fbpx
ให้ใบหน้าเล่าเรื่องเพศ

ให้ใบหน้าเล่าเรื่องเพศ

เวลาที่คุณเจอคนใหม่ๆ เข้ามา ในทำนองคบหาดูใจหรือสร้างความสัมพันธ์ (ภาษาบ้านๆ ก็คือ จีบ นั่นแหละ) คำถามที่มักผุดขึ้นมาในหัวคืออะไร

แน่นอน – คุณอาจเกิดข้อสงสัยว่า “ไอ้คนนี้คิดจะมาคบเราจริงจัง หรือแค่ต้องการจะมา ‘มีอะไร’ กับเราเฉยๆ?”

 

วิธีการพื้นฐานที่จะล่วงรู้คำตอบนี้ก็เป็นไปได้หลากหลาย บางคนก็คุยกับเขาจนกระทั่งมั่นใจได้ว่าคนคนนั้นเชื่อใจได้ บางคนก็ใช้เหล้าให้เป็นประโยชน์ ด้วยการมอมผู้ที่เข้าหาจนกว่าเขาจะหลุดคำพูดอะไรออกมา บางคนก็ถึงขั้นเฝ้าจับตามองสีหน้าและสายตาของคู่สนทนาอย่างละเอียด

วิธีการเหล่านี้อาจได้ผล แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเวลาและเงินทีมากโขอยู่ (บางรายอาจถึงขั้นเปลืองตัวกันเลยทีเดียว) ดังนั้นถ้าต้องการรู้คำตอบแบบเร่งรัด ก็ต้องบอกว่าเป็นวิธีที่ไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่

วิธีที่ดีกว่า อยู่ในผลงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่บอกว่า ‘ใบหน้า’ อาจช่วยให้คุณ ‘อ่าน’ ความต้องการที่แท้จริงของคนที่เข้ามาได้ง่ายและเร็วขึ้น

 

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 สตีเฟ่น อาร์นอคกี้ (Steven Arnocky) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยนิพิซซิ่ง (Nipissing University) ประเทศแคนนาดา และคณะ ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับงานวิจัยซึ่งเพิ่งทำเสร็จกันไปร้อนๆ ชื่อว่า The Facial Width-to-Height Ratio Predicts Sex Drive, Sociosexuality, and Intended Infidelity

ในบทความดังกล่าว อาร์นอคกี้ บอกว่า ‘รูปร่างของใบหน้า’ มีความสัมพันธ์กับ ‘แรงขับทางเพศ’ ของพวกเราอย่างมีนัยยะสำคัญ

เขาค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งนี้จากการทดลองซึ่งมีผู้ชายและผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์จำนวน 457 คนเป็นกลุ่มตัวอย่าง ในการทดลอง อาร์นอคกี้ พยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนความกว้างยาวของใบหน้า (Facial Width-to-Height Ratio-FWHR) และแรงขับทางเพศของกลุ่มตัวอย่าง โดยผู้วิจัยจะเก็บข้อมูลความกว้างและความยาวของใบหน้าของกลุ่มตัวอย่างแต่ละคน เพื่อหาสัดส่วนความกว้างยาวของใบหน้า จากนั้น ผู้วิจัยก็จะให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบสอบถามเพื่อชี้วัดว่าตนนั้นมีแรงขับทางเพศมากน้อยขนาดไหน

ผลวิจัยที่ได้ออกมาชี้ว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีค่าสัดส่วนความกว้างยาวของใบหน้าสูงมักจะมีความต้องการทางเพศที่สูงตามไปด้วย พูดแบบง่ายๆ ก็คือ คนไหนที่ยิ่งมีรูปร่างใบหน้าที่กลมและกว้าง ก็ยิ่งจะมีความต้องการทางเพศมากขึ้น โดยความสัมพันธ์แบบนี้เกิดขึ้นกับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

