fbpx
Listening NYC: เมื่อการออกแบบมีส่วนร่วมปฏิรูปวงการตำรวจ

Listening NYC: เมื่อการออกแบบมีส่วนร่วมปฏิรูปวงการตำรวจ

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ตอนเด็กๆ พอได้ยินคำว่า ‘ปฏิรูป’ ผมจะมองว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ไกลตัวที่ประชาชนอย่างเราไม่มีบทบาท การปฏิรูปดูเป็นเรื่องของ ‘คนข้างบน’ มากกว่าเราที่มีหน้าที่เพียงนั่งรอรับผลของการปฏิรูปจากข้างล่าง ผมเชื่อว่าใครหลายคนก็คงเคยคิดแบบนี้มาก่อน

แต่วันนี้ผม รวมถึงเราทุกคนได้เห็นแล้วว่า ‘การปรับปรุงบางอย่างให้ดีขึ้น’ เป็นเรื่องที่เราทุกคนมีส่วนร่วมได้ การปฏิรูปทางเท้าไม่ได้อาศัยแค่วิศวกรโยธา การปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ใช้แค่ครูและนักวิชาการ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ใช้แค่คนที่มีความรู้เรื่องกฎหมาย  แต่ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกความสามารถมีบทบาทช่วยให้การปฏิรูปเรื่องใดก็ตามเป็นไปได้ดีขึ้นไม่ทางได้ก็ทางหนึ่ง อย่างน้อยก็ด้วยการแสดงความคิดเห็นว่าเรื่องไหนควรปฏิรูปได้แล้ว ภาพของประชาชนหลายพันคนยื่นจดหมายเสนอแนะการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยิ่งย้ำความคิดนี้ให้ชัดขึ้น

เมื่อได้เห็นแบบนี้ผมทั้งมีความหวังขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามว่า อาชีพนักออกแบบอย่างเรานอกจากจะส่งเสียงเรียกร้องการปฏิรูปหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เราจะสามารถใช้ ‘กระบวนการออกแบบ’ ไปช่วยในการปฏิรูปบางสิ่งบางอย่างได้บ้างไหม

ผมรู้จัก Listening NYC ในช่วงเวลาที่กำลังวนเวียนอยู่กับคำถามที่ว่า ราวกับว่ามันมาช่วยทำให้เห็นภาพร่างของคำตอบชัดขึ้น ถ้าอธิบายสั้นๆ มันคือแคมเปญใช้ ‘การคิดเชิงออกแบบ’ หรือ Design Thinking เข้าไปร่วมปรับปรุงการทำงานของตำรวจในนิวยอร์ก เป็นโปรเจ็กต์ที่ The New York Civil Liberties Union หรือสหภาพเสรีภาพพลเมืองนิวยอร์กที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของชาวเมือง ร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบ IDEO

ชาวนิวยอร์กมีประสบการณ์กับตำรวจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใครและอาศัยอยู่ที่ไหน ถ้าคุณเป็นคนผิวขาวที่อาศัยอยู่ในเขตหนึ่งของเมือง คุณอาจจะไม่มีปัญหาอะไรกับตำรวจเลย เพราะตำรวจทุกคนที่คุณเจอล้วนปฏิบัติกับคุณโอเคมากๆ คุณเลยไม่เห็นความจำเป็นว่าตำรวจต้องมีการปฏิรูปอะไร แต่ถ้าคุณเป็นคนผิวสีในอีกย่าน การถูกคุกคามจากตำรวจกลับเป็นประสบการณ์ที่คุณเจอเป็นประจำ บางครั้งก็เรียกให้หยุด บางครั้งค้นกระเป๋าโดยไม่บอกเหตุผล คุณรู้สึกไม่โอเค แต่คุณเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะไม่ยอมมั้ย

จะเป็นไปได้มั้ย ถ้าการปฏิบัติงานของตำรวจทั่วนิวยอร์กจะเท่าเทียมกัน ทุกคนในเมืองมีความเข้าใจความแตกต่างที่แต่ละคนเผชิญ รวมถึงเข้าใจสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองในแบบเดียวกัน – นี่คือโจทย์ตั้งต้นที่การออกแบบจะเข้าไปช่วยแก้

