fbpx
The Return of the Insects : ความในใจของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เมื่อแมลงจากสวนหลังบ้านกำลังจะหวนคืน

The Return of the Insects : ความในใจของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เมื่อแมลงจากสวนหลังบ้านกำลังจะหวนคืน

 เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ เรื่อง

คิริเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

ปลายปีพุทธศักราช 2553 คือช่วงเวลาที่ กอล์ฟ – ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ไทยอย่างเต็มตัว ด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าผลงานเรื่องแรกของเธอ (สรรพนามในขณะนั้น) อย่าง Insects in the Backyard จะได้ออกสู่สายตาคนดู

แต่ถ้าคุณยังพอจำได้ ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของกอล์ฟกลับถูก คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ – หรือคณะกรรมการพิจารณาเรตติ้งในภาษาชาวบ้าน – จัดให้อยู่ในกลุ่ม ‘ห้ามฉายในราชอาณาจักร’ ซึ่งได้รับเกียรติเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ถูกห้ามฉาย หลัง พรบ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ฉบับใหม่เพิ่งเริ่มบังคับใช้ในช่วงเวลานั้น

ด้วยเหตุผลคลุมเครือที่ว่า ‘มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน’

แม้หลังจากนั้น ชื่อของธัญญ์วารินจะยังคงโลดแล่นอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทย มีผลงานกำกับตามมาอีกหลายเรื่อง แต่การต่อสู้ไม่ให้เหล่าแมลงในสวนหลังบ้านถูกกำจัดไปจนราบคาบยังคงดำเนินต่อไป ด้วยความหวังว่านี่จะเป็น ‘บทเรียน’ ให้สังคมไทยได้เรียนรู้ถึงประเด็นการบังคับใช้กฏหมาย และเสรีภาพในงานศิลปะ

เวลาผ่านไปเจ็ดปีเต็ม หลังจากศาลปกครองพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลที่ว่าภาพของหนังโป๊สามวินาทียังคงมีอยู่ แต่ก็สามารถออกฉายได้หากเธอ (ซึ่งในตอนนี้ได้เปลี่ยนสรรพนามมาเป็น ‘เขา’) พร้อมจะตัดมันออก – และแล้วในปีพุทธศักราช 2560 ก็ได้เวลาที่แมลงในสวนหลังบ้านจะได้กลับคืนสู่ ‘บ้าน’ ที่แท้จริงของมัน

เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของเหล่าแมลงในสวนหลังบ้านไม่ใช่แค่การ ‘หายไป’ ของฉากหนังโป๊ความยาวสามวินาทีที่กอล์ฟยอมตัดออก แต่ระหว่างการเดินทางอันแสนยาวนาน แมลงเหล่านี้อาจสอนอะไรบางอย่างกับเขา

และนั่นคือสิ่งที่เราอยากฟังจากความในใจของธัญญ์วาริน ระหว่างการสนทนาในครั้งนี้

 

ตื่นเต้นไหมที่หนังเรื่องแรกในชีวิตจะได้ฉายแล้วหลังโดนแบนมาเจ็ดปีเต็ม

เจ็ดปีก่อน Insects in the Backyard ฉายไปแค่สองรอบในไทย คนดูไม่น่าจะถึงร้อยคน แต่เราถูกตัดสินจากคนในสังคมเยอะมากจากการที่หนังเราโดนแบน หาว่าเราทำหนังเลว ทำหนังไม่ดี มึงมันคนชั่ว ทำหนังจัญไร เรานั่งอ่านในคอมเมนต์ต่างๆ ที่ด่าเรา เค้าไม่ได้ดูหนังนะ แต่ตัดสินเราโดยไม่ได้เห็นงานไปแล้ว ตอนนั้นรู้สึกแย่

แต่ตอนนี้มันก็ตื่นเต้น เพราะคนที่ด่าจะได้มาดูหนังแล้ว ถ้าเปลี่ยนใจเราก็ดีใจ แต่ถ้าดูแล้วด่ามากกว่าเดิมเราก็ยอมรับได้ ไม่รู้สึกอะไร เพราะเมื่อก่อนเรารู้สึกว่าคุณมาตัดสินโดยที่ไม่ได้ดู แต่ถ้าดูแล้วคุณรังเกียจมัน ไม่ชอบมัน นั่นเป็นสิทธิ์ของคุณเต็มที่ เราพร้อมจะยอมรับทุกอย่าง เพราะคุณได้ดูแล้ว จะตัดสินมันยังไงเราโอเค แต่เมื่อก่อนที่คุณไม่ได้ดูแต่ตัดสิน อันนั้นเราไม่โอเค

 

ความรู้สึกต่างกับเมื่อเจ็ดปีที่แล้วไหม

ต่างมาก ตอนนั้นเรายังเด็กน่ะ เราก็พราวด์ มั่นใจในตัวเองสูงมากเพราะหนังเราได้ไปมาทั่วโลก ไปเวิลด์พรีเมียร์ ไปงานเทศกาลต่างๆ เรามั่นใจกับงานชิ้นนี้ของเรามาก แต่พอเวลาผ่านไป เราทำหนังมาแล้วเป็นเรื่องที่ 9 มันโตขึ้นเยอะมาก เราทำหนังที่ได้รางวัลสุพรรณหงษ์ ได้รางวัลต่างประเทศ หรือทำหนังที่นักวิจารณ์ให้ศูนย์คะแนน เราผ่านการถูกวิพากษ์วิจารณ์มาเยอะมาก จากสูงสุดมาต่ำสุด  จากชอบสุดมาเกลียดสุด มันผ่านตรงนั้นมาแล้ว

พอเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกตื่นเต้นของคราวนี้มันเลยไม่เหมือนกับครั้งแรกเลย เราไม่ได้คาดหวังว่าคนดูจะรักหรือชอบมัน แต่เราอยากให้หนังที่ทุกคนตัดสินว่ามันไม่ดีออกมาให้ทุกคนได้ดู เราอยากเห็นฟีดแบ็คตรงนั้นมากกว่าเค้าคิดยังไงกับหนังเรื่องนี้ กับข้อมูลและทัศนคติการมองโลกของเรา ณ เวลานั้นที่ใส่เข้าไปในหนัง เมื่อมันมาฉาย ณ เวลานี้ ฟีดแบ็คมันจะเป็นยังไง เราตื่นเต้นกับตรงนั้นมากกว่า

เพราะตอนนั้นมันคือหนังยาวเรื่องแรกของเราในชีวิตที่จะได้เข้าฉายในโรงหนังน่ะ เป็นหนังที่กำกับคนเดียว มันเลยตื่นเต้นมาก แบบเด็กเห่อหม-ยนิดนึง แต่ตอนนี้นี่หม-ยหงอกหมดแล้วค่ะ (หัวเราะ) มันเลยเป็นความรู้สึกแบบ ฉายซักทีเถอะ! จะได้รู้ๆ กันไป อะไรอย่างนั้นมากกว่า

 

แล้วนักแสดงของคุณล่ะ รู้สึกอย่างไร

ตอนนั้นนักแสดงของเราเด็กมาก บางคนเพิ่งอายุสิบเจ็ดเอง พอได้มาเจอกันก็สนุกสนาน รื้อฟื้นความหลังสมัยถ่ายทำ เพราะตั้งแต่โดนแบนไปเราก็ไม่ได้กลับมาคุยเรื่องนี้เป็นเรื่องเป็นราวอีกเลย ก็ตลกดี บางคนบอกว่าตอนนั้นตื่นเต้น ไม่ใช่ดีใจนะ มันเหมือนกับว่า ตอนนั้นกูทำอะไรลงไปวะ

 

บางคนก็รู้สึกว่าแบนไปก็ดี คนจะได้ไม่ต้องได้ดู อายเค้า (หัวเราะ)

 

พอตอนนี้มันโตขึ้น ก็ได้รู้ว่าเรามีความตั้งใจดีกันทุกคน พอโดนแบน ทุกคนก็ตั้งคำถามว่าทำไมมันเป็นอย่างนี้ สังคมมันเป็นยังไงวะ ได้เจอคำถามยากๆ ซึ่งตอนเราทำก็ไม่ได้คิดกัน แต่พอโดนแบนไป ทุกคนโตขึ้น ก็กลับมาคิดกันว่าทำไมหนังที่เราทำไป เล่นไป มันโดนแบนวะ สังคมเค้าคิดอะไรอยู่ เด็กมันก็โตขึ้น บางคนนี่มีลูกแล้วด้วยนะ ลูกสองแล้ว (หัวเราะ)

 

สามวินาทีที่ตัดออกไปให้ได้ฉาย สำคัญแค่ไหนสำหรับคุณ

มันไม่ใช่สาระสำคัญที่สุดของหนังเรื่องนี้แน่นอน เราตัดออกได้และหาอย่างอื่นทดแทนได้ ไม่มีปัญหาเลย แต่สิ่งที่เราต้องการ [ในตอนนั้น] คืออยากจะรู้ชัดๆ ว่าตรงนี้มันผิดกฏหมายไหม เราก็คุยกันเองนะว่าซีนที่มีหนังโป๊อยู่มันจะทำให้หนังเรากลายเป็นหนังโป๊หรือเปล่า การฟ้องร้องที่ทำไปมันก็คือการหาคำตอบให้ชัดเจนว่าหนังโป๊ความยาวสามวินาทีมันจะทำให้หนังเรื่องนั้นผิดกฏหมายไหม เราอยากรู้เรื่องนี้มาตลอด

แต่ปรากฏว่าในคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ที่ได้ดูหนังของเราไม่มีใครยกประเด็นนี้ขึ้นมาเลย จนกระทั่งศาลมาให้ความกระจ่างกับเรานี่แหละ เราบอกเลยว่านี่คือสิ่งที่รอมาห้าปี

จำได้ว่ามีอยู่ครั้งนึงที่เราไปฟังที่ศาลก่อนจะตัดสินคดี เราร้องไห้เลยนะ เพราะเค้าบอกว่าหนังเรื่องนี้ไม่ควรจะถูกแบน มันเป็นหนังสะท้อนปัญหาสังคม ควรได้รับการเผยแพร่ เรารอคำนี้มาห้าปีน่ะ รอคนที่เห็นแล้วบอกว่าเราไม่ได้ทำไม่ดี บอกว่าเจตนาของเราคืออะไร

