fbpx
ยักษ์ผู้ฆ่า ‘แจ๊ค’ : จากจุดเริ่มต้นถึงบทสุดท้ายของช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม.

ยักษ์ผู้ฆ่า ‘แจ๊ค’ : จากจุดเริ่มต้นถึงบทสุดท้ายของช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม.

ในโลกเทคโนโลยี ถ้าจะบอกว่าวัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิดของสิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปด้วยระยะเวลาที่เร็วพอๆ กับวงจรชีวิตลูกน้ำยุงลาย ก็คงจะไม่ผิดนัก

 

จากเอ็มเอสเอ็นมาสู่ไลน์ ฟล็อปปี้ดิสก์มาสู่ซีดี ธัมบ์ไดรฟ์มาสู่คลาวด์สตอเรจ แบล็กเบอร์รี่มาสู่ไอโฟน

เทคโนโลยีที่ดีกว่า ใหม่กว่า เข้าถึงคนจำนวนมากได้ไวกว่าพร้อมจะกลืนกินและ ‘ฆ่า’ เทคโนโลยีเก่าที่เราคุ้นเคยในยุคหนึ่งให้ตายจากไปตลอดกาล จนคนรุ่นหลังอาจได้เห็นมันเป็นของวางโชว์ในพิพิธภัณฑ์ได้ทุกเมื่อ (ทดสอบง่ายๆ ในยุคนี้ถ้าเอาแผ่นดิสก์ไปให้เด็กมัธยมต้นดู พวกเขาอาจจะบอกว่า นี่พี่พิมพ์ไอคอนเซฟในเวิร์ดด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติมาให้ผมดูเหรอครับ!)

แต่หนึ่งเทคโนโลยีที่อยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันและพร้อมมีองครักษ์ออกโรงปกป้องไม่ให้มันตายจากไปแม้จะเริ่มมีความพยายาม ‘ฆ่า’ มันไปสักแค่ไหน คือสิ่งที่อยู่ใต้โทรศัพท์มือถือของทุกคน (ผู้ยังไม่ได้เปลี่ยนมือถือรุ่นใหม่) อย่างช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร –

ที่อยู่คู่โลกนี้มาถึงเกือบ 140 ปีแล้ว!

 

ย้อนกลับไปในปี 1878 ที่การโทรศัพท์เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้น วิธีการติดต่อสื่อสารของคนยุคนั้นยังต้องผ่านคนกลางอย่างโอเปอร์เรเตอร์สาวผู้ทำหน้าที่นั่งอยู่ด้านหน้าแผงวงจรขนาดใหญ่ คอยรับสายจากปลายทางฝั่งหนึ่ง จดเบอร์โทรศัพท์ และทำการ ‘เชื่อมต่อ’ เบอร์โทรศัพท์ไปถึงปลายทางด้วยการเสียบสายเคเบิลต่อสัญญาณระหว่างผู้โทรและผู้รับ

สายสัญญาณที่ว่าเป็นต้นกำเนิดของช่องเสียบหูฟังที่เราคุ้นเคยทุกวันนี้ แม้ว่าในตอนนั้นขนาดของมันจะใหญ่เกือบถึงสองเท่าของปัจจุบัน แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปคือหน้าตาของขั้วต่อที่มีรอยบากอันเป็นเอกลักษณ์ ด้วยเหตุผลที่ว่าการเชื่อมต่อสัญญาณของโอเปอร์เรเตอร์จำเป็นต้องออกแบบอุปกรณ์ให้ดึงเข้าออกได้ง่ายเพื่อความรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็ต้องคงความแน่นหนาเอาไว้ไม่หลุดออกจากช่องเสียบง่าย

 

ภาพ:  Vintage Everyday

 

เวลาต่อมา แม้ระบบโทรศัพท์จะพัฒนาเป็นการสลับช่องสัญญาณอัตโนมัติแทนการใช้แรงงานคน แต่ความนิยมของอินเตอร์เฟซเชื่อมต่อสัญญาณเสียงแบบนี้ไม่ได้หายไปเหมือนบรรดาโอเปอร์เรเตอร์หญิงที่ต้องตกงาน มันกลับถูกพัฒนาต่อจนเป็นระบบส่งสัญญาณเสียงในหูฟังโทรศัพท์ยุคแรกๆ ก่อนจะแพร่หลายไปในวงการดนตรี และถูกย่อส่วนเป็นขนาดที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันเมื่อปี 1964 ในวิทยุพกพาของ Sony ก่อนจะก้าวเข้าสู่การเป็นช่องเสียบหูฟังที่ใครๆ ก็รู้จักเมื่อวันที่ิเครื่องเล่นเทป Walkman ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