ทั้ง NYCLU และ IDEO เห็นตรงกันว่า การปฏิรูปอะไรสักอย่างต้องเริ่มจากการฟัง ฟังว่าคนคิดอย่างไรและต้องการอะไรจริงๆ กันแน่ การสื่อสารทางเดียวอย่างขึ้นป้ายบิลบอร์ดพร้อมสโลแกนปลุกใจจึงไม่ใช่ทางออก การจุดประกายให้เกิดบทสนทนาและเปิดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรับฟังปัญหาต่างหากคือสิ่งที่ควรทำ บทสนทนาที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนรู้สึกปลอดภัยที่จะพูด และการจะทำให้คนคนหนึ่งจะกลายเป็นผู้ฟังที่เห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ เราต้องเริ่มจากฟังพวกเขาก่อน

ในแคมเปญนี้ การออกแบบจึงไม่ได้ทำหน้าที่เสกประตูทางออกหรือสร้างเครื่องมือมหัศจรรย์ที่แก้ปัญหาได้เฉียบพลันเหมือนกินพาราฯ แต่การออกแบบเข้ามาในฐานะ ‘กระบวนการ’ ให้ผู้คนหาพื้นที่ตรงกลางและทางออกร่วมกัน หน้าที่ของนักออกแบบจึงไม่ใช่ผู้วิเศษที่นั่งอยู่บนหอคอย หยิบยื่นงานออกแบบให้ผู้คนที่ตัวเองไม่เคยแม้แต่จะเห็นหน้า แต่นักออกแบบต้องก้าวออกไปฟังเพื่อเข้าใจ ‘อินไซต์’ ของคนให้ทะลุปรุโปร่ง

Listening NYC เริ่มรันแคมเปญด้วยการโปรยคำถามไว้ตามป้ายรถเมล์ทั่วเมือง อินสตาแกรม เว็บไซต์ ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้คนคิดเกี่ยวกับการทำงานของตำรวจ เช่น “ฉันเชื่อว่าบทบาทของตำรวจคือ________” ก่อนจะทิ้งท้ายให้มาสนทนาร่วมกัน

 

 

The Listening Room คือเครื่องมือแรกในกระบวนการ ‘ห้องแห่งการรับฟัง’ คือบูธเล็กๆ ที่กระจายไปทั่วนิวยอร์ก ภายในบูธประกอบด้วยโต๊ะ เก้าอี้ และผนังสองฝั่งที่สร้างความรู้สึกใกล้ชิด แต่เปิดสองฝั่งเพื่อให้ความรู้สึกปลอดภัย บูธนี้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่รับฟังเรื่องราวและประสบการณ์ที่แต่ละคนมีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ

การพูดคุยแบบตัวต่อตัวในบูธดำเนินไปผ่าน Conversation Cards มีรูปแบบเป็นการ์ดคำถามให้คนแชร์เรื่องราวของตัวเองออกมาง่ายขึ้น อย่าง “ถ้าตำรวจเรียกให้คุณหยุด พวกเขาควรแจ้งเหตุผลหรือไม่?”

“เมื่อตำรวจเรียกให้คุณหยุด คิดว่าเขาควรแจ้งชื่อของตัวเองไหม?”

“หากตำรวจต้องการอ่านอีเมลของคุณ จำเป็นแสดงหมายค้นหรือไม่?”

หรือ “คุณฝันถึงตัวคุณหรือชุมชนของคุณไว้แบบไหน?”

 

 

ในขณะที่แคมเปญรณรงค์ทั่วไปมักพูดข้อความบางอย่างกับเราตรงๆ ซึ่งหากสิ่งที่แคมเปญพูดไม่ตรงกับที่เราคิดหรือประสบการณ์ที่เราเคยเจอ ผลที่ได้คือความรู้สึกไม่เชื่อหรือ ‘ไม่ซื้อ’ ในใจของผู้ฟัง แต่กลับกันแคมเปญที่เปิดโอกาสให้เราแชร์เรื่องราวในมุมของเรากลับทำให้เราเปิดใจฟังเรื่องของคนอื่นเช่นกัน