เรารอวันที่จะมีคนบอกคำนี้แทนเรา เพราะบอกเองไปยังไงคนก็ไม่เชื่อ เราต้องการให้ศาลบอกว่าหนังเราไม่ผิด ศีลธรรมอันดี ถึงสุดท้ายเราจะแพ้คดีเพราะยังมีสามวินาทีนั้นอยู่ แต่ที่จริงเราชนะนะ เพราะศาลบอกว่าหนังทั้งเรื่องไม่ได้มีฉากไหนที่ผิดศีลธรรม และควรฉายได้ในเรต ฉ20+ มันคือของขวัญวันคริสต์มาส [ศาลตัดสินในวันที่ 25 ธันวาคม] สำหรับเรา

 

เพราะมันเป็นหนังเรื่องแรกในชีวิตหรือเปล่า คุณถึงต่อสู้กับมันขนาดนี้

จะโดนแบนเป็นเรื่องที่เท่าไหร่ความรู้สึกมันก็ไม่ต่างหรอก เพราะจริงๆ แล้ว ปั๊มน้ำมัน ก็โดน ที่เสียใจมากก็เพราะมันคือหนังเรื่องแรกในชีวิต มันคือสิ่งที่เรารักและเป็นตัวตนเราที่สุด แต่นี่ทำมาแล้วเก้าเรื่อง ปั๊มน้ำมันเป็นหนังที่เพลย์เซฟสุดๆ เพราะเรามีประสบการณ์โดนแบนมาแล้ว เราต้องไม่โดนอีก

แต่พอส่งเข้าไป ปรากฏว่าคณะกรรมการฯ บอกว่ามันมีฉากนึงที่ทำให้หนังต้องเป็นเรต ฉ20+ แล้วสิ่งที่เค้าให้ตัดคือฉากที่เฉลยปมทั้งหมดของเรื่อง ถ้าไม่มีฉากนั้น น้ำหนักตัวละครก็จะเบาลงไป เค้าบอกว่า ก็มันจริงเกินไป คนเค้ารู้กันอยู่แล้ว กอล์ฟจะเอามาใส่ไว้ในหนังทำไม มันเป็นความจริงนั่นแหละ แต่มันไม่ควรอยู่ในหนัง

ตอนนั้นบวชเป็นพระ จะมาทำอะไรก็ไม่ได้ งง เจ็บปวดมาก มันเหมือนควักหัวใจของหนังไปทิ้ง ซึ่งเราก็ต้องจำยอมตัดออกไปให้คนดูได้ดูแบบนั้น ซึ่งมันก็ซัฟเฟอร์กว่าโดนแบนอีกนะ เพราะมันคือการให้คนดูดูหนังที่พิกลพิการ แต่เราก็ออกไปพูดอะไรไม่ได้

 

ตอนนั้นมีคนบอกไหมว่าคุณดันทุรัง

(ตอบทันที) เยอะมาก มีนายทุนหนังบอกเลยนะว่า กูให้เงินมึงเลยล้านนึง เอาไปตัดต่อ มึงไม่ต้องไปสู้ ไม่ต้องไปฟ้องอะไรเค้า เราก็บอกว่าไม่ เราไม่เอาเงิน สิ่งที่ได้มามันมากกว่าเงิน สิ่งที่ต่อสู้ไปไม่ใช่ว่าเงินจะซื้อได้ เวลาที่เสียไปอะไรก็ซื้อไม่ได้ มีหลายคนเลยนะที่บอกว่าทำไปทำไม ฟ้องทำไม มันไม่ได้ชื่อเสียงเลยนะ ได้แต่ชื่อเสีย

แต่เราไม่สน เพราะสิ่งที่ต้องการมันมากกว่าที่เราจะได้แน่ๆ เราต้องการให้มันเป็นกรณีศึกษา ซึ่งไม่มีทางที่ใครจะเสียเงินซื้อได้ เรามั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว เราไม่ได้ต้องการให้ตัวเราเรียนรู้ แต่เราอยากให้คนที่ใช้กฏหมาย คนออกกฏหมาย และคนในสังคมเรียนรู้กรณีศึกษาจากการแบนหนังเรื่องนี้ว่ามันเป็นยังไง เราไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดประโยชน์หรือโทษ แต่เมื่อมันอยู่ในข่าว อยู่ในสื่อ อยู่ในกระบวนการที่คนสนใจ มันจะทำให้คนซึมซับและเรียนรู้กรณีนี้ไปในตัว

ตอนนั้นถามว่าดันทุรังไหม ใช่ ซัฟเฟอร์ไหม ซัฟเฟอร์ มีความสุขไหม ไม่มีหรอก มองไปทางไหนก็ไม่มีเรื่องดี แต่ตอนนั้นเราก็มองในแง่บวกนะ ถึงหนังจะโดนแบน คนก็รู้จักตัวเรามากขึ้น สิ่งที่เราต้องการจะพูดก็มีคนฟังมากขึ้น ถ้าหนังไม่โดนแบน อาจจะไม่มีคนรู้จักเรา อาจจะไม่มีคนรู้ว่าเราจะพูดอะไร คนดูอาจจะไม่ถึงห้าร้อยคนแล้วก็จบ แต่พอโดนแบน เรารู้สึกว่าคนรู้จักเรามากขึ้น ได้ลงปกนิตยสาร รายการทีวีเชิญไปออก กลายเป็นว่าสิ่งที่เราอยากจะพูดผ่านหนัง เราสามารถพูดได้ด้วยตัวเองด้วยซ้ำ มันก็เป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เรามองในแง่บวกว่ามันก็มีประโยชน์กับตัวเรา กับสังคม กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยด้วย