กลไกการทำงานของหูฟังที่มีขั้วต่อ 3.5 มม. ทั่วๆ ไป คือการส่งสัญญาณเสียงแบบอนาล็อกผ่านทางขั้วต่อที่มีรอยบากแบ่งแท่งโลหะออกเป็นสามส่วน ซึ่งถูกเรียกว่า TSR หรือ Tip (ส่วนปลาย), Ring (ส่วนกลาง) และ Sleeve (ส่วนต้นติดกับขั้ว) โดยส่วน Tip จะส่งสัญญาณเสียงช่องซ้ายออกไปที่หูฟังข้างซ้าย Ring ส่งไปที่ข้างขวา และ Sleeve จะทำหน้าที่เป็น ground ต่อให้ครบวงจรเมื่อใช้งาน จนเราได้ยินเสียงในแบบสเตอริโอทั้งสองข้างของหูฟัง (ในขณะเดียวกัน ขั้วต่อยุคแรกๆ ที่มีรอยบากแค่สองส่วนก็จะได้เสียงแบบโมโน ส่วนยุคหลังอาจมีถึงสี่ส่วน เพื่อเอาไว้ใช้สำหรับไมโครโฟนบนหูฟัง)

ช่องสัญญาณ 3.5 มม. ถูกนำไปใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมายหลากหลายแบรนด์ หลากหลายประเภทสินค้า ด้วยข้อดีของมันที่เป็นเทคโนยีแบบเปิด ใครสามารถนำไปใช้ก็ได้ไม่ต้องเสียค่าไลเซนส์เหมือนเทคโนยีอื่นๆ ที่มีบริษัทใหญ่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และเมื่อแพร่กระจายไปไกล อุปกรณ์ยี่ห้อไหนก็มี จึงเริ่มมีคนดัดแปลงมันมาใช้ทำอย่างอื่นมากขึ้นนอกจากแค่ส่งสัญญาณเสียง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องอ่านบัตรเครดิต เทอร์โมมิเตอร์ เคร่ืองวัดแสง หลอดไฟแอลอีดี เครื่องสแกนเนอร์สามมิติ ฯลฯ ทั้งหมดทำผ่านขั้วต่อเล็กๆ ซึ่งแอบซ่อนความสามารถในการส่งพลังงานออกมาให้วงจรหลักในอุปกรณ์เหล่านี้ทำงานได้

ระยะเวลาร้อยกว่าปีที่มันอาศัยอยู่ในอุปกรณ์บนมือเราก็ดูจะเป็นสุขดี แต่โลกความจริงก็ใช่ว่าจะจบลงแบบแฮปปี้เอนด์ดิ้งเหมือนละครหลังข่าวเสียเมื่อไหร่

 

ปลายปี 2016 บริษัทเจ้าของนวัตกรรมจากซิลิคอนวัลเลย์ที่ใครๆ ก็รู้จักอย่าง Apple ท้าทายความคุ้นชินของผู้บริโภคบนเวทีเปิดตัว iPhone 7 ด้วยการโชว์ภาพของหญิงสาวโอเปอร์เรเตอร์หน้าเครื่องสลับสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อบอกว่าช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. น่ะ มันช่างเป็นอะไรที่ เชยแอนด์โบ(ราณ) สิ้นดี ถึงเวลาแล้วที่เราจะตัดมันออกไป แล้วเปลี่ยนมาใช้พอร์ท Lightning หรือใช้หูฟัง Airpods แบบไร้สายกันดีกว่า!