ภายใน The Listening Room นอกจากเราจะถูกรับฟัง เรายังจะได้ฟังเสียงของคนอื่นผ่านวิทยุที่บันทึกเรื่องราวของคนจากเขตอื่นๆ เพื่อให้เรารับรู้ประสบการณ์ในมุมที่ต่าง

“เราส่วนใหญ่อยู่ในบับเบิ้ลของตัวเอง และบางครั้งก็ไม่ได้คิดถึงปัญหาที่คนอื่นกำลังเผชิญ มันจึงดีที่เราได้นำเรื่องเหล่านี้ออกมาสู่แสงสว่าง” คำพูดของชาวเมืองผู้เข้ามาพูดคุยใน The Listening Room

การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริงเมื่อเกิดการลงมือทำ คนที่เข้ามาในบูธนอกจากจะได้พูดและฟังแล้ว หากคิดว่าหัวข้อหรือประเด็นไหนสำคัญ และต้องการปรับปรุงมันอย่างจริงจัง สามารถติดสติ๊กเกอร์หัวข้อนั้นๆ ลงบนโปสการ์ดพร้อมแปะสแตมป์ส่งไปหานายกเทศมนตรีของเมืองได้โดยตรง ซึ่งตลอดโครงการมีโปสการ์ดถูกส่งไปถึงมือนายกเทศมนตรี Bill de Blasio ในระหว่างการเลือกตั้งครั้งใหม่กว่า 2,000 ฉบับ

 

 

หลังจาก The Listening Booth ตระเวนไปทั่วเมืองเพื่อทำหน้าที่ฟังเสียงและส่งเสียงไปสู่คนจำนวนหนึ่งได้แล้ว NYCLU และ IDEO ยังจัดอีเว้นต์ให้คนมาคุยกัน ชวนผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีการสอดส่องของตำรวจ ความปลอดภัยในโรงเรียน ฯลฯ มาคุยกับประชาชนเพื่อสร้างการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองกัน

นอกจากนี้ Conversation Cards ชุดนี้ยังถูกส่งให้คนมีชื่อเสียง อินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงสมาชิกสภาเมืองนิวยอร์กเพื่อช่วยเสริมพลังให้การปฏิรูปอีกด้วย

Listening NYC ได้กระจายออกไปยังเขตอื่นๆ นอกเหนือจาก 5 เขตเริ่มต้น The Listening Room ผุดขึ้นในที่ต่างๆ มากมาย American Civil Liberties Union หรือสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกามีแผนจะกระจาย Conversation Cards ออกไปในระดับประเทศเพื่อสร้างบทสนทนาเรื่องการปฏิรูปตำรวจที่ดังขึ้นและไปต่อ ในขณะที่ผู้สมัครนายกเทศมนตรีในบอสตันในปีนั้น Tito Jackson บอกว่าถ้าตัวเองได้รับเลือก The Listening Room จะได้มาเยี่ยมเยียนที่นี่เพื่อฟังเสียงคนบอสตันอย่างแน่นอน

สิ่งที่เราเห็นจาก Listening NYC คือ ‘ตัวละคร’ อย่าง ตำรวจ กับ นักออกแบบ ซึ่งมองเผินๆ เหมือนอยู่กันละจักรวาล สามารถข้ามจักรวาลมาช่วยกันแก้ปัญหาของกันและกันได้ วิชาชีพต่างๆ ในสังคมไม่ใช่ทำได้แค่ส่งเสียงเรียกร้องการปฏิรูป แต่สามารถใช้องค์ความรู้เฉพาะตัวที่มีสร้างกระบวนการการปฏิรูปได้โดยตรง ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเมืองที่ดี

เพราะ ‘การเมืองดี’ ไม่ได้หมายถึงการเมืองที่เต็มไปด้วยนักการเมืองที่เก่งทุกด้านและสามารถเสกทุกอย่างให้ดีขึ้นในพริบตา แต่การเมืองที่ดีคือการเมืองที่เปิดโอกาสให้คนทุกฝ่าย ทุกความสามารถก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาได้อย่างเต็มตัว

ถึงวันนั้น เราจะมี Listening Thailand ตระเวนไปทุกจังหวัดก็คงไม่ยาก

 

อ้างอิง

Sparking a Conversation Around Policing in NYC

Better policing: IDEO and NYCLU ask New Yorkers for their views

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save