fbpx
‘พวกรับทุนต่างชาติ’: ข้อถกเถียงว่าด้วยการเมืองของการมีต่างชาติอยู่เบื้องหลัง

‘พวกรับทุนต่างชาติ’: ข้อถกเถียงว่าด้วยการเมืองของการมีต่างชาติอยู่เบื้องหลัง

นันทิพัฒน์ พรเลิศ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ทุกครั้งที่การเมืองภายในประเทศร้อนแรง กระแสการโจมตีกลุ่มคนที่เห็นต่างจากรัฐว่า ‘มีต่างชาติอยู่เบื้องหลัง’ มักจะกลับมาด้วยเสมอ โดยเฉพาะกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมที่พึ่งพิงแหล่งทุนจากต่างต่างชาติ การโจมตีเช่นนี้มีเป้าประสงค์เพื่อทำลายความชอบธรรมของผู้ถูกโจมตีด้วยหวังว่า ประเด็นที่กำลังขับเคลื่อนและเรียกร้องสูญเสียความชอบธรรมไปด้วย

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนเมื่อไม่นานมานี้คือ การนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งมีไอลอว์เป็นหัวหอกหลัก โดยมวลชนฝ่ายขวา ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.บางส่วนโจมตีว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความไม่ชอบธรรมเพราะ “มีองค์กรต่างชาติแทรกแซงอยู่เบื้องหลัง” และเป็นการกระทำที่ละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐ โดยเชื่อมโยงไปถึงแหล่งเงินทุนของไอลอว์ที่มีที่มาจากองค์กรต่างชาติ ในขณะที่ไอลอว์ก็ได้ออกมาตอบโต้ว่า การรับเงินทุนจากต่างชาติเป็นเรื่องปกติในการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งมักจะขัดแย้งกับรัฐจนไม่สามารถขอทุนจากภาครัฐได้ โดยที่องค์กรต่างชาติเหล่านั้นมิได้มีบทบาทในการแทรกแซงการทำงานแต่อย่างใด

กล่าวในแง่นี้ การโจมตีไอลอว์และองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่อาศัยแหล่งทุนจากต่างชาติ จึงสะท้อนให้เห็นแบบแผนของการเมืองไทยที่มักมีการวาดภาพ ‘ปีศาจ’ ของการมีต่างชาติแทรกแซงอยู่เบื้องหลัง เพื่อใช้ลดความชอบธรรมของศัตรูทางการเมืองโดยไม่แตกต่างจากการวาดภาพปีศาจอื่นๆ ดังที่เคยเกิดขึ้น เช่น ปีศาจคอมมิวนิสต์ ปีศาจล้มเจ้า หรือปีศาจชังชาติ

อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์การโจมตีทางการเมืองว่าด้วยการมีต่างชาติอยู่เบื้องหลังที่เกิดขึ้นในไทยอาจนับว่าล้าหลังไม่น้อย เมื่อเทียบกับการถกเถียงในระดับโลกที่มีมาอย่างยาวนานว่า ในการเมืองและระเบียบโลกยุคปัจจุบัน เราควรให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยของรัฐในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังเดิม หรือควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับการให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ข้ามพรมแดน โดยไม่มองว่าความช่วยเหลือจากต่างชาติเป็นดั่งปีศาจร้ายที่มาละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐ

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปสำรวจข้อถกเถียงและคำตอบในโลกยุคปัจจุบัน อันจะทำให้เข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับไอลอว์ในแง่มุมที่แตกต่างออกไปมากขึ้น โดยเปรียบเทียบระหว่างข้อถกเถียงเรื่องการเมืองของการมีต่างชาติแทรกแซงอยู่เบื้องหลังในไทย กับระนาบของข้อถกเถียงระดับโลกเกี่ยวกับการแทรกแซงและให้ความช่วยเหลือของต่างชาติทั้งในเชิงหลักการและกรณีศึกษาต่างๆ

 

