fbpx
เมืองดีชีวิตก็แฮปปี้ : ทดลองเปลี่ยนเมืองให้ดีต่อใจด้วยทางม้าลายสีรุ้ง

เมืองดีชีวิตก็แฮปปี้ : ทดลองเปลี่ยนเมืองให้ดีต่อใจด้วยทางม้าลายสีรุ้ง

ถ้ามีใครมาจ่อไมค์ถามคนกรุงเทพฯ แดนฟ้าอมรว่ามีอะไรในเมืองใหญ่แห่งนี้ที่พวกเขาไม่โอเคกับมันบ้าง เราเชื่อว่าคำตอบที่ได้คงออกมาไม่หวาดไม่ไหว ไม่ว่าจะเป็นถนนแสนแคบ ฟุตบาธระเบิดน้ำเน่า มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า สายไฟระโยงระยาง และอื่นๆ อีกมากที่หลายคนบ่นจนเบื่อ (และถ้าบ่นในทวิตเตอร์ ก็อาจเป็นอีกสาเหตุให้เบื่อขึ้นไปอีกจากดราม่าที่วิ่งเข้ามาหา)

 

และแน่นอนว่าปัญหาต่างๆ ที่ว่าก็ส่งผลโดยตรงกับ ‘สภาพจิตใจ’ ของพวกเรา

องค์ประกอบย่อยๆ ที่ว่ามาทำให้ความเครียดในการใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุขเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่อัตราความสุขถดถอยลง คือการออกแบบเมืองที่ทำให้ ‘ความสัมพันธ์ของผู้คน’ เกิดขึ้นไม่มากพอ จนกลายเป็นสาเหตุให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาเข้าปกคลุมคนที่อยู่อาศัย จากโรคทางใจ ในทางการแพทย์ก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางกายในที่สุด

ที่เมืองแวนคูเวอร์ในประเทศแคนาดาก็เช่นเดียวกัน ชาวเมืองผู้อาศัยในย่านที่แหงนหน้าไปก็เจอแต่ตึกสูงต่างรู้สึกไปในทางเดียวกันว่าทั้งความสัมพันธ์ระหว่างกัน และความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างตัวเองกับคนอื่นๆ ในเมืองมีน้อยกว่า เมื่อเทียบกันกับคนที่อาศัยอยู่นอกเมืองที่ความแออัดต่ำ จนกลายเป็นความท้าทายว่าพวกเขาจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร เมื่อผังเมืองและตึกสูงก็เกิดขึ้นมาอย่างถาวรแล้ว

คำตอบง่ายๆ อยู่ที่การ ‘ทดลอง’ เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของเมืองให้เปลี่ยนไป

ที่ย่าน Davie Village ทางฝั่ง West End ของแวนคูเวอร์ คือพื้นที่ที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘Gay Village’ หรือ ‘Gaybourhood’ ของเมือง รายล้อมไปด้วยร้านค้า ไนต์คลับ สำนักงานและเครือข่ายของกลุ่มสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีสัญลักษณ์สำคัญของย่านคือ ‘ทางม้าลายสีรุ้ง’ ที่เกิดขึ้นจากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการของผู้อยู่อาศัย ที่อยากสร้างจุดที่เหมือนเป็น ‘หัวใจ’ ของย่านเอาไว้

แต่กลายเป็นว่าจากที่ต้องการเพียงให้เป็นสัญลักษณ์ สายรุ้งบนพื้นถนนของหมู่บ้านชาวเกย์แห่งนี้กลับเป็นเครื่องมือยกระดับ ‘ความสุข’ ของพวกเขาไปด้วย!

ในปี 2016 ชาร์ลส มอนต์โกเมอรี นักออกแบบผังเมืองผู้ก่อตั้ง Happy City บริษัทรับให้คำปรึกษาและทำวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการออกแบบเมืองที่มีผลกับสุขภาพกายและใจของมนุษย์ ลงพื้นที่สำรวจผลของการเปลี่ยนรูปลักษณ์พื้นที่ในแถบ Davie Village ว่าจะช่วยอะไรกับจิตใจของคนในพื้นที่ได้บ้าง โดยชวนคนกว่าร้อยคนมาเดินทัวร์รอบย่าน และใช้วิธีตรวจสอบแบบต่างๆ ทั้งการถามตอบคำถามทั่วๆ ไป ให้ลองเล่นเกมทดสอบระดับความจดจ่อและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมไปถึงตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่สามารถตรวจจับระดับความเครียดได้

ผลปรากฎว่าเมื่อชาร์ลสพาผู้ร่วมทดสอบไปที่ทางม้าลายสีรุ้งที่เป็นสัญลักษณ์ของย่านนี้และลองวัดความรู้สึกของทุกคน ก็พบว่า 40% ของกลุ่มรู้สึก ‘มีความสุข’ กับการได้อยู่ตรงนี้ เมื่อเทียบกับทางม้าลายขาวดำธรรมดาที่เพิ่งเดินผ่านมาตรงสี่แยกบล็อคที่แล้ว และ 60% ก็บอกว่าถ้านัดเจอเพื่อนก็อยากมาเจอกันที่นี่ สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือระดับของความเชื่อใจกันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้ร่วมทดสอบรู้สึกตรงกันว่าถ้าทำกระเป๋าเงินหล่นหายตรงนี้ ก็คงจะได้คืนแน่ๆ

