fbpx
Virtual Companions: มีเพื่อนขายไหม?

Virtual Companions: มีเพื่อนขายไหม?

หลายคนเคยเหงา ต้องอยู่ลำพัง โดดเดี่ยว หรือกระทั่งถูกเพื่อนหักหลังจนต้องเลิกคบกันไป เจ็บปวดกันไป

บางคนอาจถึงขั้นเคยหลุดปากถามด้วยซ้ำ – ว่ามิตรภาพเป็นสิ่งที่ ‘มีขาย’ หรือเปล่า และแทบทุกคนก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีหรอก มิตรภาพจะมีขายได้อย่างไรกัน เราจะเป็นเพื่อนกับของเล่น รถยนต์ เครื่องยนต์กลไก หรือสัตว์เล้ียงได้ด้วยหรือ

 

แต่ในระยะหลัง เราจะเริ่มเห็นคนสนทนาพาทีกับสิ่งไม่มีชีวิตกันมากขึ้น ตัวอย่างที่เชื่อว่าหลายคนคงเคยทำ ก็คือการไปกระเซ้าเย้าแหย่กับ ‘Siri’ ในไอโฟน (หรือคู่สนทนาแบบ Chatbot ทั้งหลายในที่ต่างๆ) โดยการตั้งคำถามสนุกๆ (ที่จริงๆ แล้วเป็นคำถามที่มีความซับซ้อนทางอัลกอริธึมสูงมาก) เช่นถามว่า ‘อะไรคือความหมายของชีวิต’ กับ Siri แล้ว Siri ก็จะตอบอะไรบางอย่างออกมา ฟังดูเป็นที่ขบขันไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม การจะบอกว่า Siri เป็น Chatbot ก็อาจไม่ถูกต้องทีเดียว เพราะแช็ตบ็อตอย่าง Siri, Alexa หรือ Google Assistant (รวมถึงอีกหลายเจ้าด้วย) คือ A.I. Based Chatbot คือเป็นแช็ตบ็อตไม่ธรรมดา เนื่องจากมีกลไกปัญญาประดิษฐ์ซ่อนเป็นฐานอยู่ โดยเป้าหมายของแช็ตบ็อตเหล่านี้ก็คือการพยายาม ‘เลียนแบบ’ (Simulate) วิธีที่มนุษย์จะตอบสนองกับคู่สนทนา เช่นถูกถามว่าอย่างนี้ ควรจะตอบว่าอย่างไร เราอาจรู้สึกว่า พวกแช็ตบ็อตเหล่านี้ไม่ได้ ‘เข้าใจ’ จริงๆ หรอกว่าเรากำลังถามอะไร มันเพียงแต่ถูกตั้งโปรแกรมมาเท่านั้น ว่าถ้าถูกถามแบบนี้ ให้เลือกคำตอบในหมวดนี้ๆ มาตอบ ดังนั้น คำตอบของ Siri จึงฟังดูเก้ๆ กังๆ ฟังแล้วรู้เลยว่า Siri ไม่ได้ ‘คิด’ มันแค่ตอบสนองตามอัลกอริธึมเท่านั้นเอง จึงไม่มีความเป็นมนุษย์สักเท่าไหร่ พูดคุยด้วยแป๊บเดียวก็เบื่อกับ ‘แพทเทิร์น’ ในการตอบแล้ว ดังนั้นแม้ Siri (หรือแช็ตบ็อตอื่นๆ) จะดูเหมือนเป็น ‘เพื่อน’ ที่ซื้อหามาแก้เหงาได้บ้าง แต่ก็ยังไม่คุ้มค่าต่อการซื้อหามิตรภาพเหล่านี้เท่าไหร่

แต่คุณรู้ไหมครับ ว่าปี 2018 นี้ หลายคนทำนายว่าจะเป็นปีที่แช็ตบ็อตพวกนี้จะเริ่ม ‘วิวัฒนาการ’ กันแบบจริงจัง เรียกว่าเป็นจุดพลิกผันเปลี่ยนแปลงของแช็ตบ็อตกันเลยทีเดียว

พลิกผันกันแค่ไหนเชียว – บางคนอาจจะถาม

คำตอบที่น่าสนใจก็คือ หลายคนบอกว่า นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป แช็ตบ็อตแบบ A.I. Based นั้น จะเริ่มมี ‘ฐานข้อมูล’ มากพอที่จะสร้างบทสนทนาที่ ‘มีความหมาย’ (Meaningful Conversation) ขึ้นมาได้แล้ว ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับหนังเรื่อง Her ที่ตัวเอกพูดคุยกับแช็ตบ็อต และถึงขั้นอยากมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งด้วย แม้ว่าแช็ตบ็อตเหล่านั้นจะไม่ได้คุยกับเขาคนเดียว และไม่สามารถที่จะ ‘รัก’ เขาได้เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์แบบดั้งเดิมก็ตามที

