fbpx
คนเราจะยอมให้สังคม ‘ผลัก’ ไปสุดขอบแค่ไหน และ เราจะ ‘ผลัก’ คนอื่นได้แรงแค่ไหน

คนเราจะยอมให้สังคม ‘ผลัก’ ไปสุดขอบแค่ไหน และ เราจะ ‘ผลัก’ คนอื่นได้แรงแค่ไหน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

“วันนี้ดูท่าทางไม่ค่อยสบายเลยนะ” เพื่อนที่ทำงานทักคุณคำแรก

“จริงด้วย” คนที่สองตามมา

“เออ วันนี้ดูปากซีดๆ” คนที่สามสมทบ

และทั้งวันมีคนทักคุณอีก 2-3 คน ว่าวันนี้หน้าโทรม ดูไม่มีแรง นอนน้อยหรือเปล่า หลังจากนั้นคุณก็เร่ิมเสียความมั่นใจ รู้สึกว่าตัวเองเริ่มจะไม่สบายจริงๆ แล้ว และเป็นไปได้ว่าวันถัดไปคุณอาจลางานเพราะจู่ๆ ก็ตัวร้อนขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ

หลายครั้งที่เราถูกสังคมบีบให้เชื่อว่าเราเป็นอย่างนั้น และเราก็ ‘เป็น’ และ ‘ทำ’ ตามอย่างว่าง่าย

ใน Netflix มีสารคดีที่สร้างเหตุการณ์จำลองเพื่อทดสอบมนุษย์ว่าเราจะยอมให้สังคม ‘บีบ’ และ ‘ผลัก’ ไปตามความเชื่อของส่วนรวมได้แค่ไหน ซึ่งไม่ได้ทดสอบแค่เรื่องเล็กๆ อย่างการไม่สบาย แต่เขาทำการทดลองไปจนถึงขั้นที่ว่า ‘คนเราจะถูกกดดันจนสามารถผลักคนตกตึกได้หรือไม่?’ รายการนี้มีชื่อสั้นๆ และตรงไปตรงมาว่า The Push

รายการวางการทดสอบไว้เป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่เร่ิมคัดคนที่ ‘หัวอ่อน’ ที่สุดเข้าสู่การทดสอบ จากการเปิดรับสมัครคนเข้าร่วมรายการโทรทัศน์  ในวันออดิชั่นเขาให้คนมานั่งรอในห้องขนาดใหญ่ มีเก้าอี้วางเรียงแถวอยู่ สามคนที่นั่งอยู่ก่อนเป็นนักแสดงทั้งหมด ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ ‘ตกเบ็ด’ ให้เหยื่อมางับ เมื่อมีคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่นักแสดง และไม่รู้ว่านี่คือการทดสอบเข้ามานั่งต่อแถวด้วย สามคนแรกของแถวก็จะเร่ิมทำการแสดงโดยทุกครั้งที่มีเสียงกริ่งดัง พวกเขาจะลุกขึ้นยืน และเมื่อกริ่งดังอีกครั้ง พวกเขาก็นั่งลง

ในตอนแรก คนที่ต่อแถวก็นั่งมองแบบงงๆ แต่เมื่อเสียงกริ่งดังอีกไม่กี่ครั้ง คนอื่นๆ ก็เร่ิมลุกนั่งตามๆ กัน ถึงแม้จะไม่รู้เหตุผลว่าทำไปทำไม  มีไม่กี่คนที่ไม่ยอมลุกนั่งตาม พวกเขาก็จะถูกนำออกจากรายการทันที เพราะไม่เข้าเค้าเป็น ‘เหยื่อ’ ที่ถูกจูงใจง่าย ท้ายที่สุดก็ได้ผู้เข้าร่วมการทดสอบที่ ‘หัวอ่อน’ ที่สุดทั้งหมด 4 คน พวกเขาไม่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมรายการโทรทัศน์ และก็แทบจะลืมไปว่าเคยไปออดิชั่นรายการโทรทัศน์นี้ด้วยซ้ำ แต่นี่เป็นเพียงจุดเร่ิมต้นเท่านั้น การทดลองที่แท้จริงเร่ิมขึ้นต่อจากนี้

