fbpx
รุ่งอรุณหลังห้วงสนธยาของ ‘QR Code’

รุ่งอรุณหลังห้วงสนธยาของ ‘QR Code’

หากลองสังเกตดูบทความแอดเวอร์ทอเรียลตามเว็บไซต์ต่างๆ ในช่วงนี้ สิ่งที่คุณอาจเห็นผ่านตา คือเรื่องราวการแข่งขันอย่างลืมตายของสองธนาคารยักษ์ใหญ่ในประเทศ (ซึ่งเราจะไม่เอ่ยชื่อเพราะไม่ได้รับค่าโฆษณาแต่อย่างใด (ฮา)) ที่พยายามโปรโมตให้คนหันมาใช้จ่าย รวมถึงไล่ล็อบบี้ร้านค้าทั้งเล็กและใหญ่ให้เข้ามาอยู่ในระบบธุรกรรมแบบไม่ใช้เงินสดด้วยโค้ดสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่มีชื่อว่า QR Code

 

อันที่จริง อาร์ม ตั้งนิรันดร หนึ่งในคอลัมน์นิสต์ของเราเคยเขียนถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศจีนที่ QR Code เข้าไปมีบทบาทจนทั้งประเทศแทบจะไม่พกเงินออกจากบ้านไว้บ้างแล้ว แต่สิ่งที่เราอยากจะมาเล่าอีกสักครั้ง คือเรื่องราวการเดินทางของเทคโนโลยีชิ้นนี้ ว่ากว่ามันจะฮอตฮิตอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน พัฒนาการของมันมีที่มาอย่างไร

เปรียบเทียบให้ชัด – ‘ม้าตีนปลาย’ คงเป็นคำที่เหมาะที่สุดกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกการเงินตัวนี้

 

ย้อนกลับไปช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังบูมสุดๆ ในช่วงทศวรรษ 1960s สินค้าหลากหลายประเภทเริ่มดาหน้าเข้ามาวางขายในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ ในช่วงนั้นการคิดเงินของพนักงานยังต้องอาศัยการคีย์ราคาเข้าเครื่องด้วยมือ แต่เมื่อคนซื้อมากขึ้น ของเยอะขึ้น วิธีการแบบเดิมกลายเป็นการทำร้ายร่างกายพนักงาน โดยเฉพาะข้อมือที่ต้องพิมพ์ตัวเลขซ้ำไปซ้ำมาทุกวัน วันละหลายร้อยครั้ง จนเริ่มมีการพัฒนาระบบบาร์โค้ดแบบแท่งที่เราเห็นตามสินค้า เพื่อช่วยให้พนักงานทำงานไวขึ้น ระบบจัดเก็บสินค้าสะดวกขึ้น

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า จำนวนข้อมูลที่บาร์โค้ดแท่งเก็บได้มีอยู่จำกัด และบรรดาร้านค้าต่างๆ ก็อยากได้บาร์โค้ดที่เก็บได้ทั้งตัวเลข ตัวอักษร และข้อมูลที่ซับซ้อนอย่างตัวอักษรคันจิ ฮิรางะนะ และคาตะคะนะ เข้าไว้ด้วยกัน เมื่อได้ยินเสียงบ่นมากเข้า บริษัท DENSO WAVE ที่ผลิตระบบและเครื่องอ่านบาร์โค้ดในตอนนั้นจึงเริ่มตั้งทีมพัฒนาบาร์โค้ดแบบใหม่ขึ้นมา

วิธีแก้ปัญหาของพวกเขา คือการทำให้บาร์โค้ดมีทั้งด้านกว้างและด้านยาวแบบสองมิติ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูล และในขณะเดียวกัน บาร์โค้ดแบบใหม่นี้ก็ต้องอ่านได้เร็วเท่ากับบาร์โค้ดแท่งแบบเก่าด้วย จึงเป็นที่มาว่าทำไมบาร์โค้ดสองมิติ (หรือที่ถูกตั้งชื่อว่า QR ซึ่งย่อมาจาก ‘Quick Response’) ถึงได้มีกรอบสี่เหลี่ยมสามอันตรงมุม ที่เอาไว้ใช้บอกตำแหน่งให้เครื่องอ่านไม่งง และรู้ว่า ‘โค้ดอยู่ตรงนี้ อ่านซะ’

(เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: ดีไซน์สี่เหลี่ยมระบุตำแหน่งของ QR Code ไม่ใช่ว่าวาดขึ้นมาลอยๆ เพราะทีมพัฒนาทำการรีเสิร์ชอัตราส่วนพื้นที่ที่ใช้สีขาวกับดำบนสิ่งพิมพ์แทบทุกชนิด เพื่อหาอัตรส่วนที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ใช้ซ้ำ เพราะถ้าเอาไปติดบนนั้นแล้วบังเอิญใกล้เคียงจนแยกกันไม่ออก เครื่องอ่านอาจจะทำงานผิดพลาดได้)

