fbpx
น้ำก๊อกที่ดีที่สุดในโลก

น้ำก๊อกที่ดีที่สุดในโลก

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

เรื่องของเรื่องก็คือ ผมไปฝรั่งเศสมา และพบว่าคนที่นั่นภาคภูมิใจกับ ‘น้ำก๊อก’ ของตัวเองมาก นัยว่ามีทั้งประวัติศาสตร์การก่อสร้าง Aqueduct เพื่อนำน้ำเข้าสู่กรุงปารีส จนถึงคุณภาพของน้ำที่ใสสะอาด และมีแร่ธาตุเจือปนในปริมาณที่สมดุล ทำให้ได้น้ำที่รสชาติดี จนแต่ละเขตของปารีสและแต่ละท้องถิ่นในฝรั่งเศสสามารถโปรโมทน้ำของตัวเองในฐานะผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียง

คำถามที่เกิดขึ้นถัดมาก็คือ – เอ๊ะ! แล้วประเทศอื่นๆ ล่ะ (เอิ่ม – ไม่นับประเทศแถวๆ นี้ก็แล้วกันนะครับ) น้ำก๊อกเขาดีเท่ากับฝรั่งเศสหรือเปล่า

 

คำตอบก็คือ – พอไปหาคำตอบออกมาแล้ว ปรากฏว่าฝรั่งเศสแทบไม่ติดอันดับเลยครับ เพราะยังมีอีกหลายประเทศและหลายเมืองในโลกมากนัก ที่ ‘น้ำก๊อก’ มีคุณภาพดีเหลือเชื่อ

มีหน่วยงาน องค์กร หรือแม้แต่ปัจเจก ที่ทำสำรวจกันมาเยอะครับ ว่าที่ไหนบ้างที่มีน้ำคุณภาพดีที่สุด แต่ละเจ้าก็จัดอันดับและให้รายละเอียดที่แตกต่างกันไป เลยอยากลองชวนคุณมาดูสักสี่ห้าเจ้า เผื่อคราวหน้าเวลาเดินทางไปประเทศเหล่านี้ จะได้ลองดื่ม ‘น้ำก๊อก’ ของเขาดูเสียหน่อย ว่ามันอร่อย สะอาด และมีคุณภาพดีเหมือนอย่างที่มีการจัดอันดับไว้หรือเปล่า

แรกสุด อยากพาไปดูความเห็นของบริษัทวิศวกรเรื่องน้ำอย่าง Wildon ซึ่งเป็นบริษัทในอังกฤษ เขาลองจัดอันดับน้ำก๊อกที่ ‘สะอาด’ ที่สุดเอาไว้ (ดูได้ที่นี่) พบว่าประเทศที่ ‘ภาคภูมิใจ’ ในน้ำก๊อกของตัวเองมีตั้งเยอะแน่ะครับ โดย 8 ประเทศ ที่เขาบอกว่าน้ำสะอาดที่สุด คือ

1. สวิตเซอร์แลนด์ : ประเทศนี้ไม่ต้องบอกก็รู้นะครับ ว่ามีแหล่งน้ำธรรมชาติที่มาจากธารน้ำแข็งมากมาย หน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำจะใช้น้ำจากธรรมชาติที่ไม่ปนเปื้อนมาตั้งแต่ต้น ทำให้ได้น้ำที่มีคุณภาพสูงมาก แถมยังถูกกว่าน้ำแร่บรรจุขวด 500 เท่าด้วย

2. นอร์เวย์ : มีระบบปกป้องน้ำใต้ดิน (น้ำบาดาล) ที่ดีมาก รวมถึงการการตรวจสอบคุณภาพน้ำสม่ำเสมอ

3. ลักเซมเบิร์ก : ที่นี่มีน้ำพุถึง 71 แห่ง โดย 38 แห่งนี่ พุขึ้นมาก็ดื่มได้เลยนะครับ ทำให้ลักเซมเบิร์กมีน้ำที่ใสสะอาด ยิ่งเมื่อมีระบบกรองน้ำชั้นเลิศแล้วก็เลยได้ชื่อว่าน้ำสะอาดที่สุดเป็นอันดับสาม