ถัดมาไม่นาน ทีมงานจัดงานประมูลสินค้าเพื่อการกุศลในชื่อ The Push แน่นอนว่าเป็นงานหลอกๆ ทุกอย่างถูกเซ็ตขึ้นมาทั้งหมด ใช้นักแสดงกว่า 70 ชีวิตเพื่อสร้างค่ำคืนสุดแสนหฤหรรษ์ขึ้นมา ในงานมีวิดีโอเปิดเพื่อโน้มน้าวใจตลอดเวลา มีวลีที่ย้ำซ้ำๆ ว่า ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม” พวกเขาเชิญคนหัวอ่อนที่เลือกไว้แล้วมาร่วมงาน แล้วเร่ิม ‘บีบ’ ผู้เข้าร่วมการทดสอบจากเหตุการณ์เล็กๆ เช่น ใช้ให้ช่วยถือกระเป๋า หรือเฝ้าของ ก่อนจะค่อยๆ ทวีความร้ายแรงและซับซ้อนของเหตุการณ์ที่คนคนหนึ่งจะต้องเจอ เพื่อท้ายที่สุดแล้วจะนำไปสู่เหตุการณ์ที่เขาจะต้องตัดสินใจว่า จะผลักคนตกตึกได้หรือไม่ ผลลัพธ์ของ 4 คนที่เข้าการทดสอบจะเป็นอย่างไร คงต้องให้ไปหาดูกันเองเพื่อไม่ให้เสียอรรถรส

The Push | Official Trailer

YouTube video

มีหลายบทความตั้งคำถามว่า การทดสอบของ The Push จริงแค่ไหน ผู้เข้าร่วมการทดสอบ (ที่ถูกหลอก) เป็นนักแสดงหรือเปล่า เพราะเอาจริงๆ การทำแบบนี้ก็นับว่า ‘เล่นแรง’ เอาเรื่องอยู่ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่รายการอยากจะพาคนดูไปถึงคือ คนเราจะยอมให้สังคม ‘ผลัก’ ไปได้สุดแค่ไหน เรายอมให้เจตจำนงของสังคมมีผลต่อเรามากแค่ไหน และการตัดสินใจของเราเป็นการตัดสินใจของเราจริงหรือไม่

กระบวนการบังคับทางสังคมนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมนุษย์ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงสังคม เราอยู่กับคนรอบข้าง คาดหวังการยอมรับ และไม่อยากรู้สึกแปลกแยก แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ วิธีการบังคับทางสังคมนี้ถูกนำไปใช้ในทางการเมือง และมีผลต่อเรากว่าที่คิดมากมายนัก

ในปี 1961 มีการทดลองที่ยังได้รับการพูดถึงจนปัจจุบันชื่อ milgram experiment โดยศาสตราจารย์ สแตนลีย์ มิลแกรม นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล ว่าด้วยการ ‘เชื่อฟังผู้มีอำนาจ’ เพื่อหาคำตอบว่า คนจะฟังผู้มีอำนาจเพียงใดเมื่อผู้มีอำนาจออกคำสั่งให้เขาทำสิ่งที่ขัดกับมโนธรรมส่วนตัว

การทดลองนี้เกิดขึ้นช่วงการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามนาซีเยอรมันนามว่า อดอล์ฟ ไอก์มานน์ (Adolf Eichmann) ผู้ดูแลการขนย้ายชาวยิวในยุโรปไปสู่ค่ายกักกันที่โปแลนด์และค่ายเอาชวิตซ์ ว่ากันว่าเขาคือผู้ส่งชาวยิวไปตายขนานใหญ่ที่สุด แม้ว่าเขาจะไม่ได้ลงมือฆ่าเองก็ตาม แต่เขาก็มีส่วนร่วมในการวางโครงสร้างระบบทางรถไฟที่ทำให้การฆ่านั้นเกิดขึ้น และรถไฟของเขาวิ่งตรงเวลาเสมอ

ในช่วงการพิจารณาคดีมีคำถามสำคัญที่แพร่หลายว่า ‘เป็นไปได้หรือไม่ที่ไอก์มานน์และผู้ร่วมกระทำผิดอีกนับล้านในการสังหารหมู่ครั้งนั้น เพียงแค่กระทำตามคำสั่งเท่านั้น และเราจะเรียกเขาทั้งหมดว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดได้หรือไม่’ (Could it be that Eichmann and his million accomplices in the Holocaust were just following orders? Could we call them all accomplices?)