ปี 1994 คือปีที่ DENSO WAVE นำ QR Code ออกสู่สาธารณะ โดยเปิดให้กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์เอาไปใช้แทร็คชิ้นส่วนในขั้นตอนการผลิตก่อน จากนั้นจึงเริ่มขยายไปในวงการอื่นๆ ที่ต้องการจัดเก็บข้อมูลต้นน้ำและปลายน้ำของการผลิต (เพราะโค้ดเก็บข้อมูลได้เยอะขึ้นมากแล้ว) จนเมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่และ DENSO WAVE เปิดให้ใครเอามันไปใช้ทำอะไรก็ได้ตามใจไม่คิดเงิน คนจึงเริ่มเห็นช่องทางที่จะเอาไปใช้นอกเหนือจากอุตสาหกรรมและวงการธุรกิจ ในปี 2002 โค้ดสี่เหลี่ยมหน้าตาประหลาดจึงกลายเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่บูมมากในชาวญี่ปุ่นทุกภาคส่วน

หากส่วนผสมสำคัญที่ทำเทคโนโลยีใหม่ประสบความสำเร็จ คือความสามารถที่ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น รวมเข้ากับความเข้ากันได้กับอุปกรณ์ที่มีอยู่ในขณะนั้น ความสำเร็จของ QR Code ในประเทศบ้านเกิดคงเกิดขึ้นเพราะปัจจัยทั้งสองข้อที่มาเจอกันในเวลาพอเหมาะพอดี เพราะในช่วงต้นศตวรรษใหม่ โทรศัพท์มือถือที่เรามีใช้กันยังเป็นแค่ฟีเจอร์โฟนปุ่มกดธรรมดาๆ ไม่ใช่ทัชสกรีนอย่างตอนนี้

สำหรับคนธรรมดาทั่วไป การกดปุ่มเล็กๆ เพื่อพิมพ์ข้อความเป็นตัวคันจิหาข้อมูล เมมเบอร์โทร ส่งข้อความเป็นเรื่องที่ลำบากอยู่พอสมควร เมื่อมีโค้ดที่ยิงปุ๊บได้ข้อมูลปั๊บ แถมยังมีเครื่องอ่านพร้อมซอฟต์แวร์อย่าง ‘กล้อง’ ที่ติดอยู่บนโทรศัพท์แทบทุกเครื่องในตอนนั้น กระแส QR Code ในญี่ปุ่นจึงเกิดขึ้นได้ไม่ยากเย็น

ขณะเดียวกันที่โลกฝั่งตะวันตก QR Code ในตลาดผู้ใช้ทั่วไปกลับไม่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นแบบนั้น เพราะช่วงเวลาที่มันถือกระเป๋าสปีกอิงลิชไปแนะนำตัวเอง ก็พอดีกับที่ผู้คนเริ่มรู้จักโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน เมื่อมีหน้าจอสัมผัสและคีย์บอร์ดเสมือน (ถึงจะไม่ได้สะดวกเท่าไอโฟนในตอนนี้) การเปิดกล้องส่องก็ดูจะเป็นเรื่องไม่จำเป็น ยิ่งโทรศัพท์ไม่ได้มีความสามารถอ่านโค้ดติดตัวมาเหมือนในญี่ปุ่นด้วยแล้ว การต้องโหลดแอปพลิเคชันอ่านโค้ดมาก่อนถึงจะส่องได้ก็กลายเป็นเรื่องตลกเข้าไปใหญ่ จนถึงขั้นมีคนทำบล็อกใน Tumblr แซะด้วยการตั้งชื่อว่า ‘รูปภาพของคนกำลังสแกน QR Code’ ที่ไม่มีการโพสต์รูปอะไรเลย (แสบดีแท้)

แต่เรื่องราวของมันกลับเปลี่ยนเป็นหนังคนละม้วน เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง ‘จีน’ เลือกที่จะเป็นป๋าดันให้กับเจ้าโค้ดสี่เหลี่ยมเล็กๆ นี้

 

จากเป็นแค่เครื่องมือไว้บรรจุที่อยู่เว็บไซต์สำหรับบรรดานักการตลาดที่อยากให้ลูกค้าได้เข้าถึงข้อมูลสินค้าแบบไวๆ ไม่ต้องเปลืองแรงพิมพ์ โค้ดสีเหลี่ยมขาวดำเริ่มสวมหมวกใบใหม่ด้วยการเป็นสื่อกลางในการทำ ‘ธุรกรรมการเงิน’ ด้วยการผลักดันของผู้นำด้านการเงินบนโลกออนไลน์ในจีนอย่าง Alipay ที่เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2004 และเมื่อเริ่มมีความคิดจะขยายตัวเองเข้าสู่โลกออฟไลน์ ในปี 2011 พวกเขาก็ประกาศว่า QR Code จะเป็นช่องทางจ่ายเงินสำหรับร้านค้าในโลกจริง ให้ลูกค้าของ Alipay แสกนแล้วจ่ายได้เลย