รัฐเป็นศูนย์กลาง vs สากลนิยม

 

เราอาจกล่าวได้ว่า ฐานคิดในความรู้สึกต่อต้านปฏิบัติการทางการเมืองขององค์กรพัฒนาเอกชนที่มักทำงานวิจารณ์ภาครัฐ และที่องค์กรเหล่านั้นได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากชาวต่างชาติ แท้จริงแล้วมิใช่เรื่องของการเมืองภายในที่สามารถถูกมองแบบตัดขาดจากโลกภายนอก เพราะเมื่อเราใช้มุมมองที่มีการถกเถียงกันในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศ จะเห็นว่า วิธีคิดของฝ่ายขวาไทยสอดรับกับแนวคิดและหลักปฏิบัติแบบ ‘การมองอำนาจของรัฐเป็นศูนย์กลาง (Statism) ที่มองว่า การกระทำทางการเมืองควรให้อำนาจและสิทธิขาดอยู่ที่อำนาจอธิปไตยของรัฐเหนืออำนาจขององคาพยพอื่นๆ ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคประชาชน หรือองค์การระหว่างประเทศ

ถ้ากล่าวด้วยภาษาวิชาการขึ้น ระเบียบวิธีคิดเช่นนี้มักอยู่ใต้กรอบของ ‘ระเบียบโลกแบบเวสต์ฟาเลีย’ (Westphalian world order) ซึ่งเป็นรูปแบบของการจัดสรรอำนาจในโลกยุคปัจจุบัน โดยระเบียบโลกแบบเวสต์ฟาเลียจะให้ความสำคัญกับการมองอำนาจรัฐเป็นศูนย์กลางการตัดสินใจทางการเมือง และเป็นโลกทัศน์การจัดระเบียบที่ยังยึดโยงกับการแบ่งเส้นพรมแดนระหว่างรัฐชาติ ทำให้ในบางครั้ง อำนาจรัฐอาจละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของมนุษย์ โดยอ้างว่ากระทำไปเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ

เมื่อเราใช้ระบบแบบเวสต์ฟาเลียซึ่งใช้ความคิดแบบ ‘รัฐเป็นศูนย์กลาง’ เป็นกรอบในการอธิบาย จึงจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยึดถือวิธีการมองโลกแบบนี้มักเป็นผู้ที่ยังรู้สึกผูกโยงอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนเข้ากับพรมแดนของรัฐชาติอย่างเหนียวแน่น และจะมีความรู้สึกไม่ต้อนรับอิทธิพลต่างชาติใดๆ ที่อาจเข้ามาลดทอนอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของรัฐ การที่ฝ่ายขวาไทยต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ ในฐานะที่เป็นองค์กรซึ่งรับเงินจากต่างชาติ จึงสะท้อนได้ว่า ฝ่ายขวาไทยยังมีความรู้สึกผูกโยงยึดติดกับความเป็นรัฐไทยแบบเวสต์ฟาเลียนอย่างแข็งกร้าว และรู้สึกกลัวต่ออิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของต่างชาติที่อาจข้ามพรมแดนมาลดทอนอำนาจของรัฐไทย

ถ้ากล่าวให้ชัดเจนกว่านั้น ‘ไอลอว์’ ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ และ ‘ทุนต่างชาติ’ ต่างถูกฉายภาพเป็นเนื้อเดียวกันอย่างแยกไม่ออกในฐานะปีศาจต่างชาติที่จะเข้ามาทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของไอลอว์จึงนับว่าไร้ความชอบธรรมตั้งแต่ตั้งไข่โดยยังไม่ต้องไปอ่านเนื้อหาเสียด้วยซ้ำ

ถึงกระนั้น ในอีกมุมหนึ่ง เราจะเห็นว่าบางที แนวคิดเรื่ององค์กรต่างชาติที่เข้ามาอยู่เบื้องหลังการทำกิจกรรมทางการเมืองอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายมากจนเกินไปในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงอีกชุดความคิดที่พัฒนาขึ้นมาในทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับหลักความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น หรืออาจเรียกชุดความคิดกลุ่มนี้ว่า ‘กลุ่มสากลนิยม’(Cosmopolitanism)