แอปเปิ้ลขึ้นชื่อลือชาในเรื่องการ ‘กำจัด’ เทคโนโลยีเก่าออกไปจากผลิตภัณฑ์ของตัวเองก่อนใครเพื่อนแม้ว่าลูกค้าจะส่งเสียงด่ากันระงม ย้อนไปในอดีต พวกเขาคือแบรนด์แรกๆ ที่เอาไดรฟ์อ่านแผ่นดิสก์ออกไปจาก iMac G3 (รุ่นตัวเครื่องพลาสติกสีสดใสที่เด็กยุค 90s ต้องทันเห็น) เพื่อดันให้ซีดีเป็นที่นิยม ก่อนจะเอาไดรฟ์ซีดีออกไปในตอนเปิดตัว Macbook Air รุ่นแรก เพื่อดันให้โลกของคลาวด์ (ซึ่งในยุคนั้นยังไม่แพร่หลาย) เป็นที่นิยม

 

ภาพ: Apple

 

สาเหตุที่แอปเปิ้ลบอกว่าต้องตัดพอร์ตอนาล็อกโบราณนี้ออก ก็เพราะสาเหตุด้าน ‘พื้นที่’ ในตัวเครื่องที่เริ่มไม่พอจะยัดทุกอย่างลงไป เมื่อทีมวิศวกรต้องการเพิ่มส่วนประกอบใหม่ที่มีฟังก์ชั่นดีขึ้น (ในที่นี้คือกล้องถ่ายภาพและระบบกันสั่น) พื้นที่ด้านบนเครื่องที่เคยมีไว้วางแผงวงจรควบคุมจอภาพก็ไม่พอจนต้องย้ายมาด้านล่าง และผู้ที่ต้องเสียสละชีพจากไปจะเป็นใครไม่ได้ นอกจากเจ้าช่องหูฟังโบราณนี้นี่เอง

และอีกสาเหตุหนึ่งที่พวกเขาบอก คือการใช้พอร์ต Lightning หรือสัญญาณ Bluetooth ส่งสัญญาณเสียง จะทำให้ผู้ใช้ได้ประสบการณ์ฟังที่ดีขึ้น เพราะแต่ก่อนเมื่อทุกคนใช้ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณแบบอนาล็อก ผู้ผลิตจำเป็นต้องใส่ชิพแปลงสัญญาณเสียงจากดิจิตอลหรือ DAC (ในโทรศัพท์) เป็นอนาล็อก (เพื่อส่งไปยังช่องหูฟัง) ลงไปในอุปกรณ์ แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้พอร์ตดิจิตอลส่งสัญญาณตรง ปริมาณข้อมูลหรือคุณภาพเสียงก็จะมากขึ้น ก่อนจะส่งไปแปลงเป็นสัญญาณอนาล็อกที่ชิพแปลงสัญญาณในตัวหูฟังเอง

ข้อดีนี้ทำให้ผู้ใช้เลือกหูฟังที่มีชิพแปลงสัญญาณดีๆ ภายในเพื่อคุณภาพเสียงที่ดีได้เอง มากกว่าจะต้องทนฟังเสียงจางๆ จากชิพแบบเดียวของผู้ผลิตที่ใส่ลงไปในโทรศัพท์ทุกเครื่องแบบเมื่อก่อน เป็นการเปิดศักราชการฟังในยุคดิจิทัลหลังติดอยู่กับเทคโนโลยีเก่ามาเป็นร้อยปี!

แต่หลังจากงานสไลด์บนเวทีจบลง เสียงแซะ เสียงบ่น เสียงก่นด่าจากฝั่งผู้ใช้ทั่วโลกก็ประเคนมาให้แอปเปิ้ลผู้ไม่แคร์ใคร แม้ว่าในกล่องจะแถมตัวแปลงไว้ให้ใช้กับหูฟังเก่าที่หลายคนมีอยู่ก็ตาม ลามไปถึงแบรนด์คู่กัดอย่าง Google (รวมไปถึงค่ายฝั่ง Android อีกหลายค่าย) ที่เปิดตัวโทรศัพท์ของตัวเองรุ่นแรกในชื่อ Google Pixel ในปีเดียวกัน ก็โปรโมตว่าตัวเองยังไม่ตัดช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ออกนะจ๊ะ

เหตุผลที่หลายคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันจากการตัดช่องเสียบหูฟังออกไป คือมันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ ‘ใหญ่มาก’ อีกครั้งในวงการเทคโนโลยี