นอกเหนือจากดูในเรื่องสัดส่วนของใบหน้าแล้ว อาร์นอคกี้ยังสนใจดูความสัมพันธ์ระหว่างแรงขับทางเพศกับองค์ประกอบอื่นๆ บนใบหน้าของเราอีกด้วย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาคือ องค์ประกอบอื่นๆ อย่างเช่น โหนกแก้มโด่งๆ ไม่ได้ความสัมพันธ์กับความต้องการทางเพศไปในทางเดียวกัน พูดอีกอย่างก็คือ ไม่ว่าเราจะมีโหนกแก้มที่โด่งน่ามอง หรือมีจมูกที่งอนเงางาม นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเป็นคนที่มีนิสัยหวังแต่ ‘เอา’ เสมอไป

นี่จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นอีกอย่างว่า หากเราจะดูว่าคนที่เข้ามา มีตัณหามากน้อยแค่ไหน การดูที่ความงดงามและความหื่นกามของหน้าตา จึงไม่มีประโยชน์อีกต่อไป

จากผลลัพธ์อันน่าสนใจของงานวิจัย นักวิจัยจึงพยายามหาเหตุผลต่อว่าเพราะเหตุใดความกว้างยาวของใบหน้าคนเราจึงสัมพันธ์กับแรงขับทางเพศ และพบว่าที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก ‘ฮอร์โมนเพศ’ ซึ่งจากงานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่นักวิจัยได้ศึกษาวิเคราะห์ก็เห็นไปในทำนองเดียวกันว่า ยิ่งคนที่มีรูปร่างของใบหน้าที่กลมและกว้าง ก็มักจะมีฮอร์โมนเพศที่สูงไปด้วย

งานวิจัยบางชิ้นก็อ้างว่า ใบหน้าที่มีสัดส่วน FWHR สูงนั้นสะท้อนถึงเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมของบรรพบุรุษมนุษย์ยุคเริ่มต้นที่มีใบหน้าที่กว้างและกลม ซึ่งในเวลานั้น อย่างที่เราหลายคนก็รู้ๆ กัน บรรพบุรุษของเราจะต้องสืบพันธุ์กันอย่างเข้มข้นเพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการรักษาเผ่าพันธุ์ของตนให้รอดพ้นจากความร้ายกาจของธรรมชาติ

นี่จึงอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่ใบหน้าทำนองนี้ถึงมีความต้องการทางเพศอย่างมาก

สัดส่วนความกว้างยาวของใบหน้ายังสามารถบอกนิสัยอย่างอื่นของเจ้าของใบหน้าได้อีกด้วยนะครับ จากผลลัพธ์ของงานวิจัย อาร์นอคกี้ สรุปไว้ว่า ผู้ชายที่มีสัดส่วน FWHR สูงมีแนวโน้มจะโกหกและไม่ซื่อสัตย์ต่อคู่รักของตนในอนาคต

 

เห็นไหมครับว่า รูปร่างใบหน้าของคนเราไม่ได้เป็นเครื่องสะท้อนรหัสพันธุกรรมจากพ่อแม่เราเท่านั้น หากแต่ยังบอกเล่าถึง ‘ชีวิตทางเพศ’ ของพวกเราได้อีกต่างหาก ยิ่งไปกว่านั้น มันยังสามารถทำนายนิสัยขี้โกหกของพวกเราได้อีกด้วย

ต่อไปคราวหน้าหากคุณเจอใครที่เดินเข้ามาในชีวิต และอยากตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ นอกจากนิสัยที่ต้องดูแล้ว อย่าลืมพิจารณาใบหน้าของเขาด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

บทความวิจัย The Facial Width-to-Height Ratio Predicts Sex Drive, Sociosexuality, and Intended Infidelity โดย Steven Arnocky, Justin Carre, Brian Bird, Benjamin Moreau, Tracy Vaillancourt, Trianna Ortiz และ Nicole Maley จาก Springer

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022