แนวความคิดแบบสากลนิยมมองว่า ทุกคนบนโลกล้วนเป็นพลเมืองโลกที่มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน การดำเนินกิจกรรมหรือแทรกแซงเพื่อให้ความช่วยเหลือและปกป้องสิทธิมนุษยชนของเพื่อนร่วมโลกจึงเป็นเรื่องที่ควรกระทำโดยไม่ต้องขึ้นกับเส้นเขตแดนของรัฐ หรือพูดได้ว่า เป็นการทำให้ระเบียบโลกแบบเวสต์ฟาเลียให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยไม่เน้นความมั่นคงของรัฐที่แข็งกระด้างมากเกินไป และความมั่นคงของรัฐควรต้องเท่ากับความมั่นคงของประชาชน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่สมาทานแนวคิดแบบสากลนิยมจึงมักมองว่า การที่ชาวต่างชาติเข้ามาช่วยเหลือหรืออยู่เบื้องหลังกิจกรรมทางการเมืองไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่ละเมิดอำนาจรัฐ โดยเฉพาะถ้าการกระทำเหล่านั้นมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสิทธิมนุษยชน ถ้านำแนวความคิดดังกล่าวมามองปรากฏการณ์การรับทุนจากต่างชาติของไอลอว์ ก็จะเห็นว่า การมีเบื้องหลังเป็นชาวต่างชาติเพื่อเจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของไอลอว์ ซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ไม่ควรถูกตีตราเป็นดั่งปีศาจมากเกินไปเหมือนที่รัฐไทยมอง แต่รัฐเองควรลดอัตตาแห่งอำนาจอธิปไตยลง ฟังเสียงความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น โดยไม่ควรนำความเป็นคนอื่นของชาวต่างชาติมาเป็นข้ออ้างในการละเมิดและลดทอนหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

 

การแทรกแซงจากประชาคมระหว่างประเทศ: หลักปฏิบัติและกรณีศึกษา

 

 จากแนวคิดสากลนิยมที่เอื้อต่อความชอบธรรมทางการเมืองของการมีต่างชาติอยู่เบื้องหลัง ส่งผลให้แนวปฏิบัติในการสนับสนุนทุนต่างชาติแก่องค์กรพัฒนาเอกชน รวมถึงไอลอว์ นับว่าเป็นการกระทำที่ค่อนข้างชอบธรรมตามแนวคิดดังกล่าว ในส่วนนี้ ผู้เขียนจะพาไปดูหลักปฏิบัติและกรณีศึกษาอื่นๆ ในเชิงเปรียบเทียบที่จะสะท้อนให้เห็นว่า ปฏิบัติการทางการเมืองแบบที่มีประชาคมต่างชาติอยู่เบื้องหลัง หรือแม้แต่เข้ามาแทรกแซงหลายกรณีที่เคยเกิดขึ้นในโลกไม่ได้เป็นปีศาจร้ายเหมือนที่ฝ่ายขวาไทยและกลุ่มนิยมรัฐคิดเสียทั้งหมด แต่สามารถนำมาซึ่งผลดีแก่มนุษยชาติได้เช่นกัน รวมถึงทำให้เห็นว่า ปฏิบัติการทางการเมืองที่มีประชาคมต่างชาติอยู่เบื้องหลังก็มีความชอบธรรมได้