สามวินาทีนั้นถ้าตัดไปไม่ได้จะทำให้หนังของคุณพิการเหรอ

ไม่เลย สามวินั้นตัดไปไม่ได้เสียอะไรไปเลย

 

แล้วทำไมถึงใส่ลงไป

เราตั้งใจใส่หนังโป๊ไปในหนังอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดไงว่ามันจะผิดกฏหมาย เพราะหนังเรื่องนึงจะเป็นหนังโป๊ได้เรามองว่ามันต้องเป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่จะให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังโป๊ ใส่เพื่อยั่วยุกามารมณ์ แต่อันนี้เราใส่แบบแพนกล้องไปเห็น เราไม่ได้ตั้งใจทำหนังโป๊แน่ๆ

 

Insects in the Backyard คือหนังที่ตั้งใจเฉลิมฉลองกับการที่ประเทศไทยมีระบบเรตติ้ง เราต้องการจะวางขีดของ ฉ20+ ว่ามันอยู่ตรงไหนตั้งแต่ตอนที่คิดจะทำ

 

แล้วปกติหนังสั้นที่ทำก็แรงกว่านี้อยู่แล้วด้วย หนังยาวเรื่องแรกที่ทำเลยตั้งใจว่าอยากได้เรต ฉ เราต้องการคนที่มี วุฒิภาวะ มาดูหนังของเรา นี่เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรก พอตั้งใจแบบนี้ ทุกอย่างเราก็จะเล่าด้วยมุมมองที่ให้คนที่มีวุฒิภาวะแล้วเข้าใจ ก็เลยเป็นเหตุว่าทำไมหนังถึงต้องแรงเบอร์นั้น

แต่ถามว่าแรงไหม เราว่าเราแรงได้มากกว่านี้อีกนะ

 

 

หรือที่ยอมตัดออก เพราะว่าเป็นคนประนีประนอมมากขึ้น

มันก็ประนีประนอมแหละ แต่เปลี่ยนตัวเองไปไหม ไม่นะ มันคือประสบการณ์และการเรียนรู้มากกว่า เราเรียนรู้ว่าโดนแบนไปมันไม่มีประโยชน์ เงินจมไปโดยไม่ได้อะไรกลับมา มันไม่มีประโยชน์อะไรกับการทำหนังให้โดนแบน เราไม่เคยตั้งใจให้หนังโดนแบนอยู่แล้ว ใครจะอยากโดน แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้คือเราได้เข้าใจสังคมมากขึ้น

ตอนที่หนังโดนแบนใหม่ๆ เราก็โกรธเค้านะ เสียใจ ไม่เข้าใจว่ากูไปทำอะไรให้พวกมันวะ กูทำอะไรผิด ซึ่งตอนที่เราทำ Insects in the Backyard มันมาจากการเรียนปริญญาโทที่นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เราเรียนทฤษฎีต่างๆ มาแล้วก็เอามาเขียนเป็นบทหนัง ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะทำหนังโป๊หรือหนังใต้ดินเลย

เราไม่เข้าใจอะไรเลยในตอนนั้น บอกตรงๆ คือโกรธ เคียดแค้นมาก พอเวลาผ่านไปก็มานั่งพิจารณาว่า เออ เราก็ไม่ได้ทำอะไรให้เค้าโกรธหรือเกลียดนี่ เค้าแค่ไม่เข้าใจ แล้วไม่เข้าใจอะไร ก็มานั่งมองว่าสิ่งที่นำเสนอในหนัง มันเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้แต่พยายามไม่พูดถึง ก็เหมือนแมลงในสวนหลังบ้าน พอเราขุดมันเอามาไว้หน้าบ้าน ทุกคนก็ไม่แฮปปี้ เพราะเค้ามองว่ามันเป็นปัญหาที่ไม่ควรให้ใครเห็น

ก็เลยเกิดความเข้าใจว่า อ๋อ เค้าไม่เข้าใจในความหลากหลายของมนุษย์ พอเอาสิ่งที่ผิดจากการรับรู้ของเค้าขึ้นมาอยู่หน้าบ้าน เค้าก็รู้สึกไม่สบายใจ อึดอัด ไม่เข้าใจทัศนคติของคนที่มีความหลากหลายแบบนี้ เค้าเลยไม่อยากให้คนอื่นได้เห็น ไม่อยากให้คนอื่นรู้สึกเหมือนที่เค้ารู้สึกขณะที่ดู ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราอยากให้คนดูรู้สึกขณะที่ดูหนังของเรา

 

เราเลยเข้าใจว่า เค้าไม่เข้าใจตัวเรา ไม่เข้าใจหนังเรา ไม่เข้าใจในความหลากหลายของมนุษย์ เค้าไม่ได้เกลียดเราว่ะ

 

ก็เลยไม่โกรธไม่เกลียดเค้าแล้ว เข้าใจว่าทำไมคนในสังคมมาก่นด่าเราว่าทำหนังชั่วหนังเลว พอมันเป็นเรื่องแรกที่โดนแบน ทุกคนก็พร้อมจะประนาม เข้าใจว่าคนในสังคมถูกสอนมาแบบนี้ เลยไม่แปลกที่เค้าจะมีปฏิกิริยา แบบนี้ กับหนังแบบนี้