 

ภาพ: Happy City

 

ภาพ: Happy City

 

ภาพ: Happy City

 

อะไรทำให้การเปลี่ยนสีทางม้าลายส่งผลกับความไว้เนื้อเชื่อใจ ระดับความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ และความสุขที่มีมากขึ้นขนาดนี้? ชาร์ลสอธิบายว่าอาจเป็นเพราะความสดใสของสีบนพื้นถนน ที่ทำงานร่วมกับเสียงเพลงจากคนที่มาเล่นในลานกว้างใกล้ๆ กัน และอีกสาเหตุที่เขาคาดเดา คือความหมายของสัญลักษณ์สีรุ้งที่ทำให้คนที่เดินผ่านไปมารู้สึกว่าพวกเขากำลังอยู่ในพื้นที่ที่ยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนที่นี่ให้ความสำคัญ

นอกไปจากทางม้าลายสีรุ้ง รอบๆ Davie Village ยังมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เล็กๆ อย่างตรอกหลังซอกตึกที่ปกติจะถูกทิ้งไว้เป็นที่วางถังขยะร้างๆ ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวเล็กๆ เต็มไปด้วยต้นไม้ให้ดูสะอาดตา ผลที่ออกมาเมื่อผู้ร่วมทดสอบเดินผ่านทั้งสองจุดที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือในตรอกที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สีเขียวทำให้พวกเขารู้สึก ‘ไว้เนื้อเชื่อใจ’ คนแปลกหน้าที่เจอในบริเวณนี้มากกว่า ในขณะเดียวกันแม้ว่าจะไม่ใช่คนแวนคูเวอร์โดยกำเนิด พวกเขาก็รู้สึกอยากช่วยรักษาพื้นที่สีเขียวตรงนี้ด้วยการเก็บขยะบนพื้น มากกว่าจะช่วยเก็บหากเจอบนตรอกร้างข้างๆ ด้วย

 

ภาพ: Happy City

 

ไม่ใช่แวนคูเวอร์ที่เดียวที่ชาร์ลสและทีม Happy City ลองทดสอบเก็บข้อมูลความรู้สึกและพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมของเมืองรอบๆ ที่ซีแอทเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขาก็เคยลองทดสอบคล้ายๆ กันด้วยการปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวหลงทางเดินไปตามฟุตบาทขอความช่วยเหลือจากคนในเมือง และพบว่าคนในพื้นที่ที่รายล้อมด้วยร้านค้าแบบโลคอลๆ กับอาคารที่แสดงเอกลักษณ์ของย่านนั้นออกมาจะเข้ามาช่วยบอกทางมากกว่าคนที่เดินไปมาในสองข้างทางที่รายล้อมด้วยกำแพงเรียบๆ กับตึกสูงๆ ไร้ชีวิต

ชาร์ลสบอกว่า “ความเอื้อเฟื้อและจิตใจที่ดีของคน เป็นผลมาจากความเร็วในการใช้ชีวิต” คนจะเป็นมิตรมากขึ้นเมื่อพวกเขาเดินอย่างช้าๆ (ในทีนี้ อาคารร้านค้าแบบโลคอลก็เข้ามาช่วยดึงดูดความสนใจ) เมื่อเดินช้าลง เราก็จะสบตากับคนรอบๆ มากขึ้น และเข้าใจว่าคนอื่นกำลังทำอะไร ต้องการความช่วยเหลือหรือไม่

ว่าง่ายๆ คือเราจะ ‘เข้าใจ’ คนอื่นมากขึ้น เมื่อเราอยู่ในเมืองที่ไม่บังคับให้เราต้องเคลื่อนที่อย่างเร่งรีบ

เมื่อความสัมพันธ์ของคนที่อาศัยอยู่ในเมือง (แม้ไม่รู้จักกัน) เพิ่มมากขึ้น ระดับความสุขจากการใช้ชีวิตก็จะเพิ่มขึ้น การออกแบบเมืองที่ดีจึงส่งผลกับคุณภาพชีวิตของเราอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่การออกแบบในที่นี้ ไม่ได้จำเป็นว่าต้องถอนรากถอนโคน รื้อถนนวางผังกันใหม่อย่างที่เข้าใจ ดูอย่างทางม้าลายทาสีสดใสที่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในเมือง ก็ช่วยให้สุขภาพจิตของคนดีขึ้นแล้ว

 

แล้วกรุงเทพฯ ของเราล่ะ จะลองเปลี่ยนมันอย่างไรดี?

 

อ่านเพิ่มเติม

รายละเอียดโปรเจ็กต์ Happy Streets Living Lab จาก Happy City

บทความเรื่อง Rainbow-painted crosswalks can boost trust among strangers โดย Charles Montgomery จาก Quartz

บทความเรื่อง ‘People are nicer to each other when they move more slowly’: how to create happier cities โดย Tamsin Rutter จาก the Guardian

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save