4. ฝรั่งเศส : ฝรั่งเศสภูมิใจในน้ำของตัวเองมากว่ามีสมดุลของแร่ธาตุที่เหมาะสม ระบบการจัดการและกรองน้ำก็เก่าแก่ยาวนาน ในปารีสมีน้ำพุมากถึง 1,200 แห่ง ที่คนสามารถดื่มได้

5. ออสเตรีย : ได้น้ำจากทั้งน้ำใต้ดินและน้ำพุ ว่ากันว่า คนออสเตรีย 90% ดื่มน้ำก๊อกนี่แหละครับ ทำให้ออสเตรียต้องดูแลการผลิตน้ำให้ดีที่สุด

6. อิตาลี : มีการตรวจสอบน้ำตลอดเวลา น้ำก๊อกของอิตาลีถือว่าเป็น ‘น้ำกระด้าง’ (Hard Water) นะครับ แต่เป็นน้ำกระด้างที่ดีมาก กระด้างก็เพราะมีแร่ธาตุมากมาย ทำให้น้ำกระด้างแต่มีรสอร่อย เวลาเอาไปทำอาหารต่างๆ จึงทำให้อาหารอิตาเลียนได้ชื่อว่าเป็นอาหารรสชาติดีที่สุดในโลกตำรับหนึ่งเลยทีเดียว

7. สหราชอาณาจักร : ใต้ดินของอังกฤษและสก็อตแลนด์คือหินชั้นที่คอยกรองน้ำไว้ให้ ดังนั้น น้ำของสหราชอาณาจักรจึงมีคุณภาพดีมาก

8. สวีเดน : ที่นี่ก็มีน้ำก๊อกคุณภาพสูงมากเช่นเดียวกัน เพราะใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการดูแลผลิตน้ำ

แต่ถ้าไปดูสายอนุรักษ์กันบ้าง เว็บ greentumble.com เขาก็จัดอันดับน้ำก๊อกที่คุณภาพดีที่สุดในโลกเอาไว้เหมือนกันนะครับ (ดูได้ที่นี่) พบว่า 8 อันดับแรกเหมือนกับของ Wildon เปี๊ยบเลย แต่เขามีอันดับ 9 กับ 10 งอกมาอีก คือเยอรมนีกับนิวซีแลนด์

อีกเจ้าหนึ่งที่เป็นเว็บด้านการตลาด ก็จัดอันดับน้ำก๊อกเอาไว้เหมือนกัน คือ insidermonkey.com (ดูได้ที่นี่) เขาจัดเอาไว้ตั้ง 21 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรปและวนเวียนคล้ายๆ ของ Wildon และ Greemtumble แต่ที่อยากชวนมาดูก็คือ 2 อันดับแรกที่ไม่เหมือนคนอื่น

Insidermonkey บอกว่า ประเทศที่มีคุณภาพน้ำก๊อกดีที่สุดในโลก ก็คือไอซแลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนอันมีน้ำก๊อกที่บริสุทธิ์ที่สุด รสชาติดีที่สุด โดยเขาไปสำรวจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก แล้วลงความเห็นแบบนั้น (ซึ่งก็ประหลาดดีเหมือนกันนะครับ เพราะตอนผมไปไอซแลนด์ ผมพบว่าน้ำก๊อกของไอซแลนด์ในบางที่มีกลิ่นซัลเฟอร์ค่อนข้างแรงอยู่เหมือนกัน) ส่วนอันดับที่สองคือ กรีนแลนด์ ซึ่งก็น่าจะมีคุณภาพน้ำยอดเยี่ยมอีกเช่นกัน