เมื่อพี่ใหญ่เริ่มขยับตัว คู่แข่งอย่าง Tancent ที่มีฐานผู้ใช้แอปพลิเคชัน WeChat อยู่ในมือก็ใส่ฟีเจอร์เครื่องอ่าน QR Code ไว้ให้เพิ่มเพื่อน (และให้ผู้ใช้สร้างโค้ดไอดีของตัวเองไปแปะตามสื่ออื่นๆ ได้ด้วย) ตามรอย LINE จากญี่ปุ่นที่มีความสามารถนี้มาตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2011 เพื่อเปิดทางให้กับบริการธุรกรรมทางการเงินของตัวเองที่กำลังจะเปิดตัว

ความสำเร็จของการจ่ายเงินด้วยวิธีสแกนโค้ดประสบความสำเร็จแค่ไหน เราอาจจะไม่ต้องอธิบายให้มากความ ในปี 2016 ที่ผ่านมาเฉพาะแค่ญี่ปุ่นและจีน จำนวนเงินที่เกิดจากธุรกรรมผ่าน QR Code มีจำนวนรวมสูงถึง 1.6 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ รวมถึงการสร้างมาตรฐานกลางของโค้ดในระบบ พร้อมเพย์ ของไทย และการแย่งชิงที่มั่นในร้านของพ่อค้าแม่ค้าของธนาคารสองเจ้าใหญ่อย่างที่เห็น

ขณะเดียวกันในโลกตะวันตก QR Code อาจยังเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้ฮอตเหมือนที่เป็นมานาน (แม้ในอีกซีกโลกจะบูมจนฉุดไม่อยู่) เพราะระบบจ่ายเงินผูกติดอยู่กับบัตรเครดิตและนิยม ‘แตะ’ มากกว่า ‘สแกน’ ด้วยเทคโนโลยี NFC ที่พัฒนาไปพร้อมกับโครงข่ายอุปกรณ์เก็บเงินตามร้านที่มีความพร้อม ต่างกับในฝั่งเอเชียที่อุปกรณ์มีราคาสูง เกิดเป็นช่องว่างให้การพิมพ์ QR Code เป็นเครื่องมือเก็บเงินแบบ ‘บ้านๆ’ ขึ้นมา

แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ คือการตอบรับกระแสของ QR Code จากฝั่งซิลิคอนวัลเลย์ ไม่ว่าจะเป็น Apple ที่เพิ่งใส่ความสามารถการอ่านโค้ดในกล้องถ่ายภาพของไอโฟน แค่ส่องก็อ่านข้อมูลได้แบบไม่ต้องโหลดแอปเพิ่ม (แม้จะตามหลังญี่ปุ่นเกือบ 20 ปี) หรือจะเป็นฝั่งผู้พัฒนาแอปพลิเคชันทั้ง Snapchat, Facebook หรือ Spotify ที่ได้แรงบันดาลใจจากหัวใจหลักของ QR นั่นคือ Quick Response เพื่อนำมาสร้างเป็นโค้ดเฉพาะของตัวเอง จนพฤติกรรม ‘เปิดกล้องสแกนโค้ด’ กลายเป็นเรื่องธรรมดาของคนยุคนี้ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ให้บริการบัตรต้องหันมาพัฒนามาตรฐานการทำธุรกรรมการเงินผ่านโค้ดด้วยเช่นกัน

 

ย้อนกลับไปในปี 2012 มาสะฮิโระ ฮะระ หัวหน้าทีมผู้พัฒนา QR Code ขึ้นไปกล่าวบนเวทีของงานประกาศรางวัล Good Design Award ในวาระที่โค้ดสี่เหลี่ยมเล็กๆ นี้ได้รับรางวัล Media for Industry ประจำปีนั้น ด้วยประโยคที่ว่า “ผมไม่อยากจะเดาหรอกว่าใครหรือคนกลุ่มไหนกันแน่ที่ใช้มัน ผมแค่หวังให้มีคนใช้มันเยอะๆ หรือลองสร้างไอเดียใหม่ที่จะเอา QR Code ไปใช้แล้วทำให้มันเกิดขึ้นจริง แค่นี้ผมก็คิดว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของมันแล้วล่ะ”

ห้าปีผ่านไป เราเชื่อว่าเขาคงไม่ได้คาดคิดระหว่างขึ้นไปพูดบนเวที ว่า ‘การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่’ ของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ จะสั่นสะเทือน และกำลังจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนในอนาคตไปมากเพียงใด

 

 

อ่านเพิ่มเติม

ประวัติศาสตร์ของ QR Code จากเว็บไซต์ QR Code

บทความเรื่อง Why QR codes are on the rise จาก The Economist

บทความเรื่อง How QR code became popular among mobile users in China จาก Mobile Business Insights

บทความเรื่อง THE CURIOUS COMEBACK OF THE DREADED QR CODE จาก wired

บทความเรื่อง How Snapchat Made QR Codes Cool Again จาก Tech Crunch

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save