หากกล่าวถึงเชิงหลักปฏิบัติในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะยุคหลังสงครามเย็น หลักสำคัญประการหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากในแง่ที่เอื้อต่อการแทรกแซงจากประชาคมระหว่างประเทศที่ชอบธรรมคือ ‘หลักรับผิดชอบเพื่อปกป้อง’ (Responsibility to Protect: R2P) ซึ่งมีใจความสำคัญคือ หากรัฐไม่สามารถปกป้องดูแลสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของมนุษย์ได้ดีพอ ประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมทั้งตัวแสดงที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐ จะมีความชอบธรรมในการดำเนินกิจกรรมเพื่อแทรกแซง และให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในรัฐนั้น ซึ่งหลักปฏิบัตินี้จะส่งผลให้ความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิมนุษยชนในเวทีสากลได้รับน้ำหนักความสำคัญมากพอกับอำนาจอธิปไตยของรัฐอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อมองจากมุมนี้ การที่ประชาคมต่างชาติสนับสนุนทุนให้แก่ไอลอว์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งเป็นร่างที่เคารพสิทธิมนุษยชนของพลเมือง จึงอาจเป็นการกระทำที่ไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงสภาพที่เป็นจริงของรัฐไทยในปัจจุบันที่ค่อนข้างน่าผิดหวังในแง่การให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน

พูดอย่างเป็นรูปธรรม แนวคิดและหลักปฏิบัติในยุคปัจจุบันทำให้เราเห็นว่า ประชาคมระหว่างประเทศสามารถแทรกแซงและเข้าไปมีบทบาทท่ามกลางอำนาจอธิปไตยอันศักดิ์สิทธิ์ของรัฐ เพื่อจุดประสงค์เชิงศีลธรรมในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของพลเมืองได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะปรากฏให้เห็นใน 2 ประเภท

ประเภทแรก คือ การแทรกแซงทางมนุษยธรรมของประชาคมระหว่างประเทศที่ไม่ใช่รัฐ โดยเฉพาะในส่วนของภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ ซึ่งมักเป็นการแทรกแซงที่ไม่ถึงขั้นละเมิดอำนาจรัฐและไม่ใช่การแทรกแซงทางการทหาร แต่เป็นการแทรกแซงเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance) แก่คนชายขอบหรือบุคคลที่รัฐไม่มีทรัพยากร หรือไม่สามารถที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ดีพอ อาทิ ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ผู้ลี้ภัย เหยื่อจากสงคราม เด็ก ฯลฯ โดยองค์กรเหล่านี้มักไม่พยายามผลักดันวาระทางการเมืองมากเกินไปจนแตกหักกับรัฐ แต่จะเน้นเข้าไปอุดช่องโหว่ที่รัฐอาจไม่สามารถให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมได้มีประสิทธิภาพเพียงพอ ภาคประชาสังคมที่รับบทบาทการแทรกแซงประเภทนี้ เช่น หน่วยแพทย์อาสาข้ามพรมแดน (Médicins Sans Frontière: MSF) ที่มีบทบาทในการเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อสงครามในทุกพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากรัฐเจ้าของอำนาจอธิปไตยในพื้นที่ก่อน

นอกจากนี้ ยังมีองค์กรภาคประชาสังคมที่พยายามแทรกแซงรัฐในเชิงการดำเนินกิจกรรมเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในนามความมั่นคงของรัฐ เช่น องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) และ Human Right Watch ซึ่งนับว่ามีบทบาทในการช่วยคานไม่ให้การกระทำในนามความมั่นคงของรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนของพลเมืองมากเกินไป[1] โดยองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากในไทยที่รับแหล่งทุนจากต่างชาติ รวมถึงไอลอว์ อาจถูกนับได้ว่าอยู่ในขอบข่ายการแทรกแซงประเภทนี้

ประเภทที่สอง ซึ่งเกิดขึ้นน้อยกว่า คือ การแทรกแซงทางมนุษยธรรมของประชาคมระหว่างประเทศที่เป็นรัฐ ซึ่งโดยทั่วไป การแทรกแซงประเภทนี้มักมีปัญหามาก อีกทั้งยังมีการเมืองเรื่องผลประโยชน์ของรัฐผู้แทรกแซงเข้ามาเกี่ยวข้อง จนอาจทำให้ความชอบธรรมในการแทรกแซงประเภทนี้น้อยกว่าประเภทแรก