นอกจากนี้ การจัดอันดับที่น่าสนใจมากอีกเจ้าหนึ่ง เป็นของคุณ Daniel Bath ซึ่งไปตอบคำถามเรื่องนี้เอาไว้ใน quora.com (ดูได้ที่นี่) ซึ่งถึงจะเป็นความเห็นส่วนตัว แต่เขาอ้างว่าเดินทางมาแล้ว 26 ประเทศ (แต่เขาออกตัวว่ายังไม่เคยไปประเทศแถบสแกนดิเนเวีย) รวมทั้งสนใจเรื่องน้ำก๊อกเป็นพิเศษ จึงเก็บข้อมูลประเทศต่างๆ แล้วลองจัดอันดับดูโดยดูจาก ‘รสชาติ’ และ ‘ความอ่อนหรือความกระด้าง’ ของน้ำ เขาบอกว่า น้ำในประเทศต่างๆ แบ่งออกได้เป็นสามสี่แบบ คือน้ำกระด้าง (Hard Water), น้ำอ่อน (Soft Water), น้ำปานกลาง (Medium Water) แล้วก็น้ำที่ไม่ค่อยมีแร่ธาตุอะไรเลย เขาเรียกว่า Limes

คุณแดเนียลบอกว่า น้ำประเภทที่เป็น Limes นั้น ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะแม้ไม่มีแร่ธาตุ แปลว่าน้ำน่าจะสะอาดบริสุทธิ์ แต่การไร้แร่ธาตุก็ทำให้น้ำไม่อร่อยไปด้วย เช่นน้ำในสหราชอาณาจักรและในไอร์แลนด์ เขาจัดอันดับน้ำเอาไว้โดยบอกด้วยว่าน้ำที่ไหนกระด้างหรืออ่อนยังไง ดังนี้

10. นิวซีแลนด์ (น้ำปานกลาง)

11. สก็อตแลนด์ (น้ำกระด้าง) แต่รสชาติดีเหมาะกับการชงชาและทำวิสกี้เป็นอย่างมาก

12. สวิตเซอร์แลนด์ (น้ำอ่อนถึงปานกลาง)

13. ออสเตรีย (น้ำปานกลาง)

14. แคนาดา (ควิเบก) (อ่อน) เขาบอกว่าส่วนใหญ่แล้วในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา น้ำจะรสชาติธรรมดาๆ แต่ที่ควิเบก น้ำรสชาติดี

15. อังกฤษตอนใต้ แถบดอร์เซ็ตและเดวอน ไม่นับลอนดอน เป็นน้ำแบบปานกลางถึงกระด้าง แต่รสชาติดีมาก เหมาะกับการชงชาเป็นที่สุด มีคลอรีนน้อย

16. สเปน โดยเฉพาะในแถบเกรนาดา จะเป็นน้ำอ่อนถึงปานกลาง เขาบอกว่าเคยมีการวิเคราะห์น้ำ และพบว่าน้ำจากแถบนี้ดีที่สุดในโลก ซึ่งคุณแดเนียลก็บอกว่ารสอร่อย โดยเฉพาะน้ำจากภูเขา ซึ่งจะกระด้างกว่าน้ำจากมาดริด

17. อิตาลีตอนเหนือและตอนกลาง ซึ่งโดยทั่วไปจะกระด้าง โดยเฉพาะ Perugia ที่มีน้ำก๊อกรสอร่อย แล้วก็แถวๆ ฟลอเรนซ์ เขาก็บอกว่าน้ำก๊อกรสชาติดีมากด้วยเหมือนกัน

18. สเปน ในแถบมาดริด คุณแดเนียลบอกว่าเป็นน้ำที่อ่อนที่สุดเท่าที่เขาเคยชิมมา รสชาติไม่เหมือนที่ไหนเลยในสเปน แต่ทำให้รู้สึกได้ว่าเป็นน้ำที่บริสุทธิ์มากๆ

19. อิตาลี โดยเฉพาะในกรุงโรม เขาบอกว่านี่เป็นน้ำที่กระด้าง แต่กลับมีรสชาติดีมากจนเวลานำไปปรุงอาหาร ทำให้อาหารมีรสชาติดีที่สุด