 

เอาความเข้าใจนั้นมาทำอะไรต่อกับงานของตัวเอง

เราเลือกที่จะพลิกวิกฤตมาเป็นโอกาส จะทำยังไงให้คนที่รู้จักเราจากหนังที่โดนแบนได้ดูหนังเรื่องนั้นโดยไม่รู้ตัว แล้วเข้าใจเราไปด้วย ก็เลยทำหนังเรื่องใหม่ขึ้นมาคือ It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก จากเนื้อเรื่องเดียวกัน แค่เปลี่ยนวิธีนำเสนออีกแบบ วิธีสร้างอีกแบบ ปรากฏว่าหนังได้เงิน ได้รางวัล ทุกคนรู้จัก ทุกคนชื่นชมว่าหนังดี แต่เราก็จะบอกว่าเมสเสจของเรื่องนี้น่ะ แรงกว่า Insects in the Backyard ด้วยซ้ำ

เราแค่นำเสนออีกวิธีเพื่อจะบอกว่าโลกใบนี้ มึงไม่ต้องมารักกันหรอก กูไม่ได้เชื่อแบบนั้น เกลียดกันก็ได้ แต่ขอให้เข้าใจในความแตกต่างและหลากหลายของมนุษย์ก็พอ ซึ่งมันทำมาเพื่ออธิบายสิ่งที่หนังเรื่องแรกของเราจะบอก

มันทำให้เราโตขึ้นมาก (เน้นเสียง) ถามว่าประนีประนอมมั้ย ก็ใช่ แต่เปลี่ยนความคิดไหม ไม่ใช่แน่ๆ เรายังเป็นคนมองโลกมองสังคมเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนวิธีนำเสนอที่มีค่าเท่ากันหรือเบากว่า แต่ซ่อนเมสเสจบางอย่างที่ต้องขุดนิดนึงถึงจะรู้ว่าทัศนคติ การมองสังคมของเราที่วางเอาไว้มันเป็นยังไง

 

คุณว่าตอนนี้พวกเขาเปิดกว้างมากขึ้นไหม

ก็ดูมีทัศนคติที่กว้างขึ้นนะ ตั้งแต่ที่หนังของตัวเองโดนแบนแล้วมีปัญหา เราก็เห็นการพัฒนาในการทำงานของเค้า คือจะแบนด้วยเหตุผลที่มีการคิด มีวิจารณญาณ ลงลึกถึงรายละเอียดในการแบนมากขึ้น ซึ่งถือว่าโอเคสำหรับคนทำหนังอย่างเรา จะได้รู้ว่ามันมีจุดไหนไหมที่เราต้องปรับแก้ หรือแก้ได้ไหม เทียบกับตอนนั้นที่จะขอเข้าไปพูดก็ไม่ได้ เข้าไปเคลียร์ก็ไม่ให้

 

เหมือนว่าตั้งแต่เค้าโดนฟ้องร้อง มันก็มีพัฒนาการมากขึ้นในกระบวนการทำงาน แต่เรื่องทัศนคติ (นิ่งคิด) ด้วยความที่มันเป็นกฏหมายที่ให้ใช้วิจารณญาณของคณะกรรมการ มันเลยหาความแน่นอนไม่ได้

 

จะมีหลายคนพูดว่า มีคณะกรรมการเจ็ดชุด เค้าดูหนังกันคนละแบบ ลองไปส่งชุดนั้นสิ อาจจะผ่าน ซึ่งเราไม่เคยสนใจว่าชุดไหนจะได้ดู ทุกชุดมันควรมีมาตรฐาน แต่ก็เห็นอยู่ว่ามันไม่มีมาตรฐาน ก็ใช้มนุษย์น่ะ มันยาก ยิ่งมนุษย์ที่มีหัวโขนอยู่บนหัว ตั้งเป้าว่าตัวเองมีอำนาจแล้วก็ต้องใช้อำนาจ แทนที่จะใช้อำนาจเพื่อส่งเสริมสนับสนุน กลายเป็นว่าใช้อำนาจในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพไปซะอย่างนั้น

ตราบใดที่เรายังไม่แก้ พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯ ให้ชัดเจนกว่านี้ มันก็จะยังเป็นการใช้ดุลยพินิจ วิจารณญาณของมนุษย์ในการจัดแบ่ง ซึ่งมันหามาตรฐานที่แน่นอนไม่ได้

 

หาคำจำกัดความของคำว่า ศีลธรรมอันดี ได้หรือยัง

(ถอนหายใจ) มันยากน่ะ มันเป็นคำที่กว้างมากเลย ถ้าถามเราตอนนี้ก็ยังนิยามไม่ได้ว่าบรรทัดฐานมันคืออะไร เพราะศีลธรรมของแต่ละบุคคลมันไม่เท่ากัน มันกว้างเสียจนเราหามาตรฐานตรงกลางได้ยากมาก ถ้าให้เรานิยามเราก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน มาตรฐานศีลธรรมอันดีมันกว้างซะจนตีความได้ยาก

ไม่รู้ค่ะ ตอบไม่ได้ จะอยู่ตรงไหนดีล่ะ (หัวเราะ)