Adolf Eichmann
Adolf Eichmann

การทดลองของมิลแกรม ใช้วิธีการหลอกให้คนเข้าร่วมการวิจัยโดยบอกว่าเป็นการวิจัยเกี่ยวกับความจำและการเรียนรู้ เลือกผู้ชายจำนวน 40 คน อายุระหว่าง 20-50 ปี และมีเงินค่าจ้างให้ 4.50 ดอลลาร์  เบื้องต้นมิลแกรมจะให้อาสาสมัคร จับสลากว่าจะได้เป็น ‘ผู้สอน’ (teacher) หรือ ‘ผู้เรียน’ (learner) แต่เขาแค่หลอกให้อาสาสมัครเชื่อว่าพวกเขามีสิทธิ์เลือก เพราะความจริงแล้วสลากทุกใบเขียนไว้ว่า ‘ผู้สอน’ ทั้งหมด ขณะเดียวกันก็มีอาสาสมัครปลอมที่จับสลากได้ว่า ‘ผู้เรียน’ ทุกใบเพื่อความแนบเนียน ระหว่างนั้นเองที่ ‘ผู้เรียน’ หรืออาสาสมัครปลอมจะเปรยว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ

หลังจากนั้นก็จับทั้งสองคนแยกห้อง มองไม่เห็นกัน แต่ได้ยินเสียงกัน นักวิจัยให้ผู้สอนอ่านคำให้ผู้เรียนฟังทีละคู่ แล้วถามผู้เรียนว่าจำได้หรือไม่ ถ้าตอบผิด ผู้สอนต้องส่งกระแสไฟฟ้าไปช็อตผู้เรียน เริ่มจาก 15 โวลต์ ขยับไปที่ 30, 45, 60 ในข้อต่อๆ ไป จนถึงรุนแรงที่สุดคือ 450 โวลต์ (ความจริงผู้เรียนไม่ได้ถูกช็อตจริงๆ แต่แกล้งร้องด้วยความทรมาน และพูดถึงโรคหัวใจที่ตัวเองกำลังเป็นอยู่ เพื่อสะกิดความเห็นอกเห็นใจจากผู้สอน)

มาถึงตรงนี้แล้วหลายคนคงคิดว่า คนเราคงไม่กล้าช็อตถึง 450 โวลต์หรอก แค่ช็อตครั้งแรกแล้วได้ยินเสียงคนร้องเราก็คงขอยกเลิกการทดลองแล้ว แต่ในชุดการทดลองแรกผลการวิจัยออกมาว่า มีอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองถึง 65 เปอร์เซ็นต์ (26 จาก 40 คน) ที่ไปถึงขั้นช็อตกระแสไฟฟ้าในระดับสูงสุด 450 โวลต์

แน่นอนว่ามีผู้เข้าร่วมการทดลองขอยุติการทดลอง แต่เขาจะได้รับคำสั่งจากผู้วิจัยต่อเนื่องเป็นลำดับขั้นดังนี้

1. กรุณาทำต่อไป (Please continue.)

2. การทดลองนี้กำหนดให้คุณทำต่อไป (The experiment requires you to continue.)

3. สำคัญอย่างยิ่งที่คุณต้องทำต่อไป (It is absolutely essential that you continue.)

4. คุณไม่มีทางเลือกอื่น คุณต้องทำต่อไป (You have no other choice but to continue.)

ไปจนถึงขั้นที่บอกว่าการช็อตไฟฟ้าไม่มีผลเสียหายต่อเนื้อเยื่อถาวร ดังนั้นกรุณาทำต่อ เมื่อมีการโน้มน้าวใจด้วยวิธีการเหล่านี้ ผลการทดลองจึงออกมาอย่างที่เห็น มิลแกรมและทีมงานทำการทดลองแบบนี้ในหลายแห่งทั่วโลก และพบว่าผลการทดลองไม่แตกต่างกันมากนัก