พูดถึงน้ำก๊อกแบบนี้แล้ว หลายคนอาจรู้สึกว่าไม่ค่อยมีสาระเท่าไหร่ เพราะน้ำก๊อกก็คือน้ำก๊อก ไม่ได้มีคุณค่าอะไรนักหนาหรอก แต่คุณรู้ไหมครับว่า ในโลกนี้มีคนที่เป็น Water Sommelier หรือนักทดสอบน้ำอยู่ด้วย อย่างในอเมริกาก็มีคุณมาร์ติน รีส (Martin Riese) ที่เชี่ยวชาญช่ำชองเรื่องน้ำ ถ้าอยากรู้จักกับเขา ลองไปดูในยูทูปด้านล่างนี้ได้ เขาจะเล่าให้ฟังว่าน้ำนั้นสำคัญอย่างไร และการทดสอบรสชาติของน้ำเป็นอย่างไร

https://youtu.be/7QDMaTGsOBo

ยิ่งไปกว่านั้น คุณอาจไม่รู้ว่าในแต่ละปี จะมีการประกวดและให้รางวัลที่มีชื่อเล่นว่า รางวัล ‘ออสการ์’ ของน้ำ

ซึ่งมีชื่อจริงของรางวัลนี้ว่า Berkeley Springs International Water Tasting จัดขึ้นที่เมือง Serkeley Springs ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย เมืองนี้เป็นเมืองเล็กกระจิ๋วหลิว มีขนาดไม่ถึงหนึ่งตารางกิโลเมตร และมีประชากรไม่ถึงพันคน แต่ถือเป็นเหมือนเมืองหลวงของน้ำ ชื่อเมืองก็บอกอยู่แล้วว่ามีน้ำพุ และเคยเป็นเมืองที่คนมาอาบน้ำแร่กันตั้งแต่โบราณ

ทุกปี ที่นี่จะมีงานใหญ่คือการทดสอบน้ำจากทั่วโลก แล้วก็มอบรางวัลว่าน้ำที่ไหนดีที่สุด ผลของปีนี้ น้ำที่ดีที่สุดในโลกคือน้ำจากเมือง Clearbrook (แหม! ชื่อก็บอกอยู่แล้วนะครับว่าน้ำใส) ของแคนาดา ส่วนในสหรัฐอเมริกา เมืองที่น้ำดีที่สุดคือ Santa Ana ในแคลิฟอร์เนีย

นอกจากน้ำของเมืองแล้ว เขายังให้รางวัลน้ำบรรจุขวด น้ำมีพรายฟอง น้ำดื่มบริสุทธิ์ รวมทั้งการออกแบบ ว่าน้ำแบรนด์ไหนเป็นยังไง สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่นี่นะครับ

 

เราอาจมองข้ามเรื่องของน้ำ โดยเฉพาะน้ำก๊อก แต่ที่จริงต้องบอกว่า เมืองไหนหรือประเทศไหนพยายามจัดหา ‘น้ำก๊อก’ ที่ดีที่สุดให้ประชาชนของตัวเอง ก็ต้องถือว่าเมืองหรือประเทศนั้นๆ ไม่ได้ ‘ดูถูก’ ประชาชน เพราะน้ำก๊อกคือสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สุดแล้ว ถ้ามนุษย์ขาดน้ำก็ไม่อาจมีชีวิตรอด ดังนั้น เราจึงต้องการการเข้าถึง ‘น้ำ’ ที่สะอาด ปลอดภัย รสชาติดี ในราคาถูก (หรือเป็นบริการฟรี) ไม่ใช่จะกินน้ำทีก็ต้องไปวิ่งหาน้ำบรรจุขวด ที่มีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่เป็นผู้ผลิตและผูกขาดกันอยู่ไม่กี่เจ้า

บอกตรงๆ นะครับ ว่าประเทศแบบหลังนี้ เป็นประเทศที่ไม่น่าอยู่เอาเสียเลย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save