 

คิดว่าหนังของตัวเองเชยไปหรือเปล่าที่จะมาฉายตอนนี้

ไม่เชย ทันสมัยด้วยซ้ำ เมื่อก่อนอาจจะมาไวไปนิดนึง แต่ตอนนี้มันทันสมัยนะ อย่างกรณีคุณ พอลลีน งามพริ้ง ที่ดังๆ ก็เห็นชัดว่า เฮ้ย หนังเรามันพูดเรื่องที่มันมีอยู่แล้ว แค่เจ็ดปีก่อนมันไม่มีใครมาพูดเรื่องนี้ ตอนนี้เห็นไหมว่าความหลากหลายมันเบ่งบาน มนุษย์แม่งซับซ้อนและมีเลเยอร์มากกว่าที่คุณคิดแน่นอน ดังนั้นจะมาใช้มาตรฐานเดียวในการตัดสินมันไม่ได้ ซึ่งเรามั่นใจว่าจากจุดเริ่มต้นที่เราทำหนังมาจนถึงทุกวันนี้ ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศกับการทำความเข้าใจของคนในสังคมมันดีขึ้นเยอะนะ

ตอนนี้มันกลับกัน การพูดถึงความหลากหลายทางเพศในภาพยนตร์เองมันก็ต้องเป็นไปตามยุคตามสมัย เราจะมาโบราณ เป็นกะเทยชีวิตเศร้าฆ่าตัวตายมันก็ไม่ใช่แล้ว ทุกวันนี้มันก้าวไปไกลกว่านั้น ตัวหนังหรือสื่อเองก็ต้องทำความเข้าใจกับบริบทสังคมตรงนี้

เมื่อก่อนเราจะเห็นชัดว่าหนังเกย์จะพูดถึงเรื่องของลูกที่เป็นเกย์ พ่อแม่ไม่เข้าใจ ทุกวันนี้พ่อแม่เป็นเกย์ ลูกต้องออกมาบอกว่าภูมิใจที่มีพ่อมีแม่ อย่างน้อยเค้าก็เป็นพ่อแม่เรา นี่มันคือการทำความเข้าใจกับสังคม มันไม่ใช่อย่างที่เค้าบอกว่า เห็นมั้ย เพราะมีเกย์มีกะเทยเยอะในหนังในละคร คนเลยเป็นเยอะ ไม่ใช่ คนที่เป็นอยู่แล้วเค้ารู้สึกไงว่าเค้ามีพื้นที่ มีพวก มีคนเข้าใจ เค้าเลยเลือกที่จะ come out ออกมากันมากขึ้น ไม่ได้แปลว่าคนเป็นมากขึ้น แต่เค้าเป็นอยู่แล้ว เค้ากล้าที่จะก้าวออกมาในพื้นที่เพื่อบอกว่า เราเป็น และเราเป็นด้วยความภาคภูมิใจ

มันคือความพยายามทำให้สังคมเรียนรู้และเข้าใจคนเหล่านี้ เพื่อให้เข้าใจว่าคนร้อยคนเกิดมาไม่มีใครหน้าตาเหมือนกัน แล้วคุณจะคาดหวังให้ทุกคนคิดเหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้

 

เราอยากให้คนเข้าใจว่า เฮ้ย มึงไม่ต้องมารักกัน ตอแหลเปล่าๆ ความรักแบบรักทุกคนมันไม่มีอยู่แล้ว มันต้องทำความ เข้าใจกัน

 

ตอนที่คุณเปลี่ยนลุคจากแต่งหญิงมาเป็นอย่างตอนนี้ คนก็ตกใจกันใช่ไหม

คนเหวอกัน ใช่ เป็นข่าวเลย

 

ก็หมายความว่าเราอาจจะยังไม่เข้าใจในความหลากหลายและลื่นไหลทางเพศสักเท่าไหร่

ใช่ ‘มนุษย์’ พยายามที่จะแบ่ง ‘มนุษย์’ ออกไปตามปัจจัยชีวภาพต่างๆ แบ่งประเภทว่าคนนี้เป็นผู้ชาย ผู้หญิง ถ้าไม่ใช่ก็เป็นกะเทย เพศที่สาม เกย์ ตุ๊ด ทอม แล้วคำว่า ความหลากหลายทางเพศ นี่มันก็แบ่งเป็นไม่รู้จะกี่กล่อง L, G, B, T, Q บลาๆ เราก็สงสัยว่าต่อไปมึงต้องมีกี่คำเพื่อมา categorized มนุษย์ ตัวย่อมึงไม่ยาวเป็นสามหน้ากระดาษเหรอ

ในตัวมนุษย์คนนึง วันนึงเค้ามีรสนิยมทางเพศแบบนี้ วันหน้ามันก็เปลี่ยนแปลงและลื่นไหลได้ อย่างเราเองก็เคยอยู่ในกรอบของผู้ชาย แล้วเรารู้สึกอยากหลุดออกจากกรอบผู้ชายเพราะเราอยากเป็นผู้หญิง แต่พอมาอยู่ในกรอบผู้หญิง เราก็รู้สึกว่าเฮ้ย ไม่ใช่ว่ะ กูไม่ได้อยากมีนม ไม่ได้อยากมีจิ๋ม ไม่ได้อยากแปลงเพศ ก็เลยเข้ามาอยู่ในกรอบกะเทย แล้วก็ได้เจอความซัฟเฟอร์ที่ว่ากรอบกะเทยก็ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งเราไม่ได้อยากเป็นกะเทยแบบนั้น งั้นลองมาเป็นเกย์ เกย์ก็ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อีก