ซึ่งหลายคนที่ลงทุนกับหูฟังดีๆ ต้องเพิ่มภาระพกสายแปลงแทนที่จะเสียบตรงๆ ได้เหมือนเดิม แต่นั่นก็ไม่เท่ากับการตัดอนาคตของอินเตอร์เฟซแบบเสรีไม่จำกัดค่าย และเปิดทางให้แอปเปิ้ลสามารถ ‘ขัง’ ผู้ใช้และผู้ผลิตหูฟังไว้ในวงจรเทคโนโลยีของตัวเอง

ในการผลิตอุปกรณ์เสริมแบบถูกลิขสิทธิ์กับแอปเปิ้ล ส่วนแบ่งที่ผู้ผลิตต้องแบ่งให้พวกเขาเพื่อเป็นค่าต๋งการใช้สิทธิบัตรอยู่ที่ 4 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อชิ้น นั่นหมายความว่าภาระทางต้นทุนต้องตกมาอยู่กับผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมที่ต้องการใช้พอร์ต Lightning ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนที่ต้องใส่ชิพแปลงสัญญาณ DAC ลงไปในหูฟังของตัวเองอีก

ดังนั้นจึงอย่าแปลกใจไป ถ้าการลงทุนซื้อหูฟังยุคใหม่ทั้งแบบมีสายใช้พอร์ตดิจิทัลและแบบไร้สายใช้บลูทูธจะเป็นสิ่งที่เผาเงินในกระเป๋าไปมากกว่าปกติเมื่อเทียบกับยุคของหูฟัง 3.5 มม. ที่เพียงเดินเข้าร้านสะดวกซื้อก็หยิบมาจ่ายแบบสบายกระเป๋าในราคาไม่ถึงร้อยบาทต่อชิ้น

 

หลังแอปเปิ้ลประกาศตัดสัมพันธ์กับช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. แบบถาวรอย่างไม่หวนคืน แม้จะมีผู้ใช้ลงชื่อกว่า 300,000 คนเรียกร้องให้นำมันกลับมาในไอโฟนรุ่นต่อไป (ซึ่งเราได้เห็นไปแล้วว่า ‘ไม่มี’) หรือจะมียูทูบเบอร์คนหนึ่งที่ทำสารคดีการเดินทางเปลี่ยนไอโฟนให้กลับมามีช่องเสียบหูฟังด้วยตัวเอง พร้อมเสนอแผงวงจรที่เขาทำเองให้วิศวกรของแอปเปิ้ลไปศึกษาฟรีๆ แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะโนสนโนแคร์ อย่างแท้จริง

 

YouTube video

 

แม้แต่กูเกิลที่นำเรื่องนี้มาเป็นจุดขายเหนือคู่แข่งเมื่อปีก่อน ในการเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นใหม่อย่าง Google Pixel 2 พวกเขาก็ตัดพอร์ตนี้ออกไปแบบเงียบๆ (แถมไม่ให้ทั้งหูฟังและตัวแปลงมาให้ จนกลายเป็นเรื่องให้แฟนบอยแอปเปิ้ลได้แซะกลับกันสนุกสนาน) เช่นเดียวกับผู้ผลิตอีกหลายรายที่เริ่มจะ เห็นช้างขี้ ก็ขี้ตามช้าง

 

นี่อาจเป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่า เวลาของช่องเล็กๆ ใต้โทรศัพท์ของเรา น่าจะเริ่มหมดลงเร็วขึ้นทุกทีๆ

และจนกว่าเราจะชินชากับการเปลี่ยนแปลง นี่อาจเป็นอีกครั้งที่เราบอกได้อย่างเต็มปากว่าในโลกของเทคโนโลยีนั้นไซร้,

ไม่มีใครอยู่ยั้ง ยืนยง

 

อ่านเพิ่มเติม

ข่าวเรื่อง The 19th Century plug that’s still being used จาก BBC

บทความเรื่อง No, really, the headphone jack is more useful than you think! โดย Haje Jan Kamps จาก Tech Crunch

บทความเรื่อง By scrapping your antiquated headphones, Apple is doing something extraordinary for music โดย Amy X. Wang จาก QuartZ

ข่าวเรื่อง Why the Lightning port beats Bluetooth for sound quality โดย James O’Malley จาก techradar

ข่าวเรื่อง Inside iPhone 7: Why Apple Killed The Headphone Jack โดย John Paczkowski จาก BuzzFeed

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022