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง การแทรกแซงประเภทนี้อาจประสบความสำเร็จ และยับยั้งไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ เช่น การแทรกแซงทางการทหารของกองกำลังนาโต (NATO) และสหรัฐอเมริกาในโคโซโว ปี ค.ศ.1999 ที่สามารถยับยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโคโซโวจากระบอบเผด็จการของผู้นำเซอร์เบียในสมัยนั้นอย่างสโลโบดาน มิโลเซวิช (Slobodan Milošević) ได้สำเร็จ และส่งผลให้ชาวโคโซโวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังมีรัฐเอกราชของตัวเองที่แยกออกมาอย่างเด็ดขาดและปลอดภัยมากขึ้น

กรณีศึกษาข้างต้นทำให้เราเห็นว่า รัฐในโลกยุคปัจจุบันไม่สามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่สนใจถึงหลักปฏิบัติของโลกสากลที่เคารพถึงหลักสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว การที่ประชาคมสังคมระหว่างประเทศหรือรัฐจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของรัฐอื่น เพื่อผลักดันวาระด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ปกติมากๆ ในสภาวะที่โลกล้อมไทยเช่นนี้ รัฐไทยจึงควรเป็นฝ่ายปรับตัวเข้าหาหลักการสากล และควรจะมองกิจกรรมของไอลอว์ รวมถึงการรับเงินทุนจากต่างชาติในฐานะแนวปฏิบัติหนึ่งที่โลกสากลกระทำเป็นเรื่องปกติ มิใช่เรื่องของปีศาจที่จะเข้ามากัดกินประเทศชาติแต่อย่างใด

ถึงกระนั้น ในท้ายที่สุด ผู้เขียนมิได้ต้องการสนับสนุนให้รัฐไทยสละอำนาจอธิปไตยของตัวเอง และปล่อยให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซงอย่างเต็มที่ แต่เราต้องไม่ลืมว่า ในยุคปัจจุบัน แนวคิดการมองโลกมีหลากหลายและไปไกลกว่าการมองรัฐเป็นศูนย์กลาง และกิจกรรมทางการเมืองที่มีต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องหรือแทรกแซงก็ไม่ได้เลวร้ายหรือหมดจดไปเสียทั้งหมด

เมื่อหันกลับมามองในกรณีที่ฝ่ายนิยมรัฐไทยโจมตีไอลอว์ โดยกล่าวหาว่ารับเงินต่างชาติมาแทรกแซงและทำลายประเทศไทย ก็อาจจะเป็นการดีกว่า หากฝ่ายนิยมรัฐไทยเลิกกลัวการแทรกแซงจากต่างชาติ รวมถึงเลิกปลุกกระแสความหวาดกลัวต่างชาติ (Xenophobia) เพื่อลดทอนเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของไอลอว์ แต่ควรหันกลับมารับฟัง แลกเปลี่ยน และถกเถียงในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและความเป็นมนุษย์ของประชาขนไทยมากขึ้น เพื่อให้สังคมไทยสามารถดำรงอยู่ท่ามกลางสังคมโลกอย่างสง่างาม เพราะหากการสร้างปีศาจและการล่าแม่มดของฝ่ายขวาไทยยังคงดำเนินต่อไป ท้ายที่สุด สังคมไทยอาจจะกลายเป็นสังคมที่กอดอำนาจอธิปไตยและตัวตนของความเป็นไทยอย่างเหนียวแน่น ท่ามกลางสายตาหยามเหยียดจากประชาคมโลก และท่ามกลางซากปรักหักพังของรุ่นลูกหลานที่ไม่อาจย้อนกลับคืนมาได้อีกเลย


[1] Janjira Sombatpoonsiri, “The Concept of Civil Society and its Translation into Practice: Humanitarian Intervention and “Responsibility to Protect” in Focus,” Thammasat Journal 33, no. 3 (2014): 124-125.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save