Milgram Experiment

YouTube video

มิลแกรมสรุปใจความของงานทดลองในบทความ The Perlis of Obedience ปี 1974 ไว้ว่า คนทั่วไปซึ่งทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายใดๆ อาจกลายเป็นผู้ลงมือในกระบวนการอันเลวร้ายได้ ยิ่งกว่านั้น แม้เมื่อผลอันเลวร้ายจากการกระทำของพวกเขาปรากฏชัดเจน และพวกเขาถูกขอให้กระทำการอันขัดต่อพื้นฐานด้านศีลธรรม กลับมีคนจำนวนไม่มากนักที่กล้าพอจะขัดคำสั่ง”[1]

ย้อนกลับไปที่เรื่องของอดอล์ฟ ไอก์มานน์ เขาถูกตัดสินประหารชีวิตที่อิสราเอลโดยศาลพลเรือนในปี 1962  นักปรัชญาชาวเยอรมันเชื้อสายยิวชื่อ ฮันนาห์ อาเรนดท์ ผู้ทำความเข้าใจชายผู้นี้อย่างจริงจัง เรียกสิ่งที่เธอเห็นจากตัวไอก์มานน์  ว่า ‘ความธรรมดาของความชั่วร้าย’ (benality of evil)  ไม่ใช่ความชั่วร้ายแบบซาตาน แต่หากเป็นชายธรรมดาสามัญคนหนึ่งที่ยอมให้ทัศนคติแบบนาซีมีผลต่อทุกสิ่งที่เขาทำ

ไม่ว่าจะเพราะปีศาจในตัวมนุษย์ การถูกโน้มน้าวใจ หรือการถูกบังคับก็ตาม มนุษย์ในปี 2018 ก็ยังถูกสังคมบีบและผลักให้ยืนอยู่ในจุดที่สังคมว่าดี  ‘การรู้เท่าทัน’ อาจเป็นคำที่พูดถึงกันเยอะในสมัยนี้ ยิ่งโดยเฉพาะยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่มีอิทธิพลและแทรกซึมเข้าถึงผู้คนอย่างมาก มีทั้งข่าวจริงและข่าวปลอม การปล่อยข่าวเพื่อหวังผล และโน้มน้าวใจเรา โดยที่เราไม่รู้ตัว แม้ว่าเราจะพยายามระวังตัวอย่างสุดชีวิตแล้วก็ตาม ขณะเดียวกัน เราเองก็พร้อมจะพูดและปล่อยข่าวที่เราอยากให้สังคมเชื่อว่าจริง

ในแง่การเมือง เราอาจเคยเกลียดชังคนที่คิดไม่เหมือนเราสุดชีวิต เกลียดมากกระทั่งมองว่าความตายของอีกฝ่ายเป็นความตายที่สมควรแล้ว หรือแม้แต่ก้มหัวยอมรับให้เผด็จการคุมเราอยู่ แม้ว่าจะเห็นหลายคนถูกทำร้ายโดยอำนาจที่ไม่เป็นธรรม

แม้ว่าเราจะไม่มีปุ่มช็อตไฟฟ้าอยู่ในมือ หรือมีสิทธิในการกำหนดตารางรถไฟส่งคนไปสู่ค่ายกักกันมรณะ แต่เราก็มีแป้นพิมพ์และปุ่มโพสต์ที่จะทำลายล้างคนอื่นได้ง่ายๆ และความนิ่งเฉยของเราเองก็น่ากลัวไม่แพ้กระแสไฟฟ้า 450 โวลต์ หรือปลายมือที่สามารถผลักคนตกตึกได้ แม้จะรู้ว่ามันเลวร้ายเพียงใด

เชิงอรรถ

[1] …ordinary people, simply doing their jobs, and without any particular hostility on their part, can become agents in a terrible destructive process. Moreover, even when the destructive effects of their work become patently clear, and they are asked to carry out actions incompatible with fundamental standards of morality, relatively few people have the resources needed to resist authority.

อ้างอิง

https://www.simplypsychology.org/milgram.html

http://plaza.ufl.edu/trishak/The%20Perils%20of%20Obedience.pdf

ไนเจล วอร์เบอร์ตัน. (2556). ปราบดา หยุ่น และ รติพร ชัยปิยะพร, แปล. ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับกะทัดรัด. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สำนักหนังสือไต้ฝุ่น.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save