มันไม่ใช่แล้ว เรารู้สึกว่าความเป็นมนุษย์มันมีความลื่นไหลทางเพศ รสนิยมทางเพศก็เหมือนกินข้าว เราอาจจะไม่ได้ชอบกินข้าวทุกวัน บางวันอาจจะอยากกินสเต็ก กินอาหารญี่ปุ่น มันเป็นรสนิยม หรือก็เหมือนการใส่เสื้อผ้า คนเราก็ชอบใส่ไม่เหมือนกัน แล้ววันนึงเราอาจจะไม่ชอบชุดเครื่องแบบแล้ว อยากใส่ยีนส์ขาดๆ บ้าง นี่แหละคือรสนิยมทางเพศที่ลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงได้

การที่เราเปลี่ยนลุคจนเป็นข่าว แง่หนึ่งก็เป็นเชิงสัญลักษณ์ เพราะเราพูดเรื่องนี้มาตลอด เราพูดเรื่องความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศ แต่แอดวานซ์ขึ้นมาว่าไม่ว่าคุณจะแต่งตัวเป็นอะไร คุณก็เป็นตัวคุณได้ แต่คนก็จะตัดสินคุณอยู่ดีว่าคุณเคยเป็นตุ๊ด เป็นกะเทยแต่งหญิง ตอนนี้มาเป็นเกย์แล้ว เป็นผู้ชายแล้ว ต่อไปจะมีเมียมั้ย คนจะพยายามจัดเราไปอยู่ในกรอบอยู่ตลอด

แต่เรารู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เราพูดมาตลอด รสนิยมทางเพศมันลื่นไหลได้ และเราก็ทำให้ดูในเชิงสัญลักษณ์ด้วยว่าตัวตนก็คือตัวตน แต่รสนิยมและความลื่นไหลทางรสนิยมของคนเรามันเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ นะ

 

คุณไม่ติดกรอบอะไรเลยจริงๆ เหรอ

ก็ติดกรอบตัวเองนั่นแหละ เพราะทุกคนรู้จักธัญญ์วารินด้วยภาพที่เป็นคนผมบ๊อบ หน้าม้า ปากแดง เราก็ติดกรอบตัวเอง ติดลุคตัวเอง ติดความเชื่อของตัวเองว่าธัญญ์วารินต้องเป็นอย่างนั้น มันเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว นี่เราเป็นตัวเราจนสังคมเชื่อว่าเราเป็นแบบนั้น ตีกรอบวาดภาพว่าเราต้องเป็นแบบนั้น เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ เลยเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อจะบอกสังคมว่า เฮ้ย การเป็นธัญญ์วารินไม่จำเป็นต้องเป็นแบบที่คุณรู้จักนะ

นี่แหละ มันมีหลากหลาย ตัวเราเอง ณ เวลาที่อยากเปลี่ยนแปลงมันก็เป็นการส่งสัญลักษณ์บางอย่างออกไปเหมือนกัน เราอิ่มตัวด้วย อยากหลุดจากกรอบของตัวเองด้วย

 

มองหนังอย่าง หอแต๋วแตก ที่คุณเคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับว่าอย่างไร มันมีส่วนสร้างกรอบที่ว่าไหม

มันเป็นเรื่องปกตินะ แล้วเค้าก็ไม่ได้ทำผิดอะไรด้วย ในเมื่อคนรับรู้แบบนี้มาว่ากะเทยเป็นตัวตลก ตัวเราเองรู้สึกว่าคนแบบนั้นเค้าก็มีอยู่ในชีวิตจริง เราก็ยังเห็น

 

จะให้ไปบอกว่าอย่าไปทำแบบนี้ มันสร้างภาพจำที่ไม่ดีให้กับกะเทยกับเกย์ มันก็ไม่จริงไง

 

ทุกวันนี้เราโอเคกับการที่มีคนแบบนี้นะ อย่างน้อยก็ทำให้มีคนรู้จัก มีพื้นที่ของเค้า ถึงแม้ว่าพื้นที่นั้นในสังคมจะมองว่าเป็นตัวตลกหรืออะไรก็ตาม แต่ในชีวิตจริงมันก็มี

แต่ถามว่ามันมีแล้วดีมั้ย ถ้าเรามองว่ามันคือการสร้างพื้นที่และมองว่ามันเป็นการสะท้อนความเป็นจริงที่มีอยู่ในสังคมอยู่แล้วด้วย เราก็โอเค แต่ก็มองนะว่าการสร้างภาพจำแบบนี้มันไม่ดีแน่ๆ มันสร้างความเข้าใจนั้นไปให้กับคนในสังคม เช่นเมื่อเห็นภาพจำกะเทยว่าไม่ดี พ่อแม่ที่เห็นก็ไม่อยากมีลูกแบบนี้ไหม ให้คนมานั่งหัวเราะลูกตัวเองถ้าเค้าเป็นแบบนั้น แล้วกะเทยเองก็ติดกรอบกะเทยแบบนั้นด้วย เช่นพอเป็นกะเทย ก็ต้องเป็นกะเทยแบบในหอแต๋วแตก ซึ่งมันสร้างภาพจำที่ไม่ดีไหม สร้าง แต่มันมีอยู่จริงไหม มี

