใจเขาเลยที่กล้าลุกขึ้นมาทำ ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง สังคมต้องการคนแบบนี้ ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เองก็เห็นสมควรที่เราต้องส่งเสริมสนับสนุน เพราะเรารู้ว่าเขาไม่ได้หวังผลกำไร แต่ต้องการที่จะสร้างบรรยากาศของงานหนังสือในอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้คนที่อาจจะเบื่องานสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ได้เจอนิมิตใหม่ ให้คนได้เห็นว่าจริงๆ แล้วงานหนังสือมันมีอะไรมากกว่าหนังสือหรือการลดราคา แต่ว่างานหนังสือสามารถมีสุนทรียะอย่างอื่นเข้ามาผสมได้ด้วย มันเป็นเรื่องดีที่งานนี้เกิดขึ้นมา” สุชาดา กล่าว

ในฐานะคนที่รักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ ฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำพูดที่ว่าหนังสือสามารถผสมเข้ากับสุนทรียะอย่างอื่นได้ และขอบอกเลยว่าจริงๆ แล้วหนังสือเป็นเรื่องสนุก ไม่ใช่เรื่องน่าซีเรียสแต่อย่างใด แต่ด้วยสาเหตุใดก็ไม่รู้ที่ทำให้หนังสือกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ และดูเป็นเรื่องยากเกินกว่าที่ทุกคนจะเข้าใจ

“อะไรหลายอย่างที่ว่านี้คือระบบการเรียนค่ะ ระบบการเรียนทำให้คนไม่ชอบการอ่านหนังสือ” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ตอบพร้อมหัวเราะเสียงใส ก่อนจะพูดต่อว่า

“เราต้องถามก่อนว่า อยู่ดีๆ การที่คนคนหนึ่งจะกลายมาเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนไหน เราต้องมีการสร้างนิสัยการรักการอ่านตั้งแต่เด็กๆ เลยหรือเปล่า บางทีเวลาได้ยินคนพูดว่าเด็กไม่อ่านหนังสือ เราก็อยากจะเถียงเขาไปเหมือนกันว่า ตกลงแล้วเด็กไม่อ่านหนังสือหรือเด็กไม่มีหนังสือที่ถูกใจให้อ่าน เพราะถ้าเด็กมีหนังสือที่ถูกใจให้อ่าน เด็กจะอ่าน ทำไมเด็กถึงไปเข้าแถวต่อคิวเพื่อซื้อหนังสือแจ่มใสหรือหนังสือของคาโดคาวะ แต่ในขณะเดียวกันทำไมเขาถึงไม่ไปต่อแถวเข้าห้องสมุดโรงเรียนล่ะ” คือคำถามที่สุชาดาทิ้งไว้ให้พวกเราได้ขบคิดกัน

Lit Fest

ก่อนกลับฉันแวะฟังรายการพิเศษที่จัดขึ้นในงาน LIT fest อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ผู้ร่วมงานหลายคนรอฟัง ก็คือการจัดไฮด์ปาร์คของสี่พรรคการเมืองอย่าง พรรคอนาคตใหม่, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องนโยบายหนังสือของพรรคการเมือง แน่นอนว่าทั้งสี่พรรคต่างขนนโยบายมาสู้กันอย่างเต็มที่ มีหลายความคิดที่ดูเข้าท่า และคงจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไม่น้อยหากสามารถทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้ แต่ก็ยังมีบางความคิดที่ชวนให้เกิดความรู้สึก ‘เอ๊ะ’ ขึ้นมาในใจเหมือนกัน

แต่อย่างน้อยภาพที่มีคนมานั่งฟังไฮด์ปาร์คเต็มลานสนามหญ้า มีตั้งแต่วัยคุณลุงคุณป้า วัยรุ่น ไปจนถึงวัยเด็กตัวน้อยๆ ก็ดูจะเป็นความหวังใหม่ให้กับวงการหนังสือไทย เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าพวกเราทั้งเหล่านักอ่าน นักเขียน ต่างไม่ได้อยู่นิ่งเฉยและต้องการจะเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นในสังคมไทย การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้วงการหนังสือของเราไปไกลมากกว่าประโยคที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือเพียงแค่ 7 บรรทัด”

ได้แต่หวังว่าเมื่อยามที่พวกเขาได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล จะไม่ลืมสัญญาที่ได้ให้กับเหล่าผู้คนที่ไม่ยอมให้ไฟดับมอด แม้จะอยู่ท่ามกลางพายุก็ตาม…

Lit Fest

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save