แช็ตบ็อตที่สร้างบทสนทนาที่มีความหมายกับเราได้นี้ มันจะทำอะไรๆ ให้เราได้เยอะมากเลยนะครับ แรกสุดก็คือสร้างความบันเทิงให้เรา เช่น เล่าเรื่องให้ฟัง เป็นเพื่อนพูดคุย เล่านิทานให้เราฟังก่อนนอนก็ได้ด้วย หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็คือเป็นแช็ตบ็อตที่เป็น ‘ครู’ คอยสอนเรื่องนั้นโน้นนี้ให้เรา เพราะก็ต้องยอมรับนะครับว่าครูที่เป็นมนุษย์นั้นมีข้อจำกัดเรื่องข้อมูล ไม่มีครูคนไหนรู้ทุกเรื่องหรอก ครูที่เป็นมนุษย์จะ ‘รู้ลึก’ ในบางเรื่อง (รวมถึงเรื่องของความเป็นมนุษย์ด้วย) แต่แช็ตบ็อตจะรู้เรื่องในแนวกว้าง รวมทั้งสามารถหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาตรวจสอบคัดง้างกันได้ตลอดเวลาด้วย หลายคนจึงมองว่า แช็ตบ็อตน่าจะเป็น ‘ครู’ ที่ดี เพราะแช็ตบ็อตไม่เหมือนการเรียนทางออนไลน์นะครับ เพราะอันนั้นครูก็จะสอนๆ ไป ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์อะไรเท่าไหร่ แต่แช็ตบ็อตสามารถตั้งโปรแกรมให้มาจ้ำจี้จ้ำไชกับลูกศิษย์ได้ ทำให้คนเรียนมีประสิทธิผลในการเรียนสูงขึ้น แถมยังทำให้มีความรู้กว้างไกลด้วย

นอกจากสร้างความบันเทิงและเป็นครูแล้ว แช็ตบ็อตยังเป็น ‘หมอ’ ได้อีกด้วย ลองคิดดูว่าถ้าเกิดมีคนเป็นอะไรขึ้นมากะทันหัน เช่น หัวใจวาย เส้นเลือดในสมองแตก ถ้าเราไม่มีหมออยู่ใกล้ๆ เราอาจจะปฐมพยาบาลไปงูๆ ปลาๆ ไม่มีหลักการอะไร หรือต่อให้เรียนมาบ้าง บางครั้งก็อาจช่วยไม่ได้ เช่นเราอาจแยกผู้ป่วยที่ต้องการการปั๊มหัวใจกับไม่ควรปั๊มหัวใจไม่ออก เป็นต้น แต่ถ้าเรามีแช็ตบ็อต (ที่ฉลาดมากๆ) อยู่ใกล้ๆ มันจะประมวลผลต่างๆ (จากฐานข้อมูลทั่วโลก) เปรียบเทียบดูว่าควรต้องให้การดูแลผู้ป่วยนั้นๆ อย่างไร โดยเฉพาะในช่วงฉุกเฉินก่อนที่แพทย์จะมาถึง แช็ตบ็อตจึงทำหน้าที่ในการรักษาพยาบาลได้ด้วย รวมทั้งสามารถเป็น ‘ที่ปรึกษา’ ให้กับแพทย์ได้อีกต่างหาก เพราะมันสามารถหาเคสจากทั่วโลกมาเปรียบเทียบให้แพทย์รู้ได้ในเสี้ยววินาที

แต่ที่หลายคนทึ่งกว่าความสามารถที่ว่ามาแล้วทั้งหมด ก็คือการมีคนทำนายว่า แช็ตบ็อตจะกลายเป็น ‘เพื่อน’ กับเรานี่สิครับ

บริษัทเทคโนโลยีหนึ่งชื่อ Gartner ซึ่งทำวิจัยและสำรวจเรื่อง Technological Trends ทำนายเอาไว้ว่า ในปี 2020 คนทั่วไปจะพูดคุยกับแช็ตบ็อตต่างๆ ในชีวิตประจำวันของตัวเองมากกว่าพูดคุยกับสามีหรือภรรยาของตัวเองเสียอีก

ปัจจุบันนี้ หลายบริษัทเทคโนโลยี (เช่นแอปเปิล เจ้าของ Siri นี่แหละครับ) กำลังจ้างวิศวกรซอฟท์แวร์ที่ร่ำเรียนมาทางจิตวิทยา คือเอาสองสาขาวิชามาผสมผสานกัน เพื่อพยายามทำให้ Siri สามารถ ‘พูดคุยจริงจัง’ (มี Serious Conversations) ได้