เราไม่ได้มองว่ามันผิดหรือไม่ดี เพราะตอนนี้พื้นที่สื่อมันไม่ได้มีแค่หนังหรือโทรทัศน์อย่างเดียว ทุกคนมีเฟซบุ๊ก มีการไลฟ์ชีวิตของตัวเอง คนสามารถทำความเข้าใจกับความหลากหลายของมนุษย์ว่ามันมีหลากหลายรูปแบบ มากกว่าที่จะไปทำตามในหนัง แล้วเราก็ไม่ได้เชื่อว่าการที่มีหนังเกย์หรือกะเทยจะทำให้คนลอกเลียนความเป็นเกย์กะเทยอยู่แล้ว เราเลยพยายามมองหลากหลายมิติว่ามันไม่ได้มีแค่ด้านเดียว แล้วตอนนี้มันก็ลดลงเยอะแล้วนะ ชีวิตคนเหล่านี้เริ่มมีมิติมากกว่าแค่ตลกแล้ว

ต่อให้เป็นกะเทยตลกช่างแต่งหน้า เราก็ได้เห็นชีวิตความรัก มุมอื่นของเค้าเหมือนกัน

 

แล้วหนังของคุณล่ะ มีกรอบอะไรอย่างนั้นไหม

เราไม่ได้แคร์ว่าคนมาดูหนังธัญญ์วารินแล้วจะต้องดีเสมอไป ตัวเราเองก็ไม่ได้เอามาตรฐานของเก่าเรามาวัดนะ ไม่ใช่ว่าเราทำหนังแล้วได้สุพรรณหงษ์ เรื่องหน้าก็ต้องได้ โน ไม่เคยเอาสิ่งเหล่านั้นมาตีกรอบตัวเองเลย สิ่งที่ทำตอนนี้คืออยากทำเรื่องไหน แล้วมันท้าทายในสิ่งที่ไม่เคยทำหรือเปล่า

แล้วเราไม่สนใจด้วยว่าคนดูจะติดแบรนด์เราหรือเปล่า บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ฮักนะ สารคาม กับ Insects in the Backyard กำกับโดยคนเดียวกัน มันไม่จำเป็นต้องรู้น่ะ

 

การเลือกดูหนัง เค้าต้องอยากดูจากตัวหนัง ไม่ใช่อยากดูจากตัวเรา เราไม่ได้เป็นคนอยากมีลายเซ็น ไม่ได้เป็นคนที่อยากมีแบรนด์ แต่เราอยากให้คนดูสนุกกับสิ่งที่เราเล่า กับสิ่งที่เราทำมากกว่า ไม่ได้อยากให้มีแบรนด์ธัญญ์วารินด้วยซ้ำ

 

เราอยากเป็นผู้กำกับที่เป็นทำหนังแนวไหนก็ได้ให้มันดี มันสนุกในแนวทางของตัวเอง ซึ่งการค้นหาความท้าทายแบบนี้มันก็ต้องมีดีบ้างไม่ดีบ้าง ประสบความสำเร็จบ้าง ไม่เป็นอย่างนั้นบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่เราไม่อยากให้มีคนมายึดแบรนด์ว่าหนังของเราต้องเป็นแบบนั้น เป็นแบบนี้

แต่ก็จะเห็นว่าพอมีคนพูดถึงหนังของเรา ก็จะคิดถึงหนังเกย์กะเทย แต่จริงๆ เราเพิ่งทำมาสองเรื่องจากเก้าเรื่องเอง แต่ทุกคนคิดว่าผู้กำกับคนนี้ทำหนังเกย์กะเทย เราก็เฮ้ย! ใจเย็น ไม่ได้ทำหนังอย่างนั้นทุกเรื่อง ซึ่งเราไม่ต้องการให้ติด อยากหาอะไรที่ท้าทายทำไปเรื่อยๆ หรือละครเองก็อยากทำให้หลากหลาย เรื่องล่าสุดที่จบไปก็เป็นแฟนตาซีอภินิหาร เราตื่นเต้นอยากทำมาก ก็จะหาอะไรที่อัพเลเวล ท้าทายตัวเอง พัฒนาไปเรื่อยๆ

อัพเลเวลหมายความว่าเล่นเกมแล้วผ่านด่าน ต้องผ่านความยากไปอีกสเต็ป ถ้าอยู่เลเวลเดิมมันจะสนุกตรงไหนล่ะ รู้แล้วว่าปีศาจจะออกมาซ้ายหรือขวา แต่เมื่อเราไปอยู่ในสนามใหม่ๆ วิธีเล่าใหม่ เนื้อเรื่องใหม่ เราก็จะท้าทาย กระตือรือร้น แล้วก็จะมีพลังงานในการทำ

 

ถ้านั่นเป็นสาเหตุให้คุณกระโดดไปทำอะไรหลายอย่างมากทั้งกำกับ เขียนบท หรือเป็นนักแสดง ลองจำกัดความหน่อยได้ไหมว่า ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ทำอะไรกันแน่

นั่นสินะ (นิ่งคิด)

แล้วทำไมต้องพยายามให้จำกัดความล่ะ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save