เพื่อนสนิทของแช็ตบ็อต ก็คือ A.I. และ Machine Learning ซึ่งจะเป็นตัวการทำให้แช็ตบ็อต ‘ฉลาด’ มากขึ้นเรื่อยๆ พบว่า ในปี 2017 ยังไม่มีแช็ตบ็อตไหนเลยที่ผ่านการทดสอบ Turing Test (คือมีการทำงานที่เหมือนมนุษย์) แต่ความก้าวหน้าในเรื่อง A.I. และ Machine Learning จะทำให้แช็ตบ็อตฉลาดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปีนี้

มีข่าวสำคัญจาก Google DeepMind บอกว่าเจ้า AlphaGo จะอัพเกรดตัวเองไปอีกขั้น จนกลายเป็น AlphaGo Zero ซึ่งสร้างขึ้นโดย ‘ไม่ใช้’ ข้อมูลจากการเล่นเกมของมนุษย์มาเป็นฐานเลย ทำให้มันกลายเป็นหุ่นยนต์เล่นหมากรุกที่จะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น วิธีการแบบนี้จะทำให้พัฒนาการของ A.I. เปลี่ยนโฉมไปอย่างสิ้นเชิง เพราะแปลว่า A.I. ไม่ต้อง ‘เลียนแบบ’ (Simulate) จากข้อมูลเก่าๆ อีกต่อไปแล้ว แต่มันจะ ‘คิด’ ใหม่ได้เองเลยจากกรณีศึกษาหรือ Case Study ที่มันได้พบเห็น และด้วยความเป็น A.I. ก็เลยประมวลผลได้เร็วมากพอจะพัฒนาตัวของมันเอง นี่คือกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้แช็ตบ็อตยิ่งพัฒนาไปเร็วมากขึ้น

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา เราจะเริ่มคุ้นเคยกับการใช้เสียงกับบ็อตพวกนี้มากขึ้น คือตอนหลังๆ เริ่มไม่มีใครประหลาดใจแล้วกับการคุยกับทีวีหรือแม้กระทั่งลำโพง ทั้งนี้ก็เพราะ Voice Interface นั้นพัฒนาไปดีขึ้นมาก ตลาดในด้านนี้ก็ขยายตัว เช่นลำโพง Echo ของ Amazon ขายไปได้มากกว่า 20 ล้านเครื่องในปีที่ผ่านมา ซึ่งยิ่งขายได้มาก ก็จะยิ่งได้ข้อมูลมากขึ้นเพื่อนำมาพัฒนาประสิทธิภาพ จึงเร่งความเร็วเข้าไปอีก

เราอาจมีความรู้สึกกับแช็ตบ็อตพวกนี้หลากหลาย บางคนอาจรู้สึกกลัวมัน กลัวว่ามันจะรุกล้ำเข้ามาในชีวิตของเรามากเกินไป แต่บางคนก็อยากกระโจนเข้าใส่อย่างรวดเร็ว ที่จริงแล้ว บทสรุปของแช็ตบ็อตหรือ Virtual Companions ทั้งหลาย พูดไปก็ซ้ำซากนั่นแหละครับ นั่นคือมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แช็ตบ็อตอาจทำให้คนที่โดดเดี่ยว (อย่างเช่นคนชรา) ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ได้ (เช่นต้องอาศัยอยู่ในคอนโดฯ ที่ห้ามเลี้ยงสัตว์) สามารถมี ‘เพื่อน’ พูดคุยตอบสนองโน่นนั่นนี่ได้ แช็ตบ็อตยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลากหลายไม่รู้จบ

แต่กระนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าแช็ตบ็อตจะทำให้คนไม่ ‘แยกตัว’ ออกจากสังคมนะครับ เพราะงานวิจัยแทบทุกชิ้นยืนยันตรงกันว่า คนที่ใช้เวลาวันละมากกว่าสองชั่วโมงไปกับโซเชียลมีเดีย (หรือแช็ตบ็อต) จะมีความรู้สึกแยกขาดจากสังคมมากกว่าคนที่ใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาทีทำกิจกรรมแบบเดียวกัน แช็ตบ็อตจึงทำสองอย่าง คือแยกเราออกจากสังคมมนุษย์ และดึงเราให้อยู่กับอุปกรณ์ที่เลียนแบบมนุษย์ อันเป็นกิจกรรมที่ย้อนแย้งพอดู

 

ในอนาคต เราอาจไม่ต้องถามกันอีกต่อไป ว่า ‘มีเพื่อนขายไหม’ เพราะคำตอบก็คือมีแน่ๆ

เพียงแต่เป็นเพื่อนที่ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้นเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save